หลากวิธีเตรียมการแก้วิกฤติภัยแล้ง


ถ้าพูดถึงเรื่องภัยธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมและภัยแล้ง สองคำนี้เป็นวิกฤติการณ์ที่คนไทยน่าจะได้ยินได้ฟังบ่อยที่สุด และพัฒนาการทางด้านสื่อที่เกาะกระแสเฝ้าติดตามสถานการณ์อยู่เป็นประจำจนต้องเติมคำว่า “ซ้ำซาก” ต่อท้ายเข้าไปด้วย กลายเป็น “ท่วมซ้ำซาก” “แล้งซ้ำซาก” ฟังดูเผินๆสำหรับผู้ที่ไม่ได้อยู่ในอาชีพเกษตรกรรมก็อาจจะไม่คิดอะไรมากแต่สำหรับชาวไร่ชาวนาที่จำเป็นต้องพึ่งพิงอิงอาศัยปัจจัยจากสถานการณ์ทั้งสองอย่างแล้ว ถือเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องที่สำคัญเพราะน้ำมากผลผลิตภาคการเกษตรก็เสียหาย หรือน้ำน้อยขาดแคลนน้ำในการทำการเกษตรผลผลิตและพืชที่ปลูกก็เสียหายเช่นเดียวกัน

ถ้าจำกันได้ในปี 2536 นั้นเป็นปีที่มีน้ำท่วมใหญ่พอสมควรในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา แต่ก็ยังไม่เข้ากทม. พอครั้นเดือนตุลาคม 2554 นี่ไม่ต้องพูดกันเลย เข้ามายังตัวเมืองชั้นในของกทม.และท่วมกันเป็นเดือนๆ สร้างความเสียหายให้แก่เศรษฐกิจมหาศาล ถือว่าน่าจะเป็นปรากฎการณ์น้ำท่วมใหญ่อีกหนึ่งเหตุการณ์ของประเทศไทยเรา สร้างปรากฎการณ์ขายบ้านขายรถ ย้ายที่อยู่กันระนาว เพราะสมบัติพัสถานที่ได้สะสมกันมาชั่วชีวิตต้องมลายหายไปกับภัยน้ำท่วม ซึ่งทำให้เฟอร์นิเจอร์เครื่องใช้ถูกน้ำท่วมชำรุดเสียหาย

ภัยต่างๆที่เกี่ยวกับน้ำน้อยหรือน้ำมากไปนั้น สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการบริหารจัดการน้ำที่อาจจะยังไม่ดีพอในหลายๆภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ความจริงประเทศไทยมีพื้นที่รวม 512,000 ตารางกิโลเมตร มีปริมาณฝนตกเฉลี่ยต่อปี 1,700 มิลลิเมตร ซึ่งจะทำให้เกิดปริมาณน้ำจากฝนที่ตกลงมา ปีละประมาณ 8 แสนล้านลูกบาศเมตร แต่เรากักเก็บไว้ใช้ประโยชน์ได้เพียง 20-30 เปอร์เซ็นต์ บางส่วนซึมลงใต้ดินบ้างระเหยกลับสู่บรรยากาศ บ้างต้องปล่อยระบายถ่ายเทลงทะเลไป จะเหลือเพียง 2 แสนล้านลูกบาศก์เมตร ที่อยู่ตามแม่น้ำ ห้วย หนอง คลอง บึง ปัจจุบันการพัฒนาแหล่งน้ำในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นขนาดใหญ่ ขนาดกลาง 650 แห่ง และขนาดเล็ก 60,000 แห่ง สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ได้เพียง 70,800 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณน้ำเฉลี่ยทั้งปี ทำให้ในภาวะที่ฝนตามฤดูกาลมาน้อย น้ำในเขื่อนก็ไม่พอใช้ ก็เกิดสถานการณ์ภัยแล้ง แต่ถ้าปีใดน้ำฝนตามฤดูกาลมากกว่าปรกติ ก็จะก่อให้เกิดการระบายถ่ายเทน้ำลงทะเลไม่ทัน ทำให้เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมเป็นอย่างนี้เกือบทุกปี ในปัจจุบันจึงมักนิยมเรียกกันว่า “ท่วมซ้ำซาก” และ “แล้งซ้ำซาก”

การขุดสระน้ำประจำไร่ สระน้ำเอื้ออาทร สระน้ำแก้มลิงประจำฟาร์มของตนเอง หรือการสร้างฝาย สร้างเขื่อนในพื้นที่เหมาะสมและควรปลูกป่าทดแทน ก็สามารถที่จะช่วยกักเก็บสะสมน้ำให้แก่ประเทศไทยได้เพิ่มขึ้นจากเดิม ไม่มากก็น้อย เมื่อแหล่งน้ำเพิ่มขึ้นสิ่งมีชีวิตในรูปแบบต่างๆก็จะพลอยเพิ่มขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็น คน พืชและสัตว์ สรุปว่าถ้ามีปริมาณน้ำที่พอเหมาะพอดีไม่มากเกินไปจนล้นเหลือกว่าความต้องการก็จะช่วยทำให้อาชีพเกษตรกรรมเจริญเติบโตรุ่งเรืองสอดคล้องกับวิถีชีวิตพี่น้องชาวไทยที่บรรพกาลมีความชำนิชำนาญด้านการเกษตรกรรม

มีข้อมูลแจ้งว่าโลกของเรามีพื้นดินเพียงร้อยละ 30 หรือ148 ล้านตารางกิโลเมตร แต่มีพื้นน้ำร้อยละ 70 มีปริมาณน้ำทั้งหมดในรูปของเหลว ของแข็งและก๊าซประมาณ 1,385 ล้านลูกบาศก์เมตร และท่านผู้อ่านทราบไหมครับว่าร้อยละ 97.3 หรือเท่ากับ 1,348 ล้านลูกบาศก์เมตรจะเป็นน้ำเค็มอยู่ในทะเลและมหาสมุทร ส่วนที่เหลือเป็นน้ำจืดซึ่งหมายรวมถึงไอน้ำที่อยู่ในบรรยากาศด้วยนะครับมีประมาณร้อยละ 2.7 หรือ 37 ล้านลูกบาศก์เมตร

ท่านผู้อ่านสังเกตุดูจะเห็นว่าปริมาณน้ำจืดนั้นช่างน้อยนิดนัก ดังนั้นจึงควรที่จะต้องหาวิธีแนวทางกักเก็บน้ำไว้ให้ได้มากที่สุดจากสายฝนที่โปรยปรายลงมา โดยเฉพาะวันนี้จะนำวิธีแก้ปัญหาแก้ภัยแล้งด้วยการขุดสระน้ำประจำไร่นา ซึ่งคิดว่าน่าจะมีความเหมาะสมกับชาวไร่ชาวนาในทุกๆพื้นที่ วิธีการคือพยายามหาพื้นที่ที่เป็นจุดรวมน้ำหรือจุดของพื้นที่ที่ลุ่มและต่ำที่สุด ทำการขุดให้ลึกลงไปตามความต้องการ โดยปรกติถ้าเป็นพื้นที่ดินเหนียวก็ขุดให้ลึกประมาณ 4 เมตร ส่วนพื้นที่ดินทรายก็ให้ลึกสักหน่อยประมาณ 6 เมตร ส่วนพื้นที่ที่เป็นทางผ่านซึ่งจะมีสายน้ำหลากไหลมาควรจะทำบ่อพักหรือบ่อดักตะกอนเอาไว้ก่อน เพื่อให้เศษกิ่งไม้ใบหญ้าหรือขยะมูลฝอยตกลงในบ่อพักและปล่อยผ่านไปแต่เพียงน้ำลงไปในสระ เพื่อป้องกันการตื้นเขินที่อาจจะเร็วเกินไป ส่วนขนาดของสระที่เหมาะสมหรือให้เพียงพอต่อความต้องการนั้น ถ้านึกไม่ออกก็ใช้ตามแนวทางพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหรือพ่อหลวงของเราก็ได้ครับ คือใช้พื้นที่ 30 เปอร์เซ็นของพื้นที่ทั้งหมดนั่นเอง.

หากพื้นที่นั้นๆไม่สามารถกักเก็บน้ำได้อยู่อาจจะต้องใช้กลุ่มของสารอุดบ่อ (โพลิเอคริลามายด์) เข้ามาช่วย โดยใช้สารอุดบ่อเพียงสองกิโลกรัมคลุกผสมกับแร่ดินเหนียว (เบนโธไนท์, สเม็คไทต์) ประมาณร้อยกิโลกรัมนำไปหว่านกระจายให้ทั่วพื้นบ่อหรือผนังด้านข้างทั้งสี่ด้าน และอาจจะเสริมทรายหยาบทรายละเอียดโรยทับลงไปแล้วทำการบดอัด ถ้าไม่สะดวกหลังจากหว่านส่วนผสมของสารอุดบ่อลงไปก็ค่อยๆปล่อยน้ำเข้าไปทีละน้อย เมื่อสารอุดบ่อสัมผัสกับน้ำก็จะค่อยๆพองขยายตัวอุดรูรั่วรอยโหว่ของพื้นบ่อจนสามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ได้นานเป็นปีหรือฝนชนฝนทีเดียวเชียวละครับ สำหรับวันนี้ขอฝากไว้เท่านี้ก่อนนะครับท่านผู้อ่านในคราวหน้าจะนำวิธีแก้ปัญหาภัยแล้งในรูปแบบต่างมานำเสนอท่านผู้อ่านกันอีกหวังว่าคงจะไม่เบื่อนะครับ เพื่อช่วยให้พืชหรือต้นไม้ของท่านอยู่รอดปลอดภัยผ่านพ้นปัญหาวิกฤตภัยแล้งให้ได้

มนตรี บุญจรัส

ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ www.thaigreenagro.com

หมายเลขบันทึก: 566758เขียนเมื่อ 25 เมษายน 2014 17:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 เมษายน 2014 17:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท