การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโรงเรียนเครือข่ายมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี


การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนเครือข่าย มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

Environment Impact Assessment in Primary School Network
of Ubon Ratchathani University

ลักษณีย์ บุญขาว สมเจตน์ ทองดำ จิราภรณ์ หลาบคำ และนิตยา จิตบรรเทิง

วิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี045-353900

*E-mail :[email protected]

บทคัดย่อ

การศึกษาการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนเครือข่าย มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนเครือข่าย มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และเสนอแนะมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม ประชากรที่ใช้ศึกษาในครั้งนี้คือ โรงเรียนเครือข่ายมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จำนวนทั้งสิ้น 11 โรงเรียน ดำเนินการวิจัย โดยใช้แบบประเมินการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการเก็บข้อมูลภาคสนาม วิเคราะห์และแปลผลข้อมูลโดยเทียบกับค่ามาตรฐานที่เกี่ยวข้อง ผลการวิจัยพบว่า การจัดการสุขาภิบาลอาหาร ในโรงเรียนที่จ้างแม่ครัวจากภายนอกทำอาหารให้ ไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินตามหลักสุขาภิบาลอาหารของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มากที่สุดและผลการ ตรวจภาชนะสัมผัสอาหาร อาหาร และมือผู้สัมผัสอาหารเพื่อทดสอบการปนเปื้อนเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรีย โดยใช้ชุดทดสอบ SI-2 พบว่า ภาชนะสัมผัสอาหาร อาหารและมือผู้สัมผัสอาหาร พบการปนเปื้อนเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรีย ร้อยละ 38.10, 35.70 และ 16.70 ตามลำดับ ผลการวิเคราะห์หาเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรียในน้ำดื่ม ด้วยวิธีมาตรฐาน MPN Technique พบว่าน้ำดื่มปนเปื้อนเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรีย ร้อยละ 54.54 ซึ่งเกินเกณฑ์มาตรฐานน้ำบาดาลเพื่อการบริโภค ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำหรับการจัดการขยะในโรงเรียนพบว่า ทุกโรงเรียนยังมีการจัดการขยะที่ไม่เหมาะสมในเรื่องถังขยะไม่มีฝาปิดที่มิดชิด ถังขยะแตกชำรุด และโรงเรียนยังไม่มีระบบการนำขยะมาเปลี่ยนเป็นทุน ซึ่งขาดผู้นำที่จะดำเนินโครงการให้เป็นรูปธรรม และจากการตรวจประเมินด้านสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน พบว่าปริมาณฝุ่นละอองและระดับเสียงในโรงเรียนผ่านเกณฑ์มาตรฐานทุกโรงเรียน แต่ระดับความเข้มแสงสว่างในโรงเรียน ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามกฎกระทรวงแรงงาน ในงานหน้าคอมพิวเตอร์ งานทั่วไป และงานอ่านเขียน คิดเป็นร้อยละ 75.38, 70.00 และ 58.68 ตามลำดับ

ข้อเสนอแนะในการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการวิจัยครั้งนี้ประกอบด้วย 4 ประเด็นหลักดังนี้คือ โรงเรียน ควรจัดให้แม่ครัว เข้ามาทำอาหารในโรงเรียน เพื่อให้สามารถตรวจสอบคุณภาพและควบคุมการปฏิบัติของแม่ครัวได้ จัดทำแผนการทำความสะอาด เครื่องกรองน้ำ และเปลี่ยนไส้กรองของเครื่องกรองน้ำให้ตรงตามเวลาที่กำหนดจะช่วยให้น้ำดื่มมีคุณภาพ และปลอดภัยสำหรับการใช้ดื่มของนักเรียน จัดให้มีถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิด แยกประเภทขยะให้ชัดเจนและจัดให้นักเรียนเป็นแกนนำที่สำคัญโดยมีอาจารย์เป็นผู้ให้คำปรึกษาในการดำเนินโครงการบริหารจัดการขยะหรือธนาคารขยะให้สำเร็จและควรจัดพื้นที่เรียนในห้องเรียนแต่ละห้องให้ตรงกับจุดที่มีความเข้มแสงสว่างเพียงพอ ให้ความรู้นักเรียนและบุคลากรที่ยังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับการได้รับผลกระทบจากแสงที่ไม่เพียงพอ

คำสำคัญ:การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม, โรงเรียนเครือข่าย, มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

Abstract

The objectives of this research were to assess the environmental impact and to develop guidelines to reduce this impact in the primary school network of Ubon Ratchathani University. The study involved 11 primary schools. The study investigated solid waste management, food hygiene, noise, lighting, and air pollution in the general work areas of the schools. The study found that in the area of food hygiene, conditions in most primary schools were sub-standard according to the Department of Public Prosecution of the Ministry of Public Health. Food equipment, food, and food personnel were subjected to the Coliform Bacteria test kit(SI-2 technique) and high levels of contamination (38.10%, 35.70%, and 16.70% respectively) were found. Drinking water was tested by the most probable number (MPN) technique and bacterial contaminant was 54.54%, higher than the acceptable standard of the Ministryof Natural Resources and Environment for water from an artesian well. Results showed that, all participating schools had deficient solid waste management practices, such as broken waste bins and bins without lids. Many of the primary schools lacked projects to reduce, reuse, and recycle due to poor leadership and absence of guidelines. In relation to noise, lighting, and air pollution, the study found that noise and air pollution met acceptable standards but lighting was sub-standard according to Ministry of Labor regulations applying to computer work, general work, and work involving reading and writing at levels of 75.38%, 70.00%, and 58.68% respectively.

The study produced guidelines that made four major suggestions to help reduce the environmental impact in the schools. The first suggestion was that the primary schools make monitoring of food hygiene easier and more effective by the employment of personnel to prepare food for school purposes. The second suggestion was that the schools must establish plans to clean, check, and change water filters. The third suggestion was the procurement of proper waste bins, separation of waste according to types, and the introduction of a sustainable management waste bank. Finally the study suggested adequate lighting in study and work areas, appropriate cleaning of rooms, correct ventilation, and training of students and staff regarding lighting hazards.

Keyword:Environment impact assessment: Primary school: School network: Ubon Ratchathani University

บทนำ

ปัจจุบันความเจริญก้าวหน้าทางด้านเศรษฐกิจ สังคมของประเทศไทยได้มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกันผลกระทบสืบเนื่องจากการพัฒนาดังกล่าว ปรากฏให้เห็นชัดขึ้นพร้อมๆ กับการพัฒนา ทั้งในด้านความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและภาวะมลพิษ ทั้งนี้องค์การอนามัยโลก ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า สุขภาพ ว่า หมายถึงสภาวะความสมบูรณ์ทางร่างกาย จิตใจ และความเป็นอยู่ที่ดีทางสังคม ไม่ได้หมายความเพียงแต่การไม่มีโรค หรือความเจ็บป่วยทางทุพพลภาพเท่านั้น นอกจากนี้ พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2550 ได้กำหนดนิยามคำว่า สุขภาพ หมายความว่า ภาวะของมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งทางกาย ทางจิต ทางปัญญาและทางสังคม เชื่อมโยงกันเป็นองค์รวมอย่างสมดุล ดังนั้นจึงมีปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวกับสุขภาพ และมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมสุขภาพ เช่น รายได้และสถานะทางสังคม การศึกษา สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ การปฏิบัติด้านสุขอนามัย การพัฒนาการในวัยเด็ก และการบริการทางการแพทย์ เป็นต้น (สำนักวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม, 2552) ซึ่งการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมจะเป็นการใช้หลักวิชาการในการทำนาย หรือคาดการณ์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทั้งทางบวกและทางลบของการดำเนินโครงการที่จะมีผลต่อสิ่งแวดล้อม จะช่วยให้สามารถหาทางป้องกันผลกระทบในทางลบที่อาจเกิดขึ้นให้เกิดน้อยที่สุดได้ (สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, 2549)

มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นสถาบันการศึกษาที่มุ่งกระจายโอกาสทางการศึกษาแก่ประชาชนในท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต และการสร้างมูลค่าเพิ่มในกิจการต่างๆ ของชุมชน การพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพทางการศึกษาให้เกิดความมั่นคงในโรงเรียนเครือข่าย เป็นอีกบทบาทหน้าที่หนึ่งที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีหน้าที่รับผิดชอบ โดยเฉพาะในการบริหารจัดการพื้นฐานในด้านความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน และรัฐบาลได้ประกาศยุทธศาสตร์ เมืองไทยเข้มแข็ง เป็นวาระแห่งชาติซึ่งเด็กวัยเรียนนับเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ถ้าเด็กนักเรียนมีสุขภาพอนามัยที่ไม่สมบูรณ์แข็งแรง โรงเรียนมีปัญหาในการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม การพัฒนาสุขภาพอนามัยของนักเรียนก็จะเป็นปัญหาตามมาด้วย

จากการดำเนินโครงการบริการวิชาการของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โครงการโรงเรียนปลอดภัยอนามัยสิ่งแวดล้อมดี โดยคณะทำงานหลักจากวิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีหน่วยงานสนับสนุนงบประมาณบริการวิชาการ คือมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งดำเนินโครงการในปี พ.ศ.2556 นั้น เป็นโครงการที่พัฒนาโรงเรียนในเครือข่ายมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในด้านความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม โดยการจัดอบรมการประเมินความเสี่ยงด้านความปลอดภัยและตรวจวิเคราะห์ภาคสนามและในห้องปฏิบัติการในด้านสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนเครือข่ายมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ไม่ว่าจะเป็นการตรวจวัดแสงสว่าง ความร้อน เสียงดังและฝุ่นละออง ในโรงเรียนนั้น การศึกษาวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อต่อยอดโครงการบริการวิชาการ โดยนำผลจากการดำเนินงานบริการวิชาการในส่วนที่เกี่ยวข้องมาเป็นข้อมูลในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โรงเรียนเครือข่าย มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และเพื่อเสนอแนะมาตรการป้องกันและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนเครือข่าย มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบที่อาจมีผลเป็นอันตรายต่อสุขภาพของนักเรียน และบุคลากรในโรงเรียนเครือข่าย มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี อย่างรอบคอบและรอบด้านต่อไป

วัตถุประสงค์

1. เพื่อประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนเครือข่ายมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

2. เพื่อเสนอแนะมาตรการในการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนเครือข่ายมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

วิธีดำเนินงาน

รูปแบบการศึกษา

การศึกษาครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงพรรณนาแบบภาคตัดขวาง (Cross-sectional Descriptive research) เพื่อประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนเครือข่ายมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี

กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา

กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้คือ โรงเรียนเครือข่ายมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีที่เข้าร่วมโครงการบริการวิชาการ ประจำปี 2556 ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โครงการโรงเรียนปลอดภัยอนามัยสิ่งแวดล้อมดี จำนวน ทั้งสิ้น 11 โรงเรียน

ครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา

เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วย

  • แบบประเมินการจัดการขยะภายในโรงเรียน มีจำนวน 14 ข้อ
  • แบบประเมินการจัดการสุขาภิบาลโรงอาหาร ตามแบบสำรวจโรงอาหาร กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จำนวน 30 ข้อ
  • ชุดทดสอบ SI-2
  • เครื่องมือตรวจวัดการปนเปื้อนของเชื้อโรค ในน้ำอุปโภค บริโภค
  • เครื่องมือตรวจวัด แสงสว่าง เสียง และฝุ่นละอองในบรรยากาศ

การเก็บรวบรวมข้อมูล

1. ติดต่อประสานงานโรงเรียนเครือข่ายมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีที่เข้าร่วมโครงการเพื่อประชุมชี้แจงการดำเนินโครงการ

2. เก็บข้อมูลภาคสนาม

  • การจัดการขยะ โดยใช้แบบประเมินการจัดการขยะภายในโรงเรียน มีจำนวน 14 ข้อ โดยเกณฑ์การประเมินเป็นแบบ ผ่านและไม่ผ่าน โดยปรับปรุงจากเกณฑ์การประเมินโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ ของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
  • การสุขาภิบาลอาหาร โดยใช้แบบประเมินการจัดการสุขาภิบาลโรงอาหาร ตามแบบสำรวจโรงอาหาร กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จำนวน 30 ข้อ ตรวจวัดการปนเปื้อนของเชื้อโรค ที่สัมผัสอาหาร ภาชนะบรรจุอาหาร และมือผู้สัมผัสอาหาร โดยใช้วิธีการตรวจหาเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรียโดยใช้ชุดทดสอบ SI-2 และตรวจน้ำอุปโภค บริโภค ตามเกณฑ์มาตรฐานน้ำบาดาลเพื่อการบริโภค ของประกาศกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยใช้ MPN Technique.
  • การจัดการสิ่งแวดล้อม โดยใช้เครื่องมือตรวจวัด แสงสว่าง เสียง และฝุ่นละอองในบรรยากาศ โดยอ้างอิงการตรวจประเมินตามกฎกระทรวงแรงงานเรื่องกำหนดมาตรฐานในการบริหารจัด การด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน เกี่ยวกับความร้อน แสงสว่าง เสียง พ.ศ.2549 และประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับภาวะแวดล้อม (สารเคมี)

3. ตรวจสอบความถูกต้องความครบถ้วนของข้อมูล

4. วิเคราะห์ และประมวลผล

การวิเคราะห์ข้อมูล

การวิเคราะห์ข้อมูลการจัดการขยะ และการสุขาภิบาลอาหาร การปนเปื้อนของอาหารทางชีวภาพ การปนเปื้อนของน้ำดื่ม น้ำใช้ และการตรวจวัด แสงสว่าง เสียง และฝุ่น โดยใช้สถิติเชิงพรรณนา จำนวนและร้อยละ โดยเทียบกับค่ามาตรฐานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาแนวโน้มผลกระทบสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนเครือข่าย มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ผลการวิจัย

การจัดการขยะในโรงเรียนที่ประเมินไม่ผ่านมากที่สุด 3 อันดับแรกได้แก่ ถังขยะมีสภาพชำรุด ไม่มีฝาปิด ไม่ผ่านทั้งหมด รองลงมาคือ ไม่มีการแยกถังขยะตามประเภทของขยะและไม่มีป้ายระบุบอกประเภทที่ชัดเจน ไม่มีถังขยะสำหรับแยกขยะรีไซเคิล ขยะอันตรายและไม่มีที่เก็บอย่างเป็นสัดส่วน ไม่มีการจัดตั้งและดำเนินโครงการธนาคารขยะในโรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 90.01 และไม่มีการลดใช้วัสดุย่อยสลายยาก เช่นพลาสติกและโฟมและไม่มีถังขยะสำหรับใส่ขยะพวกย่อยสลายได้เช่นพวกเศษอาหาร ร้อยละ 72.73 ส่วนประเด็นที่โรงเรียนมีการจัดการได้ดีและผ่านการประเมินมากที่สุด ได้แก่ มีการใช้ซ้ำของวัสดุ เช่นการใช้กระดาษสองหน้า ผลการประเมินผ่านทุกโรงเรียน รองลงมาคือ วิธีการกำจัดขยะที่ไม่กระทบชุมชนรอบข้าง ร้อยละ 81.82 และมีการนำขยะอินทรีย์ไปใช้ประโยชน์ ร้อยละ 72.73

สำหรับการสำรวจสภาพแวดล้อมทางกายภาพของโรงอาหารในโรงเรียนเครือข่ายมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จำนวน 11 โรงเรียน ตามแบบสำรวจโรงอาหาร ของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จำนวน 30 ข้อ พบว่า ข้อที่ไม่ผ่านมาตรฐานมากที่สุด 4 อันดับแรก ได้แก่ เขียงต้องมีสภาพดีไม่แตกร้าวหรือเป็นช่อง มีเขียงใช้เฉพาะอาหารสุกและอาหารดิบแยกจากกันมีฝาชีครอบ (ยกเว้นครัวที่มีการป้องกันแมลงวันแล้ว) รองลงมาคือ ใช้ถังขยะที่ไม่รั่วซึมและช้อน ส้อม ตะเกียบ วางตั้งเอาด้ามขึ้นในภาชนะโปร่งสะอาดหรือวางเป็นระเบียบในภาชนะที่สะอาดและมีการปกปิด ตั้งสูงจากพื้นอย่างน้อย 60 ซม.และผู้สัมผัสอาหารจะต้องผูกผ้ากันเปื้อนสีขาวหรือมีเครื่องแบบผู้ปรุงจะต้องใส่หมวกหรือเนทคลุมผมด้วยคิดเป็นร้อยละ 100.00, 90.90, 81.80 และ 72.70 ตามลาดับ

การประเมินด้านชีวภาพโดยการตรวจหาเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรีย (SI-2) จำนวน 84 ตัวอย่าง ได้จำแนกตามประเภทตัวอย่างที่ตรวจออกเป็น 3 ชนิด คือ อาหาร ภาชนะสัมผัสอาหาร และมือผู้สัมผัสอาหาร พบว่า ภาชนะสัมผัสอาหาร, อาหารและมือผู้สัมผัสอาหาร พบการปนเปื้อนเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรีย คิดเป็นร้อยละ 38.10, 35.70 และ16.70 ตามลำดับ

การวิเคราะห์หาเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรียในในน้ำดื่มในโรงเรียนเครือข่ายมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จำนวน 11 โรงเรียน ด้วยวิธีมาตรฐาน MPN Technique พบว่า มีการปนเปื้อนเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรียจำนวน 6 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 54.54 ซึ่งเกินเกณฑ์มาตรฐานน้ำบาดาลเพื่อการบริโภค ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2553 ซึ่งกำหนดให้พบเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรียน้อยกว่า 2.20 MPN/100 มล.

จากการตรวจสภาพแวดล้อมในโรงเรียนเครือข่าย มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พบว่าปริมาณฝุ่นละอองเฉลี่ย 8 ชั่วโมงทำงาน ทั้งฝุ่นละอองที่หายใจเข้าไปได้ และฝุ่นขนาดเล็ก ทุกโรงเรียนมีค่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด คิดเป็นร้อยละ 100 ของจุดที่ตรวจวัดทั้งหมด โดยมีปริมาณความเข้มข้นฝุ่นละอองที่หายใจเข้าไปได้อยู่ในช่วง 0.0672 ถึง 1.2916 มิลลิกรัม/ลูกบาศก์เมตร และมีปริมาณความเข้มข้นฝุ่นขนาดเล็กอยู่ในช่วง 0.0483 ถึง 0.8258 มิลลิกรัม/ลูกบาศก์เมตร

ส่วนระดับความดังเสียงที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลา 8 ชั่วโมงทำงาน ในโรงเรียนเครือข่าย มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีค่าระดับความดังเสียงเฉลี่ย 8 ชั่วโมง (Leq 8 ชั่วโมง) และระดับความดังเสียงสูงสุด (Lmax) ในโรงเรียนเครือข่ายทั้งหมดอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด คิดเป็นร้อยละ 100 ของจุดที่ตรวจวัดทั้งหมด โดยค่า Leq 8 ชั่วโมง มีค่าอยู่ในช่วง 52.70 ถึง 68.50 เดซิเบล(เอ) และค่า Lmax มีค่าอยู่ในช่วง 85.80 ถึง 111.20 เดซิเบล(เอ) นอกจากนี้เมื่อคำนวณหาค่าระดับเสียงรบกวนตามมาตรฐานระดับเสียงรบกวนในโรงเรียนเครือข่ายส่วนใหญ่มีค่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน คิดเป็นร้อยละ 63.64 ของจุดที่ตรวจวัดทั้งหมด โดยมีค่าอยู่ในช่วง –10.70 ถึง 8.60 เดซิเบล(เอ) ยกเว้นโรงเรียนบ้านเกษตรพัฒนา โรงเรียนบ้านธาตุ โรงเรียนบ้านศรีไค และโรงเรียนแฮหนามแท่ง เท่านั้นที่มีค่าระดับเสียงรบกวนเกินเกณฑ์มาตรฐาน คิดเป็นร้อยละ 36.36 ของจุดที่ตรวจวัดทั้งหมด โดยมีค่าอยู่ในช่วง 11.30 ถึง 16.00 เดซิเบล(เอ)

ในขณะที่ความเข้มแสงสว่างในโรงเรียนเครือข่ายส่วนใหญ่มีค่าต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน โดยในจุดตรวจลักษณะงานอ่านและเขียนมีค่าความเข้มแสงผ่านเกณฑ์มาตรฐานเพียงร้อยละ 41.32 ของจุดตรวจทั้งหมด ส่วนงานหน้าคอมพิวเตอร์มีค่าความเข้มแสงผ่านเกณฑ์มาตรฐานร้อยละ 24.62 ของจุดตรวจทั้งหมด และงานในพื้นที่ทั่วไปมีค่าความเข้มแสงผ่านเกณฑ์มาตรฐานร้อยละ 30.00 ของจุดตรวจทั้งหมด ในขณะที่งานในจุดพักผ่อนห้องพยาบาลมีค่าความเข้มแสงผ่านเกณฑ์มาตรฐานทั้งหมด คิดเป็นร้อยละ 100.00 ของจุดตรวจทั้งหมด

สรุปและอภิปรายผล

การจัดการขยะ

การจัดการขยะในโรงเรียนเครือข่ายมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ประเด็นที่ไม่ผ่านการประเมินที่สำคัญคือเรื่องของสภาพถังขยะซึ่งพบว่าถังขยะไม่มีฝาปิดที่มิดชิด และบางส่วนถึงแม้จะมีฝาปิดแต่ไม่มีการนำมาใช้ซึ่งพบวางอยู่ข้างถังขยะโดยเกิดจากพฤติกรรมการใช้ถังขยะของนักเรียนที่เปิดฝาแล้วไม่นำไปปิดไว้ที่เดิม นอกจากนี้ยังพบถังขยะที่มีการแตกชำรุด และไม่มีถังขยะใหม่เพื่อนำมาเปลี่ยน จากการสอบถามผู้อำนวยการโรงเรียนในแต่ละโรงเรียนพบว่าไม่มีงบประมาณสำรองเพื่อจะนำมาจัดซื้อถังขยะเพิ่มเติมในกรณีดังกล่าว โดยถังขยะส่วนมากนั้นจะได้รับการสนับสนุนจากทางเทศบาลซึ่งต้องรอตามปีงบประมาณที่มีการสนับสนุนมาให้ ส่วนประเด็นรองลงมาคือการแยกประเภทของถังขยะซึ่งทางโรงเรียนมีการใช้ถังขยะรวมทุกประเภทในถังเดียวกันอีกทั้งไม่มีป้ายระบุบอกให้ชัดเจนว่าเป็นถังขยะประเภทใด ทั้งนี้เกิดจากการขาดวินัยในการทิ้งขยะของนักเรียน ซึ่งการแยกถังขยะที่ถูกหลักสุขาภิบาลควรมีการแยกถังเป็นขยะทั่วไป ขยะรีไซเคิล ขยะอินทรีย์และขยะอันตราย โดยเฉพาะขยะอันตรายประเภทหลอดไฟ แบตเตอรี่ และถ่านไฟฉายซึ่งมีอันตรายต่อสุขภาพของผู้สัมผัสโดยอาจได้รับสารพิษจากปรอทและ ตะกั่ว ซึ่งจะทำให้มีผลต่อผิวหนังและระบบประสาทได้ จากปัญหาการทิ้งขยะทุกประเภทรวมกันจะทำให้ขยะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์นำโรคต่างๆ ได้แก่ หนู แมลงวัน แมลงสาบ ที่เป็นพาหะนำโรคที่สำคัญคือระบบทางเดินอาหาร ได้แก่โรคท้องร่วง ซึ่งจะมีผลต่อสุขภาพของนักเรียนที่ไปสัมผัสได้ และยังพบว่าไม่มีระบบการนำขยะมาเปลี่ยนเป็นทุนหรือโครงการธนาคารขยะ ซึ่งขาดการมีผู้นำที่จะดำเนินโครงการให้เป็นรูปธรรมทั้งนี้ต้องใช้การทำงานที่มีนักเรียนเป็นแกนนำที่สำคัญและมีอาจารย์เป็นผู้ให้คำปรึกษาจึงจะสามารถดำเนินโครงการให้สำเร็จได้

ในส่วนของประเด็นที่มีการจัดการได้ดีคือมีการนำกระดาษกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งเป็นนโยบายในการประหยัดพลังงานของทางโรงเรียนในการซื้อกระดาษใหม่มาใช้ได้เป็นอย่างดี และพบว่าขยะอินทรีย์ส่วนมากจะเป็นเศษอาหาร โดยขยะอินทรีย์เหล่านี้จะถูกนำไปเลี้ยงสัตว์หรือทำเป็นปุ๋ยหมักใส่พืชผักซึ่งเป็นโครงการเกษตรที่ดำเนินการในโรงเรียนอยู่แล้ว

การสุขาภิบาลอาหาร

การสำรวจสภาพแวดล้อมทางกายภาพของโรงอาหารในโรงเรียนเครือข่าย มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีตามแบบสำรวจโรงอาหาร กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จำนวน 30 ข้อ พบว่า ข้อที่ไม่ผ่านมาตรฐานมากที่สุด คือ เขียงต้องมีสภาพดีไม่แตกร้าวหรือเป็นช่อง มีเขียงใช้เฉพาะอาหารสุกและอาหารดิบแยกจากกันมีฝาชีครอบ (ยกเว้นครัวที่มีการป้องกันแมลงวันแล้ว) คิดเป็นร้อยละ 100.00 โดยพบว่าเขียงของโรงอาหารมีรอยแตกร้าวเป็นช่อง การใช้เขียงไม่ได้แยกใช้เฉพาะอาหารสุกกับอาหารดิบและการเก็บเขียงยังไม่ถูกวิธีคือการวางไว้บนชั้นวางภาชนะโดยไม่มีฝาชีครอบซึ่งการละเลยข้อปฏิบัติดังกล่าว จะทำให้เกิดการปนเปื้อนข้ามระหว่างอาหารที่สุกและอาหารที่ยังไม่สุก รวมทั้งการเก็บเขียงที่ไม่เหมาะสมจะส่งผลต่อการปนเปื้อนในอาหารได้เนื่องจากเขียงส่วนใหญ่ที่ใช้เป็นเขียงไม้ที่มีลักษณะผิวหน้าเขียงขรุขระ ไม่เรียบ หากมีการเก็บรักษาที่ไม่ดีก็จะทำให้เชื้อโรคเกาะติดได้ง่าย รองลงมา คือ ถังขยะไม่มีฝาปิดและรั่วซึม คิดเป็นร้อยละ 90.90 โดยจากการสำรวจพบว่าโรงอาหารมีการใช้ถังขยะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ อาจทำให้แมลงวันตอมบริเวณถังขยะและมาจับบริเวณที่เตรียมปรุงอาหาร ภาชนะสัมผัสอาหาร และตัวอาหาร ทำให้เกิดการปนเปื้อนเชื้อโรคสู่อาหารได้ และ ช้อน ส้อม ตะเกียบ วางตั้งเอาด้ามขึ้นในภาชนะโปร่งสะอาดหรือวางเป็นระเบียบในภาชนะที่สะอาดและมีการปกปิด ตั้งสูงจากพื้นอย่างน้อย 60 ซม.คิดเป็นร้อยละ 81.80 ซึ่งจากการสำรวจพบว่า การวางช้อน ส้อม ตะเกียบ ทัพพี ตะหลิว ที่ผ่านการทำความสะอาดหรือล้างแล้ว ไม่เหมาะสม คือมีการวางปะปนกัน ไม่เป็นระเบียบหรือวางในทิศทางเดียวกัน การวางลักษณะเช่นนี้จะทำให้เกิดการปนเปื้อนเชื้อโรคจากมือผู้ที่หยิบจับได้ และ การผูกผ้ากันเปื้อนสีขาวหรือมีเครื่องแบบผู้ปรุงจะต้องใส่หมวกหรือเนทคลุมผมด้วย คิดเป็นร้อยละ 72.70 แต่จากการสำรวจ พบว่า ผู้ปรุงอาหารยังไม่สวมผ้ากันเปื้อน อีกทั้งไม่สวมหมวกหรือเน็ทคลุมผม ซึ่งจากการสอบถามผู้ประกอบอาหารทำให้ทราบว่า การที่ต้องผูกผ้ากันเปื้อน และสวมหมวกขณะปรุงอาหาร ทำให้เกิดความไม่สะดวกและรำคาญ เนื่องจากจะต้องอยู่หน้าเตาไฟขณะปรุงอาหารทำให้ร้อนอบอ้าว หากต้องสวมหมวกและผ้ากันเปื้อนยิ่งจะทำให้ร้อน เหงื่อออกมากขึ้น และเกิดอาการคันตามมา ซึ่งการละเลยข้อปฏิบัติดังกล่าว อาจทำให้เกิดการปนเปื้อนของเส้นผมและสิ่งสกปรกปนเปื้อนในอาหารได้ (อรอุมา ตันเจริญ, 2554)โดยจากการไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานข้างต้น จะสอดคล้องกับงานวิจัยของพัชรี แก้วมณี (2550) ศึกษาเรื่อง การเฝ้าระวังสภาวการณ์สุขาภิบาลอาหารของร้านอาหารในตลาดสด จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งปัญหาที่สำคัญ คือการใช้ถังขยะที่ไม่มีฝาปิด รั่วซึม และ การแต่งกายของผู้สัมผัสอาหารที่ไม่ถูกตามมาตรฐาน ทำให้ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามข้อกำหนดด้านสุขาภิบาลอาหารเช่นกัน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่จะทำให้เกิดการปนเปื้อนของเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรีย โดยจากการศึกษาประเมินทางด้านชีวภาพในร้านอาหารชุมชน พบว่ามีการปนเปื้อนของเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรียร้อยละ 31.20 ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพผู้บริโภคได้

การประเมินด้านชีวภาพโดยตรวจหาเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรีย (SI-2) จำนวน 84 ตัวอย่าง ได้จำแนกตามประเภทตัวอย่างที่ตรวจออกเป็น 3 ชนิด คือ อาหาร ภาชนะสัมผัสอาหาร และมือผู้สัมผัสอาหาร พบว่า ภาชนะสัมผัสอาหารพบการปนเปื้อนเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรีย คิดเป็นร้อยละ 38.10 ซึ่งจากการสังเกตเบื้องต้น พบว่า โรงอาหารยังมีการจัดการด้านกายภาพที่ไม่เหมาะสม เช่น วางถ้วยจานต่ำกว่า 60 เซนติเมตร ล้างภาชนะไม่สะอาด ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ ไพจิตร วรรณจักร (2548) ศึกษาการเฝ้าระวังทางกายภาพและชีวภาพของร้านอาหารในมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ พบว่าลักษณะทางกายภาพตามหลักสุขาภิบาลอาหารมีผลต่อการปนเปื้อนทางชีวภาพ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งปัจจัยที่เป็นสาเหตุทำให้อาหารมีการปนเปื้อนเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรีย ได้แก่ อาหาร บุคคล ภาชนะสัมผัสอาหาร สถานที่ปรุงประกอบและจำหน่ายอาหาร สัตว์และแมลงนำโรค (กรมอนามัย, 2550) มือผู้สัมผัสอาหารมีการปนเปื้อนเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรียคิดเป็นร้อยละ 16.70 เพราะมือเป็นอวัยวะที่ต้องสัมผัสอาหารทั้งการปรุงประกอบและการเสิร์ฟ มีสิ่งที่สกปรกมากมาย ดังนั้นโอกาสที่เชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรียจะติดตามนิ้วมือ ฝ่ามือ จึงมีโอกาสสูง (พัชรี แก้วมณี, 2550) ผู้ปรุงประกอบอาหารจึงจำเป็นต้องล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำสบู่และน้ำสะอาดบ่อยๆ ไม่ใช้มือหยิบจับอาหาร เศษขยะ หรือสิ่งสกปรกอื่นๆ หากจำเป็นต้องหยิบจับดังกล่าวแล้วรีบล้างมือให้สะอาด ก่อนที่จะปฏิบัติงานต่อไปนอกจากนี้ จะต้องตัดเล็บให้สั้นอยู่ตลอดเวลา เพื่อป้องกันเชื้อโรคที่ติดอยู่ตามซอกเล็บปนเปื้อนลงสู่อาหาร ซึ่งพบการปนเปื้อนเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรียในอาหารถึงร้อยละ 35.70 และจากการสำรวจโรงอาหารทางด้านกายภาพพบว่า การที่ไม่ผ่านข้อกำหนดทางกายภาพมีโอกาสตรวจพบการปนเปื้อนเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรียสูง ดังนั้นหากผู้ปรุงประกอบหรือผู้จำหน่ายอาหารไม่คำนึงถึงการจัดการร้านอาหารทางกายภาพก็จะส่งผลต่อการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ ที่จะเป็นผลให้เกิดอาการท้องร่วง ท้องเสีย อาเจียน เป็นไข้ ปวดศีรษะ หรืออาจเสียชีวิตได้ (ศูนย์ข้อมูลด้านอาหาร, 2556) สำหรับการวิเคราะห์หาเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรียในน้ำดื่มในโรงเรียนเครือข่ายมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ด้วยวิธีมาตรฐาน MPN Technique พบว่า มีการปนเปื้อนเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรียจำนวน 6 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 54.54 ซึ่งเกินเกณฑ์มาตรฐานน้ำบาดาลเพื่อการบริโภค ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำหนดให้พบเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรียน้อยกว่า 2.20 MPN/100 มล. ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาของ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (2550)โดยตรวจวิเคราะห์น้ำดื่มในโรงเรียนในเขตเทศบาลและโรงเรียนในเขตชนบท 14 จังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 724 โรงเรียน พบว่าคุณภาพน้ำดื่มไม่ได้มาตรฐาน คิดเป็นร้อยละ 63.12 สาเหตุสำคัญมาจากการดูแลความสะอาดเครื่องทำน้ำเย็นของโรงเรียนและการทำความสะอาดระบบการกรองน้ำดื่มในโรงเรียน ซึ่งหากมีการดื่มน้ำที่มีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวอาจก่อให้เกิดโรคที่มีอาหารและน้ำเป็นสื่อได้ เช่นโรคอุจจาระร่วง โรคอหิวาตกโรค โรคบิด เป็นต้น (ศูนย์ข้อมูลด้านอาหาร, 2556)ดังนั้นผู้รับผิดชอบควรเพิ่มการดูแลความสะอาดเครื่องทำน้ำเย็นของโรงเรียนและการทำความสะอาดระบบการกรองน้ำดื่มในโรงเรียนตามระยะเวลาที่กำหนดอย่างสม่ำเสมอ

การจัดการสิ่งแวดล้อม

การตรวจประเมินระดับความดังเสียงในโรงเรียนเครือข่ายทั้ง 11 โรงเรียนระดับความดังเสียงในโรงเรียนที่ตรวจวัดได้ มีค่าระดับความดังเสียงตลอดระยะเวลา 8 ชั่วโมง ทั้งค่าเฉลี่ย 8 ชั่วโมงและค่าความดังเสียงสูงสุด อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เนื่องมาจากแหล่งกำเนิดเสียงส่วนใหญ่ในโรงเรียนมาจากกิจกรรมการเรียนการสอน เสียงพูดคุยของนักเรียนในช่วงพักเที่ยง เสียงตามสายบางช่วง และเสียงรถผ่านไปมาหน้าโรงเรียน ซึ่งจัดเป็นเสียงที่ดังต่อเนื่องสม่ำเสมอและมีความดังปกติ ประกอบกับสภาพพื้นที่ของโรงเรียนเป็นที่โล่งกว้างไม่มีสิ่งกีดขวางหรือวัสดุที่สามารถสะท้อนเสียงได้ จึงทำให้ระดับเสียงที่ตรวจวัดได้ในทุกโรงเรียนมีค่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน อย่างไรก็ตามการได้รับเสียงดังจะก่อให้เกิดการรบกวนในระหว่างเรียน โดยส่งผลกระทบต่อความจำของเด็กนักเรียนโดยเฉพาะเด็กนักเรียนในวัยประถมศึกษา ดังจะเห็นได้จากผลการประเมินด้วยแบบสอบถามด้านความจำ การอ่านหนังสือ ความจำระยะสั้น ความจำระยะยาว และสมาธิ พบว่าเด็กนักเรียนระดับประถมศึกษาที่พักอาศัยอยู่ใกล้แหล่งกำเนิดเสียงดัง คือสนามบิน จะมีความจำจากการอ่านหนังสือ ระยะสั้น ระยะยาวลดลง และมีสมาธิในการอ่านสั้นลง (Matsui และคณะ, 2547) ดังนั้นเพื่อเป็นการดูแลสุขภาพและเพื่อไม่รบกวนการเรียนการสอนของบุคลากรและนักเรียนควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรืออยู่ในพื้นที่ที่มีกิจกรรมที่จะก่อให้เกิดเสียงดังในระยะเวลานาน ประกอบกับโรงเรียนที่อยู่ติดถนนควรมีการปรับปรุงทัศนียภาพบริเวณด้านหน้าโรงเรียนที่อยู่ติดกับถนนให้เป็นพื้นที่กันชนเสียง (Buffer Zone) โดยการปลูกต้นไม้ เช่น ต้นสน โดยปลูกในแนวสลับฟันปลาไม่น้อยกว่า 2 แถวขนานกัน สำหรับการตรวจประเมินความเข้มแสงสว่างในโรงเรียนเครือข่ายทั้งหมด ส่วนใหญ่มีค่าไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน เนื่องจากสภาพห้องเรียนไม่มีช่องให้แสงส่องเข้ามาในห้องได้ ที่สำคัญคือหน้าต่างและหลอดไฟชำรุด รวมทั้งการจัดพื้นที่เรียนในห้องเรียนแต่ละห้องไม่ตรงกับจุดที่มีความเข้มแสงสว่างเพียงพอ ประกอบกับนักเรียนและบุคลากรยังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับการได้รับผลกระทบจากแสงที่ไม่เพียงพอ โดยนักเรียนและบุคลากรส่วนใหญ่จะมีความเคยชินกับสภาพห้องที่มีแสงสว่างน้อยจึงไม่มีการเปิดไฟและหน้าต่างในขณะที่ทำการเรียนการสอน ด้วยเหตุนี้ทำให้เกิดการใส่ใจน้อยลงในการที่จะซ่อมหน้าต่างให้เปิดได้ปกติหรือการดูแลปรับปรุงห้องเรียนให้มีแสงเพียงพอ จึงทำให้ค่าที่ตรวจวัดได้ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน โดยเฉพาะบริเวณหน้ากระดานและหน้าจอคอมพิวเตอร์ อย่างไรก็ตามปัญหาของแสงสว่างที่มีผลกระทบต่อผู้ทำงาน คือ กรณีแสงสว่างน้อยเกินไป จะมีผลเสียต่อตา ทำให้กล้ามเนื้อตาทำงานมากเกินไป โดยบังคับให้ ม่านตาเปิดกว้าง เพราะการมองเห็นนั้นไม่ชัดเจน ต้องใช้เวลาในการมองเห็นรายละเอียดนั้น ทำให้เกิดการเมื่อยล้าของตาที่ต้องเพ่งออกมา ปวดตา มึนศีรษะ ประสิทธิภาพและขวัญกำลังใจในการทำงานลดลง ส่วนกรณีที่แสงสว่างที่มากเกินไป แสงจ้าตาที่เกิดจากแหล่งกำเนิดแสงโดยตรง (Direct glare) หรือ แสงจ้าตาที่เกิดจากการสะท้อนแสง (Reflected glare) จากวัสดุที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม เช่น ผนังห้อง เครื่องมือ เครื่องจักร โต๊ะทำงาน เป็นต้น จะทำให้ผู้ทำงานเกิดความไม่สบายตา เมื่อยล้า ปวดตา มึนศีรษะ กล้ามเนื้อหนังตากระตุก วิงเวียน นอนไม่หลับ การมองเห็นแย่ลง นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดผลทางจิตใจ คือเบื่อหน่ายในการทำงาน ขวัญและกำลังใจในการทำงานลดลง เป็นผลทำให้เกิดอุบัติเหตุได้เช่นเดียวกัน (กระทรวงแรงงาน, 2549) ดังนั้นทางโรงเรียนต้องตระหนักถึงผลกระทบต่อสุขภาพโดยเฉพาะสายตาซึ่งควรมีมาตรการในการจัดแสงสว่างให้เพียงพอต่อการทำงาน โดยจัดให้มีการทำความสะอาดหลอดไฟ เปลี่ยนหลอดไฟที่ชำรุด หรือปรับเปลี่ยนย้ายโต๊ะทำงานหรือจัดห้องให้ตรงกับตำแหน่งของหลอดไฟหรือทิศทางที่ไม่บังแสงสว่างที่ส่องเข้ามา หรือถ้าจำเป็นอาจติดตั้งโคมไฟเฉพาะจุดเพิ่มเติมในตำแหน่งหน้ากระดานโต๊ะเรียน และในตำแหน่งที่มีคอมพิวเตอร์ พร้อมกับซ่อมแซมหน้าต่างที่ชำรุดให้สามารถเปิดใช้งานได้และรับแสงสว่างจากธรรมชาติ เพื่อให้ปริมาณความเข้มแสงสว่างเพียงพอต่อการเรียนการสอน เป็นการดูแลสุขภาพสายตาของบุคลากรและนักเรียนในอนาคตได้

ข้อเสนอแนะมาตรการในการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม

- โรงเรียนควรมีการจัดแสงสว่างให้เพียงพอต่อการอ่านหนังสือ โดยจัดให้มีการทำความสะอาดหลอดไฟ และย้ายโต๊ะอ่านหนังสือให้ตรงกับตำแหน่งของหลอดไฟ พร้อมกับปรับย้ายสิ่งของที่กีดขวางหน้าต่างเพื่อให้แสงสว่างจากข้างนอกส่องเข้ามาได้มากขึ้น หรือถ้าจำเป็นอาจติดตั้งโคมไฟเฉพาะจุดเพิ่มเติมในตำแหน่งที่อ่านหนังสือ เพื่อเป็นการดูแลสุขภาพสายตาให้กับบุคลากรและนักเรียน

- ควรมีการทำความสะอาดหลอดไฟ เปลี่ยนหลอดไฟที่ชำรุด และย้ายโต๊ะคอมพิวเตอร์ให้ตรงกับตำแหน่งของหลอดไฟ หรือถ้าจำเป็นอาจติดตั้งโคมไฟเฉพาะจุดเพิ่มเติมในตำแหน่งที่มีคอมพิวเตอร์ เพื่อเป็นการดูแลสุขภาพสายตาให้กับบุคลากรและนักเรียน

- โรงเรียนควรจัดให้แม่ครัวเข้ามาทำอาหารในโรงเรียน เพื่อให้สามารถตรวจสอบคุณภาพและควบคุมการปฏิบัติของแม่ครัวได้

- โรงเรียนควรจัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำดื่มน้ำใช้ให้ชัดเจน รวมถึงแผนการทำความสะอาด เครื่องกรองน้ำ เปลี่ยนไส้กรองของเครื่องกรองน้ำให้ตรงตามเวลาที่กำหนดจะช่วยให้น้ำดื่มมีคุณภาพ และปลอดภัยสำหรับการใช้ดื่มของนักเรียนได้

- โรงเรียนควรจัดให้มีถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิด และแยกประเภทขยะให้ชัดเจน

- ควรจัดทำโครงการธนาคารขยะให้เกิดความชัดเจนและยั่งยืน เพื่อให้การจัดการขยะในโรงเรียนมีประสิทธิภาพ

กิตติกรรมประกาศ

คณะผู้ทำวิจัยใคร่ขอขอบพระคุณ ผู้บริหาร ครู และ นักเรียน โรงเรียนเครือข่าย มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นอย่างสูง ที่ให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูล และ สถานที่ในการเก็บข้อมูลสำหรับการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ จนทำให้งานวิจัยฉบับนี้แล้วเสร็จอย่างสมบูรณ์

คณะผู้วิจัยใคร่ขอขอบพระคุณ รศ.นพ.ป่วน สุทธิพินิจธรรม คณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์ และการสาธารณสุขผศ.ดร.ภาวนา พนมเขต รองคณบดีฝ่ายวิจัยบริการวิชาการ และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมผศ.มินตรา สาระรักษ์ รักษาราชการ หัวหน้ากลุ่มวิชาสาธารณสุขศาสตร์ ผู้บริหารของวิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุขทุกท่าน ที่ให้การสนับสนุนการทำวิจัยฉบับนี้ จนสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

เอกสารอ้างอิง

1.กระทรวงแรงงาน. แนวปฏิบัติตามกฎกระทรวง การกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้าน

ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับความร้อน แสงสว่าง และเสียง

พ.ศ.2549.

2. กองสุขาภิบาลอาหาร. คู่มือวิชาการสุขาภิบาลอาหาร สำหรับครูเจ้าหน้าที่ ผู้ดูแลโรงอาหารของโรงเรียน.

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข.2541.

3. กองสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. ข้อกำหนดด้านสุขาภิบาลอาหารสำหรับร้านอาหาร. [สืบค้นเมื่อ 10ตุลาคม 2556].

แหล่งสืบค้นURL; http://foodsan.anamai.moph.go.th/main.php?filename

4. กองสุขาภิบาลอาหารและนา กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. อาหารปลอดภัย. [สืบค้นเมื่อ 10ตุลาคม

2554]. แหล่งสืบค้น URL; http://www.gotoknow.org/blog/hhc/118046

5. กรมอนามัย. เคล็ดลับการเลือกซื้ออาหารที่สะอาดปลอดภัย. วารสารการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม.

กระทรวงสาธารณสุข. 2550.

6. ธเรศ ศรีสถิตย์. วิศวกรรมการจัดการมูลฝอยชุมชน.กรุงเทพฯ; 2553.

7. นคร อินตา. แนวทางการพัฒนาการสุขาภิบาลอาหารกลางวันโรงเรียนเวียงกาหลงวิทยา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชียงราย เขต 2.ครุศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย 2550.

8. นพภาพร พานิช และแสงสันติ์ พานิช. แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ด้านคุณภาพอากาศ. พิมพ์ครั้งที่ 1.

กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2544.

9. ไพจิตร วรรณจักร์ และคณะ. สถานการณ์การปนเปื้อนโคลิฟอร์มแบคทีเรียในอาหารถุงที่วางจำหน่ายในตลาดสด.

ปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม สาขาอนามัยสิ่งแวดล้อมมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย. 2549.

10. ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2540), เรื่องการกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุไม่ใช้แล้ว ภาคผนวกที่

1 บัญชีลักษณะและคุณสมบัติของสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว, ท้ายประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2540) หมวด 1 ข้อ 5.

11. ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2540), เรื่องการกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุไม่ใช้แล้ว ภาคผนวกที่ 2 บัญชีหลักเกณฑ์และวิธีการทำลายฤทธิ์ กำจัด ทิ้ง หรือฝังสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว, ท้ายประกาศ กระทรวงอุตสาหกรรมฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2540) ข้อ 3.

12. พัชรี แก้วมณี. การเฝ้าระวังสภาวการณ์สุขาภิบาลอาหารของร้านอาหารในตลาดสด จังหวัดนครสวรรค์.

ปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม สาขาอนามัยสิ่งแวดล้อมมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์; 2550.

13. พัฒนา มูลพฤกษ์. การป้องกันและควบคุมมลพิษ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ. บริษัทสามเจริญพาณิชย์. 2545.

14. พรพิมล กองทิพย์. สุขศาสตร์อุตสาหกรรม. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: นำอักษรการพิมพ์; 2545

15. มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. เอกสารการสอนชุดวิชา การฝึกปฏิบัติงานอาชีวอนามัย ความปลอดภัย

และเออร์กอนอมิคส์. พิมพ์ครั้งที่ 6. นนทบุรี: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช; 2546.

16. มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. เอกสารการสอนชุดวิชา สุขศาสตร์อุตสาหกรรมพื้นฐาน. พิมพ์ครั้งที่ 8. นนทบุรี: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช; 2544.

17. วาสนา พันธุ์สุข. การจัดการขยะมูลฝอยของโรงเรียนอนุบาลชุมตาบง กิ่งอำเภอชุมตาบง จังหวัดนครสวรรค์.

ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ยุทธศาสตร์การพัฒนา). มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์. 2548.

18. ศิรินทิพย์ ชาติพหล. การพัฒนาแนวทางการจัดการจัดการขยะมูลฝอยในโรงเรียนบ้านโนนลานอำเภอชุแพ

จังหวัดขอนแก่น. ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย; 2552.

19. ศรีรัตน์ ล้อมพงศ์ และคณะ. ผลกระทบของปริมาณความเข้มข้นของฝุ่นที่มีผลต่อสุขภาพนักเรียน

ในโรงเรียนที่อยูใกล้โรงเรียนโม่หิน ในเขตภาคตะวันออก. คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา; 2545.

20. ศูนย์ข้อมูลด้านอาหารกระทรวงสาธารณสุข. [สืบค้นเมื่อ 10 ตุลาคม 2556].

แหล่งสืบค้น URL;http://webdb.dmsc.moph.go.th/ifc_food/fm_main.asp

21. สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. แนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชนและการ

ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมทางสังคมในกระบวนการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม.กรุงเทพฯ.2549

22.สำนักวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม.การมีส่วนร่วมของประชาชน การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมทาง

สังคม และการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม. สำนักงาน

นโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรุงเทพฯ.2552.

23. สุจิรา ประสารพันธ์. ฝุ่นละอองในสิ่งแวดล้อมและฝุ่นละอองที่คนงานได้รับในโรงสีข้าวจังหวัดกาฬสินธุ์.

วิทยานิพนธ์สาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม, บัณฑิตวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2545.

24. อรอุมา ตันเจริญ.สิ่งปนเปื้อนในอาหารและมลพิษสิ่งแวดล้อม (ปัญหาสังคมไทย). พิมพ์ครั งที่ 2.

กรุงเทพฯ. อมรการพิมพ์. 2554. หน้า 167 – 169.

25. Matsui T, Stansfeld S, Haines M and Head J. Children’s Cognition and Aircraft

Noise Exposure at Home – The West London Schools Study. Noise & Health., July

2004; 25: 49 – 58.

หมายเลขบันทึก: 567448เขียนเมื่อ 5 พฤษภาคม 2014 22:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2014 22:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท