AAR งานประชุม นักวิจัยรุ่นใหม่ พบ เมธีวิจัยอาวุโส สกว.


13 - 15 ตุลาคม 2548 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จัดประชุมนักวิจัยรุ่นใหม่ พบ เมธีวิจัยอาวุโส ณ โรงแรมรีเจ้นท์ ชะอำ จ.เพชรบุรี มีผู้เข้าร่วมประมาณ 700 คน
จากการได้รับมอบหมายให้ดูแลความเรียบร้อยห้อง "เกษตรอินทรีย์"    อุรพิณ ได้กลับมา AAR (After Action Review) ร่วมกับบุคลากรของ สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) ในเวที "Weekly Meeting" สรุปได้ว่า


1. เป้าหมายของการประชุมครั้งนี้คือ เพื่อให้นักวิจัยรุ่นใหม่ได้นำเสนอความก้าวหน้าของผลงานวิจัยที่ได้รับทุน ได้รับข้อคิดเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิ ที่จะนำไปสู่การพัฒนางานวิจัย
ส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายงานวิจัย  สร้างเวทีของการพบปะนักวิจัยที่ปรึกษา เมธีวิจัยอาวุโส นักวิจัยอาวุโส และนักวิจัยในกลุ่มสาขาเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน  นอกจากนี้ยังมีการเสนอผลงานของผู้รับทุนพัฒนาศักยภาพ ทุนส่งเสริมนักวิจัยรุ่นใหม่อีกด้วย


2. ผลการดำเนินงานในส่วนของการนำเสนอผลงานทั้งรูปแบบโปสเตอร์และแบบบรรยาย เป็นไปได้ดี ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่มีความกระตือรือร้นในการนำเสนอ  ทีมงานมีการวางตัวประธานในแต่ละห้อง ซึ่งล้วนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิระดับหัวกะทิของเมืองไทยทั้งสิ้น ทำให้ผู้นำเสนอได้ข้อคิดเห็นที่มีประโยชน์อย่างมากในการพัฒนางานของตนต่อไป

ผู้นำเสนอ 5 ท่านแรกของห้องเกษตรอินทรีย์ (13 ต.ค. 48)


ตัวอย่างโปสเตอร์

3. การสร้างเครือข่ายยังไม่เห็นรูปธรรมมากนัก คงต้องใช้เวลาในการฟูมฟักอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของ สคส. ได้พยายามเชื่อมโยงนักวิจัยชาวบ้านกับนักวิชาการเข้าด้วยกัน กิจกรรมแรกที่จะร่วมกันได้คือ การจัดศึกษาดูงาน จ.พิจิตร และ จ.บุรีรัมย์  ในเดือน มกราคม และ กุมภาพันธ์ 2549

 

บรรยากาศการสร้างเครือข่ายแบบมุ่งเป้า (14 ต.ค. 48)


และมีนักวิจัยให้ความเห็นว่า แบบตอบรับคลุมเครือ ทำให้เข้าใจผิดว่าสามารถเลือกได้เองที่จะนำเสนอแบบบรรยายหรือโปสเตอร์ บางคนต้องนำเสนอแบบโปสเตอร์ แต่เตรียมตัวมาเพื่อบรรยาย ทำให้ต้องออกไปจัดพิมพ์ในตัวเมืองเพชรบุรีอย่างเร่งด่วน เพื่อแสดงสปิริตในการเข้าร่วมงาน


4. หากปีหน้าจะมีการประชุมลักษณะนี้อีก คงต้องมีข้อตกลงร่วมกันและเคร่งครัด กับนักวิจัยในการรักษาเวลาในการนำเสนอให้กระชับและเผื่อเวลาให้ผู้ฟังได้ซักถามด้วย  ปรับแบบตอบรับให้ชัดเจน  มีการจัดทำและเผยแพร่เอกสารสรุปการประชุมเพื่อเป็นข้อมูลให้ศึกษาย้อนหลังได้   อีกส่วนหนึ่งคือการทำความเข้าใจลักษณะงาน ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานให้ชัดเจน เช่น การบันทึกภาพนิ่ง 

ข้อมูลข้างต้น เป็นความคิดเห็นส่วนตัว ทีมงานท่านอื่น ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยเสมอไป

อุรพิณ

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 5680เขียนเมื่อ 21 ตุลาคม 2005 10:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 06:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอให้ความเห็นเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องในข้อที่ 3 นะค่ะ ว่าลักษณะการสร้างเครือข่ายของฝ่ายวิชาการเริ่มต้นเน้นหนักไปที่นักวิชาการที่อยู่ในสาขาเดียวกันหรือใกล้เคียงกันเป็นหลัก เช่น ชุดโครงการเคมีทางยา ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2547 มีนักวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนมาแล้วจำนวนหนึ่ง ทั้งจากมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯและส่วนภูมิภาค ซึ่งเครือข่ายดังกล่าวมีกิจกรรมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ความคิดเห็นและ share resource มีการให้ความช่วยเหลือกับนักวิจัยรุ่นใหม่ในการแก้ปัญหาด้านต่างๆ ซึ่งนอกจากในเครือข่ายเดียวกันยังมีการเชื่อมโยงข้ามเครือข่ายเช่น เกษตรอินทรีย์ องค์ความรู้ทางด้านสมุนไพรจะสามารถนำไปใช้แก้ปัญหาการใช้สารเคมีเป็นยากำจัดศัตรูพืช เป็นต้น ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านเป็นรูปธรรมก้าวหนึ่งที่สำคัญอันจะนำไปสู่การแก้ปัญหาของสังคมไทยต่อไปในอนาคต

สำหรับที่มีการกล่าวว่ามีนักวิจัยให้ความเห็นว่า แบบตอบรับคลุมเครือ ทำให้เข้าใจผิดว่าสามารถเลือกได้ว่าจะนำเสนอผลงานแบบบรรยายหรือโปสเตอร์นั้น ตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน 2548 ได้มีการออกจดหมายแจ้งนักวิจัยที่รับทุนปี 2546 และ 2547 ว่านักวิจัยที่รับทุนปี 2546 ต้องนำเสนอผลงานแบบวาจา และนักวิจัยที่รับทุนปี 2547 ต้องนำเสนอผลงานแบบโปสเตอร์ และได้มีการส่งจดหมายออกเป็นระยะๆ ซึ่งจากผู้นำเสนอ 600 ท่านมีเพียง 1 ท่านที่สับสนกับรูปแบบการนำเสนอผลงาน

สำหรับข้อ 4 นั้น การประชุมในลักษณะนี้มีการจัดทำหนังสือสรุปหลังการประชุมทุกครั้งค่ะ ซึ่งในปีนี้อยู่ระหว่างการจัดทำค่ะ

สำหรับการบันทึกภาพนิ่ง มีการตกลงหน้าที่ของผู้บันทึกภาพนิ่ง โดยจะมีผู้เป็นแกนหลักในการบันทึกภาพ และผู้ที่ช่วยถ่ายเสริมอีกจำนวนหนึ่งเพื่อให้ได้ภาพมากพอที่จะนำมาลงหนังสือสรุป ซึ่งอาจมีจำนวนหลายคน จนทำให้เข้าใจว่าไม่มีการแบ่งหน้าที่กันชัดเจนเท่าที่ควร

อย่างไรก็ตามต้องขอขอบคุณสำหรับความคิดเห็นซึ่งทำให้ฝ่ายวิชาการได้มีโอกาสชี้แจง และจะนำไปปรับปรุงแก้ไขในการประชุมครั้งต่อไปด้วยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท