ชีวิตที่พอเพียง : ๒๑๓๐. ไปจังหวัดเลย และอำเภอเชียงคาน


 

          สาวน้อยกับผมเดินทางโดยสายการบิน นกแอร์ เช้าวันศุกร์ที่ ๒๘ ก.พ. ๕๗ จากดอนเมือง ไปท่าอากาศยานจังหวัดเลย    นั่งเครื่องบิน SAAB 340B Plus 30 ที่นั่ง    เป็นเครื่องบินใบพัด ตอนขึ้นลงเสียงดังหน่อย    และทุกอย่างเล็กหมด (ยกเว้นที่นั่ง ซึ่งนั่งสบายกว่าเครื่องบิน แอร์เอเซีย ที่ไม่ค่อยมีที่ให้เหยียดขา)    ศีรษะของผมจึงโดนที่เก็บของเหนือศีรษะ ๒ ที    และเมื่อไปเข้า ห้องน้ำด้านหน้าเครื่องบิน ห้องน้ำแคบมากแทบกลับตัวไม่ได้    ในเครื่องบิน ห้องน้ำไม่ได้มีไว้ให้สำราญ เพียงมีไว้แก้ขัด

          แต่เครื่องนี้มีการปรับความดันอากาศ และบินนิ่มดี    ชั่วโมง ๑๕ นาทีก็ถึงสนามบินจังหวัดเลย    อาจารย์ติ๋ว (กฤศนรัตน์) ซึ่งเป็นครูประจำการของโรงเรียนเลยพิทยาคม ที่มาเป็น นศ. ปริญญาเอกของ มรภ. เลย มารับพร้อมกับ อ. ประกิต สิงห์ทอง (ฝ้าย) ผอ. โรงเรียนประถมในจังหวัดเลย ที่มาเรียน ป. เอกที่ มรภ. เลย เช่นเดียวกัน มารับ    ทั้งสองคนบอกว่า จะได้มีโอกาสซักถามผม ระหว่างนั่งรถ    โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเห็นเกี่ยวกับวิทยานิพนธ์ที่กำลังเตรียมทำ     โดย อ. ติ๋วจะทำเรื่องโมเดลของการบริหาร จัดการโรงเรียนมาตรฐานสากล

          ที่จริง ผมกลับเป็นฝ่ายได้รับความรู้ ว่า สพฐ. กำลังเน้นจัดให้มีโครงการโรงเรียนมาตรฐานสากล    โดยมีโรงเรียนนำร่อง ๕๐๐ โรงเรียน    และโรงเรียนเลยพิทยาคม (ซึ่งถือเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดที่พ่อแม่ใฝ่ฝันให้ลูกได้เข้าเรียน) เป็น ๑ ใน ๕๐๐   ผมกลับมาค้นเรื่องนี้ที่บ้าน ก็พบว่า เป็นการ repackaging & rebranding การเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ นั่นเอง    จิตอกุศล ชักให้ผมสงสัยว่า โครงการนี้มีการใช้งบประมาณอย่างไร    มีเงินทอนกี่เปอร์เซนต์    

          หลังจากพาไปรับประทานอาหารเช้าและคุยกับ ผศ. ดร. มัณฑนา อินทุสมิต อดีต ผอ. หลักสูตรปริญญาเอก ด้านบริหารการศึกษา    (ซึ่งในเวลาชั่วโมงเศษๆ เราคุยเรื่องการศึกษาไทยกันอย่างสนุกสนาน และทำให้ผมได้รับความรู้มาก)    อ. ติ๋ว กับ อ.ฝ้าย พาไปเที่ยววัดป่าห้วยลาด    และอุทยานแห่งชาติภูเรือ    แล้วจึงไปกินอาหารเที่ยงที่ ร้านอาหารที่อำเภอภูเรือ    ระหว่างนั่งกินอาหาร อ. ฝ้ายถือโอกาสสัมภาษณ์ผมเกี่ยวกับวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกที่คาดว่าจะทำ    คือเรื่องตัวบ่งชี้สมรรถนะครูในศตวรรษที่ ๒๑

          ผมชอบถนนเชื่อมระหว่างจังหวัดเลยกับอำเภอภูเรือมาก    คดเคี้ยวเลียบไหล่เขา มีหลายตอนที่มีต้นไม้ขึ้นสองข้างทาง ทำให้ถนนร่มครึ้ม   เรากลับมาที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย เพื่อมาเอาเสื้อผ้าของ อ. ติ๋ว และส่ง อ. ฝ้ายเอารถขับไปจังหวัดอุบลราชธานี ไปงานแต่งงานหลาน    แล้วเราเดินทางต่อไปเชียงคาน 

          ระยะทางจากตัวจังหวัดเลยไปอำเภอเชียงคานเพียง ๔๘ ก.ม.    ถนนกว้าง ๔ เลนเกือบทั้งหมด และบ้านเรือนสองข้างทางแสดงว่าผู้คนมีฐานะดี    รวมทั้งบ้านเรือนสะอาด    อ. ติ๋วบอกว่า ทางการในจังหวัดเลยรณรงค์ว่า เนื่องจากจังหวัดเลย เป็นเมืองท่องเที่ยว จึงต้องช่วยกันดูแลบ้านเรือนให้น่าดู    เห็นได้ชัดเจนว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ได้ทำให้จังหวัดเลยเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ทั้งทางเศรษฐกิจ และบ้านอยู่อาศัยเป็นระเบียบเรียบร้อย สะอาดตา

          คณะนักศึกษาปริญญาเอกเจ้าของงานจัดให้เราพักที่ เชียงคาน ริเว่อร์เม้าท์เท่น รีสอร์ท ซึ่งถือว่าหรูที่สุดในอำเภอเชียงคาน    และพักที่ห้อง ๒๑๑ ริมแม่น้ำโขง ซึ่งถือว่าเป็นห้องที่ดีที่สุดของ รีสอร์ท     จากห้อง มองไปเห็นแม่น้ำโขงและภูเขาใน สปป. ลาว อยู่ไกลๆ ท่ามกลางสายหมอก ตลอดวัน

          ตอนค่ำเราไปเดินชมถนนคนเดิน ของอำเภอเชียงคาน    แล้วไปกินอาหารเย็นที่ร้าน ระเบียงริมโขง    กินเมนูปลาแม่น้ำโขงอันแสนอร่อย     และไปร่วมงาน ราตรี ดุษฎีอีสานสัมพันธ์ รุ่นที่ ๖ที่ลานริมโขง หน้าที่ว่าการอำเภอเชียงคาน    คณะเจ้าภาพของผม ดูแลสาวน้อยกับผมเต็มที่     เมื่อผมบอกว่า ผมไปกินอหารเย็นในงานเลยก็ได้ เพราะผมเป็นคนง่ายๆ    เธอบอกว่า อาหารในงานเลี้ยงเป็นโต๊ะจีน ไม่เป็นอาหารเชิงวัฒนธรรมเชียงคาน    มาเชียงคานต้องกินปลาแม่น้ำโขง 

          ถนนคนเดินของอำเภอเชียงคานก็คือบ้านเก่าริมน้ำโขง ที่เป็นชุมชนโบราณ    ทอดยาวเหยียดไปตามแม่น้ำโขง    สองข้างถนน    ทำให้ผมเดาว่า การตั้งบ้านเรือนของเชียงคานที่เราไปเห็นเก่าไม่เกิน ๕๐ ปี    ซึ่งเป็นยุคที่การคมนาคมทางถนน เข้าแทนที่การคมนาคมทางน้ำ     บ้านไม้เก่าเหล่านี้คือเสน่ห์อย่างหนึ่งของเชียงคาน    

          ผศ. ดร. มัณฑนา บอกว่าท่านอยากให้เขาจัดให้สาวน้อยกับผมไปพักที่ เกสต์เฮ้าส์ในถนนคนเดิน จะได้บรรยากาศมากกว่า    แต่นักศึกษาเจ้าของงาน ต้องการให้เราได้พักในที่พักที่หรูที่สุดที่มี

ชัดเจนว่า เชียงคานขายความเป็นชุมชนโบราณ    การตกแต่งสถานที่ต่างๆ จึงนำเอาของเก่าๆ ออกมาวางประดับ เช่นรถยนต์เก่า  รถสามล้อเก่า  รถจักรยานเก่า  และอื่นๆ     รวมทั้งบนถนนคนเดินมีคุณยายอายุ ๖๕ มาขายหวานเย็นโบราณด้วย

          แต่ก็มีวัฒนธรรมฝรั่งปนเข้ามา คือมีนักเรียนตัวเล็กๆ  ๕ - ๖ คน มาตั้งวงดนตรี ขับกล่อมบรรยากาศและเปิดหมวก รับบริจาค เข้าใจว่ารายได้ไม่เลว    อ. ติ๋ว บอกว่า เป็นแนวทางหนึ่งของการฝึกจิตอาสาทำเพื่อผู้อื่นให้แก่เด็ก    โดยประกาศว่า รายได้นำไปทำประโยชน์อะไรแก่สังคม คนจะบริจาคมากขึ้น    

          ในงานราตรีดุษฎีอีสานสัมพันธ์ เราได้เรียนรู้ภาษาเลย และภาษาอีสานถิ่นอื่นๆ    พบว่าภาษาเลยสำเนียงหลายส่วน คล้ายสำเนียงปักษ์ใต้    เราร่วมชมการแสดงจนสองทุ่มเศษ ได้เวลานอน ก็ขอลากลับโรงแรม    ผมรู้สึกผิดหวัง ที่ช่วงนั้นอากาศร้อน และไม่มีลมเลย    อ. ติ๋วเตือนเราว่าให้เอาเสื้อหนาวไปด้วยเพราะตอนค่ำอากาศจะเย็น และมีลมพัดจากแม่น้ำ     ปรากฎว่ากว่าลมจะโชยมาอ่อนๆ ก็เลยสองทุ่มไปแล้ว    แต่ก็ยังร้อนอยู่ดี    แต่ตอนเช้ามืดวันที่ ๑ มี.ค. ผมออกไปนั่งทบทวนปรับปรุง PowerPoint ที่จะใช้บรรยาย ที่ชานด้านหน้าห้องนอน   อากาศเย็นสบายมาก

          รุ่งขึ้นเรานัดออกจากโรงแรม ๖ โมงเช้า    ไปชมแก่งคุดคู้ แหล่งท่องเที่ยวริมโขงแห่งหนึ่ง ของ จ. เลย     แล้วไปตักบาตร ในบรรยากาศคล้ายที่หลวงพระบาง     เราไปที่ริมโขงหน้าวัดท่าคา    มีเสื่อปูริมถนน และมีชุดตักบาตรวางไว้ให้เสร็จเรียบร้อย    เข้าใจว่าชุดละ ๘๐ บาท    ผมรู้สึกว่าบรรยากาศมันเป็นธุรกิจไปหน่อย     พระบางวัดมากับศิษย์วัดผู้ใหญ่ที่เตรียมรถเข็นใส่ของ มาพร้อม    มาถ่ายของจากบาตรพระใส่รถกันตรงนั้น    อ. ติ๋วบอกว่าวัดนั้นเอาอาหารไปเลี้ยงเด็กกำพร้าหรือยากจน    รูปตักบาตร และคำอธิบายที่นี่ บรรยากาศต่างจากที่เราไปพบ 

          เสร็จจากตักบาตร เรากลับไปกินอาหารเช้าที่โรงแรม    โดยทีมของ อ. ติ๋ว ไปซื้อเครื่องในหมูเอามาให้กินที่โรงแรมด้วย    อาหารยอดนิยมของเรากลายเป็นข้าวจี่ กับหมูปิ้ง กินร้อนๆ อร่อยจริงๆ 

           หลังการบรรยาย เรื่อง การบริหารการศึกษาไทย ในศตวรรษที่ ๒๑ เป็นเวลาสองชั่วโมงครึ่งรวด ไม่มีพัก  และถ่ายรูป กับทีมจากหลากหลายจังหวัด    เราไปกินอาหารเที่ยงที่ร้าน เลอ ดานัง    ชื่อบอกชัดเจนแล้ว ว่าเป็นอาหารเวียดนาม    และเป็นอาหารเวียดนามที่อร่อยมาก   

          นอกจากได้รับการต้อนรับดูแลอย่างดียิ่งแล้ว    เรายังได้รับของฝากใส่กล่องเอาขึ้นเครื่องบินกลับมาเป็นมะขามหวานสีทอง  หมูยอ และถั่วคั่วทรายลุงวินัย ของฝากจากนาแห้ว    ผศ. ดร. มัณฑนา กรุณาฝากข้าวฮางหอมทอง สกลทวาปี ๑ ขวด ๔ กก.   เป็นข้าวปลอดสารพิษ ผลิตโดยกลุ่มเกษตรกรบ้านนาบ่อ  ต. ปลาโหล  อ. วาริชภูมิ  จ. สกลนคร  โทร ๐๘๖ ๐๑๕ ๑๑๐๔    เราเพิ่งได้กินข้าวฮางหอมนิล สกลทวาปี ไปหยกๆ (มีคนให้เป็นของขวัญปีใหม่)   โดยเราตัดสินว่า เป็นข้าวที่กินอร่อยที่สุดเท่าที่เราเคยกิน   การได้ข้าวหอมทองสกลทวาปีมาลิ้มรส จึงสร้างความคึกคักอย่างยิ่ง  

          ขากลับ เครื่องบินลำใหญ่ ๗๐ ที่นั่ง เป็นเครื่อง ATR 72-500 นั่งนิ่มกว่าขาไป    โดยเฉพาะตอนเบรคหลังล้อแตะพื้น นิ่มกว่า  SAAB 340B Plus มาก    ผมนั่งหลับตลอดทาง

          ในฐานะนักกินหมูยอ    ผมขอรับรองว่า หมูยอของจังหวัดเลยอร่อยจริงๆ    เสียดายไม่มีตราบอกร้านผลิต

          ตอนพิธีเปิดงานการประชุมสัมมนา และการนำเสนอวิทยานิพนธ์ระดับดุษฎีบัณฑิต สาขาวิขาการบริหารการศึกษา   ท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัด มากล่าวเปิดงาน    ท่านกล่าวดีมาก ทำให้ผมได้เข้าใจว่าหน้าที่ของฝ่ายปกครองในยุคปัจจุบัน ได้เปลี่ยนไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง    เปลี่ยนจากกระบวนทัศน์ ปกครองมาเป็น เอื้อความเจริญโดยเฉพาะอย่างยิ่งความเจริญ ทางเศรษฐกิจ    การที่ มรภ. เลย รับเป็นเจ้าภาพงานนี้    ทางจังหวัดจึงถือว่าเป็นการทำคุณประโยชน์ให้แก่จังหวัด    เพราะมีส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัด    ทางหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดจึงร่วมกันอำนวยความสะดวกต่างๆ

          ผมได้ไปเห็นปรากฏการณ์ ความเจริญของประเทศ ย้ายไปอยู่ที่พื้นที่ชายขอบ ที่เป็นพรมแดนติดต่อกับประเทศอื่น    สมัยก่อนชายแดนเป็นที่ห่างไกลความเจริญ    เดี๋ยวนี้ ชายแดนหลายที่เป็นพื้นที่เศรษฐกิจ    ทั้งการค้า และการท่องเที่ยว

          ยุคนี้ รายได้ที่ดีที่สุด มาจากภาคธุรกิจบริการ    เน้นที่ธุรกิจท่องเที่ยว    พื้นที่ใด หรือจังหวัดใดดึงดูดนักท่องเที่ยวมาได้    ถือเป็นโอกาสดี    จังหวัดเลยอยู่ในกลุ่มนี้    จึงมีการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างขันแข็ง     ผีตาโขน เป็นรูปธรรมที่ได้ผล    และแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ ก็ได้รับการประชาสัมพันธ์    ผมชอบเอกสาร คู่มือท่องเที่ยวจังหวัดเลย ของ ททท. มาก     เสียดายที่ค้นใน อินเทอร์เน็ตไม่พบ   แต่ก็พบ เว็บไซต์ ที่นี่    ซึ่งดีกว่า เว็บไซต์ของจังหวัดเลย     ที่น่าชื่นชมมากคือ การดูแลความสะอาดของบ้านเมือง  

 

วิจารณ์ พานิช

๒ มี.ค. ๕๗

 

 

สาวน้อยกับ อ. ติ๋ว และ อ. ฝ้าย ที่วัดป่าห้วยลาด

 

ในห้องนอน เชียงคาน ริเว่อร์ เม้าท์เท่น รีสอร์ท

 

แม่น้ำโขงหลัง รีสอร์ท

 

ถนนคนเดิน เชียงคาน ยามค่ำ

 

อีกมุมหนึ่งของถนนคนเดิน

 

การแสดงในงาน ราตรีดุษฎีบริหาร อีสานสัมพันธ์ รุ่นที่ ๖

 

แก่งคุดคู้ยามเช้า

 

ตักบาตร

 

ตักบาตร

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 565004เขียนเมื่อ 31 มีนาคม 2014 09:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 มีนาคม 2014 09:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท