ผู้ประกอบธุรกิจต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนด้วยหรือ


ข้าพเจ้าขอเริ่มต้นด้วยการกล่าวว่าเมื่อนึกถึงคำว่าการประกอบธุรกิจย่อมหมายความรวมได้ว่าเป็นการกระทำที่เกิดจากการเข้าร่วมของบุคคลอย่างน้อย 2 ฝ่าย หากเป็นธุรกิจภาคเอกชนผลประโยชน์ที่ได้นั้นส่วนมากแล้วย่อมเป็นไปในทางประโยชน์ส่วนตน ผลดี ผลเสียที่ได้รับนั้นย่อมมีลักษณะที่สังคมไทยนั้นได้รับความเสี่ยงที่น้อยกว่าธุรกิจภาครัฐ กล่าวคือเนื่องด้วยธุรกิจที่รัฐนั้นเป็นผู้ตัดสินใจเข้าร่วม กำกับหรือดูแลย่อมเป็นไปเพื่อประชากรหรือเพื่อความก้าวหน้าอันเกิดขึ้นในสังคมไทยดังนั้นผลกระทบที่ได้รับจากการประกอบธุรกิจนั้นย่อมหมายถึงผลกระทบอันเป็นที่แน่นอนว่าประชากรในประเทศนั้นจะต้องได้รับ ดังนั้นข้าพเจ้าจึงจะขอยกตัวอย่างประกอบการพิจารณานี้ไปในเรื่องของผู้ประกอบธุรกิจอันเกี่ยวข้องกับภาครัฐ

ตัวอย่างที่ข้าพเจ้าจะขอยกในที่นี้คือ กรณีปัญหาการสร้างเขื่อนไซยะบุรี กล่าวได้ว่า โครงการเขื่อนไซยบุรี (Xayaburi Dam) เป็นหนึ่งใน 12 โครงการ เขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าที่ได้รับการเสนอให้สร้างขึ้นในแม่น้ำโขงตอนล่าง เขื่อนไซยบุรีตั้งอยู่ที่แก่งหลวง แก่งหินใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของแม่น้ำโขง ห่างจากเมืองมรดกโลกหลวงพระบาง ตามลำน้ำลงมาเพียงราว 100 กิโลเมตรเท่านั้น
ข้อมูลอย่างเป็นทางการระบุว่า โครงการเขื่อนไซยบุรี มีกำลังผลิตติดตั้ง 1,285 เมกะวัตต์ โดยไฟฟ้าส่วนใหญ่ ส่งขายให้แก่ประเทศไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าไป เมื่อปลายปี 2554 บริษัท ไซยบุรี พาวเวอร์ มีผู้ถือหุ้นหลัก โดยบริษัท ช.การช่าง จากประเทศไทย เงินทุนในการก่อสร้างโครงการซึ่งอยู่ที่ราว 1.1 แสนล้านบาท มาจากธนาคาร ทั้งของรัฐ และเอกชนไทย 6 แห่ง จึงอาจกล่าวได้ว่า เขื่อนไซยะบุรี เป็นเขื่อนสัญชาติไทยที่ตั้งอยู่ในดินแดนลาว[1] โดย วัตถุประสงค์หลักของการสร้างเขื่อนไซยะบุรีคือการสร้างรายได้เพื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศลาว เนื่องจาก 95 เปอร์เซ็นต์ของไฟฟ้าที่ผลิตได้จะขายให้กับประเทศไทย ขณะที่บริษัทผู้ก่อสร้างคือ บริษัท ช.การช่าง ของประเทศไทยซึ่งได้มีการเจรจาตกลงค่าธรรมเนียมกับการไฟฟ้าแห่งประเทศไทย (EGAT) ในเดือนกรกฎาคม

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาถึงผลกระทบที่จะได้รับอันเนื่องมาจากการสร้างเขื่อนไซยะบุรีจะเห็นว่ากรณีผลกระทบที่เกิดขึ้นในภาคประชาชน มีรายงานจากคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติกัมพูชา และ World Fish Center ปี 2550 เปิดเผยว่ามีปลาเพียง 9 สายพันธุ์ในแม่น้ำโขงที่สามารถขยายพันธุ์ได้ในอ่างเก็บน้ำ และมีข้อบ่งชี้ว่าการทำประมงในอ่างเก็บน้ำไม่สามารถทดแทนการทำประมงตามธรรมชาติได้อันส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่ออาชีพประมงของผู้ที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ทั้งนี้เขื่อนจะทำให้น้ำท่วมเหนือสันเขื่อน 90 กิโลเมตร ส่งผลให้ประชาชนราว 2,000 คนต้องอพยพ และอีกว่า 200,000 คนที่จะได้รับผลกระทบต่อการดำเนินวิถีชีวิต โดยเขื่อนดังกล่าวจะมีการปล่อยกระแสน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าในอัตรา 5,000 ลบ.ม.ต่อวินาที ในขณะที่อัตราการไหลเฉลี่ยของแม่น้ำโขงในหน้าแล้งคือ 1,200 ลบ.ม. ต่อวินาที ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำของลำน้ำโขงตอนล่างของเขื่อนเปลี่ยนแปลงราว 3 – 5 เมตรใน 1 วัน ทั้งนี้จากปัญหาทั้งหมดนั้นย่อมนำไปสู่การที่ประชาชนหลายสิบล้านคนที่ใช้ชีวิตโดยพึ่งพิงลำน้ำโขงอาจต้องเปลี่ยนวิถีชีวิต และอาจทำให้ผลผลิตทางประมงจากลำน้ำโขงตอนล่างลดลงกว่า 10,000 ตันต่อปี[2]

โดยจากผลกระทบจากการสร้างเขื่อนนั้นจะเห็นว่าเนื่องจากผลกระทบอันสร้างความเดือดร้อนให้แก่ชุมชนที่อาศัยอยู่ในละแวกดังกล่าว ดังนั้นโครงการสร้างเขื่อนนี้จึงต้องมีการกําหนดให้มีระเบียบปฏิบัติเรื่องการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง (PNPCA: Procedures for Notification, Prior Consultation and Agreement) ซึ่งกําหนดไว้ว่าประเทศสมาชิกจะต้องแจ้งต่อคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงหรือเอ็มอาร์ซี (MRC : Mekong River Commissions) ในกรณีที่ประเทศสมาชิกมีโครงการพัฒนาสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ใดๆ บนแม่นํ้าโขงสายหลักหรือแม่นํ้าสาขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าโครงการดังกล่าวอาจจะสร้างผลกระทบข้ามเขตแดนต่อประชาชนหรือสิ่งแวดล้อมที่อยู่ปลายนํ้า และนําเสนอข้อมูลให้ประเทศสมาชิกร่วมกันพิจารณาในระดับภูมิภาคด้วย และเนื่องด้วยการเข้าโครงการดังกล่าวกระบวนการที่ภาครัฐนั้นจะต้องเข้ามามีบทบาทคือการส่งคณะกรรมการเพื่อเข้ารับฟังความคิดเห็นและให้ประชาชนนั้นเข้าร่วมปรึกษาหารือ แสดงผลดี ผลเสียจากการสร้างเขื่อนและแสดงแนวทางในการแก้ไขปัญหา

แต่ทั้งนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นปรากฎจากข้อเท็จจริงที่ว่า กระบวนการเข้าถึงประชาชนของภาครัฐจากโครงการสร้างเขื่อนไซยะบุรีไม่สามารถกระทำให้สำเร็จผลเป็นจริงได้ ทั้งนี้จากคำกล่าวของ กัญจน์ วงศ์อาจ ตัวแทนชาวบ้าน อ.เชียงคาน จ.เลย เล่าว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่รับรู้ข้อมูลอย่างละเอียดของโครงการเขื่อนไซยะบุรี ทั้งที่โครงการนี้อยู่ห่างจากเชียงคานไม่ถึง 200 กม. ตัวโครงการมีความก้าวหน้าไปเร็วมาก โดยที่ชาวบ้านในพื้นที่ไม่รู้ข้อมูลผลกระทบเลย ทั้งนี้ยังมี นายสุรจิต ชิรเวทย์ สมาชิกวุฒิสภา จ.สมุทรสงคราม ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการทรัพยากรน้ำ ได้แสดงความเห็นต่อกระบวนการ PNPCAว่า “จากการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นโดยกรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะเลขานุการของเอ็มอาร์ซี ชัดเจนว่าชาวบ้านไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อน เพราะเห็นว่าโครงการนี้ยังขาดข้อมูลรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางของพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการนี้ แต่ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพลังงาน ให้ข้อมูลเฉพาะด้านดีของเขื่อน ทำให้จนถึงขณะนี้จึงยังไม่สามารถสรุปจุดยืนของไทยไปยังเอ็มอาร์ซีได้”[3]

จากปัญหาดังกล่าวเห็นว่า เนื่องจากชาวบ้านนั้นไม่สามารถรับรู้ข้อเท็จจริงจากการสร้างเขื่อนได้ทั้งหมดและด้วยเหตุประการสำคัญที่ว่าการสร้างเขื่อนดังกล่าวนั้นจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อถิ่นที่อยู่อาศัยของตนข้าพเจ้าจึงเห็นว่าการกระทำของภาครัฐอันได้ร่วมมือกับทางภาคเอกชนนั้นเป็นไปในทางที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนเสียมากกว่าจะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมดังนั้นข้าพเจ้าจึงเห็นว่าการกระทำดังกล่าวนั้นนับเป็นการละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน[4]ข้อ 19กล่าวคือ บุคคลมีสิทธิในเสรีภาพแห่งความเห็นและการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพที่จะยึดมั่นในความเห็นปราศจากการสอดแทรกและที่แสวงหารับตลอดจนแจ้งข่าว รวมทั้งความคิดเห็นผ่านสื่อ ใด ๆ และโดยมิต้องคำนึงถึงเขตแดน ดังนี้จะเห็นได้ว่าการที่ทางภาครัฐนั้นได้ดำเนินการในการสร้างเขื่อนดังกล่าวโดยไม่รับฟังความคิดเห็นหรือจะกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่าไม่เปิดรับให้ประชาชนในพื้นที่ได้แสดงความคิดเห็นย่อมเป็นการขัดต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่ประชาชนในพื้นที่อันได้รับผลกระทบนั้นควรที่จะได้แสดง อีกทั้งจากคำกล่าวของนายสุรจิต ชิรเวทย์ ที่ว่ากระทรวงพลังงานนั้นได้แสดงแต่เพียงแค่ด้านดีในการสร้างเขื่อนอาทิเช่น การได้รับแหล่งพลังงานไฟฟ้าใหม่ที่มีปริมาณมาก ทั้งนี้จึงเห็นได้ว่าทางภาครัฐนั้นมีความประสงค์ที่จะปกปิดผลเสียที่จะเกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนดังนี้ จากปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนข้อที่ 19 ในประการที่ย่อมได้รับเสรีภาพจากการได้รับข่าวสาร จากประการดังกล่าวจึงเป็นไปในลักษณะที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนอย่างเห็นได้ชัดเจนและทั้งนี้หากยังคงมีการสร้างเขื่อนโดยไม่สนใจเสียงค้านจากทางฝั่งของประชาชนย่อมนำมาสู่การกระทำที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนในข้อ 25กล่าวคือบุคคลมีสิทธิในมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอสำหรับสุขภาพ และความอยู่ดีของตน และครอบครัวรวมทั้งอาหาร เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย การรักษาพยาบาล และบริการสังคมที่จำเป็น และสิทธิในความมั่นคงในกรณีว่างงาน เจ็บป่วย ทุพพลภาพ เป็นหม้าย วัยชรา หรือการขาดปัจจัยในการเลี้ยงชีพอื่นใดในพฤติการณ์อันเกิดจากที่ตนจะควบคุมได้ทั้งนี้เนื่องด้วยสภาพปัญหาที่ว่าประชาชนในเขตที่มีการก่อสร้างนั้นจะต้องได้รับความเดือดร้อนโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านของที่อยู่อาศัย ดังนี้ย่อมกระทบถึงสิทธิในการอยู่อาศัยที่ไม่ได้มาตรฐาน อันสืบเนื่องในประการที่ว่าเป็นการขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนในด้านมาตรฐานการครองชีพ

จากการพิจารณาในข้างต้นข้าพเจ้าเห็นว่าการประกอบธุรกิจนั้นไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่หรือขนาดเล็กก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการประเมินถึงผลกระทบที่สังคมโดยรวมจะได้รับอันย่อมนำไปสู่การละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเนื่องจากเมื่อมีผลเสียที่เกิดขึ้นอย่างไม่ยุติธรรมก็เป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องเกิดการเรียกร้องขึ้น และหากภาคธุรกิจนั้นยังคงเพิกเฉยไม่สนใจประชาชนส่วนรวมหรือหลักสิทธิมนุษยชนข้าพเจ้าเห็นว่าความเป็นไปได้ไนการเกิดความขัดแย้งขึ้นไม่ว่าภายในประเทศหรืออาจใหญ่โตไปในส่วนระหว่างประเทศย่อมมีความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้สูงและถึงตอนนั้นความเสียหายก็จะเพิ่มมากขึ้นเกินกว่าที่จะเยียวยาให้กลับมาเป็นเหมือนเดิมได้


[1] " เขื่อนไซยบุรี: พันธนาการมหานที"(2556). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.thairath.co.th/content/382622. สืบค้น 22 เมษายน 2557

[2]" ข้อเท็จจริง เขื่อนไซยะบุรี : ใครคือเจ้าของลำน้ำโขง ?"(2555). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: https://www.facebook.com/notesคนอนุรักษ์/ข้อเท็จจริง-เขื่อนไซยะบุรี-ใครคือเจ้าของลำน้ำโขง-/ 216706545111758. สืบค้น 22 เมษายน 2557

[3] " เขื่อนไซยะบุรี และกระบวนการรับฟังความคิดเห็น (ของประชาชนหรือของใคร?)"(2554). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.greenworld.or.th/greenworld/local/1234. สืบค้น 22 เมษายน 2557.

[4]คำปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน(Universal Declaration of Human Rights).” 2491.[ออนไลน์].

แหล่งที่มาhttp://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/book.pdf. สืบค้น 22 เมษายน 2557.

หมายเลขบันทึก: 567362เขียนเมื่อ 4 พฤษภาคม 2014 19:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2014 23:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท