ชีวิตที่พอเพียง : ๒๑๕๒. นั่งนกแอร์ไปเยี่ยมแม่ที่ชุมพร (๒)


          ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ทำให้การเดินทาง ๕๐๐ ก.ม. จากกรุงเทพไปชุมพร ใช้เวลาชั่วโมงเดียว แต่จริงๆ แล้ว ผมต้องตื่นตั้งแต่ตีสี่ ของวันอาทิตย์ที่ ๖ เมษายน ๒๕๕๗ และได้ไปกอดแม่เวลาแปดโมงเช้า

          ตอนนี้นกแอร์ลดเที่ยวบินไปชุมพรเหลือวันละเที่ยวเดียว ผมจึงต้องนอนค้าง ๑ คืน และกลับเช้าวันรุ่งขึ้น เครื่องบิน ATR 72-500 มี ๗๒ ที่นั่ง วันนี้มีผู้โดยสารครึ่งลำ ส่วนใหญ่เป็นคนไทย ต่างจากครั้งแรกที่ผมนั่งเครื่อง โซล่าร์ แอร์ ไปชุมพรเมื่อ ๒ ปีที่แล้ว (อ่านบันทึกได้ ที่นี่) ในจำนวนผู้โดยสาร ๑๘ คน มีผมเป็นคนไทยคนเดียว เวลาผ่านไปไม่ถึง ๒ ปี การเดินทางโดยเครื่องบิน กลายเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับคนชั้นกลางของไทย ไม่ใช่บริการที่จำกัดเฉพาะผู้โดยสารมีฐานะ อีกต่อไป

          บันทึกการเดินทางโดยนกแอร์ ไปชุมพรครั้งแรก ที่นี่ วันนี้เป็นครั้งที่ ๒

          น้องชาย (วิจัย พานิช) มารับที่สนามบินชุมพร เวลา ๗.๐๐ น. แล้วน้องสะใภ้คนที่สอง ก็โทรศัพท์มาตาม ว่าให้ไปกินข้าวเช้าที่บ้าน ได้ทำแกงส้มปลากะพงไว้ต้อนรับ เพราะคุณวิโรจน์กับภรรยา (คุณผ่องศรี) และน้องชาย (คุณจุน) มาเยี่ยมแม่ โดยขับรถมาจากกรุงเทพ โดยเขาไปตามแกะ หลานสาวที่ใกล้ชิดกับแม่ที่สุด (ที่เวลานี้อยู่ที่กรุงเทพ) นั่งรถตู้มาด้วยกัน มาถึงตั้งแต่ตีสี่ครึ่ง

          แม่ผอมลงมาก ชั่งครั้งสุดท้ายน้ำหนักลดลงเหลือ ๒๘.๕ ก.ก. ร่างกายเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก ยึดกันไว้ด้วยเอ็น แทบไม่มีกล้ามเนื้อเหลืออยู่ เพราะไม่ยอมกินอาหาร และปัสสาวะก็น้อยลงเรื่อยๆ คือไตวาย ลูกทุกคนรวมทั้งตัวแม่เองด้วย ตกลงกันว่าใช้การรักษาแบบประคับประคอง อยู่กับบ้าน มีคนดูแลที่เป็นหญิงชาวบ้าน อายุประมาณ ๔๕ ปี ชื่อตู่ เป็นผู้ดูแลชั้นเยี่ยม สลับกับอีกคนหนึ่งชื่ออ้อย บันทึกอาหาร น้ำ และการขับถ่ายไว้หมด ยกเว้นปัสสาวะที่วัดไม่ได้ เพราะใช้วิธีนุ่งกระดาษซับน้ำ ลูกๆ หลานๆ ทุกคนรู้ว่าแม่จะอยู่กับพวกเราอีกไม่นานแล้ว จึงหาโอกาสมาเยี่ยม

          แต่แม้จะมึนงงเพราะฤทธิ์ไตวาย ทำให้แม่หลับ หรือซึมอยู่เกือบตลอดเวลา แต่เมื่อมีคนไปเยี่ยม แม่ก็จำได้หมดว่าเป็นใคร และเมื่อน้องชายบอกว่าฝันว่าได้แหวนอีกไหม เพราะกำลังจะได้เหลนอีก ๓ คน อยากรู้ว่าจะเป็นผู้หญิงกี่คน แม่ก็หัวเราะ

          น้องชายเล่าเรื่องการเมือง ต่อสู้กันเพื่อครองอำนาจการเมืองตัวแทนวุฒิสมาชิกจังหวัดชุมพร รวมทั้งการเลือก ผู้ใหญ่บ้านแห่งหนึ่ง ที่มีการซื้อเสียง ทำให้ผมตระหนักว่า ยังอีกนาน กว่าการเมืองของเราจะเป็นการเมืองที่สะอาดบริสุทธิ์ ไม่มีการหาเสียงแบบใส่ไคล้ สาดโคลน และเล่นพวกเพื่อ ผลประโยชน์ ทั้งที่ชอบและมิชอบ และการเรียนรู้ เพื่อรู้เท่าทัน มายาต่างๆ ในภาคประชาชน น่าจะเป็นประเด็นสำคัญของพัฒนาการสังคมไทยในระดับคนส่วนใหญ่ ซึ่งหมายความว่า ต้องวางรากฐานตั้งแต่เด็ก ในระบบการเรียนรู้ หรือการศึกษาแบบใหม่ ... การเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑

          ข้อวิเคราะห์การเมืองไทยของผม อาจจะล้าหลัง เป็นอนุรักษ์นิยมเกินไปหรือเปล่า ผมไม่ทราบ

          ตอนเที่ยงน้องสะใภ้คนที่สามชวนกันไปกินอาหารที่ร้านครัวดอนทราย บ้านบางผรา ต. บางหมาก แต่น้องสะใภ้เผลอ ลืมเลี้ยวเข้าซอยแรก เลยไปเลี้ยวเข้าซอยถัดไป ทำให้ผ่านบ้านบางคอย บ้านบางหลง ที่น้องชายและน้องสะใภ้มีที่ดิน ปลูกมะพร้าว ปาล์ม และอื่นๆ กระจายอยู่ตามที่ต่างๆ ทำให้ผมตระหนักชัดขึ้นว่า น้องๆ ของผมที่เป็นชาวสวน เขามีทรัพย์สมบัติเป็นอสังหาริมทรัพย์ ที่จะส่งต่อให้ลูกหลานมากกว่าผมมากมายนัก หรือพูดตรงๆ ว่าผมแทบจะไม่มี

          บ้านบางหลง สมัยผมเป็นเด็กมีชื่อว่าอยู่ห่างไกล ต้องไปโดยเรือ แต่เดี๋ยวนี้นั่งรถไปจากบ้านผมที่ท่ายาง ไม่ถึง ๒๐ นาทีก็ถึงแล้ว ที่นี่เป็นถิ่นของลาวโซ่ง บางที่เราเรียกว่า บ้านลาว ที่สมัยผมหนุ่มๆ พ่อผมเคยสั่งให้เขาทอผ้าไหมสีไหมธรรมชาติ คือเหลืองอ่อนๆ เอามาตัดเสื้อนอก สวมแต่ละครั้งโก้มาก แต่เมื่อลงไปอยู่หาดใหญ่ โดนความชื้นฤดูฝนแรกก็ขึ้นราสีดำ ซักไม่ออก ต้องทิ้งไป

          น้องชายบอกว่า ตรงร้านอาหารอยู่ไม่ไกลจากบ้านทุ่งคา ที่น้องสะใภ้คนที่สองไปซื้อที่ดินไว้ และไม่ไกลจากอ่าวทุ่งคา ซึ่งเป็นอ่าวที่อุดมสมบูรณ์มากในด้านทรัพยากรสัตว์ทะเล มีถนนเป็นใยแมงมุมต่อกันหมด ต่างกับสมัยผมเป็นเด็กการไปทุ่งคา มีทางเดียวคือนั่งรถไฟ กับอีกทางหนึ่งคือนั่งเรือไปทางคลองอีเล็ด ซึ่งเป็นคลองลัดจากแม่น้ำชุมพรส่วนใกล้ปากน้ำ ไปยังอ่าวทุ่งคา น้องชายบอกว่า คำว่า อีเล็ด แปลว่าคลองลัด และคำว่ามัต หรือมัท แปลว่าจุดหมาย เช่นเกาะมัตโพน เกาะมัทรี คือเกาะที่หมาย ใกล้ปากน้ำชุมพร แต่ผมกลับมาเปิดพจนานุกรมที่บ้าน ไม่พบคำทั้งสอง

          ระหว่างกินอาหาร น้องสะใภ้คนที่สองคุยเรื่องคนโน้นคนนี้ขายที่ได้สามแสนสี่แสนแปดแสน ผมโพล่งขึ้นว่า คุยกันทำไมแค่สี่แสนแปดแสน คนขายที่ได้ยี่สิบล้านยังไม่คุย น้องๆ ฮากันตึง ความจึงแตกว่าน้องสะใภ้คนนี้ขายที่ดินแปดไร่ ได้ราคางามมาก

          น้องสะใภ้คนที่สองนัดไปเลี้ยงอาหารเย็นที่ร้าน ครัวตาอ้อ อยู่ที่บ้านบางผรา ริมถนน ๔๑๑๙ ทางไปหาดทรายรี ห่างจากบ้านไปเพียงประมาณ ๒ ก.ม. อาหารอร่อยมาก ทั้งอาหารปลา และปู (ดำ) ผมได้นั่งคุยเรื่องธุรกิจคั่วเมล็ดกาแฟขาย ของครอบครัวคุณวิโรจน์ เข้าใจว่าเป็นธุรกิจหลายหมื่นล้านสำหรับประเทศไทย เคล็ดลับอยู่ที่ระบบคุณภาพ ซึ่งมีหลายขั้นตอนมาก

          เราได้เห็นว่า แม่มีอาการอ่อนเปลี้ยลงไปมาก เดาว่าอีกไม่นานเราก็จะต้องสูญเสียแม่ไป ซึ่งก็เป็นธรรมดาโลก ลูกๆ ช่วยกันหาทางให้แม่มีชีวิตในช่วงสุดท้ายนี้ แบบไม่ทรมาน

          เช้ามืดวันที่ ๗ เมษายน น้องสะใภ้คนที่สามขับรถไปส่งที่สนามบิน โดยน้องชายนั่งไปเป็นเพื่อน สนามบินชุมพรอยู่ห่าง ขึ้นไปทางทิศเหนือ ที่อำเภอปะทิว ต้องให้เวลาขับรถ ๔๕ นาที ระหว่างทางผมสังเกตว่าในบางจุด ถนนตัดผ่านเนินใกล้ทะเล มองเห็นวิวทะเลสวยงามมาก ไปถึงสนามบินได้เวลาพระอาทิตย์ขึ้นสวยมาก

          ที่สนามบิน ผมได้เห็นแนวความคิดดีๆ คือมี “ห้องสมุด” หรือ “กองหนังสือ” เล็กๆ อยู่กับทีวี ใกล้ๆ กับที่วางหนังสือ พิมพ์ มีหนังสือน่าอ่านหลายเล่ม รวมแล้วน่าจะมีหนังสือประมาณ๒๐ เล่ม ผมหยิบเล่มที่ผมสนใจมาพลิกๆ ดู ชื่อ ไล่ตงจิ้น ลูกขอทานผู้ไม่ยอมแพ้ต่อชะตาชีวิต หนังสือแปลจาก The Beggar Child เขียนโดยชาวไต้หวันชื่อ Lai Dong Jin เป็นอัตตชีว ประวัติ เป็นหนังสือที่น่าจะส่งเสริมให้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมต้น เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้แก่วัยรุ่น หนังสือเล่มนี้ ดาวน์โหลดได้ฟรี ที่นี่ หนังสือเล่มนี้พิมพ์ครั้งที่ ๔๖ มิถุนายน ๒๕๕๔ ประทับตราห้องสมุดประชาชนอำเภอ ปะทิว ผมขอแสดงความชื่นชมห้องสมุดประชาชนอำเภอปะทิว ที่มีแนวคิดริเริ่มสร้างสรรค์ จัด “กองหนังสือ” ที่สนามบินชุมพร

          ขากลับผมขอที่นั่งริมหน้าต่างด้านหลัง ได้ 14A เพื่อจะไม่โดนแดดจากทิศตะวันออก และเพื่อชมวิวชายฝั่ง รวมทั้งหนีเสียงดังหากนั่งด้านหน้า ซึ่งก็สมประสงค์ทั้ง ๓ ประการ

          เมื่อวานผมขับรถมาจอดที่สนามบิน ต้องคลำทางเดินจากที่จอดรถไปอาคารผู้โดยสาร วันนี้ก็ต้องคลำทางกลับ เพราะผู้โดยสารขาเข้าที่ชั้นล่าง ต้องขึ้นบันไดเลื่อนไป ๒ ชั้นจึงจะเป็นชั้นผู้โดยสารขาออก ที่มีทางเดินต่อไปยังอาคารจอดรถ วิธีการจ่ายเงินค่าจอด ที่ตู้จ่ายเงินอัตโนมัติที่สนามบินดอนเมือง เป็นเรื่องใหม่สำหรับผม และทำให้ผมเห็นพัฒนาการ ที่ผู้เอารถมาจอดจะสบายใจ ว่ารถจะไม่หาย หรือหายยาก เพราะบัตรจอดรถอัตโนมัติอยู่กับตัวเรา

          เวลา ๙.๔๕ น. ผมก็ขับรถเลี้ยวเข้าซอยยายร่ม ถนนพระราม ๒ เพื่อไปประชุมหารือกับท่านทูตประเทศฟินแลนด์ เรื่องความร่วมมือปฏิรูปการศึกษาไทย ชีวิตคนสมัยใหม่สามารถเดินทางไกลและทำงานในต่างพื้นที่ ได้สะดวกอย่างไม่เคยคิด ว่าจะได้ประสบในชาตินี้

วิจารณ์ พานิช

๗ เม.ย. ๕๗

หมายเลขบันทึก: 567472เขียนเมื่อ 6 พฤษภาคม 2014 09:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 พฤษภาคม 2014 09:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท