การละเมิดสิทธิในชีวิตอื่นๆ


บทความที่ 11 เรื่อง การละเมิดสิทธิในชีวิตอื่นๆ

       สิทธิในชีวิต ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ที่ทำให้มนุษย์สามารถมีชีวิตอยู่ได้และได้รับการคุ้มครองให้ปลอดภัยได้รับการตอบสนองตามความต้องการขั้นพื้นฐานของชีวิต ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่มห่ม ยารักษาโรค และที่อยู่อาศัย

      โดยที่ทุกชีวิตล้วนมีคุณค่า ทั้งนี้หมายรวมถึงบุคคลที่ต้องการความช่วยเหลือเพื่อการดำรงชีวิตเป็นพิเศษจากผู้อื่น เช่น คนพิการ คนชรา ผู้ด้อยโอกาส หรือแม้จะเป็นบุคคลที่ไร้รัฐไร้สัญชาติ บุคคลเหล่านี้ต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเห็นคุณค่าในความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกับบุคคลโดยทั่วไป เพราะความแตกต่างดังตัวอย่างที่กล่าวไปนี้มิได้ทำให้คุณค่าหรือศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ของบุคคลเหล่านั้นลดน้อยลงแต่อย่างใด

      เมื่อพิจารณาจะพบว่าบุคคลผู้ถูกละเมิดสิทธิในชีวิตอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มบุคคลผู้ด้อยโอกาสที่อยู่ตามแนวชายแดนของประเทศ ที่มักประสบปัญหาเพราะความไร้รัฐหรือไร้สัญชาติ โดยเฉพาะสิทธิใน “การรับรองสถานะบุคคล” ของบุคคลกลุ่มนี้

        ดังเช่นกรณีของน้องผักกาดหรือ ด.ญ.ผักกาด ที่เกิด ณ โรงพยาบาลแม่สอด เมื่อ พ.ศ.2549 โดยไม่มีการแจ้งเกิด จึงมิได้มีการับรองสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรของรัฐใดเลย ทำให้ประสบปัญหาความไร้รัฐ และเป็นบุคคลผู้ไร้สัญชาติ ทั้งยังเป็นผู้มีความพิการทางร่างกายมาแต่กำเนิด ไม่สามารถขยับร่างกายหรือพูดได้อย่างคนปกติ

      น้องผักกาดเป็นผู้ทรงสิทธิใน “สิทธิในสถานะบุคคล” ที่มนุษย์ทุกคนต้องมี แต่การที่มิได้มีการแจ้งเกิดนั้นทำให้น้องผักกาดถูกละเมิด “สิทธิในการรับรองสถานะบุคคล” เพราะแม้ว่าจากข้อเท็จจริงน้องผักกาดเป็นบุคคลผู้มีความพิการแต่กำเนิดและได้ถูกบุพการีทอดทิ้งตั้งแต่แรกเกิด แต่ก็มิได้เป็นปัจจัยที่จะทำโรงพยาบาลแม่สอดอันเป็นสถานที่ ที่น้องผักกาดได้เกิดนั้นจะละเลยไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ ให้สอดคล้องกับสิทธิในการได้รับการรับรองสถานะบุคคลของน้องผักกาด

     โดยสิ่งที่โรงพยาบาลต้องกระทำ คือจดทะเบียนการเกิดให้แก่น้องผักกาด ให้ต้องตามความแห่งอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก ข้อที่ 7 [1]ในอันที่เด็กมีสิทธิที่จะได้รับการจดทะเบียนทันทีหลังการเกิดและสิทธิที่จะมีชื่อนับแต่เกิด และสิทธิที่จะได้สัญชาติ และเท่าที่จะเป็นไปได้สิทธิที่จะรู้จักและได้รับการเลี้ยงดูจากบิดามารดาของตน ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้สิ่งที่โรงพยาบาลสามารถกระทำได้คือการจดทะเบียนรับรองการเกิดของน้องผักกาดแต่ทางโรงพยาบาลก็มิได้กระทำ

     เช่นนี้เห็นได้ชัดเจนว่าน้องผักกาดเป็นบุคคลผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่ได้มีการรับรองตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก ข้อที่ 7 และมีการรับรองตามกติกาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิทางแพ่ง พลเมือง และทางการเมือง ข้อที่ 16ความว่าบุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการยอมรับนับถือว่าเป็นบุคคลตามกฎหมายในที่ทุกสถาน อันเป็นพันธะสัญญาระหว่างประเทศที่ประเทศไทยนั้นได้มีการลงนามในอนุสัญญาเหล่านี้ด้วย

     นอกจากจะเป็นการละเมิดพันธะสัญญาระหว่างประเทศแล้วยังเป็นการละเมิดสิทธิที่ถูกรับรองไว้ในกฎหมายภายในประเทศว่าด้วยการทำหนังสือรับรองการเกิด ตามความแห่ง [2]พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534ความว่า เมื่อมีคนเกิดหรือคนตายผู้ทำคลอดหรือผู้รักษาพยาบาลต้องออกหนังสือรับรองการเกิดหรือการตายตามแบบพิมพ์ที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนดให้แก่ผู้มีหน้าที่ ต้องแจ้งตามมาตรา18 หรือ 21 เช่นนี้จะพบว่าบุพการีของน้องไม่ปฏิบัติตามความแห่งมาตรา 23 เนื่องจากมิได้มีการแจ้งการเกิดของน้องแก่ผู้มีหน้าที่แต่อย่างใด

     และจากข้อเท็จจริงปรากฏว่าหลังจากที่น้องผักกาดเกิดบิดามารดาของน้องก็ได้ทิ้งน้องไว้ที่โรงพยาบาล ทำให้น้องเป็นเด็กในสภาพแรกเกิดที่ถูกทอดทิ้ง โดยทางโรงพยาบาลเป็นผู้พบตัว ต้องตามความแห่งมาตรา 19 วรรคแรก แห่งพ.ร.บ. การทะเบียนราษฎรพ.ศ.2534 ที่มีหน้าที่ต้องกระทำการดังต่อไปนี้ได้แก่ นำตัวเด็กไปส่งและแจ้งต่อพนักงานฝ่ายปกครอง โดยที่เจ้าพนักงานต้องทำการบันทึกการรับตัวเด็ก และแจ้งการเกิดต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งและออกใบรับแจ้ง แต่จากข้อเท็จจริงปรากฏว่าทางโรงพยาบาลซึ่งเป็นผู้พบตัวน้องผักกาดอันเป็นผู้ทรงสิทธิตามมาตรา19 มิได้มีการกระทำใดๆตามที่กฎหมายกำหนด เช่นนี้จึงทำให้น้องผักกาดเป็นบุคคลผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ได้มีการรับรองไว้ในกฎหมายภายในอีกด้วย

     ส่วนกรณีสิทธิในการได้สัญชาตินั้นเนื่องด้วยน้องผักกาดไม่มีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐไทยแต่อย่างใดทั้งโดยหลักสืบสายโลหิตตามความแห่ง มาตรา๗ (๑) พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ เนื่องด้วยข้อเท็จจริงปรากฏว่าบุพการีของน้องมาจากประเทศเมียนม่าร์ ทั้งมิได้มีจุดเกาะเกี่ยวในหลักดินแดนตามความแห่ง มาตรามาตรา๗ (๒) พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘แต่อย่างใดแม้ว่าน้องจะเกิด ณ โรงพยาบาลแม่สอด อันเป็นราชอาณาจักรไทยแต่เนื่องจากต้องตามความแห่งมาตรา๗ทวิ วรรคหนึ่ง กล่าวคือบุพการีของน้องมิได้เป็นผู้มีสัญชาติไทยหากแต่เป็นคนต่างด้าวอันฟังได้ว่ามาจากประเทศเมียนม่าร์ เช่นนี้สิ่งที่ประเทศไทยสามารถกระทำได้คือการแจ้งแก่ประเทศเมียนม่าร์ที่ฟังได้ว่าเป็นประเทศที่น้องผักกาดมีจุดเกาะเกี่ยวให้มีการรับรองสัญชาติแก่น้องผักกาด แต่ประเทศไทยก็มิได้มีการกระทำอย่างที่ควรจะเป็นแต่อย่างใด


เขียนเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2557


เอกสารอ้างอิง

[1]อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก www.senate.go.th/committee2551/.../convention%20on...  สืบค้นเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2557

[2]พระราชบัญญัติสัญชาติ http://www.kodmhai.com/m4/m4-19/Nthailaw-4-19/N804... สืบค้นเมือ่วันที่ 10 พ.ค. 2557

หมายเลขบันทึก: 567689เขียนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2014 13:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2014 10:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท