คณะเกษตรฯ มข. จัดประชุมเลี้ยงปลาน้ำจืดเพื่อการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ


หากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการเลี้ยงปลาน้ำจืด แสดงความคิดเห็นถึงปัญหาหรือข้อจำกัดในการพัฒนาและร่วมกันแก้ไข จะทำให้ห่วงโซ่อุปทานสินค้าปลาน้ำจืดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

          เมื่อวันที่ 4 และ 17 มีนาคม 2557 ภาควิชาเศรษฐศาสตร์การเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับกรมประมง จัดการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่อง การเลี้ยงปลาน้ำจืดเพื่อการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียในระบบห่วงโซ่อุปทานการค้าปลาน้ำจืดได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสะท้อนข้อจำกัดหรืออุปสรรคการค้าปลาเศรษฐกิจ 3 ชนิด คือ ปลานิล ปลาดุกและปลาตะเพียน ช่วยให้ผู้ผลิตสามารถตอบสนองความต้องการของตลาด ตลอดจนให้ข้อมูลเรื่องการตลาดปลาทั้งในประเทศและในกลุ่มประเทศ AEC โดยมีนางสาวศิริลักษณ์ สุวรรณรังษี ผู้ตรวจราชการกรมประมง กล่าวเปิดอบรมและบรรยายพิเศษ เรื่อง ศักยภาพการแข่งขันผู้เลี้ยงปลาน้ำจืดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือภายใต้ระบบ AEC จัดขึ้น ณ ห้องประชุมอาคารขวัญมอ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ ณ สถาบันพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดอุบลราชธานี ตามลำดับ
           การประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้ มีทีมวิทยากรจากภาควิชาเศรษฐศาสตร์การเกษตร และภาควิชาประมง คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้แก่ รองศาสตราจารย์นงลักษณ์ สุพรรณไชยมาตย์ อาจารย์วีระ ภาคอุทัย รองศาสตราจารย์เพียรศักดิ์ ภักดี อาจารย์พัชรี สุริยะ อาจารย์เยาวรัตน์ ศรีวรานันท์ อาจารย์สาธิต อดิตโต ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุภาภรณ์ พวงชมภู และ รองศาสตราจารย์ ดร.เพ็ญพรรณ ศรีสกุลเตียว เป็นผู้บรรยายและจัดระดมสมองกลุ่มย่อย เพื่อหาแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการค้าปลาน้ำจืดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือต่อไป
           รองศาสตราจารย์ นงลักษณ์ สุพรรณไชยมาตย์ กล่าวว่า “ปัจจุบันการผลิตและการตลาดปลาน้ำจืดเพื่อการค้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพัฒนาการอย่างมาก โดยเฉพาะ ปลานิล ปลาดุก และปลาตะเพียน ในระบบห่วงโซ่อุปทานมีผู้ผลิตลูกปลา ผู้เลี้ยงปลา ผู้ขายปัจจัยการผลิต ผู้รวบรวมปลาเพื่อจำหน่าย สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดในประเทศได้ อีกทั้งมีศักยภาพถึงการผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และถ้าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียดังกล่าวได้แสดงความคิดเห็นถึงปัญหาหรือข้อจำกัดในการพัฒนาและร่วมกันแก้ไข จะทำให้ห่วงโซ่อุปทานสินค้าปลาน้ำจืดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และผลประโยชน์ก็จะตกแก่ผู้ประกอบการทุกภาคส่วนในห่วงโซ่ซึ่งรวมทั้งผู้บริโภคด้วย”

           วรรณวิไล ซาสุด ข้อมูลข่าว/ภาพ
           กิตติศักดิ์ สิงหา วิเคราะห์ สังเคราะห์และเผยแพร่

หมายเลขบันทึก: 565811เขียนเมื่อ 9 เมษายน 2014 20:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 เมษายน 2014 20:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท