ผู้ทรงสิทธิในการมีสุขภาพดี : กรณีศึกษาของ น้องพอแอ้โจ หรือ ด.ญ.ญานิศา


          สิทธิในการมีสุขภาพดี หรือสิทธิในการรักษาพยาบาล เป็นสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่งซึ่งได้ระบุไว้ใน ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 25(1) ซึ่งเป็นสิทธิที่ทุกคนที่เป็นมนุษย์พึงได้รับไม่ว่าจะเป็น บุคคลที่มีปัญหาสถานะบุคคล[1] ได้แก่ บุคคลที่มีสัญชาติในรัฐนั้น หรือบุคคลไร้รัฐ คือไม่มีรัฐใดบันทึกในทะเบียนราษฎรว่าเป็นบุคคลในรัฐนั้น หรือคนไร้สัญชาติที่อาจถูกบันทึกหรือไม่บันทึกในทะเบียนราษฎรของรัฐนั้น แต่ไม่มีรัฐใดรับรองว่ามีสัญชาติ หรือแม้แต่คนที่มีฐานะคนเข้าเมือง คือ สถานะทางกฎหมายของผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรชั่วคราวหรือถาวร ไม่ว่าถูกกฎหมาย คือมีวีซ่า หรือผิดกฎหมาย ต่างก็เป็นมนุษย์จึงมีสิทธิดังกล่าว

รวมถึงสิทธิดังกล่าวได้ถูกนำมาบัญญัติในกฎหมายไทยตาม รัฐธรรมนูญไทย ปี 2550 มาตรา 4 บัญญัติว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง” ซึ่งสิทธิในการรักษาพยาบาลก็เป็นสิทธิของบุคคลที่รัฐไทยคุ้มครองตามมาตรานี้

ส่วนบุคคลที่มีสิทธิได้รับความคุ้มครอง ตามมาตรา4 นั้นเมื่อพิจารณาตามถ้อยคำ ว่า บุคคล นั้นก็ย่อมหมายถึงมนุษย์ทุกคนที่มีความเป็นบุคคลที่กฎหมายเอกชนรับรอง ตามมาตรา 15 บัญญัติว่า “สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่ เมื่อคลอด แล้วอยู่รอดเป็นทารก และสิ้นสุดลง เมื่อตายที่รับรองความเป็นบุคคลตั้งแต่แรกคลอดและอยู่รอดเป็นทารก จนตายจึงสิ้นสภาพบุคคล

          จากกรณีศึกษาของ น้องพอแอ้โจ หรือ ด.ญ.ญานิศา อายุราว 1 เดือน อาศัยอยู่กับครอบครัวที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก น้องได้รับการรับรองสถานะคนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยชั่วคราวใน ท.ร.13 จึงมีเลขประจำตัว 13 หลักขึ้นต้นด้วยเลข 7 รัฐไทยจึงมิได้ละเมิดน้องพอแอ้โจ ในปฏิญญาสากล ข้อ 6 สิทธิที่จะได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคลตามกฎหมาย

ปัญหาคือ แม้น้องพอแอ้โจจะได้รับการรับรองความเป็นมนุษย์โดยบันทึกในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยแล้วจึงไม่เป็นคนไร้รัฐ แต่ยังคงมีปัญหาในเรื่องการเป็นคนไร้สัญชาติเพราะไม่มีรัฐใดรับรองว่าน้องพอแอ้โจมีสัญชาติของรัฐนั้น ซึ่งการไร้สัญชาติอาจเป็นเหตุให้นำไปสู่การถูกละเมิดสิทธิต่อไป เพราะน้องถูกถือว่าเป็นคนเข้าเมืองผิดกฏหมาย ตามการสันนิษฐานของ ม.7 ทวิ กรณีบุพการีเป็นคนต่างด้าว ที่เกิดในประเทศไทยและมีชื่อ ใน ท.ร.13 เช่นกัน รัฐไทยจึงมีหน้าที่ต้องช่วยเหลือในการหาสัญชาติให้แก่น้องพอแอ้โจ โดยการหาจุดเกาะเกี่ยวของน้อง กับประเทศที่อาจจะมีสัญชาตินั้น

ซึ่งการที่จะให้น้องพอแอ้โจได้ถูกรับรองสัญชาตินั้น จึงควรให้มารดาพิสูจน์สัญชาติว่ามีสัญชาติได้เพราะ เกิดในประเทศไทย และหากมารดาเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทยและถูกรับรองสัญชาติแล้ว น้องพอแอ้โจก็จะมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดทางสายโลหิตจากมารดาและตามหลักดินแดน คือเกิดในประเทศไทย ทำให้ได้รับรองสัญชาติไทย เพื่อให้สามารถใช้สิทธิในการรักษาพยาบาลซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชน ตาม ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อที่ ข้อ 25 (1) คือ สิทธิในสุขภาพ[2]

          แต่จากกรณีศึกษามารดายังไม่สามารถพิสูจน์สัญชาติไทยได้ น้องพอแอ้โจจึงยังไม่ได้รับสัญชาติไทยโดยการเกิด และแม้เป็นบุคคลที่มีปัญหาไร้สถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติ แต่น้องกลับถูกปฏิเสธไม่ให้ใช้สิทธิรักษาพยาบาลอันเป็นปัญหาในการเข้าถึงสิทธิรักษาพยาบาล เพราะน้องมีสิทธิรักษาพยาบาล แต่ไม่สามารถใช้สิทธิได้ ตามที่รัฐธรรมนูญไทย มาตรา 4 รับรอง และ ข้อ 25(1) ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน รับรอง

และแม้ในปัจจุบันมี หลักประกันสุขภาพในกองทุนเพื่อบุคคลที่มีปัญหาสถานะตามมติ คณะรัฐมนตรี ซึ่งกรณีดังกล่าวน้องพอแอ้โจก็เป็นคนที่มีปัญหาสถานะด้านสัญชาติ เป็นปัญหาสถานะประเภทหนึ่ง น้องจึงเป็นผู้ทรงสิทธิในสิทธิรักษาพยาบาล และควรได้ใช้สิทธิในหลักประกันสุขภาพในกองทุนเพื่อบุคคลที่มีปัญหาสถานะตามมติ คณะรัฐมนตรีเมื่อ 23 มีนาคม พ.ศ.2553 เพราะเป็นบุคคลที่มีปัญหาสถานะบุคคล แต่เนื่องจากปัจจุบันยังคงมีปัญหาในการตีความ คำว่า “บุคคลที่มีปัญหาสถานะ” ว่าหมายถึงใคร น้องพอแอ้โจจึงไม่สามารถใช้สิทธิดังกล่าวได้

          ดังนั้นการที่โรงพยาบาลปฏิเสธไม่ให้น้องพอแอ้โจใช้สิทธิรักษา เพราะเป็นคนไร้สัญชาตินั้นจึงทำไม่ได้ เพราะเป็นบุคคลที่มีปัญหาสถานะบุคคล อีกทั้งในความเห็นข้าพเจ้านั้นไม่เพียงแต่ บุคคลสัญชาติไทย และบุคคลที่มีปัญหาสถานะเท่านั้นที่ควรจะเป็นผู้ทรงสิทธิในการรักษาพยาบาล หรือการมีสุขภาพดี กรณีบุคคลที่ไม่ได้ถูกบันทึกทางทะเบียนราษฎรโดยรัฐไทย เช่น ชาวโรงฮิงญาซึ่งเป็นคนไร้รัฐ บุคคลเหล่านั้นก็ยังควรมีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาล เพราะการรักษาพยาบาลเป็นสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีขึ้นจากความเป็นมนุษย์ ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 25 (1) ที่ไทยเป็นภาคีในอนุสัญญา ซึ่งเป็นสิทธิที่มนุษย์ทุกคนพึงได้รับโดยไม่แบ่งแยกรัฐ หรือ สัญชาติ รวมถึง มาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญไทยปี 2550 ได้คุ้มครองสิทธิของบุคคล บุคคลทุกคนในประเทศไทยจึงควรได้รับสิทธิการรักษาและการรักษาก็ควรเป็นไปตามหลักมนุษยชนคือ รักษาให้มีชีวิตรอดเท่าที่จำเป็น จึงจะไม่เป็นการละเมิดอนุสัญญาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

เขียน: 30 เม.ย. 2014 

[1] รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร. แล้วใครล่ะคือ “บุคคลที่มีปัญหาสถานะบุคคลตามกฎหมาย” ในประเทศไทย ?. เมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๖. (ออนไลน์). แหล่งที่มา :https://www.facebook.com/note.php?saved&&note_id=1... 29 เมษายน 2557.

[2] กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ. ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

Universal Declaration of Human Rights. (ออนไลน์). แหล่งที่มา:http://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/bo... เมษายน 2557

หมายเลขบันทึก: 567085เขียนเมื่อ 30 เมษายน 2014 19:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2014 20:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท