ความสุขที่แท้จริง


                                                                    

                                                                         บันทึกของท่านเขมรังสี

                   บุตรของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกคน ย่อมทราบดีว่า ความสุข ความชุ่มฉ่ำ ถ้ารู้วิชามีปัญญาทำก็เป็นของทำเอาได้โดยไม่ต้องซื้อเอาด้วยทุนอันแพงลิบลับ  แต่ถ้าทำเพื่อเห็นแก่การที่เอามาเสพ แล้วก็ผ่านเลยไปเสียเช่นนี้ไม่อบอุ่น สถิตเสถียรถาวรอยู่ได้และมันก็เสพไม่พอสักทีที่แท้แล้ว “ผู้ใคร่เสพ” ย่อมขาดทุนลิบลับ กว่าจะได้เสพสักที ก็เหนื่อยหอบปางตายครั้นเสพแล้วก็ไม่เห็นมีอะไรเพิ่มพูนขึ้นมา  เมื่อวานนี้เขามีชีวิตอยู่เพื่อกิน กลัว ขี้เกียจ กามราคะ  พรุ่งนี้เขาก็จะมีชีวิตอยู่เพื่อสิ่งเหล่านี้อีก  เพราะเหตุนี้แลพวกเราจึงพากันหลีกเลี่ยงการงานที่ทำแล้วไม่มีกำไรยิ่งกว่านั้น ยังไม่มีที่สิ้นสุด ต้องเป็นข้าทาสมันตลอดกาลนาน

                 การรักษาศีล ทำสมาธิ ประกอบปัญญา มิใช่เรื่องที่ทำกันเพื่ออวดคนอื่น  แต่เป็นการทำเพื่อให้ตนพ้นจากความเป็นทาสด้วยประการทั้งปวง  และโดยความหมายอย่างนี้ย่อมเห็นได้ว่ามิใช่ทำเพื่อไปสู่สุขอย่างที่สามัญมนุษย์รู้จักสุขอันนั้นเลย  เพราะสุขอย่างที่คนทั้งหลายเข้าใจกันนั้นเป็นสุขเอาอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งบำรุงบำเรอให้เกิดขึ้นและหลังฉากแห่งความสุขชนิดนั้นก็มีเจ้านายใจสกปรกยืนยิ้มอยู่เป็นแถวแต่ละคนมีหน้าตาท่าทางต่าง ๆ กัน

             ปกติสุขแห่งพรหมจรรย์เป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นได้ยาก  จะเปรียบก้าวต่ำ ๆ ของความสุขฝ่ายนี้ก็เหมือนกับว่า บุคคลผู้มีความเหนื่อยกายเหนื่อยใจผู้หนึ่ง จะเหนื่อยมาเพราะทำนาในอากาศร้อน หรือเพราะวิ่งมาจากทางอันไกลหรือโดยประการอื่นใดก็ตาม  เพราะความเหนื่อยนั้น ทำให้รู้สึกประหนึ่งใจจะขาด ครั้นเมื่อมาถึงที่แห่งหนึ่ง มีลมพัดสบายมีที่นอนอันสะอาดพร้อมด้วยหมอนอย่างดีเขาเอนตัวลงในที่นั้น ศรีษะตกถึงหมอน ทอดกายให้เป็นไปตามเรื่องหลับตาลงแล้วมิได้ใส่ใจนึกคิดในสิ่งใด เขาก็ถอนหายใจออกมาเองอย่างยาวที่สุดที่มีลมอยู่ในปอด  เมื่อกิจสุดท้ายนี้ได้ทำแล้ว “ขณะ” ต่อมาอันนั้นเองย่อมเป็นขณะของความสุข  ความสุขนั้นอาจเกิดชั่วระยะเวลาเพียง ๒-๓ วินาที  ขณะแห่งความสุขนั้น มิต้องอาศัยอามิสแต่อย่างใด ไม่มี ลาภ ยศ สรรเสริญ หรือวัตถุกามอันใดในโลกมาประกอบและนี้ก็เป็นเพียงขณะจิตอันหนึ่งเท่านั้นซึ่งถ้าพูดในความรู้ของวิญญูชนแล้วเขาก็คงเข้าใจได้ว่าถ้าทำให้เกิดได้หนึ่งขณะ ก็ทำให้เกิดได้อีกหนึ่งขณะ และเราอาจรวมแต่ละขณะเข้าไว้ติด ๆ กันจะเป็นร้อยขณะพันขณะ หมื่นขณะ แสนขณะ และโดยไม่มีที่สิ้นสุด

หมายเลขบันทึก: 567091เขียนเมื่อ 30 เมษายน 2014 21:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 เมษายน 2020 16:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท