ปัญหาสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยที่เชื่อมต่อกับสังคมโลก


            ประเทศไทยได้มีมาตรการในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชน โดยได้ให้ความเห็นชอบในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2491 และเข้าเป็นประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชน 7 ฉบับ[1] ได้แก่  กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR), กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights-ICESCR), อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบต่อสตรี (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women-CEDAW), อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child-CRC), อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกประติบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination-CERD), อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย  ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment- CAT), อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (Convention on the Rights of Persons with Disabilities - CRPD)

            อย่างไรก็ตามแม้ประเทศไทยจะมีพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนตามสนธิสัญญาต่างๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้น แต่ประเทศไทยก็ยังมีปัญหาที่เกิดจากการขาดการส่งเสริมละคุ้มครองสิทธิมนุษยชน แม้มีอนุวัติการ หรือการดำเนินการให้เป็นผลตามบทบัญญัติแห่งอนุสัญญา (implement the provisions of a convention) โดยการตรากฎหมายภายในประเทศ หรือปรับแก้กฎหมายภายในประเทศ เพื่อให้สอดคล้องและรองรับกับพันธกรณีอนุสัญญาดังกล่าว

            จากกรณีศึกษาเรื่องชาวโรฮิงญานั้น ชาวโรฮิงญา นั้น พวกเขาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่นับถือศาสนาอิสลามในประเทศพม่า ที่ส่วนมากสืบเชื้อสายมาจากชาวอาหรับ เปอร์เซีย และปาทาน มีถิ่นอาศัยอยู่ทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ หรือที่สมัยโบราณเรียกว่ารัฐอาระกัน ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกของพม่า ชาวโรฮิงญาในพม่านั้นถือเป็นชนกลุ่มน้อย ที่เรียกได้ว่าถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐบาลพม่ามากที่สุดเพราะเหตุความแตกต่างทางชาติพันธุ์ แม้ว่าชาวโรฮิงญาเหล่านี้จะเกิดบนผืนแผ่นดินพม่า แต่พวกเขากลับถูกรัฐบาลพม่าปฏิเสธที่จะให้สัญชาติพม่า และถูกปฏิบัติอย่างโหดร้ายจากเหล่าทหาร พวกเขาถึงกับกล่าวว่าสิ่งที่ทหารพม่าได้กระทำกับพวกเขานั้นช่างราวกับพวกเขาไม่ใช่คน ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ ข้อต่ออนุสัญญา ข้อ 2 ทุกคนย่อมมีสิทธิและอิสรภาพทั้งปวงตามที่ก าหนดไว้ในปฏิญญานี้โดยปราศจากการแบ่งแยกไม่ว่าชนิดใด

            และพบว่าในช่วงนี้สถานการณ์กลุ่มโรฮิงญาอพยพออกจากพม่ามากขึ้น เพราะในอีก 2 ปี จะมีการเลือกตั้งใหม่ทำให้พม่ามีประชาธิปไตยเกิดขึ้น ซึ่งขณะนี้ยังออกมาไม่ถึงครึ่ง ซึ่งปัญหาเกิดจากพม่าไม่ยอมรับชาวโรฮิงญาเป็นพลเมือง จึงถูกกดดันจากทหารพม่าให้อยู่ในประเทศอย่างยากลำบาก พวกเขาจึงอยากให้สหประชาชาติ เข้ามาดูแลความปลอดภัยให้อยู่ร่วมกันในพม่าได้โดยไม่ต้องหนีออกนอกประเทศ

            นอกจากกลุ่มทหาร พวกเขายังถูกชาวพม่าดูถูกเหยียดหยามและทำร้ายร่างกาย ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน  (The Universal Declaration of Human Rights)[2] ข้อ 3 สิทธิในการมีชีวิตเสรีภาพและความมั่นคงแห่งบุคคล  เมื่อชาวโรฮิงญาไม่สามารถสมัครงานที่ไหนได้ จึงถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ข้อ 23 (1) สิทธิในการทำงาน และข้อ 17 (1) ได้แก่ สิทธิที่จะเป็นเจ้าของทรัพย์สิน เพราะพวกเขาไม่มีสิทธิในด้านที่ดิน อีกทั้งถูกละเมิดสิทธิในการได้รับการศึกษา ตามข้อ 26 (1)ของอนุสัญญา หรือแม้แต่สิทธิในการรักษาพยาบาลใด ๆใน ข้อ 25 (1) ที่ชาวโรฮิงญาถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐพม่า  ในพม่า ทั้งยังถูกกีดกันทางด้านการเดินทาง โดยเฉพาะการเดินทางข้ามเขตซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิในข้อ 13 (1) สิทธิในอิสรภาพแห่งการเคลื่อนย้าย แถมพืชพันธุ์ในหมู่บ้านก็ถูกทหารเข้ามาแย่งเก็บเกี่ยว หากใครขายของได้เงินก็จะถูกทหารเข้ามาแย่งยึดไป ทำให้พวกเขาต้องอยู่อย่างอดอยาก ไม่มีแม้แต่ข้าวจะกินครบ 3 มื้อ

            สำหรับในตอนนี้ ระหว่างที่เจ้าหน้าที่รัฐไทยกำลังผลักดันเพื่อส่งตัวกลุ่มชาวโรฮิงญากลับพม่านี้ เจ้าหน้าที่ก็ได้พยายามค้นหาทางออกเพื่อแก้ไขปัญหาของพวกเขา และพยายามประสานกับองค์กรระหว่างประเทศให้เข้ามาช่วยเหลือชาวมุสลิมโรฮิงญาและร่วมหาทางออกร่วมกัน เพราะต่างก็ทราบดีว่า การที่ส่งตัวพวกเขากลับไปยังประเทศพม่านั้น ก็ไม่ต่างจากส่งพวกเขากลับไปยังนรกขุมเดิม พร้อมกับบอกว่า หากให้พวกเขากลับไปอยู่ที่รัฐอาระกัน ก็เหมือนกับไปรอคอยความตาย อยู่ไปก็อยู่อย่างไร้อนาคต ไม่มีสภาพความเป็นคน ไม่สามารถเดินทางไปไหนมาไหน เดินทางไปมาได้ก็เฉพาะภายในจังหวัดที่ตั้งถิ่นฐานอยู่เท่านั้น โดนกดดันจากทหารพม่าตลอดเวลา นอกจากนี้พวกเขายังโดนดูถูกเหยียดหยามจากชาวพม่า ที่ผ่านมาโดนทั้งทำร้ายร่างกาย รวมถึงถ่มน้ำลายใส่ก็มี ก็คือถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนเหมือนเมื่อก่อน[3]

            ซึ่งในขณะที่ยังไม่สามารถผลักดันชาวโรงฮิงญาได้ หรือยังไม่มีการแก้ปัญหา ชาวโรฮิงญาที่หลบหนีเข้าประเทศไทยก็จะมีสถานะไม่ต่างจากผู้เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ซึ่งกฎหมายที่ประเทศไทยใช้บังคับได้แก่ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522  ซึ่งอาจเกิดปัญหาเพราะ สถานะของคนเข้าเมืองต่างกับผู้ลี้ภัยเพราะ คนเข้าเมืองนั้นออกจากประเทศเพราะเหตุเศรษฐกิจ และบางคนก็เข้ามาด้วยความเต็มใจในการออกจากประเทศ แต่ชาวโรฮิงญาต้องออกจากประเทศด้วยความไม่เต็มใจ และเป็นเหตุผลจากการหลบหนีภัย ดังนั้นการบังคบใช้กฎหมายดังกล่าวแก่ชาวโรฮิงญาอาจทำให้ชาวโรฮิงญาไม่มีที่ไปและเป็นคนไร้รัฐและไร้ที่อยู่อาศัย

           จากกรณีศึกษาชาวโรฮิงญาพบว่าประเทศไทยมีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวโรฮิงญา ในประเทศไทย[4] มีสาเหตุจากชาวโรฮิงญาถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐบาลเมียนมาร์อย่างร้ายแรง ทั้งการปฏิบัติอย่างทารุณต่อร่างกายและการล่วงละเมิดทางเพศร่างกาย ซึ่งล้วนแต่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนตาม ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน  (The Universal Declaration of Human Rights) ข้อ 3 ในสิทธิในการมีชีวิตเสรีภาพและความมั่นคงแห่งบุคคล และการขับไล่จากถิ่นที่อยู่ ตามข้อ 13 (1)  

           เมื่อชาวโรฮิงญาประสบภัยต่อร่างกาย และหลบหนีเข้าไทยจึงมีสถานะเป็นผู้ลี้ภัยหรือผู้หนีภัยความตายและอพยพเข้ามาในไทยจำนวนมาก โดยที่ไม่ได้รับการรับรองให้เป็นผู้พักพิงในค่ายผู้พักพิง ซึ่งการที่ไม่มีเอกสารรับรองสถานะในค่ายผู้พักพิง จึงถูกละเมิดสิทธิในการถูกรับรองเป็นบุคคลตามกฎหมาย ในข้อ 6 ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เพราะรัฐไทยที่มีหน้าที่บันทึกคนไร้รัฐในทะเบียนราษฎรของไทย ในทร.38ก ของรัฐเพื่อขจัดความไร้รัฐแก่บุคคลที่มีสิทธิมนุษยชนจากความเป็นมนุษย์

            และการถูกละเมิดสิทธิดังกล่าวทำให้ชาวโรงฮิงญา ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิการศึกษา ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชน ตามข้อ 26(1) และสิทธิทางสาธารณสุข ตามข้อ 25(1) ที่ไม่สามารถใช้บริการได้ และอีกทั้งยังต้องเป็นแรงงานข้ามชาติ ที่เสี่ยงต่อการถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง ขัดต่ออนุสัญญาข้อ 23(2) สิทธิที่จะได้รับค่าจ้างที่เท่าเทียม  

            รวมถึงกรณีที่ลูกของชาวโรฮิงญาที่เกิดในไทยถูกสันนิษฐานว่าเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย ตามมาตรา 7ทวิ วรรค 3 พระราชบัญญัติสัญชาติทั้งที่มีสิทธิในสัญชาติไทย ตามหลักดินแดน ซึ่งเป็นการขัดต่อปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ15 (1) ทุกคนมีสิทธิในสัญชาติหนึ่ง ซึ่งการที่ไร้สัญชาติและไร้รัฐนั้นส่งผลต่อการไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานต่อมา อันเป็นการละเมิดปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน 

            และสุดท้ายในกรณีที่รัฐไทยพยายามจะผลักดันชาวโรฮิงญากลับประเทศนั้น จะต้องพิจารณาว่าการผลักดันจะต้องไม่ทำให้ชาวโรฮิงญามีภัยต่อชีวิตและร่างกาย เพราะหากทำเช่นนั้นถือว่ารัฐไทยกำลังละเมิดสิทธิมนุษยชนในร่างกายของชาวโรฮิงญาในการมีชวิต ตามปฏิญญา ข้อ 3 ทุกคนมีสิทธิในการมีชีวิต เสรีภาพ และความมั่นคงแห่งบุคคล

            ดังนั้นแม้ประเทศไทยจะเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาต่างๆเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนแต่ก็ยังมีการละเมิดสิทธิของบุคคลในประเทศตน รวมถึงกรณีการละเมิดสิทธิของบุคคลที่มิใช่บุคคลในประเทศตน เช่นชาวโรฮิงญา เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องจึงควรแก้ไขการปฏิบัติหน้าที่เพื่อไม่ให้ละเมิดสิทธิมนุษยชนของบุคคล

 เขียน: 10 เม.ย. 2014

[1] กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ. ตราสารระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ไทยเป็น    ภาคี.(ออนไลน์). แหล่งที่มา :http://www.mfa.go.th/humanrights/human-rights-conv... 8 เมษายน 2557.

[2]สถาบันส่งเสริมงานสอบสวน. คู่มือหลักสิทธิมนุษยชนสากลในกระบวนการยุติธรรมที่พนักงานสอบสวนควรรู้.(ออนไลน์). แหล่งที่มา: http://www.investigation.inst.police.go.th/downloa... 8 เมษายน 2557.

[3]ครอบครัวข่าว 3. เปิดชีวิต ชาวโรฮิงญา ... อยู่รัฐอาระกัน ก็เหมือนรอคอยความตาย.(ออนไลน์). แหล่งที่มา :http://hilight.kapook.com/view/33433. 8 เมษายน 2557.

[4]ศูนย์สื่อสังคมภาคใต้. “สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย”.(ออนไลน์). แหล่งที่มา :http://www.oknation.net/blog/print.php?id=751039. 8 เมษายน 2557.

หมายเลขบันทึก: 565848เขียนเมื่อ 10 เมษายน 2014 14:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2014 20:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท