ประยงค์
ร้อยตรี ประยงค์ ธรรมมะธะโร

พุทธประวัติคำกลอน(อนัตตลักขณสูตรฯ)


ประวัติพระพุทธเจ้าที่ต้องทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง

          พุทธประวัติคำกลอนก่อนบันทึกนี้คือ http://www.gotoknow.org/posts/563788
                               
                                    ภาพจากมูลนิธิวีระภุชงค์
 (กาพย์ยานี)

                ต่อมาพุทธ์บอกหลัก                 หักทุกข์ไปไม่ให้หวน
พุทธ์ชี้และเชิญชวน                                  ว่าควรทำตามพระองค์
               จิตของโกณฑัญญะ                   ตามพระพุทธ์จนหยุดหลง
เป็นโสดาฯหนึ่งองค์                                  เกิดสงฆ์แรกแยกออกมา

                              แสดงอนัตตลักขณสูตร
       อีกสี่มิลดละ                                  หลักธรรมะอนัตตา
มีใจความย่อว่า                                      รูปนี้หนาคือร่างกาย
        เวทนาคือเสวย                              อารมณ์เอยมีมากหลาย
สัญญาจำมิวาย                                      สังขารกลายปรุงแต่งจิต
        วิญญาณคือความรู้                          ชั่ว, ดีอยู่คู่แนบชิด
เหล่านี้ย่อมสถิต                                     ติดทุกท่านเรียกขันธ์ห้า
        สิ่งนี้มิใช่ตน                                  มัวหวังผลย่อมเมื่อยล้า
มีแต่ลำบากกล้า                                      หวังพึ่งพาก็ไม่ได้
        ผู้เป็นเจ้าของขันธ์                            หวังให้มันตั้งมั่นไซร้
แต่มันผันแปรไป                                     ไม่อาจฝืนขืนทัดทาน
        ถามขันธ์ว่าเที่ยงหรือ?                        ตอบคือไม่เป็นแก่นสาร
มีทุกข์เข้ารอนราน                                    วานอย่ายึดมั่นถือมั่น
        มิใช่เป็นของเรา                               เราหรือเขาโง่เท่านั้น
 ไม่มีที่สำคัญ                                         พอประกันนั่นเขา,  เรา
      จงเลิกยึดขันธ์นี้                                 วางเสียทีที่โง่เง่า
ปิดกั้นตาของเรา                                      ให้เมามัวกลั้วโลกา
      จงเห็นสักว่าเป็น                                 เช่นที่พักหมดกังขา
ใช้ขันธ์นั่นนำพา                                       จิตเลอค่าสู่นิพพาน
       เมื่อเห็นขันธ์เช่นว่า                              จิตระอาพาประหาร
กามตายไม่ต้องการ                                    จิตท่านพ้นเรื่องตน, เรา
       พุทธ์ตรัสไม่นานช้า                              พวกหมู่ห้าน้อมใจเข้า
จิตพ้นตะกอนเก่า                                       เข้าสู่พระอรหันต์
                                 โปรดยสกุลบุตร   

        พุทธ์สอนบุตรเศรษฐี                       เมื่ออยู่ที่ป่ากวางนั้น
ด้วยทาน,ศีล, สวรรค์                              โทษทัณฑ์กาม, เนกขัมมา
     จากนั้นพุทธ์แสดง                             แจ้งของเลิศแห่งสัจจ์จ้า
ยสะน้อมจิตมา                                     เพ่งธรรมพาจิตตรึกพลัน
     จิตหลุดพ้นกิเลส                              เข้าเขตพระอรหันต์
กราบทูลขอทันควัน                                บรรพชาตามครรลอง
      มารดา, บิดาปลง                            สงเคราะห์ให้ไม่ขัดข้อง
เกิดเห็นธรรมเรืองรอง                             ใฝ่ปองรัตนตรัย
    พวกเพื่อนห้าสิบสี่                              บวชทันทีมิสงสัย
เป็นอรหันต์ไซร้                                   ได้สาวกหกสิบองค์
(โคลงสี่สุภาพ)
             พุทธ์แจ้งแบบอย่างให้                พระสงฆ์
แจกธรรมอย่างบรรจง                             ยิ่งแท้
แก่ชนเพื่อปลดปลง                                ทุกข์โศก
มารจักพ่ายยอมแพ้                                สัตว์พ้นทุกข์ใจ
                             โปรดภัททวัคคิยกุมาร
(กาพย์ฉบัง)
             อนุญาตพระสงฆ์ให้          บวชแทนพุทธ์ได้
รับไตรสรณคมน์

                     พุทธ์ชี้แนะและอบรม     พระสงฆ์บังคม
จาริกสู่เมืองน้อยใหญ่
          พระพุทธ์ทรงแวะเข้าไป          นั่งใต้ร่มไม้
ในไร่ฝ้ายหวังกายพัก
     หนุ่มสามสิบคนมาทัก                 พุทธ์รู้ยิ่งนัก
เอาหลักธรรมสอนหนุ่มแทน
   หนุ่มสามสิบคนมาเห็นแก่น              รู้ธรรมมั่นแม่น
ทูลขอบวชไม่รอรี
     พุทธ์บวชพระให้ทันที                  ส่งพระเหล่านี้
ไปประกาศพระศาสนา
     พระพุทธ์จึงรุดตรงมา                   ขอร่วมชายคา
กับนักบวชบูชาเพลิง           
                                โปรดชฎิล    3     พี่น้อง   

(กลอนแปด)  พุทธ์สอนสั่ง ตั้งสองเดือน ไม่เชือนแช               ชฎิลแพ้ ยอมสิ้นสุด หยุดทำเหลิง
                อุรุเวลฯ ถอนทิฐิ มิถือเพลิง                          ทิ้งกระเจิง บวชติดตาม ทำปัญญา
น้องอีกสอง พอทราบเรื่อง ไม่เคืองขุ่น             พาสมุน บวชตามมั่ง สิ้นกังขา
รวมเกิดสงฆ์ พันสามรูป ทรงวิชชา                 เพราะธรรมา เรื่องไฟ ใจเลยเย็น
                                 อาทิตตปริยายสูตร
               ใจความสูตร พูดย่อว่า นราเอ๋ย                       สิ่งคุ้นเคย คือจมูก, หู, ตาเห็น
               ลิ้น, กาย, ใจ ที่ประสบ กลิ่น, เสียง, เป็น            รูป, รสเด่น, โผฏฐัพพะ, ธรรมารมณ์
ย่อมเกิดสุข, หรือทุกข์บ้าง หรือวางเฉย            รวมลงเลย เป็นของร้อน  นอนขื่นขม
เพราะกำหนัด โกรธขัดเคือง หลงเรื่องตรม         เกิดระทม โซมทรุดแก่ แพ้ความตาย
              ทั้งความโศก ความร่ำไร ไห้รำพัน                      เจ็บไข้กัน พลันเสียคิด คับจิตหลาย
              ไฟกิเลส เหตุไฟทุกข์ รุกกล้ำกลาย                    ทั้งหญิง,ชาย ถูกไฟเผา เร่าร้อนทรวง
อริยะ สาวกใด ได้ฟังแล้ว                            เห็นแน่แน่ว ย่อมเบื่อหน่าย ไม่ห่วงหวง
สลัดทิ้ง สิ่งทั้งหลาย ในทั้งปวง                       ปราศจากบ่วง หายกำหนัด ขาดเยื่อใย
            จิตพ้นชาติ ขาดถือมั่น เกิดญาณรู้                       ว่าจิตตู สิ้นเกิดแล้ว พบแก้วใส
            พรหมจรรย์ ฉันอยู่จบ ครบอำไพ                        กิจใดใด ได้ทำเสร็จ เหตุไม่มี
เมื่อพระพุทธ์ พูดพระธรรม ตามเนื้อหา                 จิตนรา พ้นกิเลส เหตุหมองศรี
ไม่ถือมั่น อุปาทาน พลันเปรมปรีดิ์                      สาวกมี จิตสงบ พบความเย็น

                                         โปรดพระเจ้าพิมพิสาร
               
พุทธ์เสด็จ ไปอยู่ที่ สวนต้นตาล                         พิมพิสาร รีบรุดไป ใคร่อยากเห็น
             ด้วยทราบข่าว ว่าธรรมะ พาร่มเย็น                     และเพื่อเป็น บุญอย่างยิ่ง มิ่งมงคล
ชนสงสัย ใคร่อยากรู้   ใครครูบา                        พระพุทธา หรืออุรุฯ อยากรู้ผล
พุทธ์นึกรู้ จึงตรัสถาม ท่ามกลางชน                     ว่าบุคคล ใดนั่นหรือ คืออาจารย์
            อุรุเวลฯ บอกเป็นพุท- ธะสาวก                         พุทธ์จึงยก ธรรมแสดง แจ้งแก่นสาร
            มหาราช, ชนทั้งหลาย ใจชื่นบาน                       จิตพบพาน อริยะ โสดาบัน
พิมพิสาร น้อมวันทา ยกป่าไผ่                            เพื่อสงฆ์ได้ อยู่เป็นที่ มีเขตขัณฑ์
กลายเป็นสงฆ์ อาราม ตามอย่างกัน                      พระพุทธ์พลัน สอนพระธรรม นำสบาย
            หนึ่งไม่ขาด อาหาร กาลทุกเมื่อ                         สองต้องเชื่อ มิตรที่ดี มิเสียหาย
            สามที่พัก อยู่อาศัย ใจและกาย                         สี่จิตหมาย น้อมพระธรรม นำใส่ตน
                                                      ได้”อัครสาวก”   

อุปติสสะ โกลิตะ บ่นว่าเบื่อ                             ชวนกันเพื่อ หลีกจากกาม ความสับสน
ไปบวชกับ สญชัย ทั้งสองคน                           อยู่มาจน วันหนึ่ง จึงได้การณ์
         อุปติสสะ ได้พบพระ อัสสชิ                             ขณะที่ โปรดสัตว์ไป ในหมู่บ้าน
         ออกติดตาม ถามไท้ ใครอาจารย์                       พระตอบผ่าน พุทธองค์ ทรงเป็นครู
สารีบุตร ตาเห็นธรรม ย้อนกลับมา                     ชวนเพื่อนยา โมคคัลลา ธรรมะหรู
เราพบแล้ว รีบเถิดหนา ไปหาครู                        พระพุทธ์อยู่ เวฬุวัน พากันไป
         ชวนเพื่อนอีก สองร้อย ห้าสิบคน                       มุ่งดั้นด้น ด้วยดวงหน้า อุราใส
         บวชหมดสิ้น จนสำเร็จ เสร็จเร็วไว                     ไม่นานได้ อรหันต์ ทันเวลา
พุทธ์ยกย่อง โมคคัลลา สาวกซ้าย                         และมอบหมาย พระสารี นี้เบื้องขวา
เป็นอัคระ สาวก องค์ศาสดา                               สงฆ์พร้อมหน้า พากันชม สมพุทธะ   
   (กาพย์ยานี)       
                           คราหนึ่งมีคนกล้า                              ชื่อว่าทีฆนขะ
                          อวดภูมิกับพุทธะ                                พุทธ์โต้ซะจนตะลึง

                                ก้มกราบพระพุทธ์พลัน                ยึดมั่นไตรรัตน์ที่พึ่ง
                           ชมพุทธ์ภูมิลึกซึ้ง                           จึงลาไปไม่ขอลอง
                      ปิปผลิมาณพนั้น                           พลันเบื่อหน่ายใจหม่นหมอง
                บวชกายใจลำพอง                               ท่องเที่ยวหาครูอาจารย์
                              พบพุทธ์พิสุทธิ์ค่า                          จึงวันทาขอแก่นสาร
                          พุทธ์ให้ธรรมเป็นทาน                         จิตเบิกบานปัญญาดี
                      ขอบวชเป็นพระด้วย                       พุทธ์ช่วยบวชพระทันที
                เพียรทำนำจิตนี้                                  มีนิพพานอันอำไพ

                                    
                                     ภาพประกอบจาก อาจารย์เสน่ห์  ธนารัตน์สฤษดิ์

                                              โอวาทปาฏิโมกข์
                                          ถึงวันเพ็ญมาฆะ              พระสงฆ์รีบมาทันใด
                                  ฟังธรรมพุทธะไซร้                    ให้โอวาทปาฏิโมกข์
                         หนึ่งเว้นทำบาปกรรม                 สองทำดีมีแต่โชค
                     สามใจใสไม่โศก                         พ้นโรคภัยใจสบาย
                                           สงฆ์รวมกันครั้งนี้            เป็นองค์สี่มีความหมาย
                                     ล้วนพุทธ์บวชทุกราย              และกลายเป็นพระอรหันต์
                         วันเพ็ญตรงพอดี                     สงฆ์ไม่มีนัดหมายกัน
                   เกิดสิ่งอัศจรรย์                             เรียก”วันมาฆบูชา”   
(กลอนแปด)           มีเศรษฐี ชื่อราชะ- คหกะ                      หวังใจจะ ทำกุฎี ที่เลอค่า
                          ถวายสงฆ์ ผู้ตรง, ดี มีวิชชา                  แต่กังขา รีรออยู่ ดูท่าที
   พระภิกษุ ทูลขอพุท- ธานุญาต                           พุทธ์ประกาศ กำหนดให้ ในห้านี้
   การให้เส- นาสนะ กับสงฆ์ดี                              จึงเริ่มมี จากครั้งนั้น สืบกันมา

                         
                              ภาพประกอบจาก อาจารย์เสน่ห์  ธนารัตน์สฤษดิ์
                                  โปรดพระพุทธบิดาและพระประยูรญาติ             

(กาพย์ยานี)              ฝ่ายพ่อฟังข่าวบุตร               พุทธ์รู้เลิศเกิดหรรษา
                  สอนสั่งยังประชา                          มีปัญญามาทำดี
                            บัญชาหาอำมาตย์                      ไปกราบบาทพระชินสีห์

 

                       เชิญมาสู่ธานี                                 ชี้ทางเลิศประเสริฐจริง
                  อำมาตย์ไปทูลไท้                        ได้ฟังธรรมล้ำค่ายิ่ง
            บวชตามทำจิตนิ่ง                               จึงพบสิ่งนำชีวิน
                         กราบทูลพระพุทธา                         บิดาเฝ้าเศร้าอาจิณ
               เชิญพุทธ์สู่ธานินทร์                                  พุทธ์ยินดีเพื่อแทนคุณ
(กลอนแปด)        ออกพรรษา พระพุทธ์ผิน กบิลพัสดุ์                   พุทธ์ทรงตัด ทิฐิญาติ อันเฉียวฉุน
                      ปวงพระญาติ หายมานะ มาทำบุญ                    ได้เป็นทุน โลกหน้ามี ย่อมปรีดา
   พุทธ์แจ้งธรรม เสร็จแล้ว ไม่แคล้วคลาด                 เหล่าพระญาติ พระบิดา พระนางน้า
   เกิดบรรลุ มรรคผลเย็น เห็นทันตา                       ดับโศกา ไร้ความทุกข์ มีสุขจริง
                            โปรดพระนางยโสธราและพระราหุล                  

 (กาพย์ยานี)                พุทธ์ไปหาพิมพา                         พี่กลับมาแล้วน้องหญิง

                        พร้อมแก้วแวววับจริง                            เป็นสิ่งที่ไม่มีตาย
              พุทธ์ให้ธรรมดับโศก                          พ้นวิโยคโรคภัยหาย

 

              นางได้น้อมใจ, กาย                          จิตหมายพระโสดาบัน
                             พุทธ์โปรดหาสารี                            ปัญญาดีมิแปรผัน
                         บวชพระราหุลพลัน                              อันชื่อว่า”สามเณร”
               ราหุลเป็นพระสงฆ์                             ทรงศีลธรรมทำเป็นเกณฑ์
     ลุล่วงอรหัตเป็น                                          เช่นอรหันต์พ้นทัณฑ์มาร
                                โปรดอนาถบิณฑิกคฤหบดีมหาอุบาสก             

 (กลอนแปด)  พ้นเขตฝน พุทธ์ด้นกรุง สาวัตถี                กุฎุมพี สุทัตตะ สดับสาร

               ซื้อที่ดิน เป็นของเจ้า เชตกุมาร                 สร้างวิหาร ถวายสงฆ์ ผู้ตรง, ดี
                      พุทธ์ประทับ จำพรรษา ระยะนาน                  สิบเก้ากาล พรรษา มาวัดนี้
                      พุทธ์แจ้งธรรม กับปวงชน จนได้ดี                  มรรคผลมี ตั้งมากมาย หลายผู้คน
               ระหว่างนั้น นางมัลลิ- กาเทวี                    มเหสี พระปัสเสน- ทิโกศล

                มาฟังธรรม จนเลื่อมใส ในกมล                 แต่โกศล ยังไม่เชื่อ เบื่อไม่มา
                      คืนหนึ่งนั้น โกศลพลัน ฝันเรื่องร้าย                 พราหมณ์ทำนาย ภัยถึงตัว กลัวนักหนา
                      ทำพิธี บูชายัญ กันภัยมา                           มัลลิกา ทูลไท้ให้ ไปถามพุทธ์
      โกศลจึง บึ่งไปหา พระพุทธเจ้า                  ทูลบอกเล่า โปรดแก้ไข ให้สิ้นสุด
      พุทธ์ให้ทำ ธรรมสิบข้อ ก็วิมุต                    และให้หยุด บูชายัญ พลันสบาย
                 โกศลทำ ได้รับผล ดลดีนัก                       จึงประจักษ์ ค่าพระพุทธ์ สุดเฉิดฉาย
                 ยอมถือพุทธ์ สุดชีพล้น จนวันตาย              เลิกงมงาย น้อมพระธรรม นำกาย, ใจ
                                       โปรดโจรองคุลิมาล
       ยังมีโจร ชื่อว่าอง- คุลิมาล                         ฆ่าชาวบ้าน ตัดนิ้วร้อย เป็นพวงไว้
       เหลืออีกเพียง นิ้วเดียวนั้น ครบพันไง             โจรร้อนใจ ในภวังค์ ชั่งร้อนรน
                  พุทธ์ตรวจดู รู้จึงลัด ตัดทางมา                   โจรยิ้มร่า ฆ่าง่ายดี มิเสียผล
                  จึงตามพุทธ์ มาข้างหลัง หวังปลิดชนม์          เกิดพิกล แปลกพิลึก นึกคะนึง
       แรกเดินตาม กลับไม่ทัน หันมาวิ่ง                 แปลกจริงจริง วิ่งไม่ทัน โจรมันทึ่ง
       ทั้งที่พุทธ์ เดินสบาย ไม่พรั่นพรึง                  โจรโกรธขึ้ง จึงตะโกน “โล้นหยุดก่อน”
                   พุทธ์ตรัสเล่า เราหยุดแล้ว ใจแกล้วกล้า         วางศาสตรา แล้วมาฟัง เราสั่งสอน
                   พุทธ์ให้ธรรม ชำระใจ ใสบวร                     โจรใจอ่อน ขอบวชตาม เลิกทำลาย
       บวชแล้วออก โปรดสัตว์ไป ในหมู่บ้าน            พอเดินผ่าน ชนจำได้ แค้นไม่หาย
       ขว้างก้อนหิน, อิฐ, สิ่งของ ถูกต้องกาย            เลือดเป็นสาย ไหลเปียกชุ่ม กลุ่มจีวร
                   องคุลี มิโต้ตอบ รอบหมู่บ้าน                      เพราะเหตุการณ์ กรรมให้ผล ทนถ่ายถอน
                   ใจประสาน แผ่เมตตา ไม่อาทร                   หันหลังย้อน กลับสู่วัด ในบัดดล
       พุทธ์ปลอบใจ ให้แกร่งกล้า ว่าดูก่อน               พึงสังวร อดทนไว้ กรรมให้ผล
       องคุลี ได้ธรรมมา พากมล                            จิตหลุดพ้น เป็นอรหันต์ ผ่านเกิด, ตาย 
                                     โปรดนางวิสาขามหาอุบาสิกา
                   ยังมีนาง วิสาขา งามตาล้ำ                        ได้ฟังธรรม ลุโสดาฯ พาสมหมาย
                   ครั้นต่อมา แต่งงานไป ไม่กลับกลาย             ยังขวนขวาย บำรุงสงฆ์ คงมั่นมา
      และได้สร้าง พระวิหาร บุพพาราม                 ถวายท่าม กลางพระสงฆ์ ตรงสิกขา
      นางเป็นพุท- ธะอุปัฏ- ฐายิกา                       แม้ชรา ก็สวยซึ้ง ตรึงให้หลง
                                         บวชเจ้าชายศากยวงศ์
(กาพย์ฉบัง) เจ้าชายในศากยวงศ์                    จำนวนหลายองค์
         เลิกหลงออกบวชตามพุทธ์
                เร่งความเพียรถึงที่สุด                  จิตจึงวิมุต
         ลุล่วงเป็นพระอรหันต์
                พระพุทธ์มีเมตตามั่น                    โปรดสารีนั้น
        ให้บวชราธพราหมณ์แทนองค์
                พระราธะทำกิจตรง                      จิตหายมืด, งง
        เป็นพระอรหันต์พอดี
                              พระพุทธเจ้าประทานอนุญาตให้บวชภิกษุณี
                เมื่อพุทธ์อยู่เวสาลี                        อานนท์ได้ที
       ทูลขอพุทธ์ด้วยอุบาย
                จนพุทธ์ยอมให้สมหมาย                บวชหญิงทั้งหลาย
       เป็นภิกษุณีทุกองค์
                ปชาบดีจิตเที่ยงตรง                      ความเพียรสูงส่ง
       เป็นพระอริยบุคคล
                            พระพุทธเจ้าทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์
(กลอนแปด) ครั้นต่อมา มีอาจารย์ เดียรถีย์                     ออกวาที ขอแข่งฤทธิ์ อิทธิผล
                พุทธ์รับทำ ปาฏิหาริย์ ในบัดดล                   เหาะขึ้นบน อากาศนั้น โดยทันใด
   ทรงนิมิต พระองค์นั้น อีกท่านหนึ่ง                   จากนั้นจึง กระทำการณ์ อันแจ่มใส
   องค์หนึ่งยืน อีกองค์นั่ง อย่างนี้ไป                     สลับให้ ได้ชื่นชม สมบารมี
                พุทธ์ทำท่อ น้ำและไฟ ให้เป็นคู่                      เกิดแสงหรู จับนภา อร่ามศรี
                จากนั้นพุทธ์ จึงบอกธรรม นำชีวี                    ชาวธานี ได้มรรคผล สุขล้นทรวง
   เดียรถีย์ ทั้งหกนั้น พลันหนีหาย                      แสนอับอาย ต่อมนุษย์ สุดแดนทรวง
   คุยไว้ทั่ว หัวหดปั๊บ ตกอับดวง                         เศร้าโศกทรวง แสนระทม ตรมอุรา
                               เสด็จดาวดึงส์โปรดพระพุทธมารดา  
             เมื่อฤกษ์ดี เสด็จสู่ ประตูสวรรค์                            ดาวดึงส์นั่น ที่กระทำ จำพรรษา
             พุทธ์แสดง อภิธรรม อันล้ำค่า                              แก่พุทธา มารดาท่าน นั้นสามเดือน
ออกพรรษา พุทธ์ลงขั้น บันไดทิพย์                      ระยับยิบ เปิดโลกา หาใดเหมือน
เห็นกันทั่ว สามโลกไซร้ ไม่แชเชือน                      เป็นเครื่องเตือน ให้รู้เสร็จ เหตุและผล
                                          โปรดสิงคาลมาณพ     
(กาพย์สุรางคนางค์) พุทธ์ให้ธรรมะ   โปรดสิงคาละ ไหว้ทิศมงคล
           ให้เห็นถูกที่  ไม่มีมืดมน    มีคุณเลิศล้น   เป็นมงคลดี
                   ถือศีลห้าเที่ยง      เว้นความลำเอียง    เลี่ยงทางอัปรีย์
        ไหว้ทิศหกใหม่   ซึ่งให้คุณดี  มีบุพการี  ลูก, เมีย, อาจารย์
              อีกทั้งมิตรตรง    นับถือพระสงฆ์   ทรงคุณช้านาน
      และอย่าให้ขาด   ข้าทาสบริวาร   ทำให้ถูกกาล  ท่านจะเจริญ
                  สิงคาลเห็นค่า  เกิดดวงปัญญา  วันทาสรรเสริญ
      ขอถึงไตรรัตน์  กำจัดส่วนเกิน  ให้ดีดำเนิน  ตราบชีพม้วยมรณ์
                                 

              (ยังมีต่อนะครับ ที่  http://www.gotoknow.org/posts/566153)

หมายเลขบันทึก: 565418เขียนเมื่อ 5 เมษายน 2014 09:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 เมษายน 2014 14:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท