ความหวังใหม่ของชาวไทย "สภาชาวนา"


ผมได้ยินชื่อหลวงปู่ "พุทธอิสระ" ครั้งแรกนานหลายปี จากคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ให้ทุนเรียน ป.ตรี คือ "มูลนิธิไชยย้ง ลิ้มทองกุล".... ไม่ใช่ว่าเพื่อตอบแทนบุญคุณ จึงเชื่อและสนับสนุนทุกเรื่อง แต่ความเชื่อและความศรัทธาต่อหลวงปู่ฯ ค่อยๆ เกิดขึ้นหลังจากที่ได้พิจารณาจากข้อมูลอย่างรอบด้าน และเพิ่งจะเกิดมาไม่นานนี้เอง ทุกวันนี้ ผมติดตามเวทีชุมนุมที่แจ้งวัฒนะโดยดูคลิปบันทึกทุกวัน .... จนเกิดความเชื่อมั่นแล้วว่า หลวงปู่พุทธอิสระท่านทำเพื่อชาวนาชาวไร่ และชาวไทยจริงๆ

หลวงปู่พุทธอิสระ ท่านกำลังผลักดันให้มี "สภาชาวนาไทย"  "สภาคุณธรรมจริยธรรมแห่งชาติ"  และ "สภาพลังงาน"  เรื่องพลังงานเป็นเรื่องสำคัญยิ่งเพราะเกี่ยวข้องผลประโยชน์-ปากท้อง ของประชาชนไทยทุกคน เป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนซ่อนเงื่อน เกินภูมิรู้ของผมที่จะร่วมขบวนปฏิรูป  แต่ถ้าเป็นเรื่อง "สภาพชาวนาไทย" และ "สภาคุณธรรมจริยธรรมแห่งชาติ" ผมมีใจอาสา อยากเข้าไปร่วมพัฒนาปฏิรูปด้วยคน...

หลวงปู่ได้จัดทำพิมพ์เขียวของสภาชาวนาไทย ๒๙ ข้อ อ่านได้ที่นี่ แล้วเริ่มนำไปยื่นต่อหน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องบ้างแล้ว  แนวปฏิบัติทั้ง ๒๙ ข้อ น่าสนใจอย่างยิ่ง ผมสังเคราะห์เอาหลักการได้ ๔ ประการดังนี้ครับ

๑) ทำให้ "ชาวนา" ทุกคน มีที่ "ทำกิน" ที่สามารถ "ทำกิน" ได้

    ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง....  เป็นไปได้อย่างไร คนไทยเคยผลิตข้าวส่งออกเป็นอันดับ ๑ ของโลก แต่มีประชาชนที่ไม่มีข้าวกิน....  ผมไม่คิดว่าประชาชนในกลุ่มประเทศผลิตน้ำมัน จะไม่มีน้ำมันใช้.... หากทำข้อนี้ไม่ได้ ก็ต้องถือว่า "ไม่พอเพียง"
    มาตรการหลายอย่าง ที่ต้องทำและได้นำเสนอไว้ใน ๒๙ นี้ได้แก่

  • พัฒนาคุณภาพ จัดพื้นที่เพาะปลูกให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาดและผู้บริโภค
  • จัดทำแหล่งชลประทานให้ทั่วถึง 
  • จัดให้มี กฎหมายปฏิรูปจัดการที่ดินทำกิน โดยแบ่งจากนายทุนที่มีที่ดินมาก มาให้แก่ชาวนาและเกษตรกรที่ยังไม่มีที่ทำกิน โดยให้สภาชาวนาเป็นผู้จัดซื้อและขายให้ชาวนาที่ยังไม่มีที่ดินทำกิน ถ้าไม่ขายจะโดนภาษีสูง
  • กำหนดอัตราเช่าพื้นที่ทำกินของเกษตรกรที่ต้องเป็นธรรม มีกฎหมาย ข้อนี้ตั้งแต่ปี 2525 การกำหนดอัตราการเช่าที่ดินทำกินแก่เกษตรกรมีอยู่แต่ไม่ได้ใช้ เจ้าของที่ดินขึ้นราคาตามอำเภอใจ สมัยเด็กตาเช่าที่ไร่ละ 5 บาท ที่วัดเช่าไร่ละ 3 บาท เดี๋ยวนี้เช่าทีนึงเป็นหมื่นต่อปี 

 ๒) จัดให้ "ชาวนา" "ทำกิน" อย่างมีหลักวิชา น้อมนำหลักปรัชญา ปศพพ. มาใช้เป็น "หลักคิด" และ "หลักปฎิบัติ"
     
      อันนี้ยิ่งเห็นด้วยเป็นที่สุด.... เพราะปัญหาจริงๆ คือ การศึกษา การศึกษาที่ไม่สามารถพัฒนาให้คนเป็นผู้ใฝ่รู้ใฝ่เรียน (แม้จะเขียนไว้ในหลักสูตร ๕๑)  การทำนาที่ผ่านมาจึงเป็นการทำสักแต่ได้ทำ ทำไปตามที่เคยทำ ทำตามที่เขาว่ามาดี  ไม่มีการศึกษาทดลอง ลองผิดลองถูกอย่างเป็นระบบ นักวิชาการนั่งอยู่ในห้องแอร์ หอคอยงาช้าง ไม่ได้หาทางช่วยเหลือ "ชาวนา" ด้วยหลักวิชาที่ตนเชี่ยวชาญ (ทางทฤษฎี) เลย 
      มาตรการและแนวทาง ที่ได้นำเสนอไว้ใน ๒๙ ข้อ มีดังนี้ครับ

  • กำหนดคุณภาพของผลผลิตให้ตรงกับคุณภาพความต้องการของตลาดและผู้บริโภค เพราะปัจจุบัน ข้าวของไทยไม่สามารถขายได้เพราะเป็นข้าวนาปรัง หุงก็แข็ง ไม่ขึ้นหม้อ ต้มข้าวต้มกินก็ไม่อร่อย ไม่เหมือนข้าวนาปี หอมมะลิ ซึ่งเป็นข้าวชั้นหนึ่งของโลก เพราะทุกคนอยากได้เงินจำนำข้าว จึงเร่งผลิต เพื่อให้ได้เงินมากๆ สุดท้ายเงินก็ไม่ได้ ข้าวก็ไม่ได้ขาย ไม่มีใครซื้อ เป็นวงจรอุบาทว์ ชาวนาจนตรอก จากที่เคยขายเป็นอันดับหนึ่ง ก็เป็นอันดับแปด เป็นความล่มสลายของอาชีพชาวนา โดยนักการเมืองที่หวังแต่คะแนนนิยม โดยไม่สนใจว่าคนจะอยู่ได้หรือไม่ได้
  • จัดอบรมความรู้เรื่องดิน และแก้ปัญหาดินและน้ำ ปัจจัยการผลิตที่ดี คือ ดิน ปุ๋ย น้ำ ..(5 ดี) อย่างใดอย่างหนึ่งหายไปก็ต้องเติม เมื่อเติมต้นทุนสูงขึ้น เราก็ขายได้กำไรน้อย เพราะทุนสูง ก่อนจะปลูกข้าวพันธ์ุอะไรต้องเอาดินมาดู เอาน้ำมาตรวจว่ามีความเหมาะสมกับการปลูกที่นี่หรือไม่ ต้องวิเคราะห์คำนวณ ไม่ปลูกส่งเดชแบบเทวดาบันดาล ต้องคิดให้เป็นต้องรู้จักนิสัยสันดานของพืช
  • จัดให้มีนักธรณีวิทยา มีความรู้ในที่กำหนดพื้นที่ความเหมาะสมในการปลูกพืช เป็นภาควิชาหนึ่งในมหาวิทยาลัยเกษตรฯ แต่มีคนเรียนน้อยมาก เพราะไม่รู้เอาไปทำอะไร วิชานี้สามารถบอกได้ว่าดินชนิดนี้ประกอบด้วยแร่ธาตุ และเหมาะกับพืชชนิดใด ไม่เหมาะกับชนิดใด ตำบลละไม่ต่ำกว่า 5 คน มีหน้าที่คอยชี้นำเกษตรกรว่าพื้นที่นั้นๆ ควรปลูกอะไร 
  • จัดอบรมเทคนิคความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ ชาวนาทำนาไปเบิกปุ๋ย ธ.ก.ส. แต่ ธ.ก.ส.ให้ปุ๋ยปลูกผักมา ข้าวใบงาม แต่ไม่มีรวง ผักมันต้องการใบและต้น ไม่ต้องการดอกผล กลายเป็นเคราะห์กรรมของชาวนา ถ้าต้องการรวงก็ต้องไปกู้มาใหม่ ซวยซ้ำซ้อน ถ้ามีสภาเกษตรกรจะทำหน้าที่คัดสรรปุ๋ยให้เหมาะสมกับชนิดพันธุ์พืช
  • จัดให้มีสถาบันการศึกษาส่งเสริมการทำอาชีพชาวนา มีโรงเรียนเฉพาะทาง
  • ส่งเสริมปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้ครอบครัวเกษตรกรยึดถือเป็นแบบปฏิบัติ มีที่ 5 ไร่ ทำนา ทำสวน เลี้ยงปลา มีคอกสัตว์  ใครไม่ทำไม่มีสิทธิได้รับเงินบำนาญ


๓)  บริหารจัดการ "ระบบข้าว" อย่างครบวงจร ทั้ง "การผลิต" "การพาณิชย์" และการพัฒนาทั้งคนและข้าว ดังที่กล่าวใน ๒ ข้อแรก

     ส่วนนี้ผมไม่มีภูมิรู้พอที่จะให้ความเห็นใดๆ ผมมองว่า ตอนนี้ "คนไทย" โดยเฉพาะ "ลูกชาวนา" (อย่างผม) ไม่ได้ถูกส่งเสียให้เรียนรู้ และภูมิใจเรื่องในความเป็น "ชาวนา" มาตั้งแต่แรก ....  พ่อแม่หลายคนสอนให้ลูก ร่ำเรียนให้สูงที่สุดเพื่อที่จะ "ถีบ หนี" ไปให้พ้นจากการเป็น "ชาวนา"  ดังนั้นการฝากความหวังไว้ว่าจะต้องให้ "ชาวนา" เท่านั้น ที่จะเข้ามา เป็นผู้บริหารจัดการและค้าขายเอง จึงอาจเป็นเรื่องยาก .... แต่ถ้าการเมืองถูกปฏิรูป ผมคิดว่า คนเก่ง คนดี ที่มีอยู่ในแผ่นดิน จะเข้ามาช่วยเหลือ "ชาวนา" ให้ "พึ่งพาตนเอง" ได้ต่อไป

    มาตรการต่างๆ ที่ทางหลวงปู่ ชูมาเป็นแนวทาง มีดังนี้ครับ

  • สภาชาวนาเป็นผู้รวบรวมผลผลิตด้วยตนเอง โดยไม่ต้องอาศัยคนกลาง ข้อนี้จะทำให้หลวงปู่หัวเป็นรู เพราะพวกพ่อค้าเขาจะลงขันกัน
  • จัดให้เกษตรกรสามารถขายผลผลิตได้ด้วยสภาชาวนาและเกษตรกรเอง ที่ผ่านมาเราใช้บริการของรัฐบาล แต่เดี๋ยวนี้เราจะใช้บริการของตัวเราเองและสภาชาวนา
  • จัดให้มีการวิจัยผลผลิตเกษตรกร ตามความต้องการของสภาชาวนาและเกษตร ที่ผ่านมาเราทำตามความต้องการของตัวเงิน โดยไม่สนใจผู้บริโภค จึงขายไม่ได้ เมื่อมีสภาชาวนาต้องมีการวิจัยตลาด ผู้บริโภค วิธีการเพาะปลูกเพื่อให้ขายได้ราคา เช่น ตัวอย่าง ข้าวสังข์หยด ราคาโลละ 150 บาท ข้าวนาปรังขายได้โลละ 6 บาท อย่างนี้ทำต่อไปไม่ได้แล้ว ข้าวหอมนิล ขายพันธุ์ข้าวโลละ 200 บาท ขายจมูกข้าวโลละ1,000 บาท 
  • ส่งเสริมให้ลดต้นทุนการผลิตเพื่อให้ได้คุณภาพและต้นทุนที่เหมาะสม เลิกการทำตามๆ กันไป เช่นการใส่ปุ๋ยยามากมายทำลายดินให้กลายเป็นดินดาน การลดต้นทุนได้ คือ มีอากาศดี พันธุ์พืชดี ดูแลรักษาดี (5 ดี ) นำมาซึ่งการลดต้นทุนการผลิตได้ ต้องศึกษาอบรม
  • ส่งเสริมการผลิต จัดหาปุ๋ยราคาถูก และปัจจัยการผลิตอื่นๆ โดยสภาชาวนาจัดหามาในราคาต้นทุน ไม่ต้องอาศัยบริการของร้านขายปุ๋ยอีกต่อไปแล้ว
  • จัดให้มีโรงงานผลิตปุ๋ยโดยสภาชาวนา เพื่อสมาชิกจะได้ใช้ปุ๋ยดีราคาถูกที่ทำโดยชาวนาเอง เราเคยมีบริษัทปุ๋ยแห่งชาติ ในสมัยรัฐบาลเกรียงศักดิ์ แต่เลิกทำ ทั้งๆ ที่เรามีการทำการเกษตร และประชากรทำเกษตรเป็นจำนวนมาก แต่ไต้หวันเขามีชาวนาไม่มาก แต่ผลิตปุ่ยออกมาขายคนทั่วโลก เพราะเราไปติดที่เบ็ดพ่อค้าปุ๋ย บริษัทปุ๋ย ต่อไปนี้ไม่ใช้บริการของรัฐบาลแล้ว ชาวนาจะทำเอง
  • จัดให้มียุ้งฉางและลานตากผลผลิตให้เกษตรกรในแต่ละตำบล เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิต ขายให้สภาเก็บเอาไว้ในยุ้งฉาง เมื่อราคาตลาดสูงจึงขายออกไป มีส่วนต่างที่ได้กำไรจากต้นทุนที่รับซื้อไว้ก็คืนให้ชาวนา
  • จัดให้มีการอบรมความรู้การพัฒนาตลาดให้แก่เกษตรกร เช่น การปลูกข้าวหอมนิล จมูกข้าวมีราคาสูงมาก กิโลละเป็นพัน ถ้ามีความรู้ในเรื่องนี้ เราก็จะมีกระบวนการพัฒนาเรียนรู้ศึกษา
  • จัดให้มีการอบรมการผลิต การตลาด การเงิน บัญชี แก่เกษตรกรอย่างครบถ้วน เราจะมีนายธนาคารที่มาจากลูกหลานชาวนา
  • จัดให้มีธนาคารชาวนาและเกษตรกรแห่งประเทศไทยเป็นผู้จัดซื้อที่ดิน ให้ชาวนาซื้อผ่อนชำระโดยนำผลผลิตของตนแก่ธนาคารเป็นค่าที่ดิน เช่น ทำนาก็เอาข้าวมาผ่อนชำระซื้อที่

 ๔) ยกระดับคุณภาพชีวิตของ "ชาวนา" 

      ข้อนี้เป็นเรื่องที่แตกต่างยิ่งเมื่อเทียบกับ "ประเทศที่พัฒนาแล้ว"  ชาวนาและเกษตรกรล้วนแต่เป็นคนมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีฐานะดี และเป็นที่พึ่งให้กับอาชีพอื่นๆ ในประเทศ  เกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย "ชาวนา" ไทย ทำไมคนถึงเอาคำว่า "ไพร่" มาปลุกระดมหลอกลวงชาวบ้านได้ ....
      มาตรการที่หลวงปู่เสนอไว้ใน ๒๙ ข้อ มีดังนี้ครับ

  • ส่งเสริมให้ทุกครอบครัวปลูกไม้ยืนต้นเนื้อแข็ง ไว้เป็นสมบัติของลูกหลานในอนาคต สมัยก่อนจะปลูกต้นไม้ในหัวไร่ปลายนา เมื่อลูกหลานโตก็ให้ไม้มาเป็นเรือนหอ ให้มาเป็นทอดๆ เอาไปทำไม้กระดาน ไม้ฝา คนอีสานสมัยนั้นมีบ้านไม้อยู่โอ่อ่า ไม่ได้ตัดป่า แต่ตัดจากหัวไร่ปลายนาที่บรรพบุรุษปลูกไว้ ถือว่าเปืนสมบัติระยะยาว
  • จัดให้มีเงินกองทุนชาวนาเกษตรกร จัดให้ลูกหลานชาวนาเกษตรกรเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมกันแต่เกิดจนตาย
  • จัดให้มีภาษีการศึกษาโดยกำหนดเป็นกฎหมายจากภาษี ทุกคนได้เรีบนฟรีตั้งแต่เกิดจนตายทุกชั้นเรียน
  • ขอเพิ่มจำนวนการจัดโควตาการศึกษาให้ลูกหลานชาวนาเกษตรกรในมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นอย่างน้อย สองในห้าของจำนวนนักศึกษาในสถาบัน
  • จัดอบรมส่งเสริมสุขภาพที่ดีแก่เกษตรกรและกสิกรรม เช่น เอายาฆ่าแมลงใส่ถังแล้วเอามือคน ฉีดยาไม่ใส่เสื้อผ้าแล้วตายผ่อนส่ง
  • ส่งเสริมวัฒนธรรมจารีตประเพณีในท้องถิ่นเพื่อให้มีความเข้มแข้ง ให้พี่น้องไม่แตกแยกกัน มาร่วมกันในงานศิลปวัฒนธรรมนั้น ลูกเสื้อแดงมาเจอลูกเสื้อเหลืองแต่งงานกันเพราะมาเจอกันที่งานก่อเจดีย์พระ ทราย เป็นต้น (ฮา)
  • ส่งเสริมการทำสื่อเพื่อเกษตรกร ให้เขาได้ออกทีวีบ้าง
  • ยกย่องอาชีพชาวนาเกษตรกรว่าเป็นอาชีพที่ทรงเกียรติของประเทศไทย

 ๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗

หากท่านพิจารณาให้ดี หลวงปู่องค์นี้ เป็นพระดีที่น่าเคารพกราบไหว้ยิ่ง .... เพราะท่านได้พิสูนจ์ให้เห็นจริงแล้ว ทั้งอดีตจนถึงปัจจุบัน ว่าท่านนั้นทำเพื่อแผ่นดินจริงๆ .....

หมายเลขบันทึก: 564052เขียนเมื่อ 17 มีนาคม 2014 12:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มีนาคม 2014 12:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

แนวคิดท่านคล้ายกับรัฐสวัสดิการเลยครับ

ผมไม่มีความรู้เรื่อง "รัฐสวัสดิการ" ครับ แต่ว่า ผมว่า ประเทศใดๆ ก็ตาม ถ้าขาดหลัก "ความเป็นธรรม" หรือ มีระบบที่ออกไปไกลห่างจาก "ธรรมาธิปไตย" มาก .... ไม่น่าสมดุลอยู่ได้นานนัก

ขออนุญาตนำไปเผยแพร่ใน Facebook นะครับอาจารย์

ยินดี และขอบพระคุณท่าน ที่จะนำไปเผยแพร่ครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท