ปัญหาสิทธิมนุษยชนของผู้ลี้ภัย หรือ ผู้หนีภัยความตาย


     เมื่อมีการกล่าวถึง “สิทธิมนุษยชน”เรื่องหรือประเด็นสำคัญที่มีความเชื่อมโยงกันอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ คือ ประเด็นในเรื่อง “ผู้ลี้ภัย หรือ ผู้หนีภัยความตาย” ซึ่งสองคำนี้แม้โดยผิวเผิน อาจฟังดูเหมือนเป็นคำที่มีความหมายเดียวกัน แต่แท้จริงนั้นมีความแตกต่างกันอยู่

     ผู้หนีภัยความตาย หมายถึง ผู้หนีภัยที่เกิดกับชีวิต ทั้งภัยโดยตรง และโดยอ้อม

1. ภัยโดยตรง เช่น ภัยจากการสู้รบ

2. ภัยโดยอ้อม แบ่งออกเป็นสองประเภท  คือ

   2.1ภัยความตายทางกายภาพซึ่งเกิดจากการคาดการณ์ได้ว่า ถ้าไม่หนีออกมาจากพื้นที่นั้นจะต้องตาย เช่น เมื่อรู้ข่าวว่ามีกองทหารกำลังจะเข้ามาที่หมู่บ้านและมีข้อมูลว่า หากทหารเข้ามาในหมู่บ้านแล้วจะเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนจนถึงขั้นเสียชีวิต ได้  จึง หนีออกมาก่อนที่ทหารจะมาถึง และ         

   2.2ภัยความตายทางจิตใจ เช่น การข่มขืน เป็นต้น

     ส่วน ผู้ลี้ภัย หมายถึง บุคคลที่อยู่นอกประเทศถิ่นกำเนิดของตน เนื่องจากมีความหวาดกลัวที่มีมูลว่าจะถูกประหัตประหาร ด้วยสาเหตุทางเชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติ สมาชิกในกลุ่มสังคมเฉพาะ หรือความเห็นทางการเมือง และไม่สามารถหรือไม่เต็มใจที่จะได้รับประโยชน์จากความคุ้มครองของประเทศนั้น หรือกลับคืนไปที่นั่น เพราะกลัวการประหัตประหาร

     นอกจากนี้ ยังมี ผู้อพยพ ซึ่งอาจทำให้ผู้อ่านหรือผู้ฟังหลายคน เกิดความสับสน ว่ามีความหมายเช่นไร ใช่ผู้ลี้ภัยหรือผู้หนีภัยความตายหรือไม่ ซึ่งคำตอบก็คือไม่เหมือน เพราะ ผู้อพยพ ในความเข้าใจของข้าพเจ้านั้น เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ลี้ภัยหรือผู้หนีภัยความตายแล้ว ผู้อพยพ เป็นผู้ที่สามารถเลือกได้ ว่าตนต้องการจะย้ายถิ่นที่อยู่ไปยังประเทศใหม่ หรือจะอยู่ ณ ประเทศเดิมของตน กล่าวคือ มิได้เกิดเหตุการณ์อันตรายใด อันจะนำไปสู่การสูญเสียทางชีวิต ร่างกาย เพียงแต่พวกเขาต้องการ อพยพ หรือ ย้ายถิ่นที่อยู่ เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หรือ เพื่อเหตุผลส่วนตัวอื่นๆ

     เมื่อลองศึกษาดูจาก กรณีของประเทศซีเรีย อันเป็นประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน และ ผู้หนีภัยการตายที่สำคัญและน่าสนใจอยู่ในขณะนี้ โดยมีผู้ลี้ภัยออกนอกประเทศดังกล่าวเป็นจำนวนมากที่สุดที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ อันเนื่องมาจากภัยของสงครามกลางเมือง ระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายต่อต้านรัฐบาล กล่าวคือ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2554 กลุ่มประชาชนชาวซีเรียนับหมื่นที่ไม่พอใจรัฐบาลพรรคบะอัษ (Ba'ath) ของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาด ได้ประท้วงเดินขบวนเรียกร้องให้พรรคบะอัษยุติการปกครองประเทศ และประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาด ต้องลาออกจากตำแหน่ง ด้วยเหตุผลที่ว่าคนในตระกูลอัล อัสซาด ผูกขาดอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในตำแหน่งประธานาธิบดีมานานกว่า 4 ทศวรรษ การประท้วงรุนแรงและยืดเยื้อมากขึ้น จนรัฐบาลซีเรียใช้มาตรารุนแรง เด็ดขาด ทำร้าย และคร่าชีวิตกลุ่มผู้ต่อต้าน อีกทั้งประชาชนอีกมากมาย กลับกัน กลุ่มผู้ต่อต้านก็ยังคงยึดมั่นที่จะทำการต่อต้านต่อไป เกิดการตอบโต้ โดยใช้ความรุนแรงเช่นเดียวกัน สร้างความตื่นตกใจและเศร้าสลดให้กับผู้คนทั่วโลกอย่างยิ่ง เหตุการณ์ดังกล่าวยังคงดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ชีวิตผู้คนในประเทศซีเรียถูกพรากไป สิทธิมนุษยชนดูเหมือนจะไม่ปรากฎหรือหลงเหลืออยู่ในประเทศซีเรียอีกแล้ว ผู้คนนับแสนนับล้านจึงตัดสินใจลี้ภัยออกจากประเทศ เพื่อความปลอดภัยทางด้านชีวิต 

     ผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย ได้รับการช่วยเหลือจากประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ เช่น เบลเยียม เยอรมันนี อิติลี ฝรั่งเศล และเลบานอน เป็นต้น ทั้งนี้ แม้การที่ประเทศเพื่อนบ้านเหล่านั้นจะได้ให้ความช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันในยามที่ทุกข์ยาก อันเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมและยกย่อง เป็นการคุ้มครองและเคารพถึงสิทธิมนุษยชนของผู้อื่น แต่ผลกระทบที่ตามมาต่อประเทศเหล่านั้น ซึ่งนับวันจะมีผู้ลี้ภัยเป็นจำนวนมากขึ้น และไม่อาจคาดเดาได้เลยว่าจำนวนผู้ลี้ภัยจะคงที่หรือลดลงเมื่อใด เพราะเหตุการณ์ทางการเมืองในประเทศซีเรียนั้นยังคงดำเนินต่อเรื่อยๆไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุด ส่งผลให้ การให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมต่อผู้ลี้ภัยมีไม่มากพอ และสำหรับประเทศเล็กๆ แร้นแค้น และยังคงต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากภายนอกอย่างเลบานอน จึงเป็นเสมือนการซ้ำเติมชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนชาวเลบานอนยิ่งขึ้นไปอีก เนื่องด้วยทรัพยากรในการดำรงชีพร่อยหรอลงทุกวัน จนทำให้ไม่สามารถแบกรับภาระจากผู้ลี้ภัยได้ ดังนั้น ในกรณีดังกล่าว สำหรับข้าพเจ้า จึงเป็นเรื่องที่ต้องมีการแก้ใข และได้รับความช่วยเหลือจากประเทศที่มีความพร้อมต่อไป ซึ่งสิ่งที่ประเทศเหล่านั้นสามารถร่วมกันช่วยเหลือได้ คือการแบ่งเบาภาระจากประเทศเลบานอน เปิดพื้นที่ให้ชาวซีเรียสามารถเข้าไปลี้ภัย กระจายการรวมตัวอยู่ที่ประเทศหนึ่งประเทศใด ซึ่งจะทำให้เกิดความยากลำบากในการจัดสรรทรัพยากร อีกทั้งสาธารณูปโภคให้กับทั้งประชาชนเจ้าของประเทศ และผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย

     สำหรับในประเทศไทยนั้น แม้ไทยจะไม่ได้เป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสถานะภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ. 1951 และไม่มีกฎหมายหรือนโยบายในการจัดการเฉพาะสำหรับผู้ลี้ภัย แต่ไทยจะผลักดันให้ผู้หนีภัยจากการสู้รบออกจากประเทศในทันทีไม่ได้ เพราะตามหลักสิทธิมนุษยชน มนุษย์ย่อมมี "สิทธิการมีชีวิต" การลี้ภัยเป็นไปตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน หรือ UDHR ข้อ 3 ที่ระบุว่า  

"บุคคลมีสิทธิในการดำรงชีวิต ในเสรีธรรมและในความมั่นคงแห่งร่างกาย (Everyone has the right to life, liberty and security of person)"

และเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2539 รัฐบาลไทยยอมรับที่จะผูกพันตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ.1966 หรือ ICCPR ซึ่งข้อ 6 (1) แห่งกติกาฯ นี้ก็กำหนดในลักษณะเดียวกันว่า

"มนุษย์ทุกคนย่อมมีสิทธิโดยธรรมชาติในการดำรงชีวิต สิทธินี้ย่อมได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ไม่มีบุคคลใดสามารถล่วงชีวิตของใครได้ (Everyone human being has the inherentright to life. This right shall be protected by law. No one shall arbitrarily deprivedof his life.)"  

     ดังนั้นการผลักดันคนหนีภัยความตายออกไปสู่ความตายจึงมิอาจทำได้ เนื่องจากจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และนำไปสู่การละเมิดสนธิสัญญาทั้ง 2 ฉบับข้างต้น ซึ่งจะทำให้ความน่าเชื่อถือในด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยนั้นลดลงไปอย่างมากแต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้เป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสถานะภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ. 1951 และไม่มีกฎหมายหรือนโยบายในการจัดการเฉพาะสำหรับผู้ลี้ภัย แต่เป็นการใช้ ประสบการณ์ในการให้ที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัยหลายล้านคนมานานหลายทศวรรษ จึงทำให้นโยบายที่ไม่มีลักษณะเฉพาะและมิได้ตั้งอยู่บนกฎหมายนั้น ส่งผลไปสู่การปฏิบัติตามอำเภอใจ และเป็นการละเมิดสิทธิ์ ทำให้ผู้ลี้ภัยทุกสัญชาติถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกคุมขังโดยปราศจากความจำเป็น และถูกเนรเทศ ผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่นอกค่าย เช่นคนพม่า จะถูกจับกุม และถูกเนรเทศทันที นอกเสียจากพวกเขาจะแสดงตัวว่าเป็นแรงงานต่างด้าว ไม่ใช่ผู้ลี้ภัย และต้องเข้าสู่กระบวนการที่มีค่าใช้จ่ายสูง ยุ่งยาก และมักจะมีการทุจริตเพื่อให้ได้สถานะแรงงานต่างด้าว

     นายพงษ์เทพ ยังสมชีพ นักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชน ได้เคยเสนอร่างยุทธศาสตร์ผู้หนีภัยความตาย ไว้เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2548 โดยเสนอเกี่ยวกับ การแสวงหาการแก้ไขปัญหาที่ถาวรสำหรับผู้หนีภัยความตายในประเทศไทยว่า สามารถกำหนดกรอบของแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด 4 ลักษณะ ดังนี้  

1)เดินทางกลับสู่ประเทศมาตุภูมิโดยสมัครใจ เมื่อสถานการณ์ที่เป็นภัยความตายหมดไป

2)การผสมผสานกลมกลืนสำหรับคนต่างด้าวในประเทศไทย ซึ่งอาจได้รับอนุญาตให้เป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองถาวรในประเทศไทย หรือการแปลงสัญชาติเป็นคนสัญชาติไทยแล้วแต่กรณีตามความเหมาะสม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระดับความผสมกลมกลืนในประเทศไทย จุดเกาะเกี่ยวกับประเทศไทยและปัจจัยทางด้านความมั่นคงแห่งรัฐอื่นๆ

3)การได้รับการยอมรับจากประเทศมาตุภูมิของผู้หนีภัยความตาย ให้เป็นประชาชนที่อยู่ต่างประเทศเพื่อการทำงานหรือจุดประสงค์อื่นๆ ทั้งนี้ให้เป็นไปตามข้อตกลงระหว่างประเทศไทยกับประเทศนั้น ถ้าหากไม่มีข้อตกลงเช่นที่กล่าวมาให้ใช้เป็นกรณีคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยได้รับการอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทยตามกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสมและไม่บังคับให้เดินทางกลับสู่ประเทศมาตุภูมิของผู้หนีภัยความตาย

4)การเดินทางไปตั้งรกรากใหม่ในประเทศที่สาม สำหรับผู้หนีภัยความตายที่มีความประสงค์จะไปตั้งรกรากใหม่ในประเทศที่สาม และมีประเทศยอมรับให้ผู้หนีภัยความตายที่ไม่มีจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศไทย

     สำหรับมาตรการทั้ง 4 ข้อที่คุณพงษ์เทพได้เคยเสนอไว้นั้น ได้มีผู้เห็นว่ามีประโยชน์ต่อผู้ที่ตกอยู่ในสถานะผู้หนีภัยความตายเป็นอย่างมาก ดังนี้

1. ทำให้ผู้หนีภัยความตายสามารถมั่นใจได้ว่าจะพ้นภยันตรายที่ตนต้องหนีออกมา

2. ทำให้มีโอกาสที่จะเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ห่างไกลจากภัยสงคราม ซึ่งจะสามารถนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของครอบครัวผู้หนีภัยความตายหรือผู้หนีภัยเองได้และยังอาจเป็นผลดีในอนาคตถึงการสร้างทรัพยากรบุคคลที่มีประโยชน์ต่อประเทศชาติในภายภาคหน้าได้อีกด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม

1. ในกรณีที่ แม้รัฐไทยยอมรับที่จะให้ที่พักพิงแก่ผู้หนีภัยความตายเสมอ และมิได้ส่งคนหนีภัยความตายส่วนใหญ่ออกนอกประเทศไทย ทั้งที่คนเหล่านั้นจะเข้าเมืองมาอย่างผิดกฎหมาย แต่ในอีกด้านหนึ่ง รัฐไทยก็ไม่ยอมรับที่จะผูกพันตามกฎหมายที่จะให้สิทธิเข้าเมืองและสิทธิอาศัยอย่างถูกต้องตามกฎหมายเข้าเมืองแก่คนหนีภัยความตายเหล่านั้น และด้วยท่าทีที่ดูเหมือนจะสับสนนี้เองที่ทำให้การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของคนหนีภัยความตายในประเทศไทยเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร กล่าวคือไม่เป็นไปตามหลักสากล ทำให้ผู้หนีภัยความตายตกอยู่ในสถานะที่ยากลำบาก อาจจะนำไปสู่ปัญหาการเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติในเวลาต่อมาได้

 2. ตามข้อสาม การที่ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสภาพทางการเมืองภายในของประเทศที่เป็นมาตุภูมิของผู้หนีภัยความตายว่าจะดำเนินไปในทิศทางใด ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากยิ่งที่จะคาดเดา เนื่องจากสภาพทางการเมืองนั้นสามารถผันแปรได้ตลอดเวลา ทำให้เป็นไปได้ว่าประเทศมาตุภูมิจะไม่ให้การยอมรับผู้หนีภัยความตายเหล่านั้น และส่วนในเรื่องที่แม้ว่าถ้าไม่มีข้อตกลงกันไว้ ก็จะให้ใช้เป็นกรณีคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยได้รับการอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทยตามกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสมและไม่บังคับให้เดินทางกลับสู่ประเทศมาตุภูมิของผู้หนีภัยความตาย ก็ยังเป็นเรื่องยากอีกเช่นกัน เพราะคำว่า "ระยะเวลาที่เหมาะสม"นั้น เป็นคำที่มีลักษณะนามธรรม เป็นการกำหนดกรอบเวลาโดยกว้างเท่านั้น และทุกอย่างขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐในประเทศไทยด้วยว่า "ระยะเวลาที่เหมาะสม"นั้นคือระยะเวลานานเท่าใด ซึ่งในแต่ละกรณี มีความเป็นไปได้มากที่ ระยะเวลา จะไม่เท่ากัน ซึ่งอาจจะนำไปสู่การได้รับการปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่ของรัฐได้อีก



 3. นอกจากนี้ ความช่วยเหลือที่ประเทศไทยได้ให้กับบุคคลที่หลบหนีภัยความตายเข้ามาในประเทศไทยนั้น เป็นไปตามนโยบายในแต่ละยุคสมัยของฝ่ายบริหาร และประเทศไทยไม่ได้มีการบัญญัติกฎหมายเฉพาะสำหรับการบริหารจัดการ รวมถึงการแสวงหาทางแก้ไขปัญหาที่ถาวรสำหรับผู้หนีภัยความตายในประเทศไทย จึงปรากฏว่ามีกลุ่มบุคคลที่หนีภัยความตายจากประเทศเพื่อนบ้านกระจัดกระจายอยู่ในประเทศไทยโดยขาดกระบวนการจัดการที่เป็นระบบ โปร่งใส และมีประสิทธิภาพ

ดังนั้น เพื่อจัดการกับปัญหาดังกล่าว จึงได้มีการเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาเหล่านั้นไว้ ดังต่อไปนี้

1. ควรมีการกำหนดแผนนโยบายยุทธศาสตร์ผู้หนีภัยความตาย เพื่อนำไปสู้การป้องกันผู้หนีภัยความตายมิให้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน อันจะเป็นการตอกย้ำหรือซ้ำเติมปัญหาที่พวกเขาเหล่านั้นได้เผชิญอยู่แล้ว นอกจากนี้ การกำหนดแผนนโยบายยุทธศาสตร์ผู้หนีภัยความตายให้มีความชัดเจน แยกออกจากผู้หลบหนีเข้าเมือง จะเป็นการป้องกันปัญหาความไม่มั่นคง อันเกิดจากการขาดนโยบายที่ชัดเจน สำหรับการแก้ไขปัญหาผู้หนีภัยความตายในประเทศไทย โดยยึดหลักความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งหากคนที่อยู่ในประเทศไทยทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ประเทศย่อมมีภูมิคุ้มกันปัญหาความไม่มั่นคงต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

 2. สังคมควรมีการตระหนักถึงคุณค่า และหลักการเคารพสิทธมนุษยชนในประเทศไทย รวมทั้งตระหนักในความสำคัญของการมีน้ำหนึ่งใจเดียวกันของทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย อันจะนำไปสู่การเกิดความมั่นคงทางมนุษย์ขึ้น โดยลดการแบ่งแยกระหว่างชาติพันธุ์ และสถานะบุคคลทางกฎหมาย

 3. ปัจจุบัน โครงสร้างทางการบริหารจัดการ สำหรับผู้หนีภัยการตายนั้น ได้ดำเนินการโดยศูนย์ปฏิบัติการผู้พลัดถิ่น กระทรวงมหาไทย ซึ่งสามารถนำมาปรับปรุง และประยุกต์เพิ่มเติม เพื่อกำหนดกรอบการปฏิบัติงานที่ชัดเจน มีกฎหมายรับรอง และควบคุมนโยบายจากสำนักสภาความมั่นคงแห่งชาติ

 4. ประเทศไทยควรจะให้โอกาสที่เป็นธรรมแก่ผู้ขอลี้ภัยทุกคนให้สามารถขอลี้ภัย และควรจะอนุญาตให้ผู้ลี้ภัยสามารถเคลื่อนย้ายไปยังที่ต่างๆ และสามารถทำงานได้ โดยนโยบายเช่นนี้จะช่วยให้ผู้ลี้ภัยสามารถเรียนรู้ทักษะต่างๆ และลดโอกาสที่จะถูกเอารัดเอาเปรียบ ขณะเดียวกันก็จะเปิดทางให้พวกเขามีส่วนทำประโยชน์ให้กับเศรษฐกิจของไทยด้วย

 

อ้างอิง

- (http://www.manager.co.th/around/ViewNews.aspx?NewsID=9570000037728) "UN เผยจำนวน ผู้ลี้ภัยซีเรียในเลบานอนทะลุ 1 ล้านคน"

สหประชาชาติเรียกร้องให้ประชาคมโลกช่วยเหลือเลบานอนและผู้ลี้ภัยซีเรียให้มากขึ้น (http://thai.cri.cn/247/2014/04/05/234s219865.htm)

-  สงครามซีเรีย...ย้อนปมความขัดแย้งสู่สมรภูมิเลือด (http://hilight.kapook.com/view/90189)

 

ร่างยุทธศาสตร์ผู้หนีภัยความตายเสนอโดย นายพงษ์เทพ ยังสมชีพ

(http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=126&d_id=126

- ผู้หนีภัยความตาย แนวทางดี แต่วิธีปฏิบัติยังมีปัญหา(http://www.l3nr.org/posts/535713)

- ความแตกต่างระหว่างPOCกับผู้หนีภัยการสู้รบ (http://salweennews.org/home/?p=650)

- บทสัมภาษณ์ : “สิทธิของผู้หนีภัยความตาย”จากมุมมองนักวิชาการด้านสิทธิ(http://salweennews.org/home/?p=986)

หมายเลขบันทึก: 565552เขียนเมื่อ 7 เมษายน 2014 12:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 เมษายน 2014 12:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท