ไม่มีชื่อเรื่อง...???


 

มีหลาย ๆ ครั้งเวลาที่ผมเขียนบทความหรือเขียนบันทึกต่าง ๆ ผมจะทำการตั้งชื่อหัวข้อหรือชื่อบันทึกเอาไว้ก่อน การตั้งชื่อเอาไว้ก่อนมีทั้งข้อดีและข้อด้อย

ข้อดีก็คือทำให้เราเขียนตรงตามกรอบที่ได้วางแผน

แต่ข้อด้อยก็คือ บางครั้งเวลาที่เราเขียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคิดและเขียนที่มาจากภาพเบลอ ๆ หรือการเขียนที่มาจาก “ความคิดแวบแรก” เขียนไปเขียนมาเซลล์ในสมอง ความรู้และความคิดของเราก็เริ่มที่จะปะติดปะต่อนำความรู้และประสบการณ์ต่าง ๆ เข้ามาประสมกันได้อย่างมากมาย ถ้าตีกรอบชื่อเรื่องไว้ "บางสิ่งบางอย่าง ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่ดี ๆ ซึ่งคิดได้ขณะนั้น ณ เวลานั้น จะหายไป"


ถ้าเราตั้งชื่อเอาไว้ก่อน หลาย ๆ ครั้งที่ผมรู้สึกว่า สิ่งต่าง ๆ ที่คิดได้เมื่อขณะเขียนนั้น ถูกตัด ถูกทิ้ง เพราะสิ่งที่คิดเริ่มไม่ใช่หรือไม่ตรงตามชื่อเรื่องที่เขียน จนบางครั้งทำให้สิ่งดี ๆ ที่อาจจะคิดต่อไปได้เรื่อย ๆ นั้น “หายไป”

ซึ่งสิ่งเหล่านั้นจะเป็นอย่างไร อาจจะเป็นสิ่งที่น่าสนใจก็เป็นได้ใครจะรู้


ไม่มีใครรู้ครับ ...

เราเองก็ยังไม่รู้เลย

เพราะถ้าเรากำลังจะคิดได้แต่ถูกตีกรอบด้วยชื่อเรื่อง สิ่งที่กำลังจะคิดได้ในวินาทีนั้น ก็จะถูกตัดทิ้งซึ่งใน Fill นั้น หรือความคิดในขณะนั้น เป็นสิ่งที่ยากมากหรือแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ที่จะย้อนกลับมาคิดว่า “เมื่อตะกี๊” เรากำลังคิดเรื่องอะไรอยู่


เพราะสิ่งที่เมื่อตะกี๊เรากำลังคิดได้นั้น มิได้ออกมาจากสมองส่วนของความจำ สิ่งที่คิดได้ ณ ขณะนั้นออกมาจากทั้ง Mind & Body มาจากสมอง อารมณ์ และความรู้สึก


เป็นสิ่งที่คิดมาได้จากการอายาตนะทั้ง 6 (ทั้ง 6 เลยนะครับ) และเมื่อเวลาหรือสภาพการณ์นั้นเปลี่ยนแปลงไปแม้แต่อายาตนะเดียว บางสิ่งหรือบางอย่าง ตัวอักษรหรือประโยคบางประโยคก็จะเปลี่ยนแปลงไป ไม่เหมือนเดิม จนกระทั่ง “หายไป” หายไปจนมิสามารถเรียกคืนกลับมาอีกได้ ดั่งเช่นคำกล่าวที่หลาย ๆ คนเคยพูดไว้ว่า “ที่เก่า เวลาเดิม” นั้นไม่มี


โอกาสที่จะคิดได้ ผ่านมา ผ่านก็ผ่านไป ถ้าไม่เก็บ ไม่เขียน ไม่ทำซะในเวลานั้น เรื่องเดิม ณ เวลาเดิมก็จะเปลี่ยนไปและไม่มีอีกแล้ว


ดังนั้นการเขียนบทความหรือบันทึกจาก Tacit Knowledge ที่สามารถผ่องถ่ายสิ่งที่เราสัมผัสจากบริบท ณ เวลาหรือสถานการณ์นั้น จากอายาตนะทั้ง 6 ให้เหลือเพียงแค่ “ตัวอักษร” นั้น เป็นสิ่งที่จะต้องใช้เทคนิคหรือกระบวนการที่เรียกว่า “เหมาะสม” ทั้งกับ “คน” และสรรพสิ่งที่อยู่รอบกาย


ดังนั้น “ประเด็น” จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจมากกว่า “ชื่อเรื่อง” หรือ “หัวข้อเรื่อง”


เขียนไปเขียนมาเองผมก็เริ่มคุ้น ๆ  (สิ่งนี้มิได้คิดมาในตอนแรก)
ประโยคนี้  ดังนั้น “ประเด็น” จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจมากกว่า “ชื่อเรื่อง” หรือ “หัวข้อเรื่อง” ที่ผมคิดได้เมื่อสักครู่นี้ทำให้ผมคิดได้ถึงเทคนิคดี ๆ เกี่ยวกับการทำวิจัย วิทยานิพนธ์ หรือดุษฎีนิพนธ์ ที่หลาย ๆ คนประสบกับปัญหาเวลาทำทั้งในขณะเรียนหรือขณะทำงาน เพราะว่าบางครั้งถ้าเรายึดติดกับชื่อเรื่อง แต่หลงลืมประเด็นหรือขาดความเข้าใจกรอบแนวคิดอย่างแจ่มแจ้ง ก็อาจจะทำให้เรา “ขาดความสุข” ในการทำงาน เพราะชื่อเรื่องบางครั้งทำให้เราเกิดความอึดอัด

ตอนแรกผมกะว่าตั้งชื่อเรื่องไว้ว่า การเขียนบันทึกแบบไม่มีชื่อเรื่อง แต่เขียนไปเขียนมา สามารถเชื่อมโยงได้ถึงเรื่องของการทำวิจัย วิทยานิพนธ์ของนักศึกษาในระดับต่าง ๆ ซึ่งตอนแรกมิได้ตั้งใจว่าจะเขียนไว้เลยครับ แต่พอเขียนไปเรื่อย ๆ ก็เริ่มนึกถึงประเด็นและ Keyword สำคัญต่าง ๆ ที่เขียนได้ยิน ได้ฟัง ได้เรียนมา


อย่างเช่นมีท่านอาจารย์หลาย ๆ ท่านเคยพูดไว้ว่าชื่อเรื่องวิจัยหรือดุษฎีนิพนธ์ เปลี่ยนได้ตลอดแต่ขออย่างเดียว ขอให้กรอบแนวคิดชัด
สิ่งเหล่านี้ ข้อความจากประสบการณ์ต่าง ๆ บางครั้งเราได้ยินมานานมากแล้ว “ไม่ได้เข้าหูซ้ายทะลุหูขวา” แต่สิ่งเหล่านั้นฝังอยู่ในสมองและจิตซึ่งค่อนข้างลึก


ดังนั้น การขุดค้นอะไรที่ลึก ๆ ถ้าตั้งใจขุดหรือใช้แรงงานและสมองขุดอย่างเดียว อาจจะขุดลงไปไม่ถึง


การขุดหรือการค้นสิ่งที่ลึกมาก ๆ ให้ได้ออกมาเป็นสิ่งที่ลุ่มลึกนั้น ต้องใช้สถานการณ์ สิ่งแวดล้อม บริบท และทุก ๆ อย่างที่เกิดขึ้นในขณะนั้น เป็นสิ่งเร้าหรือตัวกระตุ้น ช่วยให้สิ่งที่อยู่ลึกมาก ๆ นั้น “ผุดออกมา”
ดังเช่นที่หลาย ๆ ท่านเคยได้ยินเรื่องของ “คนยกตู้เย็น” หรือยกสิ่งของหนัก ๆ เวลาที่เกิดไฟไหม้


ตามปกติ เวลาปกติ บริบทปกติ เรายกไม่ไหวเพราะว่ามันหนักมาก
แต่ ณ วินาทีนั้น สถานการณ์นั้น คนที่ยกเองก็ตอบคำถามไม่ได้เหมือนกันว่า “เขาทำได้อย่างไร”


หลายๆ ท่านอาจจะคิดในใจว่า ถ้าเกิดขึ้นกับฉัน ฉันคงทำได้ อันนี้ก็ไม่แน่ครับ เพราะสิ่งที่เขาใครทำได้นั้น มีบริบทมากกว่าไฟไหม้ อาจจะมีปัจจัยเรื่องของ ความตกใจ หรือความรัก ความห่วงใยต่อสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นอย่างถึงขีดสุด ณ ขณะนั้น จึงสามารถทำให้เขาและเธอ “ทำได้”


ถึงกระนั้นก็ตาม บางสิ่งบางอย่างอาจจะถูกมองว่า “เหนือธรรมชาติ” และ “เป็นไปไม่ได้” แต่ไม่มีสิ่งใดในโลกที่จะเหนือความพยายามซึ่งเกิดจาก “ความเพียร” ของมนุษยชาติ ถ้าเราค่อย ๆ เรียน ค่อย ๆ รู้ ฝึกสังเกต แล้วนำสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นมาทดลองปฏิบัติ


สักวันหนึ่ง (วันหน้า) เราอาจจะทำในสิ่งที่วันนี้เราอาจจะทำไม่ได้ 
ไม่มีสิ่งใดยากเกินกว่าความสามารถของเรา เราที่มีความเพียร เพียรในการคิด การปฏิบัติ ซึ่งนำมาสู่การปริยัติ และสุดท้ายเป็นปฏิเวธไปได้
ผมเชื่อว่าอย่างนั้น

ปภังกร วงศ์ชิดวรรณ
28 ตุลาคม 2549

 

 

หมายเลขบันทึก: 56219เขียนเมื่อ 28 ตุลาคม 2006 23:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เห็นด้วยคะ  แต่สำหรับนิว  ๆ ก็จะเขียนชื่อเรื่องหลังจากที่เขียนบันทึกเสร็จแล้วคะ ...อิอิ....

ช่วงนี้เป็นอย่างไรบ้างคะ  สบายใจขึ้นหรือยังเอ่ย  เห็นช่วงก่อน ๆ เหมือนดูเครียด ๆ เลยนะคะ

ยังไงนิวก็เป็นกำลังใจให้นะคะ

 

  • สวัสดีครับ "น้องนิว"
  • ก่อนอื่นต้องขออภัยครับที่เข้ามาตอบความคิดเห็นช้าไปสักหน่อยครับ
  • ยินดีเป็นอย่างยิ่งครับที่น้องนิวมีข้อแลกเปลี่ยนดี ๆ ให้กันเสมอ ๆ
  • ช่วงนี้สบายมั่ก ๆ ครับ สบายกาย สบายใจครับ อยู่บ้านใกล้ชิดพ่อกับแม่ครับ ห่างหายมาหลายสิบปีครับ
  • ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงอีกครั้งในทุก ๆ อย่างที่มีให้กันเสมอมาครับ
  • ขอพลังความรู้จงสถิตกับน้องนิวตลอดไปครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท