ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย


ศักดิ์ศรีคือ การยอมรับของบุคคลในสังคมในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ที่ได้รับการยอมรับของสังคมมนุษย์และเรื่องดังกล่าวต้องเป็นเรื่องดีงามเท่านั้นเรื่องไม่ดีไม่ให้รวมเรื่องศักดิ์ศรี แม้ว่าพฤติกรรมที่บุคคลกระทำนั้น หรือต้องการกระทำนั้นๆอาจจะกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก็ได้ถือว่าเป็นเรื่องดีงามสมควรยกย่องและต้องถือปฏิบัติเพื่อเป็นมติขององค์การการยอมรับขององค์กรต่างๆนั้นด้วยก็ได้สิทธิเสรีภาพหรืออำนาจและหน้าที่ก็ถือเป็นศักดิ์ศรีด้วยเช่นกัน

มนุษย์คือบุคคลทั่วไป ไม่เลือกว่าจะเป็นชนชาติใด เผ่า ศาสนา ผิวสีภาษา และอื่นๆ ที่มีสภาพเป็นที่ยอมรับว่าเป็นส่วนของสังคมตลอดจนองค์กร / องค์การที่อาศัยมติเป็นข้อปฏิบัติไปตามประสงค์ขององค์การก็ให้ถือเป็นมนุษย์ด้วยเช่นกันดังนั้นคำว่าสิทธิและเสรีภาพของบุคคลในรัฐธรรมนูญให้ถือว่าเป็นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วยเช่นกัน[1]

คนเข้าเมืองผิดกฎหมายก็เป็นบุคคลทั่วไปจึงถือว่าเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับมนุษย์คนอื่นๆบนโลกนี้ตามความหมายของคำว่ามนุษย์ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ซึ่งมนุษย์ทุกคนเกิดมาพร้อมกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิเสรีภาพขึ้นพื้นฐาน ซึ่งได้รับการรับรองในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่ไทยได้รับรองใน ข้อ 1ซึ่งบัญญัติว่า มนุษย์ทั้งปวงเกิดมามีอิสระและเสมอภาคกันในศักดิ์ศรีและสิทธิ ต่างในตนมีเหตุผลและมโนธรรม และควรปฏิบัติต่อกันด้วยจิตวิญญาณแห่งภราดรภาพ[2] อีกทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับ ปี 2550 ยังได้บัญญัติรับรองไว้ในมาตรา 4 ซึ่งบัญญัติว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง[3] ซึ่งเป็นการคุ้มครองมนุษย์ทุกคนไม่ว่าบุคคลนั้นจะเข้าเมืองผิดกฎหมายหรือไม่หรือมีสัญชาติใด

ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อ้างอิงจากคำจำกัดความข้างต้นนั้นหมายความรวมถึงสิทธิเสรีภาพด้วย ซึ่งสิทธิเสรีภาพหรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนเข้าเมืองผิดกฎหมายนั้นแม้จะได้รับการรับรองและคุ้มครองตามกฎหมายระหว่างประเทศ รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นๆของไทยนั้น ในทางเป็นจริงยังคงมีการละเมิดสิทธิของคนเข้าเมืองผิดกฎหมายอยู่มากดังกรณีศึกษาต่อไปนี้

กรณีศึกษาของเด็กชายนิวัฒน์ จันทร์คำหรือน้องนิค ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า น้องนิคเกิดในประเทศเมียนมาร์โดยไม่มีหนังสือรับรองการเกิดและไม่รับรองสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรของรัฐใดเลย น้องนิคจึงเป็นคนไร้สัญชาติ มารดาและบิดาของน้องนิคเป็นคนชาติพันธุ์ไทยลื้อ ซึ่งปัจจุบันมารดาของน้องนิคถือสัญชาติเมียนมาร์และมีเอกสารประจำตัวที่ออกโดยรัฐเมียนมาร์ ดังนั้นจากข้อเท็จจริงข้างต้น น้องนิคจึงมีสิทธิได้รับสัญชาติเมียนมาร์โดยหลักสืบสายโลหิต เมื่อน้องนิคอายุประมาน 3-4 ปี บิดามารดาพาน้องนิคเดินทางเข้าประเทศไทยโดยทุกคนไม่มีเอกสารแสดงตนจึงเป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย (ซึ่งในความเป็นจริงแล้วน้องนิคซึ่งมีอายุเท่านั้นยังไม่มีเจตนาเข้าเมืองผิดกฎหมายด้วยตนเองแต่ด้วยอายุซึ่งไม่สามารถแยกจากบิดามารดาได้จึงต้องตามบิดามารดาที่มีเจตนาเข้าเมืองผิดกฎหมายนั่นเอง) น้องนิคได้รับการศึกษาในโรงเรียนของประเทศไทย ซึ่งสิทธิในการได้รับการศึกษาเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนมี ได้รับรองในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนใน ข้อ 26 (1) ซึ่งกำหนดให้ทุกคนมีสิทธิในการศึกษา การศึกษาจะต้องให้เปล่าอย่างน้อยในขั้นประถมศึกษาและขั้นพื้นฐาน การศึกษาระดับประถมจะต้องเป็นภาคบังคับ การศึกษาด้านวิชาการและวิชาชีพจะต้องเปิดเป็นการทั่วไป และการศึกษาระดับสูงขึ้นไปจะต้องเข้าถึงได้อย่างเสมอภาคสำหรับทุกคนบนพื้นฐานของคุณสมบัติความเหมาะสม และ ได้รับรองในมาตรา 30 แห่งพ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ 2542 ซึ่งบัญญัติว่า การจัดการศึกษา ต้องจัดให้ บุคคล มีสิทธิ และ โอกาส เสมอกัน ในการรับ การศึกษา ขั้นพื้นฐาน ไม่น้อยกว่า สิบสองปี ที่รัฐต้องจัดให้ อย่างทั่วถึง และ มีคุณภาพ โดย ไม่เก็บค่าใช้จ่าย[4] พระราชบัญญัตินี้ใช้คำว่าบุคคลจึงตีความให้หมายความรวมถึงบุคคลทุกคนโดยไม่คำนึงถึงสัญชาติใดๆ น้องนิคจึงได้รับการคุ้มครองและรับรองสิทธิในการได้รับการศึกษาตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและพ.ร.บ.การศึกษา 2542แม้ว่าน้องนิคยังคงเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติอยู่

จากพ.ร.บ. การทะเบียนราษฎร 2534 มาตรา 38 ซึ่งบัญญัติว่า ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นจัดทำทะเบียนบ้านสำหรับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่ได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่ได้รับการผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเฉพาะรายตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และบุตรของบุคคลดังกล่าวที่เกิดในราชอาณาจักรในกรณีผู้มีรายการในทะเบียนบ้านพ้นจากการได้รับอนุญาตหรือผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรให้นายทะเบียนจำหน่ายรายการทะเบียนของผู้นั้นโดยเร็ว[5]ประกอบกับยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิบุคคล 2548 ซึ่งยุทธศาสตร์นี้กำหนดสถานะที่เหมาะสมให้แก่กลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่ม มีการจัดทำเอกสารแสดงตนให้สิทธิขั้นพื้นฐานโดยการแก้ไขปัญหาจะครอบคลุมกลุ่มบุคคลที่เรียนอยู่ในสถานศึกษาในประเทศไทย แต่ไม่มีสถานะที่ถูกต้องตามกฎหมายตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงอุดมศึกษ[6]น้องนิคซึ่งเป็นคนไร้รัฐคือมีปัญหาทางสถานะบุคคลและกำลังศึกษาอยู่ในโรงเรียนในประเทศไทยระดับมัธยมศึกษา ควรได้รับการแก้ไขปัญหาความไร้รัฐตามพระราชบัญญัติและยุทธศาสตร์ดังกล่าวแต่ถูกปฏิเสธ น้องนิคจึงยังคงเป็นคนไร้สัญชาติ การปฏิเสธนั้นจึงเป็นการละเมิดสิทธิขึ้นพื้นฐานที่ได้รับรองในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในข้อ 6คือ ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการยอมรับทุกแห่งหนว่าเป็นบุคคลตามกฎหมาย เป็นหน้าที่ของรัฐที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับน้องนิคซึ่งก็คือประเทศไทยที่เป็นรัฐที่น้องนิคอาศัยอยู่ในปัจจุบันที่ต้องทำการรับรองสถานะบุคคลให้น้องนิค

น้องนิคได้เป็นประธานนักเรียนในโรงเรียนที่น้องนิคเรียนอยู่แสดงให้เห็นว่าทางโรงเรียนให้ความเคารพในสิทธิของการมีส่วนร่วมของเด็กคือเป็นการแสดงความจำนงว่าจะทำอะไรบางอย่างในสังคมซึ่งสิทธิในการมีส่วนร่วมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้รับการรับรองในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธฺมนุษยชนในข้อ

ข้อ 27 (1) ที่กำหนดให้ ทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าร่วมโดยอิสระในชีวิตทางวัฒนธรรมของชุมชน ที่จะเพลิดเพลินกับศิลปะ และมีส่วนในความรุดหน้า และคุณประโยชน์ทางวิทยาศาสตร

สบเนื่องจากการที่น้องนิคเป็นคนไร้รัฐน้องจึงไม่เข้าถึงสิทธิในหลักประกันสุขภาพซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานอีกเช่นกัน สิทธิในการได้รับการศึกษาเป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในข้อที่ 25(1) บัญญัติว่าทุกคนมีสิทธิในมาตรฐานการครองชีพอันเพียงพอสำหรับสุขภาพและความอยู่ดีของตนและของครอบครัว รวมทั้งอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และการดูแลรักษาทางการแพทย์ และบริการสังคมที่จำเป็น และมีสิทธิในหลักประกันยามว่างงาน เจ็บป่วย พิการ หม้าย วัยชรา หรือปราศจากการดำรงชีพอื่นในสภาวะแวดล้อมนอกเหนือการควบคุมของตน

กล่าวโดยสรุปคือคนต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมายคือคนที่ไม่ได้มีสัญชาติไทยและเข้าประเทศไทยโดยไม่มีเอกสารใดๆ พวกเขาเหล่านั้นแม้จะเข้าเมืองผิดกฎหมายแต่ก็ยังเป็นมนุษย์ เป็นบุคคลตามกฎหมายเอกชนที่ควรได้รับการคุ้มครองและรับรองสิทธิขั้นพื้นฐานซึ่งอีกนัยหนึ่งก็คือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่มนุษย์ทุกคนมีอย่างเท่าเทียมกัน แต่ในความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคมพวกเขายังคงถูกละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานซึ่งรัฐที่มีจุดเกาะเกี่ยวควรเข้ามาให้ความช่วยเหลือ คุ้มครองและดูแลบุคคลเหล่านั้นให้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างเต็มที่


[1] องค์การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ.ความหมายของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์. (ออนไลน์). แหล่งที่มา http://www.ongkarn-leio.org/knonwlege.php. 12พฤษภาคม 2557.                                             

[2] กระทรวงการต่างประเทศ. ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน. (ออนไลน์). แหล่งที่มา www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/book.pdf. 12 พฤษภาคม 2557. ‎

[3] ศูนย์ทนายความทั่วไทย. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปี พ.ศ.2550. (ออนไลน์). แหล่งที่มา http://www.thailandlawyercenter.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538976878&Ntype=25. 12 พฤษภาคม 2557

[4] กฎหมายรังสีเทคนิค. พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542. (ออนไลน์). แหล่งที่มา http://www.tamanoon.com/eduact/index.htm. 12 พฤษภาคม 2557.

[5] ศูนย์ทนายความทั่วไทย. พรบ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534. (ออนไลน์). แหล่งที่มา http://www.thailandlawyercenter.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538973729&Ntype=19. 12 พฤษภาคม 2557.

[6] นางพันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร. ยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิบุคคลโดย คณะทำงานด้านวิชาการของ ฯพณฯ รองนายกรัฐมนตรี (นายจาตุรน ฉายแสง 20 มกราคม พ.ศ.2548. (ออนไลน์). แหล่งที่มา http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=108&d_id=108. 12 พฤษภาคม 2557.

เขียนวันที่ 12 พฤษภาคม 2557

หมายเลขบันทึก: 568100เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2014 07:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2014 07:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท