ปัญหาสิทธิมนุษยชนของผู้ลี้ภัย/ผู้หนีภัยความตาย


         ผู้หนีภัยความตาย หมายถึง ผู้หนีภัยที่เกิดกับชีวิต ทั้งภัยโดยตรง และโดยอ้อม

  1. ภัยโดยตรง เช่น ภัยจากการสู้รบ
  2. ภัยความตาย โดยอ้อมแบ่งออกเป็นสองประเภท  คือ ภัยความตายทางกายภาพ ซึ่งเกิดจากการคาดการณ์ได้ว่า ถ้าไม่หนีออกมาจากพื้นที่นั้นจะต้องตาย เช่น เมื่อรู้ข่าวว่ามีกองทหารกำลังจะเข้ามาที่หมู่บ้านและมีข้อมูลว่า หากทหารเข้ามาในหมู่บ้านแล้วจะเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนจนถึงขั้นเสียชีวิต ได้  จึง หนีออกมาก่อนที่ทหารจะมาถึง หรือ กรณีการหนีจากการบังคับเกณฑ์แรงงาน ซึ่งอันที่จริง การเกณฑ์แรงงานไม่ได้เป็นภัยความตายโดยตรง คือ ถ้าถูกยอมให้เกณฑ์แรงงานไปเรื่อย ๆ ก็อาจจะไม่ถูกฆ่าตาย แต่ถ้าหากปฏิเสธไม่ยอมทำงาน ก็มีความเสี่ยงที่จะตายได้ หรือ หากถูกบังคับให้ทำงานแล้วหลบหนีออกมาก็มีข้อมูลว่าคนเหล่านี้จะถูกฆ่าตายได้ เช่นเดียวกับกรณีการถูกบังคับเก็บภาษี หรือการข่มขืน ถ้าหากไม่ปฏิบัติตามก็มีความเสี่ยงที่จะตายได้ นี่เป็นตัวอย่างของภัยความตายทางกายภาพที่เห็นได้ชัด ภัยความตายอีกประเภทหนึ่งคือภัยความตายทางจิตใจ เช่น การข่มขืน เป็นต้น[1]

         ผู้ลี้ภัย[2] หมายถึง บุคคลที่จำเป็นต้องทิ้งประเทศบ้านเกิดของตนเอง เนื่องจากความหวาดกลัวการถูกประหัตประหาร หรือได้รับการคุกคามต่อชีวิต เพื่อหนีภัยจากความตาย หรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงจากรัฐบาลของประเทศของตน

         อนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยพ.ศ. 2494 ให้คำนิยามและความหมายของสถานภาพผู้ลี้ภัยว่าผู้ลี้ภัย หมายถึง  กลุ่มบุคคลที่อยู่นอกอาณาเขตรัฐแห่งสัญชาติของตน อันจะกล่าวได้ว่าจะได้รับการประหัตประหารหรือได้รับการคุกคามต่อชีวิต

         สาเหตุการหวาดกลัวของผู้ลี้ภัยข้อหนึ่งข้อใดต่อไปนี้ เช่น เชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติ สมาชิกภาพในกลุ่มทางสังคมซึ่งเกิดจากการที่ในประเทศหนึ่งมีคามหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนาและสัญชาติของประชาชนในประเทศ ซึ่งต่อมาอาจเกิความขัดแย้งเพื่อไม่ให้เกิดการถูกกลืน หรือสมาชิกภาพในกลุ่มความคิดทางการเมือง จะเห็นว่าการกระทำดังกล่าว เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) [3]ตาม ข้อ2 ซึ่งรับรองสิทธิและอิสรภาพทั้งปวง โดยปราศจากการแบ่งแยกไม่ว่าชนิดใด อาทิ เชื้อชาติ ผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมืองหรือทางอื่น และละเมิด ข้อ 3 สิทธิในความมั่นคงในชีวิตของผู้ลี้ภัย

         และในขณะเดียวกันบุคคลผู้นี้ไม่สามารถหรือไม่สมัครใจ ที่จะรับความคุ้มครองจากรัฐแห่งสัญชาติเนื่องจากความหวาดกลัวดังกล่าว  หรือนอกจากนี้เป็นบุคคลไร้สัญชาติซึ่งอยู่นอกอาณาเขตรัฐ ที่เดิมมีถิ่นฐานพำนักประจำแต่ไม่สมัครใจที่จะกลับไปพำนักในรัฐดังกล่าว ด้วยเหตุแห่งความหวาดกลัวดังกล่าวข้างต้น

         ผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่สูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างรวมไปถึงชีวิตความเป็นอยู่ บ้านเรือน และแม้แต่ครอบครัว ผู้ลี้ภัย แตกต่างจากแรงงานต่างด้าวเพราะแรงงานต่างด้าวเดินทางออกนอกประเทศของตนโดยสมัครใจเพื่อหาโอกาสทางเศรษฐกิจ ในขณะที่ ผู้ลี้ภัยไม่อาจพึ่งพาความคุ้มครองจากรัฐบาลของตนเอง พวกเขาถูกบังคับให้หนีจากประเทศของตนเอง จึงจำเป็นที่ประชาคมนานาชาติต้องให้ความช่วยเหลือ และให้ความคุ้มครองผู้ลี้ภัยเหล่านั้น[4]

         ศูนย์พักพิงชั่วคราว คือ อาคารสิ่งก่อสร้างที่มีอยู่เดิมที่ถูกนำมาใช้เป็นที่พักอาศัยชั่วคราวสำหรับชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งหรือภัยพิบัติทางธรรมชาติ คำจำกัดความนี้รวมถึงอาคารทุกประเภท ทุกขนาดและทุกรูปแบบของการถือ ครองกรรมสิทธิ์ หลักสำคัญของคำาจำากัดความนี้ก็คือ เป็นอาคาร“ที่มีอยู่เดิม” เนื่องจากศูนย์พักพิงชั่วคราว ส่วนมากควรต้องก่อสร้างไว้ก่อนที่จะมีการอพยพโยกย้ายที่อยู่อาศัยเกิดขึ้น ในบางกรณี อาจมีการสร้างศูนย์พักพิงขึ้นโดยเฉพาะเพื่อรองรับกลุ่มคนผู้อพยพโยกย้ายที่อยู่อาศัย                                                                            

         โดยหลักการแล้ว ศูนย์พักพิงชั่วคราวรองรับผู้ที่มีความจำเป็นต้องโยกย้ายที่อยู่ อาศัยทั้งภายในและนอกประเทศ เนื่องจากภัยธรรมชาติหรือปัญหาความขัดแย้ง แต่มีหลายครั้งที่ชุมชนที่อาศัยอยู่โดยรอบศูนย์ย้ายเข้าไปอาศัยอยู่ในศูนย์โดยไม่มีความจำเป็นต้องย้ายที่อยู่อาศัย หรือด้วยสาเหตุอื่น  โดยทั่วไปศูนย์พักพิงชั่วคราวแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ขึ้นอยู่กับลักษณะการเริ่มเข้าพักพิง หรือการเข้าครอบครองศูนย์

         - ศูนย์พักพิงชั่วคราวในระบบ คือ ศูนย์พักพิงที่หน่วยงานที่มีอำานาจหน้าที่ความผิดชอบ (เช่น ภาครัฐ) ได้จัดหาอาคารแห่งใดแห่งหนึ่งไว้รองรับผู้ที่จำเป็นต้องโยกย้ายที่อยู่อาศัย และมีการจัดเตรียมสถานที่ไว้สำาหรับเป็นที่อยู่อาศัยชั่วคราว ศูนย์พักพิงประเภทนี้รวมถึง สถานพักพิงที่ได้รับออกแบบขึ้นเพื่อการนี้โดยเฉพาะ เช่น สถานพักพิงจากพายุ แผ่นดินไหว และน้ำท่วม

         - ศูนย์พักพิงชั่วคราวนอกระบบ คือ ศูนย์ที่ผู้อพยพโยกย้ายที่อยู่อาศัย ได้ ริเริ่มก่อตั้งขึ้นมาด้วยตนเอง โดยไม่ได้รับอนุญาตหรือติดต่อประสานงานอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานภาครัฐ [5]

         จากกรณีศึกษาในประเทศซีเรีย ที่มีเหตุการณ์สงครามกลางเมืองจากวิกฤตการณ์ทางการเมือง จากรัฐบาลทหารจนมีความรุนแรงมากขึ้นและนำไปสู่ สงครามระหว่างประเทศเมื่อมีประเทศอื่นๆได้เข้าช่วยเหลือฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายประชาชน และ UN ก็ไม่สามารถเข้าช่วยระงับเหตุการณ์ได้เพราะประเทศรัสเซียผู้มีสิทธิ ได้ใช้สิทธิ  Veto

         เมื่อเกิดเหตุรุนแรงมากขึ้น ประชาชนในประเทศจึงไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ในประเทศบ้านเกิดได้ เพราะเหตุทางการเมือง และถูกรัฐบาลของประเทศละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยใช้กำลัง และใช้อาวุธทำร้ายร่างกายประชาชนในประเทศตน ประชนจึงต้องหนีภัยในประเทศเข้าไปในประเทศโดยรอบที่มีชายแดนประเทศติดต่อกัน และประชาชนดังกล่าวจึงถือเป็นผู้ลี้ภัย ตามความหมายของอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 

         เนื่องจากผู้ลี้ภัย ก็เป็นมนุษย์ซึ่งมีสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกันกับบุคคลคนอื่นๆซึ่งได้รับการคุ้มครองโดยรัฐในฐานะที่เป็นพลเมือง เพราะผู้ภัยย่อมต้องได้รับการคุ้มครองตามหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นสิทธิเกิดขึ้นจากความเป็นมนุษย์ โดยประเทศที่เข้าเป็นสมาชิกในอนุสัญญาจะมีหน้าที่ต่อผ็ลี้ภัยตามที่อนุสัญญารับรองสิทธิให้ดังต่อไปนี้

         สิทธิของผู้ลี้ภัยตามกฎหมายระหว่างประเทศ สิทธิหลักในการคุ้มครองผู้ลี้ภัย ตามที่ระบุในอนุสัญญา ว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ.1951[6] เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ดังปรากฏในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.1948 ได้แก่

- สิทธิที่จะมีชีวิต เสรีภาพ และความปลอดภัย

- สิทธิในการแสวงหาและพักพิง

- ได้รับการรับรองสถานภาพบุคคลตามกฎหมาย

- อิสรภาพจากการถูกจับกุมและคุมขังโดยพลการ  

- สิทธิที่จะได้รับการศึกษา

- สิทธิที่จะเข้าร่วมในกิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจของชุมชน

         ท่าทีของประเทศไทยต่อผู้ลี้ภัยเห็นได้จากการที่ หลายประเทศทั่วโลกมักยึดแนวทางปฏิบัติต่อปัญหาผู้ลี้ภัยตามอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 และพิธีสารที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบันมี 144 ประเทศเข้าเป็นภาคีของอนุสัญญาฉบับนี้ แม้ว่าบางประเทศจะมิได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญาดังกล่าว แต่ส่วนใหญ่ก็ยึดถือหลักปฏิบัติของกฎหมายระหว่างประเทศที่ใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะหลักการเรื่อง “non - refoulement” (หลักการห้ามผลักดันกลับ) ที่ปรากฏในมาตรา 33 ของอนุสัญญาฯ ที่ระบุว่า “ประเทศภาคีจะไม่ผลักดันหรือส่งกลับผู้ลี้ภัยไปยังพื้นที่ซึ่งจะเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตและเสรีภาพของผู้ลี้ภัยในด้านเผ่าพันธุ์ ศาสนา ความเป็นพลเมือง การเป็นสมาชิกของกลุ่มทางสังคม หรือการแสดงความเห็นทางการเมือง” แต่ประเทศไทย นอกจากมิได้เป็นภาคีของอนุสัญญาฯ แล้ว ยังมีการดำเนินการที่ขัดกับหลักการห้ามผลักดันกลับในหลายโอกาส เช่น การผลักดันผู้แสวงหาการลี้ภัยชาวโรฮิงญาออกนอกน่านน้ำ ซึ่งนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงโดยประชาคมระหว่างประเทศ  [7]

         แต่ประเทศไทยก็มีค่ายพักพิงชั่วคราวในประเทศอยู่หลายแห่ง เช่น ตาก เพื่อเป็นที่พักอาศัยชั่วคราวสำหรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งหรือภัยพิบัติทางธรรมชาติ ผู้พักพิงจึงมีสถานะใกล้เคียงกับ ผู้ลี้ภัย คือหนี้ภัยความตายจากประเทศของตน แต่ต่างกันที่ ผู้ลี้ภัยที่อยู่ในประเทศที่เป็นสมาชิกของอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยปี พ.ศ. 2494  จะได้รับการคุ้มครองสิทธิจากกฎหมายภายในประเทศที่มีหน้าที่รับเอาอนุสัญญามาบัญญัติเป็นกฎหมายภายใน 

         ปัญหาสิทธิมนุษยชนของผู้ลี้ภัยคือ ในประเทศที่มิได้เป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยปี 1951 เช่นประเทศไทยมิได้มีหน้าที่ออกกฎหมายคุ้มครองผู้ลี้ภัยโดยตรง ทำให้กฎหมายหลักที่ไทยใช้บังคับได้แก่ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522  ซึ่งอาจเกิดปัญหาเพราะ สถานะของคนเข้าเมืองต่างกับผู้ลี้ภัยเพราะ คนเข้าเมืองนั้นออกจากประเทศเพราะเหตุเศรษฐกิจ และด้วยความเต็มใจในการออกจากประเทศ แต่ผู้ลี้ภัยต้องออกจากประเทศด้วยความไม่เต็มใจ และเป็นเหตุผลจากการหลบหนีภัย ดังนั้นการบังคบใช้กฎหมายเดียวกัน กับบุคคลที่มีสถานะต่างกันอาจเกิดปัญหาได้

         เมื่อประเทศที่มิได้เป็นสมาชิกในอนุสัญญาจึงไม่มีหน้าที่ต่อผู้พักพิง เพียงแต่มีเอกสารรับรองสถานผู้พักพิง ซึ่งหากพ้นค่ายผู้พักพิง ไม่มีเอกสารแสดงตนเหมือนคนในประเทศ จึงไม่มีสิทธิได้การรับรองสถานภาพบุคคล อย่างผู้ลี้ภัย ซึ่งเป็นการละเมิด มาตราที่ 27 อนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยปี พ.ศ. 2494  แม้มีสิทธิในที่อยู่อาศัยหรือได้มีที่พักพิงตามมาตรา 21ของอนุสัญญา แต่เมื่อไม่มีเอกสารแสดงตน ก็ทำให้ไม่สามารถใช้สิทธิขั้นพื้นฐานได้ เช่น สิทธิการรักษาพยาบาลในการได้รับบรรเทาทุกข์สาธารณะ ใน มาตรา 23 ในอนุสัญญา และ ไม่มีสิทธิในการศึกษาของเด็กที่เป็นผู้พักพิง ตามมาตรา 22 และส่งผลถึงการไม่สามารถประกอบอาชีพเพื่อยังชีพได้ ตามมาตรา17  ซึ่งสิทธิดังล่าวล้วนแต่เป็นสิทธิมนุษยชน ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) เช่น สิทธิที่จะไม่ถูกแทรกแซงในการอยู่อาศัย ข้อ12  หรือ สิทธิในการทำงาน ตามข้อ 23 หรือแม้แต่ สิทธิในมาตรฐานการครองชีพอันเพียงพอสำหรับสุขภาพและความอยู่ดี ตามข้อ 25 สิทธิในการศึกษาตามข้อ 26

         และเนื่องจากศูนย์พักพิงมีลักษณะของความเป็นชั่วคราว จึงเกิดปัญหาว่า ผู้พักพิงควรอยู่ได้นานเท่าไหร่ ซึ่งกรณีนี้ข้าพเห็นว่าหากให้ผู้พักพิงอยู่ต่อไปเป็นเวลานาน โดยไร้สิทธิต่างๆ แล้ว จะเกิดแต่ปัญหาคือ ถูกละเมิดสิทธิ และไม่สามารถย้ายถิ่นที่อยู่ได้เพราะ ไม่มีเอกสารแสดงสิทธิ อีกทั้งการให้ที่พักพิงก็ต้องอาศัยค่าใช้จ่ายมาก หรือหากต่อมาผู้พักพิงมีจำนวนมากขึ้นอาจเกิดการไม่สามารถดูแลได้อย่างถ้วนหน้าเกิดการ ไม่มีอาหารหรือที่พักเพียงพอแกผู้พักพิง และจะเกิดปัญหาต่อมาเมื่อ ต้องการยุบค่ายพักพิง หรือขับไล่ผู้ลี้ภัยจะเป็นการขัดต่ออนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยปี พ.ศ. 2494 มาตรา 32 แม้ไทยมิใช่สมาชิกในอนุสัญญาจึงไม่มีผลจากอนุสัญญาดังกล่าว แต่การขับไล่บุคคลไม่ให้อยู่อาศัย ก็เป็นการขัดต่อสิทธิมนุษยชน เพราะสิทธิในที่อยู่อาศัยเป็นสิทธิมนุษยชนที่ต้องได้รับความคุ้มครอง

         ดังนั้นเมื่อประเทศไทยเป็นประเทศที่รับผู้พักพิง (Local Integration) แล้ว อาจแก้ไขโดยการสอบถามความสมัครใจของผู้พักพิงหากเต็มใจกลับประเทศก็ส่งกลับ แต่ถ้ามีผู้พักพิงที่ไม่เต็มใจกลับประเทศเกิด ก็อาจรับเป็นประเทศที่3  (Third-Country Resettlement) ในการให้ผู้ลี้ภัยอาศัยในประเทศ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศในด้านแรงงาน และเพื่อเพิ่มประชากรบางส่วนที่มีคุณภาพให้มาพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้า และทำให้ผู่พักพิงได้รับสถานภาพเหมือนประชาชนในประเทศ ส่งผลให้ไม่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้พักพิง

         หรืออาจแก้ไขได้โดยการเข้าเป็นสมาชิกของ อนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยปี พ.ศ. 2494  ซึ่งเมื่อเป็นสมาชิกแล้ว ผู้พักพิงจะได้มีสถานภาพอย่างผู้ลี้ภัย ได้รับรองสิทธิขั้นพื้นฐานที่ระบุในอนุสัญญา ตามกฎหมายภายในประเทศ ทำให้ลดภาระในการดูและผู้พักพิงเพราะผู้พักพิงจะได้สามารถทำงานในประเทศและ นำเงินมาเลี้ยงดูตนเองได้ 

 เขียน: 7 เม.ย. 2014

[1] สาละวินโพสต์. บทสัมภาษณ์ “สิทธิของผู้หนีภัยความตาย”จากมุมมองนักวิชาการด้านสิทธิ

.(ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://salweennews.org/home/?p=986. 4 เมษายน 2557.

[2] อนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494.(ออนไลน์). แหล่งที่มา : https://www.unhcr.or.th/sites/default/files/Refugee%20Convention%201951%20(Thai).pdf. 4 เมษายน 2557. 

[3] กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ. ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights).(ออนไลน์). แหล่งที่มา :http://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/book.pdf. 4 เมษายน 2557.

[4] UNHCR: The UN Refugee Agency (Thailand). ผู้ลี้ภัยคือใคร. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : https://www.unhcr.or.th/th/refugee/about_refugee. 4 เมษายน 2557.

[5] แนวทางการบริหารจัดการศูนย์พักพิงชั่วคราว กลุ่มประสานงานและจัดการที่อยู่อาศัยชั่วคราว (CCCM Cluster) . (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://www.disaster.go.th/dpm/users/files/research/collective_centre_guideline_th.pdf. 4 เมษายน 2557.

[6]อนุสัญญา ว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ.1951 . (ออนไลน์). แหล่งที่มา : https://www.unhcr.or.th/sites/default/files/Refugee%20Convention%201951%20(Thai).pdf.4 เมษายน 2557.

[7] สักกรินทร์ นิยมศิลป. สถานการณ์และท่าทีของรัฐแรกรับ ต่อปัญหาผู้ลี้ภัยแบบยืดเยื้อในภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้: ความยืดหยุ่นคือหนทางออก. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://www2.ipsr.mahidol.ac.th/ConferenceVIII/Download/Article_Files/3-PolicyStances-Sakkarin.pdf. 4 เมษายน 2557. 

หมายเลขบันทึก: 565583เขียนเมื่อ 7 เมษายน 2014 19:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม 2014 17:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ปัญหาที่เกิดขึ้นในกรณีนี้ มนุษย์นั่นแหละที่เป็นตัวสร้าง...เพราะมนุษย์ไม่รู้จักใช้กาละเทศะในเรื่องเวลาต่อการผสมพันธู์

ส่วนการบิหารและการจัดการนั้นกระผมว่าอยู่ที่ปลายเหตุครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท