พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหอศิลป์ ในความทรงจำ


 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์ในความทรงจำ

วาทิน ศานติ สันติ

ทัศนะศึกษาของนักศึกษาปริญญาโท ไทยศึกษา รุ่น ๑๗ รามคำแหง วันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๕๗

เขียนเมื่อ ๒ เมษายน ๒๕๕๗

 

เป็นครั้งที่สองในปีพ.ศ. ๒๕๕๗ ที่พวกเราชาวคณะไทยศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง ครั้งนี้เราร่วมเดินทางไปกับอาจารย์สนั่น รัตนะเพื่อศึกษางานศิลปกรรมไทยสมัยใหม่หลังจากได้รับอิทธิพลตะวันตกที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ หอศิลป์ ถนนเจ้าฟ้า  และนี่ก็การมาครั้งแรกของข้าพเจ้าซึ่งยอมรับว่าตื่นเต้นเล็กน้อย

อ.สนั่น รัตนะแนะนำประวัติ ความเป็นมาขอพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์

                พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์ ตั้งอยู่บนถนนเจ้าฟ้า เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เดิมเป็นอาคารโรงกษาปณ์ ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ ตามแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกยุคฟื้นฟูวิทยาการ สำหรับเป็นโรงงานผลิตเหรียญกษาปณ์ เมื่อมีการพัฒนาเครื่องจักรที่ใหญ่โตขึ้นในเวลาต่อมา จึงย้ายที่ทำการไป ณ โรงกษาปณ์  กรมศิลปากรมีโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานด้านศิลปะสมัยใหม่ จึงได้ขอใช้อาคารโรงกษาปณ์เก่านี้เป็นที่ตั้งพิพิธภัณฑสถานศิลปะ ซึ่งกรมธนารักษ์ได้ยินดีมอบอาคารแห่งนี้แก่กรมศิลปากร เมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ.๒๕๑๗ เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่เก็บรวบรวม และจัดแสดงศิลปวัตถุทางด้านศิลปะทั้งศิลปะแบบประเพณีและศิลปะร่วมสมัยของศิลปินผู้มีชื่อ  เสียงของประเทศไทย จัดแสดงภาพเขียน จิตรกรรม ประติมากรรม ศิลปะประยุกต์ และงานฝีมือที่เป็นประณีตศิลป์ของศิลปินต่าง ๆ ตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน

เฟื้อ หริพิทักษ์ กับงานคัดลอกจิตกรรมฝาผนังวัดราชบูรณะ

 

                ห้องแรกคือ ห้องจัดแสดงศิลปะไทยประเพณี  จัดแสดงจิตรกรรมไทยประเพณีซึ่งได้รับสืบทอดมาตั้งแต่อดีตจนกลายเป็นระเบียบแบบแผน โดยมีเนื้อหาหลักที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาที่สอดแทรกด้วยเรื่องราวในวรรณคดีและวีถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย  เช่น พระบฏ ของล้านนาในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๒๑ และ ในสมัยอยุธยา จิตรกรรมฝีพระหัตถ์ของ สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ภาพต้นแบบ จิตรกรรมชุดพงศาวดารประกอบโคลง ในสมัยพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ใช้ในงานพระเมรุปีพ.ศ. ๒๔๓๐ เช่นภาพ พระยาวชิรปราการพร้อมทหาร ๕ นายสู้รบกับทหารพม่า ๕๐ นายสมัยพระเจ้าเอกทัศน์ พระอภัยมณีตอนสินสมุทรออกรบเท้ากุลา ภาพภาพไฟไหม้พระที่นั่งอัมรินทราภิเษก รัชกาลที่ ๑ ภาพสมเด็จพระนเรศวรรบศึกเชียงใหม่ ภาพที่อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ คัดลอกจากวัดราชบูรณะ ความรู้นี้ผู้เขียนเกิดแรงบันดาลใจในงานวิทยานิพนธ์ที่เกี่ยวข้องกับศิลปกรรมในงานพระเมรุ

 

ผ้าพระบทล้านนนา พุทธศตวรรษที่ ๒๑  กรุเจดีย์วัดดอกเงิน จ.เชียงใหม่

               เราเดินลงข่างล่างเข้าสู่ ห้องจัดแสดงศิลปะไทยแบบตะวันตก จัดแสดงผลงานในแบบตะวันตกที่สร้างสรรค์ขึ้นโดยศิลปินชาวตะวันตกที่เข้ามารับราชการในเมืองไทยและศิลปินไทยที่ได้ไปศึกษางานศิลปะยังต่างประเทศ   ดังเช่น ผลงานของพระสรลักษณ์ลิขิต มหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เขียนโดยศิลปินชาวตะวันตก ภาพคัดลอกทิวทัศน์ ของพระสรลักษณ์ลิขิต ด้วยเทคนิคสีน้ำมัน ภาพหม่อมหลวงบัว ห้องนี้เราได้เรียนรู้เรื่องการจัดแสงสำหรับจดแสดงภาพที่ให้แสงมืดแต่สว่างที่ตัวภาพเพื่อเน้นที่ภาพเขียน หลายภาพยังมีความสวยงามราวกับวาดไม่นานมานี้ 

ภาพร่างของขรัว อินโข่ง ในกรอบรูป

 

                 ในชั้นเดียวกัน เป็นห้องเฉลิมพระเกียรติ  จัดแสดงภาพเขียนฝีพระหัตถ์ของพระมหากษัตริย์  เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสชื่นชมในพระปรีชาสามารถและพระอัจฉริยภาพในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปกรรม ดังเช่นผลงานภาพฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช

ห้องจัดแสดงศิลปะไทยแบบตะวันตก

 

                ห้องจัดแสดงศิลปกรรมตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ – ปัจจุบัน จัดแสดงศิลปกรรม เริ่มตั้งแต่ยุคของการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบบประชาธิปไตย  ส่งผลให้รัฐบาลมีบทบาทในการสนับสนุนและอุปถัมภ์ศิลปกรรมแขนงต่างๆแทนราชสำนัก   ดังเช่น  ผลงานของ ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ที่เป็นงานปั้นในการสอบเข้าเป็นช่างปั้นของสยาม, เฟื้อ หริพิทักษ์ , มีเซียม  ยิบอินซอย, เขียน  ยิ้มศิริ งานขลุยทิพย์อันเลื่องชื่อ งานขี่ม้าส่งเมือง, จำรัส เกียรติ , อังคาร กัลยาณพงศ์, ชลูด นิ่มเสมอ, ประสงค์ ปัทมนุช, งานมาลีแรกแย้มของ แสวงมั่งมี เป็นต้น ถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความคิดสร้างสรรค์ ได้ปรากฏสถาบันทางศิลปะและกลุ่มศิลปินมากมาย ศิลปินล้วนมีอิสรภาพในเรื่องแนวความคิดและความเชื่อส่วนบุคคล มีรูปแบบ เทคนิควิธีการทางศิลปะที่มีความแตกต่างและหลากหลายยิ่งขึ้น  ในห้องนี้ได้จัดแสดงผลงานของศิลปินแห่งชาติและศิลปินที่มีชื่อเสียงหลายท่าน 

มาลีแรกแย้ม ของแสวง สังฆ์มั่งมี สำริด

 

อ.ศิลป์ พีระศรี ปั้นรูปเหมือน สมด็จฯ กรมพระยานิริศรานุวัติวงศ์

ขลุ่ยทิพย์ เขียนยิ้มศิริ

 

                ห้องจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียน อยู่ด้านในสุด ใช้จัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียน ในวันที่ชาวคณะไปนั้นจัดภาพเขียนของ เฟื้อ หริพิทักษ์ นับตั้งตาสมัยแรกที่ท่านเป็นนักเรียนกับอาจารย์ศิลป์ พีรศรี งานที่ไปเรียนต่างประเทศ งานเขียนที่อินเดีย และงานคัดลอกงานจิตกรรมไทยเช่นที่วัดราชบูรณะ นับเป็นงานเขียนชิ้นสำคัญที่ทำให้เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับจิตกรรมไทยสมัยต้นอยุธยา

 

ห้องจัดแสดงงานคัดลอกงานจิตกรรมของ เฟื้อ หริพิทักษ์

ลายเซ็นต์ของเฟื้อ หริพิทักษ์ และ อังคาร กัลป์ยาณพงศ์ ในการคัดลอกงานจิตกรรมฝาผนัง

                

                 ที่ข้าพเจ้าชอบที่สุดเห็นจะเป็นงานจิตกรรมบนแผ่นไม้วัดรวกบางบำหรุที่ยังคงความสวยงามไว้ได้ แต่งานชิ้นนี้นับวันที่จะลบเลือนไปตามการเวลา หากลบไปหมดก็คงจะเป็นที่น่าเสียดายยิ่ง และท้ายที่สุดคืองานแสดงภาพเขียนศิลปกรรมแบบจีนซึ่งเขียนรูปม้า นกกระเรียน ช้าง วิถีชีวิต ทิวทัศน์ ที่มีความสวยงามตามแบบอุดมคติของจีน

จิตกรรมบนแผ่นไม้วัดรวกบางบำหรุ

งานเขียนรูปแบบจีนในส่วนจัดแสดงงานหมุนเวียน

 

                ออกมานอกห้องเราเราก็เห็นหอเก็บน้ำซึ่งทุกคนมองออกพร้อมกันว่าเหมือนหอไอเฟลที่ฝรั่งเศสชอบกล ด้านนอกจัดสวนสวยงามผนวกกับงานศิลปกรรมร่วมสมัยทำให้หวนคิดไปถึงอดีตอันรุ่งเรืองของไทยที่ยังไม่วุ่นวายเช่นในปัจจุบัน

หอเก็บน้ำซึ่งทุกคนมองออกพร้อมกันว่าเหมือนหอไอเฟล

 

                พวกเราพักกินข้างกลางวันที่โรงอาหารริมน้ำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชมกำแพงเมืองที่ทางมิหาวิทยาจำลองขึ้นมาเพื่อแดสงถึงประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัย ชมหอสมุดใต้ดินริมน้ำ ที่ความชื้นสร้างปัญหาให้กับหนังสือเสมอมา

                ตอนบ่ายไปเที่ยวชมหอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นการนเสนอศิลปนิพนธ์ของนักศึกษาเกี่ยวกับการจัดวาง นับว่าเป็นความโชคดีของพวกเรา

                และสุดท้ายเราก็ไปจบทริปกันที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์ ชมงานสถาปัตยกรรม ประติมากรรมแบบจีนพระราชนิยมสมัยรัชกาลที่ ๓ ชมจารึกวัดโพธิ์ จิตกรรมในวิหารพระพุทธไสยยาสน์

                นับว่าเป็นทริปที่เดินเหนื่อยที่สุดแต่ก็สนุกและได้ความรู้มากที่สุด และจะประทับใจไม่ลืมเลือน

ชาวคณะไทยศึกษา รุ่น ๑๗ รามคำแหง ถ่ายรูปรวมกับอาจารย์สนั่น รัตนะ ที่วัดโพธิ์

                

หมายเลขบันทึก: 566446เขียนเมื่อ 21 เมษายน 2014 17:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2014 19:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท