การละเมิดสิทธิในชีวิตอื่นๆ


การละเมิดสิทธิในชีวิตอื่นๆ : การละเมิดสิทธิในสถานะบุคคล

จากกรณีศึกษาเด็กและเยาวชนข้ามชาติประสบปัญหาความด้อยโอกาส ในกรณีของ “น้องนาแฮ”

น้องนาแฮเกิดที่หมู่บ้านแม่สลองนอก อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย เมื่อราว พ.ศ. 2540 ปัจจุบันอาศัยอยู่กับบิดาที่บ้านโป่งไฮ ตำบลแม่สลองใน อำเอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย น้องนาแฮเป็นคนด้อยโอกาสเพราะประสบปัญหาความพิการ ขาและเท้าบิดจนไม่อาจดำเนินชีวิตได้ดังปกติ ต้องเคลื่อนไหวโดยการคลาน และยังประสบปัญหาความไร้รัฐโดยสิ้นเชิง กล่าวคือ ยังไม่ได้มีการรับรองสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรของรัฐใดเลยบนโลก จึงถูกถือเป็นคนผิดกฎหมายเข้าเมืองทุกรัฐบนโลก

จากข้อเท็จจริงดังกล่าวพบว่า น้องนาแฮเป็นคนไร้รัฐโดยสิ้นเชิง แม้จะเกิดในประเทศไทย แต่ก็ไม่ได้รับการแจ้งเกิด ตลอดจนไม่ได้รับการรับรองสถานะบุคคล ส่งผลให้น้องนาแฮไม่มีสิทธิในหลักประกันสุขภาพในกองทุนเพื่อบุคคลที่มีปัญหาสถานะบุคคล ทั้งที่ความจริงน้องมีปัญหาสถานะบุคคล

ข้อ 6แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน บัญญัติว่า ทุกๆคนมีสิทธิที่จะได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคลในกฎหมายไม่ว่า ณ ที่ใด ซึ่งหมายความว่า รัฐทุกรัฐย่อมมีหน้าที่รับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายให้แก่มนุษย์ทุกคน

หลักทั่วไป ข้อ 3 แห่งปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ก็ได้รับรองสิทธิที่จะได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคลภายใต้กฎหมาย

ข้อ 7 แห่งอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก บัญญัติว่า เด็กจะได้รับการจดทะเบียนทันทีหลังเกิด และจะมีสิทธิที่จะมีชื่อนับตั้งแต่เกิด และสิทธิที่จะได้รับสัญชาติ

จากหลักกฎหมายดังกล่าว จะเห็นได้ว่า รัฐทุกรัฐจะต้องทำการรับรองสถานะบุคคล โดยมีแนวทางปฏิบัติ 3 วิธี

  • 1.รัฐย่อมมีหน้าที่ที่จะบันทึกมนุษย์ที่ปรากฏตัวและอาศัยอยู่บนดินแดนของตนและบุตรในทะเบียนบุคคล หรือทะเบียนราษฎรของรัฐตน
  • 2.รัฐมีหน้าที่ที่จะผลักดันสถานะคนชาติหรือสัญชาติให้แก่มนุษย์ทุกคน ที่บุคคลเหล่านั้นมีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐตน ไม่ว่าจะโดยการเกิด หรือภายหลัง
  • 3.รัฐมีหน้าที่ผลักดันให้มนุษย์ที่เป็นคนต่างด้าวให้ปรากฏตัวอย่างมีสถานะบุคคลที่ชอบด้วยกฎหมายคนเข้าเมือง

ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า น้องนาแฮกำลังถูกรัฐไทยละเมิดต่อสิทธิในสถานะบุคคล เพราะน้องนาแฮตั้งแต่แรกเกิดไม่ได้รับการรับรองการเกิด ตลอดจนไม่ได้รับการรับรองสถานะบุคคลถือเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติ แม้โดยข้อเท็จจริงแล้วน้องนาแฮจะเกิดในประเทศไทย ซึ่งโดยหลักน้องนาแฮควรได้รับสัญชาติไทยตามหลักดินแดน จึงทำให้น้องนาแฮขาดโอกาสในหลายๆด้าน เช่นการได้รับการรักษาพยาบาลที่ดี การได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนต่างๆ เป็นต้น ดังนั้นรัฐไทยควรรีบจัดการเรื่องสถานะบุคคลให้น้องนาแฮเป็นการเร่งด่วน

ที่มา :

1. กรณีศึกษาเด็กและเยาวชนที่ประสบปัญหาความด้อยโอกาสทางสุขภาพเพราะพิการและป่วยหนัก, รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, 25 เมษายน 2557

2. ข้อมูลน้องนาแฮและภาพประกอบ, https://www.facebook.com/photo.php?fbid=1015235349... , สืบค้นวันที่ 10 พฤษภาคม 2557

3. ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน , http://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/book.pdf

4. ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ,http://www.nesac.go.th/web/upload/modDocument/file_8997113779344_tn-47-266.pdf

5. อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ,http://elib.coj.go.th/Ebook/data/semi/semi14_7.pdf

หมายเลขบันทึก: 567690เขียนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2014 14:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2014 21:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท