กฎหมายไทยว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย


                เมื่อมองถึงกฎหมายไทยมีตั้งแต่รัฐธรรมนูญ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลกฎหมายอาญา หรือพระราชบัญญัติต่างๆ ซึ่งเป็นแบบแผนควบคุมความประพฤติของคนในสังคมให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข อีกทั้งยังกำหนดสิทธิหน้าที่ของคนในสังคม เช่น สิทธิที่จะได้รับความบริการสาธารณสุข เสรีภาพในการแสดงความเห็น

                เมื่อกฎหมายไทยกำหนดสิทธิและหน้าที่ให้คนในสังคม แต่มีปัญหาว่ากฎหมายไทยเหล่านี้ใช้บังคับกับทุกคนในประเทศไทยหรือไม่ เพราะหากตีความว่ากฎหมายไทยใช้เฉพาะกับคนที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น ไม่รวมถึงคนต่างด้าวและคนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย และสิทธิที่กำหนดในกฎหมายไทยนั้นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ก็จะกลายป็นว่ารัฐไทยละเมิดสิทธิมนุษยชนของคนต่างด้าวเหล่านั้น เช่น พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ได้วางหลักเกี่ยวกับเวลาการทำงานและวันหยุดประจำสัปดาห์ หากตีความว่าพระราชบัญญัตินี้ใช้กับคนที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น แรงงานต่างด้าวก็จะไม่ได้อยู่ในความคุ้มครองของพระราชบัญญัตินี้ แสดงว่านายจ้างจะใช้แรงงานคนต่างด้าวเกินเวลาทำงานที่พระราชบัญญตินี้กำหนดหรือไม่กำหนดวันหยุดให้ก็ได้ คนต่างด้าวก็จะต้องทำงานอย่างหนักไม่ได้พักผ่อนซึ่งสิทธิในการพักผ่อน เวลาทำงานตามสมควรและวันหยุดเป็นครั้งคราวเป็นสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่ง ตามที่วางหลักในข้อ 24 แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน นับเป็นการที่รัฐไทยละเมิดสิทธิมนุษยชนของคนต่างด้าวนั้น

                ปัญหาดังที่กล่าวมาแล้วเป็นปัญหาการตีความการบังคับใช้กฎหมายไทยที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน แต่กฎหมายไทยที่มีประเด็นเกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างมาก คือ โทษประหารชีวิต ซึ่งบัญญัติไว้ในมาตรา18 ประมวลกฎหมายอาญาของประเทศไทย

                แนวคิดเบื้องหลังโทษประหารชีวิตมีหลายประการคือ แนวคิดเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่บุคคลอื่น แนวคิดการแก้แค้น คือเพื่อให้เป็นที่พึงพอใจแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหาย และโทษประหารชีวิตกำหนดสำหรับความผิดฐานที่ร้ายแรงมากๆ เช่น การฆ่าบุพการี เพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำความผิดซ้ำอีก

                ต่อมามีแนวคิดยกเลิกโทษประหารชีวิตเพราะเห็นว่าเป็นการโหดร้ายทารุณ เหยียบย่ำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เกินไป เป็นการพรากชีวิต แต่อย่างไรก็ตามแต่ละประเทศก็มีความเห็นไม่เหมือนกัน บางประเทศต่อต้าน เนื่องจากมีสภาพสังคมแตกต่างกัน

                จากการศึกษาปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ3 ทุกคนมีสิทธิในการมีชีวิต จะเห็นได้ว่า ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนดังกล่าวได้รับรองสิทธิในการมีชีวิตของบุคคลไว้คือ บุคคลย่อมมีสิทธิในการมีชีวิตอยู่ การประหารชีวิตเป็นการพรากชีวิตไปจากมนุษย์ โทษประหารชีวิตจึงเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามข้อ3 ของปฏิญญาอย่างชัดเจน และถ้าหากว่าโทษประหารชีวิตมีวิธีการที่ทำให้ได้รับความทรมาน เช่น การแขวนคอ การตัดศรีษะหรือยิงเป้า โดยปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ5 บุคคลใดจะถูกกระทำการทรมานหรือการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีไม่ได้ การแขวนคอ การตัดศรีษะ การยิงเป้าซึ่งเป็นการกระทำที่โหดร้ายทารุณย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นั้น จึงเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนของบุคคลทั้งตามข้อ3และข้อ5ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

                เมื่อศึกษาถึงโทษทางอาญาอื่นๆ คือ โทษจำคุก โทษกักขัง โทษปรับและโทษริบทรัพย์สิน สำหรับโทษจำคุกและกักขัง ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ9 บุคคลใดจะถูกจับกุมหรือกักขังตามอำเภอใจไม่ได้ จะเห็นได้ว่าการจับกุมหรือการกักขังที่จะขัดกับปฏิญญา และเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่กำหนดไว้ในปฏิญญาดังกล่าวนี้จะต้องเป็นการจับกุมหรือกักขังตามอำเภอใจ หากว่ามีเหตุผลก็มิได้เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน การจำคุกและกักขังตามประมวลกฎหมายอาญาเป็นโทษทางอาญา จะทำได้เมื่อมีการกระทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ซึ่งมิใช่ตามอำเภอใจ โทษจำคุกและกักขังจึงทำได้ ไม่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

                สำหรับโทษปรับและริบทรัพย์สิน ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ17 บุคคลใดจะถูกเอาทรัพย์สินไปจากตนตามอำเภอใจไม่ได้ การปรับและริบทรัพย์สินแม้จะเป็นการเอาทรัพย์สินไปแต่กระทำต่อเมื่อมีบุคคลทำผิดอาญาตามที่กฎหมายกำหนดและกำหนดโทษไว้ให้ปรับหรือริบทรัพย์สิน จึงมิใช่การทำตามอำเภอใจ โทษปรับและทรัพย์สินจึงกระทำได้ ไม่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามข้อ 17 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

                โทษประหารชีวิตเป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิต ชีวิตมนุษย์เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดจึงมิได้มีข้อบัญญัติยกเว้นเหมือนเช่นการจับกุมกักขังหรือถูกเอาทรัพย์สินไป ว่าจะพรากชีวิตโดยอำเภอใจไม่ได้ คือบุคคลต้องมีสิทธิในการมีชีวิตทุกกรณี แต่อย่างไรก็ตามแม้โทษประหารชีวิตจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ข้าพเจ้ายังมีความเห็นว่าโทษประหารชีวิตก็ยังควรมีอยู่ต่อไป เนื่องจากแนวคิดเบื้องหลังของโทษประหารชีวิตซึ่งเป็นการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ มิให้เป็นเยี่ยงอย่างและเป็นที่พึงพอใจของผุ้ที่ได้รับความเสียหาย และโทษประหารชีวิตเป็นโทษทางอาญาที่กฎหมายกำหนดเพื่อลงโทษผู้ที่กระทำความผิดอย่างร้ายแรง มิใช่การที่เขาอยู่เฉยๆไม่ได้ทำอะไรผิดแต่ไปลงโทษเขา เมื่อเขาทำผิดร้ายแรงก็สมควรที่จะโดนลงโทษ เป็นการกระทำที่มีเหตุผล แต่การสืบสวนสอบสวนก็ต้องทำอย่างมีประสิทธิภาพ มิให้มีการกลั่นแกล้งกันเพื่อให้มีการลงโทษบุคคลหรือจับบุคคลที่มิใช่ผู้กระทำผิดมาลงโทษเพราะเป็นโทษที่ร้ายแรงมาก

อ้างอิงจาก :

กระทรวงการต่างประเทศ.ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน.[ระบบออนไลน์].เข้าถึงได้จากhttp://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/udhrt.pdf .วันที่ 20 เมษายน 2557

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎ๊กา.ประมวลกฎหมายอาญา.[ระบบออนไลน์].เข้าถึงได้จากhttp://www.sepo.go.th/mbc/Uploads/Files/1282292034.pdf .วันที่ 20 เมษายน 2557

หมายเลขบันทึก: 566399เขียนเมื่อ 21 เมษายน 2014 01:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2014 21:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท