สิทธิในเสรีภาพของคนต่างด้าว


         สิทธิและเสรีภาพอาจแยกเป็น “สิทธิมนุษยชน” และ “สิทธิพลเมือง” สิทธิมนุษยชนนั้นเป็นสิทธิและเสรีภาพซึ่งกำหนดให้แก่บุคคลโดยไม่มีข้อจำกัดในทางลักษณะตัวบุคคล กล่าวคือ เป็นสิทธิและเสรีภาพที่บุคคลทุกคนเป็นผู้ทรงสิทธิดังกล่าว สิทธิและเสรีภาพที่เป็นสิทธิมนุษยชนนั้น มักจะบัญญัติว่า “ทุกๆคนมีสิทธิ…” หรือ “บุคคลมีสิทธิ…” เป็นต้น สิทธิและเสรีภาพประเภทนี้จึงเป็นสิทธิที่ผูกพันอยู่กับความเป็นมนุษย์เป็นสิทธิที่ติดตัวมนุษย์ ดังนั้น โดยหลักทั่วไปแล้วสิทธิประเภทนี้จึงมิได้เป็นการที่รัฐบัญญัติกฎหมายให้สิทธิแก่บุคคล หากแต่เป็นการที่กฎหมายของรัฐได้รับรองสิทธิที่ติดตัวมนุษย์ไว้ในบทบัญญัติของกฎหมาย สิทธิประเภทนี้ เช่น เสรีภาพในชีวิตร่างกายของบุคคล เสรีภาพในทางความเชื่อของบุคคล เป็นต้น

          สิทธิพลเมือง เป็นสิทธิและเสรีภาพที่บุคคลซึ่งเป็นพลเมืองของรัฐนั้นๆ เท่านั้น จึงจะเป็นผู้ทรงสิทธิและเสรีภาพดังกล่าว สิทธิและเสรีภาพที่ตกแก่พลเมืองของรัฐนั้น มักจะเป็นสิทธิและเสรีภาพเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมทางการเมือง สิทธิในการตั้งพรรคการเมืองหรือสิทธิในการรับราชการหรือสิทธิในการเข้าเป็นสมาชิกขององค์กรของรัฐอื่นๆ เนื่องจากสิทธิในทางการเมือง สิทธิในการเลือกตั้งนั้นเป็นพื้นฐานของประชาธิปไตย และหลักอธิปไตยเป็นของปวงชน สิทธิพื้นฐานดังกล่าวนี้จึงเป็นสิทธิของประชาชนของรัฐนั้นเท่านั้น นอกเหนือจากสิทธิและเสรีภาพทางการเมืองแล้ว ยังมีสิทธิที่เกี่ยวกับสถานะของความเป็นบุคคลของชาตินั้นเท่านั้น เช่น การคุ้มครองมิให้มีการถอนสัญชาติของบุคคลชาตินั้น หรือการห้ามมิให้เนรเทศบุคคลที่มีสัญชาตินั้น เป็นต้น[1]

          ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าไม่ว่าจะเป็นใครมีสัญชาติใดหรือไม่มีสัญชาติ ถ้าหากเป็นมนุษย์ย่อมมีสิทธิมนุษยชน คนต่างด้าวในประเทศไทยจึงมีสิทธิมนุษยชนเช่นกัน ในส่วนของสิทธิพลเมืองเป็นสิทธิที่รัฐมอบให้แก่พลเมือง ไม่ได้ติดตัวมาแต่เกิด

กรณีศึกษา สาธิต เซกัล

          สาธิต เซกัล เกิดเมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2501 ที่กรุงเดลี ประเทศอินเดีย โดย สาธิต เซกัลป์ เป็นชาวไทยเชื้อสายอินเดียจากรัฐปัญจาบ มีพี่น้องทั้งหมด 4 คน ทุกคนได้สัญชาติไทยทั้งหมด แต่ สาธิต เซกัล นั้น ยังคงถือสัญชาติอินเดียอยู่[2]

          การที่ สาธิต เซกัล ถือสัญชาติอินเดียอยู่ในประเทศไทยเขาถือเป็นคนต่างด้าวในประเทศไทยซึ่งมีสิทธิมนุษยชนเหมือนกับมนุษย์ทุกคน

          สืบเนื่องจากศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) ประสานไปยังสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ให้เนรเทศ นายสาธิต เซกัล นายกสมาคมธุรกิจอินเดีย-ไทย ย่านสีลม ซึ่งเป็นบุคคลต่างด้าวออกจากประเทศโดยให้เหตุผลว่า นายสาธิต เข้าร่วมเป็นแกนนำ กปปส. กระทำความผิดฝ่าฝืนพระราชกำหนดฉุกเฉินนั้น

เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2557 นายสาธิต เซกัล นายกสมาคมธุรกิจอินเดีย-ไทย กล่าวถึงประเด็นนี้ว่าตั้งแต่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินตนเองก็ไม่เคยไปร่วมชุมนุมทางการเมืองอีกเลย จึงไม่เข้าใจว่าตนเองทำผิดอะไร ทั้งนี้ แม้ตนจะถือพาสปอร์ตอินเดีย แต่ก็อยู่เมืองไทยมากว่า 50 ปีแล้ว อยู่มาตั้งแต่อายุ 5 ขวบ ถึงจะไม่ได้โอนมาสัญชาติไทย แต่ที่เมืองไทยก็คือบ้านและแผ่นดินของตน และตนก็เทิดทูนในสถาบันพระมหากษัตริย์[3]

          จะเห็นได้ว่า ศรส. เนรเทศ สาธิต เซกัล เนื่องจากนายสาธิต เข้าร่วมเป็นแกนนำ กปปส. กระทำความผิดฝ่าฝืนพระราชกำหนดฉุกเฉิน แต่ว่าสาธิต เซกัล กล่าวว่าตั้งแต่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินตนเองก็ไม่เคยไปร่วมชุมนุมทางการเมืองอีกเลย จึงไม่ได้เป็นการฝ่าฝืนพระราชกำหนดฉุกเฉิน

ส่วนการที่สาธิต เซกัลป์ ได้เคยออกไปร่วมชุมนุมหรือเป็นแกนนำก็เป็นเพียงการใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็นที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับทางการเมืองซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิที่ทุกคนมีหากว่าเป็นมนุษย์ ไม่ใช่สิทธิทางการเมืองซึ่งเป็นสิทธิพลเมืองซึ่งรัฐมักจะให้สิทธิดังกล่าวแก่บุคคลที่ถือสัญชาติของรัฐ

สิทธิในการแสดงความคิดเห็นนี้ได้มีการรับรองไว้ในกฎหมายต่างๆ เช่น

         ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน[4]

ข้อ 19 ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความเห็นและการแสดงออกสิทธินี้รวมถึงอิสรภาพในการที่จะถือเอาความคิดโดยปราศจากความแทรกสอดและที่จะแสวงหา รับและแจกจ่ายข่าวสารและความคิดเห็นไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ และโดยไม่คำนึงถึงเขตแดน

         รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐[5]

มาตรา ๔๕ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น

          ถ้าหากมีการเนรเทศสาธิต เซกัล ก็ต้องเป็นไปตามกฎหมาย

การเพิกถอนการอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรของคุณสาธิต เซกัลนั้น เป็นการพิจารณาตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง โดยพรก. ฉุกเฉินบัญญัติให้ใช้กฎหมายคนเข้าเมืองโดยอนุโลม โดยในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาคนเข้าเมืองได้พิจารณาตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง หากข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า นายสาธิต กระทำผิดกฎหมายจริง โดยคณะกรรมการมีมติเห็นควรเพิกถอนการอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรของนายสาธิต ตามมาตรา 53, 54 ประกอบกับมาตรา 12 (7) แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522"ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็นการ “ส่งคนต่างด้าวออกนอกราชอาณาจักรไทย” โดยผลของการเพิกถอนการอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร แต่ไม่ใช่เป็นการเนรเทศคนต่างด้าว (ในความหมายที่แท้จริง) เพราะว่าการเนรเทศนั้นมีกฎหมายเฉพาะว่าด้วยการนี้อยู่แล้วคือพ.ร.บ. การเนรเทศคนต่างด้าว พ.ศ. 2499 โดยเหตุที่จะอ้างเพื่อเนรเทศนั้นเป็นตามมาตรา 5 ที่บัญญัติว่าเมื่อปรากฏว่ามีความจำเป็นเพื่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกคำสั่งให้เนรเทศคนต่างด้าวออกไปนอกราชอาณาจักร…..” รัฐมนตรีที่มีอำนาจออกคำสั่งเนรเทศคือรมต. ว่าการกระทรวงมหาดไทย[6]

          ดังนั้นการที่จะส่งสาธิต เซกัลป์ ซึ่งเป็นคนต่างด้าวออกนอกราชอาณาจักรไทย จึงต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522[7]

มาตรา53 คนต่างด้าวซึ่งเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรแล้วภายหลังปรากฏว่าเป็นบุคคลซึ่งมีพฤติการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา12 (7)หรือ(8)หรือเป็นบุคคลตามมาตรา12 (10)หรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา43วรรคสอง หรือเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา44หรือเป็นผู้ได้รับโทษตามมาตรา63หรือมาตรา64ให้อธิบดีเสนอเรื่องไปยังคณะกรรมการ ถ้าคณะกรรมการเห็นว่าควรเพิกถอนการอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร ก็ให้เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีเพื่อสั่งเพิกถอนการอนุญาตต่อไป

มาตรา54 คนต่างด้าวผู้ใดเข้ามาหรืออยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือการอนุญาตนั้นสิ้นสุดหรือถูกเพิกถอนแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่จะส่งตัวคนต่าง

มาตรา12 ห้ามมิให้คนต่างด้าวซึ่งมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้เข้ามาในราชอาณาจักร

(7)มีพฤติการณ์เป็นที่น่าเชื่อว่าเป็นบุคคลที่เป็นภัยต่อสังคม หรือจะก่อเหตุร้ายให้เกิดอันตรายต่อความสงบสุขหรือความปลอดภัยของประชาชนหรือความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือบุคคลซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐบาลต่างประเทศได้ออกหมายจับ

          เมื่อพิจารณาจากพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522แล้วการที่จะส่งสาธิต เซกัลป์ ออกนอกราชอาณาจักรไทยได้ สาธิต เซกัลป์จะต้องมีพฤติการณ์เป็นที่น่าเชื่อว่าเป็นบุคคลที่เป็นภัยต่อสังคม หรือจะก่อเหตุร้ายให้เกิดอันตรายต่อความสงบสุขหรือความปลอดภัยของประชาชนหรือความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือบุคคลซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐบาลต่างประเทศได้ออกหมายจับ


[1] niidnueng nuengniid. สิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมือง. l3nr. [Website] 2009 [cited 2014 May 15]. Available from: http://www.l3nr.org/posts/257340

[2] สาธิต เซกัล ประวัติประธานหอการค้าไทย-อินเดีย ที่ถูก ศรส. เนรเทศ. kapook. [Website] 2014 Feb 5 [cited 2014 May 15]. Available from: http://hilight.kapook.com/view/97452

[3] สาธิต เซกัล เล็งพึ่งศาล ถูกสั่งเนรเทศพ้นไทย ยันไม่ได้ทำอะไรผิด. kapook. [Website] 2014 Feb 5 [cited 2014 May 15]. Available from: http http://hilight.kapook.com/view/97428

[4] ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน. [PDF] [cited 2014 May15]. Available from: http://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/bo...

[5] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐. [PDF] [cited 2014 May 15]. Available from: http://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliamen...

[6] ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช. ข้อพิจารณาทางกฎหมายระหว่างประเทศกรณีการเนรเทศคุณ สาธิต เซกัล. ประชาไท. [Website] 2014 Mar 14 [cited 2014 May 15]. Available from: http://prachatai.com/journal/2014/03/52267

[7] พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522. [PDF] [cited 2014 May15]. Available from: http://www.investigation.inst.police.go.th/downloa...

หมายเลขบันทึก: 568090เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2014 02:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2014 02:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท