ปัญหาสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยที่เชื่อมต่อกับสังคมโลก


จากเว็บไซด์: http://board.postjung.com/690425.html

                ปัญหาสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยที่เชื่อมต่อกับสังคมโลก กล่าวคือ อาจเป็นกรณีปัญหาที่คนไทยเป็นฝ่ายที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนจากคนในประเทศอื่น หรือรัฐบาลไทยอาจเป็นฝ่ายที่ไปละเมิดสิทธิมนุษยชนของคนในประเทศอื่นก็ได้ ดังกรณีที่ได้ศึกษาคือ ปัญหาการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวโรฮิงญา ซึ่งพบว่า โรฮิงญา เป็นกลุ่มคนที่นับถือศาสนาอิสลามในรัฐอาระกัน ซึ่งเป็นกลุ่มชนชาติพันธุ์ในประเทศเมียนมาร์  ได้รับการถูกเลือกปฏิบัติและถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างมากโดยรัฐบาลทหารเมียนมาร์เนื่องจากความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติ ภาษา และศาสนา ตั้งแต่การจำกัดสิทธิในการเคลื่อนที่โดยเสรีตามหลักปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนข้อ 13
(1) ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งการเคลื่อนไหวและสถานที่อยู่ภายในเขตของแต่ละรัฐ
(2) ทุกคนมีสิทธิที่จะออกจากประเทศใดๆไปรวมทั้งประเทศของตนเองด้วย และที่จะกลับยังประเทศตน
คือ ชาวโรฮิงญาถูกบังคับไม่ให้เคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ตามกฎหมายสัญชาติพม่าปี 1982 (Burma Citizenship Law)(1)  โดยต้องขออนุญาตและต้องจ่ายเงินให้กับรัฐบาลทหารเมียนมาร์ก่อนเมื่อต้องการออกจากพื้นที่

              ซ้ำร้ายยังถูกละเมิดไม่ให้รับสิทธิที่จะได้รับสัญชาติภายใต้กฎหมายพลเมืองพม่าปี 2525 ซึ่งรัฐบาลของเมียนมาร์ไม่ยอมรับว่าชาวโรฮิงญาเป็นพลเมืองจึงไม่มีการออกสัญชาติแก่คนเหล่านี้ ซึ่งก็ขัดกับหลักปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 15 ที่ว่า ทุกคนมีสิทธิในการถือสัญชาติหนึ่ง ทำให้ชาวโรฮิงญาขาดโอกาสในการพัฒนาตนอย่างเหมาะสม เช่น ขาดโอกาสในการศึกษา ไม่ได้รับความคุ้มครองในระบบหลักประกันสุขภาพ และอาจการถูกกดขี่แรงงาน

               ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนดังกล่าวทำให้ชาวโรฮิงญาต้องประสบกับความยากลำบากเป็นอย่างมากจึงมีความจำเป็นที่ต้องยอมอพยพไปยังประเทศอื่นเพื่อแสวงหาชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่าเดิม ชาวโรฮิงญาส่วนหนึ่งได้อพยพมายังประเทศไทยเพื่อจะเดินทางต่อไปยังประเทศที่สาม แม้ประเทศไทยไม่อาจส่งให้ชาวโรฮิงญากลับประเทศเมียนมาร์เพื่อไปเผชิญหน้ากับภาวะความเสี่ยงภัยต่อชีวิตก็ตาม แต่ประเทศไทยก็ยังไม่อาจรับรองได้ว่าชาวโรฮิงญาเหล่านี้มีสถานะเป็นผู้ลี้ภัย จึงทำให้ชาวโรฮิงญาอาจตกเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมายและถูกละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานโดยรัฐบาลไทยได้ สุดท้ายคนเหล่านี้มักจะตกเป็นเหยื่อของกระบวนการมิจฉาชีพหรือแม้กระทั่งกระบวนการค้ามนุษย์ ดังที่ปรากฏในข่าวปัจจุบัน เนื่องจากความไร้รัฐและไร้สัญชาตินั้นหมายถึงการไม่ได้รับความคุ้มครองและดูแลในฐานะพลเมืองของรัฐ จึงง่ายต่อการควบคุมและกดขี่(2)

               แม้ประเทศไทยมิได้ลงนามเป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพของผู้ลี้ภัยก็ตาม แต่รัฐธรรมนูญของไทยซึ่งถือว่าเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศยังได้บัญญัติคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของคนต่างด้าว  อันเป็นการรับรองสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนดังที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ตามมาตรา 4 ได้วางหลักไว้ว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง  ด้วยหลักการเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคของคนทุกคนโดยปราศจากการแบ่งแยก การเลือกปฎิบัติของคนต่างเชื้อชาติ 

               นอกจากนี้ประเทศไทยยังได้เข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination-CERD) ที่ต้องเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์โดยไม่แบ่งแยกความแตกต่างระหว่าง เชื่อชาติ เพศ ภาษา เนื่องจาก มนุษย์ทุกคนล้วนแล้วแต่เกิดมามีความเสมอภาคในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

              สำหรับตัวผู้เขียนเองมีความเห็นว่า รัฐบาลไทยควรไม่ควรส่งชาวโรฮิงญากลับประเทศเมียร์มาร์ให้ประสบปัญหาเสี่ยงภัยต่อชีวิต หากชาวโรฮิงญาบางส่วนต้องการไปยังประเทศที่สามก็ควรส่งให้อยู่ตามที่พวกเขาสมัครใจที่จะอยู่ตามที่มีสิทธิในการเคลื่อนไหว  หากใครที่ต้องการพักพิงในประเทศไทยชั่วคราวก็ให้ความช่วยเหลือแก่ชาวโรฮิงญาตามหลักสิทธิมนุษยชน ให้คนเหล่านั้นได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน ตามที่มนุษย์คนหนึ่งพึ่งมีพึ่งได้ ดังที่ประเทศไทยได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรมาตรา 4 และได้เข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ

               ซึ่งวิธีแก้ไขปัญหาที่ชาวโรฮิงญาอพยพเข้ามาในไทยนั้น(3) สำหรับตัวผู้เขียนเห็นว่า ปัจจุบันประเทศไทยขาดแรงงานคนจำนวนหนึ่ง เมื่อให้ชาวโรฮิงญาเข้ามาอยู่ในไทยก็ควรให้สิทธิในการประกอบอาชีพเพื่อให้ชาวโรฮิงญาสามารถมีงานทำหาเลี้ยงชีพตนเองได้ โดยอาจจะมีการออกบัตรให้เข้าเมืองชั่วคราวสำหรับผู้อพยพซึ่งอาจจะช่วยให้ชาวโรฮิงญาสามารถใช้สิทธิได้ตามหลักสิทธิขั้นพื้นฐานได้อีกประการหนึ่ง  อีกทั้งเป็นการช่วยเรื่องปัญหาทางค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูชาวโรฮิงยาในประเทศอีกด้วย และเพื่อเป็นการแก้ไขไม่ให้ปัญหาเกิดความขัดแย้งกับเมียนมาร์ประเทศไทยควรมีการเจรจากับรัฐบาลเมียนมาร์ก่อน หากว่าทั้งสองฝ่ายตกลงเจรจากันได้ควรมีมาตรการในการให้ความคุ้มครองอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นอาจจะเป็นในรูปของการออกกฎหมายก็เป็นได้ แม้ว่าในความเป็นจริงอาจจะเป็นไปได้ยากก็ตาม

______________________________________________________________________________________

  (1) สรุป ประเด็นเรื่องโรฮิงญา,สืบค้นเมื่อ 28 เมษายน,2557 จากเว็บไซด์:http://www.oknation.net/blog/print.php?id=447005

(2)Sangtawan Mahaman,ความไร้รัฐ.. ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติ,สืบค้นเมื่อ 30 เมษายน,2557 จากเว็บไซด์:http://www.l3nr.org/posts/535601

(3) 6.ปัญหาสิทธิมนุษยชนในประเทศและแนวทางแก้ไขปัญหาและพัฒนา,สืบค้นเมื่อ 30 เมษายน,2557 จากเว็บไซด์:https://sites.google.com/site/30318hayatee/6-payha-siththi-mnusy-chn-ni-prathes-laea-naewthang-kaekhi-payha-laea-phathna

หมายเลขบันทึก: 567664เขียนเมื่อ 9 พฤษภาคม 2014 17:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2014 12:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท