HR-LLB-TU-2556-TPC-​​​ศาลสิทธิมนุษยน


ศาลสิทธิมนุษยน : ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปและองค์กรความร่วมมือระหว่างรัฐบาลในภูมิภาคอาเซียนเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน



(ที่มารูปภาพ : http://cjicl.org.uk/wp-content/uploads/2013/12/ECHRcourt.jpg)



          กระบวนการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยหลักมีอยู่สองรูปแบบด้วยกันคือกระบวนการยุติธรรมในศาลและกระบวนการยุติธรรมนอกศาล ศาลสิทธิมนุษยชนเป็นรูปแบบหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมในศาล ศาลสิทธิมนุษยชนที่มีชื่อเสียงศาลหนึ่งคือศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป ซึ่งจัดได้ว่าเป็นศาลที่มีประสิทธิภาพแห่งหนึ่งของโลก นอกจากนี้ภายในภูมิภาคอาเซียนเอง แม้ว่าจะยังไม่มีศาลสิทธิมนุษยชนอาเซียน แต่ก็มีหน่วยงานคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนด้วยเช่นกัน ซึ่งก็คือ องค์กรความร่วมมือระหว่างรัฐบาลในภูมิภาคอาเซียนเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน หรือที่เรียกสั้นๆว่า AICHRศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป (The European Court of Human Rights) เป็นศาลที่ตั้งขึ้นโดย Council of Europe มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการบังคับใช้กฎหมายและตรวจสอบการใช้กฎหมายของรัฐสมาชิก หรือในอีกแง่หนึ่ง ก็คือหน่วยงานที่ช่วยตรวจสอบควบคุมเรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศต่างๆที่เป็นภาคีสมาชิกนั่นเอง

          ที่ตั้งของศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปตั้งอยู่ที่เมืองสตราสบูรก์ (Strasbourg) ประเทศฝรั่งเศส คำว่ายุโรปในศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปนั้นไม่ได้หมายถึงสหภาพยุโรปหรือ European Union ที่มีสมาชิก 28 ประเทศแต่อย่างใด ประเทศสมาชิกของศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปมีทั้งหมด 47 ประเทศเหมือนกับ Council of Europe ผู้ก่อตั้ง ได้แก่ Albania, Andorra, Armenia, Austria, Azerbaijan, Belgium, Bosnia and Herzegovina, Bulgaria, Croatia, Cyprus, Czech Republic, Denmark, Estonia, Finland, France, Georgia, Germany, Greece, Hungary, Iceland, Ireland, Italy, Latvia, Liechtenstein, Lithuania, Luxembourg, Malta, Republic of Moldova, Monaco, Montenegro, Netherlands, Norway, Poland, Portugal, Romania, Russian Federation, San Marino, Serbia, Slovak Republic, Slovenia, Spain, Sweden, Switzerland, The former Yugoslav Republic of Macedonia, Turkey, Ukraine, United Kingdom1

          การจัดตั้งศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปนี้เกิดจาก Article 19 ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนยุโรป ซึ่ง Council of Europe เป็นผู้ยกร่างขึ้นเช่นเดียวกัน Article 19 นี้ได้กล่าวถึงการจัดตั้งศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปเพื่อเป็นการประกันว่ารัฐภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษชนยุโรปได้เคารพและปฏิบัติตามอนุสัญญาและพิธีสารฉบับต่างๆซึ่งเป็นข้อตกลงเพิ่มเติมที่ผูกพันรัฐนั้นๆ บัญญัติไว้ดังนี้

          “ARTICLE 19 : Establishment of the Court
          To ensure the observance of the engagements undertaken by the High Contracting Parties in the Convention and the Protocols thereto, there shall be set up a European Court of Human Rights, hereinafter referred to as “the Court”. It shall function on a permanent basis.”

          ดังนั้น ถ้าไม่ได้เป็นรัฐภาคีของอนุสัญญานี้ ก็จะไม่สามารถขึ้นศาลนี้ได้ แต่เมื่อเป็นภาคีแล้ว ก็ไม่ใช่ทุกข้อในอนุสัญญาและในพิธีสารจะผูกพันรัฐนั้นทุกข้อ บางรัฐอาจทำพิธีสารเลือกรับได้ คือเลือกรับเฉพาะอนุสัญญาหรือจะรับท้ังอนุสัญญาและพิธีสาร ทั้งนี้ เมื่อรับเท่าใดก็จะูกพับรัฐเท่านั้น ในส่วนที่ไม่ได้รับก็จะฟ้องหรือถูกฟ้องคดีต่อศาลไม่ได้

          ศาลสิทธิมนุษยชนเป็นศาลที่มีลักษณะที่เป็นระหว่างประเทศ แต่ไม่เหมือนศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice หรือ ICJ) เนื่องจากไม่ได้พิจารณาคดีที่คู่กรณีคือรัฐกับรัฐหรือรัฐกับองค์กรระหว่างประเทศ

          อำนาจของศาลสิทธิมนุษยชน (Competence) ต้องตีความและบังคับใช้จากอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนยุโรปและพิธีสาร ดังนั้น ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปจึงมีอำนาจครอบคลุมกรณีตามที่บัญญัติไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนยุโรป 1950 ซึ่งในอนุสัญญานี้ได้ระบุประเภทของสิทธิที่ได้รับการรับรอง ประกอบด้วย The right to life คือ สิทธิในการมีชีวิตอยู่ The right to a fair hearing คือ สิทธิในกระบวนการยุติธรรม The right to respect for private and family life คือ สิทธิในความเป็นส่วนตัวและชีวิตครอบครัว Freedom of expression คือ เสรีภาพในการแสดงออก Freedom of thought conscience and religion คือ เสรีภาพในความคิด มโนสำนึกและศาสนา และ The protection of property คือ สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองทรัพย์สิน

          สำหรับคู่กรณีในศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปนั้น ผู้ที่สามารถเป็นโจทก์ได้คือ ปัจเจกชน ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา นิติบุคคล หรือแม้กระทั่งองค์กรพัฒนาเอกชนหรือ NGOs ต่างๆ ส่วนผู้ที่สามารถเป็นจำเลยได้นั้นก็คือรัฐสมาชิก ถ้าไม่มีเป็นสมาชิกก็ไม่สามารถถูกฟ้องได้ ปัจเจกชนและองค์กรพัฒนาเอกชนไม่สามารถตกเป็นจำเลยได้ นอกจากนี้ รัฐสมาชิกก็สามารถฟ้องรัฐสมาชิกได้เช่นกัน

          เงื่อนไขในการเป็นโจทก์ของปัจเจกชนนั้น ตัวปัจเจกชนเองไม่จำเป็นต้องมีสัญชาติของรัฐสมาชิก เพียงแค่มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ในรัฐสมาชิกแห่งอนุสัญญา และถูกละเมิดสิทธิที่ได้รับการรับรองจากอนุสัญญาโดยตรง ก็สามารถฟ้องรัฐสมาชิกนั้นๆเป็นจำเลยต่อศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปได้

          นอกจากเงื่อนไขของตัวโจทก์และจำเลยแล้ว ก็ยังมีเงื่อนไขเกี่ยวกับคดีอีกด้วย คือ คดีนั้น ต้องมีการดำเนินคดีต่อศาลภายในรัฐนั้นๆจนเสร็จสิ้นแล้ว คือคดีถึงที่สุดในศาลสูงสุดแล้ว รวมถึงการฟ้องคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญของรัฐนัั้นด้วย แต่ยังได้ผลไม่เป็นที่พอใจ โจทก์ต้องฟ้องคดีต่อศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปภายใน 6 เดือนนับแต่คดีถึงที่สุด โดยการฟ้องคดีต่อศาลภายในรัฐนั้นต้องมีการกล่าวอ้างว่าตนถูกรัฐนั้นๆละเมิดสิทธิมนุษยชนตามที่อนุสัญญาได้รับรองไว้ นอกจากนี้ยังสามารถใช้ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) และ กฎบัตรสิทธิขั้นพื้นฐานของสหภาพยุโรป (Charter of Fundamental Rights of the European Union) เป็นฐานแห่งสิทธิได้ด้วย

          เมื่อรัฐใดรัฐหนึ่งตกเป็นจำเลยแล้วนั้น ในการดำเนินกระบวนพิจารณา รัฐสมาชิกที่เป็นจำเลยมีหน้าที่ต้องให้ความร่วมมือกับศาลในการให้ข้อมูลตลอดจนเอกสารต่างๆที่ศาลจำเป็นต้องใช้ประกอบการพิจารณาคดีด้วย หากรัฐนั้นไม่ให้ความร่วมมือ ก็จะมีบทลงโทษ เนื่องจากเป็นการกระทำที่ละเมิดพันธกรณีตามอนุสัญญา ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐสมาชิกที่ต้องอำนวยความสะดวกให้กับศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปตามที่จำเป็นในการพิจารณาคดี

          ผู้พิพากษาในศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปประกอบด้วยผู้พิพากษาทั้งหมด 47 นาย ครบตามรัฐสมาชิก โดยมาจากการเลือกตั้งโดยคณะมนตรียุโรป มีวาระในการดำรงตำแหน่ง 9 ปี สำหรับองค์คณะในการนั่งพิจารณานั้น ประกอบด้วยผู้พิพากษา 7 นาย ส่วนที่ประชุมใหญ่ประกอบด้วยผู้พิพากษา 17 นาย

          เนื่องจากบทบัญญัติในอนุสัญญว่าด้วยสิทธิมนุษยชนยุโรปได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายภายในของรัฐสมาชิกต่างๆที่ได้ให้สัตยาบันแก่อนุสัญญาดังกล่าว ดังนั้นศาลภายในของรัฐสมาชิกจึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายระหว่งประเทศนี้ หากศาลภายในและหน่วยงานต่างๆภายในประเทศไม่เคารพบทบัญญัติในอนุสัญญา รัฐสมาชิกนั้นก็จะมีความรับผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศ คือตกเป็นจำเลยในศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปได้ หากปัจเจกชนผู้ที่ถูกละเมิดนั้นได้ฟ้องคดีต่อศาล

          แม้มีอนุสัญญาหรือมีศาลที่มีประสิทธิภาพเพียงใด แต่ถ้าไม่มีองค์กรบังคับคดีตามคำพิพากษา ความยุติธรรมนั้นก็ไม่สามารถมาถึงตัวผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ ดังนั้น การบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปนั้น ปรากฎใน Article 46 ของอนุสัญญา กล่าวไว้ว่า
          “ARTICLE 46 : Binding force and execution of judgments 

          1. The High Contracting Parties undertake to abide by the final judgment of the Court in any case to which they are parties.
          2. The final judgment of the Court shall be transmitted to the Committee of Ministers, which shall supervise its execution.
          3. If the Committee of Ministers considers that the supervision of the execution of a final judgment is hindered by a problem of interpretation of the judgment, it may refer the matter to the Court for a ruling on the question of interpretation. A referral decision shall require a majority vote of two thirds of the representatives entitled to sit on the committee.
          4. If the Committee of Ministers considers that a High Contracting Party refuses to abide by a final judgment in a case to which it is a party, it may, after serving formal notice on that Party and by decision adopted by a majority vote of two thirds of the representatives entitled to sit on the committee, refer to the Court the question whether that Party has failed to fulfil its obligation under paragraph 1.
          5. If the Court finds a violation of paragraph 1, it shall refer the case to the Committee of Ministers for consideration of the measures to be taken. If the Court finds no violation of 26 27 paragraph 1, it shall refer the case to the Committee of Ministers, which shall close its examination of the case.”2

          จะเห็นได้ว่า ศาลจะส่งคำพิพากษาไปยัง The Committee of Ministers ซึ่งเป็นหน่วยงานบังคับคดี โดยจะแจ้งให้รัฐที่ถูกศาลพิพากษาว่ามีความผิดได้ทราบว่าตนกระทำผิดกฎหมายระหว่างประเทศในข้อใดบ้าง รัฐที่มีความผิดต้องแก้ไขกฎหมายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนให้สอดคล้องและไม่ขัดต่ออนุสัญญา ต้องระมัดระวังมิให้หน่วยงานภายใน รวมถึงศาล การกระทำอันเป็นการละเมิดพันธกรณีตวามอนุสัญญา นอกจากนี้ ศาลสิทธิมนุายชนยุโรปสามารถลงโทษให้รัฐชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ปัจเจกชนผู้ถูกละมิดได้ โดยมี The Committee of Ministers เป็นผู้ควบคุมตรวจสอบว่าผู้เสียหายได้รับค่าสินไหมแล้วหรือยัง ระบบในการบังคับคดีของศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปนั้นถือเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพและใช้ได้จริงระบบหนึ่งในนานาประเทศ

          ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปเป็นหน่วยงานหนึ่งในอีกหลายๆหน่วยงานที่มีระบบในการจัดการการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ดีเยี่ยม จนสามารถเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับอีกหลายๆหน่วยงาน หนึ่งในหน่วยงานที่ได้รับแรงบันดาลใจจากศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปคือองค์กรความร่วมมือระหว่างรัฐบาลในภูมิภาคอาเซียนเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน (ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights หรือ AICHR) ในกฎบัตรสมาคมแห่งประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือกฎบัตรอาเซียน ข้อ 14 กำหนดว่า
          “องค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน
          1. โดยสอดคล้องกับความมุ่งประสงค์และหลักการของกฎบัตรอาเซียนเกี่ยวกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ให้อาเซียนจัดตั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียนขึ้น
          2. องค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียนนี้ต้องดําเนินการตามอํานาจหน้าที่ ซึ่งจะกําหนดโดยที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน”3

          จะเห็นได้ว่า อาเซียนเองต้องดูแลและจัดตั้งหน่วยงานเพื่อดูแลสิทธิมนุษยชน ซึ่งหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นก็คือ AICHR นั่นเอง AICHR เกิดขึ้นจากปฏิญญาชะอำ-หัวหินที่กำหนดให้มีการยกร่าง Terms of Reference of ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights เพื่อกำหนดขอบอำนาจหน้าที่ต่างๆ ตลอดจนโครงสร้างของ AICHR ตัว Terms of Reference ต้องได้รับการทบทวนทุกๆ 5 ปี เพื่อสรุปว่าการทำงานของคณะผู้แทนในปีที่ผ่านมาเป็นไปในทิศทางที่กำหนดไว้หรือไม่ เพื่อที่จะได้พัฒนากลไกในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในอาเซียนต่อไป

          อำนาจของ AICHR ยังไม่ชัดเจนนัก ไม่สามารถบังคับให้ทำตาม หรือนั่งพิจารณาคดีได้เหมือนศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป ส่วนหน้าที่ของ AICHR คือการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในอาเซียน

          ปัญหาของ AICHR ในปัจจุบันนี้คือ เมื่อดูจาก Terms of Reference จะพบว่าอำนาจจริงๆของ AICHR ไม่มี ไม่ได้เป็นศาล ไม่มีอำนาจรับเรื่องร้องเรียน ถ้าจะรับเรื่องไปก็รับไปเพียงเพื่อประสานต่อเท่านั้น ไม่มีอำนาจชัดเจนแบบศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป นอกจากนี้ผู้แทนในAICHEที่รัฐทั้ง 10 รัฐส่งไปไม่ได้ตระหนักเรื่องสิทธิมนุษยชนเท่าที่ควร ทำให้ไม่สามารถดำเนินไปไหนได้ การทำงานยังคงมีการเมืองพอสมควร ขึ้นอยู่กับรัฐบาลหลักอยู่มาก ถ้าตัวผู้แทนเองไม่ได้เป็นนักสิทธิมนุษยชนที่แท้จริง การทำงานอาจไม่คืบหน้าได้

          จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่า ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปเป็นหน่วยงานที่จัดการเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ดีหน่วยงานหนึ่ง AICHR ที่เป็นหน่วยงานภาคพื้นอาเซียนที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปนั้นยังคงต้องพัฒนาอีกมาก จึงอาจจะต้องใช้ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปเป็นตัวอย่างในการพัฒนาให้ในที่สุด AICHR เป็นหน่วยงานที่สามารถคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยนชนได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต

เอกสารอ้างอิง

อ.ดร. รัชนีกร ลาภวณิชชา. 2557. เอกสารประกอบการบรรยายวิชา น.396 สิทธิมนุษยชน. สถาบันด้านสิทธิมนุษยชนในระดับระหว่างประเทศและภูมิภาค.


จิดาภา รัตนนาคินทร์
13 พฤษภาคม 2557



1Member States. http://www.coe.int/en/web/portal/country-profiles. 13 พฤษภาคม 2557.

2อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ 1

3กฎบัตรสมาคมแห่ง ประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใ้ต้. http://service.nso.go.th/nso/nsopublish/asean/files/Charter_TH+EN.pdf. 13 พฤษภาคม 2557.

หมายเลขบันทึก: 567906เขียนเมื่อ 13 พฤษภาคม 2014 21:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2014 20:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท