KM วันละคำ : ๖๒๘. ทำไมจึงต้องให้ความสำคัญแก่ความรู้ฝังลึก


          วันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๕๗ ผมไปร่วมประชุมคณะผู้เขียน (ที่เป็นทั้งคนไทย และต่างชาติ) หนังสือเรื่อง Tacit Knowledge in Health Policy and Systems Development ที่นำโดย นพ. สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เลขาธิการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งาติ หนึ่งในคณะผู้เขียน คือ ดร. วัลลา ตัยตโยทัย แห่ง Gotoknow

          ผมมีหน้าที่ไปให้ความเห็นในภาพรวม และร่วมประชุมในช่วงแรกเพียงชั่วโมงครึ่งเท่านั้น แล้วก็ต้อง กลับบ้านเพื่อเตรียมตัวไปนอร์เวย์ในคืนนั้น คณะที่ประชุมเรื่อง Tacit Knowledge เขาประชุมกัน ถึงวันที่ ๒๔

          ผมเกิดความคิดขึ้นว่า น่าจะลองใคร่ครวญไตร่ตรองดูว่า ทำไมเราจึงต้องให้ความสำคัญแก่ TK การให้ความสำคัญแก่ TK และเอา TK มาใช้ประโยชน์เป็น มันก่อคุณประโยชน์อย่างไรบ้าง เอาผลการ ใคร่ครวญตีความนี้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน โดยไม่ยืนยันว่า สิ่งที่เอามาแลกเปลี่ยนจะถูกต้อง

          ผมขอให้ความเห็นว่าทำไมเราต้องให้ความสำคัญแก่ความรู้ฝังลึก เป็นข้อๆ ดังนี้

  • ๑.เพื่อให้ความรู้ครบถ้วน สิ่งที่เรียกว่าความรู้นั้น จริงๆ แล้วเป็นสมมติ พัฒนาการความรู้ ที่มาทางสายวิทยาศาสตร์ เน้นพยานหลักฐาน (evidence) ที่ตรวจสอบหรือทำซ้ำได้ ทำให้คนเรายึดมั่นถือมั่นเฉพาะความรู้แนววิทยาศาสตร์ (scientific) ปฏิเสธความรู้ แนวประสบการณ์ (experiential) ที่มีลักษณะผูกพันอยู่กับบริบท (context) ที่จำเพาะ ที่เรียกว่า tacit knowledge แม้ Polanyi จะเสนอความสำคัญของ “personal knowledge” ไว้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๑
  • ๒.เพื่อให้เกิดพลังในการนำเอาความรู้มาสร้างการเปลี่ยนแปลง ประสบการณ์ชีวิตบอกผมว่า ในหลายกรณี ความรู้ทฤษฎี (Explicit Knowledge) ที่มีพยานหลักฐานสนับสนุนอย่างดี ไม่มีพลังเพียงพอในการ สร้างการเปลี่ยนแปลง หากนำเอาความรู้ฝังลึกเข้ามาช่วย หรือในหลายกรณี เอาความรู้ฝังลึกเป็นตัวหลัก ใช้ความรู้ทฤษฎีหนุน ก็สามารถขับเคลื่อน การเปลี่ยนแปลงยากๆ ในระดับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ เปลี่ยนวัฒนธรรม ได้ ดังตัวอย่าง ขบวนการ HA, ขบวนการ R2R ของไทย รวมทั้งที่เรากำลังใช้ขับเคลื่อนการปฏิรูปการเรียนรู้ ของบุคลากรสุขภาพ อยู่ในขณะนี้
  • ๓.เพื่อสร้างกระบวนทัศน์ และวัฒนธรรมเกี่ยวกับความรู้เพื่อการใช้งาน เน้นความรู้เพื่อ การทำงานให้เกิผลที่ต้องการ ไม่ใช่ความรู้เพื่อรู้แต่ไม่ทำ ไม่ใช่ความรู้เพื่อการอภิปราย หรือโอ้อวดว่าเป็นผู้รู้ โดยผลเสนอต่อที่ประชุม (และทุกคนเห็นด้วย) ว่า ให้นิยาม tacit knowledge ที่การกระทำ และระบุ TK จากผลของการกระทำ มอง TK ว่าเป็นความรู้ เพื่อการกระทำ และเป็นความรู้เพื่อการกระทำ
  • ๔.TK มีผลเสริมพลัง (empower) EK และในทางกลับกันก็สามารถใช้ EK ในการตีความ ทำความเข้าใจ TK ที่ใช้ในการปฏิบัติงาน เกิดเป็นวงจรหมุนเกลียวความรู้ ยกระดับความรู้ ผ่านการปฏิบัติ

วิจารณ์ พานิช

๒๒ เม.ย. ๕๗

หมายเลขบันทึก: 567159เขียนเมื่อ 1 พฤษภาคม 2014 14:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 พฤษภาคม 2014 14:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท