ข้อสังเกต : ๖ เด็กสองหัว


     ดูข่าวทีวีวันนี้เป็นเรื่อง นางปวีณา หงสกุล เดินทางไปให้กำลังใจแก่ครอบครัวหนึ่งที่ประสบเหตุการณ์ คลอดทารกเพศหญิงออกมาแล้วปรากฏว่ามี ๒ หัวในร่างเดียว จึงเรียกร้องขอความเป็นธรรมจากมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี เนื่องจากตอนไปอัลตราซาวด์ที่โรงพยาบาลนั้น โรงพยาลไม่ได้แจ้งว่าเป็นทารก ๒ หัว (ดูรายละเอียดข่าวที่ http://www.thairath.co.th/content/region/410308)

     ท่านผู้อ่านอาจสงสัยว่า ทารก ๒ หัว มันไม่น่าใช่ความผิดของแพทย์ มันน่าจะเป็นปัญหาด้านพันธุกรรมมากกว่า ทำไมจึงต้องเรียกร้องค่าเสียหายจากแพทย์ผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้วย จริงๆ ข้อนี้ยังเป็นเรื่องที่ต้องมีกระบวนการพิสูจน์กันในชั้นศาลอยู่อีกนะครับ ว่าแพทย์ได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนไปอย่างเต็มความสามารถ ตามมาตรฐานวิชาชีพหรือไม่ ถ้าเป็นไปอย่างเต็มที่แล้ว ผมว่ากรณีคงจะโทษแพทย์ไม่ได้ แต่ส่วนที่ทำให้ศาลสามารถกำหนดความเสียหายในคดีนี้ได้ ทั้งนี้เนื่องมากจาก หากแพทย์บกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่จนเป็นเหตุให้มารดาผู้มาฝากครรภ์เชื่อว่าทารกในครรภ์สมบูรณ์ดีแล้ว แต่เมื่อได้ทำการคลอดผลปรากฏว่า ทารกคลอดออกมาพิการ เช่นนี้ย่อมถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิ์ของมารดาโดยแพทย์ผู้นั้น เพราะอะไรหล่ะครับ ก็เพราะว่าตามปกติแล้ว มารดาที่รู้ว่าทารกในครรภ์พิการย่อมมีสิทธิที่จะทำแท้งได้โดยชอบด้วยกฎหมาย โดยผมจะขอกล่าวถึงข้อกฎหมายพอสังเขป ดังนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญา ได้บัญญัติเกี่ยวกับเรื่องการทำแท้ง ไว้ในมาตราดังต่อไปนี้

     “มาตรา 301 หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูกหรือ ยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

     มาตรา 302 ผู้ใดทำให้หญิงแท้งลูกโดยหญิงนั้นยินยอมต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

     ถ้าการกระทำนั้นเป็นเหตุให้หญิงรับอันตรายสาหัสอย่างอื่นด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

     ถ้าการกระทำนั้นเป็นเหตุให้หญิงถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองหมื่นบาท

 

     มาตรา 305 ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าว ในมาตรา 301 และมาตรา 302 นั้น เป็นการกระทำของนายแพทย์และ


     (1) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากสุขภาพของ หญิงนั้น หรือ


     (2) หญิงมีครรภ์เนื่องจากการกระทำความผิดอาญาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 276 มาตรา 277 มาตรา 282 มาตรา 283 หรือมาตรา 284

     ผู้กระทำไม่มีความผิด”

     ท่านผู้อ่านอาจสงสัยว่า ไม่เห็นมีตรงไหนในกฎหมายที่เขียนเรื่องสิทธิในการทำแท้งเพราะทารกในครรภ์พิการเลย อันนี้จริงๆ กฎหมายไม่ได้เขียนไว้ชัดเจนขนาดนั้นครับ แต่แพทยสภาได้ออกหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการทำแท้งไว้ใน "ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ตามมาตรา 305 แห่งประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2548” ข้อ ๕ ความว่า

     “ข้อ 5 การยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ตามมาตรา 305 (1) แห่งประมวลกฎหมายอาญา ให้เป็นไปตามเงื่อนไขดังนี้


     (1) เป็นกรณีที่จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากปัญหาสุขภาพทางกายของหญิงตั้งครรภ์ หรือ


     (2) เป็นกรณีที่จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากปัญหาสุขภาพทางจิตของหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งจะต้องได้รับการรับรอง หรือเห็นชอบจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่มิใช่ผู้กระทำการยุติการตั้งครรภ์ อย่างน้อยหนึ่งคน


     ในกรณีที่หญิงนั้นมีความเครียดอย่างรุนแรง เนื่องจากพบว่าทารกในครรภ์ มีหรือมีความเสี่ยงสูงที่จะมีความพิการอย่างรุนแรง หรือเป็นหรือมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคพันธุกรรมอย่างรุนแรง เมื่อหญิงนั้นได้รับการตรวจวินิจฉัยและการปรึกษาแนะนำทางพันธุศาสตร์ (Genetic counseling) และมีการลงนามรับรองในเรื่องดังกล่าวข้างต้นโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่มิใช่ผู้กระทำการยุติการตั้งครรภ์อย่างน้อยหนึ่งคน ให้ถือว่าหญิงตั้งครรภ์นั้นมีปัญหาสุขภาพจิตตาม (2)

     ทั้งนี้ต้องมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่ชัดเจนว่าหญิงนั้นมีปัญหาสุขภาพทางกายหรือทางจิต และต้องมีการบันทึกการตรวจและวินิจฉัยโรคไว้ในเวชระเบียนเพื่อเป็นหลักฐาน”

     

     กล่าวโดยสรุปแล้ว ถึงกฎหมายจะบัญญัติว่าการทำแท้งสามารถกระทำได้ถ้าเป็นเรื่องกระทบต่อสุขภาพของหญิง แต่แพทยสภาได้อธิบายขยายความคำว่า “สุขภาพ” เอาไว้ว่าหมายรวมถึง “สุขภาพจิต” ด้วยครับ ซึ่งเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ถ้าหญิงรู้ว่าทารกในครรภ์ของตนจะคลอดออกมาพิการ คงจะไม่มี “แม่” คนไหนที่ไม่เครียด หรือเสียสุขภาพจิตนะครับ และผมเชื่อว่าแม่ส่วนใหญ่หากรู้แน่ชัดว่าลูกของตนคลอดออกมาแล้วจะพิการก็คงเลือกที่จะแท้งมากกว่าปล่อยให้เด็กที่เกิดมามีสภาพพิการไปตลอดชีวิต และนี่จึงเป็นเหตุที่แพทย์จะต้องใช้ความรู้ความสามารถตามมาตรฐานวิชาชีพของตนในการวินิจฉัยผลอัลตราซาวด์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าว และเพื่อให้แม่ของทารกมีสิทธิที่จะตัดสินใจในการยุติการตั้งครรภ์ด้วยข้อมูลที่ถูกต้องรอบด้านที่สุดครับ

หมายเลขบันทึก: 564015เขียนเมื่อ 16 มีนาคม 2014 22:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มีนาคม 2014 22:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท