เธอคือแรงใจ...อาจารย์พาสินี


...แทนที่จะเรียกร้องความช่วยเหลือต่างๆ จากสังคม ท่านกลับ “ขอบคุณ” ช่างแตกต่างกันอย่างเปรียบเทียบไม่ได้กับการเรียกร้องจากกลุ่มนี้กลุ่มนั้น ขอความช่วยเหลือ สนับสนุนต่างๆ

ช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่ต้นปี 2557  คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่คงเดือดร้อน (มากขึ้น) กับการจราจรที่ติดแบบมหาโหด เนื่องจากมีการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. คปท. กวป. ฯลฯ สารพัดกลุ่ม (ความจริงมีการชุมนุมก่อนหน้านี้เป็นระยะๆ) โดยเฉพาะผู้เขียนซึ่งบ้านอยู่แถวสาทร และมีที่ทำงานใกล้ทำเนียบรัฐบาล

 

การเดินทางตามปกติที่เคยมาของผู้เขียนคือ จะติดรถที่บ้านมาที่แยกถนนวิทยุ ต่อรถเมล์สาย 14 ลงเดินอีกนิดก็ถึงที่ทำงานไม่เกิน 7.20 น. แต่เมื่อมีการย้ายการชุมนุมมารวมเป็นที่เดียวที่สวนลุมพินีวัน แยกถนนวิทยุจึงถูกกระทบหนัก เพราะรถเมล์หลายสายผ่านไม่ได้ ต้องอ้อมย้อนกลับ รวมทั้งสาย 14 ที่ผู้เขียนโดยสารเป็นประจำด้วย เอาล่ะสิ เดือดร้อนต้องต่อรถที่ไปยังอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อหารถต่อไปยังที่ทำงานให้ได้  รถเมล์ (เมืองไทย) นั้น เป็นระบบตามใจฉัน อยากเลี้ยวกลับตรงไหนเมื่อไร ก็ทำตามใจ ไม่มีหลักมีเกณฑ์ ต่อรถมากๆ เข้าก็เริ่มเบื่อ เรียกแท็กซี่ พอบอกสถานที่ แท็กซี่ก็จะไม่ค่อยยอมไป อ้างว่ารถติด มีม็อบ แก๊สหมด (แล้วมาขับทำไมหนอ) บางวันกว่าจะถึงที่ทำงานก็เกือบ 8.30 น. ความจริงที่ทำงานก็ไม่ได้เข้มงวดเรื่องเวลาเข้า-ออกงานขนาดนั้น แต่เป็น “กฎส่วนตัว” ที่จะถึงที่ทำงานไม่เกิน 8.30 น. และไม่ออกก่อน 16.30 น. (หากไม่จำเป็นจริงๆ)

 

เรื่องราวที่เกิดขึ้นทำให้ผู้เขียน “หงุดหงิดเล็กๆ“ แม้จะรับรู้และยอมรับถึงความจำเป็นที่จะต้อง “ชุมนุม” อยากให้มีความชัดเจนและหาข้อยุติมากกว่าการชุมนุมยืดเยื้อเช่นนี้  เดินทางก็ลำบาก ยังไม่คิดถึงบางคนที่มีค่าแรงขั้นต่ำ หากต้องต่อรถเมล์หลายๆ ต่ออย่างนี้ เขาย่อมถูกกระทบเดือดร้อนมากขึ้นไปกว่าเราอีกด้วย

 

วันหนึ่งขณะที่ลงจากแท็กซี่อย่างทุลักทุเลบริเวณประตูน้ำ เพราะแท็กซี่ขอให้ลง (ถูกไล่ลงรถนั่นแหละ) เพราะไปต่อไม่ไหว รถติดมาก วันนั้นของที่หอบหิ้วมาด้วย ก็มากเป็นพิเศษ คิดในใจว่า “โอ...โลกใกล้แตกดับหรือไร แย่จัง...”

 

พอลงรถมายืนเก้ๆกังๆ ที่ป้ายรถเมล์ ก็ชะเง้อดูว่าจะมีรถเมล์สายอะไรบ้างที่จะไปยังจุดหมายได้ อยู่ๆก็รู้สึกว่ามีคนเดินเฉียดหน้าไป หันไปมองเป็นเป็นสุภาพสตรีวัยกลางคน แต่งตัวเรียบร้อย ผอมสูง มองชัดๆ อีกที อ้อ...ถือไม้เท้าสีขาว สัญลักษณ์ของคนพิการทางสายตา เสียงกล่าวขอโทษ... น้ำเสียงของเธอสดใส ต่างจากบรรยากาศรอบตัวที่แสนจะวุ่นวายนั้น

 

บทสนทนาจึงเริ่มขึ้นเมื่อได้ขึ้นไปนั่งบนรถเมล์สาย 14 ด้วยกัน ผู้เขียนขออนุญาตถามข้อมูลรายละเอียดและขอนำเรื่องของท่านมาเล่าต่อ สุภาพสตรีท่านนี้แนะนำว่าตัวเองชื่อ “พาสินี” อายุ 58 ปี ทำงานเป็น ครู สอนเด็กตาบอดระดับประถมต้น ที่โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ บริเวณถนนราชวิถี สี่แยกตึกชัย มากว่า 30 ปีแล้ว ท่านเล่าว่าไม่ได้ตาบอดมาแต่กำเนิด แต่จอตาเสื่อมหลุดลอก (Rhegmatogenous retinal detachment:RRD) ตั้งแต่อายุ 20 ปี ขณะเรียนปี 2 คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเริ่มจากตาค่อยๆ มัว จนมองไม่เห็นในที่สุด ระหว่างนั้นได้เข้ารับการรักษาหลายแห่ง แต่หมดหวัง ต้องลาออกจากคณะเภสัชศาสตร์ และได้มาเรียนอักษรเบรลล์(Braille) ที่โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ พร้อมๆ กับลงทะเบียนเรียนคณะมนุษยศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงไปด้วย เมื่อจบจึงได้มาเป็นครู สอนที่โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ แต่นั้นมา

 

 

 

บ้านของอาจารย์พาสินีอยู่ในซอยเย็นอากาศ แถวยานนาวาที่มีเส้นทางต่อเชื่อมกับถนนพระรามสี่ ได้ การเดินทางไปโรงเรียนสอนคนตาบอดของท่าน ทุกวันจะมีมอเตอร์ไซด์ที่คุ้นเคยและเป็นขาประจำมารับหน้าบ้าน ไปส่งที่ป้ายรถเมล์ เพื่อรอรถเมล์สายที่ไปลงต่อรถสาย 14 ที่ประตูน้ำได้ ท่านเล่าว่าต้องเลือกป้ายที่เป็นต้นทางเพื่อจะได้มีที่นั่งและไม่เป็นภาระของคนอื่นๆ ที่จะต้องลุกให้คนตาพิการนั่ง นี่เองจึงเป็นสาเหตุให้ผู้เขียนได้พบท่านที่มารอขึ้นสาย 14 ด้วยกัน

 

เรื่องราวที่ได้ฟังทำให้เส้นทางของความคิดคำนึงยืดยาวออกไป...

น้ำเสียงที่สดใส กระตือรือร้น แม้จะตาพิการมองไม่เห็น ท่านใช้ชีวิตและการเดินทางลำบากกว่าผู้เขียนหลายเท่า สำหรับคนตาปกติทั่วไป หากอยู่ในซอยเย็นอากาศและไม่ได้ขับรถเอง การเดินทางลำบากมาก เพราะเป็นซอยลึกแคบ และมีรถสวนผ่านไปมาตลอดทั้งวัน ยิ่งฤดูฝนการเดินทางยิ่งไม่ต้องบรรยายเลย...

แต่ประโยคที่ผู้เขียนไม่ได้คาดคิดว่าจะได้ยินคือ แต่ประโยคที่ผู้เขียนไม่ได้คาดคิดว่าจะได้ยินคือ

“...หากเขียนเล่าเรื่องอาจารย์ลงเว็บออนไลน์ อย่าลืมขอบคุณแทนอาจารย์ด้วยนะคะ ขอบคุณสังคมและน้ำใจของคนไทยด้วยกัน ไม่เช่นนั้นอาจารย์และคนพิการอีกมากจะลำบากกว่านี้อีกหลายเท่า...”

 

แทนที่จะเรียกร้องความช่วยเหลือต่างๆ จากสังคม ท่านกลับ “ขอบคุณ”  ช่างแตกต่างกันอย่างเปรียบเทียบไม่ได้กับการเรียกร้องจากกลุ่มนี้กลุ่มนั้น ขอความช่วยเหลือ สนับสนุนต่างๆ (ตามลักษณะสังคมพึ่งพิง ที่นักการเมืองแย่ๆ ปลูกฝังไว้ให้คนไทย)

 

เรื่องราวของอาจารย์พาสินีเป็นกำลังใจและแรงฮึดให้ผู้เขียนเพิ่มความ “อดทน” โดยไม่บ่นว่าความไม่สะดวกต่างๆ รอบตัวชั่วคราวของสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้

 

อมยิ้มๆ แล้วบอกตัวเองว่า ... อย่าบ่นกันนักเลย... คนที่ลำบากกว่าเรายังมีอีกมากมาย รู้ไหม?

 

หมายเลขบันทึก: 566217เขียนเมื่อ 18 เมษายน 2014 15:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 เมษายน 2014 20:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

ขอร่วมชื่นชมความแข็งแกร่งของท่านด้วยค่ะ..ชีวิตต้องเดินหน้าต่อไป ด้วยจิตคิดดี มีความสุขค่ะ

สวัสดีค่ะพี่ใหญ่

ขอบพระคุณที่แวะมาอ่านและให้กำลังใจค่ะ :)

ชอบประโยคนี้ค่ะ.....อย่าบ่นกันนักเลย... คนที่ลำบากกว่าเรายังมีอีกมากมาย รู้ไหม?

ขอบคุณเรื่องราวดีๆค่ะ...อาจารย์พาสินี มีจิตใจที่งดงามมาก...เป็นผู้ที่มีสุขภาพจิตที่ยอดเยี่ยมมากในสภาวะสังคมไทยปัจจุบัน...ที่คนดีๆ ยังสุขภาพจิตเสียนะคะ...

รู้จักคนตาบอดคนหนึ่งชื่อพี่เอก เขาเป็นคนมองโลกในแง่ดี คนอื่นๆ ก็มีความสุขไปด้วย ขอบคุณน้ำใจคนไทยเช่นกันค่ะ

สวัสดีค่ะพี่ ดร. พจนา แย้มนัยนา

ในสังคมที่แสนจะยุ่งเหยิงสับสน คนไม่ค่อยมีน้ำใจต่อกัน ทุกคนทุกข์จนลืมมองไปรอบๆ ตัวค่ะ

ขอบคุณค่ะ ส่งต่อกำลังใจไปให้อ.พาสินีค่ะ :)

สวัสดีค่ะคุณ tuknarak

เท่าที่ได้สัมผัส คนตาบอด จะมีจิตใจดี เป็นคนมีความสุขนะคะ และยังมีหูและเสียงเพราะมากด้วย
ขอบคุณที่แวะมาร่วมกันให้กำลังใจค่ะ :)

ขอชื่นชมเข้าของเรื่อง และคนเล่าเรื่องนี้มากนะครับ

มีกำลังใจขึ้นมาอย่างประหลาดเช่นกันครับคุณหยั่งรากฯ ครับ

ขอบคุณมากนะครับ

ดีใจที่คุณแสงแห่งความดีมาอ่านค่ะ

หากเรามองออกไปรอบๆ ตัว เราจะเห็นว่า... เรายังดีกว่าอีกหลายคนค่ะ

ขอบคุณดอกไม้แสนสวยค่ะ

สู้ๆๆๆๆ นะคะ ในสมรภูมิชีวิต เราต้อง ชนะ เพราะหากยอมแพ้... คนข้างๆ เราจะทำอย่างไร ให้กำลังใจค่ะ :)

อย่าบ่นกันนักเลย... คนที่ลำบากกว่าเรายังมีอีกมากมาย รู้ไหม? ของแน่นอนอยู่แล้วด้วยจิตอาริโย

ขอบคุณคุณ paque ค่ะ
ขออนุญาตเรียนถามว่า จิตอาริโย แปลว่าอะไรคะ

สวัสดีค่ะพี่ kanchana muangyai

ในภาพสุภาพสตรีที่นั่งด้านนอกและใส่แว่นคือ ตัวจริงของ อ.พาสินีค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท