หนูบอกพ่อช้าไปไหม


หนูบอกพ่อช้าไปไหม พ่อจะได้รับรู้หรือเปล่า...

ฉันยังจำได้ เมื่อลูกสาวคนเดียวของครอบครัว โทรแจ้งการเสียชีวิตของผู้ป่วยหลังจากจำหน่ายออกจากโรงพยาบาล

ไม่ทันข้ามคืน...“หนูบอกพ่อช้าไปไหม พ่อจะได้รับรู้หรือเปล่า...”

รายนี้ก็ไม่แตกต่างแตกต่างไปจากครอบครัวของผู้ป่วยส่วนใหญ่ ที่ร้องขอหมอไม่ให้บอกผู้ป่วยว่าเป็นมะเร็ง...
เหตุการณ์เป็นเช่นนี้มาร่วมปี ตั้งแต่ผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัดเพื่อแก้ไขภาวะอุดกั้นของกระเพาะอาหารและลำไส้จากก้อนเนื้องอกร้าย...มะเร็ง

แต่ในการนอนโรงพยาบาลครั้งนี้ ไม่เหมือนวันก่อน
วันนี้ผู้ป่วยร่างกายซูบผอม อ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง...เฝ้าถามลูกสาว...หมอบอกว่าพ่อเป็นอะไร?
จนลูกสาวเริ่มอึดอัดใจ ไม่รู้จะบอกพ่อ แม่ และพี่น้องอย่างไรดี
โชคของฉันที่มีโอกาสเข้าไปร่วมดูแล แล้วเราก็ทราบว่า “น้องนุช” ลูกสาวคนเดียวของบ้าน ยอมทนที่จะถูกญาติพี่น้องบางคนตำหนิว่าทำไมไม่พาพ่อไปรักษาที่โรงพยาบาลใหญ่ๆ ทั้งที่น่าจะทำได้ นุชบอกว่า หมอบอกแล้วว่าทำได้เพียงประคับประคอง รักษาที่ไหนก็ไม่แตกต่างกัน

นุชตัดสินใจไม่บอกพ่อ ด้วยเชื่อว่าถ้าพ่อทราบว่าเป็นมะเร็งจะท้อแท้ และตัดสินใจไม่มารับการรักษาที่โรงพยาบาล เหมือนกับคนในหมู่บ้านคนอื่นๆ...ไม่บอกแม่ กลัวแม่จะเสียใจ

ฉันได้มีโอกาสทำความคุ้นเคยกับผู้ป่วยและครอบครัว...นุชได้รับรู้ถึงข้อดีและผลกระทบของการบอกความจริงและการปกปิด

นุชยอมที่จะให้บอกการวินิจฉัยมะเร็งแก่ญาติพี่น้องก่อน เราวางแผนไว้ว่าเมื่อผู้ป่วยได้รับอนุญาตให้กลับบ้านจะขึ้นไปร่วมประชุมกับครอบครัวและญาติๆ กันที่บ้านบนดอยแต่ดูเหมือนว่าโอกาสนั้นเป็นไปได้น้อย อาการของผู้ป่วยไม่กระเตื้องขึ้นเลย ญาติๆ รุกเร้าสอบถามว่าผู้ป่วยเป็นอะไรกันแน่ จนนุชต้องต่อโทรศัพท์ให้ตอบคำถามญาติๆ ทางไกล

จนวันที่ผู้ป่วยตัดสินขอกลับบ้าน ในสภาพที่อ่อนเพลียแต่ยังรู้สติ ตัดสินใจด้วยตนเองได้ นุช--บุตรสาวก็ไม่ได้ขัด ด้วยหวังว่าจะพาพ่อไปใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายที่บ้านอันเป็นที่รัก กับของครอบครัวและหมู่ญาติ...วันนั้นนุชก็ยังทำใจไม่ได้ที่จะบอกให้พ่อทราบว่าเป็นมะเร็ง

บ่ายๆ วันนั้น นุชโทรกลับมาหาฉันว่าพ่อเริ่มไม่รู้สึกตัวเมื่อถึงบ้าน กำลังให้คนไปตามหมออนามัยมาช่วยดู ฉันรีบเตือนให้เปิดใช้เครื่องผลิตออกซิเจนเข้มข้นที่ให้ยืมไปเพื่อใส่บรรเทาให้ผู้ป่วยก่อน

รุ่งขึ้น...ฉันได้รับโทรศัพท์จากนุชแต่เช้า ด้วยน้ำเสียงที่สั่นเครือ “พ่อนุชเสียแล้ว...ประมาณ 2 ทุ่มกว่าเมื่อคืน”
นุชเล่าว่า หลังจากที่พ่อเริ่มไม่รู้สึกตัว ตามหมออนามัยมาตรวจให้ที่บ้านแล้ว จัดให้พ่อนอนพัก ญาติๆ ทำใจ ลูกหลานมาเยี่ยม ห้อมล้อม...

...ณ ช่วงเวลาใกล้ 2 ทุ่ม อยู่ๆ ผู้ป่วยก็ลืมตามองลูกหลานที่เฝ้าดูแลอยู่...นุชได้ใช้โอกาสทองตอนนั้นบอกให้พ่อทราบว่าพ่อป่วยเป็นโรคมะเร็งนะ และขอโทษที่ปกปิดพ่อมาตลอด...นุชบอกว่าไม่แน่ใจว่าพ่อจะได้รับรู้หรือไม่ นุชตัดสินใจผิดใช่ไหมที่ไม่ยอมให้บอกพ่อก่อนหน้านี้?

กำลังใจสำหรับคนที่ยังอยู่ในตอนนี้ นับว่าสำคัญทีสุด...ฉันบอกกับนุชว่า การตัดสินใจในแต่ละช่วงเวลานั้นมันย่อมมีเหตุและผลของมัน ฉันเชื่อมั่นว่านุชทำดีแล้ว...การตัดสินใจทุกครั้งด้วยเหตุผลของความรัก เป็นสิ่งที่น่าชื่นชม และฉันเชื่อมั่นว่าผู้ป่วยจะรับรู้ได้...เข้มแข็งนะคะ...คนเก่ง

______________________________________________________________________ _/\_ ___

หมายเลขบันทึก: 567106เขียนเมื่อ 30 เมษายน 2014 23:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 พฤษภาคม 2014 09:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

...เป็นกำลังใจให้น้องนุชนะคะ

เป็นบันทึกที่งดงามมากครับ

ขอนำไปรวรวมไว้ที่นี่

- การพูดให้กำลังใจญาติ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท