ชาวลาวแง้ว


                                                                  ชาวลาวแง้ว Lao Gao

                                    บ้านตาลเสี้ยน ตำบลหนองแก อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี

                                                          หมออนามัย นายอานนท์ ภาคมาลี (หมอแดง)

                                   

สระบุรี เป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งแต่โบราณ สันนิษฐานว่าตั้งขึ้นมาเมื่อประมาณ ปี พุทธศักราช ๒๐๙๒ ในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ การตั้งเมืองนี้สันนิษฐานว่าพระองค์ทรงโปรด ให้แบ่งเขตพื้นที่ บางส่วนของเมือลพบุรี กับ เมืองนครนาก มารวมกันตั้งขึ้นเป็นเมืองสระบุรี ทั้งนี้เพื่อต้องการใช้เป็นศูนย์ระดมพลเมืองในยามศึกสงคราม เพราะฉะนั้น ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นต้นมา จึงมักพบเรื่อราวของจังหวัดสระบุรี เกี่ยวกับศึกสงครามอยู่เสมอ

สำหรับที่มาของคำว่า “สระบุรี” สันนิษฐาน เพราะเหตุเป็นทำเล ที่ตั้งครั้งแรก มีบึงอยู่ใกล้ คือ “บึงหนองโง้ง” เมื่อตั้งเมืองขึ้นมา จึงได้เอาคำว่า “สระ” มารวมเข้ากันกับคำว่า “บุรี” เป็นเมืองสระบุรี

อำเภอพระพุทธบาท เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดสระบุรี เคยขึ้นกับอำเภอบ้านหมอ แยกจากอำเภอบ้าหมอเป็นกิ่งอำเภอพระพุทธบาท และ เมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน ปีพุทธศักราช๒๔๙๙ได้มีพระราชกฤษฎีกายกฐานะของกิ่งอำเภอพระพุทธบาท ขึ้นเป็นอำเภอพระพุทธบาท แยกเป็นตำบลดังนี้ ตำบลขุนโขลน ตำบลพระพุทธบาท ตำบลธารเกษม พุคำจาน ตำบลพุกร่าง ตำบลเขาวง ตำบลหนองแก ตำบลห้วยป่าหวาย ตำบลนายาว

ประมาณปีพุทธศักราช ๒๔๘๐ นายพลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ผู้ให้กำเนิดสถานีอนามัยชั้น ๑ พระพุทธบาท (ปัจจุบัน สำนักงานสาธารณสุขอำเภอพระพุทธบาท )

ประมาณปีพุทธศักราช๒๔๙๔ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มาจัดสร้างนิคมสร้างตนเอง พระพุทธบาท เพื่อจัดสรรที่ทำกิน (ทำไร่ เลี้ยงสัตว์) ครอบครัวละ ๒๕ ไร่

ประมาณปีพุทธศักราช๒๔๙๖ - ๒๔๙๙ สร้างโรงพยาบาลพระพุทธบาท แล้วเสร็จ และเปิดดำเนินการ บริการแก่ประชาชนทั่วไป

ข้าพเจ้านายอานนท์ ภาคมาลี ตั้งใจเขียนเรื่องราวของ ชาวลาวแง้ว บ้านตาลเสี้ยน โดยเน้นเอกลักษณ์ ประเพณีวัฒนธรรม ความเป็นมาและความเป็นอยู่ วัตถุพยานสิ่งแวดล้อม จากการบอกเล่า (จากรุ่นลูก รุ่นหลาน) จากรูปภาพเก่าๆ สิ่งของเครื่องใช้ที่มีเหลืออยู่และได้พบเห็นกับตนเอง โดยใช้เวลาในการศึกษา หาองค์ความรู้ต่างๆ จากเอกสารอ้างอิง จากท่านที่ได้ค้นคว้ามาก่อนที่เป็นวิชาการทางการศึกษาทางประวัติศาสตร์ การศึกษาครั้งนี้อาจมีความผิดพลาดคาดเคลื่อนจากที่ท่านศึกษามาก่อนตนกราบขออภัยมา ณ โอกาสนี้

                                                

                                                

                                       

                                       

ชาวลาวแง้ว เป็นชนกลุ่มน้อยที่ถูกกวาดต้อนมาจากอาณาจักรลาว เดิมมีถิ่นฐานอยู่ในเขตชนบทนอกเมืองหรือ ชานเมืองเวียงจันทร์ (หากเป็นผู้อยู่ในเขตเมืองเวียงจันทร์จะเรียก ลาวเวียง)จึงเป็นที่มาของลาวแง้ว นั้นเอง ชาวลาวแง้ว อพยพมาจากชานเมืองเวียงจันทร์นี้มีมูลเหตุตรงกับเหตุการณ์ในประวัติไทย ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๓๖๙ – ๒๓๗๑ เจ้าอนุวงศ์เป็นกบฏ จึงทรงโปรดเกล้า ให้ยกทัพไปปราบ ๒ ครั้ง เมื่อได้ชัยชนะ โปรดเกล้าให้ทำลายอาณาจักรวียงจันทร์เสีย เพื่อมิให้ตั้งตัวได้อีก แล้วกวาดต้อนผู้คนมาไว้หัวเมืองรอบกรุงเทพ และโปรดเกล้าให้รวมอาณาจักรเวียงจันทร์เข้ากับอาณาจักรสยาม ดังนั้นชาวลาวแง้วก็คงเข้ามาอยู่ในเมืองไทย บ้านตาลเสี้ยน ช่วงปีพุทธศักราช ๒๓๖๙ –๒๓๗๑ ( แง้ว คือ คนที่อยู่นอกเขตเมืองเวียงจันทร์ จึงเรียกลาวแง้ว ถ้าอยู่ในเมืองเวียงจันทร์เรียก ลาวเวียง จึงเป็นที่มาของลาวแง้ว)

ชาวลาวแง้ว อุปนิสัยชาวลาวแง้ว รักสงบ ซื่อสัตย์ รักความสวย สะอาด รักสวย รักงาม ยึดมั่นในพระพุทธศาสนา ชาวลาวแง้ว ยังฝักใฝ่วิชาการนิยมส่งลูกหลาน ให้เล่าเรียนหนังสือสูงๆ ในหมู่บ้านมีโอกาสค้นพบตำรับ ตำราเก่า เช่นสมุดข่อยใบลาน จารอักษรไทย น้อยที่จะเขียนเรื่องนิทานทางโลก และใบลานจารอักษรธรรม เขียนบันทึกเรื่องราวพิธีกรรมเรื่องพระพุทธศาสนา เป็นประจักษ์พยาน ให้รับรู้ว่าชาวลาวแง้ว เป็นกลุ่มคนเจริญมาตั้งแต่สมัยโบราณ บ้านเรือนตั้งอยู่ชิดกัน ล้วนเป็นเครือญาติ มีความเอื้อเฟื้อ ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ชุมชนลาวแง้ว ในปัจจุบัน เฉพาะตัวอย่างจากบ้านตาลเสี้ยนยังคงปรากฏกลิ่นอายของวิถีชีวิตไทยแบบดั่งเดิม บ้านเรือนตั้งติดกันล้วนเป็นเครือญาติ และมีความเอื้อเฟื้อช่วยเหลือเกื้อกูล ซึ่งกันและกันเป็นเรือนใต้ถุนสูง แบบแต่งต่าง ๒ แบบ คือ แบบหนึ่งทรงเรือนใต้ถุงสูงแบบทรงไทย มีฝาทำเป็นฝาเฟี้ยม หรือฝาประกน หลังคาจั่ว ค่อนข้างแหลม ตกแต่งขอบจั่วด้วยแผ่นไม้ ป้านลมและตัวเหงาแบบที่สอง บ้านของชาวลาวแง้ว เป็นบ้านเรือนแฝดหลังคาทรงจั่ว แบบชั้นเดียวใต้ถุนสูง ขนาดคนเดินรอดได้ ไม่สูงมากนักและไม่ตกแต่งขอบด้วยไม่ป้านลมและตังเหงา หรือเรียกว่า “เรือนทรงลาว” สาเหตุที่ใต้ถุนสูง เพราะเมื่อถึงหน้าน้ำ น้ำจะท่วมบ้าน จะไม่พิถีพิถัน นิยมเรียบง่าย พื้นบ้านปูด้วยกระดานแผ่นใหญ่เรียงต่อกัน มีช่องมองใต้ถุงบ้านได้ ฝาบ้านนิยมใช้ฟากมาตีแปะไว้ บางบ้านใช้ไม้กระดาน หลังคามุงด้วยสังกะสี ทรงบ้านเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ภายในบ้านกั้น ห้องไว้ห้องหนึ่ง เพื่อเป็นห้องนอน หรือ เก็บของมีค่า นอกนั้นเป็นพื้นที่โล่ง ใช้เป็นที่สารพัดประโยชน์ บ้านจะปลูกกันเป็นกลุ่ม ในเครือญาติ อาชีพหลักของลาวแง้ว คือ การทำนา ทั้งนาดำและนาหว่าน อาชีพรองลงมา คือ ทำไร่ เช่นไร่ข้าวโพด ข้างฟ่าง ถั่วเขียว นอกจากนั้นยังทำสวน มะม่วง มะพร้าว กล้วย ปลูกผักสวนครัว และเลี้ยงเป็ด ไก่ และหมู เมื่อว่างจากการทำงานผู้ชายมักออกไปหาปลาตามหนองน้ำ ทำให้เกิดอาชีพทำปลาร้า โดยนำปลาตัวเล็กๆ มาล้างมักใส่เกลือทิ้งไว้ เมื่อถึงเวลาก็ขายให้พ่อค้า ส่วนอุตสาหกรรมในครัวเรือนของชาวลาวแง้ว คือการทอผ้า เป็นที่นอน ทำมุ้ง หมอน และผ้าขาวม้า ศาสนาของชาวลาวแง้ว คือพระพุทธศาสนา ชาวลาวแง้วทำบุญในวันพระ ในประเพณีสำคัญๆ หมายถึง สิ่งที่นับถือเคารพบูชาเชื่อว่าสามารถคุ้มครอง ช่วยรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆได้ คุณพระอาจเป็นรากไม้ที่นำมาไว้บนหิ้งพระ เมื่อถึงวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๒ ชาวลาวแง้วจะทำพิธีไหว้ครู เพื่อบูชาคุณพระ เมื่อทำพิธีไหว้เสร็จ แล้วจะทำพิธีบายศรีสู่ขวัญ โดยมีผู้อาวุโสเป็นผู้นำด้ายผูกแขนให้ศีลให้พร นอกจากนั้นชาวลาวแง้ว ยังเชื่อเรื่องผี เช่นการเลี้ยง ผีทุ่งผีนา ถ้าปีใดไม่ได้เลี้ยงผีทุ่งผีนา จะทำนาได้ข้าวน้อย การเลี้ยงผีทุ่งผีนา ทำปีละ ๒ ครั้ง ความเชื่อเรื่องผีเรือน และเชื่อเรื่องผีปอบ ถ้าในหมู่บ้านมีคนตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ชาวบ้านมักเชื่อเรื่องผีปอบ โดยคนที่จะเป็นผีปอบ คือคนๆนั้นนับถือคุณไสย แล้วทำพิธีเซ่นไหว้ผิดจากที่เคยเป็น อาหารของชาวลาวแง้ว คือข้าวเจ้า นานครั้งจะรับประทานข้าวเหนียว กับข้าวได้แก่ ลาบ ก้อย ปลาร้า น้ำพริก ปลาสด แกงส้ม ชาวลาวแง้ว นิยมรับประทานอาหารที่ใส่ปลาร้าทั้งดิบและสุกเป็นประจำ

                                         

                                    

                                                        

                                                                คุณวิรดา วงษ์ท้าวและผู้ใหญ่บ้านหมู่12

ประเพณีชาวลาวแง้ว ประเพณีต่างๆของชาวลาวแง้ว คล้ายกับคนไทยทั่วไป เช่นวันสงกรานต์วันเข้าพรรษา ออกพรรษา วันสารท (ลาว) วันมาฆะบูชา วันวิสาขะบูชา(ประเพณีกวนข้าวทิพย์) วันลอยกระทง วันขึ้นปีใหม่ผู้คนในชุมชน เตรียมพร้อมในการทำบุญ จะออกกันไปทำความสะอาดวัด ประดับตกแต่งให้สวยงามและมีอุปนิสัยยึดมั่นในพระพุทธศาสนา นิยมออกไปฟังเทศน์ ปฏิบัติธรรม วันสำคัญต่างๆทั้งเด็กและผู้ใหญ่ นอกจากนี้ชาวลาวแง้ว ยังมีประเพณีต่างๆ ดังนั้นประเพณีเพาะกระจาด หรือใส่กระจาด การใส่กระจาดจะเริ่มเมื่อมีประกาศกำหนดงานบุญเทศน์มหาชาติ โดยแต่ละบ้านจะกำหนดไม่ตรงกัน บ้านใดถึงกำหนดวันทำบุญ จะทำขนมเส้นหรือขนมจีน และข้าวต้มมัด เพื่อเตรียมไว้สำหรับวันงาน วันเริ่มแรกของการทำบุญ เรียกว่า วันตั้ง ในวันตั้งนี้ ที่ยังไม่ทำบุญก็จะนำผลไม้ เช่น กล้วย อ้อย ส้ม ฯลฯ ไปยังบ้านที่มีงาน โดยหนุ่มสาวจะแต่งตัวสวยงาม เดินทางเป็นกลุ่มๆ การร่วมงานบุญ นั้นอาจใช้ผลไม้ต่างๆที่นำมาหรือเงินก็ได้ และอาจมีธูป เทียน ใส่พานนำไปให้เจ้าของบ้าน การนำเอาของมาร่วม สมทบทำบุญเรียกว่า ใส่กระจาด เจ้าของบ้านเลี้ยงข้าวปลาอาหารแก่แขก และเมื่อแขกกลับ ก็จะให้ข้าวต้มมัดเป็นของตอบแทน ประเพณีการใส่กระจาดนี้ หนุ่มสาวจะได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกันโดยพ่อแม่ฝ่ายหญิงไม่ขัดขวาง วันรุ่งขึ้นจากวันตั้ง ก็จะเป็นวันเทศน์มหาชาติ โดยแต่ละบ้านจะจับสลากกันว่าบ้านไหนจะได้ติดกัณฑ์เทศน์มหาชาติกัณฑ์ไหน สถานที่ก็จะตกแต่งอย่างสวยงาม ให้มีบรรยากาศ คล้ายป่าหิมพานต์ ประดับไปด้วยตกไม้ ดอกไม้ รังผึ้ง หรือเครื่องจักรสาน เป็นสัตว์ต่างๆ หรือติดด้วยกระดาษสวยงาม การเทศน์จะเริ่มขึ้นในตอนเที่ยงคืนของวันตั้ง โดยต้องเทศน์ให้เสร็จภายใน ๑ วัน ปัจจุบันงานบุญเพาะใส่กระจาดก็ยังคงมีอยู่

ประเพณีเลี้ยงผีตาปู่ ชาวลาวแง้ว จะจัดเลี้ยงผีตาปู่ ในวันขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๖ ของทุกปี มีการเข้าทรงผีตาปู่ ซึ่งเป็นพิธีกรรมใหม่ที่ชาวลาวแง้ว รับคติความเชื่อ มาจากคนกลุ่มอื่น และปรับเข้ากับประเพณีเดิมของตนในปัจจุบัน ในงานจะมีการเสี่ยงรำ และเสี่ยงทายคำตอบ คำถาม ปัญหาต่างๆให้แก่ชาวบ้าน ด้วยวิธีเสี่ยงทายกระดูกไก่ อันเป็นความเชื่อของชาวลาวแง้ว

ประเพณีทำบุญกลางบ้าน ประเพณีทำบุญกลางบ้านหรือเบิกบ้านนี้ ชาวลาวแง้ว บ้านตาลเสี้ยน จะจัดเพื่อสะเดาะเคราะห์ให้แก่ตนเอง และครอบครัวในช่วงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ของทุกปี โดยใช้สถานที่ลานวัดจัดงาน โดยครอบครัวหนึ่งจะทำหนึ่งกระทง ซึ่งเป็นกระทงกาบกล้วยรูปสามเหลี่ยม ภายในบรรจุข้าวเหนี่ยว ปั้นเป็นรูปบุคคล จำนวนเท่าสมาชิกในครอบครัว สัตว์เลี้ยงในบ้าน และใส่อาหารคาวหวาน พริก หอม กระเทียม น้ำและถังทรายใส่หญ้าคา กระทงสามเหลี่ยมนี้เป็นตัวแทนของการเปลี่ยนช่วงเสียเคราะห์ กล่าวคือให้โชคร้ายเคราะห์กรรมต่างๆ ของคนในครอบครัวให้หายไปพร้อมกับกระทงสามเหลี่ยมนี้ หลังจากทำบุญเสร็จแล้ว นำกระทงไปวางไว้ปากทางสามแพร่ง แล้วนำน้ำกลับไปปะพรมรอบบ้าน เสมือนได้ทำบุญบ้านแล้ว

ภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาวลาวแง้ว บ้านตาลเสี้ยน จะแตกต่างไปจากกลุ่มอื่นๆ ในละแวกใกล้เคียง ที่เด่นคือ ภาษา ได้แก่ภาษาพูด วิธีการพูด ปากพูดคล้ายๆกัน อาหารได้แก่ อาหารที่นิยมประกอบกันในท้องถิ่นที่แตกต่าง ชาวลาวแง้ว บ้านตาลเสี้ยน ต้มน้ำปลาร้า แกงหน่อไม้ใส่ย่านาง(ต้มเปรอะ) ตำป่น แจ่ว แจ่วกุ้ง แจ่วบอง แกงอ่อม ปลาร้า (รำละเอียด) ปลาเห็ด (ทอดมัน) ลาบ กุ้งจ่อมปลาจ่อม ด้านอาชีหลัก ทำนา ทำไร่ ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ยามว่างสานกระบุ้ง ตะกร้า เข่ง และของใช้ต่างๆ ด้านการละเล่นการแสดง คล้ายชาวไทยภาคกลาง ซึ่งไม่เหมือนถิ่นอีสาน การละเล่น เช่น สงกรานต์ รำวง รำกลองยาว แห่ขบวนต่างๆ เช่น บวชนาค แต่งงาน ตลอดจนแห่นางแมว (มีบ้างบางปีที่ขอฝน) แต่งเพลงฟ้อนรำ มีท่าประกอบการร้องเพลง ขึ้นในหมู่บ้าน

ชาวลาวแง้ว การทอผ้า ชาวลาวแง้ว นิยมใช้ผ้าทอจากด้ายฝ้าย เครื่องแต่งกายชิ้นหลัก ของชาวลาวแง้ว เช่น เสื้อ ผ้าซิ่น กางเกงขากวย ล้วนทอจากด้ายฝ้าย การทอผ้าในอดีต ทอกันทุกบ้าน เป็นกิจกรรมของผู้หญิง เมื่อเด็กหญิง เริ่มรู้จักทอผ้าเก็บไว้แล้ว พอเริ่มเป็นสาวและชำนาญมากพอ จะเริ่มทอผ้าไว้เป็นสื่อแห่งความรัก เช่นผ้าปรกหัวนาค ซึ่งหวังว่าสึกจากพระมาแล้ว จะได้ครองคู่กัน หรือ ทอผ้าเช็ดหน้า เตรียมไว้ให้เจ้าบ่าวได้เช็ดหน้าวันมงคลสมรส ชีวิตสาวชาวลาวแง้ว จะผูกพันกับงานหลักสองชนิดคือ ทำนา และทอผ้า

ชาวลาวแง้ว ปลูกฝ้ายกันเอง บนพื้นที่ราบดอน อำเภอพระพุทธบาท เป็นพื้นที่ดอน เหมาะแก่การปลูกพืชไร่ ในอดีตพื้นที่นี้ปลูกฝ้ายกันมาก ฝ้ายเป็นฝ้ายที่ปลูกง่าย และทนต่อความแห้งแล้ง ฝ้ายที่ปลูกเป็นพันธุ์พื้นเมือง ออกดอกเป็นปุยสีขาว และพันธุ์ออกดอกเป็นสีเทาหม่น หรือเป็นสีน้ำตาลอ่อนๆ เรียกฝ้าย “ตุ่ย” ฝ้ายชนิดนี้ให้ปุยฝ้ายที่สั้นไม่ฟู ปั่นเป็นด้ายค่อนข้างยาก แต่มีความยาวกว่าปุย ฝ้ายสีขาว ชาวลาวแง้วจะปลูกฝ้ายตามที่ดอน เมื่อย่างเข้าฤดูฝน พร้องกับลงมือทำนา โดยจะหยอดเมล็ดฝ้ายเต็มพื้นที่บาง หรือ หยอดปะปนพื้นไร่ชนิดต่างๆ อาทิ ข้าวโพด และพริกมะเขือ บ้าง และจะเก็บปุยฝ้ายหรือสมอฝ้าย ได้ในราวเดือนพฤศจิกายน เมื่อปุยฝ้ายแตกแล้ว จะต้องรีบเก็บ เพราะฝ้ายอาจร่วงลงสู่พื้นดิน ทำให้ฝ้ายสกปรก

การเก็บสมอฝ้ายหรือปุยฝ้าย จะทยอยเก็บไปเรื่อยๆหลายครั้ง และจะต้องนำมาตากให้แห้งสนิท คัดขี้ตาฝ้าย และเก็บสิ่งสกปรกออกให้หมด คัดเลือกฝ้ายที่มีปุยสวย นำไปแยกเมล็ดฝ้าย ออกจากปุยฝ้ายด้วย “อิ่ว” ซึ่งเรียกกันว่า อิ่วฝ้าย แล้วนำฝ้ายที่ได้ไปดีด มีเครื่องมือที่เรียกว่า “ธนู” คือใช้คลึงไม้แผ่นปุยฝ้ายเป็นท่อนกลมยาวๆ เรียกว่า “ติ้ว” แล้วขั้นตอนต่อไปนำฝ้ายที่ติ้วแล้วไปเข็นฝ้าย ให้เป็นเส้นด้าย ฝ้ายจะมีอุปกรณ์หลักที่เรียกว่า “หลา” ที่มีสายพานเชือกโยงขากกงหลา ไปสู่แกนหมุนเหล็กใน เพื่อดึงฝ้ายให้เป็นเส้นใยพันม้วนอยู่กับแกนเหล็กใน เมื่อเข็นฝ้ายมได้มากพอแล้ว จึงจัดฝ้ายเข้า “เปีย” ซึ่งทำด้วยไม้ให้เป็นเส้น ใยฝ้ายเป็นใจหรือเป็นปอย แล้วจึงนำไปย้อมสีต่างๆตามใจชอบ

แหล่งน้ำธรรมชาติ หมู่บ้านตาลเสี้ยน ได้มีแหล่งน้ำธรรมชาติ ที่ใช้ในการทำนา การเกษตรต่างๆและใช้ในชีวิตประจำวัน คือน้ำซับที่ไหลออกมาจากอุโมงค์หินน้ำซับบ้านโคกเลียบ น้ำไหลตลอดปี และไหลผ่านได้ ระยะทางตามคลองที่ชุมชนขุดลำน้ำประมาณระยะทาง 9 กิโลเมตร เรียกว่าน้ำซับบ้านโคกเลียบ - เสี้ยน

ต้นตระกูลชาวลาวแง้ว ที่ในหมู่บ้านตาลเสี้ยน มีตระกูลที่ต้องขึ้นด้วย “วงษ์” เช่น ตระกูลวงษ์ท้าว ตระกูลวงษ์ศรี ตระกูลวงษ์ตา ตระกูลวงษ์บุตรดี ตระกูลวงษ์ษา ตระกูลวงษ์จันทร์ ตระกูลวงษ์ทอง ตระกูลวงษ์มนัส และตระกูลอื่นๆที่ไม่ได้กล่าว

ผู้ให้ข้อมูลและรายละเอียด

นางสาวสัมพันธ์ วงษ์ท้าว (ครูอ๊อด) ครูโรงเรียนสุธีวิทยา วิทยาฐานะ คศ.3

อยู่บ้านเลขที่……หมู่ ๑๑ บ้านตาลเสี้ยน ตำบลหนองแก อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี

ผู้เขียนนายอานนท์ ภาคมาลี(หมอแดง)นักวิชาการสาธารณสุข ชำนาญการ (ปริญญาสาธารณสุขศาสาตร มหาวิทยาลัย มหิดล) ความเกี่ยวข้องกับชาวลาวแง้ว เป็นลูกเขยชาวลาวแง้ว นายสำราญ นางทุเรียน วงษ์ตา สมรสกับนางนุชนาถ วงษ์ตา (ภาคมาลี)เมื่อปี พุทธศักราช ๒๕๒๓ มีบุตร ๒ คน นายศุภชัย ภาคมาลี นางสาวกนกอร ภาคมาลี

วัดบ้านตาลเสี้ยน ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านตาลเสี้ยน หมู่ ๑๑ ตำบลหนองแก อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีที่ดินทั้งวัดเนื้อที่ ๑๓ ไร่ ๓ งาน ๔๕ ตารางวา โฉนดเลขที่ ๙๙๗๙ ๑๒๖๘๐ ๑๕๐๗๐ อาณาเขตทิศเหนือยาว ๙๙ วา ๒ ศอก ติดต่อกับถนนสายหนองโดน –พระพุทธบาท ทิศใต้ยาว ๘๕ วา ติดต่อหมู่บ้านใหญ่พัฒนา ทิศตะวันออกยาว ๘๐ วาติดต่อที่ดินของนายแก้ว นางผา วงษ์ตา ทิศตะวันตกยาว ๓๘ วา ติดต่อทางสาธารณะเข้าหมู่บ้าน พื้นที่ตั้งวัดเป็นพื้นที่ราบสูง อาคารเสนาสนะต่างๆ อุโบสถ สร้างปีพุทธศักราช ๒๔๘๗ ก่ออิฐถือปูน มีภาพจิตรกรรมฝาผนัง อยู่ภายในอุโบสถ ด้านศาลาการเปรียญ กว้าง ๑๔ เมตร ยาว ๑๙ เมตร สร้างปีพุทธศักราช ๒๕๐๘ หอสวดมนต์ กว้าง ๖ เมตร ยาว ๑๐ เมตร สร้างปีพุทธศักราช ๒๔๗๑ กุฏิจำนวน ๓ หลัง เป็นอาคารไม้สำเร็จ ปูชนียะวัตถุ มีพระประธานในพระอุโบสถ พระพุทธรูปปางต่างๆหลายองค์

วัดตาลเสี้ยนสร้างขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๑๕ เดือนกุมภาพันธ์ ปีพุทธศักราช ๒๔๓๖ ได้มีนามตามชื่อหมู่บ้าน ได้มีพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๑๐ เดือนสิงหาคม ปีพุทธศักราช ๒๔๙๑ เขตวิสุงคามสีมากว้าง ๔๐ เมตร ยาว ๔๐ เมตร

จากการสอบถามชาวลาวแง้ว บ้านตาลเสี้ยนที่เล่ากันต่อๆมาจากบรรพบุรุษ โดยไม่ได้มีการจดบันทึกไว้ ในสมัยก่อนไม่มีการเล่าเรียนหนังสือหรือผู้ที่จะจดบันทึก บอกว่าสมัยก่อนมีพระภิกษุถูกกวาดต้อนมา และได้ปลูกกุฏิเล็กๆเป็นเพิงพัก ไว้สำหรับให้ชาวบ้านได้ทำบุญใส่บาตรเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ผ่านมาหลายรุ่น เนื่องจากสมัยก่อนเป็นพื้นที่ทุรกันดารมีความบากลำบก ในการเดินทางสัญจร มีสัตว์ป่าดุร้ายจำนวนมากมาย บางปีจะมีพระหลายรูป หรือบางปีไม่มีพระ จำพรรษา เนื่องจากไม่มีพระภิกษุเดินธุดงค์ ผ่านมา เป็นเวลาเกือบหนึ่งร้อยปี จึงได้มีการจัดสร้างวัดขึ้นมาอย่างเป็นทางการ ตามที่กล่าวมาข้างต้น

ประเพณีวันสงกรานต์ ความมุ่งหมายของประเพณี เมื่อดั่งเดิม คือการนำดอกไม้ ที่มีในฤดูกาลนั้นไปสักการระสิ่งศักดิ์ภายในวัด จุ่งมุ่งหมายของการร่วมงาน

๑. การอนุรักษ์ การสืบทอด พัฒนา ส่งเสริมวัฒนธรรมของชาวลาวแง้ว ให้คงอยู่เป็น มรดก ของลูกหลานสืบไป

๒. เพื่อให้ชาวลาวแง้ว มีความเชื่อมั่น ศรัทธา เห็นคุณค่าของวัฒนธรรม ที่บรรพบุรุษสร้างสรรค์ จรรโลง ไว้นานนับร้อยปี สามารถนำมรดกทางวัฒนธรรม ไปจัดสรร จัดการให้เกิดคุณค่า ให้สมกับคำว่า “มรดก”

๓. เพื่อให้ชาวลาวแง้ว บ้านตาลเสี้ยน เป็นแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เชิงวัฒนธรรม เชิงอนุรักษ์ ของตำบล อำเภอ ของจังหวัด และของชาติในอนาคต

ประเพณีของชาวลาวแง้ว บ้านตาลเสี้ยน ประวัติความเป็นมา

ไม่ทราบแน่นอน แต่ทราบว่าพิธีนี้ปฏิบัติสืบต่อกันมานับร้อยปี การจัดงานครั้งนี้ขึ้นมาใหม่ เราชาวลาวแง้วที่ถูกกวาดต้อนมา จากนอกเมืองเวียงจันทร์ จึงถูกเรียกว่าลาวแง้ว ประมาณ ปีพุทธสักราช ๒๓๖๙ – ๒๓๗๑ ประวัติความเป็นมาของประเพณีฉลองสงกานต์ชาวลาวแง้ว บ้านตาลเสี้ยน ไม่ทราบแน่ชัดไม่มีใครสามารถบอกได้ หรือมีการจดบันทึกไว้ สถานีที่จัดงาน วัดบ้านตาลเสี้ยน ตำบลหนองแก อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี วันที่จัดงาน วันที่ ๑๒ – ๑๓ เดือนเมษายน เป็นประจำทุกๆปี

ประเพณีสงกรานต์ ชาวสาวแง้ว ปี พ.ศ.๒๕๒๗ ที่ผ่านมา โดยได้รับความร่วมมือจากนายกเทศบาลตำบลหนองแก คุณวิรดา วงษ์ท้าว และกำนันศักดิ์ไทย วงษ์ท้าว ได้มีความคิดริเริ่มงานประเพณีสงกรานต์ (ทุกปีได้มีการจัดงานตามประเพณีอยู่แล้ว)โดยใช้เครื่องแต่งกายและการแต่งกายในสมัยบรรพบุรุษ การแข่งขันเตะสะบ้า การสรงน้ำพระพุทธรูป พระสงฆ์ ชาวลาวแง้ว บ้านตาลเสี้ยน ได้จัดเตรียมดอกไม้ ธูป เทียน น้ำอบน้ำหอม แป้ง การรดน้ำดำหัวขอพรจากผู้สูงอายุ หรือผู้ที่เคารพนับถือ ปีนี้เป็นปีแรก หรือปีเริ่มต้น และจะจัดงานเป็นงานประจำปี ทุกๆวันที่ ๑๒ ถึง ๑๓ เมษายน ของทุกปี และอาจเพิ่มวันจัดงานประจำปีอีกหนึ่งวันคือวันที่ ๑๔ เมษายน ตามคำเรียกร้องของประชาชน ที่อยู่รอบๆบ้านตาลเสี้ยน ต้องประชุมหารือคณะกรรมการก่อน มีการก่อพระเจดีย์ทราย มีการแต่งกายย้อนยุค และมีการประกวด การแต่งกาย มีการรำวงท่าต่างๆที่คิดค้นขึ้นเองในหมู่บ้าน และมีเพลงประจำหมู่บ้าน พี่น้องๆแต่งเพลงขึ้นมาเพื่อประกอบท่าการร่ายรำ เป็นเพลงสนุกๆ จะมีการแต่งกายของของคนหนุ่ม - สาว ผู้สูงอายุ ผู้นำชุมชน เด็กและเยาวชน มีการประกวดเทพีสงกรานต์ ชาวลาวแง้ว บ้านตาลเสี้ยน มีเท่าไหร่ใส่กันเต็มที การจัดงานสนุกสนานมีแต่เสียงหัวเราะ ยิ้มแย้มแจ่มใส มีอาหารเครื่องดื่มเลี้ยงฟรีตลอดงาน และได้รับเกียรติจากท่านนายอำเภอพระพุทธบาท นายผล ดำธรรม และนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี และผู้มีเกียรติอีกจำนวนมากมาย ทำให้บรรยากาศของงานสนุกสนาน

ประเพณีกวนข้าวทิพย์

ประเพณีกวนข้าวทิพย์ ชาวลาวแง้ว บ้านตาลเสี้ยน ได้จัดเตรียมงานในวันขึ้น ๑๓ ค่ำเดือน ๖ และรับรับบริจาคสิ่งของต่างๆที่จะใช้ในวันจัดงานและรับ บริจาคเป็นเงินตามแต่กำลังศรัทธา และความสะดวกของผู้ที่มาร่วมงาน และในวันขึ้น ๑๔ ค่ำเดือน ๖ ได้จัดงานพิธีกวนข้าวทิพย์ตั้งแต่เช้า ถึงค่ำ ก่อนวันวิสาขะบูชา(ขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖) เป็นประจำทุกปี และสิ่งของต่างๆที่ใช้ในงานกวนข้าวทิพย์ประกอบด้วย นม เนย ข้าวตอก น้ำนม น้ำอ้อย น้ำผึ้ง มะพร้าว งา ถั่วต่างๆ

ความสำคัญ ประเพณีกวนข้าวทิพย์ เป็นพิธีกรรม ทางศาสนาพราหมณ์ ที่สอดแทรกในพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา เพื่อถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ บูชาพระรัตนตรัย และอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตาย ชาวลาวแง้ว บ้านตาลเสี้ยน ยังคงรักษาประเพณีกวนข้าวทิพย์ ซึ่งยังคงรักษาประเพณีและมีความเชื่ออย่างมั่นคง เป็นแบบอย่างที่ดี แฝงด้วยจริยธรรม และคติธรรมอยู่มาก และมีความพร้อมเพียง ของชาวบ้าน ชาวลาวแง้ว บ้านตาลเสี้ยน โดยเมื่อถึงเวลาจะมาร่วมงานกันและร่วมมือกันกวนข้าวทิพย์ จนแล้วเสร็จ หากเอาข้าวทิพย์ที่กวนมารวมกัน นับได้หลายร้อยกิโลกรัม และเอาจำนวนคนที่มาร่วมทำบุญ บริจาคมาหารกันและเฉลี่ยกันไป โดยได้ทำบัญชีไว้ก่อนหน้านั้นแล้ว หลังจากได้ทำบุญถวายข้าวทิพย์พระสงฆ์แล้ว

พิธีกรรม การจัดพิธีกรรม ยังคงรักษาแบบเดิมไว้ โดยมีพราหมณ์ทำพิธี และมีสาวพรหมจารี ซึ่งจะพิถีพิถัน คัดเลือกจากหญิงสาวที่ยังไม่มีระดู ด้วยต้องการบริสุทธิ์สำหรับสาวพรหมจารีที่จะเข้าร่วมพิธี ต้องสมาทานศีล ๘ และต้องถือปฏิบัติ ตามองค์ศีลอย่างมั่นคง

สาระ ข้าวทิพย์เป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน เป็นประโยชน์ ต่อร่างกาย ป้องกันโรค

ความรู้เพิ่มเติม จากผู้เขียน เดิมชาวลาวแง้ว บ้านตาลเสี้ยน เป็นหมู่บ้านใหญ่มีประชากรอยู่กันอย่างหนาแน่น เป็นจำนวนมาก ข้าพเจ้าเคยได้เข้ามาเที่ยวที่หมูบ้านแห่งนี้ในสมัยเป็นเด็กๆ อายุประมาณ ๗ – ๘ ขวบ ประมาณปีพุทธศักราช ๒๕๐๗ โดยนั่งมากับรถจี๊ปของสำนักงานกำจัดไข้มาลาเรีย เขต ๑ พระพุทธบาท พวกผู้ใหญ่ๆ เขาเข้ามาเล่นสงการสต์กันในหมู่บ้านตาลเสี้ยน ประกอบในปีพุทธศักราช ๒๔๙๔ ได้มีการจัดนิคมสร้างตนเองพระพุทธบาท ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยจัดสรรที่ทำกินให้ครอบครัวละ ๒๕ ไร่ ดำเนินการเรื่อยๆมา ในจำนวนเนื้อที่หลายหมื่นๆไร่ เขตติดต่อจังหวัดลพบุรี และสระบุรี ในพื้นที่หลายๆอำเภอ โดยจัดเป็นถนนสายเอก สายโท ถนนสายตรี และแยกเป็นถนนสายหนึ่ง สายสอง สายสาม สายสี่ ฯลฯและแยกเป็นซอย ซอยหนึ่ง สอง สาม สีห้า ตามลำดับ และถนนเป็นฝั่งซ้าย ฝั่งขวา ใช้ระยะเวลาดำเนินการหลายปี ประชาชนต้องเข้าชื่อจับจองโดยการจับฉลากว่าจะไปอยู่แปลงที่เท่าไหร่ ถนนอะไร ฝั่งซ้ายฝั่งขวา อยู่ตำบล อยู่อำเภอ อยู่จังหวัดอะไร ประกอบชาวลาวแง้ว บ้านตาลเสี้ยน มีพื้นที่ทำกินมีจำนวนจำกัด จึงมาเข้าชื่อรอคิว เมื่อได้คิวแล้ว ก็มีการอพยพ ย้ายถิ่น จากบ้านตาลเสี้ยน มาอยู่ในเขตอำเภอเมือง อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี อำเภอแก่งคอย อำเภอวังม่วง อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ประมาณปีพุทธศักราช ๒๕๑๐ มีการตัดถนนสายสระบุรี ถึงอำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ใช้เวลาในการก่อสร้างอยู่หลายปี ทำให้การคมนาคมสะดวกมากยิ่งขึ้น การอพยพ ย้ายถิ่น ไปหาที่ทำมาหากินใหม่ ของชาวลาวแง้ว บ้านตาลเสี้ยน ทำให้จำนวนบ้านและประชากรที่แออัด ลดจำนวนลง แต่ก็ยังคงเอกลักษณ์ วัฒนะธรรม ของชาวลาวแง้ว บ้านตาลเสี้ยนก็ยังคงอยู่ ในสมัยปัจจุบันนี้การติดต่อสื่อสารต่างๆ สะดวกสบาย ทั้งการคมนาคม และการใช้โทรศัพท์ เมื่อหมู่บ้านชาวลาวแง้ว บ้านตาลเสี้ยนจัดงาน ไม่ว่าจะเป็นงานบวช งานแต่ง งานตาย และงานบุญ ล้วนรู้ทั่วถึงกันหมดและสามารถมาร่วมงานได้ หรือมีกิจกรรมร่วมกัน แต่ผู้เขียนเป็นห่วงว่าหากหมดคนรุ่นนี้ไปแล้ว ยังคงรักษาประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามอยู่หรือไม่

หมายเลขบันทึก: 567475เขียนเมื่อ 6 พฤษภาคม 2014 10:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2014 14:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ผ่านสระบุรี มิได้แวะต้องขออภัยอย่างยิ่ง

โอกาสหน้าคงได้แวะทักทายคุณหมอแดงจ้ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท