บัวหอม
อาจารย์(พิเศษ) เพ่ง บัวหอม ปลัด บัวหอม

ความล้มเหลวในการจัดการความขัดแย้งด้านสิ่งแวดล้อม กรณี "เจนโก้"


ความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม/ การสะสมทุนและการสะสมขยะ

 

ความล้มเหลวของการจัดการความขัดแย้งเกี่ยวกับปัญหามลพิษระหว่างโรงงานเจนโก้

กับชุมชนเขตอุตสาหกรรมในจังหวัดระยอง*

Failure in Conflict Management Concerning Pollution Problems between Genco Factory and Industrial Community in Rayong Province

เพ่ง  บัวหอม**

บทคัดย่อ

                การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพัฒนาการ รูปแบบการจัดการที่ล้มเหลว และมาตรการจัดการความขัดแย้งเกี่ยวกับปัญหามลพิษระหว่างโรงงานเจนโก้กับชุมชนเขตอุตสาหกรรมในจังหวัดระยอง วิธีการศึกษาใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพแนวประวิติศาสตร์ โดยการวิจัยเอกสาร และการสัมภาษณ์ในเชิงคุณภาพ ผลการศึกษาพบว่าพัฒนาการของความขัดแย้งและรูปแบบในการจัดการความขัดแย้งนั้น มีพัฒนาการตามประวัติศาสตร์มาตั้งแต่ความขัดแย้งที่ปลวกแดงต่อมาที่มาบตาพุดและขับเคลื่อนไปยังตำบลหนองระลอก เมื่อพิจารณาถึงปัจจัยที่มีผลต่อความขัดแย้งพบว่ามีปัจจัย 3 กลุ่มที่มีปฏิสัมพันธ์กัน ได้แก่ ปัจจัยเชิงโครงสร้าง ปัจจัยตัวผู้กระทำและปัจจัยด้านกระบวนการ ผลการศึกษา พบว่าความล้มเหลวการความขัดแย้งที่ปลวกแดงคือการทำประชาพิจารณ์ ที่มาบตาพุดความล้มเหลวการทำงานคณะกรรมการ 3 ฝ่าย และความล้มเหลวการทำประชามติที่หนองละลอก  ส่วนแนวทางและมาตรการจัดการปัญหาความขัดแย้งเกี่ยวกับปัญหามลพิษ ได้แก่ แนวทางการให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางการพัฒนาการแบบมีส่วนร่วม  การตรวจสอบโครงการ  การจัดตั้งองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม การเพิ่มบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรประชาสังคมในพื้นที่ ส่วนมาตรการการจัดการความขัดแย้งได้แก่ มาตรการตามกฎหมาย การระงับข้อพิพาทด้านสิ่งแวดล้อม การเร่งจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อม การตรากฎหมายการมีส่วนร่วมภาคประชาชนและการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

 

-------------------------------------------

*บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของดุษฎีนิพนธ์เรื่อง ความล้มเหลวของการจัดการความขัดแย้งเกี่ยวกับปัญหามลพิษระหว่างโรงงานเจนโก้กับชุมชนเขต  อุสาหกรรมในจังหวัดระยอง(Failure in Conflict Management Concerning Pollution Problems between Genco Factory and Industrial Community in Rayong Province),ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต,สาขาไทยศึกษา,คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์,มหาวิทยาลัยบูรพา,2556

**เพ่ง  บัวหอม นิสิตระดับปริญญาเอก,สาขาไทยศึกษา,คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์,มหาวิทยาลัยบูรพา

Abstract

                The objective of theresearch is to study development, the failure format of manipulating through finding the management measure environment problem conflict between the Genco Factory and the industrial community area in Rayong. The case study employs historic-qualitative research through document research and qualitative interview. The conflict and conflict management history that found in this research are developed from time to time, starting from Pluak-Daeng along to and move to Tambol Nong-La-Lok. Concentration to the conflict has three relatable factors such as structural factor, executant’s factor and procedural factor. The study indicates the unsuccessful conflict management at Pluak-Daeng is an incapable of “Public Hearing”, a failure of three commissioner in Map-Ta-Pood and “Public Hearing” makes mistake at Nong-La-Lok. The term relates the way and measure to solve the conflict relate the pollution from Genco Factory and the industrial community. The measure consists developing the participation of people in community to investigate the project, founding the environmental independent entity by the constitution, and extending the role of local administrative firm and community firm in area. Furthermore, the important measure to solve the conflict can be varied such as measure by law, to end a matter in dispute about an environment, founding environmental court and new legislation to make participation of people, and adjust the related law.

คำสำคัญ:  ความล้มเหลว/การจัดการความขัดแย้ง/เจนโก้/ชุมชนเขตอุตสาหกรรม/ระยอง

Keyword: Failure/Conflict Management/Genco/Industrial Community/Rayong                                                                                                                                                                                            

บทนำ

                โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก เป็นกลยุทธการพัฒนาในระดับภูมิภาคที่ได้รับการบรรจุลงในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ.2525 - 2529) โครงการดังกล่าวมุ่งที่จะพัฒนาพื้นที่ 3 จังหวัดชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นศูนย์กลางความเจริญแห่งใหม่ เพื่อเป็นศูนย์อุตสาหกรรมหลักและอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่น ๆ ให้มีความสมบูรณ์ในตัวเอง และเพื่อเป็นการเสนอทางเลือกแหล่งที่ตั้งให้กับอุตสาหกรรมใหม่ในอนาคต โดยไม่ต้องมาอยู่บริเวณกรุงเทพมหานคร ทั้งจะเป็นการช่วยชะลอการเติบโตและบรรเทาความแออัดของกรุงเทพมหานครลงได้

                การขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วได้ก่อให้เกิดกากของเสียอันตราย (HazardousWaste) จากกระบวนการผลิตมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งหากไม่มีการควบคุมดูแล ให้เป็นไปอย่างถูกต้อง กากอุตสาหกรรมที่เกิดจากการผลิตสินค้าอุปโภคของโรงงานอุตสาหกรรม เหล่านี้ก็จะย้อนกลับมาเป็น อันตรายต่อสภาพแวดล้อมและก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนชาวไทย จากความ มุ่งหวังของภาครัฐที่ต้องการแก้ไข ปัญหา การจัดการ กากอุตสาหกรรมประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมและสามารถ แก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนได้ก่อให้เกิดความร่วมมือ ระหว่าง ภาครัฐและภาคเอกชนในการจัดตั้งบริษัท บริหารและพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์ สิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) หรือ เจนโก้ ขึ้นเพื่อเป็นกลไกสำคัญในการปกป้องและรักษาสิ่งแวดล้อมไม่ได้รับผลกระทบจาก กากอุตสาหกรรมที่เพิ่มปริมาณขึ้นอย่างรวดเร็ว

ตั้งแต่จุด เริ่มต้นในปี 2537 ที่ เจนโก้ ถูกจัดตั้งขึ้นในฐานะบริษัทจำกัด จนกระทั่งเติบโตเป็นบริษัทมหาชนในปัจจุบันโดยมีกระทรวงอุตสาหกรรม เป็น ผู้ร่วมถือหุ้นหลักของ เจนโก้ เพื่อกำกับดูแลและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมและ ประชาชนทั่วไป ณ ปัจจุบัน บริษัทมีทุนจดทะเบียน 900 ล้านบาท โครงสร้างผู้ถือหุ้นของ เจนโก้ ประกอบด้วยประชาชนและนักลงทุนทั่วไปจำนวน 81.66% กระทรวงอุตสาหกรรม 16.67 % และการนิคมอุตสาหกรรม แห่ง ประเทศไทย (กนอ.)  1.67%   [1]

                 บริษัท บริหารและพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จำกัด (General Environmental Conservation Co.Ltd.)“GENCO” ได้ดำเนินการศึกษาหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการก่อตั้งบริษัท จนพบว่าพื้นที่บ้านเขากระทะ เขาระฆัง ตำบลตาสิทธิ์ อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง เหมาะสมที่สุดเนื่องจากมีสภาพทางธรณีวิทยาที่เหมาะสมหลายประการ อีกทั้งที่ดินไม่เหมาะกับการเกษตรกรรม สถานที่มีความสะดวกในการเดินทางขนส่ง แต่ปัญหาสำคัญที่สุดที่เจนโก้ต้องเผชิญก็คือการถูกต่อต้านจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ นักวิชาการ องค์การนักศึกษา และองค์การพัฒนาเอกชน ฯลฯ จนในที่สุดเจนโก้ ต้องยกเลิกโครงการที่จะใช้พื้นที่อำเภอปลวกแดงในการก่อตั้งบริษัท[2]

                จนต่อมาเดือนเมษายน 2539 ครม. ได้มีมติให้ทดลองใช้พื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เจนโก้จึงได้ทำสัญญาเช่าที่ดินกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและดำเนินการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ บนพื้นที่จำนวน 62.5 ไร่ และดำเนินการตามโครงการกำจัดกากพิษอุตสาหกรรมในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากการขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ทั่วประเทศมีจำนวนมากขึ้น กากของเสียอุตสาหกรรมก็มีมากขึ้นเช่นกัน แต่สถานที่ใช้กำจัดมีพื้นที่ไม่เพียงพอ เพราะในปัจจุบันกากของเสียถูกขนส่งมาจากทั่วประเทศ เจนโก้ได้มองเห็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จึงจำเป็นจะต้องจัดหาพื้นที่แห่งใหม่เพื่อรองรับการขยายตัวดังกล่าว

                ในขณะที่ประเทศไทยมีการพัฒนาอุตสาหกรรมเป็นไปอย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาจากกากอุตสาหกรรมยังเป็นปัญหาแก้ไม่ตกและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาตลอด โดยเฉพาะการลักลอบทิ้งกากโลหะหนักและกากสารเคมีอุตสาหกรรมตามสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดจนระบบนิเวศน์อย่างร้ายแรง ซึ่งภัยจากากสารเคมีต่อมนุษย์ทั้งแบบก่อพิษเฉียบพลัน ที่แสดงอาการเจ็บป่วยหรือถึงแก่ชีวิตในทันที และแบบเก็บสะสมพิษทีละเล็กละน้อยเกิดเป็นอาการเจ็บป่วยเรื้อรัง ซึ่งหากได้รับพิษติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ๆ จะมีปริมาณสารพิษสะสมเกินกว่าที่ร่างกายจะทนได้ ก็จะถึงแก่ชีวิตในที่สุด

                เนื่องจากในการจัดตั้งโรงงานกำจัดกากของเสียอันตรายแบบถาวรนั้น จำเป็นจะต้องใช้พื้นที่ไม่น้อยกว่า 500 ไร่ เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจให้คุ้มการลงทุนในเวลา 30 ปี ความพยายามในการจัดตั้งโรงงานจำกัดกากของเสียอันตรายของเจนโก้ที่ผ่านมายังคงเลือกพื้นที่ในเขตชุมชนของโรงงานอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดระยอง เริ่มตั้งแต่อำเภอปลวกแดง เขตมาบตาพุด และอำเภอบ้านค่าย กระทั้งถึงปัจจุบันจะพบว่าเจนโก้ยังไม่สามารถตั้งโรงงานกำจัดกากของเสียอันตรายที่ถาวรได้เลย และยังพบว่าปรากฏการณ์ความขัดแย้งระหว่างเจนโก้และชุมชนใกล้โรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นเสมอ

                ที่ผ่านมาโครงการขนาดใหญ่ ของรัฐจำนวนมากละเมิดต่อสิทธิของชุมชนโดยในกระบวนการประเมินผลกระทบด้านสังคม หรือด้านสิ่งแวดล้อม หรือด้านสุขภาพมีลักษณะการดำเนินการที่ไม่สมบูรณ์ และขาดความโปร่งใส หลายชุมชนได้รับผลกระทบด้านสุขภาพอย่าง รุนแรง หรือต้องเผชิญกับสิ่งแวดล้อมที่มีมลพิษ หรือการสูญเสียทรัพยากรสำคัญและ กระทบต่อวิถีการดำรงชีวิตของชุมชน ซึ่งสิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงความไม่เป็นธรรมทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ในการแบ่งปันและเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเจนโก้ ก็เป็นโครงการขนาดใหญ่เช่นกัน

                รัฐเองก็การจัดการโครงการและการจัดการความขัดแย้งยังใช้รูปแบบเดิม ๆ ที่เรามักจะใช้การตัดสินใจจากเบื้องบน (การจัดการมาจากเบื้องบน) ที่ประเทศแคนาดาใช้   คำว่า “D-A-D Syndrome” หรือ “กลุ่มอาการคุณพ่อรู้ดีคือ : ตัดสินใจ-ประกาศ-ปกป้อง (D = Decide, A = Announce และ D = Defend) โอกาสที่ประชาชนมามีส่วนร่วมจึงมีน้อย หรือ ไม่มีเลย ที่มีและรู้กันคือ “ประชาพิจารณ์” (Public Hearing) ซึ่งเป็นการมีส่วนร่วมที่กระทำตอนท้าย ๆ ของกระบวนการพัฒนา หลังจากทำการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมผ่านแล้ว โอกาสที่ประชาชนจะร่วมคิดไม่มีช่องทางให้ร่วมดำเนินการเลย[3]

               ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องทำการศึกษาความล้มเหลวของการจัดการความขัดแย้งระหว่างเจนโก้กับชุมชนโรงงานอุตสาหกรรม ในแต่ละยุคว่ามีสาเหตุเกิดขึ้นจากอะไร มีรูปแบบการจัดการความขัดแย้งที่ผ่านมาอย่างไร และด้วยความขัดแย้งดังกล่าวยังไม่ลงตัวในปัจจุบัน จะมีแนวทางและมาตรการต่อไปอย่างไร      

วัตถุประสงค์ของการศึกษา

                1. เพื่อศึกษาการพัฒนาการความขัดแย้งเกี่ยวกับปัญหามลพิษระหว่างโรงงานเจนโก้กับชุมชนอุตสาหกรรมในจังหวัดระยอง

                2. เพื่อศึกษาความล้มเหลวการจัดการความขัดแย้งเกี่ยวกับปัญหามลพิษระหว่างโรงงานเจนโก้กับชุมชนอุตสาหกรรมในจังหวัดระยอง

                3. เพื่อศึกษาแนวทางและมาตรการในการจัดการความขัดแย้งาเกี่ยวกับปัญหามลพิษระหว่างโรงงานเจนโก้กับชุมชนอุตสาหกรรมในจังหวัดระยอง

                การศึกษาวิจัยเรื่อง “ความล้มเหลวของการจัดการความขัดแย้งเกี่ยวกับปัญหามลพิษระหว่างโรงงานเจนโก้กับชุมชนเขตอุสาหกรรมในจังหวัดระยอง” ในครั้งนี้เป็นการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพแนวประวัติศาสตร์ (Historical Qualitative Research) ในลักษณะที่เป็นกรณีศึกษาโดยในการศึกษาวิจัยครั้งนี้มีขั้นตอนกระบวนการศึกษาประกอบด้วยหัวข้อสำคัญดังนี้ คือ 
            1. การเก็บรวบรวมข้อมูลในการวิจัยครั้งนี้จะใช้วิธีการต่างๆดังนี้ คือการวิจัยครั้งนี้จะเก็บข้อมูลด้วย 2 วิธีการ คือ การศึกษาเอกสาร เช่นเอกสารชั้นต้น (Primary Data) เป็นข้อมูลที่ยังไม่ได้ผ่านการวิเคราะห์และสังเคราะห์เป็นข้อมูลดิบ ข้อมูลส่วนนี้ได้จากการเก็บรวบรวมเอกสารที่สำคัญ เช่น เอกสารการประชุมกลุ่ม บันทึกการประชุม เอกสารทางราชการ เป็นต้น  และ เอกสารชั้นรอง (Secondary Data) เป็นข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์แล้วระดับหนึ่งและเพื่อช่วยให้วิเคราะห์สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เอกสารชั้นรองเหล่านี้ที่สำคัญ เช่น หนังสือพิมพ์ ตำราวิชาการ บทความ งานวิจัย วิทยานิพนธ์ อินเตอร์เน็ต  ส่วนการสัมภาษณ์  เป็นการสัมภาษณ์ เป็นการสัมภาษณ์แบบประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่า (Oral History) เป็นการสัมภาษณ์แบบไม่เป็นทางการหรือไม่มีโครงสร้าง (Informal or unstructured Interview) โดยมีเพียงคำถามวิจัยเป็นแนวสัมภาษณ์ การสัมภาษณ์ในที่นี้จะกำหนดผู้ให้ข้อมูลหลัก  คือ กลุ่มผู้นำชุมชนในเขตอุสาหกรรมจังหวัดระยอง เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกสภาท้องถิ่น เป็นต้น  และ ผู้นำกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย เช่น กลุ่มพลังมวลชนต่าง กลุ่มองค์กรเอกชน  เป็นต้น

             2. การตรวจสอบข้อมูล  ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ใช้การตรวจสอบข้อมูลในการวิจัยเชิงประวัติศาสตร์ในที่นี้จะใช้รูปแบบการตรวจสอบ คือ  การตรวจสอบโดยใช้แหล่งข้อมูลที่ต่างกันระหว่างเอกสารและการสัมภาษณ์แบบประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่า ในปัญหามลพิษระหว่างโรงงานเจนโก้กับชุมชนในพื้นที่เขตอุสาหกรรมจังหวัดระยองเพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีความเที่ยงตรงและน่าเชื่อถือ   การตรวจสอบโดยใช้ผู้สัมภาษณ์ที่มีจุดยืนต่างกัน เช่น จากการสัมภาษณ์ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องถิ่น  กลุ่มพลังมวลชนต่าง ๆ เป็นต้น  และการตรวจสอบข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลหลักคนเดียวกันในเวลาที่ต่างกัน เช่น ประเด็นที่มีปัญหาความขัดแย้งระหว่างคาทอลิกกับพุทธศาสนิกชนในจันทบุรีจะสัมภาษณ์ผู้รู้เรื่องนี้ถึง 2 หรือ 3 ครั้ง เป็นต้น

            3. การวิเคราะห์ข้อมูล ในเชิงประวัติศาสตร์จะใช้การตีความหลักฐานทางประวัติศาสตร์โดยเริ่มจากการพรรณนาให้เห็นลำดับเหตุการณ์และวิเคราะห์เชิงสาเหตุในประวัติสาสตร์ ดังนี้ คือ การวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาเอกสารชั้นต้น เอกสารชั้นรอง และข้อมูลจากการสัมภาษณ์ จะใช้การตีความหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และการวิเคราะห์สาเหตุ โดยตั้งอยู่บนฐานคติที่ว่าสภาพในปัจจุบันเป็นผลที่มาจากเหตุสะสมในประวัติศาสตร์ (process of cumulative causation)  และ การสรุปผลการวิเคราะห์เชิงทฤษฎีพื้นที่ (Grounded Theory)

สรุปผลการศึกษา

                 ผลการศึกษา เกี่ยวกับพัฒนาการของความขัดแย้งและรูปแบบในการจัดการความขัดแย้งที่ล้มเหลวระหว่างโรงงานเจนโก้ กับเขตชุมชนในเขตโรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดระยอง ซึ่งในการพิจารณาความขัดแย้งในการเลือกพื้นที่ก่อสร้าง และการดำเนินงานของศูนย์กำจัดกากของเสียอันตรายของเจนโก้นั้นนั้น มีพัฒนาการตามประวัติศาสตร์มาตั้งแต่ความขัดแย้งที่ปลวกแดงต่อเนื่องไปที่มาบตาพุด และหลังจากนั้นก็ยังคงขับเคลื่อนไปยังตำบลหนองระลอก อำเภอบ้านค่าย ส่วนในด้านรูปแบบการจัดการวามขัดแย้งที่ได้ดำเนินงานมาจะเริ่มต้นจากการใช้รูปแบบประชาพิจารณ์ที่ปลวกแดงแต่ก็ล้มเหลวไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากมีการใช้ประชาพิจารณ์เพื่อขับเคลื่อนผลประโยชน์ของผู้สนับสนุนการก่อสร้างโดยผิดหลักประชาพิจารณ์

               ดังนั้นจึงเกิดการต่อต้านการทำประชาพิจารณ์ บางครั้งก็ใช้รูปแบบการชุมนุมของมวลชนมากดดันการทำประชาพิจารณ์ ต่อมามีการใช้คณะกรรมการไตรภาคีมาใช้เป็นจัดการความขัดแย้งเกี่ยวกับกรณีเจนโก้ที่มาบตาพุด แต่คณะกรรมการไตรภาคีก็ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากฐานอำนาจในการตัดสินใจเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งและในท้ายที่สุดได้มีการนำรูปแบบประชามติมาใช้ในกรณีความพยายามก่อสร้างโรงงานเจนโก้ที่หนองระลอก อำเภอบ้านค่าย แต่การใช้ประชามติก็ได้รับการต่อต้านเนื่องจากการทำประชามติอยู่ภายใต้การดำเนินงานของนักการเมืองกลุ่มบ้านค่ายหรือกลุ่มบ้านใหญ่บ้านค่าย หรือรู้จักกันในนามว่ากลุ่มน้ำจืด ซึ่งมีความขัดแย้งกับกลุ่มนักการเมืองกลุ่มฝ่ายค้านในเขตเดียวกัน ดังนั้นจึงนำไปสู่ปัญหาทางการเมืองที่ทำให้ไม่สามารถก่อสร้างโรงงานเจนโก้ในเขตบ้านค่ายได้

                เมื่อวิเคราะห์ถึงปัจจัยที่มีผลต่อความขัดแย้งของโรงงานเจนโก้กับชุมชนในเขตอุตสาหกรรมก็จะพบว่ามีปัจจัยอยู่ 3 กลุ่มที่มีปฏิสัมพันธ์กัน ได้แก่ ปัจจัยเชิงโครงสร้าง (Structure) ปัจจัยตัวผู้กระทำ (Actor) และปัจจัยด้านกระบวนการ (Process) กล่าวคือ

               1. ความขัดแย้งในการจัดการการกากพิษอุตสาหกรรมเกิดขึ้นภายใต้ระบบหรือปัจจัยเชิงโครงสร้างที่เป็นบริบทของการกำจัดกากขยะอุตสาหกรรม คือ การพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก (Eastern Seaboard Development) เป็นแผนงานพัฒนาเศรษฐกิจแนวใหม่ของประเทศที่เริ่มต้นในทศวรรษ  2520  โดยเน้นการจัดโครงสร้างพื้นฐานทางอุตสาหกรรมที่ทันสมัยในระดับนานาชาติ พร้อมทั้งให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนในประเทศและต่างประเทศ  ดังนั้นโครงสร้างอุตสาหกรรมของโครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกที่เน้นอุตสาหกรรมหลักที่เป็นเหตุก่อให้เกิดกากพิษโดยตรง ในขณะเดียวกันการพัฒนาอุตสาหกรรมหลักดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้การพึ่งพิงเชิงโครงสร้างของระบบโลก ซึ่งประเทศไทยต้องพึ่งพิงเทคโนโลยี พึ่งพิงการลงทุนจากต่างประเทศและพึ่งพิงด้านการตลาดโลก และเป็นเงื่อนไขให้โรงงานที่ก่อกากพิษอุตสาหกรรมสูง สามารถมาตั้งในภาคตะวันออกได้ง่ายภายใต้ส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ  ดังนั้นความจำเป็นในการก่อสร้างศูนย์กำจัดการขยะของเจนโก้ เพื่อกำจัดกากขยะอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้น  จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยไม่มีการวางแผนจัดการตั้งแต่แรกได้กลายมาเป็น “ขยะเถื่อน” ในพื้นที่จังหวัดระยองและจังหวัดใกล้เคียง

                โครงสร้างราชการเป็นบริบทที่มีผลต่อการจัดกากขยะของจนโก้ เนื่องจากลักษณะของการรวมศูนย์อำนาจสู่ส่วนกลาง โดยผ่านระบบกฎหมายและการบริหารราชการ เช่น พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 จนถึง พระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ท้องถิ่น และ/หรือชุมชนไม่มีส่วนร่วมในการรับรู้ แสดงความคิดเห็นและตัดสินใจเกี่ยวกับกากพิษฯ จนชุมชนต้องใช้รูปแบบการชุมนุมประท้วงเป็นการแสดงของการมีส่วนร่วมดังกล่าว

                 โครงสร้างอำนาจท้องถิ่นในจังหวัดระยอง เป็นโครงสร้างอำนาจที่เป็นทางการและอำนาจเชิงอิทธิพลระหว่างกลุ่มท้องถิ่นหลัก 2 กลุ่ม คือ กลุ่มบ้านเพและกลุ่มบ้านค่าย ประเด็นการก่อสร้างศูนย์กำจัดกากฯ ของเจนโก้ต้องดำเนินการภายใต้โครงสร้างอำนาจดังกล่าว ตั้งแต่การริเริ่มนำโครงการลงพื้นที่ จนถึงการดำเนินงานของศูนย์กำจัดกากฯ เนื่องจากปัญหาของเจนโก้ได้กลายเป็นเวทีของการเคลื่อนไหวทางการเมืองของท้องถิ่น รวมถึงผลประโยชน์ที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจของเจนโก้

                2. ปัจจัยด้านผู้กระทำการ เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อความขัดแย้งในการจัดการกากฯ ของเจนโก้ ผู้กระทำการในที่นี้หมายถึงกลุ่มคนที่ดำเนินกิจกรรมทางสังคม โดยมีแรงจูงใจทางด้านผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมือง โดยใช้อุดมการณ์เป็นเหตุผลในการเคลื่อนไหว ผู้กระทำการที่มีบทบาทในฐานะผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นผู้ที่อยู่ทั้งในและนอกชุมชน จากภาคธุรกิจ ภาครัฐและภาคประชาสังคม เช่น บริษัทเจนโก้ ข้าราชการส่วนภูมิภาค ผู้นำชุมชน ชมรม และสมาคมต่างๆ

                  ในความพยายามจัดการกากฯ ผู้กระทำการดังกล่าวมีผลประโยชน์พื้นฐานขัดแย้งกันระหว่างผลประโยชน์ทางธุรกิจ (เช่น กำไรจากการลงทุนศูนย์กำจัดกากฯ ผลประโยชน์จากการขายที่ดินสร้างศูนย์ฯธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจการจ้างงาน และการขนส่งกากฯเป็นต้น)  กับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและคุณภาพในการดำรงชีวิตฯ (เช่น ผลกระทบต่อการประกอบอาชีพทางการเกษตร มลพิษทางสิงแวดล้อมเป็นต้น)

ผลประโยชน์ทั้งสองที่ขัดแย้งกันในรูปของการมีผู้แพ้-ผู้ชนะ (ZERO SUM GAME) ดังจะเห็นได้จากการใช้วิธีการชดเชยผลประโยชน์ให้แก่ชุมชนขอเจนโก้ (เช่น การบริจาคเงินแก่ชุมชน การรบคนงาน แม้แต่การแบ่งค่าตอบแทนต่อกัน เป็นต้น) จึงไม่อาจทดแทนได้

                ความขัดแย้งในผลประโยชน์ทางธุรกิจและเศรษฐกิจสังคม ได้รับการตอกลิ่มอย่างดียิ่งขึ้น เมื่อโยงไปสู่ผลประโยชน์ทางการเมืองในกลุ่มระหว่างคนในกลุ่มบ้านค่ายและบ้านแพ เพื่อแข่งขันแย่งชิงฐานเสียงและตำแหน่งทางการเมืองในท้องถิ่น เช่น ตำแหน่งสจ. กำนัน สมาชิกอบต.เป็นต้น

                ดังนั้นจึงเกิดการรวมตัวระหว่างกลุ่มต่าง ๆกลายมาเป็นพันธมิตรระหว่างฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้านเจนโก้ ฝ่ายสนับสนุนซึ่งประกอบด้วยกลุ่มธุรกิจ ข้าราชการ และนักการเมืองท้องถิ่นส่วนใหญ่ เคลื่อนไหวโดยใช้อุดมการณ์ที่ใช้เทคโนโลยี (Techno centric Ideology) กล่าวคือ ใช้เทคโนโลยีเป็นศูนย์กลาง การในการสนับสนุน โดยอ้างความทันสมัยของเทคโนโลยีการกำจัดกากขยะอุสาหกรรมของเจนโก้  สามารถกำจัดกากขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ในขณะที่ฝ่ายต่อต้านซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มผู้นำตามธรรมชาติ หรือกลุ่มผู้นำในภาคประชาสังคม และชาวบ้านที่เป็นเกษตรส่วนใหญ่  ฝ่ายต่อต้านมีแนวโน้มไปทางอุดมการณ์ที่เชื่อในระบบนิเวศ (Eccentric Ideology) กล่าวคือมีอุดมการณ์แปลกออกไป คือ ไม่เอาและผลักภาระให้พ้นตัวเอง ให้โรงงานฯไปอยู่ที่อื่น แสดงความไม่แน่ใจในการนำเทคโนโลยีกำจัดกากขยะไปให้พ้นตัว (NIMBY)

                3. ปัจจัยด้านกระบวนการ ในที่นี้หมายถึงกระบวนการจัดการหาพื้นที่และดำเนินงานศูนย์กำจัดกากฯ รวมถึงการจัดการความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากิจกรรมดังกล่าวด้วยในการวิเคราะห์กระบวนการดังกล่าวจะพิจารณาตามกรอบของธรรมาภิบาล คือ ปัญหาการมีส่วนร่วม ความโปร่งใส และความสามารถตรวจสอบได้

                ปัญหาการมีส่วนร่วมในการจัดกากฯ ของเจนโก้ในขั้นตอนของการเริ่มต้นนั้นเป็นการละเลยการมีส่วนร่วมในการรับรู้ของชุมชนถึงแม้ว่าการลงโครงการในพื้นที่ของเจนโก้จะเป็นตามกระบวนการบริหาราชการจากบนลงล่าง ตั้งแต่ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นอย่างเป็นทางการแล้วก็ตาม ปัญหานี้แสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งระหว่างสิทธิของรัฐและสิทธิของชุมชน การละเลยการมีส่วนร่วม ในการรับรู้ของชุมชนเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งระหว่างฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้าน เนื่องจากส่งผลให้เกิดความระแวงสงสัย และการรับรู้ข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์ของชาวบ้าน

                ปัญหาความโปร่งใสในกระบวนการจัดการกากฯ ส่งผลสำคัญทำให้ความขัดแย้งรุนแรงขึ้น ในกรณีศึกษานี้ปัญหาความโปร่งใสเกิดขึ้นตอนการแสดงความคิดเห็นโดยอาศัยกลไกการประชาพิจารณ์

                การทำประชาพิจารณ์ในภาคปฏิบัตินั้นถูกมองทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้านเจนโก้ว่าเป็นเรื่องของการตัดสินใจอนุมัติโครงการในที่ประชุมโดยตรง ทำให้ฐานะของการทำประชาพิจารณ์เป็นเพียงการให้ความชอบธรรมแก่โครงการหรือไม่ก็เป็นเวทีของการใช้คนหมู่มากกดดันคนส่วนน้อย

                ดังนั้น การทำประชาพิจารณ์เรื่องการจัดหาพื้นที่ก่อสร้างศูนย์กำจัดกากฯ จึงเกิดปัญหาความไม่โปร่งใส ตั้งแต่ขั้นตอนการจัดทำประชาพิจารณ์จนถึงระหว่างการประชาพิจารณ์ กล่าวคือ

                ขั้นก่อนการประชาพิจารณ์พบประเด็นการเมืองของการจัดตั้งคนให้คนร่วมประชาพิจารณ์ให้มากที่สุด พร้อมทั้งสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วม

                ขั้นระหว่างประชาพิจารณ์ พบปัญหาความไม่โปร่งใสในการละเมิดกติกา (Rule of Law) ของการทำประชาพิจารณ์ กติกาสำคัญที่ถูกละเมิด คือ หลักการไม่ควรมีส่วนได้ส่วนเสียของคณะกรรมการและหลักการรับฟังอย่างรอบด้าน

                ความสามารถตรวจสอบได้เกี่ยวกับการก่อสร้างและดำเนินงานของศูนย์กำจัดกากฯ ของเจนโก้ เป็นหลักการที่ยอมรับของผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่เริ่มจัดหาพื้นที่กอสร้างศูนย์ที่ปลวกแดงในปี พ.ศ. 2538 โดยมีการกำหนดให้อยู่ในรูปแบบของกรรมการไตรภาคีระหว่างภาครัฐ บริษัทเจนโก้ และประชาชนในพื้นที่ แต่ปัญหาในภาคปฏิบัติก็คือประสิทธิภาพในการตรวจสอบไม่มีอำนาจในการสั่งปิดโรงงานในกรณีที่เจนโก้ไม่ปฏิบัติตามมาตรการที่ควรปฏิบัติ

                ผลการศึกษาเกี่ยวกับแนวทางและมาตรการในการจัดการพบว่าความขัดแย้งเกี่ยวกับปัญหามลพิษจากโรงงานเจนโก้ และชุมชนเขตอุตสาหกรรมในจังหวัดระยอง เนื่องจากเจนโก้ยังไม่สามารถสร้างศูนย์กำจัดกากอุตสาหกรรมที่ถาวรได้เนื่องจากจะต้องใช้ที่ดินไม่ต่ำกว่า 500 ไร่ เพื่อดำเนินธุรกิจให้คุ้มกับการลงทุนเป็นระยะเวลาถึง  30 ปีดังนั้นงานวิจัยนี้ จึงได้นำเสนอแนวทางในการจัดการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งดังกล่าว ซึ่งจำเป็นต้องใช้หลักการที่สำคัญได้แก่ การให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา การมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบโครงการ การจัดตั้งองค์กรอิสระทางด้านสิ่งแวดล้อมตามรัฐธรรมนูญ การเพิ่มบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรประชาสังคมในพื้นที่

               นอกจากนี้ควรมีมาตรการการจัดการความขัดแย้งดังกล่าวที่สำคัญได้แก่ มาตรการตามกฎหมาย การระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม การเร่งจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อม และการตรากฎหมายใหม่เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชนและองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

อภิปรายผลการศึกษา

               จากข้อค้นพบที่ได้จากการศึกษาวิจัยในแนวคิดทฤษฎี  สามารถวิเคราะห์ความขัดแย้ง ได้ ตามแนวคิด จอห์น  แมคคอนแนล   และคริสโตเฟอร์  มัวร์[4]  ได้แยกความขัดแย้งออกเป็น  5 ประเด็น[5] คือ

               1) ความขัดแย้งด้านข้อมูล (Data Conflict) ได้แก่ ข้อมูลขัดกัน ขาดข้อมูล เข้าใจผิด ขาดการสื่อสาร หรือสื่อสารไม่ถูกต้อง สับสนเรื่องหน้าที่ มุมมองต่างกันในเรื่องของข้อมูล ทั้งฝ่ายสนับสนุนในการให้ข้อมูลไม่ชัดแจ้ง ให้ไม่หมดพูดถึงแต่สิ่งดี ๆ ของโครงการ ทำให้ฝ่ายคัดค้าน รับข้อมูลไม่พอ แปลความผิด เข้าใจผิด ทำให้เกิดแรงต้านส่งผลให้ความขัดแย้งแผ่วงกว้างออกไปสู่พื้นที่สาธารณะ

                2) ความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ (Interest Conflict) ได้แก่ ขัดแย้งเกี่ยวกับทรัพยากรทางด้านธรรมชาติ หรือสิ่งต่าง ๆ ที่ปรารถนาและต้องการ ยังพอมีปรากฏในการเป็นนายหน้าขายที่ดินของกลุ่มผู้นำท้องถิ่น และเจ้าของที่ดิน กลุ่มนี้จะมีผลประโยชน์ร่วมกับทางเจนโก้ ซึ่งอาจรวมถึงกลุ่มที่รอรับผลประโยชน์จากโครงการเจนโก้ ซึ่งแยกเป็น  ผลประโยชน์ทั้งสองที่ขัดแย้งกันอยู่ในรูปของการมีผู้แพ้ – ผู้ชนะ (ZERO SUM GAME) ดังจะเห็นได้จากการใช้วิธีการชดเชยผลประโยชน์ให้แก่ชุมชนของเจนโก้ (เช่น การบริจาคเงินแก่ชุมชน การรับคนงาน แม้แต่การแบ่งค่าตอบแทนต่อกัน เป็นต้น) จึงไม่อาจทดแทนได้

                3) ความขัดแย้งด้านความสัมพันธ์ (Relationship Conflict) ได้แก่ บุคลิกภาพ และพฤติกรรมที่ต่างกัน พฤติกรรมทางลบที่เกิดขึ้นซ้ำซาก และวิธีการในการทำสิ่งต่าง ๆ แตกต่างกัน ยังไม่ปรากฏชัดเจน แต่เป็นผลต่อความขัดแย้งที่สะสมมาและเพิ่มความรุ่นแรงขึ้น เป็นผลให้ความสัมพันธ์ไม่ดีต่อกัน ซึ่งยากต่อการเจรจาในการจัดการความขัดแย้งต่อไป 

                4) ความขัดแย้งด้านโครงสร้าง (Structural Conflict) ได้แก่ การแก่งแย่ง โดยเปลี่ยนแปลงระเบียบกฎเกณฑ์เดิมด้วย ขัดแย้งเกี่ยวกับระเบียบปฏิบัติ ขัดแย้งเนื่องจากขาดความ ยุติธรรม เป็นปัญหาหลักเลยก็ว่าได้ ปัญหาปัจจัยเชิงโครงสร้างถูกกำหนดโดยรัฐจากส่วนกลาง เพื่อรีบเร่งการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจในระบบทุนมหาศาล พอแบ่งแยกได้ในเชิงโครงสร้าง คือโครงสร้างอุตสาหกรรม กำหนดและออกแบบจากส่วนกลาง โครงสร้างราชการบริหารจากเบื้องบนลงล่าง  การรวมศูนย์อำนาจที่ส่วนกลาง โดยผ่านระบบกฎหมาย ผ่านนโยบายและระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน   ลักษณะการออกแบบโครงสร้างเช่นนี้ทำให้ท้องถิ่น และ หรือชุมชนไม่มีส่วนร่วมในการรับรู้แสดงความคิดเห็นและตัดสินใจเกี่ยวกับปัญหากากพิษจากโครงการเจนโก้  จนชุมชนต้องออกมาเรียกร้อง  “บนท้องถนน” ส่วนโครงสร้างอำนาจท้องถิ่น แสดงออกมาผ่านอำนาจที่เป็นทางการเป็นนักการเมืองท้องถิ่นและระดับชาติ  การต่อสู้เพื่อรักษาพื้นที่ฐานอำนาจทางการเมืองและผลประโยชน์ของกลุ่ม

                5) ความขัดแย้งด้านคุณค่าหรือค่านิยม (Value Conflict) ได้แก่ ศาสนา โลกทัศน์หรือความเชื่อต่างกัน การให้ความสำคัญที่ต่างกัน เกณฑ์ประเมินต่างกัน ภูมิหลังทางวัฒนธรรมต่างกัน ภูมิหลังส่วนบุคคลต่างกัน พื้นฐานทางประวัติศาสตร์ต่างกัน  ความขัดแย้งในด้านนี้ไม่ปรากฏชัดเจน เหตุเพราะอิทธิพลทางการเมืองทำให้มีการแบ่งกลุ่มออกเป็นค่ายทางการเมือง สลายขั้วทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาดั้งเดิม มีเพียงแต่กลุ่มผู้นำธรรมชาติ ผู้อาวุโส ที่ยังคงเชื่อในคุณค่าระบบนิเวศน์ ไม่เอาเทคโนโลยี ไม่เอาระบบทุน และยังไม่ยอมรับการให้ความรู้ผ่านระบบประชาพิจารณ์ จนเกิดเป็นความเชื่อกลายเป็นค่านิยมฝังลึก ว่ามีโครงการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมกำจัดขยะมลพิษหรือในลักษณะเดียววันที่ใด ชาวบ้านต้องร้อง “ไม่เอาขยะไม่เอาโรงงาน” ที่นั้น

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

                ส่วนแนวทางป้องกันและมาตรการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผู้วิจัยเห็นว่ามีวิธีอันหลากหลายโดยเฉพาะการจัดการความขัดแย้งของโครงการศูนย์กำจัดกากอุตสาหกรรม “เจนโก้” กับชุมชนเขตอุสาหกรรม จ.ระยอง ควรมีหลักการดังนี้

                1. หลักธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม ความขัดแย้งจะไม่รุนแรงบานปลายจนกลายเป็นความรุนแรง ถ้าหากแสวงหาการยอมรับจากชุมชนเจ้าของพื้นที่ การยอมรับหรือยินยอมของชุมชนส่วนหนึ่งจะมาจากการได้รับข้อมูลอย่างรอบด้านเพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลด้านการเก็บรวบรวมของเสีย การขนส่ง  การกำจัดของเสียทั้งทางด้านทฤษฎีและการดำเนินการ ที่สำคัญคือ ระหว่างการพิจารณาในแต่ละขั้นตอนเจ้าของโครงการต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ทราบถึงผลของการพิจารณาเป็นระยะ นอกจากนั้นการให้ข้อมูลข่าวสารควรกระทำแต่เนิ่น ๆ ตั้งแต่โครงการเริ่มต้น เจ้าของโครงการต้องรีบประชาสัมพันธ์ ชี้แจงโครงการให้ชาวบ้านเข้าใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลต้องถูกต้องและชัดเจน สิ่งที่พึงระวังคือถ้าชาวบ้านรู้สึกในแง่ลบแล้ว เมื่อมาพูดคุยกันภายหลังก็จะไม่ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้าน

ดังนั้น การดำเนินโครงการของรัฐ และการลงทุนในภาคอุสาหกรรมต้องยึดหลักธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมภายใต้กระแสการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อให้เกิดความสมดุลใน 4 ด้าน คือ มิติทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ การอนุรักษ์และการจัดการทรัพยากร  กล่าวคือ การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ เพื่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจให้โต ต้องดูแลชุมชนและสิ่งแวดล้อม ให้สมดุลอยู่ร่วมกันได้

                2. หลักความยุติธรรมสิ่งแวดล้อม  ความขัดแย้งในโครงการขนาดใหญ่นับวันจะรุนแรงเพิ่มมากขึ้น และกลายเป็นประเด็นสาธารณะ ที่คนในสังคมให้ความสนใจ จากการเน้นการพัฒนาทางด้านการลงทุนอย่างรีบเร่งอย่างเดียว ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม นับวันจะเห็นได้ชัดเจนขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอากาศเสีย ดินเสีย น้ำใต้ดินเปื้อนมลพิษ ป่าถูกตัด ต้นไม้และสัตว์ป่าสำคัญใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งเป็นความเสียหายที่เกิดแก่ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยตรง ที่ส่งผลต่อระบบนิเวศและการดำเนินชีวิตของมนุษย์ด้วย  ดูแล้วธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมถูกดึงดูดนำไปใช้โดยไม่ได้รับความยุติธรรม  ดังนั้นการเรียกร้องความยุติธรรมแทนสิ่งแวดล้อม จึงได้ออกมาเรียกร้องตามท้องถนน เช่นเดียวกับพี่น้องชุมชนอุตสาหกรรม จ.ระยอง ที่ ต.ตาสิทธิ์ อ.ปลวกแดง พี่น้องชาว ต.หนองละลอก อ.บ้านค่าย และพี่น้องชาวชุมชนมาบตาพุด ได้ออกมาเรียกร้องของความยุติธรรมให้สิ่งแวดล้อม  แต่การระงับข้อพิพาทเป็นเพียงพิธีชั่วคราวเป็นครั้ง ๆ เท่านั้น เช่น ยกเลิกโครงการที่ปลวกแดง แต่มาทดลองทำที่มาบตาพุด และยังพยายามหาที่ใหม่ที่ ต.หนองละลอกอีก

              ประเทศไทย ต้องทำให้ประชาชนเชื่อว่าความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม มีอยู่จริง จากการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลที่ผ่านมา จากจำนวนคดีสิ่งแวดล้อมขึ้นสู่ศาล  จะต้องกระบวนพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม  จะต้องมีศาลสิ่งแวดล้อมเฉพาะ  และดำเนินการให้มีกฎหมายที่เหมาะสม โดยเฉพาะกฎหมายด้านการคุ้มครองและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กฎหมายว่าด้วยสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม (Environmental Health Law) กฎหมายเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาททางสิ่งแวดล้อม และกฎหมายวิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม  รวมถึงการขาดความรู้ความเข้าใจในด้านสิ่งแวดล้อม และทัศนคติที่ไม่ดีไม่ถูกต้องของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ซึ่งจำเป็นต้องรีบเร่งปรับปรุงแก้ไขให้มีความเหมาะสมกับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเร็ว

              3. หลักประกันแก่ชุมชน การมีส่วนร่วมในโครงการพัฒนาขนาดใหญ่เพียงลำพังจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทว่าโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่จะสร้างในพื้นที่ใดก็ตาม ต้องได้รับการยินยอมจากชุมชนนั้น ๆ เสียก่อน สิ่งที่สำคัญมากที่จะทำให้ชุมชนยอมรับโดยไม่เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงก็คือให้หลักประกันบางอย่างแก่ชุมชน ขึ้นอยู่กับการตกลงร่วมกันระหว่างเจ้าของโครงการกับชุมชน ที่สำคัญต้องเสนอหลักประกันให้แก่ชุมชนอย่างเนิ่น ๆ มิใช่ถึงขั้นบานปลาย “สร้างเมื่อไหร่ เผาเมื่อนั้น” แล้วถึงค่อยเสนออะไรให้ กล่าวถึงหลักประกันต่อชุมชนให้มีหลากหลาย อาทิ ให้ชุมชนถือหุ้นในบริษัท มีกองทุนรวมที่ให้ผลประโยชน์เป็นของชุมชนโดยอาจแบ่งเปอร์เซ็นต์ที่ได้จากการประกอบการ การให้การศึกษาสำหรับเด็กในชุมชนในระดับสูงขึ้นไป  การสนับสนุนให้ชุมชนมีบุคลากรทางด้านสิ่งแวดล้อม อาสาสมัครเฝ้าระวังทางสิ่งแวดล้อม ที่เกิดจากกองทุนที่จัดตั้งไว้  พร้อมทั้งการจ้างงานจะต้องให้คนในท้องถิ่นได้ทำและให้ภาษีบำรุงท้องถิ่นตามความเหมาะสม ฯลฯ

                4. หลักสันติวิธี  การป้องกันและแก้ไขความขัดแย้งได้อย่างมีประสิทธิภาพจำเป็นต้องยึดหลักการ “สันติวิธี” ที่เหมาะสมโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลักการรับฟังก่อนการตัดสินใจ ให้โอกาสแก่ฝ่ายต่าง ๆ ได้ร่วมพิจารณาถึงผลดีและผลเสียของโครงการก่อนที่จะมีการตัดสินใจโดยรัฐ ที่สำคัญควรประชาพิจารณ์ตั้งแต่เริ่มโครงการ และก่อนที่จะมีการซื้อขายที่ดิน ถ้าลงทุนไปแล้ว หรือมีการเซ็นสัญญาไปแล้วก็ไม่มีประโยชน์ ถ้าเกิดการตัดสินใจไปแล้วค่อยมาจัดประชาพิจารณ์ผู้วิจัย เห็นว่าทำประชาพิจารณ์ไปก็เสียเวลาเปล่า หลักการที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ หลักการไม่มีส่วนได้เสียของคณะกรรมการ ที่สำคัญต้องไม่แต่งตั้งคณะกรรมการประชาพิจารณ์ที่มีส่วนได้เสียต่อโครงการ เพราะจะทำให้สูญเสียความเป็นกลาง และทำให้ฝ่ายตรงข้ามไม่ยอมรับในกระบวนการประชาพิจารณ์ด้วย

                5. หลักอำนาจการตัดสินใจควรเป็นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  โครงการพัฒนาที่ต้องการใช้พื้นที่ใดก็ตาม  จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเสียก่อน อาทิ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แต่ถ้ามีชาวบ้านในพื้นที่ไม่เห็นด้วยกับมติ อบต. ก็ต้องพยายามหว่านล้อมให้ยอมรับด้วยเหตุผล  และต้องใช้แนวทางสันติวิธี โดยอาจเปิดเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นและข้อเท็จจริงภายในชุมชนให้ทั่วถึงและเพียงพอ  ดังจะเห็นได้ว่า การเกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้นระหว่างฝ่ายสนับสนุนเจนโก้ และฝ่ายคัดค้านนั้น  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ได้เอาโครงการพัฒนาดังกล่าวเข้ามาในพื้นที่ โครงการถูกกำหนดมาจากส่วนกลางและก็ออกแบบการดำเนินการมาพร้อม เพื่อหาความชอบธรรมให้กับโครงการ ท้องถิ่นเป็น

เพียงทางผ่านความเห็นชอบเท่านั้น  แต่ที่สุดทนโครงการที่ก่อสร้างภายใต้ กนอ. ไม่ต้องขออนุญาตก่อสร้างจากท้องถิ่น  ท้องถิ่นเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินอย่างเดียวแต่ก็เพียงน้อยนิดเมื่อเทียบกับปัญหามลพิษที่เกิดขึ้น

ส่วนมาตรการในการจัดการความขัดแย้งในปัญหาของเจโก้ควรพิจารณาด้านต่างๆ คือ

               1. ด้านกฎหมาย  แก้ไขกฎหมายทุกฉบับที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยสาระของกฎหมายจะต้องให้ความสำคัญกับการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การมีส่วนร่วมของประชาชน การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม การรับรองสิทธิชุมชน และการพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรของหน่วยงานภาครัฐส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่นและภาคประชาชน

               2. ด้านข้อมูลข่าวสาร  พัฒนาช่องทางการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสู่ประชาชนให้หลากหลายและเข้าถึงได้มากขึ้น เช่น การเผยแพร่ข้อมูลผ่านระบบตัวแทนของท้องถิ่น การประชาสัมพันธ์ข้อมูลโดยตรงในพื้นที่ การเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อท้องถิ่น การเผยแพร่ข้อมูลจากสื่อสาธารณะ เป็นต้น

               3. ด้านการมีส่วนร่วม  กระบวนพัฒนาการการมีส่วนร่วมในการป้องกันและลดปัญหามลพิษควรจะมีการขยายจัดการร่วมกันทั้งรัฐส่วนกลาง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคประชาชน  ปรับปรุงกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและมีส่วนร่วมในการจัดทำแผน การดำเนินการตามแผน และติดตามประเมินผล

              4. ด้านกระบวนการยุติธรรม  ประเมินสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ของพื้นที่มาบตาพุดเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาคดี  ปรับปรุงการช่วยเหลือประชาชนด้านค่าใช้จ่ายและสนับสนุนงบประมาณเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและระยะยาวควรจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อมเพื่อดำเนินคดีด้านสิ่งแวดล้อมเป็นการเฉพาะ

               5. ด้านการพัฒนาขีดความสามารถบุคลากร  ให้ความสำคัญกับการยกระดับและเสริมสร้างขีดความสามารถของบุคลากรของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างหลักประกันให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย   พัฒนาบุคลากรด้านสิ่งแวดล้อมให้มีความสามารถมากขึ้น ตลอดจนให้มีอาสาสมัครเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมชุมชนที่มีความรู้ความสามารถ

ข้อเสนอแนะในการวิจัยครั้งต่อไป

                1. ควรศึกษาความขัดแย้งเกี่ยวกับกากพิษอุตสาหกรรมโดยใช้กรณีศึกษาอื่นนอกจากกลุ่มบริษัทเจนโก้ เช่น บริษัท better life
                2. ควรศึกษาความขัดแย้งเกี่ยวกับการจัดการกากพิษอุตสาหกรรมนั้นที่อื่นที่เกิดขึ้นนอกจังหวัดระยอง            

                3. ควรมีการวิจัยเชิงนโยบายเกี่ยวกับการกำจัดกากพิษอุตสาหกรรมในปัจจุบันโดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย

 

รายการอ้างอิง

คริสโตเฟอร์  มัวร์ เขียน. วันชัย วัฒนศัพท์ แปล. กระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลาง. ขอนแก่น: สถาบันสันติศึกษา, 2542.

ชลัท ประเทืองรัตนา. เรื่อง การเมืองของการประชาพิจารณ์ กรณีการแก้ไขความขัดแย้งโครงการกำจัดกาก

                    อุตสาหกรรม ต.ตาสิทธิ์ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง,2542.

วันชัย วัฒนศัพท์. คู่มือเกี่ยวกับความขัดแย้ง: หลักการ และเครื่องมือแก้ปัญหา. กรุงเทพมหานคร: ศูนย์สันติวิธีและธรรมาภิบาล, 2547.

วันชัย  วัฒนศัพท์. ความขัดแย้งหลักการและเครื่องมือแก้ปัญหา สถาบันพระปกเกล้า. กรุงเทพมหานคร: ศูนย์    

                สันติวิธีและธรรมาภิบาล, 2550

 

อินเตอร์เน็ต

http://www.genco.co.th/TH-About.htm

 

[1]  http://www.genco.co.th/TH-About.htm

[2] ชลัท ประเทืองรัตนา, 2542, หน้า 2

[3] ศ.นพ.วันชัย  วัฒนศัพท์  ความขัดแย้งหลักการและเครื่องมือแก้ปัญหา สถาบันพระปกเกล้า 2550

[4]คริสโตเฟอร์  มัวร์ เขียน. วันชัย วัฒนศัพท์, 2542.

[5]วันชัย วัฒนศัพท์,2547,หน้า 14

หมายเลขบันทึก: 565590เขียนเมื่อ 7 เมษายน 2014 20:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 เมษายน 2014 20:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มีประโยชน์มากค่ะ แต่น่าจะทำเป็นบันทึกเพื่อให้ค้นคว้าได้ง่ายในภายหลังนะคะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท