AnthroCat-Thailand
นาย ปรัชญาณินทร์ วงศ์อทิติกุล

เรื่องนี้ผมไม่ได้เขียนเอง แต่อยากเก็บเอาไว้เป็นอุทาหรณ์


"เวลาอยู่ที่โรงเรียน เพื่อนๆ ผมมีพ่อแม่ให้เงินมาโรงเรียน แต่ผมไม่มี แม้จะมีเงินที่หลวงพ่อให้ แต่ก็ไม่ค่อยพอ อยากได้เงินมากๆ แต่จะไปทำงานที่ไหนก็ไม่มีคนรับ เพราะไม่มีบัตรประชาชน พอผมเห็นเพื่อนขายยาแล้วได้เงิน ผมก็เลยทำบ้าง"

เรื่องของ"ชัย" และอีกหลายคนไทยที่ต้องการทางออก

 

โดย สรินยา กิจประยูร นักวิจัยโครงการเด็กไร้รัฐ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ


"เวลาอยู่ที่โรงเรียน เพื่อนๆ ผมมีพ่อแม่ให้เงินมาโรงเรียน แต่ผมไม่มี แม้จะมีเงินที่หลวงพ่อให้ แต่ก็ไม่ค่อยพอ อยากได้เงินมากๆ แต่จะไปทำงานที่ไหนก็ไม่มีคนรับ เพราะไม่มีบัตรประชาชน พอผมเห็นเพื่อนขายยาแล้วได้เงิน ผมก็เลยทำบ้าง"

วันอังคารที่ 31 ตุลาคมนี้ ที่ศาลจังหวัดลำปาง จะมีการตัดสินคดีเล็กๆ คดีหนึ่ง ที่ผู้พิพากษาคงจะพิจารณาไม่ยากนัก เพราะน่าจะมีคดีทำนองนี้บ่อยมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลังจากนั้นเรื่องของ "ชัย" คงเป็นไปเหมือนผู้ต้องหาคดีค้ายาเสพติดรายต่างๆ ที่ต้องโทษตามจำนวนยาที่ถูกจับได้ และคงจะมีคดีของเยาวชนคนอื่นๆ เช่นเดียวกับชัยตามมาอีกไม่รู้เท่าไร หากเราจะไม่หันมาช่วยกันแก้ไขปัญหาที่สาเหตุ

ชัยเป็นใคร เกิดที่ไหน เมื่อไร พ่อแม่เป็นใคร ไม่มีใครทราบ แม้แต่ตัวชัยเอง มีเพียงไม่กี่คนที่จำได้ว่าเมื่อชัยอายุประมาณ 4-5 ขวบ มีชายคนหนึ่งที่บอกว่าเป็นพ่อ พาชัยมาฝากไว้กับหลวงพ่อที่มีศูนย์อบรมและช่วยเหลือเด็กยากจน อยู่ที่จังหวัดลำปาง จากนั้น "พ่อ" ของชัยก็หายสาบสูญไป ไม่เคยมาหาชัยอีกเลย ชัยจึงได้อยู่ในความอุปการะของหลวงพ่อตั้งแต่นั้นเรื่อยมา และได้เรียนหนังสือจนจบชั้นประถม 6 จากนั้นได้เรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นแบบการศึกษานอกโรงเรียน

ในช่วงที่เรียนมัธยมต้นนี้เอง ที่ชัยเริ่มได้เข้าใจว่านอกจากตนไม่มีพ่อแม่เหมือนเพื่อนๆ คนอื่นแล้ว ชัยยังไม่มีบัตรประชาชน และไม่มีสัญชาติไทยเหมือนเพื่อนๆ ด้วย ความกังวลใจเรื่องนี้ที่ไม่รู้ว่าอนาคตของตนจะเป็นอย่างไร จะเรียนต่อได้ไหม จบแล้วจะทำงานอย่างไร จะเดินทางไปไหนก็กลัวตำรวจจับ ได้ทำให้ชัยเริ่มทำตัวเงียบขรึมลง แต่ความวิตกนี้ยังไม่ทันผ่านพ้น ชัยก็ต้องไม่เข้าใจกับชีวิตของตัวเองมากขึ้น เมื่อครูที่โรงเรียนบอกว่าทะเบียนบ้านประเภท ท.ร.13 ที่ชัยใช้มาตั้งแต่เรียนชั้นประถมนั้นเป็นของคนอื่น และชื่อนามสกุลของชัยที่ปรากฏในทะเบียนบ้านนั้น ก็เป็นของคนอื่นซึ่งเป็นนักเรียนอีกคนหนึ่งที่เรียนที่เดียวกับชัย

นอกจากไม่มีพ่อแม่ และไม่มีตัวตนตามกฎหมายแล้ว แม้แต่ชื่อนามสกุลที่เคยใช้มาแต่เด็กก็กลายเป็นชื่อที่มีเจ้าของเดิมอยู่แล้ว แล้วจะให้ชัยคิดทำอย่างไรต่อไปกับชีวิตของตัวเองดี ??

ด้วยชีวิตที่ไม่มั่นคงของชัยเช่นนี้ ยิ่งเมื่อถูกหล่อหลอมอยู่ในโลกวัตถุนิยมเช่นสังคมปัจจุบัน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ชัยจะบอกกับเจ้าหน้าที่กรมคุมประพฤติที่เข้าไปเยี่ยมเยียนสอบถามในเรือนจำ ว่า "เวลาอยู่ที่โรงเรียน เพื่อนๆ ผมมีพ่อแม่ให้เงินมาโรงเรียน แต่ผมไม่มี แม้จะมีเงินที่หลวงพ่อให้ แต่ก็ไม่ค่อยพอ อยากได้เงินมากๆ แต่จะไปทำงานที่ไหนก็ไม่มีคนรับ เพราะไม่มีบัตรประชาชน พอผมเห็นเพื่อนขายยาแล้วได้เงิน ผมก็เลยทำบ้าง"

สถานการณ์ของเด็ก เยาวชน และครอบครัว ที่ไม่มีตัวตนทางกฎหมาย เนื่องจากไม่มีชื่อในทะเบียนราษฎรเช่นเดียวกับชัยนี้ ยังมีอีกเป็นจำนวนมากที่กระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย ดังเช่นที่งานวิจัยหลายฉบับได้ตรวจสอบพบ แม้หลายคนในกลุ่มนี้จะเข้มแข็งต่อกระแสวัตถุนิยมได้มากกว่า โดยไม่หลงผิดไปเหมือนชัย ดังเช่นเยาวชนหลายคนที่ต่อสู้พากเพียรเรียนสูงๆ โดยหวังว่าการศึกษาจะเป็นความหวังสำหรับอนาคตของพวกเขาได้ แต่การดำเนินชีวิตอย่างไร้ตัวตนทางกฎหมาย ก็เป็นเรื่องที่ยากลำบากมาก เพราะหลายกรณีขาดซึ่งสิทธิพื้นฐานในการดำรงชีวิตและถูกละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อันถือเป็นความไม่มั่นคงในชีวิตอย่างร้ายแรงของบุคคลเหล่านั้น

ปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องที่หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักดีว่าความมั่นคงของประชาชนคือความมั่นคงของชาติ จึงได้ร่วมกันคิดวิธีการจัดการปัญหาอย่างเป็นระบบ ดังที่ปรากฏเป็นยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2548 ซึ่งได้ให้ทางออกสำหรับกลุ่มคนต่างๆ ที่ประสบปัญหาสถานะและสิทธิไว้อย่างครอบคลุม ทั้งกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมานานซึ่งในหลวงทรงห่วงใยมาก กลุ่มเด็กนักเรียนในโรงเรียนหรือผู้ที่เรียบจบปริญญาตรี บุคคลที่ทำคุณประโยชน์ให้ประเทศชาติ หรือกรณีเช่นเดียวกับชัย ซึ่งตามยุทธศาสตร์เรียกว่ากลุ่มคนไร้รากเหง้า เป็นต้น

แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้ปัญหาของประชาชนเหล่านี้ยังไม่ได้รับการแก้ไขตามเป้าหมาย ก็คือ ยุทธศาสตร์ส่วนใหญ่ยังคงเป็นยุทธศาสตร์ในกระดาษ ที่ยังไม่มีแนวทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และแม้จะมีบางส่วนพยายามเดินหน้าตามยุทธศาสตร์แล้ว แต่ก็ไปติดขัดเรื่องงบประมาณ เช่น เป้าหมายที่ต้องการให้ทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยมีเอกสารพิสูจน์ตน ที่สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครองรับผิดชอบอยู่

เห็นได้ชัดเจนว่า หากทุกฝ่ายร่วมใจกันอย่างจริงจังในการดำเนินงานตามที่วางยุทธศาสตร์ไว้ เช่นที่กระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการให้สถานะบุคคลตามกฎหมายไปแล้วกว่าหมื่นคน หรือที่กระทรวงศึกษาธิการได้ให้โอกาสทางการศึกษาแก่เด็ก เยาวชนทั่วประเทศไทยแล้วนั้น การแก้ไขปัญหาความไม่มั่นคงในชีวิตของประชาชนจากการไร้สถานะและไร้สิทธิ จะต้องสำเร็จลงได้อย่างแน่นอน ตรงข้ามหากปล่อยทิ้งไว้นานเท่าไร ความรุนแรงของปัญหาและผลที่ตามมาจะยิ่งเพิ่มทวีขึ้น และสังคมอาจต้องคอยเยียวยากรณีบาปบริสุทธิ์ เช่นเดียวกับกรณีของชัยอีกไม่รู้เท่าไร

จึงอยากวอนขอให้ท่านนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐบาลชั่วคราวชุดนี้ ช่วยพิจารณาวางแนวทางการเพิ่ม "ความสุขมวลรวมประชาชาติ" ด้วยการขจัดความทุกข์จากความไม่มั่นคงในชีวิตของประชาชนผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิ โดยการสานต่อและผลักดันให้ยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะสิทธิของบุคคล ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 18 มกราคม 2548 ดำเนินการต่อไปได้อย่างเป็นรูปธรรม จักเป็นคุณูปการต่อประชาชนอีกนับหมื่นนับแสนที่รอคอยอยู่ด้วยความหวัง รวมทั้งยังจะเป็นกำลังใจให้ "ชัย" มีความหวังที่จะกลับออกมาใช้ชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอย่างไม่แปลกแยกหรือถูกปิดกั้นโอกาสในการพัฒนาชีวิตเหมือนเช่นอดีตอีกต่อไป

หน้า 8<

 

ที่มา : http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01way01151049

      มติชน วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10445
หมายเลขบันทึก: 56568เขียนเมื่อ 31 ตุลาคม 2006 14:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เมื่อไรปัญหาเรื่องสัญชาติจะหมดไปสักที สงสารคนไม่มีสัญชาติมากยิ่งโดยเฉพาะคนที่ไม่มีเลข 13 หลักนี่ยิ่งแย่เข้าไปใหญ่เลยอ่ะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท