ชีวิตที่พอเพียง : ๒๑๕๕. เช้าแห่งปัญญา


          เช้ามืดวันที่ ๘ เมษายน ๒๕๕๗ ผมนั่งแท็กซี่จากบ้านไปสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อบินไปหาดใหญ่ เมื่อเปิดฉากการ สนทนากับโชเฟอร์ ผมก็สัมผัสความไม่ธรรมดาของเขาตรงความโอภาปราศรัย และความมีไหวพริบ “น้องมารอพักหนึ่งแล้วใช่ไหม ได้ยินเสียงหมาเห่า” “ไม่เป็นไรครับ ผมมาถึงก่อนเวลา ต้องปิดไฟหมาจึงเลิกเห่าครับ”

          เมื่อสนทนากันอย่างออกรส เรื่องการขับแท็กซี่ ผมก็เอ่ยขึ้นว่า เดี๋ยวนี้พบแต่คนขับแท็กซี่ที่เป็นเจ้าของรถเอง อาชีพแท็กซี่เปลี่ยนจากกรรมกร มาเป็นผู้ประกอบธุรกิจ เขาก็เห็นด้วย และบอกว่า เขาเองมีรถแท็กซี่ ๗ คัน เริ่มป็นเจ้าของรถ และขับแท็กซี่มาตั้งแต่ยังทำงานเป็นพนักงานบริษัทโฆษณาในตำแหน่ง creative ในบริษัทโฆษณาข้ามชาติใหญ่แห่งหนึ่ง การนั่งรถแท็กซี่ และคุยกันบ่อยๆ ทำให้เขาเห็นโอกาส จึงซื้อแท็กซี่มาขับด้วย ทำงานครีเอทีฟว์ด้วย ขับรถแท็กซี่ไปทำงาน ยามงง แต่เวลาไปหาลูกค้า นั่งรถไฟฟ้าไป เพราะขับแท็กซี่ไปเองจะทำให้ลูกค้าตกใจ

          ในที่สุดผมก็ทราบว่านักธุรกิจท่านนี้จบปริญญาตรีสาขานิเทศศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต โดยเรียนวิศวไม่จบ “เพราะเกเรไม่เรียน” แต่พอถึงจุดหนึ่งก็รู้สึกตัวและกลับใจ

          ผมเอ่ยขึ้นว่า การดาวน์ผ่อนส่งรถแท็กซี่คิดดอกเบี้ยสูงเกินไป เอาเปรียบคนจนเกินไป เขาเห็นด้วยและบอกว่า ยิ่งบอกว่า ดาวน์ 0% ดอกเบี้ยยิ่งแพง ยิ่งรถมอเตอร์ไซคล์ดอกเบี้ยยิ่งแพง ผมเอ่ยถึงบริษัทให้บริการมือถือ ที่ให้บริการในลักษณะโกงลูกค้า ยกตัวอย่างบริษัท ทรู เขาหัวเราว่า “นี่แหละจอมโกง” เขาเล่าว่าภรรยาของเขาซื้อบริการทีวีควบโทรศัพท์ของทรู ว่าให้ใช้ โทรศัพท์ฟรีเท่านั้นเท่านี้นาที ภรรยาแทบไม่ได้ใช้ โดนแจ้งค่าบริการเพิ่ม ไปโต้แย้ง เจ้าหน้าที่เอาหลักฐานให้ดู หมดทางแย้ง ต้องยอมจ่าย ในที่สุดแก้ปัญหาโดยใช้วิธีเติมเงิน ซึ่งเดี๋ยวนี้เติมง่ายที่ตู้ เอทีเอ็ม

          เมื่อเข้าไปในห้องรับรองของการบินไทย ผมก็พบเพื่อนร่วมงานเก่าที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผศ. นพ. สมชาย สุนทรโลหะนะกุล ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ ทักทายกันได้ความว่ากลับมาจากไปส่งลูกสาวไปเรียนต่อปริญญาโท-เอก สาขา นาโนเอ็นจิเนียริ่ง ที่เกียวโต ด้วยทุนรัฐบาลญี่ปุ่น หลังจากจบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ที่จุฬา

          อาจารย์หมอสมชายมีลูก ๓ คน อีก ๒ คนเรียนแพทย์ จบแล้ว ๑ คน กำลังเรียนอีก ๑ คน ผมแสดงความชื่นชมใน ความสำเร็จในการเลี้ยงดูลูก จึงได้ฟังเรื่องราวความยากลำบากในท่ามกลางความสำเร็จในการศึกษาของลูก โดยลูกทั้งสามคน ของท่านเรียนดี สอบเข้าโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ได้ทั้ง ๓ คน ๒ คนหลังเป็นแฝด ในคู่แฝดนี้ คนหนึ่งขอลาออกจาก โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์เมื่อเข้าไปเรียนได้เพียงเดือนเดียว “ทนกรอบที่เคร่งครัดไม่ไหว” ขอกลับมาอยู่บ้านถามหาตัวเอง ๖ เดือน ให้ไปเรียนที่โรงเรียนหลายแห่งก็ไม่ยอมไป

          ในที่สุด ได้ไปเรียนที่สิงคโปร์ และเรียนได้ดี จนจบ ม. ๖ ก่อนคู่แฝด และเรียนจบวิศวได้คะแนนสูงมาก ได้ไปสัมภาษณ์ทุนอานันทมหิดลด้วย และในที่สุดก็ได้ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น

          ลูกท้องเดียวกัน เลี้ยงดูเหมือนกัน แต่ต่างจิตต่างใจ โดยเฉพาะการเป็นคนในกรอบกับคนนอกกรอบ นี่ชัดเจนมาก เด็กที่โชคดี คือเด็กที่พ่อแม่เข้าใจจิตวิญญาณของลูก โดยเฉพาะพวกที่มีวิญญาณอิสระรุนแรง ซึ่งที่บ้านผมมี ๒ คน

          ผมบอกกับ อ. หมอสมชายว่า “ลูกเป็นครู”

          คนขับแท็กซี่เป็นครู ลูกของเพื่อนก็เป็นครู

วิจารณ์ พานิช

๘ เม.ย. ๕๗

หมายเลขบันทึก: 567588เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2014 10:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤษภาคม 2014 10:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ชอบมากเลยค่ะ กับบทสรุปของอาจารย์ที่ว่า "ลูกเป็นครู" คนรอบๆตัวที่เราพบเจอ"เป็นครู"ของเราได้จริงๆค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท