วิเคราะห์การใช้เหตุผลการบัญญัติพระวินัยของพระพุทธเจ้าในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท


๑.  เกริ่นนำ

     หลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาประกอบด้วยหลัก ๒ ประการหลักที่เป็นคำสอนเพื่อให้ปฏิบัติตามสมควรแก่ผู้ปฏิบัติเรียกว่าธรรมะ   และส่วนที่เป็นคำสั่งห้ามปฏิบัติ  เป็นข้อห้ามเรียกว่าวินัย   หลักที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบและนำมาประกาศและสั่งสอนจึงหมายถึงธรรมวินัยนั่นเอง ดังที่พระองค์ตรัสไว้ก่อนที่จะปรินิพพานว่า  ธรรมและวินัยที่พระองค์แสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่สงฆ์ทั้งปวงนั้นแหละ  จักเป็นศาสดาเมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้ว[1] เพราะว่า พระวินัยเป็นหลักปฏิบัติที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสังคม และสะท้อนถึงเจตนารมณ์ของพระพุทธศาสนาในด้านความสัมพันธ์ทางสังคมและความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน เพราะศีลเป็นระบบการควบคุมชีวิตด้านนอกที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการแสดงออกทางกายและวาจา คำว่า “ศีล” มี ๒ ระดับ ได้แก่ (๑) ระดับทั่วไป ได้แก่ ระดับยังเป็นธรรม เป็นข้อแนะนำสั่งสอนหรือหลักความประพฤติทีแสดงไว้และบัญญัติไว้ตามกฎธรรมดาแห่งความดีความชั่ว ผู้ที่รักษาศีลหรือล่วงละเมิดศีลย่อมจะได้รับผลดีหรือชั่วเองตามธรรมดาของเหตุปัจจัย (๒) ระดับเฉพาะ เป็นระดับวินัย ซึ่งเป็นแบบแผนข้อบังคับที่บัญญัติไว้เป็นเหมือนประมวลกฎหมายสำหรับกำกับความประพฤติของสมาชิกในชุมชนหนึ่ง   โดยมีความสอดคล้องกับความมุ่งหมายของหมู่คณะหรือชุมชนนั้นโดยเฉพาะ ผู้ละเมิดบทบัญญัติที่เรียกว่าวินัยจะมีความผิดตามอาญาของหมู่คณะ เมื่อคณะสงฆ์มีจำนวนมากขึ้นการปกครองเกิดความยากลำบากเพราะการดูแลไม่ทั่วถึง พระพุทธเจ้าทรงเล็งเห็นภัยอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับหมู่สงฆ์จึงได้บัญญัติข้อห้ามเรียกว่าวินัย  ซึ่งเป็นที่ควบคู่ไปกับธรรมะที่เป็นคำสอน ส่วนวินัยจึงเป็นคำสั่งห้ามกระทำและคำสั่งที่ให้กระทำเพื่อหมู่คณะในพระพุทธศาสนาเรียกว่าบริษัทมี ๔ กลุ่มคือ อุบาสก อุบาสิกา ภิกษุ ภิกษุณี การบัญญัติวินัยจึงมีความหนักเบาแตกต่างกันออกไป และข้อปฏิบัติมีความยากง่ายในการปฏิบัติไม่เท่ากัน มีเหตุเกิด การบัญญัติ หรือสถานการณ์ที่ไม่เหมือนกัน

     ดังนั้น คำว่า “วินัย” หมายถึง (๑) มีวินัยต่างๆ คือ ประกอบด้วยปาฏิโมกขุทเทศ ๕ ประการ มีหมวดอาบัติ ๗ อย่าง (๒) มีนัยพิเศษหมายถึงประกอบด้วยปฐมบัญญัติและอนุบัญญัติ และ(๓) เป็นการฝึกกายวาจา  เพราะเป็นเครื่องห้ามพฤติกรรมทางกายและวาจา ดังข้อความที่ปรากฏในอรรถกถาว่า บัณฑิตผู้รู้อรรถแห่งพระวินัยทั้งหลายกล่าวว่าวินัย เพราะมีนัยต่างๆเพราะมีนัยพิเศษ และเพราะฝึกกายและวาจาอย่างนี้[2] เพราะว่า พระวินัยมีหลายหลาย มีความเป็นพิเศษ และเป็นเครื่องใช้สำหรับฝึกกายและวาจาให้อยู่ในสภาพที่เหมาะแก่การดำเนินชีวิต พระวินัยจึงเป็นกฎเบื้องต้นสำหรับผู้ที่เข้าสู่ความเป็นภิกษุโดยการอุปสมบท  เป็นเหมือนกฎหมาย เป็นข้อห้ามไม่ให้ปฏิบัติ  บ้านเมืองมีกฎหมายเป็นข้อห้ามสำหรับให้ประชาชนตั้งอยู่ในความสงบเรียบร้อย เพื่อความสะดวกในการปกครอง ทำนองเดียวกันศาสนาก็มีวินัยเป็นข้อห้ามเพื่อความสงบเรียบร้อยของหมู่คณะเช่นกัน และจุดประสงค์ที่นอกเหนือไปจากการเป็นข้อห้ามตามปกติแล้ว  ยังใช้เป็นเครื่องฝึกกายและวาจาอีกด้วย  ส่วนธรรมใช้เป็นเครื่องฝึกจิต

๒. การให้เหตุผลของพระพุทธเจ้าในการบัญญัติพระวินัย

     พระพุทธเจ้าได้ประกาศศาสนธรรมมาเป็นเวลานานหลายปี  แต่ก็ยังไม่ได้บัญญัติวินัยแก่หมู่สงฆ์ ในเบื้องแรกสิ่งที่พระองค์ประกาศเรียกว่า  พรหมจรรย์ดังที่พระองค์ได้ตรัสแก่พระอรหันต์  ๖๐ รูปก่อนจะส่งไปประศาสนาว่า  “ภิกษุทั้งหลายพวกเธอจะเที่ยวไปประกาศพรหมจรรย์ เพื่อความสุขของมหาชนหมู่มาก”[3] เมื่อพระสารีบุตรได้ทูลถามเหตุปัจจัยแห่งการดำรงอยู่ของศาสนาในอดีต  จึงได้กราบทูลให้พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติพระวินัยและแสดงปาฏิโมกข์แก่สาวก  แต่พระพุทธเจ้ายังไม่ทรงแสดงพระพุทธเจ้าทรงเหตุผลว่า “พระศาสนายังไม่บัญญัติสิกขาบท  ยังไม่แสดงปาติโมกข์แก่สาวก  ตลอดเวลาที่ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะบาเหล่ายังไม่ปรากฏในสงฆ์ในศาสนานี้   ต่อเมื่อใดอาสวัฏฐานิยมธรรมบางเหล่าปรากฏในสงฆ์ในศาสนานี้   เมื่อนั้นพระศาสดาจึงจะบัญญัติสิกขาบทแสดงปาติโมกข์แก่สาวก  เพื่อกำจัดอาสวัฏฐนิยมธรรมเหล่านั้น”[4]

     ดังนั้น อาบัติแบ่งเป็น  ๗  หมวด คือ ปาราชิก สังฆาทิเสส ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฎ และทุพภภาษิต  เหตุที่ทำให้ภิกษุต้องอาบัติมี ๖ ประการ คือ ไม่ละอาย ไม่รู้ว่าสิ่งนี้เป็นอาบัติ สงสัยแล้วขืนทำลง  สำคัญว่าควรในสิ่งที่ไม่ควร สำคัญว่าไม่ควรในสิ่งที่ควรลืมสติ  ดังนั้น วิธีการที่ทำให้พ้นโทษจากอาบัติมีความแตกต่างกัน คือ อาบัติหนักขาดจากความเป็นภิกษุและภิกษุณี อาบัติอย่างกลางต้องอยู่ปริวาสกรรม อาบัติอย่างเบาแสดงสารภาพความผิดต่อหน้าสงฆ์หรือภิกษุหรือภิกษุณีใดรูปหนึ่ง

   พระวินัยเป็นคำสอนเพื่อฝึกกายและวาจาเป็นคำสั่งที่ควรปฏิบัติ ภิกษุมี ๒๗๗ ข้อ ภิกษุณี ๓๑๑ ข้อ สามเณรมี ๑๐ ข้อ อุบาสกอุบาสิกาผู้รักษาอุโบสถมี ๘ ข้อ ส่วนอุบาสกอุบาสิกาทั่วไปมี ๕ ข้อ การบัญญัติวินัยเป็นกฎที่ต้องปฏิบัติตาม เหตุผลที่นำใช้ในการบัญญัติเพื่อมุ่งถึงความเป็นระเบียบอันดีงามสำหรับพุทธบริษัท  

๓. การใช้เหตุผลในการบัญญัติสิกขาบทของพระพุทธเจ้า

     ๓.๑)  การบัญญัตสิกขาบทแก่สงฆ์

    การใช้เหตุผลในการบัญญัติสิกขาบทในการทำผิดมาจากสิ่งที่เป็นเหตุคืออวิชชาที่เป็นความไม่รู้   ดังนั้น ผู้ที่ทำผิดครั้งแรกที่ทำให้เกิดการบัญญัติครั้งแรกหรือผู้ที่เป็นต้นบัญญัติไม่มีความผิด ส่วนผู้ที่ทำผิดคนต่อไปจึงจะมีความผิด ก่อนจะบัญญัติสึกขาบทเพื่อเป็นข้อปฏิบัติจะมีการประชุมสงฆ์และสอบถามผู้ที่ถูกกล่าวหา  เมื่อผู้กระทำความผิดยอมรับในการบัญญัติพระวินัย เพื่อให้พระพุทธศาสนาดำรงอยู่โดยมุ่งถึงประโยชน์ ดังนี้ ได้แก่ (๑) เพื่อความยอมรับว่าดีแห่งสงฆ์ (๒) เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ (๓) เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก (๔) เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก (๕) เพื่อป้องกันอาสวะอันจะบังเกิดขึ้นในปัจจุบัน (๖) เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดขึ้นในอนาคต (๗) เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส (๘) เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว (๙) เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัจธรรม (๑๐) เพื่อถือตามพระวินัย[5]

    การบัญญัติสิกขาบทเพื่อใช้เป็นข้อห้ามสำหรับพระภิกษุ  เป็นหลักเกณฑ์ของการอยู่ร่วมกันของหมู่คณะ จึงเป็นสิ่งที่ทำให้พระพุทธศาสานามีความตั้งมั่นยาวนาน เพราะเมื่อใดที่ภิกษุทำความผิดขึ้น ก็มีบทบัญญัติไว้สำหรับคอยตรวจสอบและตัดสิน มีกระบวนการแห่งการไต่สวน สอนสวน พิจารณาตรวจสอบ ปรับโทษสำหรับผู้ที่ทำความผิด ทำให้คนชั่วไม่ได้โอกาสในการอาศัยเพศสมณะ (ชีวิตนักบวช) ทำความผิดต่อไป เป็นประโยชน์ก็จะพึงมีต่อพระศาสนาเพื่อการดำรงตั้งมั่นต่อไปในอนาคตอันยาวนาน  การบัญญัติพระวินัยจึงมีเหตุมีผลครอบคลุมทั้งหมู่สงฆ์  ปัจเจกบุคคล  ความบริสุทธิ์ ประชาชนและพระศาสนาเอง ตามความ หนักเบา ตามบทบัญญัติ ดังต่อไปนี้

      ๓.๑.๑) การบัญญัติปาราชิกสิกขาบท

     ปาราชิกเป็นอาบัติโทษนักที่สุด สำหรับภิกษุมี ๔ สิกขาบท คือ ห้ามเสพเมถุน ห้ามลักทรัพย์  ห้ามฆ่ามนุษย์  และห้ามอวดอุตตริมนุสยธรรม การเสพเมถุนที่ห้ามเพราะไม่ใช่วิสัยของสมณะ เมถุนธรรมเป็นธรรมของคนคู่เป็นเรื่องของคฤหัสถ์ผู้ครองเรือน ส่วนสมณะเป็นผู้ออกจากเรือนบวชแล้วควรเว้นจากกิจของคฤหัสถ์ ส่วนการประพฤติพรหมจรรย์เป็นการดำเนินชีวิตเพื่อเป็นที่สำรอกแห่งราคะ  เป็นที่สร่างแห่งความเมา  เป็นที่ดับสูญแห่งความระหาย เป็นที่หลุดถอนแห่งอาลัย  เป็นที่เข้าไปตัดแห่งวัฏฏะ เป็นที่สิ่งแห่งตัณหา เป็นที่สำรอกแห่งตัณหา[6]

     กล่าวสรุปได้ว่า ภิกษุรูปใดที่ล่วงละเมิดสิกขาบท ย่อมจะผิดอย่างไม่มีเงื่อนไข ผู้ที่ผิดอย่างไม่มีเงื่อนไข ก็ย่อมจะเป็นผู้ไม่สมควรจะอยู่ในฐานะการมีชีวิตแบบบรรพชิตต่อไป

      ๓.๑.๒) การบัญญัติสังฆาทิเสสสิกขาบท

     สังฆาทิเสสเป็นอาบัติมีโทษขนาดกลาง จัดเป็นประโยคยืนยันเพียงพางส่วน คือ แม้จะมีความผิดก็ผิดเพียงบางส่วนยังให้โอกาสแก้ไขปรับปรุงในโอกาสต่อไป โดยการลงโทษให้ อยู่ประพฤติวัตรเพื่อออกจากความผิดฐานละเมิดอาบัติสังฆาทิเสส  เพื่อให้สำนึกโทษจะได้ไม่ผิดอีกในโอกาสต่อไป ถ้าทำได้ตามบทลงโทษก็สามารถกลับมาอยู่ในฐานะเดิมได้  แต่การกระทำทั้งหมดต้องอยู่ในอำนาจของสงฆ์ส่วนรวมตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป  และต้องปฏิบัติตามกฎอย่างเคร่งครัด  ตั้งแต่การประพฤติมานัต (การกำหนดโทษ) การอยู่ปริวาส (การลงโทษ) การให้อัพภาน (การประกาศพันโทษ)  ซึ่งมีกฎเกณฑ์ที่ละเอียด หากภิกษุรูปใดทำผิดในสังฆาทิเสสต้องทำตามกระบวนการตามเหตุปัจจัยและเงื่อนไขแห่งความผิดนั้น ๆ เมื่อปฏิบัติได้จึงจะพ้นโทษ เหตุผลในการบัญญัติสังฆาทิเสสสิกขาบท เป็นการให้โอกาสแก่ผู้ที่ไม่ระมัดระวังตนซึ่งตามปกติย่อมจะผิดพลาดบ้าง เมื่อทำตามเงื่อนไขก็เป็นอันพ้นทากลับมาเป็นภิกษุเหมือนเดิม สังฆาทิเสสเป็นการยืนยันบางส่วน ส่วนที่ยืนยันเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่สิ่งที่ไม่ได้ยืนยันเป็นความผิด  เพราะฉะนั้น เมื่อทำความผิดก็ผิดเพียงบางส่วน  ความเป็นสมณเพศยังเหลืออยู่ เพราะไม่ได้ผิดทั้งหมด ผิดเพียงบางส่วนเท่านั้น ถ้าทำตามเงื่อนไขความผิดบางส่วนก็จะกลับคืนมา กลายเป็นความถูกต้องเหมือนเดิม

       ๓.๑.๓)  การบัญญัติปาจิตตีย์สิกขาบท ปาฏิเทสนียสิกขาบท และเสถียรวัตร

     ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ เป็นบัติโทษขนาดเบา เพราะก่อนที่จะบัญญัติสิกขาบทเหล่านี้   พระพุทธเจ้าทรงเล็งเห็นว่าภิกษุที่เป็นปุถุชนย่อมมีโอกาสทำผิดกันได้ บางหมวดเป็นเรื่องส่วนบุคคลดังเช่นปาจิตรีย์หมวดมุสาวาทวรรค[7] บางอย่างเกี่ยวข้องกับหมู่คณะโดยตรงเช่นในปาจิตตีย์หมวดสหธรรมิกวรรค[8] บางอย่างเกี่ยวข้องกับนักบวชในศาสนาอื่นเช่นในปาจิตตีย์หมวด ดอเจลวรรค[9] บางอย่างเกี่ยวข้องกับประชาชนทั่วไปเช่นในปาจิตตีย์หมวดภูตคาม[10] บางอย่างเกี่ยวบ้องกับนางภิกษุณีดังเช่นในปาฏิเทสนียะ[11] บางอย่างเป็นเรื่องของข้อที่ควรปฏิบัติดังเช่นเสชิยวัตรทั้งหมด[12] ผู้ที่ละเมิดไม่ปฏิบัติตามสิกขาบทบัญญัติเหล่านี้ เพียงแต่บอกสิ่งที่ตนได้กระทำลงไปต่อหน้าภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง แล้วให้คำสัญญาว่าจะไม่กระทำอีก ก็เป็นอันพันจากโทษเหล่านั้นได้

      ๓.๒)  การใช้เหตุผลในการอนุญาตให้ภิกษุณีอุปสมบท

     ภิกษุณีมีความเป็นมาที่ค่อนข้างจะยุ่งยาก การอนุญาตให้สตรีบวชก็เป็นเรื่องที่มีการวางแผนไว้ก่อนแล้วว่า  ให้บวชได้  แต่ไม่ได้หวังจะได้ดำรงอยู่นานต่อไปในอนาคต  เป็นประโยคเงื่อนไขคือถ้าสตรีบวชจะต้องรับเงื่อนไขพิเศษเรียกว่าครุธรรม ซึ่งต่างไปจากภิกษุโดยทั่วไปดังข้อความที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสกับนางปชาบดีโคตมีว่า (๑)  ภิกษุณีอุปสมบทแล้วร้อยปี  ต้องกราบไหว้ ลุกรับ ทำอัญชลีกรรม สามิจิกรรม แก่ภิกษุที่อุปสมบทในวันนั้น  (๒) ภิกษุณีต้องหวังธรรมสองประการคือถามในวันอุโบสถ และเข้าไปฟังคำสั่งสอนจากภิกษุสงฆ์ทุกกึ่งเดือน (๓) ภิกษุณีอยู่จำพรรษาแล้ว  ต้องปวารณาในสงฆ์สองฝ่าย (๔) ภิกษุณีต้องธรรมที่หนักแล้ว ต้องประพฤติปักขมานัตในสงฆ์สองฝ่าย (๕) ภิกษุณีต้องแสวงหาอุปสัมปทาในสงฆ์สองฝ่ายเพื่อสิกขมานาผู้มีสิกขาอันศึกษาแล้วใน ธรรม ๖ ประการครบสองปีแล้ว (๖) ภิกษุณีไม่พึงด่า บริภาษภิกษุ โดยปริยายอย่างใดอย่างหนึ่ง            (๗) ห้ามไม่ให้ภิกษุณีสอนภิกษุ (๘) อนุญาตให้ภิกษุให้สอนภิกษุณี ครุธรรมทั้ง ๘ ประการนี้ ภิกษุณีต้องสักการะเคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต[13]

      การอนุญาตให้ภิกษุณีบวชได้  แต่ต้องประพฤติธรรมที่ค่อนข้างจะหนัก ๘ประการ ซึ่งเป็นเหตุผลที่วางไว้เพื่อที่จะให้ภิกษุณีรู้สำนึกว่าการบวชนั้นต้องใช้ความเพียรพยายามและความอดทนอย่างสูง ครุธรรมเป็นหลักการสากลซึ่งเป็นไปตามการใช้เหตุผลทางตรรกะในทางนิรนัย ซึ่งเป็นเหตุที่ก่อให้เกิดผล  ครุธรรมเป็นเหตุที่นำไปสู่ผลคือการบวช  ถ้าการปฏิบัติตาครุธรรมสำเร็จ การบวชจึงจะต้องมา แต่ถ้าการปฏิบัติไม่สมบูรณ์ การบวชก็จะไม่มีซึ่งเป็นประโยคสันนิษฐานแบบมีเงื่อนไขคือ ถ้าทำได้ตามครุธรรม การบวชจึงจะมี ถ้าทำไม่ได้การบวชก็จะไม่มี เงื่อนไขสำหรับการบวชเป็นภิกษุณีจึงอยู่ที่การประพฤติตามครุธรรม ในขณะที่เงื่อนไขของกรบวชเป็นภิกษุเช่นนี้ไม่มี

     การที่จะให้การอุปสมบทจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไข ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความอดทนอย่างเยี่ยมยอดจึงจะปฏิบัติตามได้ ถ้าผิดกฎเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่งก็ถือว่าไม่ผ่านการคัดเลือก ดังนั้น แม้จะให้อุปสมบทภิกษุณีแต่ก็เป็นการกำหนอไว้ก่อนแล้วว่าต่อไปไม่นานภิกษุณีจะหมดไปจากพุทธศาสนาเอง   การที่พระพุทธเจ้ายอมให้สตรีอุปสมบท  ถือว่า เป็นการทำให้อายุของพระพุทธศาสนาสั้นลงอีกประการหนึ่งดังข้อความที่กล่าวว่า “ถ้าสตรีจักไม่ได้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว  พรหมจรรย์จักตั้งอยู่ได้นาน  สัทธรรมจะพึงตั้งอยู่ไดตลอดพันปี ก็เพราะสตรีออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว บัดนี้พรหมจรรย์จักไม่ตั้งอยู่ได้นาน สัทธรรมจักตั้งอยู่ได้เพียง ๕๐๐  ปีเศษ  เท่านั้น”[14]

     การอนุญาตให้ภิกษุณีอุปสมบทจึงเป็นเหมือนเงื่อนไขที่ทำให้ศาสนามีอายุสั้นลงพระพุทธเจ้าแม้ทรงทราบก็ยังอนุญาตให้บวช ในเรื่องของการอนุญาตให้นางปชาบดีโคตมีบวชเป็นนางภิกษุณีนี้มีข้อที่น่าสนใจในทางการใช้เหตุผล ดังนี้ “การบวชเป็นประโยคเงื่อนไขซึ่งเป็นไปตามกฎแห่งความมีเหตุผล (The Law of Causality ) ซึ่งระบุว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มีอยู่หรืออุบัติขึ้นมา ย่อมเป็นผลของเหตุใดเหตุหนึ่งหรือหลายเหตุรวมกัน สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีอยู่  สิ่งนั้นจะต้องมีเหตุให้มีอยู่เช่นนั้น ถ้ามีภิกษุณีในพระศาสนา  การมีภิกษุณีเป็นสาเหตุของการที่ศาสนามีอายุสั้นลง เหมือนตระกูลที่มีผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย  เชื้อสายย่อมค่อยๆ หายไป เพราะขาดผู้สืบตระกูล แต่ความเสื่อมของภิกษุณีมีอันตรายมาจากตัวภิกษุณีเอง และอันตรายที่เกิดจากภายนอก อันอาศัยเหตุคือตัวภิกษุณีนั้นเอง ภิกษุณีเป็นผู้หญิง ความเป็นผู้หญิงย่อมจะเป็นอันรายต่อการปฏิบัติธรรมเพราะความเป็นบรรพชิตจะต้องอาศัยอยู่ในป่าที่สงบเงียบเพื่อบำเพ็ญ สมณธรรม ป่าย่อมมีอันตรายแอบแฝงอยู่ทั้งภัยที่เกิดจากป่าเอง  และภัยที่มากับความสงบคือบุรุษผู้ทุศีลย่อมจะหาช่องทางในการทำอันตรายต่อพรหมจรรย์ของนางภิกษุณีด้วย ดังที่ กรณีของนันทกมาณพข่มขืนนางอุบลวรรณเถวี”[15]

       ๓.๓) การบัญญัตสิกขาบทแก่ภิกษุณี

      ตามสภาพสังคมและความเป็นจริงของธรรมชาติ ภิกษุณีเป็นเพศหญิงน่าจะมีข้อปฏิบัติน้อยกว่าภิกษุที่เป็นชาย แต่ทว่าสิกขาบทที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้สำหรับภิกษุณีกลับมีมากกว่าภิกษุถึง ๗๔  สิกขาบท (ภิกษุ ๒๒๗ สิกขาบท ส่วนภิกษุณี ๓๑๑ สิกขาบท) ยิ่งปาราชิกสิกขาบทเพิ่มขึ้นถึง ๔ สิกขาบทรวมเป็น ๘ สิกขาบท โทษหนักคือขาดจากสถานภาพการเป็นภิกษุณีมีจำนวนสิกขาบทที่มากขึ้น ย่อมเป็นเหตุผลเพียงพอที่จะทำให้การมีภิกษุณีเป็นเงื่อนไขที่ถูกกำหนดเพราะว่า สิกขาบทที่บัญญัติแก่ภิกษุณีมีส่วนที่เหมือนกันของภิกษุ โดยการอนุโลมตามสิกขาบทของภิกษุ

     ปาราชิกสิกขาบทที่แตกต่างไปจากภิกษุ คือ ภิกษุณีมีความกำหนด ยินดีการลูบคลำการจักต้อง การบีบของชายผู้มีความกำหนัดข้างบนตั้งแต่รากขวัญลงไป ข้างล้างตั้งแต่เข่าขึ้นมา เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้คือหมดสภาพการเป็นภิกษุณี

     ภิกษุณีรู้ว่าภิกษุณีอื่นต้องอาบัติปาราชิก  ไม่ได้กล่าวโจทด้วยตนเอง ไม่บอกแก่หมู่คณะ เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้คือหมดสถานภาพการเป็นภิกษุณี

     ภิกษุณีประพฤติตามภิกษุที่สงฆ์ประกาศขับออกจากหมู่  ภิกษุณีนั้นถูกสงฆ์ตักเตือนเมื่อไม่เชื่อฟังจึงสวดประกาศตักเตือนชี้แจง  ถ้าสวดประกาศครบสามครั้ง ยังไม่เลิก  เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้คือหมดสถานภาพการเป็นภิกษุณี

    ภิกษุณีประพฤติตนไม่สมควรคือยินดีการจับมือ การจับชายผ้าของบุรุษ ยืน พูด นัดหมาย ยินดีตามนัดหมาย เข้าไปสู่ที่มุงด้วยกันกับบุรุษ  ทอดกายให้เขาเพื่อเสพอสัทธรรมเป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้คือหมดสถานภาพเป็นภิกษุณี

    อีกสี่ข้อให้ถือปฏิบัติเหมือนภิกษุ  การบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุณีมากกว่าภิกษุดูเหมือนจะเป็นการซ้ำเติมต่อภิกษุณีมากเกิดไป แต่เหตุผลที่ทรงบัญญัติอย่างนั้นเพราะความปลอดภัยของภิกษุณีเอง ผู้หญิงย่อมอ่อนแอไม่เหมาะกับการปฏิบัติธรรมในป่าที่เต็มไปด้วยอันตราย และเพื่อความอยู่นานแห่งพระพุทธศาสนา การบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุณีจึงเป็นประโยคเงื่อนไข (Conditional proposition)  ในทางตรรกะ ซึ่งเป็นไปตากกที่ว่า ถ้าอย่างนั้นๆ ก็เป็นอย่างนี้ๆ (If so and so, then such and such )[16] กล่าวสรุปได้ว่า การบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุณีจึงเป็นไปตามเงื่อนไขที่ว่า “ถ้าภิกษุณีอุปสมบท  พระพุทธศาสนาจะอยู่ได้ไม่นาน   หากอนุญาตให้ภิกษุณีอุปสมบท  พระพุทธศาสนาจะมีอายุสั้นเข้า”

เหตุผลนี้ จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้พระพุทธเจ้าวางกฎไว้ สำหรับให้ภิกษุณีปฏิบัติมากกว่าภิกษุ เพื่อภิกษุณีจะได้อยู่ไม่นาน  เมื่อภิกษุณีอยู่ในพระพุทธศาสนาไม่นาน เพราะมีบัญญัติและข้อห้ามมาก   ดังนั้นพระพุทธศาสนาจะอยู่ได้นาน  เพื่อเห็นแก่อายุของพระพุทธศาสนา การอนุญาตให้ภิกษุณีอุปสมบทตามเงื่อนไข เพราะภิกษุณีรูปแรกมีคุณต่อพระพุทธเจ้า  เป็นการทดแทนคุณเฉพาะบุคคล แต่ถ้าจะอนุญาตสำหรับคนเดียวก็จะเป็นการลำเอียงเกิดไป เมื่ออนุญาตคนหนึ่ง คนอื่นก็ย่อมจะมีสิทธิเท่าเทียมกัน วิธีที่เป็นหลักการสากลสำหรับภิกษุจึงเป็นไปตามเงื่อนไข

    แม้สิกขาบทจะมากก็จริง แต่ก็ไม่ยากสำหรับผู้ที่มีความตั้งใจ  ดังจะเห็นได้ว่า ในสมัยพุทธกาลภิกษุณีที่บรรลุคุณวิเศษ  และเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาไม่น้อยและที่ได้รับการยอย่องว่าเป็นเลิศ (เอตทัคคะ) ก็มีเป็นจำนวนมาก  จำนวนของสิกขาบทจึงไม่ใช้ปัจจัยสำคัญในการบรรลุคุณวิเศษ   ซ้ำกลับจะเป็นผลดีต่อผู้ที่มีความตั้งใจจริงด้วยซ้ำไปและจะเป็นกำแพงคอยกั้นผู้ที่มีจิตเป็นอกุศลหวังจะอุปสมบทเข้ามาเพื่อทำลายพระพุทธศาสนามากกว่าที่จะทำให้พระพุทธศาสนามั่นคง

๔. หลักการตัดสินธรรมวินัยและบทลงโทษผู้ทำผิด

     ถ้าภิกษุประพฤติผิดแล้วยอมรับผิดก็จะถูกลงโทษตามหนักเบาของแต่ละสิกขาบท แต่ถ้าทำผิดแล้วไม่ยอมรับผิด ก็จะมีขั้นตอนในการตัดสินตามกระบวนการที่เรียกว่าอธิกรณสมถะ ประกอบด้วย (๑) สัมมุขาวินัย (๒) สัมมุขาวินัย (๓) อมุฬหวินัย (๔) ปฏิญญากรณะ  (๕) เยภุยยสิกา  (๖) ตัสสปาปิยสิกา (๗) ติณวัตถารกะ

      เมื่อมีเรื่องที่ทำให้ภิกษุเกิดความเห็นที่แตกแยกกันเกี่ยวกับความถูกต้องแห่งธรรมวินัยในลักษณะที่ว่า “ข้อนี้เป็นธรรม  ข้อนี้ไม่เป็นธรรม ข้อนี้เป็นวินัย  ข้อนี้ไม่เป็นวินัย สิ่งนี้พระตถาดคตตรัสไว้ ทรงประพฤติมา บัญญัติไว้  แต่สิ่งนี้พระตถาคตไม่ได้ตรัสไว้ ไม่ได้ทรงประพฤติ ไม่ได้บัญญัติไว้ข้อนี้เป็นอาบัติ  ข้อนี้อาบัติเบา ข้อนี้อาบัติส่วนเหลือ (อย่างกลาง ) ข้อนี้อาบัติหยาบ ข้อนี้ไม่เป็นอาบัติ” และ “ความบาดหมาง  ความทะเลาะ  ความแก่งแย่ง ความทุ่มเถียง ความกล่าวต่างกัน ความกล่าวประการอื่น การพูดเพื่อความกลัดกลุ่มใจ ความหมายมั่นในเรื่องนี้เรียกว่า “วิวาทาธิกรณ์”[17]

     การมีความเห็นที่ไม่เหมือนกันจนกระทั่งนำไปสู่การทะเลาะวิวาท ซึ่งจะทำให้เกิดความทิฏฐิที่แตกต่าง  และนำไปสู่การแบ่งแยกเป็นหมู่คณะดังกรณีของพระภิกษุในเมืองโกสัมพีระหว่างภิกษุฝ่ายวินัยและฝ่ายธรรมะ  ที่ทะเลาะกันด้วยเหตุเพียงเล็กน้อยคือน้ำชำระให้ห้องส้วม จนกลายเป็นเรื่องของธรรมและวินัย จนทำให้พระพุทธเจ้าต้องเสด็จไปจำพรรษาที่ป่าปริเลยยกะ[18] เรื่องนี้ให้ตัดสินด้วย สัมมุชาวินัยและเยภุยยสิกาวินัย คือ ให้ตัดสินโดยการสอบถามต่อหน้าสงฆ์ โดยใช้เสียงข้างมาก

     อนุวาทาธิกาณ์  เป็นการโจทก์กันของพวกภิกษุในเรื่องของศิล  อาจาระ  ทิฏฐิ ดังพระดำรัสที่ตรัสอธิบายความหมายและบอกวิธีระงับไว้แก่ภิกษุว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อนึ่งภิกษุในธรรมวินัยนี้  กล่าวโจทก์ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งด้วยศิลวิบัติ  อาจารวิบัติ  หรืออาชีววิบัติ การโจทก์การกล่าวหา  หรือการฟ้องในเรื่องเช่นนี้   พระพุทธองค์ทรงให้หลักการในการตัดสินไว้ ๔ ประการคือ (๑) สัมมุขาวินัย  (๒) สติวินัย  (๓) อมูฬหวินัย และ(๔) ตัสสปาปิยสิกา” [19]

     อาปัตตาธิกรณ์   คือ การต้องอาบัติในแต่ละอย่างมีการกระทำให้พ้นอาบัติไมเหมือนกันให้ระงับความสัมมุขาวินัย ปฏิญญาตกรณะ  และติณวัตถารกะ

     กิจจาธิกรณ์  หมายถึง  หน้าที่  กิจแห่งสงฆ์  คือ อปโลกนกรรม บัญติกรรม บัตติทุติยกรรม        บัตติจตุตถกรรม[20] กิจจาธิกรณ์ให้ระงับด้วยสัมมุขาวินัย  [21]

     พระพุทธเจ้าได้วางหลักการตัดสินในเรื่องที่เป็นธรรมวินัยไว้แล้วรอบคอบเพื่อป้องกันการประพฤติผิดต่าง ๆ เมื่อมีเรื่องเกิดขึ้นให้ประชุมสงฆ์เพื่อสอบถาม สอบสวนและตัดสินและลงโทษตามสมควรแก่ความผิดที่เกิดขึ้น ธรรวินัยเหมือนบทบัญญัติที่พระสงฆ์ต้องเคารพเอื้อเฟื้อและปฏิบัติตาม   การบัญญัติสิกขาบทเพื่อให้เป็นแบบอย่างที่ดีงามของอนุชน  หรือเพื่อเชิดชูความดีงามไว้ในโลก  เป็นการเคารพธรรม เคารพวินัย หากมีข้อสงสัยในเรื่องธรรมวินัยท่านได้วางหลักสำหรับตัดสินไว้ว่า “ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความคลายกำหนัด (วิราคะ) เพื่อความหมดเครื่องผูกรัด  (วิสังโยค) เพื่อความไม่พอกพูนกิเลส (อุปจยะ) เพื่อความักน้อย (อัปปิจฉตา) เพื่อความสันโดษ (สันตุฏฐี) เพื่อการประกอบความเพียร (อรายารัมภะ) เพื่อความเลี้ยงง่าย (สุภรตา) ธรรมเหล่านี้พึงรู้ว่าเป็นธรรม เป็นวินัย เป็นสัตถุสาสน์”[22]

      การวางหลักกำหนดว่าสิ่งไหนเป็นธรรม สิ่งไหนเป็นวินัย  ก็เพื่อป้องกันไว้เมื่อมีข้อสงสัยและเกิดความขัดแย้งกันขึ้น  จะได้มีหลักในการพิจารณา  ถ้าเป็นไปตามที่พระองค์ตรัสไว้แสดงว่าสิ่งนั้นเป็นวินัย  ถ้าเป็นไปตามนี้พึงตั้งจ้อสังเกตและนำไปพิจารณาหาทางแก้ไขต่อไป   วินัยเป็นทบบัญญัติที่วางไว้เป็นความจริงสากล ซึ่งเป็นไปตามกฎแห่งการใช้เหตุผลว่า ถ้าภิกษุใดทำผิดบทบัญญัติ  ภิกษุนั้นจะต้องได้รับการติเตียน ย่อมเดือดร้อน  ย่อมแตกจากหมู่คณะ ดังกรณีของพระวินัยธรกับพระธรรมธร มีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องที่น้ำที่เหลือไว้ในห้องน้ำผิดบทบัญญัติหรือไม่ พระธรรมธรมีความเห็นว่าไม่ผิดบทบัญญัติ แต่พระวินัยธรมีความเห็นว่าผิด เมื่อเกิดความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเดียวกัน หลักการตัดสินก็ต้องพิจารณาตามเหตุปัจจัยโดยค้นหาว่าหลักการสากลที่พระเจ้าบัญญัติไว้มีอยู่หรือไม่   เมื่อค้นดูแล้วปรากฏว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้บัญญัติไว้   สิ่งใดที่พระพุทธเจ้าไม่ได้บัญญัติไว้  สิ่งนั้นไม่ผิด  พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้บัญญัติเพิ่มเติม  เพราะว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยถึงจะทำหรือไม่ทำก็ไม่ได้เป็นเงื่อนไขที่จะนำไปสู่ความคลายกำหนดราคะ  หรือเพื่อการประกอบความเพียรได้  ดังนั้นสิ่งที่พระพุทธเจ้าจะตั้งเป็นบทบัญญัติว่าสิ่งไหนควรตราเป็นวินัยเป็นข้อห้ามจึงอยู่ที่เงื่อนไขที่ว่าเป็นไปเพื่อความคลายกำหนด (วิราคะ) เพื่อความหมดเครื่องผูกรัด (วิสังโยค) เพื่อความไม่พอกพูนกิเลส (อปจยะ) เพื่อความมักน้อย (อัปปิจฉตา) เพื่อความสันโดษ (สันตุฏฐี) เพื่อการประกอบความเพียร (วิริยารัมภะ) เพื่อความเลี้ยงง่าย (สุภรตา )[23]

     ในกรณีที่มีการกระทำโดยที่ไม่รู้ว่าสิ่งนั้นจะเป็นความผิดก็ให้ใช้หลักการเดียวกันนี้ตัดสิน ดังกรณีของภิกษุกลุ่มหนึ่งบำเพ็ญสมาธิจนได้ฌานสมาบัติ  โดยการพิจารณาความเป็นไปในกายจนเกิดความเบื่อหน่าย (อสุภกัมมัฏฐาน) มองเห็นร่างกายมีสภาพที่สกปรกเน่าเปลื่อย ไม่นาอภิรมย์ยินดี  จึงเกิดความไม่ชอบใจในร่างกายตนเอง   ครั้งแรกจ้างให้คนอื่นฆ่าตนเองให้ตาย  ต่อมาเมื่อไม่มีใครรับจ้างก็ฆ่าตัวเองเพื่อที่จะหลีกหนีจากความน่าเกลียดของอัตตภาพร่างกาย เมื่อพระเจ้าทราบข่าวจึงนำเข้าสู่ที่ประชุมเพื่อหารือและตัดสินว่าการฆ่าตัวตายผิดวินัยหรือไม่ บทบัญญัติที่พระพุทธเจ้าวางเอาไว้ว่า การฆ่ามนุษย์จนถึงแก่ความตายเป็นอาบัติปาราชิก[24] คำว่ามนุษย์ตามบัญญัตินี้หมายถึงมนุษย์อื่นที่ไม่ใช้ตัวเอง แต่ภิกษุกลุ่มนี้เข้าใจว่าการฆ่าตัว  เองย่อมไม่ผิดบทบัญญัติ เพราะเป็นสิทธิส่วนบุคคล

     การตัดสินย่อมตั้งอยู่บนพื้นฐานของการใช้เหตุผลทางตรรกะ  ซึ่งจะเป็นไปตามหลักการคือคำว่า “มนุษย์” หมายถึง สัตว์ประเภทมนุษย์ทุกชนิด  มนุษย์เป็นชนิดของสัตว์  เพราะมนุษย์เป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่สังกัดอยู่ในประเภทของสัตว์ ดังนั้น มนุษย์จึงหมายถึงทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นผู้อื่นหรือตนเอง การฆ่าตัวตายก็ย่อมจะมีความผิดตามบทบัญญัติด้วย พระพุทธเจ้าใช้หลักการทางตรรกะมาพิสูจน์ความผิดของภิกษุกลุ่มนี้ว่ามีความผิดเหมือนกับการฆ่าคนอื่นเหมือนกัน  แต่พระองค์ยังไม่ได้บัญญัติไว้ที่พวกภิกษุทำลงไปย่อมเป็นเพราะการตีความบทบัญญัติผิด จึงยกประโยชน์ให้แก่จำเลยคือไม่ให้มีความผิด ไม่ต้องรับโทษฐานฆ่ามนุษย์  แต่พระองค์ก็ได้สร้างหลักการสากลคือตราเป็นบทบัญญัติไว้สำหรับเป็นข้อปฏิบัติต่อไป จึงมีอนุบัญญัติเพิ่มเติมว่า ผู้ใดฆ่ามนุษย์แม้กระทั่งตัวเองเป็นอาบัติปาราชิก[25]

     เหตุผลที่พระพุทธเจ้าได้บัญญัติวินัยไว้เพื่อทำให้สังคมสงฆ์น่าดูน่าเลื่อมใส สำหรับภิกษุที่ไม่ปฏิบัติตามวินัยย่อมจะได้รับโทษคือการปรับอาบัติ ส่วนวินัยหรือศีลสำหรับอุบาสกอุบาสิกาทั่วไปได้อนุโลมตามวินัยของภิกษุและภิกษุณี  แต่จำนวนข้อบัญญัติมีจำนวนน้อยกว่าเหตุผลที่บัญญัติน้อยกว่า  เพราะฆราวาสยังคงครองเรือน  มีงานมาก  และได้แสดงโทษจากการที่ไม่รักษาศีลและการทำให้ศีลวิบัติไว้ดังข้อความว่า “คนทุศีล  ผู้มีศีลวิบัติในโลกนี้  ย่อมเข้าถึงความเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ใหญ่หลวง  เพราะเหตุแห่งความประมาท  ชื่อเสียงอันลามกของคนทุศีล  ของผู้มีศีลวิบัติย่อมเฟื่องฟุ้งไป ย่อมครั่นคร้ามขวยเขินในการเข้าสู่บริษัท  ย่อมเป็นผู้หลงทำกาละ  เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงอบายทุคติ  วินิบาต  นรก”[26]

    ส่วนผู้ที่ปฏิบัติตามข้อห้ามหรือศีลที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้แล้วย่อมจะได้อานิสงส์ดังนี้ คือ “ย่อมได้กองโภคทรัพย์ใหญ่หลวง ชื่อเสียงอันดีงามย่อมเฟื่องฟุ้งไป เป็นแก้วกล้า ไม่ขวนเขินในการเข้าสู่บริษัท ย่อมไม่หลงทำกาละ ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์”[27]

     การบัญญัติข้อห้ามคือวินัยเป็นเหตุที่จะนำไปสู่ผลคือความมีระเบียบแห่งคณะสงฆ์และอุบาสกอุบาสิกาซึ่งปฏิบัติตามข้อห้ามย่อมจะมีระเบียบ ส่วนการได้โภคทรัพย์ ความมีชื่อเสียง และการเข้าถึงสวรรค์นั้น  เป็นเหตุผลย่อยที่แทรกอยู่ในเหตุผลหลัก ความมีระเบียบแห่งหมู่คณะเป็นเหตุผลหลักเหตุผลที่ตามมาเป็นเหตุผลย่อย  หมายความว่าในการปกครองและบริหารหมู่คณะคสขวามมีระเบียบและความพร้อมเพรียงเป็นหลักการที่สำคัญ หมู่คณะใดมีระเบียบก็เป็นที่น่าดูน่าเลื่อมใส ระเบียบเป็นเงื่อนไขแห่งความเลื่อมใส ส่วนความเลื่อมใสเป็นเหตุที่จะทำให้ได้ผลคือความมิโภคสมบัติและการเข้าถึงสวรรค์ในการวางระเบียบแห่งวินัยนี้ จึงเป็นความเชื่อมโยงระหว่างระเบียบ ความน่าเลื่อมใสและการได้โภคทรัพย์หรือการเข้าถึงสวรรค์ ถ้าหมู่สงฆ์ไม่มีระเบียบ  ความเลื่อมใสของคนทั้งหลายก็จะไม่มี  และการได้โภคทรัพย์หรือการเข้าสู่สวรรค์ก็จะไม่มีตามไปด้วย ดังนั้น การบัญญัติวินัยจึงเป็นเงื่อนประการแรกในการคงอยู่แห่งพระพุทธศาสนา  เพราะพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาอาศัยการเลี้ยงชีพด้วยความเลื่อมใสของมหาชน ซึ่งถวายอาหารบิณฑบาตเพราะภิกษุมีระเบียบมีศีลมีวินัยนั่นเอง

๕.  สรุปวิเคราะห์

     การใช้เหตุผลการบัญญัติพระวินัยของพระพุทธเจ้าที่เป็นวินัยของภิกษุและภิกษุณี เป็นข้อห้ามและข้อที่ควรปฏิบัติปลีกย่อยอีกจำนวนหนึ่ง และเป็นการรวบรวมเรื่องราวทั้งหมดเกี่ยวกับมูลเหตุแห่งบัญญัติสิกขาบท ต้นบัญญัติ อนุบัญญัติ บุคคล สถานที่ พร้อมทั้งหลักการตัดสิน บทลงโทษด้วย   งานวิจัยนี้ได้นำมาแสดงไว้เพียงบางส่วนเท่านั้น เพราะจะทำให้เนื้อหามากเกินไป และอีกส่วนนึ่งมีเนื้อหาที่พลาดพิงถึงหลักธรรม การบัญญัติพระวินัยของพระพุทธเจ้าเนื้อหาส่วนใหญ่จะเป็นการสอบสวน   การพิสูจน์ทางกายกรรม  และวจีกรรม  เพราะการบัญญัติพระวินัยของพระพุทธเจ้ามีเนื้อหาครอบคลุมถึงเรื่องกายและวาจา ส่วนการพิสูจน์ทางมโนกรรม  ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนจะมีปรากฏในคัมภีร์พระวินัยปิฏก

     นอกจากนี้ การใช้เหตุผลการบัญญัติพระวินัยของพระพุทธเจ้าจึงเป็นการตั้งหลักการไว้เป็นหลักสำหรับในการปฏิบัติที่บรรพชิตทุกท่านจะตองปฏิบัติตาม  ถ้าไม่ปฏิบัติตามจะต้องมีโทษตั้งแต่สถานหนัก คือ ขาดจากความเป็นบรรพชิต โทษขนาดกลางประพฤติตามกฎเกณฑ์แล้วก็เป็นอันหมดโทษ  และโทษสถานเบาที่เพียงแสดงเพื่อให้เกิดความสำนึกแล้วก็จะหายไปเอง การบัญญัติวินัยในแต่ละสิกขาบทจึงเป็นการหาหลักการสากล โดยการประชุมสงฆ์เพื่อสอบถาม แสดงความคิดเห็น และตั้งหลักการไว้สำหรับเป็นแนวในการพิจารณาเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่คล้ายกัน  เป็นเงื่อนไขที่ต้องทำการแก้ไขและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมใหม่ สร้างเป็นรูปนิรนัยได้เช่นกัน

     การบัญญัติวินัยจึงเป็นการวางหลักการสากลไว้สำหรับเป็นหลักปฏิบัติ ส่วนการแสดงปฐมเทศนาแม้ว่าเนื้อหาจะปรากฏคล้ายพระสูตร  แต่ที่มีปรากฏในพระวินัยปิฏกจึงได้นำมาแสดงไว้เป็น   ปฐมเทศนา ที่มีลักษณะแห่งการวางหลักการ คือ แสดงไว้เป็นหลักการแห่งพระพุทธศาสนา ที่ชี้ให้เห็นความแตกต่างจากลัทธิความเชื่ออย่างอื่นที่มีอยู่แล้วในสมัยนั้น  หลักการนี้เป็นหลักการที่จะนำไปแสดง  สอบสวนกับความเชื่ออย่างอื่นเมื่อมีเรื่องเกิดขึ้นถ้าเข้ากันได้กับเรื่องที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง  ถ้าเข้ากันไม่ได้ให้ตั้งเงื่อนไขไว้ก่อนแล้วนำไปสอบถาม สอบสวนพิจารณากับผู้รู้อื่นต่อไปว่าสิ่งนั้นผิดหลักแห่งเหตุผลวิบัติ (Fallacy ) หรือไม่  

[1]ที. ม. 10/141/123.

[2]มหามกุฏราชวิทยาลัย, พระวินัย  มหาวัคค์ ปฐมภาคและอรรถกถา  แปลภาค ๑, (กรุงเทพฯ : เฉลาญาการพิมพ์,  ๒๕๒๕), หน้า ๔๓.

[3] วิ. มหา. (ไทย). ๔/๓๒/๓๒.

[4] วิ. มหา.  (ไทย). ๑/๘/๑๑.

[5] วิ. มหา. (ไทย). ๑/๒๐/๒๖.

[6] มหามกุฏราชวิทยาลัย, พระวินัย  มหาวัคค์  ปฐมภาคและอรรถกถา  แปลภาค ๑, หน้า. ๓๙๑.

[7] วิ. มหา. (ไทย).  ๒/๒๕๕/๒๗๕.

[8] วิ. มหา. (ไทย).  ๒/๖๘๐/๕๗๒.

[9] วิ. มหา. (ไทย).  ๒/๕๖๒/๔๙๗.

[10] วิ. มหา. (ไทย). ๒/๓๕๔/๓๔๗.

[11] วิ. มหา.  (ไทย). ๒/๗๘๑/๖๔๑.

[12] วิ. มหา. (ไทย). ๒/๘๐๐/๖๕๙.

[13] วิ. จุล.  (ไทย). ๗/๕๑๖/๒๐๘.

[14] วิ. จุล.  (ไทย). ๗/๕๑๘/๒๑๐.

[15] คณะกรรมการแผนกตำรา,  พระธัมมปทัฏฐกถา  ภาค ๓, (กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๒๕), หน้า  ๒๑๕.

[16] ชุนประเสริฐ  ฐศุภมาตรา, ตรรกวิทยา, (กรุงเทพฯ:  เขษมบุคสโตร์,  ๒๕๐๕), หน้า ๘๑.

[17] วิ.  จุล.  (ไทย). ๖/๖๓๓/๒๙๙.

[18]คณะกรรมการแผนกตำรา, พระธัมปทัฏฐกถา  ภาค ๑,  (กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๒๕),           หน้า ๔๙.

[19] วิ.  จุล.  (ไทย). ๖/๖๓๔/๓๐๐-๖๘๒/๓๑๘.

[20] วิ.  จุล.  (ไทย). ๖/๖๓๖/๓๑๐.

[21] วิ.  จุล.  (ไทย).  ๖/๖๙๔/๓๒๘.

[22] วิ.จุล.  (ไทย).  ๗/๕๒๓/๓๓๑.

[23] วิ. มหา.  (ไทย). ๗/๕๒๔/๓๓๒.

[24] วิ.มหา.  (ไทย). ๑/๑๗๙/๒๙๒.

[25] วิ. มหา. (ไทย). ๑/๑๘๐/๒๙๕.

[26] วิ. มหา. (ไทย).  ๕/๖๘/๑๔๔.

[27] วิ. มหา.  (ไทย). ๕/๖๙/๑๑๕.

หมายเลขบันทึก: 566102เขียนเมื่อ 16 เมษายน 2014 06:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 เมษายน 2014 06:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท