HR-LLB-TU-2556-TPC-ปัญหาสิทธิมนุษยชนของผู้ลี้ภัย/คนหนีภัยความตาย


                ก่อนที่จะศึกษาถึงปัญหาสิทธิมนุษยชนของผู้ลี้ภัยและคนหนีภัยความตายนั้น ก็จะต้องทราบก่อนว่าผู้ลี้ภัยและคนหนีภัยความตายคือใคร

                ผู้ลี้ภัย หมายถึง บุคคลที่จำเป็นต้องทิ้งประเทศบ้านเกิดของตนเอง เนื่องจากความหวาดกลัวการถูกประหัตประหาร หรือได้รับการคุกคามต่อชีวิต

อนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 ให้คำนิยาม และความหมายของสถานภาพผู้ลี้ภัยว่า ผู้ลี้ภัย หมายถึง  บุคคลที่จำเป็นต้องทิ้งประเทศบ้านเกิดของตนเอง เนื่องจากความหวาดกลัวการถูกประหัตประหารหรือได้รับการคุกคามต่อชีวิตเนื่องจากสาเหตุข้อหนึ่งข้อใด เช่น เชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติสมาชิกภาพในกลุ่มทางสังคม สมาชิกภาพในกลุ่มความคิดทางการเมือง[1]

ผู้หนีภัยความตาย คือ ผู้หนีภัยที่เกิดกับชีวิต ทั้งภัยโดยตรง และโดยอ้อม

ภัยโดยตรง เช่น ภัยจากการสู้รบ ส่วนภัยความตาย โดยอ้อม แบ่งออกเป็นสองประเภท  คือ ภัยความตายทางกายภาพ ซึ่งเกิดจากการคาดการณ์ได้ว่า ถ้าไม่หนีออกมาจากพื้นที่นั้นจะต้องตาย เช่น เมื่อรู้ข่าวว่ามีกองทหารกำลังจะเข้ามาที่หมู่บ้านและมีข้อมูลว่า หากทหารเข้ามาในหมู่บ้านแล้วจะเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนจนถึงขั้นเสียชีวิตได้  จึงหนีออกมาก่อนที่ทหารจะมาถึงหรือกรณีการหนีจากการบังคับเกณฑ์แรงงาน ซึ่งอันที่จริง การเกณฑ์แรงงานไม่ได้เป็นภัยความตายโดยตรง คือถ้าถูกยอมให้เกณฑ์แรงงานไปเรื่อยๆ ก็อาจจะไม่ถูกฆ่าตาย แต่ถ้าหากปฏิเสธไม่ยอมทำงานก็มีความเสี่ยงที่จะตายได้ หรือหากถูกบังคับให้ทำงานแล้วหลบหนีออกมาก็มีข้อมูลว่าคนเหล่านี้จะถูกฆ่าตายได้ เช่นเดียวกับกรณีการถูกบังคับเก็บภาษี หรือการข่มขืน ถ้าหากไม่ปฏิบัติตามก็มีความเสี่ยงที่จะตายได้ นี่เป็นตัวอย่างของภัยความตายทางกายภาพที่เห็นได้ชัด ภัยความตายอีกประเภทหนึ่งคือภัยความตายทางจิตใจ เช่น การข่มขืน เป็นต้น[2]

                สำหรับประเทศไทยนั้นไม่ได้เป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วย สถานะผู้ลี้ภัยปี ค.ศ. 1951 ผู้ลี้ภัยดังกล่าวจึงถูกเรียกว่า ผู้หนีภัยความตาย

 

กรณีศึกษาปัญหาผู้ลี้ภัยซีเรีย

ที่ผ่านมามีการละเมิดสิทธิของประชาชนหลายล้านคน ที่หลบหนีลี้ภัยจากความขัดแย้งและการถูกคุกคาม หรืออพยพไปหางานทำเพื่อชีวิตที่ดีกว่าสำหรับตนเองและครอบครัว พวกเขากล่าวหาว่ารัฐบาลทั่วโลกสนใจแต่จะปกป้องพรมแดนของประเทศมากกว่าที่จะใส่ใจสิทธิของพลเมืองของตน รวมทั้งสิทธิของผู้ที่แสวงหาที่พักพิง หรือการแสวงหาโอกาสอื่นๆ ในพรมแดนประเทศของตน

สำหรับชาวซีเรียนับว่าเป็นการปล่อยเวลาให้สูญเปล่าไปอีกหนึ่งปี เพราะแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ยกเว้นจำนวนของผู้เสียชีวิตที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และจำนวนของประชาชนนับล้านคนที่ต้องอพยพพลัดถิ่นเพราะความขัดแย้ง ทั่วทั้งโลกกำลังเฝ้ามองดูอย่างเฉย ๆ ในขณะที่กองทัพซีเรียปฏิบัติการโจมตีพลเรือนอย่างไม่เลือกหน้าและอย่างเฉพาะเจาะจงต่อไป มีทั้งการบังคับบุคคลให้สูญหาย การควบคุมตัวโดยพลการ การทรมาน และการสังหารนอกกระบวนการกฎหมายต่อผู้ที่ถูกมองว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐ ในขณะเดียวกันกลุ่มติดอาวุธเองก็จับคนเป็นตัวประกัน และทำการสังหารอย่างรวบรัดและมีการทรมานบุคคลแม้จะมีระดับความรุนแรงน้อยกว่าก็ตาม

ข้ออ้างที่ว่าสิทธิมนุษยชนเป็น “ปัญหาในประเทศ” ได้ถูกใช้เพื่อสกัดกั้นปฏิบัติการระดับสากลในแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิ อย่างเช่นในกรณีของซีเรีย คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UN Security Council) ซึ่งมีหน้าที่ดูแลความมั่นคงและเป็นผู้นำในประเด็นปัญหาระดับโลก ยังคงล้มเหลวที่จะทำให้เกิดมาตรการทางการเมืองอย่างเป็นเอกภาพและไปในทิศทางเดียวกัน[3]

                ซึ่งปัญหาสิทธิมนุษยชนของผู้ลี้ภัยและคนหนีภัยความตายทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศนั้นมีด้วยกันหลายรูปแบบ

                ปัญหาการหนีภัยจากเหตุอย่างอื่นนอกจากการหนีภัยจากการสู้รบและการประหัตประหาร ตาม ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ14 (1) ทุกคนมีสิทธิที่จะแสวงหา และที่จะได้อาศัยพำนักในประเทศอื่นเพื่อลี้ภัยจากการประหัตประหาร

อย่างในประเทศไทย ข้อจำกัดด้านนโยบายของรัฐบาลไทยต่อผู้หนีภัยฯ ในปัจจุบันคือ จะให้ความ ช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมแก่ผู้หนีภัยจากการสู้รบและการประหัตประหารเท่านั้น ดังนั้น ผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไทยด้วยสาเหตุอื่น ๆ เช่น ถูกบังคับย้ายถิ่นฐาน บังคับใช้ แรงงาน หลบหนีการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือความหวาดกลัวต่าง ๆ รัฐบาลไทยไม่ สามารถแบกรับภาระในการจัดหาพื้นที่พักพิงชั่วคราวให้ได้ นอกจากดำเนินการส่งกลับ อย่างปลอดภัย[4] 

                ปัญหาเกี่ยวกับการสมรส ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนข้อ16 (1)ชายและหญิงที่มีอายุเต็มบริบูรณ์ มีสิทธิที่จะทำการสมรสและจะก่อตั้ง ครอบครัว โดยปราศจากการจำกัดใดๆอันเนื่องจากเชื้อชาติ สัญชาติหรือ ศาสนา ต่างมีสิทธิเท่าเทียมกันในเรื่องการสมรส ระหว่างการสมรสและการขาดจากสมรส

ตัวอย่างปัญหาที่เกิดขึ้นจากการแต่งงานภายในค่ายลี้ภัยจากกรณีศึกษาประเทศซีเรียคือ คู่บ่าวสาวที่ต้องการแต่งงานภายในค่ายลี้ภัย จะไปหาผู้นำทางศาสนาหรือคนเฒ่าคนแก่ของหมู่บ้านให้รับรองการแต่งงานในครั้งนี้ ซึ่งการรับรองของบุคคลเหล่านี้ ไม่ถือว่าเป็นการแต่งงานที่ถูกต้องตามกฎหมายของประเทศซีเรียและจอร์แดน ทำให้ผู้หญิงหรือเด็กผู้หญิงที่แต่งงานกลายเป็นภรรยาที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย นอกจากนี้ลูกที่เกิดขึ้นมาจากการแต่งงานในครั้งนี้ก็จะไม่สามารถกลายเป็นบุตรที่ถูกต้องทางกฎหมายด้วยเช่นกัน และถ้าหากมีการหย่าร้างเกิดขึ้นในภายหลังผู้หญิงก็จะไม่สามารถเรียกร้องอะไรได้เลย เพราะการแต่งงานในครั้งนี้ไม่ได้ดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมายที่กำหนดไว้[5]

ปัญหาเกี่ยวกับความเป็นอยู่ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ25 (1) ทุกคนมีสิทธิในมาตรฐานการครองชีพอันเพียงพอสำหรับสุขภาพและความเป็นอยู่ดีของตนและครอบครัว รวมทั้งอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และการดูแลรักษาทางการแพทย์และบริการสังคมที่จำเป็น และมีสิทธิในความมั่นคงในยามว่างงาน เจ็บป่วยพิการ เป็นหม้าย วัยชรา หรือขาดอาชีพอื่นในพฤติการณ์ที่นอกเหนืออำนาจของตน

โดยผู้ลี้ภัยและผู้หนีภัยความตายนั้นต้องพบกับปัญหาเกี่ยวกับอาหารที่มีจำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการ บริการทางการแพทย์ที่เข้าถึงได้ยาก รวมถึงขาดความมั่นคงในชีวิต

                ปัญหาเกี่ยวกับการศึกษาปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ26 (1) ทุกคนมีสิทธิในศึกษา การศึกษาจะต้องให้เปล่าอย่างน้อยในชั้นประถมศึกษาและการศึกษาชั้นหลักมูล การประถมศึกษาจะต้องเป็นการบังคับ การศึกษาทางเทคนิคและวิชาชีพ จะต้องเป็นอันเปิดโดยทั่วไป และการศึกษาชั้นสูงสุดขึ้นไป จะต้องเป็นอันเปิดสำหรับทุกคน เข้าได้ถึงโดยเสมอภาคตามมูลฐานแห่งคุณวุฒิ

โดยผู้ลี้ภัยและผู้หนีภัยความตาย ไม่ได้รับการศึกษาซึ่งอาจเนื่องจากไม่มีสัญชาติหรือเป็นพลเมืองของประเทศนั้นๆ

 

[1] ผู้ลี้ภัยคือใคร. UNHCRThailand. [Website] [cited 2014 Apr 18]. Available from: https://www.unhcr.or.th/th/refugee/about_refugee

[2] พงศ์เทพ. บทสัมภาษณ์ : “สิทธิของผู้หนีภัยความตาย”จากมุมมองนักวิชาการด้านสิทธิ. salweennews. [Website] 2006 Jan-Feb[cited 2014 Apr 18]. Available from: http://salweennews.org/home/?p=986

[3] รายงานประจำปี 2556: โลกอันตรายมากขึ้นสำหรับผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่น. Amnesty International Thailand. [Website] 2013 [cited 2014 Apr 18]. Available from: http://www.amnesty.or.th/th/component/k2/item/296-%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%88%E0%B8%B3%E0%B8%9B%E0%B8%B5-2556-%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%82%E0%B8%B6%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%96%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%99

[4] แผนปฏิบัติการแม่บทว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของผู้หนีภัย . บ้านจอมยุทธ.  [Website]  [cited 2014 Apr 18]. Available from: http://www.baanjomyut.com/library_2/extension-4/human_rights/24.html

[5] Sasiphattra Siriwato. ปัญหาเรื่องการแต่งงานในค่ายลี้ภัยของชาวซีเรีย. ผู้จัดการ.  [Website] Mar 2014 [cited 2014 Apr 18]. Available from: http://www.gotomanager.com/content/%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%81%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%8B%E0%B8%B5%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2

 

หมายเลขบันทึก: 566359เขียนเมื่อ 20 เมษายน 2014 14:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 เมษายน 2014 14:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณ บันทึกดีดีนี้ค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท