Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

กรณีศึกษาน้องจันใหม่หรือ “เด็กชายสมชัย ไม่มีนามสกุล” : เขาประสบปัญหาสิทธิมนุษยชนหรือไม่ ? ถ้าประสบ ปัญหานั้นคือปัญหาอะไร ? การจัดการปัญหาดังกล่าวเป็นหน้าที่ของรัฐใดบ้าง ? เพราะเหตุใด ?


กรณีศึกษาน้องจันใหม่หรือ “เด็กชายสมชัย ไม่มีนามสกุล” : เขาประสบปัญหาสิทธิมนุษยชนหรือไม่ ? ถ้าประสบ ปัญหานั้นคือปัญหาอะไร ? การจัดการปัญหาดังกล่าวเป็นหน้าที่ของรัฐใดบ้าง ? เพราะเหตุใด ?

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

บันทึกเพื่อกำหนดและพัฒนาสถานะบุคคลตามกฎหมายภายใต้โครงการศึกษาวิจัยและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเด็กและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนชายแดนไทย-พม่า คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์, เมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๗ ปรับปรุงล่าสุดในวันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๗

---------------

ข้อเท็จจริง[1]

----------------

ปรากฏตามข้อมูลในแบบสำรวจข้อเท็จจริงภายใต้โครงการศึกษาวิจัยและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเด็กและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนชายแดน ไทย-พม่า พ.ศ.๒๕๕๖ บันทึกโดย นางจันทราภา จินดาทอง นักสังคมสงเคราะห์ประจำโรงพยาบาลอุ้มผาง เมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๕๗ ซึ่งปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๕๗ ว่า น้องจันใหม่ หรือ “เด็กชายสมชัย ไม่มีชื่อสกุล” เกิดเมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๐ ณ  โรงพยาบาลอุ้มผาง ซึ่งโรงพยาบาลนี้ได้ออกหนังสือรับรองการเกิด (ทร.๑/๑) เลขที่ ๑๑๒/๕๐ เพื่อรับรองการเกิดให้แก่น้องจันใหม่ เกิด มารดายังประสบปัญหาความไร้รัฐโดยสิ้นเชิง ด้วยเหตุนี้ มารดาจึงไม่ได้แจ้งการเกิดของน้องต่ออำเภออุ้มผาง พยาบาลผู้ลงนามในหนังสือรับรองการเกิดของน้องจันใหม่มีชื่อว่า “นางศิริรัตน์ พฤทธิ์ปัญญา” เป็นพยาบาลวิชาชีพประจำห้องคลอดของโรงพยาบาลอุ้มผาง

หลังจากคลอดเด็กชายสมชัย ไม่ได้ไปแจ้งเกิด เนื่องจากขณะนั้น ตัวนางเอ ไม่ได้ถือบัตรประจำตัวใด ๆ และเข้าใจว่า  อำเภออุ้มผางไม่รับแจ้งเกิดบุตร หากบิดาและมารดาไม่มีบัตรประจำตัวใดๆ  

ใน พ.ศ.๒๕๕๔ นางเอ มารดาของน้องจันใหม่ได้รับการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ประเภทบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน (ท.ร.๓๘ ก) และในวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๔ คุณเอได้รับการออกบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรที่ออกโดยกรมการปกครอง

คุณเอเล่าอีกว่า เมื่อเธอได้รับบัตรประจำตัวบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน เธอจึงได้ไปติดต่อสำนักทะเบียนเทศบาลตำบลอุ้มผาง เพื่อยื่นคำร้องขอแจ้งเกิดเกินกำหนดให้กับเด็กชายสมชัย ซึ่งนายทะเบียนเทศบาลตำบลอุ้มผางได้แนะนำให้รวบรวมพยานเอกสารและพยานบุคคล แต่นางเอก็ยังไม่ได้รวบรวมข้อเท็จจริงเพื่อเสนอต่อเทศบาลดังกล่าวจนถึงปัจจุบัน เด็กชายสมชัย ยังไม่ได้รับการแจ้งเกิดในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย เขาจึงไม่มีสูติบัตร และจึงไม่มีเลขประจำตัวประชาชนชนตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎร แต่อย่างไรก็ตาม น้องจันใหม่ได้รับการออกบัตรประจำตัวผู้ปวยจากโรงพยาบาลอุ้มผาง และได้รับหมายเลขประจำตัวผู้ป่วยของโรงพยาบาลอุ้มผาง กล่าวคือ HN ๓๕๗๐๖ และมีเลขประจำตัวตาม “บัตรขาวของโรงพยาบาลอุ้มผาง” กล่าวคือ  PHC ๑๑/๙๓

บิดาของน้องจันใหม่มีชื่อว่า “นายหนานจ่อ ไม่ปรากฏชื่อสกุล”  ซึ่งเกิด ณ  บ้านหนองมั่งหนองโค ประเทศเมียนม่าร์ โดยไม่ได้รับการแจ้งการเกิดในทะเบียนราษฎรของประเทศเมียนม่าร์ หรือประเทศใดเลยบนโลก ในปัจจุบัน นายหนานจ่อ ออกไปทำงานอยู่กรุงเทพ นาน ๆ จะโทรศัพท์และส่งเงินมาให้  คุณเอไม่ทราบว่า บิดาของน้องจันใหม่อาศัยอยู่ที่ไหน และไม่ทราบว่า เขาได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรและมีบัตรประจำตัวแล้วหรือยัง

ในส่วนที่เกี่ยวกับตัวของคุณเอเองนั้น  เธอเกิดนางเอ ม่า จากนายหวัน และนางเงา เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๒ ณ บ้านห้วยแดน ประเทศเมียนม่าร์  โดยไม่ได้รับการแจ้งการเกิดในทะเบียนราษฎรของประเทศเมียนม่าร์ หรือประเทศใดเลยบนโลก  เช่นเดียวกับนายหนานจ่อ ผู้เป็นสามี   ใน พ.ศ.๒๕๕๔ เธอได้รับการสำรวจและบันทึกในทะเบียนประวัติประเภทบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน (ท.ร.๓๘ ก) ตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรและกรมการปกครองไทยได้ให้เลขประจำตัว ๑๓ หลักตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ขึ้นต้นด้วยเลข  ๐ ทั้งนี้ ปรากฏตามสำเนาบัตรประจำตัวบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียนที่ออกโดยอำเภออุ้มผางเมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๔

เธอบอกว่า เธอเป็นคนกะเหรี่ยงจึงไม่มีชื่อสกุล แต่เราพบว่า เธอสามารถใช้ภาษาไทยได้ดี ตำรวจตระเวณชายแดนท่านหนึ่งบอกว่า เธอมาจากหมู่บ้านกะเหรี่ยงเชื้อสายไทย

ในปัจจุบัน คุณเออาศัยอยู่กับบุตรทั้งสองคน ณ บ้านเลขที่ ๕๒๒  หมู่ที่ ๑ ต.อุ้มผาง อ.อุ้มผาง จ.ตาก ซึ่งเป็นบ้านเช่า เธอทำงานเป็นลูกจ้างรายวันของโรงพยาบาลอุ้มผาง

ในปัจจุบัน น้องจันใหม่มีอายุ ๖ ปี ๙ เดือน และอาศัยอยู่กับมารดา ณ บ้านเลขที่ ๕๒๒ หมู่ ๑ ต.อุ้มผาง อ.อุ้มผาง จ.ตาก ซึ่งเป็นบ้านเช่า นอกจากนั้น น้องจันใหม่เริ่มต้นเรียนแล้ว ณ ศูนย์เด็กเล็กองค์การบริหารส่วนตำบลอุ้มผาง (เตรียมอนุบาล)

เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๖ โรงพยาบาลอุ้มผางได้เสนอกรณีของน้องจันใหม่เป็นกรณีศึกษาภายใต้ “โครงการศึกษาวิจัยและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเด็กและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนชายแดนไทย – เมียนม่าร์ ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๖”[2]

--------

คำถาม

--------

น้องจันใหม่ประสบปัญหาสิทธิมนุษยชนหรือไม่ ? ถ้าประสบ ปัญหานั้นคือปัญหาอะไร ? การจัดการปัญหาดังกล่าวเป็นหน้าที่ของรัฐใดบ้าง ? เพราะเหตุใด ?

--------

คำตอบ

--------

โดยพิจารณาข้อเท็จจริงซึ่งสรุปโดยคุณจันทราภา จินดาทอง น้องจันใหม่น่าจะประสบปัญหาการเข้าไม่ถึงสิทธิมนุษยชนในสถานะบุคคลตามกฎหมายในสถานการณ์ทั่วไป ๓ ลักษณะ กล่าวคือ

๑.            น้องจันใหม่ประสบปัญหาความไร้การรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร

ปัญหาสิทธิมนุษยชนลักษณะแรกที่น้องจันใหม่ประสบ ก็คือ ปัญหาสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร ทั้งนี้เพราะน้องจันใหม่ไม่ได้รับการจดทะเบียนคนเกิดและการจดทะเบียนคนอยู่ตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรของรัฐใดเลยบนโลก จึงทำให้น้องจันใหม่ตกเป็นคนไร้รัฐโดยสิ้นเชิง

๒.            น้องจันใหม่ประสบปัญหาความไร้การรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติ

จะเห็นว่า เมื่อน้องจันใหม่ไม่ได้รับการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร ก็จะส่งผลต่อมาให้น้องไม่ได้รับการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติของรัฐใดเลยบนโลก น้องจึงประสบปัญหาที่เรียกกันว่า “ปัญหาความไร้สัญชาติ”

๓.            น้องจันใหม่ประสบปัญหาความไร้การรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายคนเข้าเมือง

จะเห็นว่า เมื่อน้องจันใหม่ไม่ได้รับการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร อันทำให้ตกเป็นคนไร้เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคล อันทำให้ถูกสันนิษฐานเป็น “คนเข้าเมืองและอาศัยอยู่ผิดกฎหมาย” โดยกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองของรัฐแทบจะทุกรัฐบนโลก

จึงสรุปได้ว่า ในระหว่างที่น้องจันใหม่ประสบปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายมหาชนใน ๓ ลักษณะข้างต้น น้องจันใหม่ย่อมเสี่ยงที่จะเข้าไม่ถึงหรือถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นที่เข้าใจได้ว่า หากมนุษย์เข้าไม่ถึงหรือถูกปฏิเสธสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายมหาชนในสถานการณ์ทั่วไปดังกล่าวมา มนุษย์ก็จะตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะเข้าไม่ถึงหรือถูกปฏิเสธสิทธิมนุษยชนแม้ขั้นพื้นฐานในทุกวินาทีของชีวิต

ใครมีหน้าที่จัดการปัญหาความไร้การรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายมหาชนของน้องจันใหม่ ?

เมื่อย้อนกลับไปพิจารณาข้อกฎหมายที่รับรองโดยปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.๑๙๔๘/พ.ศ.๒๔๙๑ และปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.๒๐๑๒/พ.ศ.๒๕๕๕ เราจะพบว่า น้องจันใหม่เป็นผู้ทรงสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายมหาชนทั้งสามประการข้างต้นอย่างแน่นอน และหน้าที่ในการจัดการปัญหาความไร้สถานะบุคคลตามกฎหมายในสถานการณ์ทั่วไปดังกล่าวย่อมเป็นหน้าที่ของรัฐทุกรัฐที่เกี่ยวข้อง 

ประเด็นจึงต้องพิจารณาต่อไป ก็คือ รัฐที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับเด็กชายสมชัยมีอยู่กี่รัฐ ?

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล รัฐที่เกี่ยวข้องกับบุคคลย่อมมี ๒ ลักษณะ กล่าวคือ  (๑) รัฐเจ้าของดินแดนที่บุคคลเกิดและอาศัยอยู่ และ (๒) รัฐเจ้าของตัวบุคคลของบุคคลนั้นๆ และบุพการี

เมื่อย้อนกลับมาพิจารณาข้อเท็จจริงของเด็กชายสมชัย เราพบว่า เขาน่าจะมีความเกาะเกี่ยวกับ ๒ รัฐ กล่าวคือ (๑) รัฐไทยซึ่งเป็นรัฐเจ้าของดินแดนที่เกิดของเด็กชายสมชัยและดินแดนที่เขาอาศัยอยู่ ตลอดจนเป็นรัฐเจ้าของดินแดนที่บุพการีอาศัยอยู่ในปัจจุบัน และ (๒) รัฐเมียนม่าร์ซึ่งเป็นรัฐที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับบุพการีของเด็กชายสมชัย เพราะมารดารับว่า เป็นบุคคลที่เกิดในประเทศเมียนม่าร์ แต่ในส่วนของบิดานั้น มารดาให้ปากคำว่า เป็นบุคคลที่เกิดที่บ้านหนองมั่งหนองโค ประเทศเมียนม่าร์   จึงสรุปในขั้นตอนนี้ได้ว่า ทั้งรัฐไทยและรัฐเมียนม่าร์ย่อมจะต้องเข้ามาจัดการปัญหาสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลในสถานการณ์ทั่วไปให้แก่น้องจันใหม่

 

[1]  การวิเคราะห์กรณีศึกษานี้ถูกเผยแพร่ครั้งแรกต่อสาธารณชนในการประชุมวิชาการเรื่อง “สถานการณ์สำคัญเกี่ยวกับความเป็นไปได้ทางกฎหมายและนโยบายของรัฐไทยและผูกพันรัฐไทยในการจัดการปัญหาความด้อยโอกาสของเด็กและเยาวชนข้ามชาติจากเมียนม่าร์ โดยผ่าน ๑๕ กรณีศึกษาหลักและกรณีศึกษาในสถานการณ์เดียวกันที่เสนอโดยเจ้าของปัญหาเองและคนทำงานในภาคประชาสังคม” ในวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๗ เวลา ๙.๐๐ – ๑๒.๐๐ น. ณ ห้องประชุมอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก บุคคลในกรณีศึกษานี้ประสงค์ที่จะให้คณะผู้ศึกษาวิจัยใช้เรื่องราวของตนเป็นกรณีศึกษาต้นแบบเพื่อสร้างสูตรสำเร็จให้การให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนในสถานการณ์เดียวกัน จึงประสงค์ให้ใช้ชื่อจริงของเจ้าของปัญหาเอง ต่อมา เรื่องราวของน้องจันใหม่ถูกนำไปออกเป็นข้อสอบปลายภาคในวิชา กม. ๖๗๒ วิชากฎหมายระหว่างประเทศชั้นสูง ภาคที่ ๒ ของปีการศึกษา ๒๕๕๖หลักสูตรนิติศาสตร์มหาบัณฑิต  คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ โปรดดู https://drive.google.com/file/d/0BzawtIMOMfMTRmJzeHBvanJtT2s/edit?usp=sharing

[2] หรือเรียกสั้นๆ ว่า “โครงการชายแดนไทยพม่าศึกษา” เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ๔ องค์กรในภาคประชาสังคมที่ทำงานเพื่อเด็กด้อยโอกาสตามแนวชายแดน กล่าวคือ (๑) มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก (๒) มูลนิธิกระจกเงา (๓) โรงพยาบาลอุ้มผาง และ (๔) IRC (Thailand) ” โครงการนี้เป็นงานในปีที่ ๒ ของ “โครงการศึกษาวิจัยและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเด็กและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนจังหวัดตากและชุมชนกลุ่มจังหวัดชายแดนในประเทศไทยระหว่างปี พ.ศ.๒๕๕๕-๒๕๕๙” โปรดดูรายละเอียดใน https://drive.google.com/file/d/0B7ummaGfFLZSd0RPMWZONTJTUEk/edit?usp=sharing

หมายเลขบันทึก: 566001เขียนเมื่อ 14 เมษายน 2014 04:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 เมษายน 2014 04:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท