กฎหมายไทยว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย


         โทษ มีบัญญัติอยู่ใน มาตรา 18 แห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18   โทษสำหรับลงแก่ผู้กระทำความผิดมีดังนี้ (1) ประหารชีวิต (2) จำคุก (3) กักขัง (4) ปรับ (5) ริบทรัพย์สิน

         โดยโทษประหารชีวิตและโทษจำคุกตลอดชีวิต มิให้นำมาใช้บังคับแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดในขณะที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี ในกรณีผู้ซึ่งกระทำความผิดในขณะที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี ได้กระทำความผิดที่มีระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต ให้ถือว่าระวางโทษดังกล่าวได้เปลี่ยนเป็นระวางโทษจำคุกห้าสิบปี

         แต่เมื่อพิจารณาแล้วโทษประหารชีวิตเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน[1] ข้อ 3 ทุกคนมีสิทธิในการมีชีวิต เพราะการประหารชีวิตคือการพรากชีวิตของมนุษย์ ซึ่งการมีชีวิตนั้นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ และเดิมการประหารชีวิตจะมีวิธีการที่ทารุณโหดร้ายซึ่งขัด ข้อ 5 “บุคคลใดจะถูกทรมานหรือได้รับการปฏิบัติหรือการลงทัณฑ์ซึ่งทารุณโหดร้าย, ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีไม่ได้” แต่ปัจจุบันประเทศไทยได้ใช้วิธีการฉีดยาให้ตายซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ทารุณ แต่อย่างไรก็ดีการประหารชีวิตก็ยังขัดต่อสิทธิในการมีชีวิตของมนุษย์

         ในขณะที่ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ได้มีการรวมตัวกันเพื่อยกเลิกโทษประหารชีวิต เพราะถือว่า การที่รัฐบาลประหารชีวิตนักโทษซึ่งถือว่าเป็นประชาชนคนหนึ่งนั้น เป็นการกระทำที่น่ารังเกียจ ซึ่งรัฐเองไม่ควรทำแบบเดียวกับที่อาชญากรกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน องค์การสหประชาชาติเอง ก็ได้มีการเรียกร้องให้ทั่วโลกพักการลงโทษประหารชีวิต

         ส่วนในประเทศไทยนั้น โทษประหารชีวิตยังคงมีผลบังคับใช้ปรากฏใน ประมวลกฎหมายอาญาที่ได้ระบุโทษประหารชีวิตในหลายกรณี เช่น ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ, ความผิดเกี่ยวกับการปกครองและกระบวนการยุติธรรม, ความปลอดภัยของสาธารณชน, การคุกคามทางเพศ, ชีวิตและความปลอดภัยทางร่างกาย, เสรีภาพและทรัพย์สินส่วนบุคคล, การขู่เข็ญเรียกค่าไถ่, การขู่กรรโชกและการปล้นทรัพย์สิน นอกจากนั้น ยังมีพระราชบัญญัติยาเสพติด พ.ศ. 2522 ซึ่งโทษสูงสุดคือการประหารชีวิตเช่นกัน ปัจจุบัน พระราชบัญญัติยาเสพติดได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม เป็น พระราชบัญญัติยาเสพติด พ.ศ. 2544 โดยโทษประหารชีวิตยังคงอยู่ ซึ่งนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 เป็นต้นมา[2]

         เมื่อพิจาณาถึงเหตุผลและความจำเป็นของการมีโทษประหาร ตามทฤษฎีแนวคิดของโทษประหารชีวิต[3] ได้แก่

         1. ทฤษฎีการลงโทษเพื่อแก้แค้นทดแทน (Retributive Theory) ทฤษฎีนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากระบบการเมืองการปกครอง ศาสนา และระบบสังคมในสมัยอดีตที่ผู้มีอำนาจปกครอง จะใช้วิธีการลงโทษเพื่อการตอบแทนผู้กระทำผิดให้ได้รับโทษ ในลักษณะตาต่อตาฟันต่อฟันมีการใช้วิธีการที่รุนแรง ทั้งการประหารชีวิต การลงทัณฑ์ทรมานด้วยรูปแบบต่างๆ เพื่อให้สาสมกับความผิดที่ผู้นั้นได้กระทำลงไป และเพื่อให้ผู้กระทำผิดสารภาพและเพื่อทำให้รู้สำนึกถึงความผิดในการกระทำของตน

         ทฤษฎีนี้มีแนวคิดในการลงโทษว่าผู้กระทำผิดมีเจตต์จำนงเสรี (Free Will) ในการที่จะคิด ตัดสินใจ และกระทำการด้วยตนเอง ประกอบกับมนุษย์มีความมีความสามารถในการใช้เหตุผล เมื่อตัดสินใจทำสิ่งใดลงไปจึงต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตนอย่างเต็มที่ เมื่อกระทำผิดจึงต้องรับผิดชอบต่อความผิดและสมควรได้รับการลงโทษ

         วัตถุประสงค์ของการลงโทษตามทฤษฎีการลงโทษเพื่อแก้แค้นทดแทน คือ เพื่อเป็นการทดแทนการกระทำผิดซึ่งผู้กระทำผิดได้กระทำลงไป เพราะผู้กระทำผิดสมควรจะได้รับการลงโทษ อันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของเขานั่นเอง

         2. ทฤษฎีการลงโทษเพื่อข่มขู่ยับยั้ง (Deterrence Theory) มีแนวคิดว่า การลงโทษนั้นสามารถข่มขู่และยับยั้งบุคคลอื่นที่เห็นตัวอย่าง ทำให้เกิดความเกรงกลัวโทษ จนไม่กล้ากระทำผิดขึ้นอีก

         การลงโทษเพื่อข่มขู่ยับยั้งบุคคลอื่นมิให้กระทำผิด เนื่องจากได้เห็นผลร้ายของการกระทำผิดและการได้รับโทษ จนไม่อยากกระทำผิดเพราะเกรงกลัวในโทษ การลงโทษเพื่อข่มขู่ยับยั้งนี้อาจกล่าวได้ในอีกความหมายหนึ่งคือ เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำความผิดขึ้นอีกนั่นเอง 

         โดยทั่วไปแล้วตามทฤษฎกีารลงโทษเพื่อป้องกันเห็นว่าการลงโทษเป็นสิ่งที่เลวร้ายแต่เป็นความจำเป็นที่จะต้องป้องกันสังคมจึงต้องมีการลงโทษ ดังนั้น หากจะมีการลงโทษก็จะต้องเป็นไปเพื่อเหตุผลในการป้องกันสังคมเป็นหลัก มิใช่เพื่อแก้แค้นผู้กระทำผิด

         ดังนั้นแม้การประหารชีวิตจะมีข้อเสียคือ ละเมิดสิทธิมนุษยชนของผ็กระทำความผิด ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน แต่ก็ยังมีประโยชน์ของโทษประหารซึ่งเป็นผลต่อส่วนรวมคือสังคม

  1. คือ สามารถกำจัดอาชญากรที่เป็นภัยต่อสังคมอย่างมาก สังเกตได้จากความผิดที่กำหนดโทษประหารล้วนแล้วแต่เป็นความผิดต่อสังคมอย่างมาก เช่น ความผิดเกี่ยวกับความปลอดภัยของสาธารณชน, การคุกคามทางเพศ, ชีวิตและความปลอดภัยทางร่างกาย  ซึ่งมีผลต่อชีวิตของคนในสังคมดังนั้นการที่กำจัดบุคคลอันตรายจากสังคมจึงเป็นวิธีที่จะทำให้ผู้ก่อเหตุลดลง
  2. และหากประชาชนได้เห็นคนรับโทษประหารก็จะทำให้เกรงกลัวต่อการกระทำความผิด เพราะไม่อยากถูกกำจัดออกจากสังคมโดยการประหารชีวิต อาจจะทำให้อาชญากรรมลดลง
  3. อีกทั้งโทษประหารชีวิตก็เป็นการใช้ดุลยพินิจของศาล หากผู้กระทำความผิดสำนึกหรือมีส่วนช่วยในคดีก็อาจมีเหตุบรรเทาโทษ ซึ่งอาจทำให้ไม่ต้องรับโทษถึงขั้นประหารชีวิต ดังนี้โทษประหารชีวิตในประเทศไทยแม้ยังคงมีอยู่แต่ก็ มีการใช้บังคับตามสมควรแก่เหตุ หากไม่เป็นบุคคลอันตรายมากถึงขั้นสมควรถูกกำจัดออกจากสังคมก็ ไม่ถูกละเมิดสิทธิโดยการประหารชีวิต
  4. มีกระบวนการจำกัดโทษ ได้แก่ การขอพระราชทานอภัยโทษ การงดเว้นการประหารหญิงมีครรภ์ก่อนคลอดบุตร หรือมีเหตุบรรเทาโทษอื่นๆ  เพื่อให้ไม่เป็นการละเมิดสิทธการอยู่รอดของประชาชนมากนัก
  5. มีการจำกัดอายุของผู้รับโทษคือ ซึ่งกระทำความผิดในขณะที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี ได้กระทำความผิดที่มีระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต ให้ถือว่าระวางโทษดังกล่าวได้เปลี่ยนเป็นระวางโทษจำคุกห้าสิบปี ซึ่งเป็นการจำกัดขอบเขตการลงโทษที่มีโทษหนักอย่างการ ประหารชีวิต เพื่อให้เด็กที่ยังไม่มีวิจารณญาณเป็นของตัวเองได้มีโอกาสแก้ไขปรับตัว เพราะเด็กยังเหมือนผ้าขาว ถ้าได้รับบทเรียนก็อาจปรับปรุงความคิดและทัศนคติได้

         ดังนั้น แม้มีข้อโต้แย้งถึงหลักฐานจากทั่วโลกซึ่งแสดงให้เห็นว่า โทษประหารชีวิตไม่มีผลยับยั้งอาชญากรรมได้อย่างชัดเจน หลายคนอาจแย้งว่าการยกเลิกโทษประหารชีวิตอาจทำให้มีอัตราการเกิดอาชญากรรมเพิ่มขึ้น แต่จากการศึกษาในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ข้อมูลที่ได้ไม่สนับสนุนความคิดเช่นนี้ ในปี 2547 ในสหรัฐฯ อัตราการฆาตกรรมเฉลี่ยในรัฐซึ่งมีโทษประหารชีวิตอยู่ที่ระดับ 5.71 ต่อประชากร 100,000 คน เมื่อเทียบกับอัตรา 4.02 ต่อประชากร 100,000 คนในรัฐซึ่งไม่มีโทษประหารชีวิต เมื่อปี 2546 ในประเทศแคนาดา 27 ปีหลังจากยกเลิกโทษประหารชีวิต อัตราการฆาตกรรมลดลง 44% เมื่อเทียบกับเมื่อปี 2518 สมัยที่ยังมีการใช้โทษประหารชีวิตอยู่ โทษประหารชีวิตไม่ได้ช่วยให้สังคมปลอดภัยขึ้น แต่ยังส่งผลกระทบที่เลวร้ายต่อสังคม การที่รัฐอนุญาตให้มีการประหารบุคคลแสดงถึงการสนับสนุนต่อการใช้กำลัง และการส่งเสริมวงจรความรุนแรง[4]

         แต่ก็มีงานวิจัยจำนวนไม่น้อยที่พบผลว่า การลงโทษประหารชีวิตช่วยให้อาชญากรรมลดลง ส่งผลในการป้องกันปราปรามอาชญากรรม เช่น งานวิจัยของ Isaac Ehrlish ในปี 1975 ใช้ข้อมูลระหว่างปี 1932-1970 พบว่าเมื่อมีการประหารชีวิตครั้งหนึ่ง จะส่งผลช่วยป้องกันปราบปรามฆาตกรรมได้ ประมาณ 1-8 ครั้ง การศึกษาของ MocanGittings ในปี 2003 ใช้ข้อมูลระหว่างปี 1977-1997 พบว่าในแต่ละครั้งของการประหารชีวิต จะช่วยลดการฆาตกรรมได้ 5 ครั้ง เป็นต้น[5]

         อีกทั้งในขณะนี้ก็ยังไม่ปรากฎวิธีการลงโทษและยับยั้งอาชญากรใดที่มีผลอย่างโทษประหาร หากเปลี่ยนเป็นการจำคุกก็จะมีโทษจำคุกตลอดชีวิต ซึ่งไม่เป็นประโยชน์ต่อรัฐเพราะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูผู้กระทำความผิด ซึ่งในปัจจุบันมีมากจนอาจส่งผลให้ที่พักอาจไม่เพียงพอในการกักขัง และต้องมีค่าใช้จ่ายในการหาที่พักใหม่ๆ แก่ผู้กระทำความผิด  และหากโทษประหารมีข้อเสียก็ให้หาวิธีแก้ไขไปตามกรณี จนกว่าจะมีวิธีลงโทษอย่างอื่นที่มีผลใช้บังคับได้ดีกว่า และเหมาะสมในการลงโทษ เช่น

         ในกรณีการตัดสินประหารชีวิตผู้บริสุทธิ์และภายหลังถูกตัดสินให้เป็นผู้บริสุทธิ์ เพราะมีหลักฐานว่าเขาไม่ได้กระทำความผิด ในข้อนี้ก็อาจแก้ไขได้โดยหากเป็นคดีที่ต้องตัดสินประหารชีวิต ก็ควรมีกระบวนการติดสินที่ซับซ้อนและยาวนานกว่ากรณีอื่นเพื่อให้การตัดสินเป็นไปอย่างถูกต้องและได้หลักฐานอย่างครบถ้วนที่สุดเพราะ การลงโทษเป็นการละเมิดสิทธิในชีวิตของผู้ต้องหา จึงควรตัดสินอย่างถี่ถ้วน

         สรุป แม้โทษประหารชีวิตจะรุนแรงและละเมิดข้อตกลงในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เรื่องสิทธิการมีชีวิต แต่เมื่อพิจารณาควบคู่กับประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม และการลงโทษประหารก็มีกฏหมายผ่อนปรนอยู่บ้าง อีกทั้งข้อเสียของการใช้การลงโทษอย่างอื่นประกอบกับยังไม่มีวิธีการลงโทษใดที่ดีกว่าแล้ว   จึงเห็นว่าควรยังมีโทษประหารชีวิตต่อไป

 เขียน: 10 เม.ย. 2014

[1] ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน.(ออนไลน์). แหล่งที่มา :http://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/book.pdf. 10 เมษายน 2557.

[2] AMNESTY INTERNATIONAL THAILAND. โทษประหารชีวิตในประเทศไทย.(ออนไลน์). แหล่งที่มา :  http://www.amnesty.or.th/en/component/k2/item/93-โทษประหารชีวิตในประเทศไทย. 10 เมษายน 2557.

[3] รองศาสตราจารย์ณัฐฐ์วัฒน์ สุทธิโยธิน. ทฤษฎีการลงโทษ.(ออนไลน์). แหล่งที่มา :http://www.stou.ac.th/Schools/Slw/upload/41716_6.pdf. 10 เมษายน 2557.

[4] AMNESTY INTERNATIONAL THAILAND. ความเชื่อ-ความจริง โทษประหารชีวิตช่วยยับยั้งอาชญากรรมได้จริงหรือ.

(ออนไลน์). แหล่งที่มา :http://www.amnesty.or.th/th/our-work/end-the-death-penalty/myths-and-facts. 10 เมษายน 2557.

[5] Suk Meenuch. โทษประหารชีวิต ยับยั้งอาชญกรรมได้จริงหรือไม่. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://br.correct.go.th/spn/index.php/2011-12-17-12-59-51/32-2011-12-30-15-01-21.html. 10 เมษายน 2557.

หมายเลขบันทึก: 565852เขียนเมื่อ 10 เมษายน 2014 14:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม 2014 17:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท