รูปแบบการตีความคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาเถรวาท


รูปแบบการตีความคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาเถรวาท

บทคัดย่อ

ผลการวิจัยพบว่า แนวคิดและทฤษฎีการตีความทางพระพุทธศาสนาและทางตะวันตก มีเป้าหมายเพื่อให้เข้าใจถึงความจริง ความถูกต้องดีงามผ่านการใช้ภาษาเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร จึงมีพัฒนาการทั้งทฤษฎีและวิธีการตีความมาโดยลำดับเช่นกัน แต่มีความแตกต่างกันในรายละเอียดด้านทฤษฎีและวิธีการตีความ ทฤษฎีการตีความทางตะวันตกมีทฤษฎีหลักที่มีจุดเน้นที่แตกต่างกันในการค้นหาความหมายที่สมบูรณ์ คือ ทฤษฎีที่ถือผู้สื่อความเป็นศูนย์กลาง ทฤษฎีที่ถือคัมภีร์เป็นศูนย์กลาง และทฤษฎีที่ถือผู้อ่านเป็นศูนย์กลาง ในขณะที่ทฤษฎีการตีความทางพระพุทธศาสนามีนัยบ่งชี้ว่า การจะค้นหาความหมายสมบูรณ์ได้นั้น จะต้องอาศัยองค์ประกอบหลายประการ คือ ให้ความสำคัญทั้งแก่ผู้สื่อความ คัมภีร์ ผู้อ่าน และบริบททางสังคมของผู้สื่อความ คัมภีร์ และผู้อ่าน ที่ต้องมีความเชื่อมโยงอิงอาศัยกันและกันในรูปแบบการตีความคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาเถรวาท เมื่อนำมาวิเคราะห์การตีความแบบยึดผู้อ่านเป็นหลักและบางแห่งได้ใช้การตีความแบบยึดผู้สื่อความเป็นหลัก และใช้การตีความแบบยึดผู้อ่านเป็นหลักและอ้างคัมภีร์ต่าง ๆ มาสนับสนุนการตีความ ใช้การตีความแบบยึดคัมภีร์เป็นหลัก และบางแห่งยังคงใช้การตีความแบบยึดผู้สื่อความเป็นหลักประกอบด้วย

๑.  บทนำ

รูปแบบการตีความคัมภีร์ เพื่อศึกษาแนวคิดและทฤษฎีการตีความทางพระพุทธศาสนาเถรวาท ในที่นี้ หมายถึง แบบอย่างกระบวนการใช้วิธีการและกฎเกณฑ์ที่แน่นอนชัดเจน เพื่อเข้าใจและเข้าถึงเนื้อหาคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาเถรวาท วัตถุประสงค์หลักของการตีความคัมภีร์ คือ ความเข้าใจพระธรรมวินัยให้ตรงกับพระพุทธประสงค์มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ พึงทำความเข้าใจในเบื้องต้นว่า คำว่า คัมภีร์ ในที่นี้ ใช้ในสองความหมาย คือ หมายถึง พระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประการหนึ่ง และอีกความหมายหนึ่ง หมายถึง คัมภีร์ที่บันทึกพระธรรมวินัยประการหนึ่ง ซึ่งทั้งสองมีความเกี่ยวโยงกัน ในการศึกษาวิจัยนี้ มุ่งใช้ในความหมายแรก คือ พระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  พระธรรมวินัยเหล่านี้ได้มีวิวัฒนาการจากระบบการศึกษาเล่าเรียนแบบท่องจำไว้ในความทรงจำของพุทธสาวก และได้รับการจารึกเป็นลายลักษณ์อักษรด้วยภาษาต่าง ๆ ดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน การศึกษาคำสอนในพระพุทธศาสนา เพื่อให้ผู้อ่านมีความเข้าใจพระธรรมวินัยตรงกัน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ควรมีรูปแบบการตีความคัมภีร์เพื่อใช้ในวัตถุประสงค์นี้ ในบทนี้ จะศึกษาวิเคราะห์ถึงรูปแบบการตีความคัมภีร์ที่น่าจะเป็นไปได้และช่วยให้ผู้ศึกษาเข้าใจและเข้าถึงความจริง ความถูกต้องและความดีงามตรงกับพระธรรมวินัยมากที่สุด

รูปแบบการตีความคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาเถรวาท  มีวัตถุประสงค์ คือ ๑) เพื่อศึกษาวิเคราะห์ทฤษฎีการตีความในคัมภีร์ไบเบิลของคริสต์ศาสนา ทั้ง ๓ อย่างและ ๙ อย่าง ๒) เพื่อศึกษาวิเคราะห์ทฤษฎีการตีความในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา  ๓) เพื่อประยุกต์ใช้ทฤษฎีอรรถปริวรรตศาสตร์ทั้งสองฝ่ายในการตีความหรือทำความเข้าใจประเด็นทางพระพุทธศสนาที่ถกเถียงกันโดยยังไม่มีข้อยุติ เรื่อง “ปัญหากับการใช้ภาษาในการสื่อสารเพื่อการเผยแผ่ธรรมะในยุคปัจจุบัน”

ส่วนปัญหารูปแบบการตีความคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาเถรวาท คือ ๑) ปัญหาเกี่ยวกับการใช้ภาษาสื่อสารในอดีต  ๒) ปัญหาเกี่ยวกับการใช้ภาษาสื่อสารในปัจจุบัน  ๓)  ปัจจัยที่มีผลต่อปัญหาในการเข้าใจภาษาสื่อสารในอดีตและปัจจุบัน  ๔)  แนวทางการแก้ปัญหาการใช้ภาษาสื่อสารธรรมะในอนาคต

๒.  ความหมายและทฤษฎีการตีความหรืออรรถปริวรรตศาสตร์ 

คำว่า “hermeneutics” มีรากจากศัพท์ภาษากรีกว่า “hermeneuein” (หรือ hermeneia หรือ hermeneus) ซึ่งเป็นคำที่มีหลายความหมาย ได้แก่ “แสดงออก”(express) “อธิบาย” (explain) “แปล” (translate) หรือ “ตีความ” (interpret) (Inwood, 1998) อย่างไรก็ตาม คำนี้โดยพื้นฐานแล้วมีความหมายสัมพันธ์กับการตีความ แม้คำนี้จะปรากฏใช้ครั้งแรกในปี ค.ศ. ๑๖๕๔ ในงานของ เจ. ซี. แดนน์อาเวอร์ (J. C. Dannhauer) เรื่อง Hermeneutica sacra แต่กิจกรรมการตีความที่คำนี้บ่งถึงมีมาก่อนนานแล้ว[1]  อย่างไรก็ตาม การกล่าวเพียงว่า  hermeneutics  เกี่ยวกับการตีความ นับเป็นคำอธิบายที่กว้างมาก เนื่องจาก hermeneutics มีความหมายที่หลากหลายและการใช้คำนี้ก็ยังเป็นที่สับสนและถกเถียงกันอยู่ในบางจุด เพื่อให้เห็นภาพของความหลากหลายนั้น ควรเริ่มต้นกับความหมายต่างๆ ที่รวบรวมมา ดังนี้  ๑) ศิลปะแห่งการตีความ (art of interpretation) ๒) ศาสตร์แห่งการตีความ (science of interpretation)  ๓) ศิลปะและศาสตร์แห่งการตีความ (art and science of interpretation)  ๔) ทฤษฎีการตีความ (theory of interpretation) ๖) วิธีวิทยาการตีความ (methodology of interpretation)  ๗) วิธีการตีความ (methods of interpretation) ๘) หลักการตีความ (principles of interpretation)  ๙) ผลงานการตีความต่างๆ (interpretation- ถ้า เป็นผลงานชิ้นเดียวใช้รูปเอกพจน์ “hermeneutic”) ๑๐) การตีความ (interpretation) และ ๑๑) การศึกษาเชิงปรัชญาเกี่ยวกับความเข้าใจหรือการทำความเข้าใจ (hermeneutical philosophy)  นอกจากนี้ ยังจัดประเภทของความหมายต่าง ๆ ข้างต้นเพื่อช่วยในการทำความเข้าใจเบื้องต้นได้  ดังนี้ ได้แก่ ๑) ปรัชญาที่ศึกษาเกี่ยวกับการทำความเข้าใจ  ๒) ทฤษฎีและวิธีวิทยาว่าด้วยหลักการตีความ ๓) หลักการตีความ ๔) กิจกรรมการตีความ และ ๕) ตัวบทที่บันทึกผลการตีความส่วนปัญหาความสับสนเกี่ยวกับความหมายของคำนี้มีมาตั้งแต่เก่าก่อน  เพราะว่าเพลโตกับอาริสโตเติลใช้ คำว่า Hermeneia มาเป็นชื่อหนังสือตรรกวิทยาชื่อ Peri  Hermeneias  ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในภาษาลาตินว่า De  interpretatione หนังสือเรื่องนี้ส่วนหนึ่งเป็นการศึกษาประพจน์เชิงบอกเล่า (Indicative  proposition) ที่จริงเท็จได้ ในที่นี้ Hermeneia หมายถึง ข้อความ (Statement) ซึ่งเป็นการแสดงออกของประพจน์ จะเห็นได้ว่าความหมายที่เพลโตและอาริสโตเติลใช้นั้นแตกต่างกันมาก[2]  

๒.๑  ความหมายและทฤษฎีการตีความในคัมภีร์ไบเบิลของคริสต์ศาสนา

ความหมายและทฤษฎีการตีความในคัมภีร์ไบเบิลของคริสต์ศาสนามี ๒ ลักษณะได้แก่

๒.๒.๑  ความหมายและทฤษฎีการตีความในคัมภีร์ไบเบิล  มีวิธีที่นิยมกันอยู่  ๕ วิธี คือ๑)  ตีความโดยพยัญชนะ (Literary interpretation) คือ คัมภีร์ว่าอย่างไร ก็เข้าใจตรงตามความหมายของคำอย่างนั้น  เช่น  “พระเจ้าสร้างโลก ๖ วัน” ก็เข้าใจว่า ๖ วัน ๆ ๒๔ ชั่วโมง กลางคืน ๑๒ ชั่วโมง กลางวัน ๑๒ ชั่วโมง มีเวลาเช้า สาย บ่าย เย็น อย่างที่เราเข้าใจกันทุกวันนี้ “พระอินทร์มีบริวาร ๘๔,๐๐๐” ก็เข้าใจว่ามีตามจำนวนนั้นจริงๆ เป็นต้น  ๒)  ตีความโดยสัญลักษณ์ (Symbolical interpretation) ถือว่า เรื่องราวต่างๆที่กล่าวไว้เป็นเพียงสัญลักษณ์ที่ต้องการสอนเท่านั้น ใครสามารถเข้าใจสัญลักษณ์ก็เข้าใจได้ลึกซึ้ง ใครตีความสัญลักษณ์ไม่แตกก็เข้าใจ โดยพยัญชนะหรือโดยอรรถตามอัธยาศัย ใครเข้าใจแค่ไหนก็ปฏิบัติไปตามที่ตนเข้าใจ เช่น “พระเจ้าสร้างโลก ๖ วัน” เป็นสัญลักษณ์ หมายถึง ข้อธรรมที่ว่ามนุษย์เราพึงทำงานสัปดาห์ละ ๖ วัน วันสุดท้ายต้องพักผ่อน และอุทิศให้กับศาสนา ศิวลึงค์ หมายถึงพลังสร้างสรรค์ในเอกภพ มาร หมายถึง กิเลสตัณหาในตัวมนุษย์เรานี่เอง เป็นต้น  ๓)  ตีความโดยอรรถ  (Idiomatic interpretation) คือ เข้าใจตามสำนวนภาษา เช่น “พระเจ้าสร้างโลก ๖ วัน” ก็เข้าๆ ใจว่า ๖ วาระ วาระหนึ่ง ๆ นาน เท่าไรก็ได้ อาจจะเป็นล้านๆ ปีก็ได้ ไม่จำเป็นจะต้องหมายถึงวันละ ๒๔ ชั่วโมงอย่างที่เข้าใจกันโดยทั่วไป “พระอินทร์มีบริวาร ๘๔,๐๐๐ คน” ก็ได้ “ตลอดกาลนิรันดร” อาจจะหมายความเพียงแต่ว่านานมากเหลือเกินเท่านั้นก็ได้ ๔)  ตีความตามเหตุผล(Rational interpretation) ทุกตอนต้องถามว่า ทำไม...ทำไม...เช่น ทำไมพระเจ้าสร้างโลก ทำไมจึงต้องใช้เวลา ๖ วัน ทำไมจึงสร้างมนุษย์แล้วปล่อยให้ทำบาป ทำไมพระเจ้าถึงไม่ให้มนุษย์สบายกว่านี้ ฯลฯ ยิ่งใช้เหตุผลก็ยิ่งแตกแยกกันไป ทะเลาะกัน เหินห่างจากจิตตารมณ์ของศาสนาเข้าทุกที การตีความเช่นนี้เป็นผลสืบเนื่องจากรูปแบบความคิด (หรือกระบวนทัศน์) ที่เทิดทูนเหตุผลวิทยาศาสตร์ อะไรที่อธิบายตามวิธีการวิทยาศาสตร์ไม่ได้ ก็ถือว่าไม่ได้มาตรฐาน และ ๕)  ตีความตามประเภทวรรณกรรม (Literary-form interpretation) วิธีนี้ไม่กำหนดตายตัว ต้องดูเป็นคัมภีร์ๆ เป็นเรื่องๆ และเป็นตอนๆ ไป คือแล้วแต่ว่าตอนใด ผู้นิพนธ์ใช้ประเภทวรรณกรรมใด ก็ให้ตีความตามประเภทของวรรณกรรมประเภทนั้น โดยพยายามเข้าถึงเจตนา สิ่งแวดล้อม สภาพจิตใจและข้อมูลที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เท่าที่ทราบได้ หรือสันนิษฐานได้ วิธีนี้ยากและต้องค้นคว้าไปเรื่อยๆ แต่ก็เหมะสำหรับเข้าใจอย่างนักวิชาการที่มีวิจารณญาณในการวิเคราะห์และประเมินค่าเป็นขั้นเป็นตอน[3]

๒.๒.๒  ลักษณะการตีความคัมภีร์ไบเบิล  กล่าวคือ  นักปรัชญาได้พยายามตีความหมายคัมภีร์ไบเบิลมาอย่างไรตามลำดับในสมัยปิตาจารย์ นักปรัชญาคริสต์ตีความหมายคัมภีร์เป็น ๒ แนว คือ  ๑) สำนักอันทิโอกแห่งเอเชีย และ ๒) สำนักแอลิกแซนเดรียแห่งแอฟริกา[4] มีลักษณะการตีความคัมภีร์ไบเบิลในสมัยอัสสมาจารย์ เลือกตีความตามสำนวนภาษา โดยการนำของอไควนัส ระหว่างภาษาอุดมการณ์กับภาษาสามัญ มี SummaTheologica  (สังเขปเทววิทยา) ของอไควนัสเป็นตำรับอไควนัส ตีความหมายด้วยหลักภาษาสามัญของเพลโต แต่พิสูจน์ด้วยหลักภาษาอุดมการณ์ของอาริสโตเติล[5]  ที่ยอมรับว่าเป็นคริสต์หรือที่ปฏิเสธคริสต์ก็ตาม ยังยืนอยู่กับขาสามขา คือ ๑) ปรัชญากรีกหรือเหตุผลนิยม (Reason) ที่ชาวตะวันตกที่นำมาอ้างตามแต่จะสะดวก  ๒) ศาสนาผีเดิมของยุโรป ที่คริสต์พยายามกลบหรือจับมา “บวช” เป็นคริสต์ และ ๓) โลกทัศน์ของชาวยิวที่สืบทอดมาผ่านพระเยซู อัครสาวกและนักบุญปอล[6] โดยความเชื่อเป็นพื้นฐานที่มีต่อจิตใจของมนุษย์ทุกคน แตกต่างกันตามเพศ ตามวัย ตามสิ่งแวดล้อม ตามการศึกษาอบรม และตามการตัดสินใจเลือกของแต่ละบุคคล กระบวนทัศน์ไม่ใช่สมรรถนะตัดสินใจ สมรรถนะตัดสินใจ (Decision) คือ เจตจำนง (The will) กระบวนทัศน์เป็นสมรรถนะเข้าใจ (Understanding) และเชิญชวนให้เจตจำนงตัดสินใจ มี ๕[7] คือ               ๑) กระบวนทัศน์แบบดึกดำบรรพ์ (Primitive Paradigm) ๒) กระบวนทัศน์แบบโบราณ (Ancient Paradigm)  ๓) กระบวนทัศน์ยุคกลาง (Medieval Paradigm) ๔) กระบวนทัศน์ยุคใหม่ (Modern Paradigm) ๕) กระบวนทัศน์ยุคหลังนวยุค (Post-modern Paradigm) ฉะนั้นกระบวนทัศน์ที่ ๕[8] ซึ่งเป็นกระแสหลังนวยุค หรือหลังนวยุคนิยม(Postmodernism) เป็นกระแสที่เน้นอย่างน้อย ๔ ประเด็นหลักคือ  (๑) สมองของมนุษย์ไม่อาจเข้าถึงความหมายได้ตรงตามความเป็นจริง (๒) ภาษาไม่สามารถสื่อความหมายได้ตรงตามที่คิดเสมอไป  (๓) ความเข้าทั้งหลายคือการตีความ และ (๔) เหตุผลคือศิลปะแห่งการจูงใจ  ดังนั้น กาดาเมอร์ เป็นคนหนึ่งที่คิดว่านักโลกทัศน์นิยมจะต้องเป็นนักสัมพัทธ์นิยม โดยสอนว่าใครก็ตามที่มีความตระหนักเชิงประวัติศาสตร์(Historical sense) ย่อมอยากเข้าใจอดีตตามบริบทของยีนแห่งความตระหนักของเขาและจะไม่ยอมตัดสินอดีตเป็นอันขาดจากมุมมองแห่งชีวิตปัจจุบัน หรือตามทัศนวิสัยแห่งสถาบันปัจจุบันของเรา หรือแม้แต่จะใช้ความรู้คุณค่าและความจริงตามที่เราใช้กันในปัจจุบันก็ไม่ยอมใช้[9]

๒.๒  แนวคิดและทฤษฎีการตีความในคัมภีร์พระไตรปิฏกของพระพุทธศาสนาเถรวาท

แนวคิดและทฤษฎีการตีความในคัมภีร์พระไตรปิฏกของพระพุทธศาสนาเถรวาทมี ๒ ลักษณะ ได้แก่

๒.๒.๑  ความหมายและทฤษฎีการตีความในคัมภีร์พระไตรปิฏก กล่าวคือ  ในคัมภีร์พระไตรปิฏก มี ๒ ความหมาย คือ พระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และอีกความหมายหนึ่ง คือ  คัมภีร์ที่บันทึกพระธรรมวินัย  ซึ่งทั้ง ๒ มีความเกี่ยวโยงกัน ดังนั้น แนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับการตีความในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาทมีวิวัฒนาการตามทฤษฎีการตีความตามที่ปรากฏในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา จะมีเทคนิคและวิธี การตีความ  มีคำนึงถึงความเหมาะสมกับบริบททางสังคมหรือสภาพแวดล้อม  และคำนึงความเหมาะสมกับจริตของผู้ฟัง  และจริตของผู้ฟังจึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในการตีความตามหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนที่มีลักษณะ ๔  อย่าง ได้แก่ ๑) ลักษณะ คือ ลักษณะเฉพาะที่สำคัญของแนวคิดและทฤษฎีการตีความในที่ปรากฏในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ที่เป็นแนวคิดและวิธีสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีลักษณะสำคัญ ๔ ประการ คือ (๑) ปฏิวัตินิยม (๒) ปฏิรูปนิยม (๓) อนุรักษนิยม (๔) นวัตถนิยม  ๒) หลักการ เป็นลักษณะแนวคิดและทฤษฎีการตีความคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาเถรวาทที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงหลักการสำคัญที่ปรากฏในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาที่มีลักษณะสำคัญ ๔ ประการ ได้แก่             (๑) มัชฌิมนิยม (๒) เหตุผลนิยม (๓) บูรณาการนิยม ๓) วิธีการ คือ การตีความคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาเถรวาท มีความสัมพันธ์สอดคล้องกับลักษณะที่แสดงให้เห็นถึงวิธีการได้อย่างชัดเจนภายในตัวได้ ๓ ประการ คือ (๑) วิภัชชวาทนิยม (๒) สหนัยนิยม (๓) สมนัยนิยม ๔) วัตถุประสงค์ แนวคิดและทฤษฎีการตีความที่มีลักษณะ หลักการ และวิธีการดังกล่าวข้างต้น ที่มีวัตถุประสงค์ของแนวคิดและทฤษฎีการตีความคัมภีร์ในพระพุทธศาสนา อาจจำแนกเป็น ๓ ประการ คือ (๑) ประโยชน์นิยม (๒) สัจนิยม (๓) วิมุตตินิยม

๒.๒.๒ ลักษณะการตีความในคัมภีร์พระไตรปิฏก  กล่าวคือ  ในคัมภีร์พระไตรปิฏก  มีลักษณะการตีความตามหลักพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ในเรื่อง “วินัย” ในการครอบคลุมถึงพระธรรม และเปิดโอกาส  ให้ตีความคำสอนที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนและแสดงถึงภาษาในการสอนในการจารึกภาษานั้น ๆ ด้วยอักษรภาษาอื่น เช่น อักษรไทย อักษรพม่า อักษรโรมัน ในการสื่อสาร การศึกษาตีความคัมภีร์ในกรณีนี้ยิ่งมีความยากขึ้นอีกชั้นหนึ่ง เพราะต้องศึกษาไวยากรณ์ภาษาเพื่อศึกษาตีความค้นหาความหมายที่อยู่ในภาษานั้น ๆ จะต้องพิจารณาและคำนึงถึงองค์ประกอบต่าง ๆ ได้แก่  ๑)  ลักษณะการตีความผู้สื่อ  ๒) ลักษณะการตีความคัมภีร์ ๓) ลักษณะการตีความผู้อ่าน  และ๔)  ลักษณะการตีความบริบท  นอกจากนี้  ในพระพุทธศาสนา เจตนารมณ์ของผู้เขียน สามารถจำแนกวิเคราะห์ออกเป็น ๒ กรณีคือ ๑) เจตนารมณ์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทำให้เกิดคัมภีร์ ๒) เจตนารมณ์ของผู้รวบรวมคัมภีร์เป็นหมวดหมู่ ตลอดถึงจัดทำเป็นรูปเล่ม  ที่ปรากฏในคัมภีร์ เพราะต้องมีการตีความที่แตกต่างกันออกไปอีก

๓.  เพื่อศึกษาวิเคราะห์ทฤษฎีการตีความในคัมภีร์ไบเบิลของคริสต์ศาสนา ทั้ง ๓ อย่างและ ๙ อย่าง

๓.๑ ทฤษฎีการตีความในคัมภีร์ไบเบิลของคริสต์ศาสนา ๓ อย่าง

การตีความคัมภีร์ทางศาสนาตามหลักพระคัมภีร์ไบเบิล ๓ อย่าง ที่คุณสมบัติของนักตีความคัมภีร์ทางศาสนา  ดังนี้  ได้แก่

๓.๑.๑  การตีความเชิงปฏิเสธ  (Negtive Way)  กล่าวคือ  การตีความเชิงปฏิเสธมีนักปรัชญากลุ่มนี้ คือ เซนต์ ออกัสติน (St.Augustine, 354-430)[10] จัดอยู่ในลัทธิรหัสยนิยม (Mysticism) เพราความเชื่อว่า ความจริงทางศาสนาอยู่เหนือภาษาของมนุษย์  หมายความว่า ภาษามีข้อจำกัด  ไม่ว่าเราจะสรรหาถ้อยคำมาพรรณนาความจริงทางศาสนาเท่าใดเราก็ไม่สามารถสื่อความจริงนั้นได้ ทางที่ได้ผลคือไม่ใช้ภาษาหรือถ้าใช้ก็ใช้ในเชิงปฏิเสธ เช่น พระเจ้าไม่ใช่วิญญาณ  ไม่ใช่จิตใจ  พระองค์ไม่อยู่ในฐานะที่คาดเดอะไรได้ เป็นต้น[11]โดยความเชื่อว่า ภาษาเป็นเครื่องมือในการศึกษาและอธิบายความจริง ความถูกต้อง และความดีงามเพื่อจะได้เข้าใจและเข้าถึงความจริง ความถูกต้อง และความดีงาม ศาสตร์ว่าด้วยการตีความหรืออรรถปริวรรตศาสตร์ที่วัฒนธรรมทางภาษาตะวันตกเรียกว่า เฮอร์เมอร์นิวติคส์ (Hermeneutics) จึงเกิดขึ้น ได้รับความนิยมและการพัฒนาสืบต่อมาอย่างเป็นระบบ มีความเชื่อถือเฟื่องฟูอย่างยิ่งในวัฒนธรรมการศึกษาด้านต่าง ๆ ของโลกตะวันตก โดยเฉพาะในวงการศึกษาปรัชญาและศาสนา ได้นำเทคนิควิธีการตีความทางปรัชญามาใช้ตีความคำสอน แนวคิด ความเชื่อถือ และพฤติกรรมทางศาสนาอย่างกว้างขวางและแพร่หลาย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งคัมภีร์ไบเบิลของศาสนาคริสต์ มีรูปแบบ ระเบียบกฎเกณฑ์ ระบบและวิธีการสำหรับกำหนดความหมายของข้อความในคัมภีร์ระดับต่าง ๆ และการถ่ายทอดความหมายเหล่านั้นสู่ผู้อ่านคัมภีร์ ยังประโยชน์มหาศาลเพื่อความอยู่รอด มั่นคงและแพร่ขยายของศาสนาคริสต์เป็นลำดับมา[12]

๓.๑.๒ การตีความแบบเชิงเดียว  (Univocal  Way)  กล่าวคือ  การตีความแบบเชิงเดียวในยุคใหม่เป็นกระแสความคิดที่มุ่งเน้นความสำคัญของภาษาอุดมคติมีมากยิ่งกว่ายุคกลาง และสร้างระบบตรรกศาสตร์สัญลักษณ์ขึ้น ได้สร้างระบบวิเคราะห์ภาษามาช่วยแปลงภาษาสามัญให้เป็นภาษาอุดมคติ  คือ ภาษาสามัญไม่เพียงแต่สื่อให้ความเข้าใจความจริง ความถูกต้อง และความดีงามเท่านั้น หากแต่ยังเข้าถึงได้ดีกว่าภาษาอุดมคติ ภาษาอุดมคติยังสื่อความจริง ความถูกต้อง และความดีงามได้อย่างหยาบ ๆ ส่วนความจริง ความถูกต้อง และความดีงามที่สื่อออกมาด้วยภาษาสามัญมีความละเอียดอ่อนเพราะแสดงความรู้สึกออกมาด้วย ที่เป็นบ่อเกิดแห่งความลำเอียง ภาษาสามัญที่สื่อความหมายด้วยความจริงใจและเปิดเผย ตรงไปตรงมาเท่านั้น สามารถสื่อความจริง ความถูกต้อง และความดีงามได้ดีกว่า นอกจากนี้ วิทเก็นสไตน์ (Ludwig Wittgenstein, 1889-1951) ได้เสนอแนวคิดทางปรัชญาเรื่องเกมภาษา (Language game) เพื่อชี้ให้เห็นว่า ภาษาสามัญ มีเงื่อนไขทั้งที่เป็นบริบทภายในและภายนอกของผู้ใช้ภาษา ภาษาสามัญจึงไม่ต้องการความหมายรัดกุมเช่นในวิทยาศาสตร์ เพราะมีบางสาขาวิชาที่ไม่จำเป็นและไม่อาจกำหนดความหมายให้ตายตัวได้ เช่น ปรัชญาและศาสนา จนทำให้เกิดลัทธิปรัชญามากมาย เช่น ลัทธิอัตถิภาวนิยม เป็นต้น[13]  โดยเฉพาะนักปรัชญาประกาศว่า  ศาสนาเป็นเรื่องงมงาย และวิทยาการทั้งหลายที่ใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ต่างร่วมมือกับขบวนการพุทธิปัญญา ประณามศาสนาคริสต์ว่า งมงาย ไม่มีเหตุผลตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ ในขณะเดียวกัน นักปราชญ์ทางคริสตศาสนา ก็น้อมรับฟังด้วยความเต็มใจและใช้นโยบายยึดวิธีการตีความตามตัวอักษรเป็นหลักสำคัญในการตีความคัมภีร์ ด้วยท่าทีเช่นนี้ ยิ่งเป็นการตอกย้ำให้เข้าใจและมั่นใจในความไร้เหตุผลตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ของคริสต์ศาสนามากขึ้น ต่อมาภายหลัง มีนักปรัชญาที่เห็นด้วยกับความคิดนี้และเข้าร่วมกระบวนการทางพุทธิปัญญามากขึ้นโดยลำดับ ทำให้คริสต์จักรทั้งหลายในยุโรปได้สูญเสียสมาชิกที่เป็นปัญญาชนไปจำนวนมาก จึงเสาะแสวงหาสมาชิกจากภายนอกยุโรป และเมื่อสมาชิกที่ได้มานั้นมีการศึกษาดีขึ้น มักจะวางเฉยหรือไม่ก็กลายเป็นคนละฝ่ายกับคริสต์จักรในที่สุด[14]

๓.๑.๓  การตีความแบบอุปมาอุปมัย (Analogical  Eay)  กล่าวคือ  นักปรัชญาในลัทธินี้ มี เซนต์ โธมัส อไควนัส จัดอยู่ในลัทธิอุปมานิยม (Analogism) มีความเห็นว่า ภาษาศาสนาต้องมีความหมายเชิงอุปมา (analogous meaning) คือ มีทั้งความหมายที่เหมือนกัน และความหมายที่ต่างกัน เช่น พระเจ้าทรงมีใจดีเหมือนมนุษย์ แต่การใจดีของพระเจ้าเป็นคนละอย่างกับการใจดีของมนุษย์ ตามทัศนะของลัทธิ  คือว่า ความจริงสากลมีอยู่  และมีอยู่เฉพาะในสิ่งเฉพาะเท่านั้น ความจริงสากลของสิ่งเฉพาะใด เป็นความจริงสากลของสิ่งเฉพาะนั้น จึงไม่สามารถกล่าวถึงความจริงนั้นตรง ๆ ด้วยความหมายเอกนัย สามารถพูดถึงได้ด้วยการเปรียบเทียบเท่านั้น คำที่พูดถึงพระเจ้ามีความหมายต่างจากความหมายของคำพูดเดียวกันที่กล่าวถึงสิ่งที่ถูกสร้าง แม้จะมีความสัมพันธ์ก็ตาม[15] จะเห็นได้ว่า ในยุคกลาง แม้จะมีความเห็นต่างกันเกี่ยวกับการใช้ภาษาสื่อความจริง ความถูกต้อง และความดีงามดังกล่าว แต่ฝ่ายที่เห็นว่า ภาษาสามารถอธิบายให้เห็นความจริง ความถูกต้อง และความดีงาม จะได้รับความนิยมมากกว่า และได้มีการคิดค้นรูปแบบการอธิบายความหมายของความจริง ความถูกต้อง และความดีงาม จนทำให้อรรถปริวรรตศาสตร์มีวิวัฒนาการมาเรื่อย ๆ จนกลายเป็นศาสตร์หนึ่งที่มีความสำคัญในยุคใหม่ ส่วนฝ่ายที่เห็นว่า ภาษาไม่สามารถอธิบายความจริง จึงไม่มีความคิดและความพยายามตีความ หากแต่มุ่งเน้นการปฏิบัติอย่างจริงจังเพื่อให้เกิดประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับความจริงแทน  ดังนั้น ในการตีความแบบนิทานปรัมปรา (Allegorical) กับการตีความเชิงเปรียบเหมือนหรือเปรียบเทียบ (Analogica) อนึ่ง คำทั้ง ๔ นี้ไม่เหมือนกันก็จริง  แต่สามารถใช้ร่วมกันได้ เช่น นักตีความแบบนิทานปรัมปราอาจนำการตีความแบบชัดเจน (Univocal) มาช่วยเสริมได้ และนักตีความหมายแบบตามตัวอักษร (Literal) เช่น อำไควนัสก็อาจนำเอาการตีความแบบเปรียบเหมือน (Analogical) มาช่วยได้  เพราะการตีความหมายตามตัวอักษรดังกล่าวเน้นความจริงทางประวัติศาสตร์ [16]

๓.๒ ทฤษฎีการตีความในคัมภีร์ไบเบิลของคริสต์ศาสนา ๙ อย่าง

การตีความคัมภีร์ทางศาสนาตามหลักพระคัมภีร์ไบเบิล ๙ อย่าง ที่คุณสมบัติของนักตีความคัมภีร์ทางศาสนา  ดังนี้ ได้แก่

๓.๒.๑  การตีความแบบนิทานเปรียบเทียบ  (Allegorical Interpretation)  กล่าวคือทฤษฏีการตีความแบบนิทานเปรียบเทียบหรือเลียนแบบ  เพราะเพลโตเชื่อว่า แบบสากลอยู่บนโลกของแบบซึ่งเป็นโลกแห่งมโนคติ  ซึ่งอยู่เบื้องบนของโลกมนุษย์อีกทีหนึ่ง  สรรพสิ่งทั้งหลายในโลกมนุษย์นี้เป็นการเลียบแบบความสมบูรณ์ของโลกแห่งแบบเท่านั้น เพลโตถือว่าสิ่งของในโลกนี้เป็นของเลียนแบบของแท้ในโลกแห่งมโนคติ  ภาษาที่เราใช้จึงมีทั้งความหมายเทียมตามประสบการณ์ในโลกนี้  และความหมายแท้คือหมายถึงความเป็นจริงในโลกแห่งมโนคติ  ในทำนองเดียวกันกับที่ท่านพุทธทาสเรียกว่าภาษาคนกับภาษาธรรม  หรือที่โซเครติสเรียกว่าภาษามีกิเลสและภาษาไม่มีกิเลสนั่นเอง[17]  นิทานเปรียบเทียบเรื่องถ้ำ (The cave) ของเพลโต[18] เรื่องมีอยู่ว่า  มีคนกลุ่มหนึ่งถูกจองจำอยู่ในถ้ำตั้งแต่วัยเด็ก  พวกเขาถูกบังคับให้นั่งหันหน้าเข้าหาพนังถ้ำซึ่งอยู่ตรงกับปากถ้ำ  ที่ปากถ้ำมีกองไฟใหญ่สุมอยู่  แสงไปแผ่ออกไปจับที่พนังถ้ำ   ทำให้เกิดเงาของคนที่เดินผ่านไปมาที่ปากถ้ำ  พวกนักโทษเห็นเงาคนและสัตว์ที่เดินปรากฏบนพนังถ้ำก็เจ้าใจว่าเป็นสิ่งที่จริง  ไม่ได้เข้าใจว่าเป็นเพียงเงา  เพราะเขาเห็นมันมาตั้งแต่เด็ก  อยู่ต่อมามีนักโทษคนหนึ่งถูกปล่อยออกไป  ทีแรกเขาเข้าใจว่าภาพที่เห็นหน้าปากถ้ำเป็นภาพลวงตา  แต่เมื่อได้รับการอธิบายจากคนอื่นจึงรู้ความจริงว่าสิ่งที่เขาเห็นที่พนังถ้ำเป็นเพียงเงาแต่สิ่งที่เขาเห็นที่ปากถ้ำเป็นชีวิตจริง  และเขาเห็นอะไรอีกมากมายนอกถ้ำ  เขาจึงคิดถึงเพื่อนในถ้ำและหวนกลับไปบอกเพื่อนถึงความจริงต่างๆ  ที่เขาประสบแต่เพื่อนักโทษทั้งหมดนั้นไม่เชื่อเขาและสรุปว่าเขาเป็นบ้าเสียสติไปแล้ว  นิทานเปรียบเทียบของเพลโตเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า คนส่วนมากก็เหมือนชาวถ้ำตรงที่หลงนิยมชมชื่นอยู่กับเงา [19] จนไม่อาจจะนับได้ว่าเป็นความจริงของการตีความ[20]  ในการเปรียบเทียบแบบนี้  เพื่อเล่นสำนวนในการเทศน์หรือปาฐกถา  ก็ถือได้ว่าเป็นศิลปะการพูดหรือวาทศิลป์ได้  ในเปรียบเทียบส่วนใหญ่ถูกต้อง  เพราะมีส่วนคาบเกี่ยวกันจริงๆ[21]

๓.๒.๒ การตีความแบบเข้าฌานหรือจิตวิจักขณ์ (Mystical Interpretation) กล่าวคือ  ปัจจัยพื้นฐานสำหรับยังชีพของมนุษย์ยังมีความจำเป็นและต้องการในสิ่งสำคัญยิ่งอีกอย่างทรงคุณค่าเหนือสิ่งอื่นเพื่อความเป็นมนุษย์ คือ ต้องการรู้ความจริง ความถูกต้อง และความดีงามเกี่ยวกับชีวิตและโลก โดยเฉพาะความจริง ความถูกต้อง และ ความดีงามขั้นสูงสุด มนุษย์จึงสืบค้นแสวงหาเพื่อให้รู้เข้าใจและเข้าถึงความจริง ความถูกต้อง และความดีงาม ตลอดจนความพยายามแสวงหาแนวทางและวิธีการสู่ความความจริง ความถูกต้อง และความดีงามเหล่านั้น ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ได้มีการคิดค้นวิธีการเข้าถึงความจริง ความถูกต้อง และความดีงามด้วยประการต่าง ๆ เช่น โดยการคิดคาดคะเนด้วยเหตุผล ด้วยการเข้าฌาน[22]ดังนั้น ผู้เข้าถึงฌาน [23]  หรือผู้เข้าถึงความรู้แบบประจักษ์แจ้งด้วยจิต   โดยมีแนวความคิดว่า “คนแต่ละเป็นส่วนหนึ่งของอันติมะสัจจะ  ดังนั้น  เป้าหมายสูงสุดของชีวิตจึงเป็นการกลับสู่อันติมะสัจจะหรือวิญญาณสากล”[24] การตีความหมายระดับฌานหรือจิตวิจักขณ์นี้เป็นวิธีตีความหมายคำพูดหรือบทนิพนธ์ของผู้ถุงฌาน  จะเข้าใจหรือเห็นในขณะเข้าฌาน  อย่างเช่นนักบุญเทเรซาแห่งอาวีลา ขณะเข้าฌานได้เข้าใจว่าพระเยซูเป็นสามีของตน  ซึ่งมีความหมายไม่เหมือนกับที่แม่ชีคาทอลิกทั่วๆ ไปกล่าวในชีวิตปกติว่า  “ฉันแต่งงานกับพระเยซู”  เพราะนั่นมีความหมายเชิงเปรียบเทียบ[25]  ที่เป็นข้อสำคัญขบวนการจิตวิจักขณ์เน้นการสวดมนต์ภาวนา  เพื่อให้จิตใจได้สัมผัสกับพระเจ้าโดยตรง  ผู้ได้จิตวิจักขณ์มีนักบุญเทเรซา แห่งอาวิลา ชาวสเปน (St. Teresa  of  Avila  1515-1582) นักบุญเบอร์นาร์ดแห่งแคลร์โวซ์ (St. Bernard of Clairveaux) นักบุญจอห์แห่งการเขน (St. John of the Cross) ผู้เป็นศิษย์แห่งนักบุญเทเรซา เป็นต้นถ [26]

๓.๒.๓ การตีความแบบตัวอักษร (Litral  Interpretation) กล่าวคือในลัทธิเอกนัยนิยม (Univocism) มีความเห็นว่า ภาษาสามารถสื่อความจริงทางศาสนาได้เพียงความหมายเดียวเท่านั้น คือ ความหมายตามตัวอักษร ตามที่เราเข้าใจจากประสบการณ์ธรรมดาทั่วไป เรียกว่า ความหมายเอกนัย (Univocal meaning) ตามทัศนะของลัทธินี้ถือว่า ความจริงสากลมีอยู่จริง และมีอยู่ตามความหมายของคำนั้น ๆ และสามารถพิสูจน์ความจริงด้วยวิธีที่ยุคกลางเรียกตามวิชาตรรกศาสตร์ว่า การอ้างเหตุผลแบบจากผลไปหาเหตุ (Argument quia) ไม่ใช่ด้วยการอ้างเหตุผลแบบจากแก่นแท้ไปหาลักษณะเฉพาะ (argument propterquid)[27]โดยเฉพาะการทำความเข้าใจพระคัมภีร์ไบเบิล เซนต์ ออกัสติน ได้ชื่อว่าเป็นนักปรัชญาคริสเตียนในยุคกลางเสนอแนวคิดว่า ต้องมีความเชื่อเสียก่อน จึงจะเข้าใจความหมายที่แท้จริงของคัมภีร์ได้ หากไม่มีความเชื่อจะทำให้เข้าใจความหมายคลาดเคลื่อนไปได้ หมายความว่า ความเชื่อ คือ บุพบทและปัจจัยสำคัญที่สุดของการเข้าใจและเข้าถึงความจริงในขั้นตอนว่า ศรัทธามาก่อนปัญญาและเหตุผล[28]อย่างไรก็ตาม  ความหมายสมบูรณ์อยู่ในคัมภีร์แล้วในตัวมันเอง แม้ผู้อ่านจะมีศรัทธาหรือไม่ก็ตาม จะมีคนเข้าไปรับรู้หรือไม่ก็ตาม หากผู้อ่านศึกษาและทำความเข้าใจตามเนื้อหาคัมภีร์ย่อมจะได้รับความหมายที่แท้จริงนั้นได้มีพัฒนาการตีความและอธิบายความคัมภีร์ไบเบิล โดยได้เขียนอรรถกถา หมายเหตุ หรือบทเทศนาในคัมภีร์ไบเบิลทั้งหมด ซึ่งตั้งอยู่บนหลักการการตีความคัมภีร์ ๓ ลักษณะ คือ ตามตัวอักษร (literal) ศีลธรรม (moral) และการเปรียบเทียบ (allegorical)[29]

๓.๒.๔ การตีความแบบใช้เหตุผลเชิงปรัชญาหรือวิทยาศาสตร์ (Positivistic or  Rationalistic or Philosophical Interpretation) กล่าวคือ การตีความแบบใช้เหตุผลเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าการตีความแบบปรัชญาหรือวิทยาศาสตร์  คือเป็นการนำเอาเหตุผลทางวิทยาศาสตร์มาพิสูจน์ความเชื่อทางศาสนา  เพื่อป้องกันการเชื่อถือบูชาแบบหลงงมงาย  ทฤษฏีนี้จัดเป็นแนวความคิดที่ตรงข้ามกับการตีความแบบถือเคร่งหลักความเชื่อเดิม  ดังนั้น  ทฤษฏีการใช้เหตุผลว่า ทฤษฏีปรับเปลี่ยนความเชื่อถือเดิม (accommodation  theory) กล่าวคือเรื่องราวอัศจรรย์ต่างๆ ที่เล่าไว้ใจคัมภีร์นั้น  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกลับพื้นคืนชีพของพระเยซู  เป็นต้น   เป็นเรื่องที่พยายามปรับเปลี่ยนให้เข้ากับความนิยมของคน  เป็นการปรับเข้ากับหลักไสยศาสตร์  ที่ปรับความคิดขึ้นมาให้มีความศักดิ์สิทธิ์น่าเลื่อมใส  เพื่อปลุกเร้าศรัทธาและความเสียสละ  ผู้มีจินตนาการแก่กล้าสามารถใช้พรสวรรค์ของตนสร้างบุคคลาธิษฐานขึ้นมาเป็นพระเจ้าเป็นเทวดา  ปีศาจ  สวรรค์  นรก ฯลฯ ทำให้ดูขลัง  ศักดิ์สิทธิ์ และกลายเป็นเรื่องเหนือธรรมชาติขึ้นในที่สุดตามเกณฑ์ข้างต้น  เซมเลอร์ตีความว่าพันธสัญญาเดิมเป็นเรื่องของชาวยิวในปาเลสไตน์ขณะที่เขียนโดยเฉพาะ มัทธิวเขียนสำหรับชาวยิวนอกปาเลสไตน์ ยอห์นเขียนสำหรับชาวคริสต์ที่มีวัฒนธรรมเฮลเลนิสต์ คือ กรกและโรมัน เซนต์ปอลเขียนสำหรับเอกภาพนานาชาติสมัยโรมันเรืองอำนาจ  ทั้งหมดล้วนแต่เป็นเรื่องเฉพาะถิ่นและเฉพาะกาลทั้งสิ้น[30] ฉะนั้น หลักภาษาอุดมการณ์ในการตีความแบบใช้เหตุผลก่อให้เกิดขบวนการปราชญ์นิยม (Scholasticism) และปราชญ์นิยมในคริสต์ศาสนาอุบัติขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๑ เมื่ออัลเบอร์ลาร์ด (Abelard  1079-1142) ใช้หลักเหตุผลในการทำความเข้าใจพระเจ้า และนักบุญ โทมัส อะไควนัส (St. Thomas  Aquinas 1225-1274) ได้ปรับเอาทฤษฏีเหตุผลของอาริสโตเติลมาประยุกต์ใช้กับทฤษฏีการพิสูจน์การมีอยู่ของพระเจ้า[31] เพราะเป็นการยอมรับมนุษย์เป็นผู้สร้างพระเจ้าขึ้น  เท่ากับเป็นการยอมรับความไม่แน่นอนของความศักดิ์สิทธิ์และเที่ยงแท้ของพระวจนะของพระเจ้า เท่ากับเป็นการทำลายพรเจ้านั่นเอง[32]

๓.๒.๕ การตีความแบบยึดหลักข้อเท็จริงทางธรรมชาติ (Naturalistic Interpretation)กล่าวคือ  การตีความแบบเน้นความเป็นไปข้อเท็จตามธรรมชาติ  เป็นการปฏิเสธสำนวนภาษาที่นำมาใช้เพื่อยกย่องศาสนา วิธีการนี้มีส่วนคล้ายกับการตีความแบบเน้นเหตุผลทางวิทยาศาสตร์  ดังนั้นเปาลุส (Paulus)  เป็นตัวแทนของวิธี โดยชี้แจงว่าเราควรแยกระหว่างข้อเท็จจริงตามธรรมชาติกับทัศนะส่วนตัวหรือสำนวนภาษา เขาเชื่อว่าเรื่องราวของพระเยซูในฐานะมนุษย์คนหนึ่งนั้นมีจริงในทางประวัติศาสตร์  แต่วิธีนำเสนอไม่เป็นวิชาประวัติศาสตร์  กลับไปนำเสนอตามความคิดเข้าใจและความรู้สึกศรัทธาของผู้เขียนพันธสัญญาใหม่แทน  ซึ่งมีหลักฐานวิชาการให้เชื่อถือได้  ดังนั้นเปาลุสจึงเสนอการตีความแบบเน้นข้อเท็จจริงตามธรรมชาติเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ที่พอจะเป็นที่ยอมรับกันในสังคมปัจจุบันว่า  การรักษาโรคด้วยปาฏิหาริย์ของพระเยซูจึงสันนิษฐานเชิงประวัติศาสตร์ได้ว่าพระองค์ทรงรู้วิธีรักษาโรคตามแผนโบราณของสมัยนั้น  การที่สาวกกล่าวว่าพระเยซูทรงเดินบนพื้นน้ำมาช่วยพวกตนขณะโดนพายุกระหน่ำก็สันนิษฐานได้ว่าพระเยซูขณะนั้นเดินบนชายหาด  พอดีเรือของสาวกถูกพายุพัดมาถึงชายฝั่งพอดี  เมื่อ เปโตรเห็นพระเยซูก็กระโดดลงจากเรือและจมลงในน้ำ   พระเยซูอยู่ตรงนั้นพอดีจึงฉุดขึ้นฝั่งพ้นน้ำได้ทันที  การเลี้ยงคน ๕,๐๐๐ คนด้วยขนมปัง ๕ ก้อนก็สันนิษฐานได้ว่า   พระเยซูทรงสงสารประชาชนมาก  จึงสั่งสาวกให้เอาเสบียงที่เหลืออยู่แบ่งให้คนที่กำลังหิวโดยพระเยซูเองและสาวกยอมอด  พอเห็นตัวอย่างเช่นนั้นประทับใจ  ทุกคนขึงพร้อมใจสลัดความเห็นแก่ตัวใครมีอะไรก็ควักออกมาแจกจ่ายเลี้ยงดูกันแบบเทกระเป๋า   ปรากฏว่ามีอาหารเหลือเฟือจนกินอิ่มกันทั่วหน้า  การปลุกลาซารัสให้คืนชีพหลังจากตายไป ๔ วันแล้วสันนิษฐานได้ว่าเป็นความบังเอิญที่สาซารัสเพียงแต่สลบไปและขณะที่พระเยซูสั่งให้เปิดหลุมฝังศพดู  ก็พอดีได้เวลาฟื้นพอดี การตีความประเภทนี้ถูกวิจารณ์ว่าไม่ได้ให้ความสำคัญแก่กฏเกณฑ์ทางภาษาของมนุษย์  และเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือทางประวัติศาสตร์ของศาสนา วิธีนี้อาจจะดูน่าสนใจอยู่ในระยะหนึ่ง  แต่ไม่นานนักมันก็ดูเป็นวิธีที่ไร้ความหมาย  ไม่ได้ช่วยให้เกิดศรัทธาต่อศาสนา[33] 

๓.๒.๖  การตีความแบบตำนานธรรมหรือนิทานปรัมปรา (Mythical Interpretation)กล่าวคือ  การตีความที่เน้นตำนานความเชื่อของชาวยิวที่เชื่อว่าจะมีผู้ช่วยให้รอดพ้นจากความเป็นทางของชาวยิวมาเกิดเพื่อไถ่บาปคือความเป็นทาสและความยากลำบากของชาวยิว  ในขณะที่พวกยิวมีความหวังและการรอคอยเช่นนี้  พระเยซูคริสต์ก็เสด็จอุบัติขึ้นทันที  เรื่องพระเยซูคริสต์จึงไม่ได้เป็นตำนานธรรมอย่างแท้จริง  โดยชี้ว่า  เรื่องการอุบัติของพระเยซูแท้ที่จริงเป็นการบังเอิญมาตรงกับการรอคอยของพวกยิว ความบังเอิญทำให้เกิดการยอมรับได้  เพราะเหตุผลที่ว่า ตามธรรมดามนุษย์มักมีความหวังว่า  จะต้องมีบุคคลพิเศษมาช่วยกอบกู้สภาพความยากลำบากทั้งปวง  บังเอิญว่าในหมู่ชนชาติยิวความหวังนี้พัฒนาขึ้นอย่างเข็มข้นมาก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ชาวยิวตกระกำลำบากในฐานะเป็นผู้เร่ร่อน  และโดยเฉพาะในคราวเป็นทาสในประเทพอียิปต์  เมื่อถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลย  ณ กรุงบาบิโลน  และขณะตกเป็นเมืองขึ้นของชาวโรมัน  พระเยซูปรากฏตัวขึ้นมีบุคลิกภาพตรงความคาดหวัง  จึงเกิดความเลื่อมใสแผ่กระจายออกอย่างคลื่นใต้น้ำ  ยิ่งเมื่อเห็นพระเยซูถูกประหารชีวิตอย่างน่าหวาดเสียว  ความสำนึกเรื่องผู้กอบกู้ก็ยิ่งทวีความเข็มขั้นขึ้นอย่างถนัดใจ  ความสำนึกอันเข็มขั้นของสาวกรวมตัวกันสร้างตำนานธรรมขึ้นบนชีวิตจริงของพระเยซู[34] ในการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในระยะแรก  ในคัมภีร์ต้องรู้จักแยกส่วนที่เป็นชีวประวัติจริงจากส่วนที่เป็นตำนานธรรมที่ความสำนึกของคริสต์ชนสร้างสะสมไว้  มาตรการที่สเตราส์แนะนำให้ใช้สำหรับตัดสินว่าอะไรเป็นตำนานธรรมหรือไม่เป็นตำนานธรรมดังกล่าว  ได้แก่ ๑) ไม่สอดคล้องกับเหตุการณ์อื่น ๆ ที่รับรู้กันอยู่แล้วว่าเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์  ๒)  มีข้อขัดแย้งในตำนานเดียวกันหรือระหว่างตำนาน ๓)  ถ้าตัวแสดงตำนานธรรมพูดออกมาเป็นคำกลอนซึ่งผิดวิสัยที่เหตุการณ์ปกตาจะเป็นเช่นนั้นได้  ๔)  เมื่อมีความบังเอิญซ่อน ๆ  กันอย่างเหลือเชื่อ ๕)  เมื่อมีความสอดคล้องกันอย่างเหลือเชื่อระหว่างพันธสัญญาเดิมกับพันธสัญญาใหม่  ๖)  ถ้าสอดคล้องกับความคาดหวังรอคอยพระเมสสิยาห์ของชาวยิวสมัยนั้นอย่างเหลือเชื่อ[35] 

๓.๒.๗ การตีความแบบอิงเจตนาดีทางศีลธรรมหรือสำนึกในหน้าที่ (Deontological or Morai  Interpretation) กล่าวคือ การตีความที่ยึดถ้อยคำหรือความหมายที่มีนัยทางศิลธรรม  คือ  สามารนำไปสู่ภาคปฏิบัติจนเกิดผลดีและพัฒนาคุณภาพชีวิตได้  ถ้าถ้อยคำหรือประโยคข้อความใดไม่มีความหมายทางศิลธรรมก็ไม่ควรให้ความสนใจ  เพราะไม่ก่อให้เกิดผลอะไร อิมมานูเอล  คานท์ถือว่าพระคัมภีร์แสดงความสำนึกในหน้าที่ของผู้รจนา  เพื่อปลุกความสำนึกรับผิดชอบในหน้าที่ของผู้อ่าน  เมื่อผู้อ่านได้อ่านแล้วเกิดความซาบซึ้งจนเกิดการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรม อันนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิต  วิธีนี้ มินตัน  เทอร์รีย์เรียกว่าเป็นวิธีศีลธรรม (moral  interpretation) โดยเขาให้เหตุผลว่า  คุณค่าของคัมภีร์อยู่ที่การยืนยันความมีเหตุผลของศาสนา การตีความแบบนี้จงใจละเลยความสำนึกรับผิดชองความสำคัญทางด้านไวยากรณ์ของภาษาศาสนาและไม่ใส่ใจประวัติศาสตร์ของคัมภีร์ไบเบิล  การตีความแบบี้มีส่วนคล้ายกับการตีความแบบจิตวิจักขณ์  และนิทานเปรียบเทียบที่สนใจแต่ศรัทธาของผู้ตีความเท่านั้น[36]

๓.๒.๘ ทฤษฎีการตีความแบบป้องกันธรรมหรือพิทักษ์ธรรม (Apologetic or  Dogmatic  Interpretation) กล่าวคือ การตีความที่ใช้วิจารณญาณตามครรลองแห่งศาสนา  เป็นการตีความที่พยายามค้นหาความหมายของข้อความในคัมภีร์ตามเจตนาหรือวัตถุประสงค์ของผู้เขียนหรือผู้รจนาคัมภีร์นั้นๆ   นักพิทักษ์ธรรมจะไม่พิทักษ์ธรรม  นักพิทักษ์ธรรมย่อมนำเสนอหลักความเชื่อทางศาสนาไปตามคัมภีร์ การตีความวิธีนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า  การตีความแบบคตินิยม (Traditional ) หรือ หลักข้อเชื่อ (Dogmatic) หลักการของวิธีตีความนี้จัดว่าเป็นคตินิยม (Tradition)  เพราะเหตุผลว่า ในศาสนาต่าง ๆ  นอกจากมีคัมภีร์หลักที่ถือกันว่าเป็นคำสอนดั้งเดิมที่สืบเนื่องมาจากพระศาสดาแล้ว  ยังมีคำสอนบางอย่างที่ถือว่าเป็นคำสอนของพระศาสดาเหมือนกัน  แต่ไม่ได้รับการบรรจุไว้ในคัมภีร์หลัก   เรียกว่าเป็นคัมภีร์รอง  แต่มีความสำคัญเท่ากับคัมภีร์หลัก  เหตุที่เป็นคัมภีร์รอง  เพราะในการประชุมประมวลคัมภีร์หรือสังคายนาคัมภีร์  ผู้ทรงจำคัมภีร์รองไม่ทราบว่าข่าวจึงไม่ได้มาร่วมด้วย  แต่ท่านก็อ้างว่าได้ยินได้ฟังมาจากพระศาสดาเหมือนกัน  จึงสั่งสอนคัมภีร์เหล่านั้นแก่ลูกศิษย์เรื่อยมา  จนกลายเป็นคตินิยม (Tradition)  เมื่อมีหลายคตินิยม  จึงเกิดความขัดแย้งทางความเชื่ออันนำไปสู่การทำสังคายนาเพื่อหาข้อยุติในหลักความเชื่อประเด็นที่สนทนากันในที่ประชุมสังคายนาจนได้ข้อยุติก็บัญญัติให้ผู้นำศาสนานำไปสอนตามนั้น   เรียกว่าข้อความเชื่อ (Dogma) [37] ถือว่าศาสนาแบบยึดคตินิยมและข้อความเชื่อและคตินิยมและข้อความเชื่อนี้อาจมีมากมีน้อยแตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละศาสนาของวิธีพิทักษ์ธรรมหรือข้อความเชื่อว่า  “วิธีนี้ยืนหยัดในการตีความเดิมอย่างเหนียวแน่น  หัวชนฝา  เกลือจิ่มเกลือ  ประณาม  ศอกกลับ  และให้กลเม็ดทุกรูปแบบ  เพราะเป้าหมายอยู่ที่ว่าต้องชนะทุกแง่ทุกมุม  ยอมไม่ได้  ถอยไม่ได้แม้แต่ก้าวเดียว   แพ้วันนี้ต้องกับไปหาวิธเอาชนะให้ได้ในวันพรุ่งนี้”  ดังนั้น ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกและโปรเตสแตนต์  ต่างก็มีนักตีความ   ของแต่ละนิกายซึ่งมีแนวต่างกันไปตามบริบท  นิกายโรมันคาทอลิกให้ความสำคัญกับสถาบันนักบวชในการตีความพระคัมภีร์  เพราะถือว่า  สถาบันนักบวชได้รับมอบอำนาจพระเจ้าโดยตรง  ผลดีคือมีความเป็นเอกภาพ  ผลเสียคือเป็นการผูกขาดอำนาจ   ส่วนโปรเตสแตนต์ถือว่าทุกคนมีสิทธิ์ในการตีความอย่างเท่าเทียมกันผลดีคือก่อให้เกิดเสรีภาพ  แต่มีผลเสียคือทำให้เกิดความแตกแยกทางความคิด การตีความแบบนี้มีข้อเสียตรงที่เกิดเผด็จการทางความคิดสำหรับนิกายโรมันคาทอลิก  และเกิดความแตกแยกทางความคิดสำหรับนิกายโปรเตสแตนต์  เพราะเหตุผลที่ว่า  “พิทักษ์ศาสนามักมีอคติและไม่ได้วิจารณญาณอาย่างเต็มที่” [38]

๓.๒.๙ ทฤษฎีการตีความแบบยึดตัวบทนิพนธ์หรือคัมภีร์ กล่าวคือ การตีความที่ยึดหลักการและระเบียบวิธีรวมทั้งความหมายของคัมภีร์ตามวัตถุประสงค์ของผู้แต่งเป็นสำคัญ  การตีความแบบนี้ผู้ตีความต้องมีคุณสมบัติเพียบพร้อม คือผู้ตีความต้องมีสติปัญญาดี  มีการศึกษาดี  และมีคุณธรรมดี ผู้ตีความแบบนี้ยอมรับคัมภีร์ด้วยใจเป็นกลาง  โดยไม่มีความมุ่งมั่นแต่เพียงว่าจะต้องพิสูจน์ว่าคัมภีร์นี้ถูกหรือผิด  แต่เขาจะต้องมุ่งที่จะค้นหาภาษาและความหมายของข้อความในคัมภีร์โดยไม่เกรงกลัวอำนาจใด ๆ โดยมีความเชื่อว่าคัมภีร์ไบเบิลก็ต้องมีการตีความเหมือนกับหนังสืออื่น ๆ  ด้วยเหมือนกัน ดังนั้น มิลตน เทอร์รีสนับสนุนการตีความหมายแบบยึดตัวบทนิพนธ์  คือ  ให้ถือว่าตัวบทภาษาดั้งเดิมที่ผ่านการตรวจตราความถูกต้องแล้วเป็นมาตรฐานคำสอนของศาสนา  กีรติ  บุญเจือสรุปหลักการตีความแบบยึดตัวนิพนธ์เป็นสำคัญว่า  “ผู้ตีความต้อง  (๑)  สำรวจตัวบทนิพนธ์อย่างละเอียดถี่ถ้วนทุกตัวอักษรของภาษาดั้งเดิม  ด้วยวิธีวิเคราะห์และวิจารณ์ทั้งด้านภาษาศาสตร์และประวัติศาสตร์  เพื่อให้ได้ตัวบทนิพนธ์ที่เป็นมาตรฐานขององค์การศาสนา (๒) ตีความหมายตามเจตนาของผู้นิพนธ์ซึ่งถือว่าเป็นความหมายตามเจตนาของพระเจ้าด้วย ตรงจุดนี้ต้องใช้ทั้งภาษาศาสตร์และประวัติศาสตร์ช่วยอีก  และ(๓) ผู้เชี่ยวชาญการตีความจึงต้องเชี่ยวชาญในวิชาประวัติศาสตร์  ภาษาศาสตร์  และภาษาดั้งเดิมทุกภาษา ที่เป็นที่ยอมรับของนักปราชญ์ทางศาสนาทั่วไป  และเทียบได้กับการตีความตามรูปแบบวรรณกรรม  (Litreary – form  Interpretation)  ของกีรติ  บุญเจือ  ซึ่งเป็นวิธีที่สังคายนาวาติกันที่ ๒ แนะนำให้ใช้และได้รับการตอบสนองอย่างดีจากนักวิชาการ  หลายฝ่าย  ทั้งที่เป็นคาลอลิกและไม่ใช่คาทอลิก  ช่วยกันพัฒนาเรื่อยมาจนทุกวันนี้[39] 

๔.  เพื่อศึกษาวิเคราะห์ทฤษฎีการตีความในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาเถรวาท

๔.๑  แนวคิดและทฤษฎีการตีความทางพระพุทธศาสนาเถรวาท

การตีความในคัมภีร์ของพระพุทธศาสนาเถรวาท  เราสามารถศึกษาถึงเทคนิคและวิธีการสอนของพระพุทธเจ้าที่ทรงใช้ภาษา ในการพัฒนาการตีความ  ดังนี้ คือ

๔.๑.๑  เป้าหมายในการตีความ[40]กล่าวคือเป้าหมายของการตีความทางพระพุทธศาสนาเถรวาท  มีเป้าหมายเพื่อเข้าใจและเข้าถึงความจริง ความถูกต้องและความดีงามเช่นกัน อาจแตกต่างกันแต่เพียงถ้อยคำที่ใช้เรียกเป้าหมายที่ค้นหาในรายละเอียด อาจจะเรียกไม่เหมือนกันตามภาษา และความเชื่อขั้นพื้นฐานตามแต่ละบริบทของสังคม เช่น พระพุทธศาสนา เรียกว่า ความสิ้นทุกข์ หรือ นิพพาน  ฉะนั้น การใช้ภาษาในพระพุทธศาสนาเถรวาท  ระหว่างภาษาสามัญกับภาษาอุดมคติ   ว่าอย่างไหนสามารถสื่อให้เข้าใจถึงความจริง ความถูกต้องและความดีงามมากกว่ากัน ทั้งสองฝ่ายต่างยืนยันความเห็นของตนเท่านั้นถูกต้องเป็นความจริงมากกว่า แต่พระพุทธศาสนาไม่ได้มีความเห็นแตกต่างระหว่างภาษาเช่นนั้น ทั้งภาษาสมมติ (ภาษาสามัญ) และภาษาปรมัตถ์  (ภาษาอุดมคติ) สามารถสื่อให้เข้าใจความจริง ความถูกต้องและความดีงามได้ด้วยกันทั้งสิ้น ตัวแปรหรือเงื่อนไขสำคัญในการเข้าใจและการบรรลุธรรมชั้นสูงนั้น ไม่ได้อยู่ที่ภาษาอย่างเดียว หากแต่ขึ้นอยู่กับภูมิธรรมภูมิปัญญาของผู้ฟังประกอบและเทคนิคในการสื่อ แนวคิดเกี่ยวกับการใช้ภาษา ทั้งทางตะวันตกและพระพุทธศาสนามีความเห็นตรงกันว่าสามารถใช้เป็นสื่อให้เข้าใจถึงความจริง ความถูกต้องและความดีงามได้ในระดับหนึ่ง และในอีกระดับหนึ่งของความจริง ความถูกต้องและความดีงามอาจอยู่เหนือภาษา

๔.๑.๒  ทฤษฎีการตีความ[41] กล่าวคือ  ทฤษฎีการตีความได้พัฒนาการมาตามลำดับเพื่อให้บรรลุเป้าหมายมากที่สุด จากการศึกษาข้างต้น จะเห็นว่า ทฤษฎีการตีความทางตะวันตกนั้น มี ๓ ทฤษฎีหลักที่ต่างเชื่อว่าจะสามารถทำให้ได้รับความหมายที่ถูกต้องสมบูรณ์มากที่สุด คือ ๑) ทฤษฎีที่ถือว่าความหมายสมบูรณ์อยู่ที่ผู้สื่อความหรือผู้เขียน  ๒) ทฤษฎีที่ถือว่าความหมายสมบูรณ์อยู่ที่คัมภีร์ และ๓) ทฤษฎีที่ถือว่าความหมายสมบูรณ์อยู่ที่ผู้อ่าน หากเปรียบเทียบทฤษฎีทั้งสามนี้กับแนวคิดทางพระพุทธศาสนา จะเห็นว่า แนวคิดและทฤษฎีการตีความตามนัยแห่งพระไตรปิฎกและอรรถกถา ตลอดถึงคัมภีร์อื่น ๆ จะชี้ให้เห็นถึงร่องรอยของทฤษฎีการตีความทางตะวันตกทั้งสามทฤษฎี เพราะไม่ว่าการอ้างอิงความถูกต้องชอบธรรมด้วยวิธีใด เช่น อ้างพระพุทธเจ้า อ้างคัมภีร์ อ้างบุคคล และไม่ว่าการอ้างนั้น จะผิดหรือถูก พระพุทธองค์ทรงให้มีท่าที “อย่าเพิ่งยินดี และอย่าเพิ่งคัดค้าน” แต่ให้ตรวจสอบเทียบเคียงอรรถะและพยัญชนะโดยการประชุมแล้วลงมติ ตามนัยแห่งมหาปรินิพพานสูตร กาลามสูตร และ ปาสาทิกสูตร สะท้อนให้เห็นว่า พระพุทธศาสนาได้ให้อิสระอย่างยิ่งแก่ผู้อ่านในการศึกษาตีความ วิเคราะห์ ไตร่ตรองว่าอะไรถูก อะไรผิด พร้อมทั้งให้เกณฑ์สำหรับวินิจฉัยด้วยตนเองกำกับไว้ ในเกณฑ์วินิจฉัยที่ว่านี้ มีนัยที่บ่งชี้ถึงความสำคัญของบริบททางสังคม โดยเฉพาะสังคมของนักปราชญ์เอาไว้ด้วย โดยนัยนี้ พระพุทธศาสนาจึงมีแนวคิดและทฤษฎีการตีความให้ความสำคัญแก่ผู้อ่านเช่นเดียวกับทางตะวันตก แต่ไม่ได้มีลักษณะที่สุดโต่ง  เพราะได้ให้กรอบตัดสินไว้ด้วยเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อ่านตีความอย่างอิสระจนเกินไป กรอบที่ให้ไว้เป็นเกณฑ์ตรวจสอบตัดสินนี้ เป็นธรรมอีกชุดหนึ่ง ซึ่งต่อมาได้ถูกจารึกเป็นคัมภีร์ หมายถึง เป้าหมายสูงสุดของการประพฤติปฏิบัติธรรม ได้แก่ นิพพาน เป้าหมายที่ว่านี้ จึงหมายถึงเจตนารมณ์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงสามารถสรุปได้ว่า การตีความในพระพุทธศาสนาจะให้ความสำคัญแก่ผู้สื่อความ (เจตนารมณ์) ผู้อ่าน และคัมภีร์เสมอกัน และการจะได้รับความหมายที่ถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์ต้องอาศัยทั้งผู้สื่อความ คัมภีร์ และผู้อ่านประกอบกน ลำพังเงื่อนไขดังกล่าวอย่างใดอย่างหนึ่ง อาจให้ความหมายได้ไม่ครอบคลุม  จะเห็นข้อนี้ชัดเจนในคัมภีร์เนตติปกรณ์ ในข้อที่ว่าด้วย “จตุพยูหหาระ” ในการตีความ ๔ ประการ คือ ๑) นิรุตติ ได้แก่ การวิเคราะห์ความหมายศัพท์ ๒) อธิปปาย ได้แก่ ความมุ่งหมาย จุดมุ่งหมายของผู้สื่อความ  ๓) เทสนานิทาน ได้แก่ มูลเหตุแห่งการแสดงธรรมข้อนั้น ซึ่งหมายถึง บริบททางสังคม และเจตนารมณ์ของผู้สื่อความ  และ ๔) ปุพพาปรสนธิ ได้แก่ การเชื่อมโยงระหว่างประโยคข้อความหน้ากับประโยคข้อความหลัง หรือความเชื่อมโยงกันระหว่างสูตรกับสูตร หรือ การเชื่อมโยงระหว่างอรรถะ พยัญชนะและการแสดงสูตรก่อนกับสูตรหลัง จตุพยูหหาระดังกล่าวนี้แสดงชัดถึงการต้องคำนึงถึงปัจจัยรอบด้านที่จะทำให้เข้าใจความหมายได้ถูกต้องสมบูรณ์ ทั้งปัจจัยภายในคัมภีร์และภายนอกคัมภีร์ เป็นการหาความสัมพันธ์สอดคล้องต้องกันภายในคัมภีร์ ซึ่งต้องพิจารณาพร้อมบริบททางสังคมด้วย

๔.๑.๓  รูปแบบการตีความ  กล่าวคือรูปแบบหรือระบบการตีความทางพุทธศาสนาจะพบว่า  มีรูปแบบที่นิยมนำมาใช้ในการตีความ ซึ่งนับได้ว่า เป็นรูปแบบที่มีพัฒนาการมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน พอสรุปได้เป็น ๕ ประการ คือ ๑) การตีความตามตัวอักษร โดยสำนักอันทิอากแห่งเอเชีย เชื่อตามหลักปรัชญาภาษาอุดมคติ ๒) การตีความสัญลักษณ์ โดยสำนักอเล็กซานเดรีย เชื่อภาษาแม้สื่อความจริงได้ แต่ไม่อาจสื่อความหมายตรงได้ทั้งหมด ๓) การตีความตามสำนวนภาษา ในสมัยอัสสมาจารย์ ปรัชญาภาษาสามัญ ๔) การตีความตามเหตุผล โดยปรัชญาพุทธิปัญญา นวยุคนิยม และเชื่อในภาษาอุดมคติ  ๕) การตีความตามรูปแบบวรรณกรรม เป็นการตีความในหลังยุคใหม่ นอกจากนี้  ยังมีรูปแบบการตีความอีกรูปแบบหนึ่ง คือ ๑) การตีความโดยพยัญชนะและเป็นข้อเท็จจริงตามประวัติศาสตร์ ๒) การตีความโดยยกนิทานเปรียบเทียบ ๓) การตีความแบบอุปมาอุปไมย ๔) การตีความแบบพัฒนาคุณภาพชีวิต ฉะนั้นในพระพุทธศาสนาเถรวาท ได้มีมีพัฒนาการมายาวนาน พระพุทธเจ้าทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถะและพยัญชนะ ชี้ให้เห็นว่า ความหมายและตัวอักษรมีความเชื่อมโยงกัน จะรู้ความหมายได้ต้องอาศัยตัวอักษร ตัวอักษรที่ประกอบเป็นบท เป็นประโยค เป็นหลายประโยค จะสื่อความหมายได้หรือมีความหมายอยู่ในตัว คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา จะให้ความสำคัญยิ่งในการวิเคราะห์คำศัพท์จนถึงรากศัพท์เพื่อให้ได้ความหมายที่ถูกต้องชัดเจน มีการนิยามความหมายศัพท์ชัดเจนตามความมุ่งหมาย ตลอดถึงแจงให้เห็นคำศัพท์ที่มีความหมายเดียวกันใช้แทนกันได้ไว้ด้วย นอกจากนี้ ข้อความในคัมภีร์แสดงให้เห็นถึงวิธีการสอนของพระพุทธเจ้าและเหล่าพระสาวกโดยการยกนิทานขึ้นเปรียบเทียบเป็นอุทาหรณ์ เป็นตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรมและเข้าใจง่าย และการใช้อุปมาอุปไมยเพื่อสื่อให้เข้าใจสิ่งหนึ่งโดยใช้สิ่งที่เข้าใจเป็นฐานเชื่อมโยงด้วยเหตุด้วยผล การเทศนาสั่งสอนด้วยวิธีต่าง ๆ ล้วนมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์ทั้งสิ้น  จึงสะท้อนให้เห็นถึงรูปแบบการอธิบายความการตีความในพระพุทธศาสนาอย่างชัดเจน[42]

๔.๒  การตีความคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาเถรวาท

การตีความคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาเถรวาท มี ๖ ลักษณะด้วยกัน  คือ

๔.๒.๑  พัฒนาการแนวคิดและทฤษฎีการตีความ กล่าวคือ การพัฒนาการแนวคิดการตีความคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เข้าใจถูกต้องตรงที่พระองค์สอน  โดยเทคนิควิธีหรือศิลปะในการทำความเข้าใจ  ในพัฒนาการการตีความในพระพุทธศาสนา จะเห็นว่า คำว่า การตีความ หรือ Hermeneutics ตรง ๆ แต่อาจะมีคำอื่นที่จัดอยู่ในขอบข่ายของการตีความ เช่น อตฺโถ (ความหมาย) อธิปฺปาโย (อธิบาย) วิคฺคโห (การวิเคราะห์) อิทํ วุตฺตํ โหติ (มีคำอธิบายนี้ว่า) ซึ่งคำเหล่านี้ จะพบมากในคัมภีร์ชั้นอรรถกถา และคัมภีร์ชั้นรองลงมา คำว่า “อรรถปริวรรต” ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา มีหลักฐานปรากฎชัดว่า หากมีผู้ใดที่เข้าใจผิดคลาดเคลื่อนและอธิบายผิดไปจากที่พระองค์ทรงสอน ผู้นั้นมักจะถูกเรียกว่า เป็นผู้กล่าวตู่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า[43] มี ๒ ลักษณะ ได้แก่ ๑)  ภาษากับการสื่อสาร  ในครั้งพุทธกาล การศึกษาและเผยแผ่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังใช้ระบบมุขปาฐะ (Oral tradition) มีลักษณะ ๙ ประเภท[44] ได้แก่ (๑) สุตตะ (๒) เคยยะ (๓) ไวยากรณะ (๔) คาถา (๕) อุทาน (๖) อิติวุตตกะ (๗) ชาตก (๘) อัพภูตธัมมะ  และ (๙) เวทัลละ  ๒)  การใช้ภาษาของพระพุทธเจ้า  คือ คำที่พระพุทธองค์ใช้นั้นเป็นคำที่ใช้พูดกันอยู่ในยุคนั้น คำว่า “วิชชา” ก็ดี “ธรรม” ก็ดี “พรหมจรรย์” ก็ดี “ธรรมวินัย” ก็ดี แม้กระทั่งคำว่า “นิพพาน” ที่แสดงถึงเป้าหมายสูงสุดของชีวิตตามทัศนะของพระพุทธศาสนา (หรือที่อยู่ในรูปของภาษาสันสกฤตว่า “นิรวาน”) ก็ดี เป็นคำที่ชาวอินเดียในยุคนั้นใช้พูดและสอนกันอยู่แล้ว แต่พระพุทธองค์ในฐานะทรงเป็นนักปฏิวัติ ปฏิรูปและอนุรักษ์ได้ทรงนำมาใช้โดยรื้อความหมายเก่าเสีย แล้วสร้างหรือให้ความหมายใหม่ตามทัศนะของพระองค์แทน ฉะนั้นคำว่า “ธรรม” ที่ท้าวสหัมบดีพรหมกล่าวถึงเมื่อครั้งที่ทูลอาราธนาให้พระพุทธเจ้าแสดงธรรม ท้าวสหัมบดีพรหมได้ใช้คำว่า ธรรม เหมือนกัน แต่ใช้ในความหมายของธรรมที่ไม่บริสุทธิ์ ดังข้อความว่า “ธรรมที่ผู้มีมลทินทั้งหลายคิดกันแล้ว ไม่บริสุทธิ์ ไม่ปรากฏในชนชาวมคธทั้งหลายมาก่อนแล้ว ขอพระองค์จงเปิดอริยมรรคอันเป็นประตูนิพพานเถิด”[45] ฉะนั้น การใช้ภาษาในการประกาศพระศาสนาของพระพุทธเจ้า จึงมีลักษณะเด่นที่สำคัญ คือ  ๑) ทรงใช้ภาษาท้องถิ่นในการประกาศศาสนาของพระองค์  ๒) ทรงใช้ภาษาสามัญที่ไม่ใช่ภาษาชั้นสูง  และ               ๓) ทรงใช้ภาษาแต่ทรงไม่ยึดติดในภาษาที่ใช้  เพราะว่า พระองค์ทรงใช้ภาษาสมมติกับบุคคลที่ฟังแล้วสามารถเข้าใจได้ทันที ตรงกันข้ามกัน หากคนที่จะสามารถเข้าใจได้ด้วยภาษาปรมัตถ์ พระองค์จะทรงใช้ภาษาปรมัตถ์กับคนนี้ แต่โดยปกติทั่วไป พระองค์จะทรงแสดงด้วยภาษาสมมติก่อนแล้วจึงทรงแสดงด้วยภาษาปรมัตถ์ภายหลัง กระนั้นก็ตาม ที่สำคัญคือ พระองค์ไม่ทรงยึดติดในภาษาที่ใช้เพราะไม่มีการยึดติดด้วยตัณหา มานะ ทิฐิ[46] ตามอุปนิสัยของผู้ฟัง การใช้ภาษาที่มีนัยสำคัญ ๒ ประการ คือ  ๑) การยอมรับความเกี่ยวเนื่องกันของคำพูด ซึ่งขึ้นอยู่กับความนิยมใช้พูดมากกว่าหลักการทางนิรุกติศาสตร์ ที่มีไวยากรณ์ และโครงสร้าง  ๒) บ่งชี้ถึงสิ่งที่ปัจจุบันเรียกว่า กระแสภาษา (language drift) ที่เกิดขึ้นโดยการใช้พูดกันอยู่เป็นประจำ ซึ่งเป็นการไม่ยอมรับโครงสร้างภาษาที่ยุ่งยากของนักภาษาศาสตร์ กระแสภาษานี้เองได้แสดงสถานะที่เป็นกลางระหว่างการยึดมั่นผูกขาดทางภาษาศาสตร์กับการละเมิดกฎเกณฑ์ทางภาษาศาสตร์[47]

๔.๒.๒ การตีความครั้งพุทธกาล กล่าวคือ การใช้ภาษาในลักษณะต่างๆ ของพระพุทธเจ้าครั้งพุทธกาล สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการตีความพระธรรมวินัยที่มาจากการใช้ภาษาเพื่ออธิบายถึงความจริงและความถูกต้อง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่พระสาวกพยายามจะสะท้อนให้เห็นถึงความรู้ความเข้าใจสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน แม้ไม่ได้เห็นรูปแบบหรือวิธีการตีความที่ชัดเจน  เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจเกี่ยวข้อธรรมนั้น ๆ จากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอน และความเข้าใจผิดที่เกิดขึ้นนั้นมีทั้งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ เป็นความเข้าใจที่เกิดเองโดยอัตโนมัติ ไม่ได้ตั้งใจที่จะให้เกิดความเข้าใจผิดเช่นนั้น เพราะขณะที่เกิดความเข้าใจขึ้นนั้น ไม่ว่าจะผิดหรือถูก ไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะรู้ว่าเป็นความเข้าใจที่ถูกหรือผิด เพราะไม่มีระเบียบหรือเกณฑ์กลางสำหรับเป็นเครื่องตัดสินที่ชัดเจน จึงคิดเข้าใจตามที่ตนเข้าใจ[48]และทั้งที่จงใจที่จะละเมิดด้วยไม่แน่ใจว่าเป็นความผิดหรือไม่[49] พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้วินิจฉัยการกระทำที่เกิดจากความเข้าใจเช่นนั้น ๆ ว่าผิดหรือถูกตามพุทธประสงค์ โดยทรงชี้ให้เห็นถึงวัตถุประสงค์ของพระองค์อย่างชัดเจน พร้อมทั้งยังได้ทรงให้เกณฑ์ในการวินิจฉัยไว้ด้วยในภายหลัง[50]จึงยุติลงได้โดยง่ายและไม่ทำให้เกิดการแตกแยกกันเพราะการตีความต่างกันมากนัก เพราะแม้บางกรณีดูเหมือนว่าตอนนั้นจะไม่สามารถปรองดองกันได้ แต่ในที่สุดแล้ว แต่ด้วยมีมติที่เป็นพุทธวินิจฉัยวางไว้เป็นแนวทางวินิจฉัยแล้ว จึงสามารถปรองดองและเป็นที่ตกลงกันได้ เช่น กรณีของภิกษุชาวโกสัมพีที่ทะเลาะกันระหว่างพระวินัยธรกับพระธรรมกถึกเรื่องน้ำที่เหลือไว้ในห้องน้ำ[51]ดังนั้น กรณีเช่นนี้เกิดขึ้น ผู้อยู่ในเหตุการณ์ จึงได้นำความเรื่องนี้ไปทูลแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อให้วินิจฉัยว่า สิ่งที่ภิกษุนั้น ๆ กล่าวแสดงนั้นไม่ได้เกินความเป็นจริง และพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงเป็นผู้วินิจฉัยว่า ผู้นั้น ได้เป็นพระอรหันต์แล้วจริง ตามนัยแห่งคำพูดนั้น ๆ การวินิจฉัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถือว่าเป็นข้อยุติเรื่องนี้ในแต่ละกรณี เช่น กรณีพระนันทะที่กล่าวถึงความไม่มีความอาลัย ในความเป็นคฤหัสถ์[52] กรณีพระจิตตหัตถ์ที่กล่าวถึงความไม่มีความเกี่ยวข้องกับการครองเรือน[53] กรณีพระโสเรยยะ ที่กล่าวถึงความไม่มีความรักในบุตร[54]เป็นต้น  ดังความหมายของพระอรหันต์หรือการพูดถ้อยคำที่สื่อให้เข้าใจถึงความเป็นพระอรหันต์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า มีสาเหตุ ๕ ประการ คือ ๑)  เพราะความเป็นผู้เขลา เพราะความเป็นผู้หลง  ๒) เพราะความปรารถนาลามก  ๓) เพราะความบ้า เพราะจิตฟุ้งซ่าน ๔) เพราะความสำคัญผิดว่าได้บรรลุแล้ว และ ๕) เพราะได้ถึงความเป็นพระอรหันต์จริง ๆ[55]

๔.๒.๓  การตีความหลังพุทธกาล กล่าวคือ การตีความหลักคำสอนหลังพุทธกาลที่มีปัญหาขึ้นและนำไปสู่กระบวนการแก้ไขของพระเถระผู้ใหญ่ในขณะนั้น มีเหตุการณ์สำคัญที่สืบเนื่องมาจากการที่มีภิกษุรูปหนึ่งเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาเมื่อยามชราแล้ว ชื่อว่า สุภัททวุฑฒปริพาชก เมื่อเห็นภิกษุที่เป็นปุถุชนร้องไห้เพราะความเสียใจ เมื่อได้ทราบข่าวว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานเสียแล้ว จึงได้ร้องห้ามภิกษุเหล่านั้นว่า ไม่ต้องร้องไห้เสียใจ การที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานนั้น เป็นการดีแล้ว เพราะต่อไปจะไม่ต้องมีใครมาคอยห้ามไม่ให้ทำนั่น ไม่ให้ทำนี่อีก พวกเราสามารถจะทำ  อะไรก็ได้ตามใจหวังเพราะเป็นอิสระจากพระพุทธเจ้าแล้ว[56]จึงเป็นเหตุให้เกิดการประชุมทำสังคายนาขึ้น มีวัตถุประสงค์เพื่อปราบภิกษุ เช่น สุภัททวุฑฒปริพาชก และถือโอกาสรวบรวมคำสอนของพระพุทธเจ้าที่กระจัดกระจาย ต่างคนต่างทรงจำกันมาแต่ละเรื่องให้เป็นหมวดหมู่ ซึ่งง่ายต่อการศึกษา ปฏิบัติกัน และทรงจำสืบมาอย่างเป็นระบบในที่ประชุมสังคายนา ที่ได้หยิบยกเอาประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการตีความพระธรรมวินัยขึ้น โดยเฉพาะพระวินัย เมื่อพระอานนทเถระได้หยิบยกพระดำรัสของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตรัสเมื่อจวนปรินิพพาน ตอนหนึ่ง เรื่องการอนุญาตให้สงฆ์หากมีความประสงค์จะถอดถอนสิกขาบทหลังจากที่พระองค์ปรินิพพานแล้ว สามารถถอดถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสียบ้างก็ได้[57] จากการที่พระองค์ตรัสเช่นนี้ เป็นการเปิดโอกาสให้มีการตีความสิกขาบทที่พระองค์บัญญัติ และในการประชุมทำสังคายนาครั้งที่หนึ่ง ได้เป็นประเด็นการตีความของพระอรหันตสาวกทั้งหลายออกเป็นหลายทัศนะ ไม่สามารถสรุปลงเป็นเอกฉันท์ได้[58]จึงทำให้พระสาวก (พระมหากัสสปเถระ)  ผู้เป็นประธานในการทำสังคายนาครั้งนั้นสรุปเป็นมติว่า จะไม่มีการบัญญัติและเพิกถอนสิกขาบทใด ๆ ทั้งสิ้น ให้คงไว้เช่นเดิมเช่นที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ คณะพระสังคีติกาจารย์ที่เข้าร่วมประชุมครั้งนั้น ได้เห็นชอบกับมตินั้น[59]ตามลักษณะการเสนอในคัมภีร์พระไตรปิฎก และมีความเชื่อมั่นในสติปัญญาของพระอานนท์ ประกอบกับการที่พระอานนท์มีความเคารพยำเกรงในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และซื่อตรงต่อพระธรรม จึงไม่น่าจะมีการบิดเบือน หรือ เสริมแต่งคำสอนให้เป็นอื่นจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนและตรัสเล่าให้ฟัง แม้จะเป็นการสรุปความ หากเป็นจริง ก็ไม่น่าจะผิดไปจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ ดังนั้น จากนัยดังกล่าวนี้ รูปแบบการทรงจำนำสืบของพระอานนท์เถระ จึงต่างจากเทพเฮอร์มส เพราะท่านไม่ได้ตีความก่อนแล้วค่อยสื่อให้แก่ผู้อื่น หากแต่เป็นการทรงจำตามที่ได้ฟังมาทุกประการ ข้อสรุปเช่นนี้อาจดูเกินจริง เพราะหากมองตามศักยภาพของมนุษย์ปัจจุบัน ไม่สามารถทรงจำได้ทุกคำพูดตามแบบฉบับถ่ายสำเนาได้จากการฟังเพียงรอบเดียว แต่น่าจะเป็นการทรงจำในเนื้อหาสาระ หรือแนวความคิดรวบยอดที่สำคัญเท่านั้น กระนั้นก็ตาม ด้วยศักยภาพของพระอานนท์ที่มีความเป็นเลิศในด้านพหูสุต มีสติดี มีคติดี มีความทรงจำดี เป็นอุปฐากที่ดี[60]

๔.๒.๔  นัยอันเป็นที่มาของการตีความ  กล่าวคือ  ในการตีความของพระพุทธเจ้านั้น มีการตีความธรรมวินัยมาโดยตลอดตั้งแต่ครั้งพุทธกาลจนถึงยุคปัจจุบัน ขึ้นในรูปแบบต่างๆ ตามวิวัฒนาการของวิทยาการสมัยใหม่และสภาพสังคมมนุษย์ที่เปลี่ยนไป นัยสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงการตีความพระธรรมวินัย มี ๔ ลักษณะ  ได้แก่   ๑) พระสูตรสองลักษณะ  ในพระไตรปิฎกมีคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ตรัสแสดงไว้ ๒ ประการ คือ  (๑) เนยยัตถะ และ (๒) นีตัตถะ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดงถึงลักษณะคำสอนดังกล่าวว่า…“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คน ๒ จำพวกนี้ ย่อมกล่าวตู่ตถาคต ๒ จำพวกเป็นไฉน คือ คนที่แสดงพระสุตตันตะที่มีอรรถจะพึงนำไป (เนยยัตถะ) ว่า พระสุตตันตะมีอรรถนำไปแล้ว (นีตัตถะ) ๑ คนที่แสดงพระสุตตันตะที่มีอรรถอันนำไป” และ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คน ๒ จำพวกนี้ ย่อมไม่กล่าวตู่ตถาคต ๒ จำพวกเป็นไฉน คือ คนที่แสดงพระสุตตันตะที่มีอรรถจะพึงนำไปว่า พระสุตตันตะมีอรรถที่จะพึงนำไป ๑ คนที่แสดงพระสุตตันตะที่มีอรรถอันนำไปแล้วว่า พระสุตตันตะมีอรรถอันนำไปแล้ว ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คน ๒ จำพวกนี้แล ย่อมไม่กล่าวตู่ตถาคต”[61] ๒) ลักษณะแห่งพรหมจรรย์  ลักษณะคำสอนหรือพรหมจรรย์ที่พระองค์ประกาศสั่งสอนว่า ประกอบด้วยอรรถะและพยัญชนะ ที่บันทึกจารึกไว้ในคัมภีร์ทางศาสนาที่มีลักษณะแห่งอรรถะและพยัญชนะนั้น อรรถกถาจารย์ได้อธิบายไว้ว่า ลักษณะแห่งพยัญชนะนั้น ได้แก่ บทแห่งพยัญชนะ ๖ ประการ คือ ๑) อักขระ ๒) บท  ๓) พยัญชนะ ๔) อาการ ๕) นิรุตติ และ ๖) นิทเทส  ส่วนลักษณะแห่งอรรถะนั้น เรียกว่า อรรถบท มี ๖ ประการเช่นกัน คือ ๑) สังกาสนา ๒) ปกาสนา ๓) วิวรณา ๔) วิภชนา ๕) อุตตานีกัมม์ และ๖) บัญญัติ[62] นี้เป็นการแสดงโดยย่อหรือการยกเพียงหัวข้อขึ้นกล่าวแสดงนั้น จัดเป็นความงามในเบื้องต้น (อาทิกัลยาณัง) การขยายความ เป็นงามในท่ามกลาง (มัชเฌกัลยาณัง) และการขยายความให้วิจิตรพิสดารด้วยอุทาหรณ์ อุปมาอุปไมยต่างๆ เป็นความงามในเบื้องปลาย (ปริโยสานกัลยาณัง)[63] ที่มีความสัมพันธ์ระหว่างอรรถะและพยัญชนะ ซึ่งทั้งอรรถะและพยัญชนะทั้งสองนี้ จึงต้องอาศัยกันและกัน คัมภีร์เนตติปกรณ์แสดงความสัมพันธ์ระหว่างอรรถะกับพยัญชนะไว้ดังนี้ว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงยกหัวข้อขึ้นแสดงด้วยอักษร ทรงอธิบายด้วยบท ทรงขยายความด้วยพยัญชนะ ทรงจำแนกแยกแยะด้วยอาการ ทรงทำให้เข้าใจง่ายด้วยนิรุตติ และทรงบัญญัติด้วยนิเทส[64] ๓) ลักษณะคำสอนที่เป็นอุปมาอุปไมย การตรัสแสดงธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เป็นคำอุปมาเปรียบเทียบสิ่งที่เป็นนามธรรมกับสิ่งที่เป็นรูปธรรม เพื่อให้เข้าใจถึงนามธรรมได้ง่ายและชัดเจนขึ้น คำอุปมาอุปไมยเหล่านั้น เป็นการแสดงถึงอรรถะแห่งธรรม ล้วนต้องตีความหมาย ขยายความทั้งสิ้น ผู้ศึกษาตีความคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาจึงจำเป็นต้องถอดรหัสจากอุปมาอุปไมยเหล่านั้นว่า มีนัยความหมายใด ๆ แฝงอยู่ที่พุทธประสงค์ เพราะอุปมาต่าง ๆ หรือสัญลักษณ์ทั้งหลายที่ใช้ในการสอนนั้น ล้วนมีนัยความหมายที่แฝงอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิธีการสอนหรืออธิบายความเช่นนี้ เป็นที่นิยมอย่างยิ่งในสมัยโบราณ หรือแม้ปัจจุบัน ได้มีการนำมาใช้บ้างเช่นกัน แต่ไม่เป็นที่นิยมเท่ากับในอดีต เพราะเกรงว่า บางทีตัวอุปมานั้นเองจะเป็นตัวบดบังความหมายที่แท้จริงเอาไว้เสียเอง และเป็นไปได้อย่างยิ่งว่า อาจมีผู้ที่ไม่สามารถมองทะลุผ่านอุปมาอุปไมยเหล่านั้น ตรงกันข้ามอาจยึดติดอยู่อุปมาอุปไมย ทำให้พลาดโอกาสเข้าใจถึงความหมายที่แท้จริงได้เช่นกัน  ในลักษณะนี้เรียกว่าเป็นการแสดงธรรมแบบบุคลาธิษฐานคือมุ่งจำนงให้เป็นบุคคลเป็นตัวตนที่สมมติขึ้นก็ได้เพื่อให้เห็นถึงธรรม ดังนั้น แบบอุปมา คือ เปรียบเทียบลักษณะของนิพพานสุข คือ เหล่าโคหนุ่มและโคสาวว่ายตัดกระแสแม่น้ำคงคาข้ามไปถึงฝั่งได้แล้ว เพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไป  เพราะราคะ โทสะ โมหะเบาบาง จึงกลับมาสู่โลกนี้อีกครั้งเดียว ก็จะทำให้ดีที่สุดแห่งทุกข์ได้ [65] เพราะว่านิพพานสุข เหมือนบ่อน้ำในทางกันดารที่บ่อนั้นไม่มีเชือก ไม่มีคันโพง ทันใดนั้น มีบุรุษเดินฝ่าความร้อนอบอ้าวเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้ากระหายน้ำมา เขามองดูบ่อน้ำนั้น ก็รู้ว่ามีน้ำ แต่สัมผัสด้วยกายไม่ได้[66] และ๔) ภาษา ๒ ลักษณะของพระพุทธเจ้ารูปแบบการสอนการแสดงธรรมของพระพุทธเจ้านั้น มีหลากหลายรูปแบบ และหลากเทคนิควิธี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอุปนิสัย จริตของบุคคลผู้ฟังเป็นประการสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาษาที่ใช้สอนนั้น มีสองลักษณะคือ ภาษาสามัญกับภาษาปรมัตถ์ ซึ่งภาษาทั้งสองนั้น พระองค์จะใช้กับบุคคลที่ต่างกัน เช่นผู้ที่มีปัญญาเป็นเลิศอยู่แล้ว จะทรงใช้ภาษาปรมัตถ์ที่มุ่งตรัสถึงแก่นแท้ของความจริงโดยตรง หากตรัสสอนคนที่มีปัญญายังไม่ถึงขั้น จะทรงใช้ภาษาสามัญเพื่อกล่าวแสดงถึงความจริงแท้ในเบื้องต้น แล้วจึงสรุปชี้ให้เห็นถึงความจริงในภาษาปรมัตถ์ภายหลัง เช่นประโยคข้อความว่า “ดูก่อนภิกษุ เธอจงวิดเรือนี้ เรือที่เธอวิดแล้ว จักถึงเร็ว (สิญฺจ ภิกฺขุ อิมํ นาวํ สิตฺตา เต ลหุเมสฺสติ)”[67] ลักษณะเช่นนี้เป็นการใช้ภาษาสามัญในการสื่อสาร ใช้เป็นอุปมาเปรียบเทียบร่างกายมนุษย์เป็นเรือ การวิดเป็นการปฏิบัติเพื่อสลัดน้ำคือความคิดที่ผิด นั่นหมายถึงการถึงฝั่งแห่งนิพพาน[68]

๔.๒.๕  แนวคิดและทฤษฎีการตีความในคัมภีร์ของพระพุทธศาสนาเถรวาททั้ง ๓ คัมภีร์  คือ 

๑) หลักการการตีความตามนัยพระวินัยปิฎก กล่าวคือ ในพระวินัยปิฎกจะสะท้อนให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพด้านการบัญญัติสิกขาบทสำหรับใช้ในการปกครองสงฆ์ในสมัยนั้น เนื่องจากเนื้อหาในพระวินัยปิฎกกล่าวถึงการบัญญัติวินัยและมูลเหตุต่าง ๆ ที่ทำให้ต้องปัญญัติวินัย การบัญญัติพระวินัยหรือสิกขาบทต่างๆ ของพระพุทธเจ้านั้น ทรงดำเนินการอย่างมีหลักการ เป้าหมายและวิธีการที่เป็นขั้นตอนมีเหตุมีผล และทรงกระทำด้วยความรอบคอบ ไม่ได้ยึดถือเอาพระองค์เป็นศูนย์กลางอำนาจ แม้พระองค์จะทรงมีอำนาจเต็มเปี่ยม แต่ทรงให้ความสำคัญแก่หมู่คณะทั้งประชาชนและภิกษุสงฆ์ ให้เป็นการยอมรับร่วมกันของหมู่จึงจะถือว่าเป็นข้อวินัยที่ใช้การได้อย่างประสิทธิภาพเพราะหากเห็นร่วมกันว่าดีแล้วย่อมมีการปฏิบัติตามโดยดี หากเห็นเป็นตรงกันข้าม แม้จะมีพระวินัยบัญญัติไว้ ก็ไม่มีความหมายใด ๆ เพราะไม่มีการทำตาม ความเป็นระเบียบเรียบร้อยไม่อาจเกิดขึ้นได้จริง ดังจะได้ศึกษาถึงหลักการในการบัญญัติพระวินัยของพระพุทธเจ้าในอันจะเป็นประโยชน์ในการตัดสินตีความทางพระพุทธศาสนาเถรวาททั้ง ๕ ประการ ได้แก่  ๑) เจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ในการบัญญัติพระวินัย  ๒) บริบทสังคมและการบัญญัติพระ ๓) ขั้นตอนการบัญญัติวินัย  ๔) วิภัชชวาทในการบัญญัติพระวินัย และ๕) เกณฑ์ตัดสินการตีความพระวินัย   

๒)หลักการตีความตามนัยพระสุตตันตปิฎก  กล่าวคือ พระสุตตันตปิฎก เป็นที่รวมแห่งหลักธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนแก่บุคคลต่างชนชั้น ต่างวรรณะ ตามโอกาสและสถานที่ต่าง ๆ ลักษณะสำคัญของพระสุตตันตปิฎก คัมภีร์อรรถกถาอธิบายไว้ว่า ๑) มีลักษณะการแสดงเชิงพรรณนาโวหาร มีสาระการแสดงโดยมีเทคนิคลีลา มีข้อเปรียบเทียบชี้ให้เห็นให้เข้าใจชัดขึ้นในประเด็นนั้น ๆ เรียกว่า โวหารเทศนา ๒) เป็นการสอนโดยมุ่งถึงอัธยาศัย อนุสัยและจริตของสรรพสัตว์เป็นสำคัญ เรียกว่า ยถานุโลมสาสน์ ๓) มีลักษณะถ้อยที่กล่าวแสดงเพื่อคลายความเห็นผิดโดยเฉพาะความเห็นผิด ๖๒ (ทิฏฐิ)  ประการ เรียกว่า ทิฏฐิวินิเวฐนกถา ๔) เป็นการศึกษาซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดความตั้งมั่น ให้มีสมาธิหรือเป็นแนวทางการฝึกสมาธิ เรียกว่า อธิจิตสิกขา        ๕) มุ่งให้ผู้ศึกษาอบรมสามารถสลัดละทิ้งกิเลสอย่างกลาง ที่กลุ้มรุมรบเร้าจิตใจมิให้สงบ โดยการให้ปฏิบัติสมาธิ เรียกว่า ปริยุฏฐานปหาน   ๖) มีลักษณะการทำลายกิเลสเป็นการข่มไว้ไม่ให้ฟุ้งขึ้น หรือไม่ให้แสดงผลตามอำนาจของกิเลส เรียกว่า วิกขัมภนปหาน  ๗) จะเป็นเครื่อง ป้องกัน ละ ความเศร้าหมองที่เกิดจากตัณหา ความอยาก จะทำให้เป็นผู้ไม่ทราบอธิบายหรือวัตถุประสงค์ที่ถูกต้อง ส่งผลให้เล่าเรียนไม่ถูกต้อง คลาดเคลื่อนไป และกลายเป็นผู้มีความเห็นผิดในที่สุด[69] ดังนั้นในพระสุตตันตปิฎก จึงมี ๒ ลักษณะคือ ๑) จากปฐมเหตุแห่งการแสดงพระสูตร ข้อนี้เกี่ยวข้องกับบริบทแห่งการแสดงธรรม ซึ่งขึ้นอยู่กับอุปนิสัยของบคคลที่ได้จำแนกลักษณะพระสูตรตามมูลเหตุที่ตรัสสูตรนั้น ออกเป็น ๔ ลักษณะด้วยกัน[70] ได้แก่  อัตตัชฌาสัย, ปรัชฌาสัย, ปุจฉาวสิกะ, และอัตถุปปัตติกะ  ๒) จากเนื้อหาในพระสูตร ประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับเนื้อหาในพระสูตรที่แสดงถึงนัยหรือหลักการตีความ ตามนัยพระสุตตันตปิฎก ได้แก่  ธัมมจักกัปปวัตนสูตร, [71]อนัตตลักขณสูตร, [72]เตวิชชสูตร,[73]มหานิทานสูตร,[74]ปาสาทิกสูตร[75],และกาลามสูตร[76]

๓) หลักการตีความตามนัยพระอภิธรรมปิฎก กล่าวคืออภิธรรมปิฎก มีลักษณะสำคัญตามนัยที่อรรถกถาจารย์จัดไว้คือ เป็นการเสนอเนื้อหาสาระของแก่นธรรมล้วน ๆ เพื่อปลดเปลื้องความสำคัญว่ามีตัวตน มีข้อความกล่าวถึงการกำหนดสิ่งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมตามความเป็นจริงเพื่อให้คลายความกำหนัด ความโกรธ ความหลง เป็นขั้นพัฒนาด้านปัญญาเพื่อขจัดกิเลสที่ละเอียดในสันดานในขั้นเด็ดขาด อภิธรรมปิฎกจึงมีเป้าหมายคือ เป็นเครื่องห้าม ป้องกัน ละ ความเศร้าหมองที่เกิดจากความเห็นผิด ไม่ให้คิดฟุ้งซ่านคลาดเคลื่อนจากความจริงแห่งธรรม[77] หากจัดตามนวังคสัตถุสาสน์ อภิธรรมปิฎก จะจัดอยู่ในไวยยากรณะ เพราะเป็นการจำแนกแยกแยะอธิบายธรรมที่ไม่ได้อยู่ใน ๘ ประเภทที่เหลือ มีลักษณะการจำแนกองค์ธรรมทั้งที่เป็นการสงเคราะห์หรือรากฐานของธรรม ที่เป็นบัญญัติสมมติเรียกเพื่อให้สื่อใหเข้าใจกัน ที่เป็นเกณฑ์ตัดสินธรรม ที่เป็นคู่เหตุและผล และทั้งที่องค์รวมหรือชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันและกันของธรรม หลักการตีความนัยแห่งอภิธรรมปิฎก พอสรุปสาระสำคัญ ได้แก่ ๑)  การตีความโดยการ ๒)  การตีความโดยการวิเคราะห์ ๓) การตีความโดยการชี้ให้เห็นถึงแก่นแท้ ๔) การตีความโดยการใช้ภาษาเชิงบัญญัติ ๕) การตีความโดยหลักการวิภัชชวาท ๖) การตีความโดยแสดงธรรมที่เป็นคู่กัน ๗) การตีความโดยการเชื่อมโยงแบบบูรณาการ

๔.๒.๖  หลักการในการวินิจฉัยพระธรรมวินัย ในการตีความของพระพุทธศาสนาเถรวาท ทั้ง ๓ คัมภีร์   คือ

๑) เกณฑ์การตัดสินความเป็นพระธรรมวินัย  กล่าวคือ  เกณฑ์การตัดสินความเป็นพระธรรมวินัย ความเป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงแสดงเอาไว้สองชุดหลัก คือ แสดงแก่พระนางมหาปชาบดีโคตมีชุดหนึ่งมี ๘ ประการและแสดงแก่พระอุบาลีเถระชุดหนึ่ง มี ๗ ประการ หลักเกณฑ์ตัดสินทั้งสองชุดมีความแตกต่างกันเล็กน้อยในแง่ของพยัญชนะหรือถ้อยคำที่ใช้ในรายละเอียด แต่โดยเนื้อหาสาระที่เป็นเป้าหมายสูงสุดไม่ต่างกัน หลักธรรมทั้ง ๒ ลักษณะได้แก่  ๑)  เกณฑ์การตัดสินความเป็นพระธรรมวินัยนี้ ที่ตรัสแสดงแก่พระนางมหาปชาบดีโคตมีพบในพระวินัยปิฎก จุลลวรรค เป็นการตรัสแสดงถึงพฤติกรรมที่แสดงออกให้เห็นหรือสิ่งที่เกิดขึ้นภายในใจของแต่ละคน อาจเรียกได้ว่า เป็นเกณฑ์วัดในเบื้องต้นเพื่อเข้าสู่เป้าหมายสูงสุดต่อไป และเป็นรูปแบบการดำเนินชีวิตที่พึงประสงค์ตามทัศนะของพระพุทธศาสนา เกณฑ์ตัดสินดังกล่าวนี้ มี ๘ ประการ คือ ธรรมวินัย  ได้แก่  (๑) ต้องเป็นไปเพื่อคลายความกำหนัด ไม่ใช่เพื่อเพิ่มความกำหนัด (๒) ต้องเป็นไปเพื่อการพรากจากทุกข์ ไม่ใช่เพื่อการประกอบในทุกข์ (๓) ต้องเป็นไปเพื่อความไม่สะสม ไม่ใช่เพื่อความสะสม (๔) ต้องเป็นไปเพื่อมักน้อย ไม่ใช่เพื่อความมักมาก (๕) ต้องเป็นไปเพื่อความสันโดษ ไม่ใช่เพื่อความไม่สันโดษ (๖) ต้องเป็นไปเพื่อความสงัด ไม่ใช่เพื่อการคลุกคลีด้วยหมู่ (๗) ต้องเป็นไปเพื่อปรารภความเพียร ไม่ใช่เพื่อความเกียจคร้าน และ (๘) ต้องเป็นไปเพื่อความเลี้ยงง่าย ไม่ใช่เพื่อความเลี้ยงยาก[78]  และ ๒) เกณฑ์การตัดสินความเป็นพระธรรมวินัยนี้ ที่ตรัสแสดงแก่พระอุบาลีเถระพบในพระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย สัตตกนิบาต เป็นการนำเอาเป้าหมายสูงสุดของพรหมจรรย์หรือเป้าหมายสูงสุดในการประพฤติปฏิบัติในพระพุทธศาสนามาเป็นเกณฑ์ตัดสิน การตีความธรรมวินัยที่ถูกต้องนั้นต้องมุ่งสู่เป้าหมายสูงสุด เกณฑ์ตัดสินชุดดังกล่าวนี้ มี ๗ ประการดังนี้ คือ ธรรมวินัย ได้แก่ (๑) ต้องเป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย (๒) ต้องเป็นไปเพื่อความคลายกำหนัด  (๓) ต้องเป็นไปเพื่อความดับทุกข์  (๔) ต้องเป็นไปเพื่อความสงบระงับกิเลส (๕) ต้องเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง (๖) ต้องเป็นไปเพื่อความตรัสรู้  และ (๗) ต้องเป็นไปเพื่อนิพพาน[79]

๒) หลักมหาปเทศ กล่าวคือ หลักการสำหรับการอ้างอิงที่มักถูกใช้อ้างอิงถึงแหล่งที่มาของธรรมหรือความรู้เรื่องธรรม หลักนี้มีนัยเหมือนกันกับหลักการในกาลามสูตรคือ ต้องตรวจสอบแหล่งที่อ้างนั้นโดยอรรถะและพยัญชนะต้องลงกันประการหนึ่ง ต้องตรวจสอบกับสูตรและวินัยประการหนึ่ง จึงจะถือว่าเป็นธรรมวินัยที่ถูกต้องสามารถเชื่อถือตามได้ กล่าวคือ แหล่งที่มาของความรู้เกี่ยวกับธรรมวินัยที่มักใช้อ้างในยุคที่ไม่มีคัมภีร์เป็นเล่ม ซึ่งเป็นการอ้างถึงบุคคลที่เป็นที่มาของข้อมูลนั้น ๆ มี ๔ ประการได้แก่ อ้างพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อ้างสงฆ์ อ้างพระเถระหลายรูป อ้างพระเถระรูปเดียว  ฉะนั้นการอ้างแหล่งความรู้เหล่านี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ให้คัดค้านหรือเห็นด้วยในเบื้องต้น หากแต่ต้องตรวจสอบข้อความธรรมวินัยที่ได้ฟังมานั้นกับสูตรและวินัยเสียก่อน หากการตีความธรรมวินัยโดยอ้างแหล่งที่มาดังกล่าวไม่ขัดแย้งกับสูตรและวินัย จึงค่อยเชื่อถือและน้อมนำมาปฏิบัติต่อไป หากเป็นไปในทางตรงกันข้ามถือว่านั่นไม่ใช่ธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นการทรงจำมาผิด[80] สูตรและวินัยที่ใช้เครื่องตัดสินตรวจสอบที่ว่านี้ ได้แก่ ปิฎกทั้งสามที่ได้รับการสังคายนามาสามครั้งเท่านั้น สูตรนอกจากนี้ไม่ถือเป็นประมาณในการตัดสิน ส่วน “วินัย” อรรถกถาไม่ได้อธิบายไว้ว่าหมายถึงอะไร แต่คัมภีร์เนตติปกรณ์ได้อธิบายไว้ว่า “วินัย” ในที่นี้ หมายถึง ราควินัย โทสวินัย และโมหวินัย  คือ วินัยในความหมายว่า การขจัดหรือนำออกเสียได้เด็ดขาดซึ่งราคะ โทสะ และโมหะ โดยนัยนี้ จึงเป็นการวัดตรงที่ผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคตแห่งธรรมวินัยที่ตีความนั้น และคัมภีร์เดียวกันนี้ ได้ตีความคำว่า “สูตร” หมายถึง “อริยสัจ ๔” [81] เป็นหลักธรรมสำคัญที่ถือว่าเป็นที่ประชุมลงแห่งธรรมทั้งปวง

๓)  ธรรมที่เป็นหลักการและเกณฑ์ตัดสินการตีความ  กล่าวคือ  หลักธรรมที่ถือได้ว่า เป็นทั้งหลักการตีความและเป็นเกณฑ์ตัดสินการตีความในตัวมันเอง ควรนำมากล่าวสรุปไว้เพื่อให้เห็นรูปแบบการตีความคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาเถรวาทชัดเจน และเป็นที่ยอมรับว่า หากการอธิบายความตีความธรรมแล้วอยู่ในขอบเขตของหลักธรรมเหล่านี้ถือว่า การตีความนั้นถูกต้อง หลักธรรมที่ว่านี้ ได้แก่ ๑) มัชฌิมาปฏิปทา หมายถึง ข้อปฏิบัติ แนวทางปฏิบัติแบบเป็นกลาง บางทีเรียกว่า ทางสายกลาง เพราะเป็นแนวทางที่ไม่ข้องแวะความสุดโต่งด้านใดด้านหนึ่งตามนัยแห่งธัมมจักกัปปวัตนสูตร[82]  ๒) ปฏิจจสมุปบาท  แสดงให้เห็นลักษณะพิเศษของการตีความคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาที่มุ่งแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงแห่งเหตุปัจจัยของสรรพสิ่ง ที่ป็นกระบวนการเกิดและกระบวนการดับแห่งความทุกข์ว่ามีเหตุปัจจัยทำให้เกิดและดับ ไม่ใช่เป็นการเกิดขึ้นและดับไปโดยไม่มีเหตุปัจจัย หรืออีกนัยหนึ่ง กระบวนการเกิดขึ้นแห่งความรู้ (วิชชา) และกระบวนการดับแห่งความไม่รู้ (อวิชชา) ล้วนมีเหตุปัจจัย หากความรู้เกิดขึ้น ความทุกข์ดับ แต่ถ้าความไม่รู้เกิดขึ้น ความทุกข์ก็เกิดขึ้น คือ การเชื่อมโยง หรือ การอิงอาศัยกันและกัน  นี้เป็นกรอบในการตีความ แล้วปรับประยุกต์ใช้เพื่อเชื่อมโยงปัจจัยร่วมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการตีความคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาเถรวาท ไม่มองข้ามความสำคัญของปัจจัยร่วมอย่างใดอย่างหนึ่งที่จะให้ได้ความหมายที่สมบูรณ์ หากแต่ให้เล็งเห็นความสำคัญแห่งความเป็นเหตุปัจจัยที่จะให้ความหมายที่สมบูรณ์และความถูกต้องแห่งหลักคำสอนให้มากที่สุด                   ๓) อริยสัจ ๔  เป็นหลักคำสอนที่แสดงความเป็นเหตุเป็นผล ถือว่า เป็นหลักคำสอนที่สามารถเป็นได้ทั้งกรอบคิดในการตีความและเกณฑ์ตัดสิน ตรวจสอบความถูกต้องของการตีความ คัมภีร์เนตติปกรณ์และเปฏโกปเทศ ถือว่า อริยสัจ ๔ นี้เป็นสูตรสำหรับเทียบเคียง ตรวจสอบ เพราะเป็นที่รวมแห่งคำสอนด้านการปฏิบัติเพื่อเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา ในกรณีที่มีการตีความโดยอ้างบุคคล หรืออ้างคัมภีร์ หากการตีความนั้นมีเหตุมีผลและเป็นไปเพื่อความดับทุกข์ จึงจะถือว่าเป็นการตีความที่ถูกต้อง ซึ่งสอดคล้องกับพระดำรัสที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงคำสอนของพระองค์ว่า ทรงสอนเรื่องทุกข์และความดับแห่งทุกข์เท่านั้น ๔) วิภัชชวาท  หรือ โยนิโสมนสิการ ไม่ใช่เป็นหลักคำสอน แต่เป็นพุทธวิธีในการสอนและลักษณะสำคัญของการสอนประการหนึ่งของพระพุทธศาสนา เป็นหลักที่สะท้อนมาจากหลักคำสอนเรื่องมัชฌิมาปฏิปทาและปฏิจจสมุปบาท วิภัชชวาทจึงเป็นรูปแบบการตีความในพระพุทธศาสนา เช่น การจำแนกแสดงขันธ์ ๕ เพื่อชี้ให้เห็นว่าความเป็นอนัตตา ความไม่มีความเป็นตัวตนแท้จริงของมนุษย์ในอนัตตลักขณสูตร[83] และจำแนกแสดงถึงวาจาที่ควรพูดและไม่ควรพูดใน   อภัยราชกุมารสูตร[84] เป็นต้น

๕.  เพื่อประยุกต์ใช้ทฤษฎีอรรถปริวรรตศาสตร์ทั้งสองฝ่ายในการตีความหรือทำความเข้าใจประเด็นทางพระพุทธศสนาถกเถียงกันโดยยังไม่มีข้อยุติในเรื่องของปัญหากับการใช้ภาษาในการสื่อสารเพื่อการเผยแผ่ธรรมะในยุคปัจจุบัน

๕.๑   ปัญหาเกี่ยวกับการใช้ภาษาสื่อสารในอดีต[85]

ปัญหาเกี่ยวกับการใช้ภาษาสื่อสารในอดีตก็คือ “ภาษา” ความรู้หรือการศึกษาปริบททางสังคมหรือสภาพสังคม วัฒนธรรม ความคิด ความเชื่อ พฤติกรรม และการถ่ายทอดหรือการสื่อสาร และสามารถใช้ภาษาอธิบายได้จริง  ภาษาเป็นเพียงการสื่อเจตนาของผู้พูดหรือผู้ใช้ตามความปรารถนา การที่จะใช้ภาษาเป็นสื่อกลางในการสื่อความจริงจากคนใดคนหนึ่ง เพื่อสะท้อนความจริงที่สุดนั้นจะต้องอาศัยองค์ประกอบหลายอย่าง เพราะลำพังภาษาไม่สามารถบอกความจริงได้หมด ดังนั้น สิ่งที่ควรพิจารณาประกอบในการเข้าใจภาษา ๔ ประการ ได้แก่ ๑) ความรู้หรือการศึกษา    ๒) ปริบททางสังคมที่แตกต่างกัน  ๓) การใช้ภาษาในการสื่อสารกัน  และ ๔)  การถ่ายทอดหรือการสื่อสารที่มีขีดจำกัด  ในระบบการสื่อสารในสมัยก่อน ไม่มีเครื่องมือที่ทันสมัยสื่อสารกันเหมือนยุคนี้ ส่วนมากก็สื่อสารผ่านบุคคลและสัญลักษณ์ ภาษาอักษรยังไม่เจริญ การสืบทอดจึงอาศัยสืบต่อ ๆ กันโดยเล่าต่อ ๆ กันมา โดยการท่องจำ เมื่อผ่านเวลาจากรุ่นสู่รุ่นเกิดปัญหาเช่นกัน เช่น การสืบทอดประเพณี การรักษาแบบแผนเป็นอุปสรรคในการตีความในเนื้อหาธรรมด้วย เพราะการสื่อสารกันทางภาษาเขียนที่ไม่ชัดเจน เมื่อสื่อกันทางปากหรือท่องกันมา ย่อมก่อให้เกิดการคลาดเคลื่อนได้ แม้แต่พระไตรปิฎกก็มีการตีความต่างกัน จึงเป็นเหตุให้เกิดการแต่งคัมภีร์ต่าง ๆ ออกมาเพื่อขยายความหมายให้กระจ่างขึ้นเช่น คัมภีร์อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา เป็นต้น

๕.๒  ปัญหาเกี่ยวกับการใช้ภาษาสื่อสารในปัจจุบัน[86]

ปัญหาเกี่ยวกับการใช้ภาษาสื่อสารในปัจจุบันความเจริญในด้านต่าง ๆ ได้นำพาให้ผู้คนสนใจสิ่งใหม่ ๆ สิ่งแปลก ๆ สิ่งที่น่าตื่นตาตลอด ในขณะสิ่งเก่า ๆ สิ่งที่คุ้นเคยมานานเริ่มได้รับความสนใจน้อยลง หาว่าเป็นสิ่งโบราณ ไม่ทันสมัย โดยเฉพาะภาษาไทย วัฒนธรรมไทย ศาสนภาษา ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเข้าใจภาษาธรรมะในปัจจุบันอย่างมาก ดังนั้น องค์ประกอบที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าใจภาษาในสังคมทั้ง ๖ ประการ ได้แก่ ๑)สื่อ  ๒)ภาษา ๓) วัย ๔) การศึกษา ๕) ความไม่ใส่ใจ  และ ๖) เทศะ 

๕.๓  ปัจจัยที่มีผลต่อปัญหาในการเข้าใจภาษาสื่อสารในอดีตและปัจจุบัน

ปัญหาในการเข้าใจภาษาในอดีตจนถึงปัจจุบัน  การเรียนรู้หรือภาษาแห่งประสบการณ์ที่มีพื้นฐาน  เพราะว่าภาษาศาสนามีแบบฉบับที่ตายตัว มีความหมายที่อิงคติทางศาสนามิใช่ทางสังคม แต่ยังมีทางออกในการเสนอให้คนยุคใหม่นั้นคือ การตีความ (Interpretation) เพราะนี่คือ กระแสแนวใหม่ของกลุ่มภาษาศาสตร์ กลุ่มเทวศาสตร์ กลุ่มปรัชญาในยุคศตวรรษที่  ๒๑ ที่เน้นการตีความทางภาษาศาสตร์ ในการตีความภาษาทางศาสนาจะต้องอาศัย ๕ วิธี ดังนี้ ๑) การตีความเอาตามอักษร (Letter) ๒) การตีความเอาตามสัญลักษณ์ (Signs) ๓) การตีความเอาโดยอรรถ (Content) ๔) การตีความเอาตามเหตุผล (Reason) และ๕) การตีความเอาทางวรรณกรรม (Writing’s Will)[87] ฉะนั้นแก้ไขปัญหาเรื่องภาษาในสื่อสาร ควรตระหนักในการสื่อสารให้ถูกหลักภาษา โดยให้นักวิจารณ์หรือนักอนุรักษ์ภาษาคอยติติงไว้ เพื่อสร้างจิตสำนึกในวิถีวัฒนธรรมของตัวเอง เพื่อให้เกิดความถูกต้องและไม่แปรผันในอนาคต  สำหรับผู้รับสื่อ ก็ควรมีวิจารณญาณให้ดี อย่าด่วนรับหรือปฏิเสธสิ่งที่เห็น ที่ได้ยินเกินไป รู้จักการวิเคราะห์หาเหตุผล เลือกเอาสิ่งที่ดีมาใช้ มาสร้างสรรค์สังคม เพราะภาษามีการเปลี่ยนแปลง เกิดตายอยู่เสมอ ภาษาไม่เพียงเปลี่ยนแปลงเท่านั้น มันยังจะต้องเปลี่ยนแปลงโดยไม่มีจุดจบ ภาษาแตกต่างกันมาก สาเหตุที่ภาษามีการเปลี่ยนแปลงเพราะว่า ภาษาเป็นเพียงจำลองความคิด ความรู้สึก โลกทัศน์ ของเราเท่านั้น และความคิด ความรู้สึก โลกทัศน์ของเราเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การที่ภาษาไม่มีการเปลี่ยนแปลงย่อมเกิดการตายของภาษาได้ สาเหตุการตายของภาษาคือ ภาษาวิบัติ ที่กล่าวเช่นนี้ เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า ภาษาอยู่ภายใต้ของกฎพระไตรลักษณ์เพราะว่าปัจจัยที่มีผลต่อปัญหาในการเข้าใจภาษาสื่อสารในอดีตและปัจจุบัน  ในปัญหาที่เป็นปัจจัยที่ไม่เอื้อต่อการเข้าใจ ได้แก่ ๑) ปัญหาเรื่องสื่อมวลชน   ๒) ปัญหาเรื่องการใช้ภาษา  ๓) ปัญหาเรื่องการศึกษาที่แตกต่างกัน ๔) ปัญหาเรื่องความสนใจใฝ่รู้  และ ๕) ปัญหาเรื่องปริบททางสังคม  เพราะว่า ปัญหาภาษาในเรื่องการสื่อสาร คือ เริ่มจากสัญลักษณ์ เมื่อไม่รู้จักสัญญะทางศาสนา ย่อมขาดความเคารพนับถือ ซึ่งจะไปสู่การไม่รู้จักการแสดงออก การร่วมกิจกรรมทางศาสนา หรือแม้เข้าร่วมแต่ไม่รู้ซึ้งถึงแก่นสาระของพิธีกรรมที่แฝงคำสอนเอาไว้ ในที่สุดก็จะไม่รู้จักการเลือกใช้ภาษา การไม่เข้าใจภาษา  ในรูปแบบของการสื่อสาร จึงสื่อสารออกมาตามสภาวะที่ตนเองมีในเนื้อหานั้นๆ  เพราะเป็นภาษาที่ลึกซึ้ง และเป็นภาษาที่เป็นนามธรรมมากไป ด้วยเหตุนี้ ทั้งผู้สื่อธรรมและผู้ฟังควรใช้มาตรฐานทางสังคม เช่น ภาษา อุปนิสัย ความแตกต่าง ความสนใจของกลุ่มในท้องถิ่นนั้น ๆ เป็นบรรทัดฐานในการเผยแผ่ธรรมะด้วย

๕.๔  แนวทางการแก้ปัญหาการใช้ภาษาสื่อสารในอนาคต

แนวทางการแก้ปัญหาการใช้ภาษาสื่อสารในอนาคตมี ๓แนวทาง ได้แก่

๕.๔.๑  แนวทางออกของการแก้ปัญหา  กล่าวคือการแก้ปัญหาเรื่องการใช้ภาษาเพื่อการเข้าใจธรรมะนี้ เป็นเรื่องการสร้างจิตสำนึกร่วมกัน ระหว่างผู้เผยแผ่ธรรม (Sender) สื่อมวลชน (Channel) และผู้รับ (Receiver) ซึ่งแต่ละกลุ่มจะต้องมีคุณสมบัติทั้งส่วนตัวและส่วนรวมร่วมกัน พระสงฆ์ในฐานะผู้นำในการสืบทอดการเผยแผ่ธรรมจะต้องเข้าใจตัวเอง เข้าใจหลักธรรม เข้าใจสื่อที่ใช้และเข้าใจจิตวิทยาของผู้รับด้วย นอกจากนี้ ยังต้องมีคุณสมบัติเฉพาะตัวคือ ฉลาดไหวพริบ มีปฏิภาณ สามารถนำเอาอุปกรณ์แวดล้อประสบการณ์ เหตุการณ์นั้น มาเป็นสื่อการสอนได้ด้วย และสิ่งที่จะเพิ่มเสริมเพื่อให้เกิดความมุ่งมั่นอย่างแท้จริงคือ อุดมคติหรือจุดมุ่งหมายของกิจกรรมทางศาสนานี้ เพื่อใคร เพื่ออะไร พระสมชายฐานวุฑโฒ กล่าวถึงคุณสมบัติของนักเผยแผ่ว่าต้องมี ๓ อย่างคือ ๑)  ต้องมีอุดมการณ์ที่ชัดเจนและมั่นคง ๒) ต้องมีศีลาจารวัตรที่งดงามด้าน กาย วาจาและใจ  และ๓) มีความสามารถทั้งทางโลกและทางธรรมดี[88]  เพื่อให้สอดคล้องกับพุทธโอวาทแก่สาวกครั้งแรกว่า ให้มุ่งประโยชน์แก่ชาวโลกอย่างแท้จริง  ดังนั้นจุดหมายปลายทางของการสื่อสาร ตัวแปรสำคัญในการสื่อสารว่าจะสำเร็จอย่างไร อยู่ที่การตอบสนองหรือปฏิกิริยาของผู้รับ สื่อมวลชนนั้นมีหน้าที่สื่อสารผ่านช่องทางมายังผู้รับ เมื่อผู้รับไม่สนใจหรือไม่ตอบสนอง ผลก็ไม่เกิดขึ้น ฉะนั้น ผู้รับจึงจำเป็นต้องมีพื้นฐานความรู้ ในการบริโภคสื่อให้เป็น รู้จักเลือก รู้จักคิดวิเคราะห์ภาษาที่สื่อใช้ รู้เท่าทันสื่อ ต้องมีหลักธรรมในการเสพสื่อต่าง ๆ อย่างมีวิจารณญาณ เช่น หลักกาลามสูตร หลักโยนิโสมนสิการหลักแห่งเหตุผล หลักจิตวิทยา ที่สำคัญคือ รู้จักตัวเองดี อย่างไรก็ตาม ผู้เสพสื่อเหล่านี้ ไม่ได้มีพื้นฐานความรู้ ความคิดเช่นนี้ เพราะในสังคม มีหลากหลายวัย หลายระดับความคิด ความเชื่อ ความต้องการที่แตกต่างกัน จึงถูกสื่อชักจูง โน้มน้าวได้ง่าย ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาในแง่การตอกย้ำความเชื่อความคิด ความเห็น ความต้องการ อย่างไม่มีวันพอ อนึ่ง สังคมในปัจจุบันและอนาคตจะมีแนวโน้มอ่อนแอ มีปัญหาต่าง ๆ รุมเร้า เกิดความวิตกกังวล เป็นทุกข์ กดดัน มีปัญหาชีวิตมากมาย ทางออกอย่างหนึ่งของผู้คนคือ การเสพบริโภคสื่อ การบำบัดปัญหาด้วยการพูด การดู การเที่ยว การกินอย่างสนุกสนาน รื่นเริงบันเทิงใจ เสพจนติดจึงไม่มีโอกาสที่จะไปแสวงหาหลักธรรม ภาษาธรรม เพื่อค้นหาตัวเอง หรือเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนา ยุคนี้และยุคต่อไป ภาษาจะมีความสำคัญในการอธิบายความหมาย ไม่ว่า ศาสนา วิชาการ การค้า จิตวิทยา ฯลฯ เมื่อคนไม่รู้คำ ความหมายในศาสนาดีพอ ความสนใจ จิตใจจึงห่างเหินหลักในการดำเนินชีวิตอย่างมีค่าไป

๕.๔.๒  แนวทางในการแก้ปัญหาในอนาคต  กล่าวคือ  ในการแก้ปัญหาในการใช้ภาษาสื่อสารที่ง่าย ๆ ควรเป็นภาษาคนหรือภาษาดังเช่นที่ชาวโลกตามกาลเทศะ ควรอธิบายที่มาที่ไปของภาษาหรือหัวข้อธรรมนั้น ๆ ให้ชัดเจนควรใช้ภาษา อวัจนะมาช่วยในการเผยแผ่ธรรมะ และที่สำคัญคือ รู้หลักธรรมดี รู้วิธีนำเสนอ และรู้จักบูรณาการความรู้ใหม่ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับโลกยุคใหม่ในคำสอนทางศาสนามีคุณค่าต่อวิถีการดำเนินชีวิตในบริบทของคนยุคใหม่ จึงไม่ใช่อยู่ที่เพียงการแสวงหาสำนวนโวหาร หรือคำอธิบายใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับวิทยาการยุคใหม่ ตลอดจนถึงการใช้ศิลปะการเทศนาสั่งสอนที่ถูกจริตของคนยุคใหม่ แต่ข้อสำคัญคือ ต้องหากระบวนทัศน์ใหม่เพื่ออธิบายคำสอนแบบใหม่ที่จะนำไปสู่แบบวิถีชีวิตทางศาสนาดั้งเดิม[89]  ตามหลักกาลามสูตร ๑๐ ประการ[90] ได้แก่ ๑) อย่าปลงใจเชื่อโดยการฟังมา๒) อย่าปลงใจเชื่อโดยการสืบกันมา ๓) อย่าปลงใจเชื่อโดยเพียงได้ยิน ๔) อย่าปลงใจเชื่อโดยอ้างตำรา ๕) อย่าปลงใจเชื่อโดยนึกเดาเอาเอง๖) อย่าปลงใจเชื่อโดยคาดคะเนหรือสันนิษฐาน ๗) อย่าปลงใจเชื่อโดยการตรึกเอาตามอาการ๘) อย่าปลงใจเชื่อโดยสอดคล้องกับแนวคิดตนเอง  ๙) อย่าปลงใจเชื่อผู้พูด พูดน่าเชื่อถือ  และ๑๐) อย่าปลงใจเชื่อเพราะเป็นครูสอนของตน  ดังที่ Jose Ignaio Cobe กล่าวว่า พระพุทธศาสนามีระบบหลากหลายในด้านความเชื่อ ตำรา ภาษา นั่นก็เพื่อให้เกิดความเข้าใจในเบื้องต้นเท่านั้น เมื่อเราศึกษาตามตำราหรือคัมภีร์ จะทราบแนวทางการประพฤติต่อคำสอนนั้น ๆ ที่ถูกต้อง โดยเฉพาะพระพุทธศาสนาที่เน้นการศึกษา เพื่อไปสู่การปฏิบัติด้านจิตใจ เพื่อจะได้ “รู้เห็นจริง” สื่อหรือภาษาคัมภีร์ เป็นเพียงผู้ชี้บอกบุคคลให้ประพฤติเพื่อเข้าสู่ “พุทธภาวะ” ในตัวเอง หากละเลยภาษาจะไม่รู้ทางที่จะไปสู่ความจริงเลย ในขณะเดียวกันหากไม่รู้ความจริงตามที่ตำราชี้บอก ตำราเหล่านั้น ก็ไร้ค่า ที่สุดก็จะเป็นแค่คำบอกกล่าวที่ไร้ชีวิตชีวา[91] เขายังเปรียบภาษาเหมือนการสร้างแพเพื่อข้ามฝั่งว่า การสร้างแพเพื่อข้ามแม่น้ำไปอีกฝั่ง เมื่อไปถึงควรปล่อยแพนั้น เหมือนการอ่านคัมภีร์โดยอาศัยภาษา เพื่อนำไปสู่การเข้าใจ เมื่อเราเข้าใจต้องปล่อยวางตำราหรือคัมภีร์นั้น เช่นเดียวกับการปล่อยแพ[92] นอกจากนี้   Dan R. Stiver ชี้ว่า เราต้องใส่ใจในบริบทเครื่องมือในการตรวจสอบภาษาและความหมายที่บ่งถึง แม้แต่อากัปกิริยาในขณะพูดด้วย แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อใช้ภาษาค้นหาความจริง (ทางศาสนา) เขาบอกว่า เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก แต่มนุษย์จำเป็นต้องใช้ภาษาสื่อสารกันเพราะภาษาเหมือนแม่แบบในการดำเนินชีวิตและเป็นทางที่จะเข้าใจโลก[93] ด้วยเหตุนี้ ปัญหาด้านภาษาต้องหาทางแก้ไข แม้ในครั้งพุทธกาลก็มีปัญหา พระองค์พุทธทรงมีพระปัญญาสามารถแก้ไขได้ และพระองค์ทรงใช้ภาษาเพื่อการเข้าถึงมิใช่ใช้ภาษาแล้วติดในภาษาที่สมมติ แต่พระองค์ใช้ภาษาเพื่อเข้าไปสู่ปรมัตถสัจจะ คือ ดับทุกข์ แก้ทุกข์ พระองค์จึงไม่ติดภาษาทั้งสองภาษาคือ ภาษาโลกและภาษาธรรม แต่ปัจจุบันไม่มีพระองค์ เมื่อเกิดปัญหา หาผู้รู้มาแก้ไขไม่ได้ ชาวบ้านต่างก็เข้าใจเอง ผู้เผยแผ่เองใช้ภาษาธรรมตามจารีตแบบเดิมๆ จึงเกิดปัญหาในการใช้ภาษาขึ้นมาอยู่ตลอดเวลา

๖  สรุป

การศึกษาแนวคิดและทฤษฎีการตีความทางตะวันตกและทางพระพุทธศาสนาเถรวาท นับว่าเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในยุคปัจจุบัน ที่เป็นสังคมยุคข่าวสารข้อมูล ผูกโยงอยู่กับภาษาทั้งภาษาพูด ภาษาเขียน การสื่อสารด้วยภาษาเหล่านั้น ล้วนต้องอาศัยการตีความภาษาเพื่อทำให้ความเข้าใจความหมายที่แฝงอยู่ในภาษานั้น ๆ จากการศึกษาวิจัยนี้ ทำให้เห็นว่า มนุษย์มีพัฒนาการในการศึกษาตีความมาโดยตลอดตามลำดับจนมีรูปแบบการตีความที่เป็นระบบ และได้ถูกนำมาใช้ในการศึกษาตีความทางด้านศาสนาและศาสตร์อื่น ในพระพุทธศาสนาเช่นกัน ได้มีแนวคิดและทฤษฎีการตีความที่เป็นระบบและมีรูปแบบที่ยอดเยี่ยมที่ได้จากวิธีการสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระสาวก ตามที่ปรากฏในคัมภีร์พระไตรปิฎกและคัมภีร์อรรถกถา ตลอดถึงคัมภีร์อื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คัมภีร์เนตติปกรณ์และเปฏโกปเทสที่แสดงหลักการ วิธีการ รูปแบบการตีความในพระพุทธศาสนาเถรวาทไว้อย่างเป็นระบบชัดเจนและอย่างพิสดารยิ่ง

เมื่อศึกษาแนวคิดและทฤษฎีการตีความทางพระพุทธศาสนาเถรวาทแล้ว พบว่า มีทั้งข้อเหมือนกันและข้อแตกต่าง ทั้งในด้านเป้าหมาย ทฤษฎี วิธีการ และรูปแบบในการตีความ จากการศึกษาแนวคิดและทฤษฎีการตีความทั้งสองฝ่ายแล้ว ผู้วิจัยได้สร้างรูปแบบการตีความคัมภีร์ขึ้น และเชื่อว่า เป็นรูปแบบที่ใช้ได้รูปแบบหนึ่ง จากกรณีศึกษาการตีความทั้งสามสำนัก ล้วนมีความพยายามในการตีความที่ตั้งอยู่บนรูปแบบการตีความคัมภีร์ที่เสนอด้วยกันทั้งสิ้น แต่มีจุดเน้นที่ต่างกัน และยังไม่ครอบคลุมรูปแบบทั้งหมด การตีความจึงตั้งอยู่บนฐานของผู้อ่านเป็นหลักแล้วนำองค์ประกอบอื่นมาสนับสนุนการตีความของตน ที่เป็นเช่นนี้ เนื่องมาจากเงื่อนไขด้านผู้อ่านยังขาดคุณสมบัติบางประการ เช่น ความซื่อตรง ความมีใจเป็นกลาง และคุณสมบัติด้านภาษา ตลอดถึงบริบททางสังคม การศึกษาตีความคัมภีร์ตามรูปแบบการตีความที่ผู้วิจัยเสนอ ต้องประสานสอดคลอง มีความเชื่อมโยงกันระหว่างผู้สื่อความ คัมภีร์ และผู้อ่าน รวมถึงปัจจัยร่วมทางบริบทสังคมที่ต้องนำมาพิจารณาประกอบด้วย และให้ความสำคัญแก่เงื่อนไขปัจจัยทั้งสามนั้นเท่าเทียมกัน

 

[1] Briggs, R. S. What Does Hermeneutics Have to Do With Biblical Interpretation? Heythrop Journal  XLVII , (2006),  pp.  57-58.

[2] Seebohm, T. M. Hermeneutics. Method and Methodology. (Dordrecht : Kluwer Academic Publishers, 2004), pp. 10-11.

[3] กีรติ บุญเจือ, ปรัชญาและศาสนาเพื่อสันติภาพ. ชุดรวมบทความเล่มที่ 6 มนุษย์กับสันติภาพ, พิมพ์ครั้งที่ ๓, (กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย, ๒๕๔๖), หน้า ๖๘-๖๙.

[4]ดร.ศิลป์ชัย  เชาว์เจริญรัตน์, ปรัชญาศาสนาคริสต์กับปรัชญาคริสต์ ทำไมจึงต้องมีสมณสาสน์ศรัทธากับเหตุผล,  http://sites.google.com/site/sinchaisite/sinchai/khristeiynkabprachya/kh-rist-sasna-kab-payya-laea-hetuphl,  (๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๔).

[5]เจษฎา รุ่งเรืองโรจน์, พจนานุกรมปรัชญาอังกฤษ-ไทย, (กรุงเทพฯ: โบแดง, ๒๕๔๗), หน้า ๑๔-๑๕.

[6] ไมเคิล ไรท์, ตะวันตกวิกฤต คริสต์ศาสนา, (กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๔๒), หน้า ๒๕.

[7] กีรติ บุญเจือ,ชุดปรัชญาและศาสนาเซนต์จอห์น เล่มต้น เริ่มรู้จักปรัชญา, (กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น, ๒๕๔๕), หน้า ๑๔-๒๓.

[8] กีรติ บุญเจือ, ประสาชาวบ้าน, (กรุงเทพฯ: รัชดาออฟเซ็ท, ๒๕๔๓), หน้า ๒๐๕.

[9] H.G. Gadamer. ‘Problem of Historical Consciousness’, ‘In interpretive Social Science: A Reader,(Berkeley : U.of California Press,1979),p. 110.

[10] จำนงค์ ทองประเสริฐ, ปรัชญาตะวันตกสมัยกลาง, พิมพ์ครั้งที่ 5, (กรุงเทพมหานคร : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2534), หน้า 1.

[11] ดร. วิรชาติ นิ่มอนงค์  คณะปรัชญาและศาสนา, บัณฑิตวิทยลัย มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ, รายงานการวิจัยสถาบัณวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, (บัณฑิตวิทยลัย  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๒๕๕๒), หน้า ๒๗.

[12] John Power, Hermeneutics and Tradition in the Sam ฺdhinirmocana-sutra, (Leiden : New York : Koln : E.J. Brill, 1993), p. 79.

[13] John Heaton and Judy Groves, Introducing Wittgenstein, edited by Richard Appignanesi, (Australia : McPherson’s Printing Group, 1999), pp. 112-129.

[14] กีรติ บุญเจือ, บันทึกปรัชญาของข้าพเจ้า, (กรุงเทพมหานคร: คณะปรัชญาและศาสนาศึกษา มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ, ๒๕๔๐), หน้า ๓๕–๓๖.

[15] ปรุตม์ บุญศรีตัน,  “รูปแบบการตีความคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาเถรวาท”, วิทยานิพนธ์ปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาพระพุทธศาสนา, (บัณฑิตวิทยาลัย: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย , ๒๕๕๐), หน้า ๓๑-๓๒.

[16] Den R. Stiver, The Philosophy  of  Religious Language, op. cit.,p.35. อ้างใน, ดร. วิรชาติ นิ่มอนงค์  คณะปรัชญาและศาสนา, บัณฑิตวิทยลัย มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ , รายงานการวิจัยสถาบัณวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, หน้า ๒๙.

[17] เรื่องเดียวกัน หน้า หน้า ๑๒๗.

[18] Plato, The Republic , Book VII.  อ้างใน, ดร. วิรชาติ นิ่มอนงค์  คณะปรัชญาและศาสนา, บัณฑิตวิทยลัย มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ , รายงานการวิจัยสถาบัณวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, หน้า ๓๙.

[19] พระเมธีธรรมมาภรณ์ (ประยูร  ธัมมจิตฺโต) ,ปรัชญากรีก: บ่อเกิดภูมิปัญญาตะวันตก, (กรุงเทพฯ: พิมพ์สยาม, ๒๕๓๗),หน้า ๑๓๐.

[20] Terry, Milton S. Biblical Hermeneutics. (Michigan: Zondrvan 1979, ) p. 164

[21] กีรติ บุญเจือ, ปรัชญาอรรถปริวรรตของมนุษยชาติ (ช่วงพหุนิยม), ชุดปรัชญาและศาสนาเซนต์จอห์น เล่ม ๗, หน้า  ๒๓๐.

[22] ที.สี. (บาลี) ๙/๓๐–๓๓/๒๑–๒๕, ที.สี. (ไทย) ๙/๓๐–๓๓/๑๕-๑๘.

[23] กีรติ บุญเจือ, ปรัชญาอรรถปริวรรตของมนุษยชาติ (ช่วงพหุนิยม), ชุดปรัชญาและศาสนาเซนต์จอห์น เล่ม ๗,  หน้า ๑๓๑.

[24]  แสง  จันทร์งาม,  ศาสนศาสตร์, (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิชจำกัด ๒๕๓๔), หน้า ๑๔๖.  

[25] กีรติ บุญเจือ, ปรัชญาอรรถปริวรรตของมนุษยชาติ (ช่วงพหุนิยม), ชุดปรัชญาและศาสนาเซนต์จอห์น เล่ม ๗, หน้า ๑๓๑.

[26] Ben-Ami Schartstein, “Mystic Experience,” (Baltimore Books Inc.,1977),  pp.5-7. 

[27] ปรุตม์ บุญศรีตัน,  “รูปแบบการตีความคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาเถรวาท”, หน้า ๓๐

[28] กีรติ บุญเจือ, กระบวนทัศน์กับการตีความ (Paradigms and Hermeneutics), (กรุงเทพมหานคร : คณะปรัชญาและศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น, มปป.) (อัดสำเนา), หน้า ๒๖.

[29] ปรุตม์ บุญศรีตัน, “รูปแบบการตีความคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาเถรวาท”, หน้า  ๔๕.

[30]  Terry, Milton S. Biblical Hermeneutics,  p.  166.

[31] แสง จันทร์งาม, ศาสนศาสตร์, หน้า ๑๔๕.

[32] Terry, Milton S. Biblical Hermeneutics. p. 166.

[33]  Ibid. p.168.

[34]  Ibid. p 152.

[35] กีรติ  บุญเจือ, กีรติ บุญเจือ, ปรัชญาอรรถปริวรรตของมนุษยชาติ (ช่วงพหุนิยม), ชุดปรัชญาและศาสนาเซนต์จอห์น เล่ม ๗, หน้า ๑๓๖. 

[36] Terry, Milton S. Biblical Hermeneutics. p. 178.

[37]  แสง   จันทร์งาม, ศาสนศาสตร์, หน้า 144.

[38]  กีรติ  บุญเจือ, กีรติ บุญเจือ, ปรัชญาอรรถปริวรรตของมนุษยชาติ (ช่วงพหุนิยม), ชุดปรัชญาและศาสนาเซนต์จอห์น เล่ม 7,  หน้า 139

[39] เรื่องเดียวกัน,  หน้า ๑๔๑.

[40] ปรุตม์ บุญศรีตัน,  “รูปแบบการตีความคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาเถรวาท”, หน้า ๑๕๑-๑๕๒.

[41] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๑๕๒-๑๕๓

[42] เรื่องเดียวกัน, หน้า  ๑๕๓-๑๕๔

[43] ม.มู. (บาลี) ๑๒/๔๔๒/๔๗๔, ม.มู. (ไทย) ๑๒/๔๔๒/๓๓๑. 

[44] (ที.สี.อ. (บาลี) ๑/๓๗)

[45] ม.ม. (บาลี) ๑๓/๕๑๐/๔๖๓, ม.ม. (ไทย) ๑๓/๕๑๐/๓๔๘.

[46] ที.สี.อ. (บาลี) ๑/๕๒๔–๕๒๕.

[47] David J. Kalupahana, A History of Buddhist Philosophy : Continuities and Discontinuities,                 pp. 61-62.

[48] วิ.มหา. (บาลี) ๑/๑๗-๒๔/๓๒-๔๒, วิ.ม. (ไทย) ๑/๑๗-๒๔/๑๗-๓๑)

[49] วิ.มหา. (บาลี) ๑/๔๙/๖๒, วิ.มหา. (ไทย) ๑/๔๙/๒๑๗ )

[50] วิ.มหา. (บาลี) ๑/๒๐/๓๕, วิ.มหา. (ไทย) 1๑/๒๐/๒๕, วิ.มหา. (บาลี) ๑/๒๕๒/๑๘๓, วิ.มหา. (ไทย) ๑/๒๕๒/๓๖๑. 

[51] วิ.ม. (บาลี) ๕/๒๓๘-๒๕๓/๒๔๕-๒๗๐, วิ.ม. (ไทย) ๕๒๓๘-๒๕๓/๓๑๒-๓๔๖, ขุ.ธ.อ. (บาลี) ๑/๔๙-๕๙.

[52] ขุ.ธ.อ. (บาลี) ๑/๑๑๕. 

[53] ขุ.ธ.อ. (บาลี) ๒/๑๓๕.

[54] ขุ.ธ.อ. (บาลี) ๒/๑๕๗. 

[55] องฺ.ปญฺจก-ฉกฺก. (บาลี) ๒๒/๙๓/๑๓๔, องฺ.ปญฺจก-ฉกฺก. (ไทย) ๒๒/๙๓/๑๐๔.

[56] ที.ม. (บาลี) ๑๐/๑๕๕/๑๘๘, ที.ม. (ไทย) ๑๐/๑๕๕/๑๕๕. 

[57] วิ.จู. (บาลี) ๗/๖๒๐/๓๘๕, วิ.จู. (ไทย) ๗/๖๒๐/๓๐๘, ที.ม. (บาลี) ๑๐/๑๔๑/๑๗๘, ที.ม. (ไทย) ๑๐/๑๔๑/๑๔๖. และ เสฐียรพงษ์ วรรณปก, คำบรรยายพระไตรปิฎก, (กรุงเทพมหานคร : หอรัตนชัยการพิมพ์, ๒๕๔๐), หน้า ๓๕. 

[58] วิ. จู. (บาลี) ๗/๖๒๑/๓๘๕, วิ.จู. (ไทย) ๗/๖๒๐/๓๐๘.

[59] วิ.จู. (บาลี) ๗/๖๒๐-๖๒๑/๓๘๕-๓๘๖, วิ.จู. (ไทย) ๗/๖๒๐/๓๐๘-๓๐๙. 

[60] วิ.จู. (บาลี) ๗/๖๓๐/๓๙๖, วิ.จู. (ไทย) ๗/๖๓๐/๓๑๘.

[61] องฺ.เอกก. (บาลี) ๒๐/๒๗๐/๗๖, องฺ. เอกก. (ไทย) ๒๐/๒๗๐/๗๘.

[62] เนตฺติ. (บาลี) ๒๓-๒๔/๖, ๑๐/๑๒, และ จำรูญ ธรรมดา, เนตติฏิปปนี,  (กรุงเทพมหานคร : ไทยรายวันการพิมพ์, ๕๔๖), หน้า ๑๐๗-๑๑๑.

[63] เนตฺติ. (บาลี) ๑๑-23.

[64] เนตฺติ. (บาลี) ๙/๑๒. 

[65]  ม.มู (ไทย ) ๑๒/๓๕๒/๓๘๖.

[66] สํ.นิ (ไทย ) ๑๖/๖๘/๑๔๑.

[67] ขุ.ธ. (บาลี) ๒๕/๓๕/๖๕, ขุ.ธ. (ไทย) ๒๕/๓๕/๕๔.

[68] ขุ.ธ.อ. (บาลี) ๘/๗๓.

[69] วิ.อ. (บาลี) ๑/๒๑-๒๕.

[70] ที.สี.อ. (บาลี) ๑/๕/๕๐-๕๑.

[71] วิ.ม. (บาลี) ๔/๑๓-๑๗/๑๗-๒๒, วิ.ม. (ไทย) ๔/๒๔-๑๗/๑๕-๑๘.

[72] วิ.ม. (บาลี) ๔/๒๐-๒๓/๒๔-๒๘, วิ.ม. (ไทย) ๔/๒๐-๒๓/๒๐-๒๔. 

[73] ที.สี. (บาลี) ๙/๓๖๙-๓๗๓/๒๗๙-๓๐๑, ที.สี. (ไทย) ๙/๓๖๙-๓๗๓/๓๖๐-๓๘๓.

[74] ที.ม. (บาลี) ๑๐/๕๗-๖๖/๖๕-๘๓, ที.ม. (ไทย) ๑๐/๕๗-๖๖/๖๐-๗๖.

[75] ที.ปา. (บาลี) ๑๑/๑๐๘-๑๑๒/๑๓๙-๑๔๒, ที.ปา. (ไทย) ๑๑/๑๐๘-๑๑๒/๑๑๗-๑๑๙. 

[76] องฺ. เอกก-ทุก-ติก. (บาลี) ๒๐/๕๐๕/๒๔๑-๒๔๘, องฺ. เอกก-ทุก-ติก. (ไทย๒๐/๕๐๕/๑๗๙-๑๘๔.

[77] วิ.มหา.อ. ๑/๒๑-๒๕.

[78] วิ.จู. (บาลี) ๗/๕๒๓/๓๓๑, (ไทย) ๗/๕๒๓/๒๓๑.

[79] องฺ.สตฺตก. (บาลี) ๒๓/๘๐/๑๔๖, (ไทย) ๒๓/๘๐/๑๑๒. 

[80] ที.ม. (บาลี) ๑๐/๑๑๓-๑๑๖/๑๔๔-๑๔๖, (ไทย) ๑๐/๑๑๓-๑๑๖/๑๐๒-๑๐๓.

[81] เนตฺติ. (บาลี) ๑๘/๒๒. 

[82] วิ.ม. (บาลี) ๔/๑๓/2-, วิ.ม. (ไทย) ๔/๑๓๑๕–๑๖.

[83]วิ.ม. (บาลี) ๔/๒๐/๒๔-๒๖, วิ.ม. (ไทย) ๔/๒๐/๒๐-๒๑.

[84] ม.ม. (บาลี) ๑๓/๙๔/๙๑-๙๒, ม.ม. (ไทย) ๑๓/๙๔/๗๓.

[85] พระสุนทร รตนปญฺโญ (มติยาภักดิ์),“การศึกษาปัญหาเกี่ยวกับการใช้ภาษาในการสื่อสารเพื่อการเผยแผ่ธรรมะในยุคปัจจุบัน”  วิทยานิพนธ์ปริญญาพุทธศาสตรมหาบัณฑิต, (บัณฑิตวิทยาลัย : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๘) หน้า ๑๗๙-๑๘๑.

[86] พระสุนทร รตนปญฺโญ (มติยาภักดิ์),“การศึกษาปัญหาเกี่ยวกับการใช้ภาษาในการสื่อสารเพื่อการเผยแผ่ธรรมะในยุคปัจจุบัน”, หน้า ๑๘๑-๑๘๒.

[87] กีรติ บุญเจือ, ศาสนศาสตร์เบื้องต้น, พิมพ์ครั้งที่ ๔, (กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, ๒๕๔๑), หน้า ๖.

[88] พระสมชาย ฐานวุฑโฒ, “อดีต ปัจจุบัน และอนาคตของการเผยแผ่พระพุทธศาสนา : วิถีทางที่  ไม่ควรมองข้าม”, วิกฤติศาสนายุคธนาธิปไตย พุทธวิบัติ?, (เมษายน ๒๕๔๒) : ๑๒๕-๑๒๖.

[89] สุนัย เศรษฐ์บุญสร้าง, “เกมภาษากับการใช้ภาษาศาสนาของชาวอโศก”, พุทธศาสน์ศึกษา,(กันยายน – ธันวาคม ๒๕๓๗) : ๗๘ - ๗๙.

[90] องฺ ติก. (ไทย) ๒๐/ ๖๖/ ๒๕๕-๒๖๓. ดูเพิ่มที่, พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต). พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม. พิมพ์ครั้งที่๙, มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, กรุงเทพฯ : ๒๕๔๓),                              หน้า ๒๗๔ - ๒๗๕.

[91]Jose Ignaio Cobe, Buddhism and Language, (New York : State University of New YorkPress, 1994), p.33.

[92]Ibid.  p. 47.

[93] Dan R. Stiver, The Philosophy of Religious Language, sign, Symbol, and Story, (Oxford :Blackwell, 1996), p.202- 204.

หมายเลขบันทึก: 566108เขียนเมื่อ 16 เมษายน 2014 07:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 เมษายน 2014 07:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อยากให้อาจารย์เสนอทฤษฎีของกาดาเมอร์กับ ปอล ริเกอร์จังครับ ถ้าจะให้ดีนะครับเอาของ Peter Winch ที่ทำนำเสนอเรื่อง Ordinary language philosophy ด้วยก็ได้ครับ จะดีมากๆครับ

ขอบคุณครับอาจารย์กับคำแนะนำครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท