กฎหมายไทยว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย


                 กฎหมายคือสิ่งหนึ่งที่เป็นตัวช่วยให้สิทธิมนุษยชนสามารถมีผลบังคับออกมาเป็นรูปธรรม และเป็นกฎเกณฑ์ให้คนจำต้องปฏิบัติตามซึ่งจะทำให้สิทธิมนุษยชนได้รับความคุ้มครองและมีสภาพบังคับเป็นกิจจะลักษณะ แต่อย่างไรก็ตาม กฎหมายบางประเภทก็มิได้เป็นตัวคุ้มครองสิทธิมนุษยชน หากส่งผลทำให้สิทธิมนุษยชนที่ควรจะได้รับการคุ้มครองกลับยิ่งลดน้อยถอยลงไปอีก
               

1.โทษประหารชีวิต

                 ในประเทศไทยปรากฏว่ามีกฎหมายในหลายฉบับที่บางครั้งส่งผลในด้านลบกระทบต่อสิทธิมนุษยชน ข้าพเจ้าขอยกตัวอย่างประการแรกคือ โทษทางอาญา เป็นที่รู้กันว่า การกระทำความผิดทางอาญานั้นแตกต่างไปจากทางแพ่งเนื่องจาก ประมวลกฎหมายอาญาได้มีการบัญญัติถึงขั้นตอนและวิธีในการลงโทษผู้กระทำเอาไว้ เพราะการกระทำความผิดทางอาญาส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องต่อความมั่นคงและความปลอดภัยของประชาชน ซึ่งโทษทางอาญา ประมวลกฎหมายอาญาได้บัญญัติเอาไว้ 5 ประการ อันได้แก่ ประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ และ ริบทรัพย์ ซึ่งจะเห็นได้ความระดับของความรุนแรงในโทษจะไล่ลงมาเรื่อยๆ ในที่นี้ข้าพเจ้าจะขอเจาะเฉพาะในส่วยโทษ ประหารชีวิต อันเป็นโทษอันเป็นการกำจัดผู้กระทำความผิดออกไปจากสังคมที่รุนแรงที่สุด
                โทษประหารชีวิตถูกบัญญัติเอาไว้เฉพาะการกระทำความผิดร้ายแรงเท่านั้น อาทิเช่น การก่อการร้าย การฆ่าผู้อื่น เป็นต้น ซึ่งหากมาพิเคราะห์ถึงความรุนแรงในการลงโทษประหารชีวิตผู้ต้องหาในคดีต่างๆ หลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องสมควรอย่างยิ่งที่ผู้กระทำความผิดจะต้องรับโทษตาย เพราะความผิดที่ได้ทำไว้ร้ายแรงมาก ไม่สมควรที่ผู้นั้นจะมีชีวิตต่อไป ไม่ว่าด้วยเหตุผลเพื่อไม่ให้ไปกระทำความผิดนั้นซ้ำอีก หรือไม่ว่าเพราะเป็นการชดใช้แก่ผู้สูญเสีย ซึ่งไม่ว่าจะด้วยเหตุผลประการใดก็เป็นประเด็นน่าคิดว่าการประหารชีวิตบุคคลนั้นเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ คำตอบของคำถามนี้ อาจะเป็นได้ทั้งสองทางคือ ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และ ละเมิดสิทธิมนุษยชน
                ความเห็นที่ว่าการประหารชีวิตผู้กระทำความผิด ไม่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้น มีการให้เหตุผลสนับสนุนโดยอาศัยทฤษฎี 2 ทฤษฎี มาอธิบาย ทฤษฎีแรกคือ ทฤษฎีทดแทน ซึ่งเป็นทฤษฎีที่นำแนวคิดในเรื่องการแก้แค้นซึ่งเป็นความคิดดั้งเดิมของมนุษยชาติมาผสมกับหลักความยุติธรรมในปัจจุบันโดยเสนอว่าเป็นการลงโทษเพื่อทดแทนความเสียหายแก่ผู้เสียหาย เพื่อให้เกิดความพึงพอใจ และเพื่อเป็นการน้ำให้ทุกคนปฏิบัติตามกฎหมายโดยถือว่าเป็นหนี้ที่ต้องชดใช้ที่แตกต่างจากหนี้ทางแพ่ง ส่วนทฤษฎีที่สอง คือ ทฤษฎีอรรถประโยชน์ มาอธิบายถึงผลประโยชน์ที่ว่าเป็นการตัดโอกาสมิให้ผู้กระทำความนั้นซ้ำอีก อย่างไรก็ตามทฤษฎีทั้งสองมามีจุดที่อธิบายถึงช่องโหว่ของโทษประหารเฉกเช่นกัน ซึ่งจะขออธิบายในส่วนความเห็นที่ต่อไป[1]

                อีกความเห็นมองว่าการประหารชีวิตเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้กระทำความผิด เหตุผลสนับสนุนสำคัญคือ การที่มองว่าผู้กระทำความผิดไม่ว่าจะกระทำไปร้ายแรงเพียงใด คนเหล่านั้นก็ยังมีโอกาสที่จะกลับตัวเป็นคนดีได้ การประหารชีวิตก็ไม่ต่างไปจาก การตราหน้าคนนั้นไม่อาจเป็นคนดีได้อีกนั้นเอง อีกทั้งถ้ามองว่า คนที่จะถูกประหาร ใครจะรู้ว่าอนาคตคนเหล่านั้นอาจะเป็นผู้ทำประโยชน์ใหญ่หลวงให้กับประเทศชาติได้ รัฐก็คงไม่คิดจะใช้โทษนั้นแน่นอน อีกทั้งหากมองในความผิดฐานฆ่าผู้อื่น การประหารชีวิตผู้กระทำความผิดไป ก็ไม่อาจทำให้ผู้ตายฟื้นคืนกลับมาได้อยู่ดี ดังนั้นการประหารชีวิตจึงมิได้ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆตามทฤษฎีอรรถประโยชน์นอกจากเพียงประหยัดงบประมาณดูแลของรัฐเท่านั้นเอง เป็นเพียงการล้างแค้นไปมา ในหลายประเทศทั่วโลกเริ่มยกเลิกโทษประหารชีวิต และหันมาใช้มาตรการอื่นทดแทน ซึ่งบางประเทศก็ได้รับผลที่ตามมาดีกว่าเดิม อาชญากรลดลง ซึ่งก็เป็นหนึ่งในข้อพิสูจน์ว่าโทษประหารไม่ใช่ทางเดียวที่ทำให้สังคมยำเกรงเท่านั้น[2]

                  มีประเด็นให้พิจารณาต่อมาว่าหากมองว่าโทษประหารชีวิตไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน แล้ววิธีการประหารที่มีความรุนแรงจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยหรือไม่นั้น อาทิเช่นการประหารแบบดั้งเดิมของไทยเช่น ใส่ตะกร้อให้ช้างเตะ ถ่วงน้ำ หรือ การประหารแบบเก่าของยุโรป เช่นการนั่งเก้าอี้ไฟฟ้า การยิงด้วยปืน จะเป็นการละเมิดหรือไม่ ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าอาจเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ เพราะแม้ผู้กระทำความผิดจะต้องโทษตายก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะต้องตายอย่างทรมาน การตัดผู้กระทำความผิดออกจากสังคม ไม่มีความจำเป็นต้องทรมาน

                  สรุปแล้ว การประหารชีวิตผู้กระทำความผิด ส่วนตัวข้าพเจ้ามีความเห็นไปในทางมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะข้าพเจ้ามองถึงอรรถประโยชน์ที่ว่า ผู้กระทำความผิดมีโอกาสกลับตัวได้ เป็นสำคัญซึ่งในเรื่องนี้ก็ยังคงเป็นสิ่งที่ไทยจะต้องพิจารณาถึงข้อดีข้อเสียต่อไป

 

2. การครอบครองปรปักษ์

                  ปัญหากฎหมายไทยประการต่อมาคือ การครอบครองปรปักษ์ ซึ่งเป็นความคิดของข้าพเจ้าที่มองว่า ตามมาตรา 1382 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้วางหลักถึงอายุความในการครองครองทรัพย์สินของผู้อื่น อันมีผลให้กรรมสิทธิ์ตกเป็นของผู้ครอบครอง ข้าพเจ้ามองว่า มาตรานี้เป็นกฎหมายเทคนิค ซึ่งบัญญัติขึ้นมาเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยซึ่งแต่เดิมตามจารีตประเพณีมิได้มีการระบุถึงในเรื่องนี้ไว้แต่อย่างใด กล่าวได้ว่า ตามจารีตคนทั่วไป ของของผู้ใด ผู้นั้นก็ย่อมจะต้องมีสิทธิในสิ่งนั้น แต่กฎหมายกลับตราให้สิทธิในสิ่งนั้นตกเป็นของผู้อื่น ซึ่งก็เข้าใจว่าเพื่อให้ระงับข้อพิพาท และมอบสิทธิให้แก่ผู้ที่สงวนใช้ประโยชน์จริงๆ แต่อย่างไรก็ตามหากพิจาณากันจริงๆ การครอบครองของผู้อื่นโดยที่รู้ว่ามิใช่ของของตน แล้วกฎหมายยังเปิดช่องให้เบียดบังเอาไปได้อีก ก็ย่อมเป็นการละเมิดต่อสิทธิที่ตนจะพึงมีต่อทรัพย์ของตัวเองอันเป็นสิทธิมนุษยชน

 

3.การจำหน่ายทหาร

                   ปัญหากฎหมายไทยประการต่อมา หากเป็นผู้ที่ศึกษา นักศึกษาวิชาทหาร ทหารเกณฑ์ หรือ นายร้อย จะทราบกันดีว่า กองทัพสามารถ “จำหน่าย” ทหารได้ซึ่งจำหน่ายในที่นี้คือ ทหารสามารถได้เสียชีวิตได้ เป็นโควตากันเลยทีเดียว ซึ่งตอนที่มีการสมัคร รด. นายร้อยจะมีการให้เซ็นหนังสือฉบับหนึ่งถึงเรื่องดังกล่าว ซึ่งตัวข้าพเจ้าเองไม่มีข้อมูลในเรื่องดังกล่าวลึกซึ้งเพียงพออาจมีข้อผิดพลาดได้ แต่ก็ขอให้ความเห็นว่า แม้ในทางปฏิบัติกองทัพจะชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ครอบครัวทหารที่เสียชีวิตในขณะฝึกมาตลอด แต่ในเรื่องหนังสือที่ให้เซ็นล่วงหน้านั่น จะเป็นการขัดต่อสิทธิมนุษยชนหรือไม่ก็เป็นเรื่องน่าคิด

 

 นายภัทรภณ อุทัย

 

[1] http://elib.coj.go.th/Ebook/data/judge_report/jrp2555_10_25.pdf

[2] http://www.amnesty.or.th/th/component/k2/item/307-%E0%B9%82%E0%B8%97%E0%B8%A9%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%95-%E0%B9%81%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B9%82%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%A1%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%81%E0%B8%AA%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A1%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B9%82%E0%B8%97%E0%B8%A9%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%95?tmpl=component&print=1

หมายเลขบันทึก: 566400เขียนเมื่อ 21 เมษายน 2014 01:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2014 04:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท