การวิเคราะห์สังคมสงฆ์อันเป็นสังคมตัวอย่างในทัศนะของพุทธทาสภิกขุและพระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ. ปยุตโต)


การวิเคราะห์สังคมสงฆ์อันเป็นสังคมตัวอย่างในทัศนะของพุทธทาสภิกขุและ

พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ. ปยุตโต)

วรากรณ์ พูลสวัสดิ์1

โปรแกรมวิชาสังคมศึกษา

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชัฎนครปฐม

[email protected]

 

บทคัดย่อ 

           บทความนี้เป็นการศึกษาเชิงเอกสารโดยมุ่งวิเคราะห์การตีความสังคมสงฆ์อันเป็นสังคมที่พระพุทธเจ้าทรงจัดตั้งขึ้นเมื่อ 2500 กว่าปีมาแล้ว และสังคมสงฆ์ก็ยังคงอยู่จนปัจจุบัน นับเป็นชุมชนหรือสังคมที่มีอายุยาวนานที่สุดในโลก มีผู้ศึกษาวิเคราะห์สังคมสงฆ์ว่าเป็นสังคมแบบอย่างหรือสังคมอุดมคติไว้เป็นจำนวนมาก ในบทความนี้มุ่งวิเคราะห์การตีความสังคมสงฆ์ของพระสงฆ์นักปราชญ์ชาวไทย 2 รูป คือพุทธทาสภิกขุและพระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ. ปยุตโต) ซึ่งจากการศึกษาพบว่า พุทธทาสภิกขุตีความว่าสังคมสงฆ์เป็นสังคมนิยมแต่สังคมนิยมในทัศนะของพุทธทาสภิกขุต่างจากสังคมนิยมของตะวันตกคือเป็นธัมมิกสังคมนิยม ส่วนพระพรหมคุณาภรณ์นั้นตีความว่าสังคมสงฆ์เป็นสังคมประชาธิปไตยแต่เป็นสังคมประชาธิปไตยที่มีธัมมาธิปไตยเป็นรากฐาน การตีความสังคมสงฆ์ของทั้งสองรูปมีทั้งความเหมือนและต่างกันในบางประเด็นซึ่งเป็นจุดเน้นสำคัญที่ผู้ศึกษาต้องการศึกษา อย่างไรก็ตามทั้งสองรูปมีความเห็นว่าสังคมสงฆ์เป็นสังคมแบบอย่างเราสามารถนำแนวคิดของสังคมสงฆ์มาประยุกต์เพื่อแก้ปัญหาสังคมปัจจุบันได้

 

คำสำคัญ

         สังคมสงฆ์ สังคมอุดมคติ สังคมนิยม ธัมมิกสังคมนิยม   ประชาธิปไตยที่มี ธัมมาธิปไตยเป็นรากฐาน 

บทนำ

          ท่านพุทธทาสภิกขุและพระพรหมคุณาภรณ์เป็นพระภิกษุนักปราชญ์ของประเทศไทยที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ท่านทั้งสองเห็นว่า สังคมสงฆ์เป็นสังคมอุดมคติหรือสังคมแบบอย่างของมนุษย์ ท่านทั้งสองได้วิเคราะห์สังคมสงฆ์และประยุกต์มาอธิบายเพื่อแก้ปัญหาสังคมปัจจุบัน แต่ท่านทั้งสองก็มองสังคมสงฆ์ในทัศนะที่แตกต่างกันในที่นี้เราจะพิจารณาว่าท่านทั้งสองมองสังคมสงฆ์อย่างไรและทัศนะของท่านทั้งสองแตกต่างกันและเหมือนกันอย่างไร

1. สังคมสงฆ์ในทัศนะของพุทธทาสภิกขุ

          การวิเคราะห์สังคมสงฆ์นั้นมีผู้ตีความสังคมสงฆ์ออกเป็นสองแนว คือ การตีความว่า สังคมสงฆ์เป็นสังคมประชาธิปไตยโดยนำมโนทัศน์ของประชาธิปไตยมาตีความและอธิบายความตามหลักการของพระพุทธศาสนากับการตีความสังคมสงฆ์ว่าเป็นสังคมนิยม ผู้ที่ตีความสังคมสงฆ์ว่าเป็นสังคมนิยมนั้นเพราะเห็นว่าสังคมสงฆ์ไม่มีทรัพย์สินส่วนตัวและการแบ่งทรัพย์สินซึ่งเป็นวิธีการที่ปฏิบัติกันในสังคมสงฆ์นั้น ตรงกับอุดมคติของสังคมนิยม

          ท่านพุทธทาสภิกขุเป็นผู้หนึ่งที่ได้ตีความสังคมสงฆ์ว่าเป็นสังคมนิยม แต่สังคมนิยมของท่านพุทธทาสภิกขุนั้นต่างจากสังคมนิยมในทัศนะของตะวันตก คำว่าสังคมนิยมในความหมายของท่าน คือ การมุ่งประโยชน์ของสังคม เห็นแก่ประโยชน์ของสังคมเป็นใหญ่ เป็นความมุ่งหวังให้ประโยชน์ทุกอย่างเกิดขึ้นกับสังคมเฝ้าดูปัญหาของสังคมและกระทำการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาของสังคมนั้น สันติกโรภิกขุได้ให้ความหมายของสังคมนิยม โดยพยัญชนะตามทัศนะของท่านพุทธทาสภิกขุว่าหมายถึง “ความนิยมชมชอบต่อสังคม หรือความพอใจในสังคมมากไปกว่าการพอใจปัจเจกบุคคล” [1]ส่วนทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์ ได้วิเคราะห์รากศัพท์สังคมนิยมว่าหมายถึง “ความอดกลั้นอดทนของสมาชิกในชุมชนเพื่อผลประโยชน์สุขของชุมชน” [2]  ท่านพุทธทาสภิกขุเห็นว่าสังคมนิยมที่ถูกต้องและบริสุทธิ์นั้นต้องเป็นสังคมนิยมที่ประกอบด้วยธรรมโดยท่านเรียกว่า ธรรมิกสังคมนิยม

          ได้มีผู้ศึกษาแนวคิดเรื่อง สังคมนิยมและธรรมิกสังคมนิยมของท่านพุทธทาสภิกขุหลายคน [3],[4] ซึ่งอาจสรุปได้ว่า สังคมนิยมหรือธรรมิกสังคมนิยม คือ ระบอบที่ถือเอาประโยชน์ของสังคมเป็นใหญ่ที่ประกอบด้วยธรรมหรือสังคมนิยมที่ประกอบด้วยธรรมนั่นเอง หลักการของธรรมิกสังคมนิยม คือ หลักการที่ถือเอาประโยชน์ของสังคมเป็นใหญ่ โดยการไม่กอบโกยส่วนเกินทุกคนในสังคมจะเอาเท่าที่จำเป็นและพอดีสำหรับตนเพื่อให้ส่วนที่เหลือตกไปเป็นประโยชน์แก่บุคคลอื่นหรือสังคม ดังท่านพุทธทาสภิกขุกล่าวว่า “สังคมนิยมควรจะมีหลักสั้นๆ ตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติว่าทุกคนอย่ากอบโกยส่วนเกินพยายามเจียดส่วนเกินออกไป เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นให้ได้แต่ไม่ได้ห้ามว่าอย่าผลิตส่วนเกินทุกคนมีสิทธิและสมควรอย่างยิ่งที่จะผลิตส่วนเกินขึ้นมาแต่ว่าส่วนเกินนั้นควรจะเก็บไว้เพื่อประโยชน์แก่สังคม” [5]

          ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวิฒน์ ได้สรุปแนวคิดธรรมิกสังคมนิยมว่า “ทฤษฎีธรรมิกสังคมนิยมเริ่มต้นจากแนวคิดที่ว่าธรรมชาติเป็นสภาวะที่สมดุลสำหรับการดำรงอยู่ของมนุษย์ สัตว์ พืช และระบบนิเวศวิทยาของโลก ในสภาวะธรรมชาติสิ่งมีชีวิตทุกสิ่งผลิตตามความสามารถและบริโภคตามความจำเป็นของตนไม่มีสิ่งมีชีวิตในรูปแบบใดที่กักตุนส่วนเกินไว้เพื่อตัวเอง ท่านพุทธทาสภิกขุเรียกสภาวะสมดุลนี้ว่าสังคมนิยม” [6] จากคำกล่าวนี้ชี้ให้เห็นว่า ท่านพุทธทาสภิกขุเห็นว่าในสภาวะธรรมชาตินั้นมีสภาวะสังคมนิยมอยู่แล้วท่านได้นำสภาวะธรรมชาติมาวิเคราะห์สังคมมนุษย์แล้วเสนอเป็นทฤษฎีธรรมิกสังคมนิยมซึ่งมีผู้วิเคราะห์รากฐานความคิดของท่านพุทธทาสภิกขุในการเสนอความคิดเรื่องธรรมิกสังคมนิยมเอาไว้ดังนี้

          พระไพศาล วิสาโล ได้วิเคราะห์ว่า รากฐานความคิดเรื่องธรรมิกสังคมนิยมของท่านพุทธทาสภิกขุคือธรรมและได้อธิบายว่า “ท่านพุทธทาสได้อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐานของธรรมิกสังคมนิยม หลักการและคุณลักษณะของธรรมิกสังคมนิยมที่เสนอนั้นท่านเอาสภาวะและกฎเกณฑ์ของธรรมชาติมาเป็นข้อสนับสนุนโดยตลอดโดยที่ในทรรศนะของท่านธรรมและธรรมชาติคือ สิ่งๆ เดียวกันเพราะธรรมมีความหมายถึง ธรรมชาติ กฎธรรมชาติ หน้าที่ตามกฎธรรมชาติ และผลอันเกิดจากหน้าที่ตามกฎธรรมชาติ” [7] การวิเคราะห์ของพระไพศาล วิสาโลอาศัยความคิดของท่านพุทธทาสภิกขุที่ว่าในสภาวะธรรมชาติมีความเป็นสังคมนิยมอยู่แล้วเพราะสรรพสิ่งต้องอาศัยสัมพันธ์กันไม่มีสิ่งใดต้องดำรงอยู่อย่างโดดเดี่ยวได้ การวิเคราะห์ของพระไพศาล วิสาโลสอดคล้องกับการวิเคราะห์ของโดนัล เค สแวร์เรอร์ ที่เห็นว่า “ทัศนวิสัยของท่านพุทธทาสในเรื่องสังคมที่ดีและยุติธรรมนั้นพ้องกับความเห็นของท่านเรื่องสภาพธรรมชาติที่แท้จริงหรือสภาพของมนุษย์แต่ดั้งเดิมมีความประสานสอดคล้องและมีความสมดุลเป็นที่ตั้งโดยสภาพของธรรมชาตินั้นปราศจากตัวตน” [8] จากคำกล่าวนี้โดนัล เค สแวร์เรอร์หมายถึง การเสนอทฤษฎีธรรมมิกสังคมนิยมของท่านพุทธทาสภิกขุแยกไม่ออกจากคำสอนของท่านที่ต้องการให้มนุษย์หลุดพ้นจากการยึดติดในอัตตาคือตัวกูของกู ปรีชา ช้างขวัญยืน ได้วิเคราะห์ว่า “การวิเคราะห์ความคิดของท่านเห็นได้ชัดว่าอาศัยคำสอนในอัคคัญสูตร.....จากนั้นท่านจึงวิเคราะห์ด้วยมโนทัศน์ทางสังคมนิยมสมัยใหม่ คือ มโนทัศน์ เรื่อง ส่วนเกิน เรื่องการเอาเปรียบทางชนชั้น แล้วจึงโยงความคิดเรื่องสังคมนิยมเข้ากับสมบูรณาญาสิทธิราชและธรรมราชา” [9]

          จากที่กล่าวมาทั้งหมดเกี่ยวกับการวิเคราะห์รากฐานความคิดเรื่องธรรมิกสังคมนิยมของท่านพุทธทาสภิกขุจะเห็นได้ว่า นักวิชาการทั้งหลายเห็นคล้ายกันว่า ท่านพุทธทาสภิกขุได้อาศัยการวิเคราะห์สภาวะธรรมชาติ หลักคำสอนในพระพุทธศาสนา ธรรมเนียมปฏิบัติของชาวพุทธและแนวคิดตะวันตกเป็นรากฐานในการเสนอแนวคิดเรื่องธรรมิกสังคมนิยมแต่สำหรับแนวคิดตะวันตกนั้นท่านพุทธทาสภิกขุนำเอาหลักทางพระพุทธศาสนามาอธิบายแนวคิดตะวันตก ไม่ใช่เป็นการนำแนวคิดตะวันตกมาอธิบายพระพุทธศาสนาจึงทำให้ความหมายของสังคมนิยมในทรรศนะของท่านแตกต่างจากสังคมนิยมของตะวันตก

          ท่านพุทธทาสภิกขุได้นำมโนทัศน์เรื่องสังคมนิยม การไม่เอาส่วนเกินและสภาวะธรรมชาติมาวิเคราะห์สังคมสงฆ์โดยท่านเห็นว่า ศาสนาทุกศาสนาในโลกนี้เป็นสังคมนิยม พระศาสดาทุกพระองค์ต้องการให้ศาสนิกยึดหลักสังคมนิยมเพื่อเห็นแก่ประโยชน์ของสังคมเป็นใหญ่ ท่านกล่าวว่า “โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระพุทธศาสนานั้นยิ่งเป็นสังคมนิยม” [10] เพราะระเบียบวินัยและคำสอนในพระพุทธศาสนานั้นมุ่งสอนให้มนุษย์รู้จักความพอดี ท่านพุทธทาสภิกขุเห็นว่าระบบสังคมนิยมที่ดีที่สุดนั้นอยู่ในเลือดในเนื้อของพุทธบริษัท ฆราวาสและบรรพชิตที่เป็นพุทธบริษัทจะถูกสั่งสอนอบรมและควบคุมไม่ให้กอบโกยส่วนเกิน ถ้าใครเอาส่วนเกินถือว่าบาป สิ่งเหล่านี้ “เป็นเจตนารมณ์ของพระพุทธศาสนาที่เป็นสังคมนิยม” [11] ส่วนสังคมสงฆ์นั้นท่านพุทธทาสภิกขุเห็นว่าสังคมสงฆ์เป็นสังคมต้นแบบของสังคมนิยม พระภิกษุเป็นตัวอย่างของบุคคลที่ไม่กอบโกยส่วนเกินและบริโภคตามความจำเป็นโดยที่พระสงฆ์จะได้รับการวางกฎเกณฑ์ไว้เป็นพิเศษเพื่อไม่ให้กอบโกยส่วนเกิน ชีวิตและความเป็นอยู่ของพระสงฆ์จึงเป็นต้นแบบของสังคมนิยมตามทัศนะของท่านพุทธทาสภิกขุดังท่านกล่าวว่า

          “ คำว่าสังฆะ แปลว่าหมู่หรือพวก ไม่ได้แปลว่าเดี่ยวหรือคนเดียว ... จากส่วนประกอบหลายร้อยหลายพันหลายหมื่นหน่วยดึงเข้าเป็นสังคมที่ถูกต้องที่อยู่ร่วมกันอย่างผาสุก...พระสงฆ์นี้เอาอะไรเกินไม่ได้ ถ้าเกินกว่าที่จำเป็นแล้วจะผิดวินัยทั้งนั้น...ถ้าแต่ละคนไม่เอาส่วนเกินแล้วมันก็จะเหลืออยู่มาก ส่วนเกินนั้นมันก็ตกทอดไปเป็นของคนอื่นคนอื่นก็ไม่ขาดแคลน ถ้ากอบโกยส่วนเกินไว้มากแล้วมันก็ต้องขาดแคลน... ฉะนั้นอุดมคติที่ว่าไม่เอาส่วนเกินของภิกษุสงฆ์นี้คือ รากฐานอันแท้จริงของสิ่งที่เรียกว่าสังคมนิยม” [12]

          อาจสรุปได้ว่า หลักการของพระพุทธศาสนาและสังคมสงฆ์ตามทัศนะของท่านพุทธทาสภิกขุเป็นสังคมนิยมหรือ ธรรมมิกสังคมนิยม เพราะมุ่งผลประโยชน์แก่สังคมเป็นใหญ่ พระพุทธศาสนาสอนให้มนุษย์ไม่เห็นแก่ตัวแต่ให้เห็นแก่สังคม สังคมสงฆ์เป็นแบบอย่างของการไม่กอบโกยส่วนเกินเป็นชีวิตที่ดำรงอยู่อย่างสันโดษและพอดี ท่านพุทธทาสภิกขุจึงตีความหลักการของพระพุทธศาสนาและสังคมสงฆ์ว่าเป็นสังคมนิยม โดยมโนทัศน์การไม่กอบโกยส่วนเกินและความไม่เห็นแก่ตัว

2. สังคมสงฆ์ในทัศนะของพระพรหมคุณาภรณ์

          พระพรหมคุณาภรณ์วิเคราะห์สังคมสงฆ์ว่าเป็นประชาธิปไตยโดยท่านนำเอาหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาอธิบายตามมโนทัศน์ของประชาธิปไตย ท่านได้นิยามความหมายของประชาธิปไตยว่า “เป็นการปกครองแบบที่จะทำให้สาระแห่งชีวิตของทุกคน ปรากฏผลงอกงามออกมาเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมและให้ผลประโยชน์แก่ส่วนรวมทุกอย่างนั้นสะท้อนกลับไปเป็นประโยชน์แก่ชีวิตทุกคน” [13] เป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชนและเพื่อประชาชนประชาชน ทุกคนได้รับประโยชน์ร่วมกัน พระพรหมคุณาภรณ์เห็นว่าการที่ประชาชนจะปกครองกันเองได้นั้น ประชาชนแต่ละคนจะต้องปกครองตนเองได้ก่อน การปกครองตนเองและปกครองกันเองเป็นมโนทัศน์ที่พระพรหมคุณาภรณ์ได้ให้ความสำคัญมาก เพราะการปกครองตนเองได้ของประชาชนก็คือ การที่ประชาชนรู้จักควบคุมตนเองให้ทำได้ในสิ่งที่ควรทำและให้งดเว้นในสิ่งที่ควรงดเว้น และการปกครองตนเองได้นี้มีความสัมพันธ์กับมโนทัศน์เรื่องเสรีภาพ ตามทัศนะของพระพรหมคุณาภรณ์ การปกครองตนเองได้ก็คือ ความสามารถในการใช้เสรีภาพ เสรีภาพจึงเป็นอุปกรณ์สำคัญในสังคมประชาธิปไตย[14] การปกครองตนเองได้จึงเป็นมโนทัศน์ที่สำคัญของประชาธิปไตยในทัศนะของพระพรหมคุณาภรณ์ คนที่ปกครองตนเองได้คือ “คนที่รู้จักวินิจฉัยและกระทำการต่างๆ ด้วยปัญญา ด้วยเหตุผล เอาหลักเอาธรรม เอาความจริง ความถูกต้อง คือไม่ถือตนเป็นประมาณ” [15] คุณสมบัติของประชาชนที่ปกครองตนเองเรียกว่า ธรรมาธิปไตย ดังนั้น คุณภาพของประชาธิปไตยขึ้นอยู่กับคุณภาพของประชาชน ถ้าประชาชนแต่ละคนปกครองตนเองได้ก็จะทำให้ประชาชนรู้จักใช้เสรีภาพอย่างถูกต้องและจะเกิดประชาธิปไตยที่ดี การพัฒนาคนให้มีคุณภาพและให้รู้จักปกครองตนเองได้ คือ สาระของประชาธิปไตย หลักธรรมในพุทธศาสนาเป็นเรื่องของการที่จะให้เกิดประชาธิปไตย เช่น คารวธรรม ซึ่งเป็นหลักธรรมที่สอนให้เคารพเพื่อนมนุษย์ มองเห็นคุณค่าและความสำคัญของผู้อื่น ยอมรับในความคิดเห็นของกันและกัน นอกจากนี้ยังมีหลักธรรมอื่นๆ อีกมากเช่น ขันติธรรม โสวจัสตา เป็นต้น ดังนั้น ตามทัศนะของพระพรหมคุณาภรณ์พระพุทธศาสนาจึงเป็นประชาธิปไตย เพราะหลักธรรมในพระพุทธศาสนานั้นสอนให้มนุษย์ปกครองตนเองได้และมองเห็นคุณค่าของมนุษย์ ยอมรับฟังความคิดเห็นของกันและกัน

          นอกจากนั้นพระพรหมคุณาภรณ์ยังได้อธิบายมโนทัศน์ของประชาธิปไตยตามความหมายของพระพุทธศาสนาไว้ดังนี้

          ความเสมอภาค พระพุทธศาสนาสอนว่า มนุษย์เกิดมาไม่เท่าเทียมกันในด้านร่างกาย เช่น ความแข็งแรง อ่อนแอ ผิวงาม ขี้เหร่ ผิวขาวผิวดำ มีสติปัญญาน้อยมีสติปัญญามากแตกต่างกัน แต่มนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกันในความเป็นมนุษย์และเท่าเทียมกันในกฎธรรมชาติ ดังนั้นหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาในเรื่องความเสมอภาค จึงสอดคล้องกับแนวคิดประชาธิปไตย

          เสรีภาพ มนุษย์ทุกคนมีเสรีภาพที่จะแก้ไขปรับปรุงชีวิตของตน มนุษย์เป็นผู้กำหนดชะตากรรมของตนเอง มนุษย์ทุกคนมีเสรีภาพเท่าเทียมกันในการกำหนดชะตาชีวิตของตน

          ภราดรภาพ พระพุทธศาสนาเห็นว่ามนุษย์และสัตว์เป็นเพื่อนร่วมทุกข์เกิด แก่ เจ็บ ตายร่วมกัน ทุกชีวิตจึงเป็นพี่น้องของกันและกันไม่มีแบ่งแยก

          จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า ตามทัศนะของพระพรหมคุณาภรณ์หลักการของพระพุทธศาสนามีความสอดคล้องกับประชาธิปไตยและเป็นรากฐานที่แท้จริงของประชาธิปไตย กล่าวคือ เป็นประชาธิปไตยที่มีเนื้อหาแบบพุทธ

          ส่วนสังคมสงฆ์ตามทัศนะของพระพรหมคุณาภรณ์นั้น คือ สังคมแห่งการศึกษา พระพุทธเจ้าทรงจัดตั้งสังคมสงฆ์ขึ้นก็เพื่อให้ป็นชุมชนที่เอื้อให้มนุษย์ได้เรียนรู้ฝึกฝนและพัฒนาตนให้เข้าถึงจุดหมายของชีวิต [16] การปกครองในสังคมสงฆ์หรือในพระพุทธศาสนาเป็นการปกครองเพื่อการศึกษาโดยเป็นสภาพเอื้อให้มนุษย์แต่ละคนบรรลุจุดหมายแห่การศึกษา ประชาธิปไตยที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยปัจจัยที่สำคัญคือ การศึกษา สังคมประชาธิปไตยจึงเปิดโอกาสให้ทุกคนได้รับการศึกษาอย่างเสมอภาคกัน “การสร้างสรรค์สังคมประชาธิปไตยก็คือ การสร้างสรรค์สังคมที่เอื้อต่อการศึกษา” [17] สังคมสงฆ์กับสังคมประชาธิปไตยตามทัศนะของพระพรหมคุณาภรณ์จึงเป็นสังคมเดียวกันเพียงแต่มองกันคนละด้านพระพรหมคุณาภรณ์เห็นว่าระบบสามัคคีธรรมหรือประชาธิปไตยในสมัยโบราณที่ใช้ปกครองในเมืองเวสาลีและลืมเลือนไปนั้นคงเหลืออยู่ในสังคมสงฆ์ ดังท่านกล่าวว่า “ระบบคณะสังคมสงฆ์นั้นเป็นระบบที่เรียกได้ว่าเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง” [17] สังคมสงฆ์จึงเป็นสังคมประชาธิปไตยพระพรหมคุณาภรณ์เห็นว่าโดยเนื้อแท้หลักการที่ใช้อยู่ในสังคมสงฆ์นั้น คือหลักการของประชาธิปไตยดังท่านกล่าวว่า

                   “ระบบความเป็นอยู่ในสังคมสงฆ์นั้น ถ้าเราวิเคราะห์ออกไป ก็คือหลักการของประชาธิปไตยที่ยึดถือธรรมาธิปไตยอย่างเคร่งครัด เบื้องต้นพระสงฆ์จะต้องมีระเบียบวินัยคือ ศีล เป็นเครื่องปิดกั้นโอกาสที่จะทำชั่ว และเปิดโอกาสในการที่จะทำความดีอยู่เสมอ แล้วให้มีสมาธิ คือฝึกจิตให้มีสติ มีวิริยะเข้มแข็งมั่นคงในการที่จะกระทำความดี และสร้างปัญญาในขั้นสูงสุดที่จะทำให้ผู้นั้นรู้ในตัวธรรม คือ ตัวความจริง ตัวสิ่งดีงาม เพื่อที่จะทำให้ถูกต้องได้อย่างสมบูรณ์ต่อไป” [18]

          ดังที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า พระพรหมคุณาภรณ์ได้วิเคราะห์สังคมสงฆ์ว่าเป็นประชาธิปไตยโดยนำมโนทัศน์เรื่องการปกครองตนเองและการปกครองกันเอง เสรีภาพความเสมอภาคและสังคมแห่งการศึกษามาวิเคราะห์ ซึ่งทำให้เห็นว่าสังคมสงฆ์กับสังคมประชาธิปไตยมีความสอดคล้องกัน หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาและวิถีชีวิตของสังคมสงฆ์นั้นเป็นรากฐานของประชาธิปไตยที่แท้จริง      

  1. เปรียบเทียบแนวคิดของท่านพุทธทาสภิกขุกับพระพรหมคุณาภรณ์

          จากการวิเคราะห์การให้ความหมายของสังคมสงฆ์ในทัศนะของท่านพุทธทาสภิกขุและพระพรหมคุณาภรณ์ เราจะเห็นได้ว่าท่านทั้งสองตีความสังคมสงฆ์แตกต่างกัน แต่ท่านทั้งสองก็มีลักษณะที่เหมือนกันบางประการ

          3.1. ทัศนะที่แตกต่างกัน

                   1) รากฐานความคิด

                             ท่านพุทธทาสภิกขุตีเห็นว่าสังคมสงฆ์ว่าเป็นสังคมนิยม โดยอาศัยรากฐานความคิดที่ท่านได้วิเคราะห์ สภาวะธรรมชาติ คำสอนของศาสนาต่างๆ การกำเนิดขึ้นของพระพุทธศาสนา หลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนา พุทธจริยา ลักษณะสังคมสงฆ์ และประเพณีของชาวพุทธว่ามีลักษณะเป็นสังคมนิยมโดยท่านนำมาวิเคราะห์กับมโนทัศน์ของแนวคิดตะวันตก โดยเฉพาะแนวคิดของสังคมนิยมสมัยใหม่คือมโนทัศน์เรื่องส่วนเกิน การเอาเปรียบทางชนชั้นแล้วโยงความคิดเรื่องสังคมนิยมเข้ากับธรรมราชาและระบบสมบูรณาญาสิทธิราช ระบบความคิดทางสังคมของท่านจึงเรียกว่า ธรรมิกสังคมนิยม ซึ่งแตกต่างจากพระพรหมคุณาภรณ์ เพราะพระพรหมคุณาภรณ์วิเคราะห์ธรรมชาติของมนุษย์ หลักการสำคัญของพระพุทธศาสนาคือ ธรรมวินัย ลักษณะของสังคมสงฆ์ หลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาแล้วนำมาวิเคราะห์กับมโนทัศน์ของแนวคิดตะวันตกคือ ประชาธิปไตย ประชาธิปไตยที่แท้จริงตามทัศนะของพระพรหมคุณาภรณ์คือประชาธิปไตยที่มีธรรมาธิปไตยเป็นรากฐาน ดังนั้นท่านพุทธทาสภิกขุและพระพรหมคุณาภรณ์จึงวิเคราะห์สังคมสงฆ์แตกต่างกันเพราะอาศัยรากฐานความคิดและมโนทัศน์ของตะวันตกที่แตกต่างกัน

                   2) สภาวะการณ์ที่เสนอแนวคิด

                             ท่านพุทธทาสภิกขุอุบัติขึ้นในขณะที่สังคมไทยอยู่ในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงรวดเร็วท่านได้อุทิศเวลาในการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในประเทศไทยพอสมควรแล้ว ประกอบกับในช่วงปี พ.ศ. 2516 ประเทศไทยกำลังมีความขัดแย้งทางความคิดทำให้เกิดความแตกแยกทางสังคมการเมืองอย่างรุนแรง ระหว่างแนวคิดสองฝ่ายคือ เสรีประชาธิปไตย กับสังคมนิยม โดยมีความขัดแย้งกันว่า ควรเป็นสังคมนิยมดีหรือไม่เป็นสังคมนิยมดี ท่านจึงเสนอแนวคิดทางการเมืองในรูปของธรรมาธิปไตย คือ การจัดระเบียบสังคมตามหลักพระศาสนา ขณะที่แนวคิดของพระพรหมคุณาภรณ์นั้นมาจากการเรียกร้องประชาธิปไตยที่แท้จริง เนื่องจากสังคมนิยมได้ล่มสลายไปแล้วจากสังคมไทยท่านจึงได้เสนอหลักการและวิธีการที่จะให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยที่แท้จริงที่เรียกว่า ประชาธิปไตยที่มีธรรมาธิปไตยเป็นรากฐาน ดังนั้น สถานการณ์ที่แตกต่างกันทำให้ท่านทั้งสองตีความสังคมสงฆ์แตกต่างกันไปด้วย

                   3) การตีความสังคมสงฆ์

                             ท่านพุทธทาสภิกขุตีความสังคมสงฆ์ว่าเป็นสังคมนิยมโดยท่านวิเคราะห์ว่า พุทธจริยาและคำสอนของพระพุทธเจ้ามุ่งประโยชน์ของสังคมเป็นใหญ่ พระองค์อุทิศชีวิตทั้งหมดเพื่ออนุเคราะห์โลก และช่วยเหลือโลกคำสอนของพระองค์สอนให้มนุษย์ทำลายความเห็นแก่ตัวให้ดำรงชีวิตอยู่ด้วยความสันโดษ ไม่ให้กอบโกยส่วนเกิน มนุษย์ดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันด้วยความเมตตาและสมดุลสอดคล้องกับธรรมชาติ ประเพณีและวัฒนธรรมของชาวพุทธก็มุ่งเพื่อช่วยเหลือสังคมไม่ให้มีการกอบโกยส่วนเกินโดยเฉพาะสังคมสงฆ์ มีการวางระเบียบวินัยไว้เป็นพิเศษ เพื่อไม่ให้มีการกอบโกยส่วนเกิน การไม่เอาส่วนเกินของภิกษุนั้นท่านพุทธทาสภิกขุเห็นว่าคือรากฐานอันแท้จริงของสิ่งที่เรียกว่าสังคมนิยม ขณะที่พระพรหมคุณาภรณ์ตีความว่าสังคมสงฆ์เป็นประชาธิปไตยโดยท่านวิเคราะห์ว่าธรรมชาติของมนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้และต้องฝึก โดยฝึกให้มนุษย์ปกครองตนเองได้พระพุทธเจ้าจัดตั้งสังคมสงฆ์ขึ้นเพื่อให้เป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการที่มนุษย์จะได้ฝึกฝนพัฒนาตนเองเพื่อเข้าถึงจุดหมายของชีวิต ตามทัศนะของพระพรหมคุณาภรณ์สังคมสงฆ์เป็นสังคมแห่งการศึกษาซึ่งสอดคล้องกับสังคมประชาธิปไตย ที่เป็นระบบการปกครองที่จัดสรรสังคมเพื่อให้เกิดโอกาสดีที่สุดในการสร้างสรรค์ที่จะทำให้ชีวิตและสังคมบรรลุประโยชน์สูงสุด มโนทัศน์ของประชาธิปไตยคือการปกครองตนเองและปกครองกันเองสอดคล้องกับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาที่ทำให้คนปกครองตนเองได้ พระพรหมคุณาภรณ์เห็นว่ามโนทัศน์ของประชาธิปไตย คือ เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพนั้นมีอยู่แล้ว ในหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา ส่วนสังคมสงฆ์นั้นเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ดังนั้น สังคมสงฆ์ของท่านพุทธทาสภิกขุและพระพรหมคุณาภรณ์จึงแตกต่างกันโดยท่านทั้งสองได้นำหลักธรรมของพระพุทธศาสนาอธิบายมโนทัศน์ของตะวันตกที่แตกต่างกัน

          3.2. ทัศนะที่สอดคล้องกันของแนวคิดของท่านพุทธทาสภิกขุกับพระพรหมคุณาภรณ์

                   แม้ว่าท่านพุทธทาสภิกขุและพระพรหมคุณาภรณ์จะตีความสังคมสงฆ์แตกต่างกันแต่ท่านทั้งสองก็มีบางลักษณะที่สอดคล้องกัน

                   1) การวิพากษ์สังคมปัจจุบัน

                             ท่านพุทธทาสภิกขุเห็นว่าสังคมปัจจุบันถูกครอบงำด้วยวัตถุนิยมและบริโภคนิยม ส่วนลัทธิการเมืองแบบเสรีประชาธิปไตยและสังคมนิยมนั้น ยังเป็นลัทธิการเมืองที่ไม่ประกอบด้วยธรรมเพราะสังคมนิยมแบบมาร์กมีข้อบกพร่องที่ว่าเป็นเผด็จการอันโหดเหี้ยม มีโทสะและพยาบาทเป็นเจ้าเรือน แก้ปัญหาของโลกด้วยการใช้กำลังบังคับขู่เข็ญด้วยความรุนแรงไม่เคารพความแตกต่างของปัจเจกบุคคลอย่างเพียงพอ ขณะที่เสรีประชาธิปไตยนั้นมีพื้นฐานที่เห็นแก่ผลประโยชน์ของปัจเจกบุคคลมากกว่าเห็นแก่สังคมส่วนรวมทำให้มนุษย์มีความเห็นแก่ตัว เป็นสังคมที่กระตุ้นตัณหาของมนุษย์ให้มีการคดโกงเอาเปรียบกัน ปัจเจกบุคคลมีอิสระเสรีที่จะทำตามกิเลสมากเกินไปซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของพระพรหมคุณาภรณ์ที่เห็นว่าประชาธิปไตยปัจจุบันที่ถูกครอบงำด้วยระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมหรือตลาดเสรีทำให้ความหมายของประชาธิปไตยคลาดเคลื่อนไปจากความหมายที่แท้จริง คือมองไปในลักษณะที่เป็นการแบ่งแยก และแย่งชิงเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง ท่านเห็นว่าระบบการเมืองที่ไม่มีธรรมาธิปไตยเป็นรากฐานจะทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประโยชน์ของบุคคลกับสังคม ทำให้เกิดความแตกแยกเป็นสองฝ่าย สังคมประชาธิปไตยแบบทุนนิยมที่มุ่งเอาผลประโยชน์ของบุคคลเป็นใหญ่ กับสังคมนิยมที่มุ่งเอาผลประโยชน์ของสังคมเป็นใหญ่ซึ่งกลายเป็นความสุดโด่งทั้งสองฝ่าย

                             ดังนั้น ท่านพุทธทาสภิกขุและพระพรหมคุณาภรณ์จึงมีลักษณะที่คล้ายกันที่เห็นว่าสังคมปัจจุบันมีปัญหาคือเป็นสังคมที่ไม่ประกอบด้วยธรรมและเป็นระบบความคิดที่สุดโด่งยังไม่สามารถประสานผลประโยชน์ของบุคคลกับสังคมให้สอดคล้องกัน

                   2) ธรรมาธิปไตย

                             ท่านพุทธทาสภิกขุและพระพรหมคุณาภรณ์เห็นว่าระบบสังคมการเมืองที่จะแก้ปัญหาของโลกได้นั้นจะต้องมีธรรมาธิปไตยเป็นรากฐาน ธรรมาธิปไตยในความหมายของท่านทั้งสองคือ คุณสมบัติของผู้ที่จะเข้ามาจัดการควบคุมปกครองสังคมให้เป็นสังคมที่ประกอบอยู่ด้วยธรรม ท่านพุทธทาสภิกขุเรียกว่าธรรมิกสังคมนิยม ส่วนพระพรหมคุณาภรณ์เรียกว่าประชาธิปไตยที่มีธรรมาธิปไตยเป็นรากฐาน ซึ่งระบบทั้งสองนี้จะสามารถประสานให้ผลประโยชน์ของบุคคลกับผลประโยชน์ของสังคมเป็นไปอย่างสอดคล้องกัน

                   3) การมุ่งผลประโยชน์ของสังคมเป็นหลักเหมือนกัน

                             แนวคิดของท่านพุทธทาสภิกขุที่เรียกธรรมิกสังคมนิยม และแนวคิดของพระพรหมคุณาภรณ์ที่เรียกว่าประชาธิปไตยที่มีธรรมาธิปไตยเป็นรากฐานต่างก็มุ่งเพื่อผลประโยชน์สุขของสังคมด้วยกัน ซึ่งจะเห็นได้จากการที่ท่านพุทธทาสภิกขุกล่าวว่า “โดยเจตนารมณ์ของพุทธศาสนาแล้วเป็นสังคมนิยมอย่างพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า “ตถาคตเกิดขึ้นมาในโลกนี้เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่เทวดา และมนุษย์ไม่ใช่เพื่อใครคนใดคนหนึ่งหรือเพื่อพระองค์เอง” ขณะที่พระพรหมคุณาภรณ์กล่าวว่า “การปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้นเป็นระบบจัดสรรสังคมเพื่อให้เกิดโอกาสดีที่สุดในการสร้างสรรค์ที่จะทำให้ชีวิตและสังคมบรรลุประโยชน์สุขสูงสุด”

4. สรุป

          ดังนั้น แนวคิดของท่านพุทธทาสภิกขุและแนวคิดของพระพรหมคุณาภรณ์จึงเป็นแนวคิดที่นำเอาหลักการของพระพุทธศาสนาและสังคมสงฆ์มาอธิบายมโนทัศน์ของแนวคิดในสังคมปัจจุบันคือ แนวคิดแบบประชาธิปไตยกับแนวคิดสังคมนิยม แต่เมื่อพิจารณาแนวคิดของท่านทั้งสองอย่างแท้จริงแล้ว จะเห็นว่าแนวคิดของท่านพุทธทาสภิกขุที่เรียกว่าธรรมิกสังคมนิยมกับแนวคิดของพระพรหมคุณาภรณ์ที่เรียกว่า ประชาธิปไตยที่มีธรรมาธิปไตยเป็นรากฐานมีความคล้ายคลึงกันมาก โดยเฉพาะในด้านสาระที่แท้จริงที่ต้องการเข้าถึงคือการเข้าถึงประโยชน์ของสังคมส่วนรวมเป็นหลักและต้องการให้สมาชิกในสังคมยึดมั่นในธรรมโดยที่แต่ละคนปกครองตนเองได้ ทำลายความเห็นแก่ตัวแล้วมาร่วมกันเพื่อสร้างสรรค์ประโยชน์ของสังคมเป็นหลัก ท่านทั้งสองเชื่อว่าแนวคิดตามหลักการของพระพุทธศาสนาเป็นแนวคิดที่มีความสมบูรณ์พร้อมที่จะช่วยแก้ปัญหาของสังคมไทยและสังคมโลกปัจจุบันได้

 

เอกสารอ้างอิง

 

[1]  สันติกโรภิกขุ, อริยสัจสี่แห่งธรรมิกสังคมนิยม. จิรธัมแปล ,

กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, 2542,หน้า57.

[2]   ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์, “พุทธทาสภิกขุกับ

ทฤษฎีธรรมิกสังคมนิยม”ในพุทธศาสตร์ศึกษา. ปีที่ 3

ฉบับที่ 2 พฤษภาคม-สิงหาคม 2539,หน้า 31.

[3]  รัญจวน อินทรกำแหง, “ประชาธิปไตยแบบธรรมิกสังคมนิยม”

ใน ปาจารยสาร.ปีที่ 12 ฉบับที่ 6 พฤศจิกายน-ธันวาคม 2528, หน้า101.

[4]  พระไพศาล วิสาโล, พุทธศาสนากับคุณค่าร่วมสมัย. กรุงเทพมหานคร :

สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง,2529, หน้า 115.

[5]  พุทธทาส อินฺทปญฺโญ, ธัมมิกสังคมนิยม.,กรุงเทพมหานคร :

         สำนักพิมพ์สยามประเทศ,2538, หน้า 35ซ.

[6]  ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์, “พุทธทาสภิกขุกับทฤษฎีธรรมิกสังคมนิยม”

ในพุทธศาสตร์ศึกษา. ปีที่ 3 ฉบับที่ 2 พฤษภาคม-สิงหาคม 2539,หน้า 39.

[7]  พระไพศาล วิสาโล, พุทธศาสนากับคุณค่าร่วมสมัย. กรุงเทพมหานคร :

สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง,2529, หน้า 123.

[8]  พุทธทาส อินฺทปญฺโญ, ธัมมิกสังคมนิยม.,กรุงเทพมหานคร :

         สำนักพิมพ์สยามประเทศ,2538, หน้า 18.

[9]  ปรีชา ช้างขวัญยืน, ความคิดทางการเมืองของท่านพุทธทาสภิกขุ

,กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2538, หน้า 9.

[10]  พุทธทาส อินฺทปญฺโญ, ธัมมิกสังคมนิยม.,กรุงเทพมหานคร :

         สำนักพิมพ์สยามประเทศ,2538, หน้า 26.

[11]  พุทธทาส อินฺทปญฺโญ, ธัมมิกสังคมนิยม.,กรุงเทพมหานคร :

         สำนักพิมพ์สยามประเทศ,2538, หน้า 29.

[12]  พุทธทาส อินฺทปญฺโญ, ธัมมิกสังคมนิยม.,กรุงเทพมหานคร :

         สำนักพิมพ์สยามประเทศ,2538, หน้า 122-124.

[13]  พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต), พุทธศาสนากับสังคมไทย.

กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง,2532.หน้า 5.

[14]  พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต), พุทธศาสนากับสังคมไทย.

กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง,2532.หน้า 7.

[15]  พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต), พุทธศาสนากับสังคมไทย.

กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง,2532.หน้า 11.

[16]  พระธรรมปิฏก (ป.อ. ปยุตฺโต), มองสันติภาพโลกผ่านภูมิหลัง

อารยธรรมโลกาภิวัตน์. กรุงเทพมหานคร : จัดพิมพ์โดยกองทุนวุฒิธรรม, 2542. หน้า 16.

[17]  พระธรรมปิฏก (ป.อ. ปยุตฺโต), “กระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาการสู่

ประชาธิปไตย” ใน นิตยสารพุทธจักร. ฉบับที่ 12 ธันวาคม 2541. หน้า 44.

[18]  พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต), พุทธศาสนากับสังคมไทย.

กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง,2532.หน้า 39.

[19]  พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต), พุทธศาสนากับสังคมไทย.

กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง,2532.หน้า 53.

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 564701เขียนเมื่อ 26 มีนาคม 2014 10:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มีนาคม 2014 10:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท