เปลี่ยนรูปและยกระดับการศึกษาและฝึกอบรมบุคลากรสุขภาพ ๑. หลักการทั่วไป และการมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของโดยทุกภาคส่วน


 

          องค์การอนามัยโลก จัดทำเอกสาร Transforming and Scaling Up Health Professional Education and Training : World Health Organization Guidelines 2013    เป็นเอกสารที่มีประโยชน์มาก

          แต่ก็เป็นเอกสารที่ให้คำแนะนำอย่างเป็นกลางๆ สำหรับใช้ทั่วโลก    ประเทศไทยเราต้องเลือก และปรับใช้ให้เหมาะสมตามบริบทของเรา     ซึ่งก็ตรงกับวัตถุประสงค์ขององค์การอนามัยโลก ที่ต้องการให้เอกสารนี้นำไปสู่การกำหนดนโยบายของประเทศ และของภูมิภาค ด้านสุขภาพ การศึกษา การเงิน และแรงงาน ซึ่งเป็นเรื่องเชื่อมโยงกัน สู่ประเด็นบุคลากรสุขภาพ     โดยต้องตระหนักว่า เรื่องเหล่านี้มีความซับซ้อนมาก  มีความเป็นพลวัต เลื่อนไหลมาก    และเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกับประเทศอื่น หรือมีโลกาภิวัตน์

          WHO อยากให้เอกสารนี้ นำไปสู่ policy dialogue ระหว่างหลากหลายภาคส่วนในประเทศ

          ผมจึงถือโอกาสตีความเอกสารนี้ นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้

          ข้อดี หรือจุดแข็งของเอกสารขององค์การอนามัยโลกคือ เขาเขียนอย่างมีข้อมูลสนับสนุน    ไม่ใช่เขียนตามความคิดหรือความรู้สึก

          เขาอ้าง World Health Report 2006 ว่ามี ๕๗ ประเทศที่ขาดแคลนบุคลากรสุขภาพอย่างรุนแรง    โดยที่เรื่องความขาดแคลนบุคลากรสุขภาพนั้น แทบทุกประเทศอยู่ในสภาพขาดแคลน    รวมทั้งประเทศไทย    แต่ที่ขาดแคลนอย่างหนักมี ๕๗ ประเทศ หรือกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนประเทศในโลก

          จำนวนบุคลากรสุขภาพที่ต้องการเพิ่มทั่วโลก (ในปี ค.ศ. ๒๐๐๖) คือ ๒.๔ ล้านคน    โดยเอกสารนี้ระบุ จำนวนรวมของบุคลากร ๓ ประเภท คือแพทย์ พยาบาล และผดุงครรภ์

          คำว่าขาดแคลนบุคลากรสุขภาพ เป็นคำที่ซับซ้อนนะครับ คือไม่ได้มีความหมายเพียงขาดเชิงจำนวน เท่านั้น    ที่สำคัญยิ่งกว่าคือเชิงคุณภาพ ซึ่งหมายถึงชุดของทักษะ (skills mix) ของทีมสุขภาพ ที่สอดคล้อง (relevant) ต่อความต้องการ   และยังหมายรวม ถึงการกระจายบุคลากรไปตามชุมชนหรือท้องถิ่น อย่างเหมาะสมด้วย

          เป้าหมายของนโยบายบุคลากรสุขภาพ คือสุขภาพดีของคนในประเทศ    เรื่องบุคลากรสุขภาพจึงเป็น means มากกว่าเป็น end    การดำเนินการนโยบายและยุทธศาสตร์เรื่องการศึกษาและฝึกอบรมบุคลากรสุขภาพ จึงต้องมีเป้าหมายที่ระบบสุขภาพที่ดี    นำไปสู่เป้าหมายสุดท้าย คือผู้คนมีสุขภาพดี

          โดยที่สุขภาพดี อยู่ในกำมือ หรือการดำรงชีวิตของตนเอง มากกว่าการพึ่งพามดหมอหยูกยา     และเมื่อมองในภาพรวมของผู้คนจำนวนมาก ระบบต่างๆ ในสังคม มีผลต่อสุขภาวะของผู้คนโดยที่เราไม่รู้ตัว    ซึ่งหมายความว่า การมีสุขภาพดี เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับภาคส่วนต่างๆ ในสังคมกว้างขวางซับซ้อนมาก     ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับระบบบริการสุขภาพเท่านั้น

           เราต้องการจัดการศึกษา ให้ได้บุคลากรสุขภาพ ที่มีเจตคติต่อเรื่องสุขภาพแบบเป็นองค์รวม (holistic) อย่างที่ระบุข้างบน

          หลักสูตรการศึกษา ต้องเป็น competency-based    โดยอิง comtetency ที่ต้องการสำหรับไปทำงาน ในระบบสุขภาพของประเทศ (relevance)    และเพื่อให้ได้บุคลากรไปทำงานในพื้นที่ที่ขาดแคลน และทำงานอยู่เป็นเวลานานหรือตลอดไป    สิ่งที่ต้องทบทวนคือเกณฑ์ในการรับนักศึกษา (admission criteria)    เกณฑ์แบบใครเก่งใครได้ เหมาะสำหรับจัดการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการ    แต่จะไม่สนอง การจัดการศึกษาเพื่อตอบสนองระบบสุขภาพ

          หลักสูตรแบบที่เราคุ้นเคย เป็นแบบท่อเปิด ๒ ปลาย    คือตอนเข้าเรียน นศ. มาจากชั้น ม. ๖ ด้วยกันทุกคน    เรียนตามหลักสูตร ๔ ปี หรือ ๖ ปี ก็จบออกที่ปลายท่ออีกด้านหนึ่ง ออกไปทำงาน    แบบนี้เรียกว่า Tube Architecture    เขาแนะนำให้เปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่    ไปใช้แนวคิด Open Architecture   คือ คนที่เข้าเรียนวิชาชีพ เช่นแพทย์ อาจไม่มาจาก ม. ๖ โดยตรง    บางคนอาจเป็นพยาบาล หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข อยู่แล้ว     และตอนเรียน การเรียนก็ยืดหยุ่น แบบที่เรียกว่า individualized    คือไม่จำเป็นต้องเรียนเหมือนๆ กันทุกคน    เวลาที่ใช้เรียนก็อาจแตกต่างกันในบางคน

          คือเปิดโอกาสให้บุคลากรสุขภาพ สามารถเปลี่ยนสายวิชาชีพได้

          ผมนั่งพิมพ์บันทึกตอนที่ ๑ นี้ ที่ ล็อบบี้ของโรงแรมรามาการ์เด้นท์    เช้าวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ซึ่งเป็นวันประชุมสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ว่าด้วย การปฏิรูปการศึกษาวิชาชีพสุขภาพให้สอดคล้องกับ ความจำเป็นด้านสุขภาพในบริบทสังคมไทย  ซึ่งเป็นเวทีเพื่อ public policy dialogue ด้านสุขภาพ    ซึ่งมีสาระของประเด็นเชิงยุทธศาสตร์อ่านได้ ที่นี่

          หลังจากนี้ผมไปเข้าประชุม    โดยนั่งสังเกตการณ์การประชุม อย่างสุขใจ    ว่านี่คือรูปธรรมของ policy dialogue ระหว่างหลากหลายภาคส่วนในประเทศ เกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา สำหรับบุคลากรสุขภาพ “ให้สอดคล้องกับความจำเป็นด้านสุขภาพในบริบทสังคมไทย”    ที่ ศ. ลินคอล์น เช็น เคยถาม  นพ. สุวิทย์ ว่าเราทำกันหรือเปล่า    คุณหมอสุวิทย์บอกว่า เราควรถ่ายรูปการประชุม ส่งไปให้ดู    ผมคิดว่า เราเอารูปและข้อสรุปขึ้นเว็บ เป็นภาษาอังกฤษ คู่กับภาษาไทย ดีกว่า

          ทีมผู้จัดดีใจมาก ที่มีคนมาร่วมมากกว่าที่แจ้งความจำนง คือมา ๑๙๐ คน    และการประชุมแลกเปลี่ยนความเห็นในแต่ละกลุ่ม  (รวม ๗ กลุ่ม) เอาจริงเอาจังมาก     เป็น public policy dialogue forum ที่ healthy ยิ่ง

          ในแต่ละกลุ่มมีคน ๓ ประเภท คือ ผู้บริหารหรือกำหนดนโยบาย, นักวิชาการ, และผู้แทนชุมชน     ผมคิดว่าคุณค่าที่สำคัญที่สุดที่ได้จากการประชุม ไม่ใช่สาระ    แต่เป็นปฏิสัมพันธ์แลกเปลี่ยนรับฟังซึ่งกันและกัน     ตัวสาระนั้น คณะทำงานปรับแล้วปรับอีก อาศัยความเห็นจากหลายเวที    กว่าจะนำเสนอเป็นเอกสารประเด็น เชิงยุทธศาสตร์ข้างบน ก็ได้ลงแรงกันไปมาก    สาระของการแก้ไขจึงไม่ใช่ภาพใหญ่ แต่เป็นการตกแต่งรายละเอียด หรือประเด็นปลีกย่อยมากกว่า

 

 

วิจารณ์ พานิช

๕ ก.พ. ๕๗

 

หมายเลขบันทึก: 563278เขียนเมื่อ 5 มีนาคม 2014 13:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มีนาคม 2014 13:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท