การสอนแบบวิจัยเป็นฐาน (Research-Based Instruction)


การสอนแบบวิจัยเป็นฐาน

อาจารย์ดร.ปัญญฎา ประดิษฐบาทุกา

ความหมาย

นักวิชาการและนักวิจัยทั้งในและต่างประเทศเห็นพ้องต้องกันว่า การจัดการเรียนรู้แบบใช้วิจัยเป็นฐาน หมายถึง แนวคิดที่รวมการวิจัยและการสอนเข้าด้วยกัน ซึ่งการจัดการเรียนรู้แบบวิจัยเป็นฐานที่ดีนั้น ต้องมาจากหลักสูตรที่กำหนดให้มีการทำวิจัย ใช้กระบวนการวิจัยในการจัดการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้มีการจัดการเรียนรู้โดยให้ผู้เรียนใช้เครื่องมือในการวิจัยและมีการจัดการเรียนรู้โดยใช้ผลงานวิจัยประกอบเนื้อหาที่ศึกษาให้แก่ผู้เรียน(Green. 2010: online)

ทิศนา แขมมณี. (2552: 144-145) ให้ความหมายว่า เป็นสภาพการณ์ของการจัดการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนใช้กระบวนการวิจัย หรือผลการวิจัยเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้เนื้อหาสาระต่างๆ โดยอาจใช้ การประมวลผลงานวิจัย (Research review) มาประกอบการสอนเนื้อหาสาระ ใช้ผลการวิจัยมาเป็นเนื้อหาสาระในการเรียนรู้ใช้กระบวนการวิจัยในการศึกษาเนื้อหาสาระ หรือให้ผู้เรียนลงมือทำวิจัยโดยตรง หรือช่วยฝึกฝนทักษะการวิจัยต่างๆ ให้แก่ผู้เรียน

ลัดดา ภู่เกียรติ (2552: 146) ให้ความหมายว่า เป็นกระบวนการพัฒนาผู้เรียนให้สามารถใช้กระบวนการวิจัยเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ คิดค้นคำตอบและตัดสินใจในการเรียนรู้ของตนเองและเป็นการจัดให้ผู้เรียนได้เรียนรู้และใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์เพื่อแสวงหาความรู้ใหม่หรือค้นหาคำตอบที่เชื่อถือได้ โดยอาศัยกระบวนการสืบสอบในศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ศึกษาวิจัยในการดำเนินการสืบค้น พิสูจน์ ทดสอบ เก็บรวบรวมข้อมูล และวิเคราะห์ข้อมูล

ปัญญฎา ประดิษฐบาทุกา (2556: 11) ให้ความหมายว่า พฤติกรรมการจัดการเรียนรู้แบบวิจัยเป็นฐาน หมายถึง เป็นการกระทำของผู้สอนเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้โดยใช้ผลงานวิจัยประกอบเนื้อหาที่ศึกษาให้แก่ผู้เรียน ได้แก่ ผลงานวิจัยของผู้สอน หรือผลงานวิจัยของผู้อื่นในวิชาที่ศึกษา ตลอดจนการจัดกระบวน การเรียนรู้ที่ใช้กระบวนการวิจัย ทั้งนี้พฤติกรรมการจัดการเรียนรู้แบบวิจัยเป็นฐานวัดจากตัวแปรสังเกตได้ 2 องค์ประกอบ ได้แก่

1.1 การใช้ผลการวิจัยประกอบการจัดการเรียนรู้ หมายถึง การที่ผู้สอนจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยนำงานวิจัยของตนเอง หรือผู้อื่นในศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ผู้เรียนกำลังทำการเรียนรู้มาเล่าให้ผู้เรียนฟัง หรือให้ผู้เรียนไปศึกษางานวิจัยของผู้สอนหรือผู้อื่นในศาตร์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ผู้เรียนกำลังทำการเรียนรู้

1.2 การใช้กระบวนการวิจัยในการจัดการเรียนรู้ หมายถึง การที่ผู้สอนจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการวิจัยที่เริ่มจาก การระบุปัญหา การคาดคะเนคำตอบหรือการตั้งสมมติฐานการเก็บรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล และการสรุปและนำเสนอ
ผลการศึกษาตามลำดับ เพื่อทำให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจในเนื้อหาสาระที่เรียนรู้ ทั้งนี้ผู้สอนสามารถใช้กระบวนการวิจัยครบทุกขั้นตอน หรือใช้บางขั้นตอนตามความเหมาะสมกับวัตถุประสงค์การเรียนรู้ เนื้อหาสาระการเรียนรู้ และข้อจำกัดที่มี

แนวทางการสอนแบบวิจัยเป็นฐาน

การสอนแบบวิจัยเป็นฐานมีแนวทาง 4 แนวทาง ซึ่งผู้สอนสามารถเลือกใช้ให้เหมาะสมกับเนื้อหาสาระวิชา วัตถุประสงค์ สถานการณ์ และศักยภาพของผู้เรียน ดังนี้

แนวที่ 1 ผู้สอนนำผลการวิจัยมาใช้ในการสอน

แนวที่ 2 ผู้เรียนศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่เรียนรู้

แนวที่ 3 ผู้สอนใช้กระบวนการวิจัยในการสอน

แนวที่ 4 ผู้เรียนทำวิจัยในเรื่องที่เรียนรู้

แนวที่ 1 ผู้สอนเป็นคนอ่านงานวิจัย และนำผลการวิจัยมาใช้ในการจัดการเรียนรู้ของตนเองในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง เช่น นำเนื้อหาที่เป็นผลการวิจัยมาให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ หรือมาเล่าให้ผู้เรียนฟังเป็นการเรียนรู้เพิ่มเติม

แนวที่ 2 ให้ผู้เรียนไปศึกษาค้นคว้างานวิจัยด้วยตนเอง ทำให้ผู้เรียนได้ฝึกทักษะ การเป็นผู้บริโภคงานวิจัย ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้สอนที่ต้องเลือกงานวิจัยที่เหมาะสมกับระดับชั้นและวัยของผู้เรียน หรือผู้สอนอาจต้องทำหน้าที่ในการสรุปย่องานวิจัยให้มีความเหมาะสมกับระดับของผู้เรียน

แนวที่ 3 ผู้สอนใช้กระบวนการวิจัยในการสอน คือ ผู้สอนออกแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการวิจัยเข้าไปช่วยให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจในเนื้อหาสาระที่ต้องการ ซึ่งผู้สอนสามารถใช้กระบวนการวิจัยครบทุกขั้นตอนหรือใช้บางขั้นตอนตามความเหมาะสมกับเนื้อหาสาระการเรียนรู้ วัตถุประสงค์และข้อจำกัดที่มี

แนวที่ 4 ให้ผู้เรียนลงมือทำวิจัยด้วยตนเอง โดยผู้สอนช่วยให้ผู้เรียนดำเนินการตามขั้นตอนการวิจัยต่างๆ อย่างมีคุณภาพมากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้

ตารางที่ 1 บทบาทครูในการสอนแบบวิจัยเป็นฐาน

กระบวนการวิจัย บทบาทครูในการสอนแบบวิจัยเป็นฐาน
1. ระบุปัญหาการวิจัย ครูจะทำอย่างไร ผู้เรียนจึงสามารถระบุปัญหาการวิจัยได้ชัดเจน - ครูควรสอนและฝึกทักษะการสังเกตปัญหา ตั้งคำถาม รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ปัญหา และระบุปัญหาที่แท้จริง
กระบวนการวิจัย บทบาทครูในการสอนแบบวิจัยเป็นฐาน
2. ตั้งสมมติฐาน ครูทำอย่างไร ผู้เรียนจึงสามารถตั้งสมมติฐานได้ - ครูควรสอนและฝึกให้ผู้เรียนรู้จักวิธีการวิเคราะห์ข้อมูล หาสาเหตุคาดเดาคำตอบของปัญหาอย่างมีหลักการ และมีหลักฐานรองรับและตั้งสมมติฐานที่เหมาะสม
3. พิสูจน์ ทดสอบสมมติฐาน ครูทำอย่างไร ผู้เรียนจึงสามารถพิสูจน์ ทดสอบสมมติฐานได้ - ครูควรสอนและฝึกให้ผู้เรียนได้เรียนรู้กระบวนการและวิธีการในการออกแบบ การพิสูน์หรือทดสอบสมมติฐานที่เหมาะสมกับศาสตร์ของเรื่องที่วิจัย
4. รวบรวมข้อมูล ครูจะทำอย่างไร ผู้เรียนจึงสามารถรวบรวมข้อมูลได้ - ครูควรสอนและฝึกให้ผู้เรียนรู้จักวิธีการแสวงหาแหล่งข้อมูล วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล และวิธีการสร้างเครื่องมือที่เหมาะสมกับศาสตร์ของเรื่องที่วิจัย
5. วิเคราะห์ข้อมูล ครูจะทำอย่างไร ผู้เรียนจึงสามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้ - ครูควรสอนและฝึกให้ผู้เรียนรู้จักวิธีการที่เหมาะสมกับศาสตร์ของเรื่องที่วิจัยในการวิเคราะห์ข้อมูล การใช้สถิติต่างๆ การกำหนดเกณฑ์ประเมินและ การนำเสนอข้อมูล
6. สรุปผล ครูจะทำอย่างไร ผู้เรียนจึงสามารถสรุปผลได้ - ครูควรสอนและฝึกให้ผู้เรียนรู้จักวิธีการสรุปข้อมูล และการตอบสมมติฐาน

บทบาทครูและผู้เรียนในแต่ละแนวทางของการสอนแบบวิจัยเป็นฐาน

บทบาทครูและผู้เรียนในแนวทางของการสอนแบบวิจัยเป็นฐาน 4 แนวทาง

ตารางที่ 2 บทบาทครูและผู้เรียนในการสอนแบบครูใช้ผลการวิจัยประกอบการสอน

การสอนแบบวิจัยเป็นฐาน บทบาทครู บทบาทผู้เรียน
แนวที่ 1 ครูใช้ผลการวิจัยประกอบการสอน - ครูใช้ผลการวิจัยประกอบการสอนเนื้อหาสาระต่างๆ ช่วยให้ผู้เรียนขยายขอบเขตของความรู้ ได้ความรู้ที่ทันสมัยและคุ้นเคยกับแนวคิดการวิจัย 1. ครูสืบค้นแหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสาระที่สอน 2. ครูศึกษางานวิจัย / ข้อมูล / องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาสาระ 3. ครูเลือกผลงานวิจัยที่เหมาะสมกับสาระที่สอนและวัยของผู้เรียน

4. ครูนำผลการวิจัยมาใช้ ดังนี้

- ประกอบเนื้อหาสาระที่สอน เสริมให้ผู้เรียนได้ความรู้เพิ่มขึ้น เช่น ครูนำผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องพืช หรือสุขภาพ มาเสริมการเรียนรู้สาระดังกล่าว

- ประยุกต์ใช้ในการสอน เช่น ครูอ่านผลการวิจัย ทฤษฎี การนำมาใช้ประโยชน์ เป็นต้น

5. ครูและผู้เรียนร่วมกันอภิปรายผลการวิจัย กระบวนการวิจัย และประโยชน์การวิจัย

6. ครูวัดและประเมินผลการเรียนรู้เกี่ยวกับผลการวิจัย กระบวนการวิจัยควบคู่กับการเรียนรู้ตามปกติ

1. เรียนรู้เนื้อหาสาระโดยมีผลการวิจัยประกอบ ทำให้ผู้เรียนคุ้นเคยกับเรื่องของการวิจัย การแสวงหาความรู้ การใช้เหตุผล ฯลฯ 2. อภิปรายประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลการวิจัย กระบวนการวิจัย และประโยชน์ของการวิจัย

ตารางที่ 3 บทบาทครูและผู้เรียนในการสอนแบบผู้เรียนใช้ผลการวิจัยในการเรียนการสอน

การสอนแบบวิจัยเป็นฐาน บทบาทครู บทบาทผู้เรียน
แนวที่ 2 ผู้เรียนใช้ผลการวิจัยในการเรียนการสอน - ครูให้ผู้เรียนสืบค้น และศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสาระที่เรียนด้วยตนเอง 1. ครูสืบค้นแหล่งข้อมูลและศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสาระที่สอน 2. ครูกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความสนใจใฝ่รู้ เกิดข้อสงสัย อยากรู้ อยากแสวงหาคำตอบของข้อสงสัย 3. ครูให้คำแนะนำเกี่ยวกับแหล่งข้อมูลและงานวิจัยที่ผู้เรียนจะต้องสืบค้นเพื่อการศึกษาหาความรู้ รวมทั้งคัดเลือกงานวิจัยที่เหมาะสมกับวัยของผู้เรียน

4. ครูอาจจำเป็นต้องสรุปงานวิจัยให้เหมาะสมกับระดับของผู้เรียน

5. ครูแนะนำวิธีการอ่าน ศึกษาวิเคราะห์รายงานวิจัยตามความเหมาะสมกับระดับผู้เรียน ได้แก่ องค์ประกอบต่างๆ ของงานวิจัย วตถุประสงค์ วิธีดำเนินการวิจัย ขอบเขต ข้อจำกัดของผลการวิจัย อภิปรายผลการวิจัย การอ้างอิง ฯลฯ

6. ครูเชื่อมโยงสาระของงานวิจัยกับสาระของการเรียนการสอน

7. ครูและผู้เรียนร่วมกันอภิปรายเกี่ยวกับผลงานวิจัย กระบวนการวิจัย ความสำคัญของการวิจัย

8. ครูวัดและประเมินผลทักษะการอ่านรายงานการวิจัย และการเรียนรู้เกี่ยวกับผลการวิจัย กระบวนการวิจัย ควบคู่ไปกับการเรียนรู้สาระตามปกติ

1. แสวงหา สืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสาระที่เรียนรู้ตามความสนใจของตน 2. ศึกษารายงานวิจัยต่างๆ โดยฝึกทักษะการเรียนรู้ที่จำเป็น เช่น ทักษะการอ่านงานวิจัย การสรุปผลการวิจัย การนำเสนอผลการวิจัย การอภิปรายผลการวิจัย 3. นำเสนอสาระของงานวิจัยอย่างเชื่อมโยงกับสาระที่กำลังเรียนรู้

4. อภิปรายประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลการวิจัย กระบวนการวิจัย ความสำคัญของกระบวนการวิจัย

5. ประเมินตนเองเกี่ยวกับทักษะการอ่านรายงาน และการเรียนรู้เกี่ยวกับผลการวิจัย กระบวนการวิจัย

ตารางที่ 4 บทบาทครูและผู้เรียนในการสอนแบบครูใช้กระบวนการวิจัย

การสอนแบบวิจัยเป็นฐาน บทบาทครู บทบาทผู้เรียน
แนวที่ 3 ครูใช้กระบวนการวิจัยในการเรียนการสอน - ครูใช้กระบวนการวิจัย ซึ่งอาจจะเป็นบางขั้นตอน หรือครบทุกขั้นตอนในการจัดการเรียนการสอน โดยพิจารณาตามความเหมาะสมกับสาระการเรียน และวัยของผู้เรียน 1. ครูพิจารณาวัตถุประสงค์และสาระที่จะให้แก่ผู้เรียน และวิเคราะห์ว่าสามารถใช้ขั้นตอนการวิจัยขั้นตอนใดได้บ้างในการสอน ซึ่งอาจจะใช้กระบวนการวิจัยบางขั้นตอน หรือครบทุกขั้นตอน 2. ครูออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ โดยใช้กระบวนการวิจัย ขั้นตอนการวิจัยที่กำหนด เพื่อการเรียนรู้สาระที่ต้องการตามแผน 3. ครูดำเนินกิจกรรม โดยใช้กระบวนการวิจัย ขั้นตอนการวิจัยที่กำหนดในการสอน

4. ครูฝึกทักษะที่จำเป็นต่อการดำเนินการตามกระบวนการวิจัยให้แก่ผู้เรียน ได้แก่ ทักษะการระบุปัญหา ให้คำนิยาม ตั้งสมมติฐาน คัดเลือกตัวแปร การคัดเลือกประชากร

การสุ่มกลุ่มตัวอย่าง การสร้างเครื่องมือ การพิสูจน์ทดสอบ การรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ สังเคราะห์ และสรุปผลการวิจัย การอภิปรายผล และการให้ข้อเสนอแนะ

1. เรียนรู้ตามขั้นตอนของกระบวนการวิจัยที่ครูกำหนด 2. ฝึกทักษะกระบวนการวิจัยที่จำเป็นต่อการดำเนินการตามขั้นตอนการวิจัยที่ครูกำหนด 3. อภิปรายประเด็นเกี่ยวกับกระบวนการวิจัยที่ตนเองมีประสบการณ์ และผลการวิจัยที่เกิดขึ้น

4. ประเมินตนเองในด้านทักษะกระบวนการวิจัย และผลการวิจัยที่ได้รับ

ตารางที่ 5 บทบาทครูและผู้เรียนในการสอนแบบผู้เรียนใช้กระบวนการวิจัย

การสอนแบบวิจัยเป็นฐาน บทบาทครู บทบาทผู้เรียน
แนวที่ 4 ผู้เรียนใช้กระบวนการวิจัยในการเรียนการสอน - ครูให้ผู้เรียนทำวิจัยโดยใช้กระบวนการวิจัยครบทุกขั้นตอนในการทำวิจัย เพื่อแสวงหาคำตอบ หรือความรู้ใหม่ตามความสนใจของตน 1. ครูพิจารณาและวิเคราะห์วัตถุประสงค์และสาระการเรียนรู้ว่ามีส่วนใดที่เอื้อให้ผู้เรียนสามารถทำวิจัยได้ 2. ครูออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนทำวิจัยได้ 3. ครูกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความสนใจใฝ่รู้

4. ครูฝึกทักษะกระบวนการวิจัยให้แก่ผู้เรียน ได้แก่ การระบุปัญหาวิจัย วัตถุประสงค์ ตั้งสมมติฐาน การออกแบบการวิจัย สร้างเครื่องมือ เก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล สรุปผล อภิปรายผลการวิจัย ฯลฯ

5. ครูให้ผู้เรียนทำวิจัย

6. ครูสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้ และทักษะกระบวนการวิจัยของ ผู้เรียน

7. ครูและผู้เรียนร่วมกันอภิปรายเกี่ยวกับกระบวนการวิจัย และผลการวิจัยที่เกิดขึ้น

8. ครูวัดและประเมินทักษะกระบวนการวิจัยควบคู่ไปกับผลการเรียนรู้สาระตามปกติ

1. คิดประเด็นวิจัยที่ตนสนใจ 2. ฝึกทักษะกระบวนการวิจัยที่จำเป็นต่อการดำเนินการ เช่น การระบุปัญหาวิจัยและวัตถุประสงค์ การตั้งสมมติฐาน การออกแบบการวิจัย การสร้างเครื่องมือ ฯลฯ 3. ปฏิบัติการวิจัยตามกระบวนการวิจัยที่เหมาะสม

4. บันทึกความคิด และประสบการณ์ รวมทั้งข้อสังเกตต่างๆ ที่ตนประสบจากการดำเนินงาน

5. อภิปรายประเด็นเกี่ยวกับกระบวนการวิจัย และผลการวิจัยที่เกิดขึ้น

6. ประเมินตนเอง ด้านทักษะกระบวนการวิจัย

ตัวอย่าง การสอนตามแนวที่ 3 ครูใช้กระบวนการวิจัยในการเรียนการสอน

สาระการเรียนรู้เรื่อง การเจริญเติบโตของพืช

เนื้อหา การเพาะเมล็ดและการเจริญเติบโตของพืช

ทักษะการวิจัยที่ครูใช้ในการสอน

คือ ทักษะการสังเกต บันทึกข้อมูล เปรียบเทียบข้อมูล และสรุปลงความเห็น ซึ่งครูสามารถบูรณาการคณิตศาสตร์เข้าไปได้ เช่น การเขียนกราฟ การคำนวณ การสุ่มตัวอย่าง โดยบูรณาการภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ได้แก่ การเขียนคำศัพท์ บูรณาการศิลปะ ได้แก่ การวาดภาพ และบูรณาการเกี่ยวกับการเกษตร เรื่อง การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์และการปลูกพืช เป็นต้น

กิจกรรมของครู คือ

1.ครูนำเมล็ดพันธุ์มาจาก 3 แหล่ง เพื่อให้ผู้เรียนเพาะ

2. ครูสุ่มเมล็ดพันธุ์มา 100 เมล็ด ให้ผู้เรียนสังเกตลักษณะของเมล็ดพันธุ์ที่สุ่มได้

3. นำกระดาษฟางมาหนึ่งแผ่นคำนวณหาพื้นที่ตีตาราง 100 ช่อง และบูรณาการคณิตศาสตร์เข้าไป

4. ใช้กระดาษฟางวางทับ พรมน้ำให้ชุ่ม ทิ้งไว้ในแสงและอุณหภูมิที่พอเหมาะ

5. สังเกตการงอก จดบันทึก วาดลักษณะการเจริญเติบโต และบันทึกจำนวนต้นกล้าที่สุ่มมาจากแต่ละแหล่งว่าที่งอกขึ้นมาเป็นอย่างไร เขียนกราฟแสดงกมารงอก เปรียบเทียบลักษณะของเมล็ดพันธุ์ที่งอก และไม่งอกว่าเมล้ดพันธุ์ใดเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ดี มีลักษณะอย่างไร สุ่มจากแหล่งใด

จะเห็นว่า ในกิจกรรมข้างต้น ครูมีการสอนแบบบูรณาการและใช้กระบวนการวิจัยในการสอน คือ ครู ออกแบบให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ผ่านกระบวนการพิสูจน์ ทดสอบ โดยครูเป็นผู้ออกแบบการวิจัย ซึ่งถ้าครูต้องการใช้กระบวนการวิจัยครบทุกขั้นตอน ครูสามารถเริ่มต้นดังนี้

ตั้งแต่ขั้นที่ 1 คือ ให้ผู้เรียนระบุปัญหาการวิจัย ซึ่งครูอาจใช้กระบวนการสืบสอบ กระตุ้นให้ผู้เรียนสนใจ อยากรู้ เช่น เมล็ดพันธุ์ที่มีลักษณแตกต่างกัน เมล็ดพันธุ์ใดน่าจะเจริญเติบโตได้ดีที่สุด ตั้งขึ้นมาเป็นปัญหาการวิจัย หรืออาจตั้งปัญหาการวิจัยว่า เมล็ดพันธุ์จะเจริญเติบโตได้ดี ต้องอาศัยปัจจัยอะไรบ้าง เช่น น้ำ แสง อุณหภูมิ ดิน ปุ๋ย ฯลฯ ซึ่งนำไปสู่การตั้งสมมติฐาน และการออกแบบการทดลองและควบคุมตัวแปร เช่น ควบคุมการให้น้ำเท่ากัน แสงเท่ากัน อุณหภูมิเท่ากัน ต่อด้วยการทดลอง เก็บข้อมูล สังเกต และจดบันทึกการเจริญเติบโตของพืช และสรุปผลการทดลอง

ที่กล่าวมาแสดงให้เห็นว่าครูสามารถใช้กระบวนการวิจัยในการสอนโดยครูเป็นผู้จัดการเรียนการสอนโดยใช้กระบวนการวิจัยให้กับผู้เรียน และผู้เรียนดำเนินการตามที่ครูจัดให้

อ้างอิง : 1) รศ.ดร.ทิศนา แขมมณี  2) อ.ดร.ปัญญฎา ประดิษฐบาทุกา

หมายเลขบันทึก: 566827เขียนเมื่อ 26 เมษายน 2014 21:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 เมษายน 2014 21:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีอาจารย์  

มาเรียนวิจัยครับ

วิธีสอนนี้เป็นวิธีสอนที่ผู้เขียนใช้ในการสอนมามากกว่า 5 ปี จากการศึกษาเอกสาร และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง กับการปฏิบัติการสอนจริง พบว่า เป็นวิธีสอนที่พัฒนาผู้เรียนได้ดี ตลอดจนเป็นวิธีสอนที่เหมาะกับ C21

เป็นวิธีการสอนที่ดีมาก

ขอบคุณค่ะอาจารย์

ปริญญาเอกได้ศึกษาเกี่ยวกับวิธีสอนแนวนี้ โดยดูโมเดลว่า อะไรเป็นตัวแปรสำคัญให้อาจารย์กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีพฤติกรรมการสอนแบบนี้......ผลการวิจัย พบ หลายปัจจัยที่ทำให้มีพฤติกรรมการสอนแบบวิจัยเป็นฐาน แต่ตัวที่มีอิทํธิพลสูงสุด คือ สมรรถนะของอาจารย์ ได้แก่ สมรรถนะด้านการจัดการเรียนรู้ และสมรรถนะด้านการวิจัย และผลการวิจัยยังพบว่า ถ้าอาจารย์ที่มีการสอนแบบวิจัยเป็นฐาน จะส่งผลย้อนกลับ ให้มีสมรรถนะด้านการจัดการเรียนรู้ และการวิจัย ดีขึ้น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท