สิทธิในเสรีภาพของคนต่างด้าว


สิทธิในเสรีภาพของคนต่างด้าว

    เสรีภาพ นับเป็นปัจจัยขั้นพื้นฐาน ที่หลักสิทธิมนุษยชนสากลได้รับรองให้ความคุ้มครองไว้ แก่มนุษย์ทุกคน ซึ่งได้มีผู้ให้คำนิยามคำว่า เสรีภาพ หมายถึง “ความอิสระทางกายภาพในการดำรงชีวิตอยู่เป็นมนุษย์ปกติ นับตั้งแต่การปฏิสนธิออกจากครรภ์มารดา โดยไม่ละเมิดความอิสระทางกายภาพของบุคคลผู้อื่นควรจะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมเช่นกัน” ซึ่งแล้วเสรีภาพของมนุษย์ตามระบอบประชาธิปไตย สามารถแบ่งออกได้เป็นสามประการ คือ เสรีภาพในการพูด เสรีภาพในศาสนา และเสรีภาพของการจัดการ ซึ่งเสรีภาพเหล่านี้รัฐจะต้องให้ความคุ้มครองและสนับสนุนในการใช้เสรีภาพเหล่านั้น แต่สิ่งที่สำคัญ คือ การใช้เสรีภาพเหล่านี้จะต้องอยู่ภายใต้กรอบที่กฎหมายกำหนด คือต้องไม่เป็นการละเมิดสิทธิของผู้อื่น

    ซึ่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ได้บัญญัติเรื่องของเสรีภาพ ไว้ในหมวดที่ 3 ที่ได้รับรองการใช้สิทธิและเสรีภาพไว้ใน มาตรา 28 วรรคแรกที่ว่า “บุคคลย่อมอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน” อีกทั้งในมาตรา 28 วรรคท้าย ได้บัญญัติให้รัฐต้องสนับสนุนการใช้สิทธิและเสรีภาพตามความหมายของสิทธิและเสรีภาพในหมวดที่สามนี้ และ ในมาตรา 29 วรรคแรก ได้บัญญัติให้ความคุ้มครองในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ไว้ว่า “การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ซึ่งต้องไม่กระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้น”

    ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 แล้ว ได้บัญญัติเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตยไว้ดังนี้

-เสรีภาพในชีวิตและร่างกาย(มาตรา 32)

-เสรีภาพในเคหสถาน(มาตรา 33)

-เสรีภาพในการเดินทางและการเลือกถิ่นที่อยู่(มาตรา 34)

-เสรีภาพในการสื่อสารถึงกันโดยชอบด้วยกฎหมาย(มาตรา 36)

-เสรีภาพในการนับถือศาสนา(มาตรา 37)

-เสรีภาพในการประกอบกิจการหรือการประกอบอาชีพ(มาตรา 43)

-เสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น(มาตรา 45)

    แต่ประเด็นปัญหา คือ เสรีภาพเหล่านี้ตามรัฐธรรมนูญแล้ว ใครเป็นผู้มีสิทธิในเสรีภาพเหล่านี้บ้าง เพราะรัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้โดยใช้คำว่า “บุคคล” ดังนั้นแล้วในการตีความ พื้นฐานเลยคือ ผู้ที่จะมีสิทธิเหล่านี้ได้จะต้องเป็นผู้ที่มีสภาพบุคคลแล้วเท่านั้น(มาตรา 15 สภาพบุคคลเริ่มขึ้น เมื่อคลอดและอยู่รอดเป็นทารก) และมาตรา 30 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 บัญญัติในเรื่องความเสมอภาค ไว้ในมาตรา 30 วรรคแรก ว่า “บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน” และวรรคสอง ว่า “ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน” ผู้ทรงสิทธิในเสรีภาพเหล่านี้จึงเป็นบุคคลทุกคนตามความหมายของรัฐธรรมนูญ โดยไม่แบ่งแยกเพศ เชื้อชาติ หรือ ศาสนา เพราะมาตรา 30 วรรคสามได้วางหลักเรื่องการเลือกปฏิบัติ ไว้ว่า “การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจ” ดังนั้นแล้วสำหรับข้าพเจ้าสิทธิในเสรีภาพเหล่านี้ไม่ได้คุ้มครองแต่เฉพาะบุคคลที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น แต่คุ้มครองทุกคนที่อาศัยอยู่ เข้ามาทำงาน หรือ เข้ามาในประเทศไทยทุกคน แม้ว่าจะมิได้เป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทยก็ตาม หรือ คนต่างด้าว เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้โดยใช้คำว่า บุคคล เท่านั้น ดังนั้นสำหรับข้าพเจ้าแล้วบทบัญญัติที่ว่าด้วยสิทธิในเสรีภาพตาม หมวดสามแห่งรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย ย่อมคุ้มครอง บุคคลต่างด้าวด้วยเช่นกัน

กรณีศึกษาปัญหาของ นายสาธิต เซกัลป์

    นายสาธิต เซกัลป์ นั้นมีประเด็นปัญหาคือ กรณีของการถูกคำสั่งเนรเทศ ให้ออกนอกประเทศไทย โดยเป็นคำสั่งของ(ศรส.) เหตุเพราะเขาได้ขึ้นเวทีปราศรัยของ กลุ่มผู้ชุมนุม กปปส. โดยมีการต่อว่ารัฐบาลของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ซึ่งประเด็นปัญหา คือ รัฐบาลไทยสามารถที่จะทำเช่นนั้นได้หรือไม่ ซึ่งเรื่องของการเนรเทศบุคคลออกนอกประเทศนั้น ประเทศไทยได้บัญญัติเรื่องดังกล่าวไว้ใน พระราชบัญญัติการเนรเทศ พ.ศ. 2499 โดยได้ระบุไว้ในมาตรา 5 ว่า “เมื่อปรากฏว่ามีความจำเป็นเพื่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกคำสั่งให้เนรเทศคนต่างด้าวออกไปนอกราชอาณาจักรมีกำหนดเวลาตามที่จะเห็นสมควร อนึ่ง เมื่อพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไป รัฐมนตรีจะเพิกถอนคำสั่งเนรเทศเสียก็ได้

ความในวรรคแรกมิให้ใช้บังคับแก่ผู้ที่เคยได้สัญชาติไทยโดยการเกิด”

    ซึ่งสำหรับข้าพเจ้านั้นการที่นายสาธิต เซกัลป์ ได้ขึ้นไปปราศรัยบนเวทีเพื่อแสดงความคิดเห็นทางการเมือง นั้นการแสดงความคิดเห็นเป็นสิทธิในเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญไทยได้รับรองไว้ในมาตรา 45 ซึ่งอย่างที่อาจารย์ได้กล่าวในคาบสอนว่า สิทธิทางการเมืองเป็นส่วนหนึ่งของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ดังนั้นแล้วการที่นายสาธิต ได้แสดงออกซึ่งความเห็นทางการเมืองนั้น ถือเป็นการใช้สิทธิโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว เพราะอย่างที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ข้างต้นว่า รัฐธรรมนูญของไทยให้ความคุ้มสิทธิในเสรีภาพของคนต่างด้าวด้วย เพราะกรณีปัญหานี้นายสาธิต ยังคงเป็นคนต่างด้าวอยู่เพราะเขายังคงถือ สัญชาติอินเดียอยู่ แต่ถึงอย่างไรเมื่อเป็นการใช้สิทธิในเสรีภาพโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ รัฐบาลไทยจึงไม่มีสิทธิที่จะไปทำการเนรเทศนายสาธิต เซกัลป์ ได้แต่อย่างใดถึง ถึงแม้กฎหมายระหว่างประเทศจะมิได้กำหนดหลักเกณฑ์รายละเอียดเกี่ยวกับการเนรเทศคนต่างด้าวไว้ก็ตาม แต่ก็เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า รัฐมีอำนาจที่จะเนรเทศคนต่างด้าวได้ การเนรเทศ หมายความว่า การเคลื่อนย้ายคนต่างด้าวให้ออกจากประเทศ โดยอาศัยมาตรการหรือคำสั่งจากฝ่ายปกครอง ด้วยเหตุผลเพราะว่าการพำนักอาศัยของคนต่างด้าวจะขัดต่อสันติภาพ (หรือความสงบสุข) ความปลอดภัย และสวัสดิการสาธารณะของรัฐ โดยอาศัยกฎหมายเนรเทศ มิใช่กฎหมายคนเข้าเมือง นานาประเทศจะมีกฎหมายสองฉบับนี้เพื่อใช้ควบคุมการเข้าเมืองของคนต่างด้าว การบังคับให้คนต่างด้าวออกนอกราชอาณาจักรได้สิ้นสุดลงเพราะคนต่างด้าวผู้นั้นได้มีพฤติการณ์ที่ขัดต่อความมั่นคงหรือความสงบเรียบร้อยของรัฐ แต่การให้คนต่างด้าวออกนอกราชอาณาจักรโดยอาศัยกฎหมายคนเข้าเมืองนั้นเกิดจากกรณีที่คนต่างด้าวผู้นั้นเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายคือเป็นผู้ลักลอบหลบหนีเข้าเมืองซึ่งทำให้คนต่างด้าวผู้นั้นไม่มีสิทธิอยู่อาศัยในราชอาณาจักรมาตั้งแต่ต้น

    ดังนั้นแล้วในเมื่อนายสาธิต เซกัลป์ เป็นผู้เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย และ เป็นการใช้สิทธิในเสรีภาพ ในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง อันเป็นการใช้สิทธิโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร ดังนั้นจึงไม่อาจที่จะเป็นเหตุให้รัฐบาลไทยมีสิทธิในการเนรเทศนายสาธิต เซกัลป์ ออกนอกประเทศไทยแต่อย่างใด

อ้างอิง

1.พระราชบัญญัติการเนรเทศ. ที่มาhttp://www.thailandlawyercenter.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538973744&Ntype=19. สืบค้นเมื่อ 6/5/57

2.เสรีภาพ. ที่มา http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E .สืบค้นเมื่อ 6/5/57

3.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 .ที่มา http://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%90%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8% .สืบค้นเมื่อ 6/5/57

5.สิทธิและเสรีในประชาธิปไตย .ที่มา http://www.samfunnskunnskap.no/?page_id=33&lang=th .สืบค้นเมื่อ 6/5/57

หมายเลขบันทึก: 567692เขียนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2014 15:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2014 12:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท