สิทธิในเสรีภาพของคนต่างด้าว:สิทธิทางการเมืองไทยของคนต่างด้าว


บทความที่ 12 สิทธิในเสรีภาพของคนต่างด้าว-เสรีภาพที่จะเข้าร่วมทางการเมืองไทย

          สิทธิในการแสดงออกหรือการแสดงความคิดเห็น นั้นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ กล่าวคือ เมื่อบุคคลถือกำเนิดเป็นมนุษย์แล้วย่อมก่อเกิดสิทธิดังกล่าวนี้ตามมาด้วย โดยที่สิทธิดังกล่าวได้รับการยอมรับเป็นสิทธิมนุษยชนภายใต้ข้อ 19 แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน บัญญัติว่า "ทุกคนจักมีสิทธิออกความเห็นโดยไม่ถูกแทรกแซง" และ "ทุกคนจักมีสิทธิในเสรีภาพการพูด สิทธินี้จักรวมไปถึงเสรีภาพในการแสวงหา ได้รับและส่งต่อข้อสนเทศและความคิดในทุกรูปแบบ โดยไม่คำนึงถึงขอบเขต ไม่ว่าจะโดยการพูด การเขียนหรือการพิมพ์ ในรูปของศิลปะ หรือผ่านสื่ออื่นใดที่เป็นทางเลือกของเขา"        

         เมื่อพิจารณาตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนอันเป็นกฎหมายที่เป็นพันธะสัญญาที่รับรองสิทธิมนุษยชน ให้ได้รับการยอมรับและปฏิบัติตามอย่างเป็นรูปธรรม จะพบว่าผู้ทรงสิทธิในการแสดงออกนี้ได้แก่ “มนุษย์ทุกคน” ไม่จำกัดเฉพาะแต่บุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

         อันย่อมหมายความรวมถึงคนต่างด้าว ซึ่งหมายถึงบุคคลที่ไม่มีสัญชาติของรัฐเจ้าของดินแดน มีความหมายรวมทั้ง (๑) คนที่มีสัญชาติของรัฐต่างประเทศ และ (๒) คนที่ไร้รัฐเจ้าของสัญชาติ โดยการไม่มีสัญชาติของรัฐอันเป็นเจ้าของดินแดนนี้มิได้ส่งผลให้ถูกจำกัดหรือลิดรอนสิทธิดังกล่าวอันเป็นสิทธิมนุษยชนไปแต่อย่างใด

         โดยสิทธิในการแสดงความคิดเห็นอันเป็นสิทธิมนุษยชนนั้นก็ได้เป็นฐานให้เกิดเป็นสิทธิทางการเมืองอันเป็นสิทธิมนุษยชนอีกประการหนึ่ง โดยได้รับการรับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights - ICCPR)ได้กล่าวว่า “ สิทธิทางการเมือง คือ สิทธิในการกำหนดเจตจำนงของตนเอง (self-determination) ด้วยการเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารรัฐโดยตรง หรือใช้สิทธิเลือกตั้งบุคคลเข้าไปเป็นตัวแทนโดยปราศจากการแทรกแซงจากบุคคลอื่น การเลือกตั้งจึงต้องเป็นไปตามวาระ มีการออกเสียงโดยทั่วไปอย่างเสมอภาค และเป็นการลงคะแนนลับเพื่อประกันการแสดงเจตนาเสรีของผู้เลือก”

          จากคำนิยามข้างตนว่าด้วยสิทธิทางการเมือง นั้นแสดงให้เห็นว่ามนุษย์ทุกคนเป็นผู้ทรงสิทธิทางการเมืองดังกล่าวโดยมีสิทธิที่จะมีส่วนรวมในการบริหารรัฐหรือมีสิทธิที่จะเลือกตั้งบุคคลเข้าเป็นผู้แทนตนในการบริหารประเทศ โดยปราศจากการแทรกแซงไม่ว่าจะเป็นจากรัฐเจ้าของดินแดนหรือจากรัฐอื่นใดในโลก เพราะสิทธิดังกล่าวนี้เป็นสิทธิในการแสดงเจตนาอย่างเสรีของมนุษย์

           แต่สิทธิทางการเมืองนั้นเป็น “สิทธิกระทำการ กล่าวคือบุคคลต้องใช้สิทธิของตนเข้าไปมีส่วนร่วม อันได้มีรับการรับรองในรูปของสิทธิพลเมือง ที่ผู้ทรงสิทธิดังกล่าวนั้นมีความแตกต่างกันในแต่ละรัฐ เพราะเป็นสิทธิที่จะกระทำการได้เฉพาะบุคคลผู้ถือสัญชาติกล่าวคือเป็นพลเมืองของรัฐนั้นๆเท่านั้น ที่จะสามารถใช้สิทธิในการตัดสินใจอันจะนำมาซึ่งการแสดงเจตจำนงที่จะก่อการเปลี่ยนแปลงหรือการมีส่วนร่วมทางการเมืองของแต่ละรัฐ

           ทั้งเมื่อพิจารณาตามหลักผู้ทรงประโยชน์แห่งสิทธิ จะพบว่าสิทธิทางการเมืองเป็นเรื่องว่าด้วยการเมืองภายในรัฐ จึงมีความจำเป็นที่ผู้ทรงสิทธิต้องเป็นพลเมืองหรือเป็นบุคคลผู้ถือสัญชาติของรัฐเท่านั้น ไม่รวมถึงคนต่างด้าวที่มิได้ถือสัญชาติของรัฐ เพราะบุคคลที่จะมีสิทธิในการตัดสินใจเรื่องทางการเมืองอันเป็นเรื่องภายในของแต่ละรัฐต้องเป็นบุคคลผู้มีความยึดโยงหรือมีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐเจ้าของดินแดนเท่านั้น เพราะสิทธิทางการเมืองนี้จะส่งผลประโยชน์ในการบริหารอันเป็นการพัฒนารัฐใดรัฐหนึ่งอันจะมีความผูกพันกับผู้มีสัญชาติของรัฐนั้นๆเท่านั้น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้คนต่างด้าวมิได้เป็นผู้ทรงสิทธิในสิทธิทางการเมืองของรัฐไทย


เขียนเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2557


เอกสารอ้างอิง

[1]ดุษฎี  ไทยคำ,คนต่างด้าวกับการอ้างสิทธิ เสรีภาพตาม,รัฐธรรมนูญ http://www.l3nr.org/posts/364233 สืบค้นเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2557

[2]ศิลป์ฟ้า  ตันศราุธ,เสรีภาพในการแสดงออกhttp://www.thaimedialaw.org/index.php?option=com_flexicontent&view=items&cid=33&id=99&Itemid=9&lang=en สืบค้นเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2557

หมายเลขบันทึก: 567696เขียนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2014 15:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2014 11:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท