พิธีแต่งงาน : จากประเพณีสู่การจัดการสมัยใหม่


วันที่เสาร์ที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ผมมีนัดกับหลานชาย เพื่อเดินจากไปจังหวัดชุมพรด้วยเหตุผล ๒ ประการของหลานคือ ๑) การไปร่วมงานแต่งงานของพี่สาวซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องของหลานก็คือหลานสาวของผมเอง ๒) การไปแก้บนที่อนุสาวรีย์กรมหลวงชุมพร ณ หาดทรายรี เพื่อเป็นการประหยัด เราจึงแชร์ค่าน้ำมันกัน (โดยปกติผมจะไม่ให้ใครต้องมาแชร์ แต่รอบนี้กระเป๋าของผมไม่ปกติ) จากเดิมจะผมจะไปรับที่บางกะปิ แต่มีเหตุที่ผมต้องดำเนินการบางอย่าง จึงนัดหมายกันที่ลานวัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ การนัดหมายใหม่ เราจะออกจากกรุงเทพฯประมาณบ่ายโมง แต่แล้ว กว่าจะออกได้ก็ล่วงไปสี่โมงครึ่ง 

การขับรถกลางคืนสำหรับผมนั่นค่อนข้างลำบาก เพราะเมื่อผมมองออกไปนอกกระจก แสงไฟรถที่มากระทบสายตาของผมจะกระจายตัว เป็นรูปดาว ผมบอกกับหลานว่า ผมมีอาการแบบนี้ น่าจะเกิดจากการที่ผมนั่งมองแต่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ทุกวันนี้ ผมมีแทบเล็ตแล้ว โดยน้าบริจาคมา ผมสังเกตว่า เมื่อเราใช้แทบแลตในระยะหนึ่ง แล้วเปลี่ยนจากแทบแลตไปอ่านหนังสือ จะอ่านหนังสือลำบากมาก เพราะตัวหนังสือจะฟาง ไม่ชัดเจนเลย ผมถามหลานซึ่งเรียนจบ ป.ตรีคอมพิวเตอร์ว่า มีอาการอย่างว่านี้หรือไม่ หลานชายบอกว่า มีอาการเดียวกัน เกือบตีหนึ่งที่เรามาถึงชุมพร ความเร็วที่ใช้เฉลี่ยที่ ร้อยกิโลเมตรต่อชั่วโมง

การแต่งงานถูกจัดขึ้นในสายวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ปกติการจัดการจะจัดแบบเดิมๆคือ การทำครัวเลี้ยงคน แต่รอบนี้ไม่ใช่ เพราะต้องการความสะดวก และไม่ยุ่งยาก จึงเป็นการจัดแบบเหมาโต๊ะไทย ทราบมาว่า โต๊ะละพันกว่าบาท ส่วนฉากและรูปเป็นเรื่องสมัยใหม่ที่มีการจัดสวยงามดี เจ้าภาพบอกแขกไม่มากประมาณ ๓๐๐ บัตร แต่เมื่อบางคนรู้ข่าวก็มาต่อว่าเจ้าภาพว่า ลูกสาวแต่งงานครั้งหนึ่ง ไม่เห็นจะบอกเขาบ้างเลย ที่เขามานี้แม้ไม่บอกเขาก็จะมา ปรากฏว่า โต๊ะที่จองไว้ ๖๐ โต๊ะ  อาหารไม่พอคน โชคดีทีทางเจ้าภาพสำรองของสดไว้ จึงรีบดำเนินการจัดเลี้ยงแขก แต่ก็ไม่เพียงพออยู่ดี ในที่สุดเจ้าภาพก็ปล่อยเลยตามเลย นี่อาจเป็นผลของโต๊ะไทยที่ต้องเตรียมรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น ถ้าเราเป็นคนอื่น เป็นไปได้ที่ตั้งใจไว้แล้วว่า ไปกินงานแต่ง/ไปกินงานเลี้ยง แล้วผิดหวัง จะทำให้เสียความรู้สึก หากคนเข้าใจเรื่องโต๊ะไทย ความรู้สึกที่เสียไปก็อาจจะดีขึ้นบ้าง เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์สำหรับชาวบ้าน อนึี่งในภาวะปัจจุบันนั้น การจะจัดงานนั้นคงลำบากไม่น้อย เพราะอาหารทุกอย่างราคาสูงขึ้นชัดเจน หากไม่มีเงินทุนที่เพียงพอก็ต้องหยิบยืมเขามาเพื่อรักษาสิ่งที่เรียกว่าประเพณี คำอ้างทางศาสนาคือ ประเพณีพุทธ (เดี๋ยวมีเรื่องต่อกับประเพณีพุทธ)

ลูกสาวคนหัวปีได้แต่งงาน ก็ถือว่า เป็นการหมดห่วงของพ่อแม่ไปปลอกหนึ่ง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะหมดห่วงทั้งหมด ห่วงลูกนั้นยังคงมีตลอดไปจนสิ้นลม บางคนสิ้นลมไปแล้ว (ความเชื่อเรื่องชีวิตหลังความตาย) ก็ยังห่วงลูกห่วงหลานหวนกลับมาเยี่ยมเยือนในบางลักษณะ (เรื่องนี้ถ้าไม่ยังไม่เจอด้วยประสบการณ์ตรงอย่าเพิ่งหลงเชื่ออย่างงมงาย) 

งานเสร็จสิ้นภายในช่วงเช้า-เที่ยง โดยเริ่มจาก พิธีสงฆ์ แห่ขันหมาก รับเข้าบ้าน รดน้ำสังข์ เลี้ยงคน เมื่อเสร็จงานแล้ว เจ้าของโต๊ะไทยก็เก็บของเอง โดยเจ้าภาพไม่ต้องกังวลเรื่องดังกล่าว ญาติใกล้ชิดก็กลับบ้านกันในช่วงเที่ยงนั่นเอง แตกต่างจากการเลี้ยงแขกแบบทำครัวเอง ทางเจ้าภาพต้องมานั่งนับถ้วยนับจานนับช้อน ฯลฯ สำรวจอะไรต่อมิอะไร ดีหน่อยตรงที่ญาติสนิทพี่ๆน้องๆจะยังไม่กลับบ้าน เขาเหล่านี้จะช่วยเคลียร์งาน ช่วงเย็นยังมาเฮฮากันต่อจากอาหารสดทีเ่หลือจากงาน หากเหลือมากก็แบ่งๆกันไปกินไปใช้ แขกที่มาในงานหากไม่อิ่มก็สามารถจะแถมได้ งานแบบนี้เหนื่อยหน่อยและหนักด้วย หากจะยังรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้ ก็ต้องเตรียมทุนเพื่อการจัดงานให้พร้อม 

เสร็จงานผมก็ออกจากงานเช่นกัน โดยรับพ่อและแม่ซึ่งเป็นตา-ยายของเจ้าสาวกลับบ้าน พ่อกับแม่เกือบไม่ได้กินข้าวเพราะอาหารไม่พอ ถือว่าเป็นสิ่งที่ทำให้เราต้องเรียนรู้ในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม งานก็เสร็จลงด้วยดี ทุกอย่างกลับเป็นปกติ 

ช่วงเย็นพวกหลานๆ เตรียมตัวมาย่างหมึกย่างปลากินกันที่บ้านตากับยาย ดูเหมือน ตากับยายอารมณ์ดีเป็นพิเศษ อาหารประกอบด้วย ปลาโอตัวใหญ่ หมึกตัวใหญ่ ขนาดลำตัวใหญ่กว่ารีโมททีวีมาตรฐานพอควร ตัวยาวเกือบฟุต (ไม่นับหัวและหนวด) กุ้งขาวตัวไม่ใหญ่นัก จะขาดก็แต่หอย ยายเผาข้าวหลามให้กินด้วย ที่ซื้อมีเพียงอย่างเดียวคือ น้ำกะทิ นอกนั้นฟรี เรียกว่า พวกเราไม่เคยอดอาหารทะเล และสามารถเลือกได้ด้วย ขอเตือน ใครที่ชอบอาหารทะเล ขอบอกว่า แช่ยามาตั้งแต่กลางทะเลเรียบร้อยแล้ว หากหมึกหนังลอกตัวคล้ำ ระวังไว้เลยว่า แช่ยามาอย่างหนัก ทราบมาว่า เป็นยาฉีดศพ ดังนั้น ผมจะเป็นคนที่ไม่ชอบซื้ออาหารทะเลแถวเมืองหลวงกิน แต่อาจจะเป็นผลเสียก็ได้ เพราะผมจะไม่มีภูมิต้านทานยาฉีดศพ

หลานๆ วัยเดียวกันมานั่งวงคุยกัน เฮฮาประสาบ้านๆ เป็นความสุขจริง ผมก็พลอยรู้สึกดีไปด้วย อย่างน้อยก็ได้รู้จักพวกหลานๆมากขึ้น ตา ก็พลอยมาปล่อยมุกกับหลานด้วยฉากหนึ่ง จากที่เป็นคนไม่ค่อยพูดจา แสดงว่า อารมณ์ดีเป็นพิเศษ เกือบสี่ทุ่ม ผมไปส่งหลานอีกตำบลหนึ่ง (บ้านงานแต่ง) 

มีเรื่องเล่าเสริม เมื่อเย็นของวันนี้ แม่ให้ผมขับรถไปส่งที่ตลาดนัดซีเฟรช (ไม่มั่นใจว่าเขียนถูกหรือไม่) เพื่อไปซื้อน้ำกะทิ น่าประหลาดหรือไม่ว่า เดี๋ยวนี้ชาวสวนมะพร้าวยังต้องซื้อน้ำกะทิ ขณะที่ชาวนาซื้อข้าวกิน ผมพบเพื่อนท่านหนึ่งชื่อสันติ เมื่อสมัยเรียนชั้นประถม เขาเป็นคนมีฝีมือเรื่องการวาดภาพมาก แต่เขาไม่มีโอกาสเรียนต่อ เมื่อจบ ป.๖ โรงเรียนวัดพิชัยยาราม ก็ออกมาเลี้ยงวัวเลี้ยงควายด้วยความขยันขันแข็ง ตอนนี้เขาเป็นเจ้าของสวนปาล์ม เป็นนายจ้าง อยู่กับครอบครัว เท่าที่คุยกัน เขามีความสุขกับครอบครัวมากทีเดียว คำหนึ่งที่เขาบอกผมว่า "คุณคิดช้า" หมายถึง ผมเป็นคนคิดอะไรช้า ไม่รู้จักวางแผนชีวิตให้เด็ดขาด ซึ่งทำให้ผมหันมาคิดกับตัวผมเองว่า ผมช้าไปจริงๆ แต่ก็คิดว่า ยังไม่สายกระมัง ความสำเร็จของเขามาจากชีวิตพอเพียง ซึ่งเขาเคยพูดให้ผมฟังว่า เขาอยากเป็นเกษตรกรดีเด่น เมื่อคุยกันออกรสชาติ มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ทำให้เขาอยากคุยต่อ เมื่อเขาบอกผมว่า เขาเปลี่ยนจากการอยู่ในวงการพุทธไปอยู่ในวงการผู้นับถือพระยโฮวา สมองผมช้า จึงเอ่ยไปว่า เข้ารับอิสลามหรือ เขาบอกว่า ไม่ใช่เขานับถือศาสนาคริสต์แล้ว ผมก็เลยเสริมว่า อืมมมม ดีเหมือนกัน แม้ผมเองก็ยังอยากเข้ารับอิสลามเลย เท่านั้นเอง รสชาติการคุยเรื่องการยอมรับสิ่งใหม่ของชีวิตก็เกิดขึ้น แต่น่าเสียดาย มีเวลาน้อย ถ้อยคำอีกชุดหนึ่งที่เขาบอกผมคือ เมื่อเราอยู่ในป่าเขา เราไม่เห็นหรอกว่า ภูเขาเป็นอย่างไร เราต้องออกไปไกลๆ แล้วเราจะมองเห็นภูเขา จริงๆแล้วสิ่งที่พุทธสอนนั้นมีเพียงนิดเดียวเท่านั้น ส่วนอื่นๆนั้นเป็นกระพี้ทั้งนั้น (เช่น ประเพณี การอะไรต่อมิอะไรมากมายกับสิ่งที่เราเรียกว่านี่คือพระพุทธศาสนาแต่ไม่ใช่พระพุทธศาสนาที่แท้จริง) ผมตอบรับว่า อืมมม ก็น่าจะใช่จริงๆ เขาชวนผมให้ไปบ้าน ผมบอกว่า วันนี้ไม่สะดวก เพราะนัดหลานๆทำอาหารกินกันที่บ้าน เอาอย่างนี้แล้วกัน วันหน้าผมกลับมาชุมพรอีก ผมจะไปหาที่บ้าน ขณะขับรถกลับบ้าน ผมมีความคิดบางอย่าง เช่น การที่เรานับถือพระผู้เป็นเจ้าอย่างพระยาหเว/ยะโฮวา น่าจะเป็นชาวพุทธที่ดีมากกว่าผู้ที่อ้างตัวว่าเป็นชาวพุทธแต่เอาชีวิตไปฝากไว้กับพระ รูปปั้นพระพุทธเจ้า ผ้าเหลือง คัมภีร์ เทวดา นางฟ้า ลูกแก้ว ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งภายนอกตัวเองทั้งสิ้น ผมขอจบห้วนๆเท่านี้

หมายเลขบันทึก: 567456เขียนเมื่อ 5 พฤษภาคม 2014 23:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2014 23:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

...โลกมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลานะคะ...การปรับตัวให้ทัน...ให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลง เป็นสิ่งที่ดี ...แต่ที่ดีที่สุดคือพยายามรักษาขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมที่ดีงามถูกต้องให้คงอยู่ต่อไป...

หัวใจของพระพุทธศาสนา คือพระไตรปิฎก 45 เล่ม จำนวน 84000 พระธรรมขันธ์ แบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 หมวดใหญ่ๆ คือ

1.พระวินัยปิฎก ว่าด้วยพระวินัยสิกขาบทต่างๆ ของภิกษุ และภิกษุณี  

2.พระสุตตันตปิฎก ว่าด้วยพระสูตรซึ่งเป็นพระธรรมเทศนาของพระโคตมพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวก ที่แสดงแก่บุคคลต่างชั้นวรรณะ และการศึกษา ต่างกรรมต่างวาระกัน มีทั้งที่เป็นร้อยแก้ว และร้อยกรอง

3.พระอภิธรรมปิฎกว่าด้วย พระอภิธรรม หรือปรมัตถกรรม ซึ่งเป็นธรรมะชั้นสูง อธิบายด้วยหลักวิชาการล้วนๆ โดยไม่อ้างอิงเหตุการณ์และบุคคล

****ชาวพุทธที่แท้จริง คือผู้ที่ศึกษาเรียนรู้ ปฏิบัติตนตามหลักธรรมคำสั่งสอนที่มีเนื้อหาระบุไว้ในพระไตรปิฎก มากบ้างน้อยบ้างตามศักยภาพ และความแตกต่างระหว่างบุคคล ...หากผู้ใดประพฤติปฏิบัตินอกเหนือจากพระไตรปิฏกก็มิใช่การประพฤติปฏิบัติ ตามหลักพระศาสนาพุทธ...

ชาวสวนมะพร้าวยังต้องซื้อน้ำกะทิ ขณะที่ชาวนาซื้อข้าวกิน

...

สองวาทกรรมข้างต้น  จัดเวทีเสวนาได้ยืดยาว เลยครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท