The Voice kids (เดอะวอยซ์คิด ความบริสุทธ์ที่ยิ่งใหญ่ ให้ผู้ใหญ่ได้ถอดบทเรียน)


ทุกคนเชื่อมั่นและเคารพในหน้าที่ของกันและกัน

The Voice kids (เดอะวอยซ์คิด ความบริสุทธ์ที่ยิ่งใหญ่ ให้ผู้ใหญ่ได้ถอดบทเรียน)

“บทความนี้เป็นความคิดเห็นแบบอัตวิสัย(ทัศนะวิจารณ์) ผู้อ่านไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยเสมอ”

          การแข่งขันร้องเพลงของเด็กๆ หรือที่เรารู้จักกันในนาม เดอะวอยซ์คิดส์ เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมทักษะให้กับเด็ก โดยที่มากกว่าทักษะการร้องเพลงเพียงเท่านั้น แม้ความหวังหรือเป้าหมายจะอยู่ที่รางวัลหรือชัยชนะก็ตาม

          วันนี้ได้มีโอกาสนั่งดู (๒๔ มีนาคม ๒๕๕๗) เป็นการแข่งขันในรอบ Battle ที่โค้ชของแต่ละคนจะเลือกสมาชิกในความดูแลของตนออกมา ๓ คน ซึ่ง ๓ คนนี้จะร่วมกันร้องเพลงและร่วมกันแสดง หลังจากนั้น โค้ชก็จะทำการเลือกไว้ ๑ คน จาก ๓ คนที่ทำการแสดงสิ้นสุดลง (หมายถึง ๓ คนช่วยกันร้องช่วยกันแสดง แต่มีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่จะผ่านเข้ารอบ)

          ไม่ว่าใครจะเป็นผู้ได้รับจากการเลือกก็ตาม สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ คำขอบคุณ รอยยิ้ม และการแสดงความยินดีกับเพื่อนที่ได้รับคัดเลือก โดยที่ในใจจะคิดเห็นหรือแย้งกับสิ่งที่ปรากฏก็ไม่อาจทราบได้ แต่แน่นอนว่าสิ่งที่แสดงออกทางกายนั้นเป็น “มิตร” ที่ดีต่อกัน

          แม้จะเป็นเพียงเกมการแข่งขันของเด็กๆ แต่ในฐานะผู้ดูที่มองว่า “ทุกการกระทำเรียนรู้” หมายความว่า “การกระทำทุกอย่างคือการหาความรู้” เราก็ย่อมที่จะถอดบทเรียนจากเด็กๆ แม้จะฝืนภาษิตโบราณที่อาจจะดูไม่สู้ดีนัก “เด็กสอนผู้ใหญ่” แต่เราต้องยอมรับความจริงว่า “บางเรื่องเด็กก็สามารถทำได้ดีกว่าผู้ใหญ่”

          ในขณะที่ดูก็เกิดคำถามมากมายย้อนกลับหาตนเองในฐานะที่เป็นผู้ใหญ่ ผู้ซึ่งเป็นตัวสำคัญในการขับเคลื่อนสังคม ขับเคลื่อนความขัดแย้งในปัจจุบันให้ฉุกคิดว่า “เราอายเด็กหรือไม่” นั่นหมายความว่า “เรายอมรับกับความจริงที่ว่า “บางเรื่องเด็กก็แสดงออกได้ดีกว่าผู้ใหญ่” โดยเฉพาะความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน

๑.     ความพ่ายแพ้ของเด็กมิได้นำมาซึ่งความขัดแย้ง ในขณะที่การเมืองหรือความขัดแย้งในสังคม ส่วนหนึ่งเป็นผลมากจากความพ่ายแพ้ของกลุ่มคนที่สูญเสียผลประโยชน์ เด็กแม้จะเสียใจต่อความพ่ายแพ้หรืออาจจะไม่มีความรู้สึกนั้นอยู่เลย นอกจากการชื่นชมยินดีกับเพื่อน หรือหากจะมีก็คงเก็บไว้แต่ในใจมิแสดงออกอย่างชัดเจนว่าเป็นคู่ตรงข้าม

๒.     ทุกคนเชื่อมั่นและเคารพในหน้าที่ของกันและกัน ในการแข่งขันมีโค้ชนั่งอยู่ ๔ ท่าน เมื่อการแสดงสิ้นสุดลง โค้ชแต่ละท่านก็สามารถแสดงความคิดเห็นแนะนำข้อบกพร่องและชมเชยข้อดีได้ ไม่ใช่การเปรียบเทียบว่าใครดีกว่าใคร พูดในสิ่งที่เห็นเท่านั้น แตกต่างจากปัจจุบันขณะของสังคมที่มองคนอื่นต่ำต้อย มองตนเองสูงส่ง ทั้งๆที่ตนเองก็มีข้อบกพร่องต้องแก้ไขเช่นเดียวกัน ที่สำคัญโค้ชทุกท่านจะไม่ตัดสิน จะมีเพียงโค้ชที่เป็นผู้ฝึกสอนเด็กกลุ่มนั้นเท่านั้นเพียงคนเดียวเป็นผู้ตัดสิน ซึ้งบางครั้งถ้าให้โค้ชทั้ง ๔ ตัดสิน โหวตในลักษณะที่เรียกว่า “เสียงส่วนมาก” ผู้ชนะอาจจะไม่ใช่คนที่ถูกเลือกก็ได้ แต่ก็ถือว่า “เป็นหน้าที่ของโค้ชคนนั้น เราไม่ก้าวล่วงเข้าไป” นั่นหมายความว่า ในเวลาขณะนั้นใครคือผู้มีบทบาทสำคัญ ใครมีหน้าที่ เมื่อผุ้มีหน้าที่เป็นผู้ทำตามหน้าที่ ก็ย่อมไม่มีเสียงคัดค้านจากโค้ชท่านอื่น แม้จะขัดกับความคิดตนก็ตาม นั่นคือการยอมรับ ความเชื่อมันและความเคารพในหน้าที่ซึ่งกันและกัน ในขณะที่สังคมผู้ใหญ่ แม้คนมีบทบาท มีหน้าที่ ทำตามหน้าที่ของตน หากเมื่อใดก็ตามผู้มีหน้าที่ทำให้ตนเองเสียประโยชน์เขาก็จะลุกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานา โดยมักเชื่อว่าตนเองถูกเสมอ หรือใช้เสียงส่วนมากที่ไม่ได้มีบทบาทหน้าที่ ณ ขณะนั้นเข้ามาอ้างความชอบธรรม ในการแข่งขันแม้กองเชียร์จะมากมายเพียงใด สุดท้ายทุกคนก็ยอมรับผลการตัดสินของโค้ชเพียงคนเดียว เพราะเขาคือผู้มีหน้าที่ มีบทบาทสำคัญในขณะนั้นเพียงผู้เดียว

         อาจจะมีอีกหลายประเด็นที่น่าขบคิด แต่ที่นำมาเสนอ ๒ ประเด็น ก็คงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ผู้ใหญ่ได้ฉุกคิดว่า “คนเราไม่มีอะไรที่จะได้ดังใจทั้งหมด และเสียในสิ่งที่ตนตั้งใจไว้ทั้งหมด” เพียงแต่เราให้ความเคารพในบทบาทหน้าที่ของกันและกัน ยอมรับในสิ่งที่ผู้มีหน้าที่ทำตามหน้าที่ เราก็สามารถอาศัยอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข แม้บางครั้งเราอาจจะมีความรู้สึกขัดแย้งในใจอยู่บ้างก็ไม่ควรแสดงออก ควรแสดงออกอย่างกัลยาณมิตรเช่นเดียวกับเด็ก เด็กก็มีความรู้สึกเสียใจที่ตนเองไม่ได้เป็นผู้ชนะ แต่เขาก็ไม่แสดงออก นอกจากท่าทีที่เป็น “มิตร” ต่อกัน และที่สำคัญ “เสียงส่วนมาก” ก็ไม่ได้มีความหมายว่า “ถูกต้องเสมอ” ขอให้ทุกคนทำหน้าที่ของตน และเคารพในหน้าที่ของกันและกัน

หมายเลขบันทึก: 565077เขียนเมื่อ 31 มีนาคม 2014 22:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 มีนาคม 2014 22:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สะท้อนบ้านเมืองจริง ๆ ครับ ;)...

เขียนได้ข้อคิดดีมากครับ..ผมเห็นด้วยว่าเด็กยุคนี้โชคดี ในความโชคร้ายจริงๆ ใช่ครับ บางเรื่องเราต้องเรียนรู้จากครูเด็ก..เราฉลาดเพราะลูกหลานเราแท้ๆ.. และใช้เหตุการณ์ในการสอดแทรกมุมมองได้ดีจัง สมกับคำว่า ผู้ใหญ่ที่มีวิสัยทัศน์จริงๆ ขอบคุณครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท