ผู้ประกอบธุรกิจต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนด้วยหรือ


      ตัวอย่างปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากผู้ประกอบธุรกิจ เช่น เรื่องการไม่ได้รับประกันทางสังคมที่ดีพอสมควรของกลุ่มผู้ใช้แรงงานจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ตามที่บัญญัติรับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม(International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights, ย่อ: ICESCR สิทธิในการประกันสังคม ได้แก่ สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับเมื่อเจ็บป่วยและต้องออกจากงาน สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับเมื่อบาดเจ็บจากการทำงาน สิทธิประโยชน์ในการลาป่วย สิทธิประโยชน์ในการลาคลอด(3)

      แม่น้ำโขง มีความยาวตลอดลำน้ำ 4,909 กิโลเมตร จากธารน้ำที่เกิดจากการละลายของหิมะบนเทือกเขาหิมาลัย ไหลลัดเลาะผ่านพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ก่อเกิดพรมแดนลาว-พม่า และพรมแดนไทย-ลาว ที่สามเหลี่ยมทองคำ จังหวัดเชียงราย ก่อนไหลเข้าสู่ประเทศลาวทางตอนเหนือ ผ่านหลวงพระบาง

จากนั้น แม่น้ำโขงไหลเข้าสู่พรมแดนไทย-ลาวอีกครั้ง ที่อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย เป็นพรมแดนไทย-ลาวที่ภาคอีสาน ผ่านนครหลวงเวียงจันทน์ และไหลเข้าลาว ที่อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ไหลลงสู่กัมพูชา เข้าสู่ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำในเวียดนาม แผ่ออกเป็นแขนงกว้าง ครอบคลุมพื้นที่หลายจังหวัด แล้วจึงไหลลงสู่ทะเลจีนใต้

       เขื่อนแห่งแรกบนแม่น้ำโขง ก่อสร้างขึ้นในช่วงต้นทศวรรษ 1990 คือ เขื่อนม่านวาน (Manwan Dam) ตั้งอยู่ในมณฑลยูนนาน ประเทศจีน จนถึงปัจจุบัน มีเขื่อนกั้นลำน้ำโขงทางตอนบน ก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งสิ้น 6 แห่ง อย่างไรก็ตาม ระบบนิเวศแม่น้ำโขงตอนล่าง ยังคงความอุดมสมบูรณ์อยู่มาก แม้จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำของเขื่อนในจีน ที่ตั้งห่างออกไปนับพันกิโลเมตร

       โครงการเขื่อนไซยบุรี (Xayaburi Dam) เป็นหนึ่งใน 12 โครงการ เขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าที่ได้รับการเสนอให้สร้างขึ้นในแม่น้ำโขงตอนล่าง เขื่อนไซยบุรีตั้งอยู่ที่แก่งหลวง แก่งหินใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของแม่น้ำโขง ห่างจากเมืองมรดกโลกหลวงพระบาง ตามลำน้ำลงมาเพียงราว 100 กิโลเมตรเท่านั้น

        ข้อมูลอย่างเป็นทางการระบุว่า โครงการเขื่อนไซยบุรี มีกำลังผลิตติดตั้ง 1,285 เมกะวัตต์ โดยไฟฟ้าส่วนใหญ่ ส่งขายให้แก่ประเทศไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าไป เมื่อปลายปี 2554 บริษัท ไซยบุรี พาวเวอร์ มีผู้ถือหุ้นหลัก โดยบริษัท ช.การช่าง จากประเทศไทย เงินทุนในการก่อสร้างโครงการซึ่งอยู่ที่ราว 1.1 แสนล้านบาท มาจากธนาคาร ทั้งของรัฐ และเอกชนไทย 6 แห่ง จึงอาจกล่าวได้ว่า เขื่อนไซยบุรี เป็นเขื่อนสัญชาติไทยที่ตั้งอยู่ในดินแดนลาว

         องค์กรแม่น้ำสากล (International Rivers) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ประชาชนราว 2,100 คน ต้องอพยพโยกย้ายออกจากพื้นที่ก่อสร้างโครงการ และอีกมากกว่า 202,000 คน ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง จะได้รับผลกระทบในการดำรงชีวิต แหล่งรายได้ และความมั่นคงทางอาหาร เนื่องจากต้องสูญเสียพื้นที่ทำกิน กิจกรรมการร่อนทองในแม่น้ำโขง จะไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ อีกทั้งการหาของป่า จะทำได้ยากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการสร้างเขื่อน จะส่งผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และการประมง ตลอดทั่วทั้งลุ่มน้ำ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อผู้คนอีกนับล้าน


         องค์กรอนุรักษ์และเครือข่ายภาคประชาชน อาทิ พันธมิตรปกป้องแม่น้ำโขง (Save the Mekong) ได้พยายามรณรงค์ และให้ข้อมูลว่า การสร้างเขื่อนไซยบุรี จะเป็นการทำลายแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำ และระบบนิเวศในแม่น้ำโขงอย่างถาวร โดยจะไปกีดขวางเส้นทางอพยพสำคัญของปลา อย่างน้อย 23 สายพันธุ์ ปลาเหล่านี้ จะอพยพขึ้นสู่แม่น้ำโขงตอนบน ที่หลวงพระบางเชียงของ และเชียงแสนในประเทศไทย เขื่อนไซยบุรี จะกลายเป็นอุปสรรคต่อวงจรชีวิตที่จำเป็น สำหรับการดำรงเผ่าพันธุ์ปลาอพยพทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นการวางไข่ การผสมพันธุ์ หรือการเจริญเติบโต หนึ่งในปลาอพยพเหล่านั้น คือ ปลาบึก ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญของแม่น้ำโขง

         อย่างไรก็ตาม นายคนุต ซีรอตสกี ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชีย จากบริษัทที่ปรึกษาสัญชาติฟินแลนด์ Poyry ที่ได้รับการว่าจ้างให้ดูแลการออกแบบเขื่อนไซยบุรี กล่าวกับผู้สื่อข่าว เมื่อเดือนสิงหาคม 2556 ว่า “ระบบทางปลาผ่าน ได้รับการออกแบบเฉพาะเพื่อให้ปลาสายพันธุ์หลัก ๆ สามารถอพยพผ่านเขื่อนไปได้ ดังนั้น เราจึงไม่ได้มีเพียงระบบเดียว แต่เรามีถึงสามระบบ เพื่อช่วยให้ปลาอพยพ เรามีบันไดปลาโจน และลิฟต์ปลา [เพื่อปลาที่ไม่สามารถว่ายไปตามบันไดปลาโจน] และช่องเพื่อการเดินเรือ” นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอ “กังหันปั่นไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับปลา” (fish-friendly turbine) สำหรับให้ปลาว่ายผ่านเขื่อน กลับลงมาทางด้านท้ายน้ำ


        ขณะที่ นายวีรพน วีรวง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ของลาว ให้สัมภาษณ์ในทำนองเดียวกันว่า

“ไซยบุรี เป็นหนึ่งในสามหรือสี่เขื่อน ที่จะมีผลกระทบไม่มากนัก เรามั่นใจมากว่า แม้จะเกิดผลกระทบ ก็จะไม่มีนัยสำคัญ เรามั่นใจมาก”

แม้จะเริ่มการก่อสร้างแล้ว แต่จนปัจจุบัน ก็ยังไม่มีการเปิดเผยแบบแปลนเขื่อนไซยบุรีต่อสาธารณชน อีกทั้งยังไม่มีการจัดทำการประเมินผลกระทบข้ามพรมแดน คำถามถึงผลกระทบ ความเสียหายต่อระบบนิเวศ และข้อกังวลต่าง ๆ จึงยังไม่ได้รับคำตอบ

ขณะที่ผู้สนับสนุนเขื่อน กล่าวว่า ประโยชน์ของเขื่อนไซยบุรี คือ ผลิตกระแสไฟฟ้าและสร้างรายได้ แต่ผลการศึกษาระบุว่า แม้จะก่อสร้างเขื่อนทั้ง 12 แห่ง ทางตอนล่างของแม่น้ำโขง ก็จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียง ร้อยละ 11.3 ของความต้องการพลังงานในภูมิภาคเท่านั้น

         ดังนั้น ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า ผู้ประกอบธุรกิจต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนของผู้ที่ได้รับผลกระทบ เพราะคงไม่อาจถือเอาประโยชน์ของตนเองหรือคนหมู่น้อยเป็นที่ตั้งเหนือคนหมู่มากหรือประชาชนได้ เนื่องจากอาจจะเกิดความเสียหายมากกว่าประโยชน์ที่สมควรจะได้รับ อีกทั้งหากไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนก็อาจทำให้ภาพลักษณ์ของผู็ประกอบธุรกิจดูดีขึ้นอีกด้วย

http://www.thairath.co.th/content/382622

หมายเลขบันทึก: 568005เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2014 11:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2014 11:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท