“พ่อจ๋า หนูรักพ่อ”


“พ่อจ๋า หนูรักพ่อ”

 

วีรมลล์  จันทรดี[๑]

                                                                                               

บ่ายจัดในวันร้อนอบอ้าวของเดือนเมษายน ฉันเดินขึ้นตึกคนไข้สามัญเพื่อไปเยี่ยมคนไข้คนหนึ่ง เป็นตึกเก่าแก่สวยงามมีทางเดินระเบียงด้านหน้าห้องกว้างเชื่อมต่อถึงกันทุกห้อง ที่หน้าห้องแต่ละห้องจะมีม้านั่งให้ผู้ป่วยนั่งชื่นชมสวนสวยได้ ชดเชยกับการที่ไม่สามารถออกไปคลุกคลีกับเหล่าดอกไม้ใบหญ้าสวยๆ นั้นได้เพราะเสี่ยงกับโรคแทรกซ้อน

 

เมื่อฉันเดินขึ้นไปถึง เห็นมีคนกลุ่มหนึ่งอออยู่หน้าห้องผู้ป่วยห้องหนึ่งหน้าตาท่าทางเป็นกังวล ฉันเดินเข้าไปถามคุณพยาบาลว่าเกิดอะไรขึ้น เธอบอกว่าได้แจ้งญาติ “คุณพล” ว่าผู้ป่วยอาการไม่ดีให้รีบมาเยี่ยม ซึ่งแพทย์ได้คุยกับภรรยาและครอบครัวแล้ว ทุกคนเข้าใจอาการและเลือกที่จะไม่ยื้อชีวิตผู้ป่วย คุณพลอายุสามสิบกว่า มีบุตรสาวหนึ่งคน เพิ่งขึ้นชั้นประถม ภรรยาเป็นพนักงานบริษัท มารดาและพี่สาวจะมาเฝ้าในวันธรรมดา ส่วนภรรยาจะมาเยี่ยมช่วงเย็นและวันเสาร์-อาทิตย์ คุณพลป่วยเป็นมะเร็งระบบเลือดมารักษาได้เพียงสองสัปดาห์ อาการทรุดหนักอย่างรวดเร็ว ทำให้ครอบครัวไม่มีเวลาเตรียมตัวเตรียมใจ รวมถึงตัวฉันเองที่ได้คุยกับมารดาและพี่สาวในวันที่รับเข้าวันแรกเพียงสองสามประโยครู้เพียงว่าคนไข้ทำงานที่ใดเท่านั้น

 

ห้องที่ผู้ป่วยนอนอยู่มีสามเตียง คุณพลนอนอยู่เตียงด้านในสุด ฉันเดินเข้าไปด้านใน มีคนล้อมรอบเตียงประมาณสี่ห้าคนทุกคนกำลังร้องไห้ ส่วนคุณพลนอนบนเตียงยกหัวสูงใส่ที่ครอบออกซิเจนท่าทางกระสับกระส่ายแต่ไม่สามารถสื่อออกมาเป็นคำพูดได้ สิ่งที่ฉันคิด ณ ขณะนั้น คือ จะทำอย่างไรให้ทุกคนสามารถสงบลงได้เพื่อให้คนไข้มีภาวะที่สงบสุขที่สุด ฉันตัดสินใจเดินตรงไปที่เตียงแล้วยกที่กั้นเตียงลง จากนั้นก็ยกมือไหว้คุณพลพร้อมทั้งพูดเสียงที่ค่อนข้างดังเพื่อให้เขาได้ยินว่า ฉันขอบคุณที่ “คุณพล” ได้สร้างความสุขให้คนไทยและทำหน้าที่เป็นตัวแทนคนไทยส่งแรงเชียร์นักกีฬาไทย คุณพลหยุดอาการทุรนทุรายและมองตรงมาที่ฉันพร้อมกับสายตาที่สามารถอ่านได้ว่าเขาดีใจที่มีคนเห็นสิ่งที่เขาทำ จากนั้นฉันแนะนำตัวเองกับทุกคนและถามว่าแต่ละคนเกี่ยวข้องกับคนไข้อย่างไร ฉันถือโอกาสนี้บอกว่าสิ่งที่เขาต้องการมากที่สุดตอนนี้คือ ความรักจากทุกคน การบอกเล่าเรื่องราวหรือสิ่งสวยงามที่เคยทำร่วมกัน ความเศร้าเสียใจจะทำให้ผู้ป่วยห่วงกังวลมากขึ้น ทุกคนเปลี่ยนท่าทีเป็นสงบมากขึ้น จากนั้น ฉันก็เดินออกมานอกห้อง เพื่อเปิดโอกาสให้ครอบครัวอยู่ด้วยกัน

 

ที่หน้าห้องฉันเจอหลานสาวผู้ป่วยอายุคงไม่ถึงยี่สิบปีดีนักเดินเข้ามาทัก ฉันขอนั่งคุยด้วยและบอกวิธีที่เธอจะสามารถช่วยเหลือมารดาของคุณพลได้ เพราะตอนนั้นยังเดินทางมาไม่ถึง เธอรับปากและยินดีทำเพื่อตอบแทนบุญคุณคุณอา(คุณพล) จากนั้นเธอบอกให้ฉันช่วยคุยกับเด็กผู้หญิงเล็ก ๆ คนหนึ่ง ที่กำลังนั่งเล่นอย่างเหงา ๆ ตามลำพังอยู่หน้าห้องถัดไป  ฉันบอกให้เธอพาหนูน้อยคนนั้นมานั่งกับฉันที่ม้านั่งยาวหน้าห้อง ที่ที่เราจะนั่งคุยกันตามลำพังและสามารถมองเข้าไปเห็นพ่อของหนูน้อยได้

 

หนูน้อยนั่งลงข้าง ๆ ฉัน ฉันเริ่มการคุยโดยแนะนำตัวเองและแทนตัวเองเป็น “น้า” ส่วนหนูน้อยชื่อ “เนม” ขณะที่พูดเธอไม่ได้มองหน้าฉันเลย ฉันขยับตัวเข้าไปใกล้เธอและชวนคุยเรื่องทั่ว ๆ ไป เช่น กำลังเล่นอะไร เธอตอบคำถามสั้น ๆ  เมื่อสังเกตว่าเธอค่อยผ่อนคลายแล้ว ฉันจึงพูดถึงพ่อของเธอ

“ตอนนี้คุณพ่อไม่สบายค่อนข้างมาก ทุกคนต้องไปให้กำลังใจคุณพ่อ เลยให้น้ามาคุยกับเนมแทน” ฉันเริ่มเรื่อง เธอพยักหน้ารับรู้

“เวลาที่เนมไม่สบายหรือเวลาที่หกล้ม คุณแม่ปลอบเนมว่าอย่างไรคะ” เธอยังเงียบอยู่ ฉันเริ่มยกตัวอย่างคำพูดที่พ่อแม่จะใช้ปลอบลูกเวลาหกล้ม เธอพยักหน้าบ้างในคำพูดที่คาดว่าจะตรงกับสิ่งที่เธอเคยได้รับ

“ตอนนี้คุณพ่อก็อยากให้เนมบอกกับคุณพ่ออย่างนั้นเหมือนกัน เนมจะทำได้ไหมคะ” หนูน้อยยังคงตอบคำด้วยการพยักหน้า แต่คราวนี้เงยหน้ามองฉัน ฉันชื่นชมเธอและค่อย ๆ บอกเธอเกี่ยวกับความตาย โดยพูดช้า ๆ และสังเกตปฏิกริยาเธอไปด้วย

“อีกสักพักคุณพ่ออาจจะไม่ได้อยู่ตรงนี้กับเนมกับคุณแม่ คุณพ่อจะไปอยู่บนฟ้า”

“ท่านจะคอยมองเนมอยู่ เนมอาจจะเห็นคุณพ่อได้ถ้ามองขึ้นไปบนฟ้า แต่ถ้าไม่เห็นคุณพ่อก็จะยังอยู่ในใจของเนม”

“คุณพ่อเคยบอกใช่ไหมคะว่าอยากให้เนมเป็นเด็กดี ถ้าเนมเป็นเด็กดีคุณพ่อก็จะรู้”

เนมเริ่มสะอื้นโดยไม่มีเสียงร้องไห้ ตัวหนูน้อยสั่น ฉันโอบกอดเธอและให้ความเงียบทำงาน น้ำตาเธอค่อย ๆรวมตัวกันเป็นเม็ดใหญ่หยาดลงบนหลังมือเธอ น้ำตาหนูน้อยเริ่มพรั่งพรูแต่ไม่มีเสียงร้องไห้ออกมาเลย ฉันเอามืออีกข้างบีบมือเธอส่งกำลังใจให้ สักพักเธอค่อย ๆ เงยหน้าขึ้น ส่งสัญญาณว่าเธอพร้อมแล้ว

 

ฉันเตรียมเธอให้พร้อมที่จะรับสภาพของผู้ป่วยที่อาจจะน่าตกใจสำหรับเด็กเล็ก ๆ

“เนมจะเห็นคุณพ่อนอนบนเตียง คุณพ่อจะใส่เครื่องที่ช่วยให้หายใจสะดวกขึ้น ทำให้ไม่สามารถพูดกับเนมได้สะดวกนะคะ คุณพ่อได้ยินสิ่งที่หนูจะพูด แต่ต้องพูดเสียงให้ดัง ๆ หน่อย”

“เนมไปกราบคุณพ่อใกล้ ๆ ได้เลย แล้วก็บอกท่านเหมือนที่ท่านเคยบอกหนู เช่น บอกว่าเนมจะเป็นเด็กดี จะตั้งใจเรียน”

 

หนูน้อยลุกขึ้นยืน จับมือฉันให้เดินไปด้วยกัน ฉันเดินเยื้องไปทางด้านหลังให้หนูน้อยเป็นผู้นำ คนทั้งห้องหันมองเราเป็นตาเดียว ฉันส่งสายตาไปที่แม่ของเด็ก บอกว่าให้เชื่อมั่นการตัดสินใจของลูก เนมเดินตรงไปที่พ่อด้วยท่าทางที่เชื่อมั่น กราบที่มือคุณพล และบอกว่า “หนูรักพ่อค่ะ หนูจะเป็นเด็กดีนะคะ...” เธอพยายามกลั้นสะอื้นและสามารถทำได้ แม่ของเนมเอื้อมมือไปกอดไหล่ลูกสาวเพื่อให้กำลังใจ ฉันเดินเลี่ยงออกมาให้ครอบครัวอยู่ด้วยกัน.

 

หาก “เนม” ถูกกีดกันไม่ให้รับรู้และไม่ได้เข้าไปพูดคุยกับพ่อ นอกจากความเศร้าเสียใจที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักแล้ว สิ่งที่อาจเกิดขึ้นคือ ความรู้สึกลังเลหรือไม่เชื่อมั่นเรื่องความสัมพันธ์ว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวและการสนับสนุน(โดยเฉพาะการสนับสนุนทางใจ)ที่ครอบครัวจะมีให้ อาจมีพฤติกรรมการแยกตัวเองจากครอบครัว   หากครอบครัวไม่เข้าใจส่งผลให้เกิดการเสียความสัมพันธ์ในครอบครัวในระยะยาวได้ สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เรียกว่า “ความเจ็บปวดทางสังคม”(Social pain) หรือ ความเจ็บปวดจากการเสียความสัมพันธ์ทางสังคม เลียรี่และสปริงเกอร์ (๒๐๐๑)[๒] บอกว่า การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักนั้นนำมาซึ่งความเจ็บปวดทางสังคม (Social pain) ได้อย่างมหาศาล

 

การป้องกันไม่ให้เกิดความเจ็บปวดทางสังคมในผู้ป่วยและครอบครัว จึงควรเป็นงานหนึ่งที่นักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ต้องเข้าไปมีบทบาท เพราะว่านักสังคมสงเคราะห์ เป็นวิชาชีพเดียวในสายงานสาธารณสุขที่ทำงานด้านสังคม

_________________

เอกสารอ้างอิง

Geoff MacDonald,             Social Pain and Hurt Feelings; To appear in P. J. Corr & G. Matthews (Eds.),

Cambridge Handbook of Personality Psychology. ค้นข้อมูลจาก internet;ไม่

ปรากฏปีที่พิมพ์

 

 

 

 

 

 

[๑] ผู้ชำนาญการพิเศษนักสังคมสงเคราะห์ ๗ (ว) ฝ่ายสวัสดิการสังคม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

[๒] Geoff MacDonald, Social Pain and Hurt Feelings ;p. 4

 

 

หมายเลขบันทึก: 563668เขียนเมื่อ 11 มีนาคม 2014 17:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มีนาคม 2014 17:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

...การพูดคุยให้ได้ข้อมูลเชิงลึก.. ช่วยผู้ป่วยได้ดี นะคะ


ขอบคุณค่ะ ... เขียนมาบ่อยๆๆ นะคะ

ขอบคุณหวานมากเลย อ่านแล้วต้องนั่งนิ่งๆไปพักใหญ่

ถามตัวเองว่า เราได้เรียนรู้อะไร

แล้วก็ตอบตัวเองว่า ความรัก

ทำให้คิดไปถึงที่น้องหมอศรัญญาเขียนไว้ที่นี่เลย

เมื่อไหร่ที่คนเรามีความปรารถนาดีต่อกันและหวังจะให้คนคนนั้นพ้นจากความทุกข์ทรมาน

เมื่อนั้นคุณจะรู้ว่าจะพูดอย่างไรและจะช่วยเค้าอย่างไร

เป็นศิลปะชั้นยอดเลยค่ะ

...การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักเป็น... นำมาซึ่งความเจ็บปวดทางสังคมได้อย่างมหาศาล...

เยี่ยมมากค่ะ หวาน

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท