คนต่างด้าวในประเทศไทย


พรบ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551[1]มาตรา 5 คนต่างด้าวหมายความว่า บุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทยและ มาตรา7งานใดที่คนต่างด้าวอาจทำได้ในท้องที่ใด เมื่อใดให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยคำนึงถึงความมั่นคงของชาติโอกาสในการประกอบอาชีพของคนไทยและความต้องการแรงงานต่างด้าวที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ

พิจารณาประกอบกับ บัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำพ.ศ. 2522[2] กำหนดให้อาชีพบางอย่างห้ามคนต่างด้าวทำงาน เช่น งานกรรมกร งานขับขี่ยานยนต์ งานนายหน้า หรืองานตัวแทน งานในวิชาชีพวิศวกรรม สาขาวิศวกรรมโยธา งานมัคคุเทศก์ หรืองานจัดนำเที่ยว เป็นต้น

แต่ในทางความเป็นจริงแล้วการทำงานนั้นเป็นสิทธิในการทำมาหาเลี้ยงชีพซึ่งเป็นเรื่องของการพัฒนาคุณภาพชีวิต สิทธิในการประกอบอาชีพก็เป็นส่วนหนึ่งของสิทธิในการทำมาหาเลี้ยงชีพเช่นกันโดยสิทธิในการทำงานได้รับการรับรองในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน[3]ข้อ 23(1) กำหนดให้ ทุกคนมีสิทธิในการทำงาน ในการเลือกงานโดยอิสระ ในเงื่อนไขที่ยุติธรรมและเอื้ออำนวยต่อการทำงาน และในการคุ้มครองต่อการว่างงาน และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม[4]ที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคี ในข้อ 6ซึ่งกำหนดให้ รัฐภาคีแห่งกติกานี้รับรองสิทธิในการทำงาน ซึ่งรวมทั้งสิทธิของทุกคนในโอกาสที่จะหาเลี้ยงชีพโดยงานซึ่งตนเลือกหรือรับอย่างเสรี และจะดาเนินขั้นตอนที่เหมาะสมในการปกป้องสิทธินี้ มนุษย์ทุกคนจึงได้รับการคุ้มรองและรับรองโดยกฎหมายระหว่างประเทศข้างต้นโดยไม่คำนึงว่าพวกเขาเหล่านั้นจะมีสัญชาติใดเป็นคนต่างด้าวหรือไม่แต่เมื่อเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยจึงใช้กฎหมายไทยบังคม ดังนั้นพรบ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มาตรา 7 ประกอบกับราชกฤษฎีกากำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำพ.ศ. 2522 จึงเป็นการจำกัดสิทธิในการทำงานโดยรัฐซึ่งสามารถจำกัดได้เนื่องจากมีสาเหตุในเรื่องของความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนอีกทั้งต้องการสงวนอาชีพบางอย่างไว้ให้คนที่มีสัญชาติไทยเท่านั้นซึ่งแต่ละอาชีพมีเหตุผลต่างกันไปในการจำกัดนั้น

จากกรณีศึกษาครอบครัวหม่องภา น้องดวงตาเป็นบุตรของพ่อหม่องและแม่ภา ทั้งครอบครัวหม่องภาเกิดที่ประเทศเมียนมาร์และอพยพเข้ามาในประเทศไทยโดยมีสาเหตุมาจากผลกระทบของความไม่สงบในประเทศเมียนมาร์ซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจทำให้ต้องย้ายมาที่ประเทศไทยเพื่อประกอบอาชีพ เนื่องจากครอบครัวนี้ไม่มีเอกสารใดๆอีกทั้งไม่มีเอกสารแสดงตนที่รับรองโดยรัฐเมียนมาร์ซึ่งเป็นรัฐเจ้าของดินแดนที่เกิดและอาศัยอยู่ภายหลังการเกิด ครอบครัวนี้จึงเป็นครอบครัวที่ไร้รัฐและไร้สัญชาติ พวกเขาจึงมีสถานะเป็นคนต่างด้าวที่เข้าประเทศไทยผิดกฎหมาย ไม่มีทั้งสิทธิเข้ามาและสิทธิอาศัยในประเทศไทย เป็นครอบครัวข้ามชาติโดยแท้

ต่อมาพ่อและแม่ของน้องดวงตาได้ผ่านการพิสูจน์สัญชาติเมียนมาร์และได้รับรองสถานะคนสัญชาติเมียนมาร์ดังที่ปรากฏตามหนังสือเดินทางที่รัฐเมียนมาร์ออกให้ตามความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลเมียนมาร์ว่าด้วยการจ้างแรงงานต่างด้าวทำให้พ่อและแม่มีสิทธิอาศัยอยู่ในประเทศไทยตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองได้ แต่เดิมพ่อและแม่ไปขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวทำให้ถูกบันทึกชื่อในทร.38/1 เมื่อทั้งสองคนมีสิทธิอาศัยในประเทศไทยส่งผลให้ทั้งสองคนมีสิทธิร้องขอย้ายชื่อจากทะเบียนไปไว้ในทะเบียนบ้านประเภททร.13 ส่วนน้องดวงตายังไม่ได้รับการรับรองสัญชาติเมียนมาร์เช่นเดียวกับพ่อและแม่เนื่องจากกระบวนการพิสูจน์สัญชาติในประเทศไทยยังไม่ครอบถึงผู้ติดตามแรงงาน เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่น้องดวงตาเกิดที่ประเทศเมียนมาร์ น้องจึงมีสิทธิในสัญชาติเมียนมาร์โดยหลักดินแดนและหลักสืบสายโลหิตเพราะพ่อและแม่ของน้องดวงจามีสัญชาติเมียนมาร์น้องจึงยังคงมีปัญหาเรื่องการไร้สัญชาติอยู่แต่การที่พ่อและแม่ของน้องได้สิทธิอาศัยในประเทศไทยส่งผลให้น้องดวงตามีสิทธิอาศัยในประเทศไทยตามบุพการีด้วยและน้องดวงตามีสถานะเป็นราษฎรไทยประเภทนักเรียนนักศึกษาไร้สัญชาติในทะเบียนประวัติประเภททร.38 ก ครอบครัวหม่องภาจึงไม่ไร้รัฐอีกต่อไป

หากพิจารณาต่อมาในอนาคตภายหลังน้องดวงตาเรียนจบในระดับมหาวิทยาลัยก็ต้องทำงานแต่เนื่องด้วยการที่น้องดวงตายังคงไร้สัญชาติจึงเป็นคนต่างด้าวและพ่อ แม่ของน้องดวงตามมีสัญชาติพม่าก็ถือเป็นคนต่างด้าวตามพรบ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551ด้วย ดังนั้นจึงถูกจำกัดสิทธิในการทำงานไม่ให้ทำงานบางอย่างซึ่งสงวนไว้สำหรับคนที่มีสัญชาติไทยเท่านั้นดังตัวอย่างตามที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ทั้งๆที่เป็นสิทธิของมนุษย์ทุกคนที่ได้รับการรับรองตามกฎหมายระหว่างประเทศแต่เมื่อลงลึกถึงรายละเอียด สิทธิดังกล่าวก็สามารถถูกจำกัดได้ด้วยเหตุผลเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศไทยนั่นเองแต่สิทธิในการทำงานก็ไม่ได้หายไปแต่อย่างใด พ่อ แม่ และน้องดวงตายังคงมีอสิทธิอยู่เพียงแต่ไม่สามารถใช้ได้เท่านั้น


[1]ศูนย์ทนายความทั่วไทย. พรบ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551. (ออนไลน์). แหล่งที่มา http://www.thailandlawyercenter.com/?lay=show&ac=article&Id=538973742&Ntype=19. 7 พฤษภาคม 2557.

[2]Longdo Law. พระราชกฤษฎีกากำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ พ.ศ. 2522. (ออนไลน์). แหล่งที่มา http://law.longdo.com/law/80/sub10658. 7 พฤษภาคม 2557.

[3] กระทรวงการต่างประเทศ. ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน. (ออนไลน์). แหล่งที่มา www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/book.pdf. 7 พฤษภาคม 2557.

[4] กระทรวงการต่างประเทศ. กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม. (ออนไลน์). แหล่งที่มา www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/icescrt.pdf. 7 พฤษภาคม 2557

เขียนวันที่ 7 พฤษภาคม 2557

หมายเลขบันทึก: 568099เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2014 07:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2014 07:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท