การเสริมสร้างธรรมาภิบาล


              ธรรมาภิบาล บรรษัทภิบาล มีความสำคัญและจำเป็น ต่อการบริหารกิจการบ้านเมืองเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากหลักธรรมาภิบาล ที่นำมาใช้จะส่งผล ให้การบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมดีขึ้นแล้ว ยังเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ตลอดจนการเมือง การปกครอง มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหา มีคุณภาพ มีความโปร่งใส ยุติธรรม และสามารถตรวจสอบได้ ซึ่งจะส่งผลให้การพัฒนาประเทศชาติเป็นไปอย่างยั่งยืนและมั่นคง ในปัจจุบันมีการนำหลักธรรมาภิบาลมาใช้อย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นวงการศึกษา วงการธุรกิจ หรือการเมืองการปกครอง ซึ่งการบริหารจัดการที่ดีสามารถแก้ไขปัญหาของการคอรัปชั่นในรูปแบบต่างๆ ได้ แต่ละองค์กรจึงต้องมีการแข่งขันกันในการสร้างความเชื่อมั่นและศรัทธาให้เกิดขึ้นในองค์กร เพื่อสร้างความมั่นใจและความไว้วางใจในการทำธุรกิจของตนเอง

               ขอยกตัวอย่างสถานศึกษาในปัจจุบัน สถานศึกษาใดที่ดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิผล มีระบบ มีมาตรฐาน มีเป้าหมายที่ชัดเจน มีผลผลิตที่เก่ง ดี เป็นที่ยอมรับของสังคม มีชื่อเสียง มีกระบวนการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีเทคนิคเครื่องมือที่ทันสมัย เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เรียน ผู้ปกครองมีความเชื่อมั่น ไว้วางใจต่อโรงเรียน ผู้บริหารมีความรับผิดชอบ มีความโปร่งใสตรงไปตรงมา สามารถตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอน มีส่วนร่วมคิด ร่วมหาแนวทาง ร่วมการแก้ไข ปัญหา ร่วมในกระบวนการตัดสินใจ และร่วมพัฒนา มีการกระจายอำนาจไปให้บุคลากรในโรงเรียน ให้มีอำนาจในการตัดสินใจ มอบอำนาจความรับผิดชอบให้บุคลากร รู้จักใช้อำนาจในทางที่ถูกที่ควร ด้วยความเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ บริการทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน สถานศึกษานั้นก็จะมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับของสังคม ธรรมาภิบาล มีความสำคัญ เนื่องจากเป็นหลักการที่นำมาใช้บริหารงานอย่างแพร่หลาย เพราะ ช่วยสร้างสรรค์และส่งเสริมองค์กรให้มีศักยภาพและประสิทธิภาพ ฉะนั้น จึงควรมีการเสริมสร้างธรรมาภิบาล เพราะเป็นแนวทางสำคัญในการจัดระเบียบให้สังคมทั้งภาครัฐภาคธุรกิจเอกชนและภาคประชาชนสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

               แนวทางการเสริมสร้างธรรมาภิบาล บรรษัทภิบาล การกำกับดูแลกิจการขององค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชนนั้น ต้องเริ่มตั้งแต่การเสริมสร้างและพัฒนาวัฒนธรรมประชาธิปไตยและวัฒนธรรมธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้น ด้วยการสร้างกระบวนการเรียนรู้ ปลูกฝังจิตสำนึกหน้าที่ ความรับผิดชอบส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม สร้างนวัตกรรมและงานวิจัย ตลอดจนจัดทำแผนพัฒนา ที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมประชาธิปไตย และธรรมาภิบาล และต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคประชาชนให้สามารถเข้าร่วมในการบริหารจัดการประเทศ มีบทบาทมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศเพิ่มขึ้น มีการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และสร้างวัฒนธรรมสันติวิธีให้แก่เด็ก เยาวชน เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียมกัน ต้องสร้างภาคราชการและรัฐวิสาหกิจที่มีประสิทธิภาพ และมีธรรมาภิบาล เน้นการอำนวยความสะดวกแทนการกำกับควบคุม มีการบริหารจัดการงบประมาณให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยยึดถือหลักคุณธรรม จริยธรรม รวมทั้งทำงานแบบมืออาชีพ สามารถให้ความเห็น และข้อเสนอแนะตามหลักวิชาการอย่างตรงไปตรงมา กล้าเปิดเผยข้อมูลการทุจริตประพฤติมิชอบ มีการกระจายอำนาจการบริหารจัดการประเทศสู่ภูมิภาค ท้องถิ่นและชุมชนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อีกทั้งส่งเสริมภาคธุรกิจเอกชนให้เกิดความเข้มแข็ง สุจริต และเป็นบรรษัทภิบาลมากขึ้น จัดให้มีกฎ ระเบียบ และสร้างแรงจูงใจ สร้างจิตสำนึกในการประกอบธุรกิจอย่างซื่อสัตย์ ยุติธรรมต่อผู้บริโภค และเป็นธรรมกับธุรกิจคู่แข่ง ยึดมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคม ส่งเสริมการปฏิรูปกฎหมาย กฎระเบียบ ที่เกี่ยวข้องกับ

การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ตลอดทั้งรักษาและเสริมสร้างความมั่นคงเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการประเทศสู่ดุลยภาพและความยั่งยืน 

คำสำคัญ (Tags): #ธรรมาภิบาล
หมายเลขบันทึก: 566780เขียนเมื่อ 25 เมษายน 2014 22:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 เมษายน 2014 22:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณครับ คุณอลิศรา เพชระ

และผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าประเทศไทยเราจะมีผู้บริหารองค์กรทั้งของรัฐและเอกชนที่มีธรรมาภิบาลมากขึ้นครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท