เที่ยวปีนังเมืองมรดกโลก แห่งมาเลเซีย


ปีนังเมืองมรดกโลก แห่งมาเลเซีย

3  พฤษภาคม  2557  รับประทานอาหารกลางวันเมื่อ 14 .00 น. แล้วเสร็จกลับขึ้นรถเดินทางสู่รัฐปีนัง ซึ่งได้รับขนานนามว่า "ไข่มุกเอเซีย"  แวะไหว้พระ PERAK CAVE TEMPLE ( วัดถ้ำเปรัค) ในเมืองอิโปห์ เป็นวัดถ้ำที่สำคัญวัดหนึ่งของมาเลเซีย และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นักเดินทางมักแวะเข้าไปชมหากมีโอกาสผ่านไปในเส้นทางนี้ ภูเขาหินลูกเล็ก ๆ ที่อยู่ริมทางแต่ก็มีถ้ำและศาสนสถานที่เป็นสถาปัตยกรรมแบบจีน ที่นิยมสร้างวัดติดกับภูเขา หรือสร้างบนยอดเขา ภายในถ้ำมีภาพจิตรกรรมผนังถ้ำที่วาดโดยจิตรกรชาวจีนที่อาศัยอยู่ฮ่องกง เป็นภาพขนาดใหญ่มาก วัดถ้ำแห่งนี้ถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ มีรูปปั้นพระโพธิสัตว์เจ้าแม่กวนอิม พระสังกัจจายน์องค์ใหญ่ วัดนี้หากจะเทียบกับบ้านเราแล้วถือว่าเป็นวัดใหม่ที่พึ่งเปิดเมื่อปี ค.ศ 1970 หรือ พ.ศ 2513 หลังจากมาเลเซียได้รับเอกราชได้เพียง 13 ปี

จากนั้นเดินทางต่อเข้าสู่รัฐปีนัง ผ่านสะพานปีนังแห่งที่สอง (เชื่อมแผ่นดินใหญ่) มูลค่าโครงการ 2,700 ล้านริงกิต ได้ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว มีระยะทาง 24 กิโลเมตร เชื่อมต่อระหว่างมาเลเซียกับปีนัง เป็นสะพานที่สวยงามและยาวมาก

เก็บภาพบนรถขณะวิ่งบนสะพานผ่านกระจกหน้าต่างรถ

เข้าสู่เกาะปีนัง (รัฐปีนัง) “ปีนัง” นั้นเป็นหนึ่งในสิบสามรัฐของมาเลเซีย ในภาษามาเลย์จะเรียกว่า “ปูเลาปีนัง” (Pulau Penang) ซึ่งมาจากคำว่า “ปีนัง” ที่แปลว่า “ต้นหมาก” โดยในสมัยก่อนนั้นบนเกาะปีนังจะพบต้นหมากขึ้นอยู่มากมายนั่นเอง และหากพูดถึงรัฐปีนัง จะหมายรวมถึงพื้นที่บนเกาะปีนัง และ เซเบอรังเปอไร (Seberang Parai) บนแผ่นดินใหญ่ เกาะปีนังถูกค้นพบโดย กัปตันฟรานซิส ไลท์ (Captain Fransis Light) ชาวอังกฤษ ต่อมาในปี ค.ศ.1786 กัปตันไลท์ก็ได้รับมอบเกาะปีนังจากสุลต่านแห่งรัฐเคดาห์ ในนามของบริษัทอีสต์ อินเดีย คอมพานี ด้วยการทำสัญญาว่าจะปกป้องแผ่นดินนี้จากสยามประเทศ ซึ่งเขาก็ได้เปลี่ยนชื่อเกาะเสียใหม่ว่า “Prince of Wales Island” เนื่องด้วยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในวันเกิดของเจ้าชายแห่งเวลส์  ต่อมาไม่นาน กัปตันไลท์ก็ได้ตั้ง “จอร์จทาวน์” (George Town) ขึ้นมา เพื่อให้เป็นเมืองท่าปลอดภาษี ซึ่งก็มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ทำให้จอร์จทาวน์มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว และมีการเปิดสอนภาษาอังกฤษเป็นครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนในสมัยนั้นคนไทยที่พอมีฐานะนิยมจะส่งลูกหลานไปเรียนที่ปีนังเพื่อให้ได้เรียนภาษาอังกฤษ  ด้วยเหตุที่มาเลเซียมีประชากรหลากหลายเชื้อชาติมาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน จึงทำให้วิถีชีวิต อาหารการกิน บ้านเรือน และบรรยากาศในเมืองนั้นเต็มไปด้วยการผสมผสานของวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน แต่ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัว ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนในปีนังนี่เอง  รถเข้าสู่ใจกลางเมืองจะเห็นสัญลักษณ์ของปีนัง ที่หมายถึง "ต้นหมาก"

คนขับรถพานั่งรถชมเมืองปีนังซึ่งเป็นเมืองมรดกโลก ที่ได้ขึ้นทะเบียนเมื่อปี2551ในฐานะเมืองที่มีสถาปัตยกรรมของอาคารสิ่งปลูกสร้างและวิถีชีวิตอันหลากหลาย แวะเข้าชมพิพิธภัณฑ์ บ้าบ๋า ย่าหยา(Pinang Peranakan Mansion)  ที่นี่ต้องเสียค่าเข้าชมคนละ  10   ริงกิต (100 บาทไทย) ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จัก บ้าบ๋า ย่าหยา ว่าเป็นใครมาจากไหนกันก่อน

 เปอรานากัน เป็นกลุ่มชาวจีนที่มีเชื้อสายมลายูเนื่องจากในอดีต กลุ่มพ่อค้าชาวจีนโดยเฉพาะกลุ่มฮกเกี้ยนเดินทางเข้ามาค้าค้าในบริเวณดินแดนคาบสมุทรมลายู และตัดสินใจตั้งถิ่นฐานในเมืองมะละกาประเทศมาเลเซีย ในตอนต้นทศวรรษที่ 14 โดยแต่งงานกับชาวมาเลย์ท้องถิ่นโดยภรรยาชาวมาเลย์จะเป็นผู้ดูแลกิจการการค้าที่นี่ แม้แต่คนในระดับพระราชวงศ์ก็มีสัมพันธไมตรีระหว่างกันระหว่างสุลต่านมะละกากับจักรพรรดิราชวงศ์หมิง โดยในปี ค.ศ. 1460 สุลต่านมันโซชาห์ทรงอภิเษกกับเจ้าหญิงฮังลีโปแห่งราชวงศ์หมิง และทรงประทับบนภูเขาจีน หรือ บูกิตจีนา (Bukit Cina) พร้อมเชื้อพระวงศ์อีก 500 พระองค์

สำหรับสายเลือดใหม่ของชายชาวจีนกับหญิงมาเลย์ หากเป็นชายจะได้รับการเรียกขานว่า บ้าบ๋า หรือบ้าบ๋า (Baba) ส่วนผู้หญิงจะเรียกว่า ย่าหยา (Nyonya) และเมื่อคนกลุ่มนี้มีจำนวนมากขึ้น ก็ได้สร้างวัฒนธรรมรูปแบบใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิมของบรรพบุรุษโดยมาผสมผสานกันเป็นวัฒนธรรมใหม่ เมื่อพวกเขาอพยพไปตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้ก็ได้นำวัฒนธรรมของตนกระจายไปด้วย วัฒนธรรมใหม่นี้จึงถูกเรียกรวมๆว่า จีนช่องแคบ (อังกฤษ: Straits Chinese ; จีน:土生華人) ต่อมาเมื่อสมัยอาณานิคมดัตช์ช่วงต้นทศวรรษ 1800 ได้มีชาวจีนอพยพเข้ามามากขึ้น จนทำให้เลือดมาเลย์ของชาวเปอรานากันจางลง จนรุ่นหลังแทบจะเป็นจีนเต็มตัวไปแล้ว แต่ก็ไม่ได้ทำให้วัฒนธรรมผสมผสานของชาวเปอรานากันจืดจางลงไปเลย การผสมผสานนี้ยังมีให้เห็นในการแต่งกายแบบมาเลย์ เช่น ซารุง กบายา อาหารแบบเฉพาะตัว และภาษาที่ผสมผสานคำทั้งมลายู จีน และอังกฤษไว้ด้วยกัน ขอบคุณ ข้อมูลจาก 

 http://www.dek-d.com/board/view/1594798/   พวกเราได้เข้าชมและเก็บภาพสวย ๆ ไว้เป็นที่ระลึก

ห้องนอน  ห้องแต่งตัว  ห้องอาหาร

ห้องโถง ห้องเครื่องแก้วสวย ๆ 

ประมาณ 18 นาฬิกาลงจากรถตู้ไปลัดเลาะ "ถนนสายศิลปะ" (Street Art) หรือ Ernest Zacharevic’s Playful Street Art ในปีนังที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก โดยผลงานศิลปะเหล่านี้เป็นของศิลปินชาวลิทัวเนีย ชื่อ Ernest Zacharevic ซึ่งได้เปลี่ยนถนนธรรมดาๆของปีนังให้กลายเป็นหอศิลป์กลางแจ้งที่ใครๆก็สามารถเข้าชมได้โดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่าย

โดยภาพวาดส่วนใหญ่จะถูกวาดขึ้นในรูปแบบภาพ 3 มิติ (3D) ซึ่งสามารถพบเห็นภาพวาดต่างๆได้ตามกำแพงข้างถนน ผนังบ้านและตึก ประตู หน้าต่าง และอื่นๆ โดยภาพวาดส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับอิริยาบถต่างๆของเด็กๆ ไม่ว่าจะเป็น ภาพเด็กปั่นจักรยาน ภาพเด็กผู้หญิงกำลังผลักดันตัวเองขึ้นไปบนหน้าต่างสองบาน ภาพเด็กกำลังปีนเก้าอี้เพื่อหยิบสิ่งของ และอื่นๆอีกเป็นจำนวนมาก 

ปัจจุบัน "ถนนสายศิลปะในปีนัง" หรือ "ปีนัง สตรีท อาร์ท" ได้กลายเป็นภาพสะท้อนของศิลปะที่เน้นไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งสามารถสร้างรอยยิ้มน้อยๆให้กับผู้พบเห็นได้เป้นอย่งดี แล้วคุณพร้อมที่จะไปสำรวจหอศิลป์กลางแจ้งในปีนังบ้างหรือยัง...

ฝนเริ่มตกแล้วไปทานอาหารเรียบร้อยแล้วกลับเข้าที่พัก คืนนี้พักที่ ROYAL PENANG HOTEL ที่นี่มี wifi บริเวณลอบบี้ ซึ่งใช้ได้ดี นั่งเล่นสักพักกลับเข้าห้องพัก  อาบน้ำนอนพักผ่อนเอาแรงเที่ยวปีนังพรุ่งนี้ต่อ  .....พบกันพรุ่งนี้ค่ะ 

Good night 

คำสำคัญ (Tags): #ปีนัง
หมายเลขบันทึก: 567466เขียนเมื่อ 6 พฤษภาคม 2014 08:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มีนาคม 2018 15:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

น่าไปเที่ยวมากเลยครับ

ขอบคุณครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท