"Debt: หนี้"


                                         

              ชีวิตปัจจุบันเหมือนจะหนีหนี้ไม่ออก เพราะชีวิตอยู่บนฐานการเงินเป็นหลัก ในสังคมบริโภคนิยมล้วนตกอยู่ในสายธารแห่งหนี้อยู่ทุกที่ "เงิน" จึงกลายเป็นหนี้ หนี้กลายเป็นพลังต่อสู้ชีวิตในสังคมยุคใหม่

              ในชีวิตของเราหนีหนี้ไม่พ้น เพราะเรามีหนี้ ๔ ชนิดคือ

                       ๑) "หนี้ชีวิต" คือ หนี้ที่ชีวิตเรากำเนิดมาจากธรรมชาติ โลก มนุษย์ พืช สัตว์ แผ่นดิน สังคมศาสนา ฯ

                       ๒) "หนี้บุญคุณ" คือ หนี้ที่เราถูกหล่อหลอม เลี้ยงดูมา จนเจริญเติบโต เช่น  พ่อแม่ ญาติพี่น้อง ข้าวปลา อาหาร ฯ

                       ๓) "หนี้กรรม" คือ หนี้ที่เราเคยทำมาก่อน และหนี้กรรมที่เรากำลังทำอยู่ ที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตของเรา ที่หนี่ไม่พ้น

                       ๔) "หนี้เงินกู้" คือ ทรัพย์สินเงินทอง ข้าวของที่ยืมเขามา แล้วต้องคืนให้เขา

              สาเหตุการเป็นหนี้ในปัจจุบัน ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ กล่าวไว้ ๓ อย่างคือ

                      ๑) เพราะกระแสบริโภคนิยม ในสังคมยุคใหม่ ที่ถูกกระตุ้นด้วยอิทธิพลของการโฆษณา จนเราถูกล้างสมองให้เชื่อว่า สิ่งนั้นจำเป็นต่อการดำรงชีวิต

                      ๒) เพราะความอยากในตัวเรา เรียกว่า "ตัณหา" ที่กระตุ้นเราเองเสมอ ที่ไม่เคยสงบนิ่ง จนขาดการยับยั้ง ชั่งใจตัวเอง

                       ๓) เพราะมีแหล่งกู้ยืมง่ายและสะดวก เช่น ในธนาคารหรือตามที่โฆษณาดาษดื่น และในแหล่งนอกระบบ

                      อย่างไรก็ตาม ดร.วรากรณ์ ย้ำว่า ถึงเราเป็นหนี้ก็ควรจัดการบริหารให้เป็นสุขได้ หากชีวิตมีความสุขสบายได้ โดยไม่ต้องเป็นหนี้ ย่อมเป็นสิ่งที่ดีที่สุด แต่หากต้องซื้อความสะดวกสบายด้วยการก่อหนี้ ต้องมีการวางแผนบริหารจัดการและสร้างกรอบวินัยให้ตัวเอง เพราะนั้นเป็นตัวกำหนดเส้นทางเลือกให้กับตนเองว่า จะเป็นหนี้อย่างมีความสุขหรือไม่มีความสุข นับแต่วันที่เริ่มเป็นหนี้และต่อเนื่องถึงอนาคต

              การบริหารหนี้แบบง่ายๆ คือ

                       ๑) มองโลกในแง่ดี

                       ๒) อย่ากลัวเสียหน้าหรืออายว่าเป็นหนี้

                       ๓) มองให้เป็นตัวกระตุ้นตัวเองให้มีระเบียบวินัยเรื่องการทำบัญชี รายรับ รายจ่าย

                       ๔) มองมุมกลับว่า คนเป็นทุกข์คือ เจ้าหนี้ มิใช่เรา

                       ๕) ยอมเสียสิ่งที่รักบ้าง อย่ายึดติดจนมากไป เงินทองหาใหม่ได้ หากชีวิตยังอยู่

               การเป็นหนี้มิใช่ทางเลวร้าย เพราะว่า การเป็นหนี้เป็นเรื่องสากลทั่วโลก ที่ไหนก็เป็น โดยเฉพาะประเทศใหญ่ๆ รายงานจาก CIA world factbook พบว่า ทั่วโลกมีประเทศต่างๆ เป็นหนี้ต่างชาติอยู่จำนวนมาก นับจาก ๑ ถึง ๕ คือ

                อันดับหนึ่ง  ๑) อเมริกา เป็นหนี้ต่างชาติถึง ๔๕๖ ล้านๆ บาท

                 ๒) อังกฤษ เป็นหนี้ต่างชาติถึง ๓๐๐ ล้านๆ บาท

                 ๓) เยอรมัน เป็นหนี้ต่างชาติถึง ๑๗๑ ล้านๆ บาท

                 ๔) ฝรั่งเศส เป็นหนี้ต่างชาติถึง ๑๖๔ ล้านๆ บาท

                 ๕) เนเธอแลนด์ เป็นหนี้ต่างชาติถึง ๘๒ ล้านๆ บาท

            ส่วนไทยเป็นหนี้ต่างชาติถึง ๒.๒ ล้านๆ บาท อยู่อันดับที่ ๔๖ ข้อมูลเมื่อปี ๕๕

                 สาเหตุในทางหลักพุทธศาสนากล่าวว่า เราเป็นหนี้เนื่องมาจากกรณีดังนี้คือ

                       ๑) เพราะอบายมุข ๖ คือ ติดเหล้า ติดหญิง ติดการพนัน ติดการละเล่น คบเพื่อนไม่ดีและขี้เกียจทำงาน

                       ๒) ไม่ประพฤติตามศีล-ธรรม ในเบื้องต้น

                       ๓) ไม่มีคุณธรรมในใจ อยู่ภายใต้อำนาจกิเลสตัณหามากไป ไม่รู้จักควบคุมตนเอง เช่น อยากได้ไอโฟนใหม่ๆ รถคันใหม่ๆ ฯ

                       ๔) ปัญญา สติ ที่จะบริหารตนเองไม่เข้มข้นหรือพร่องไป จึงมีทัศนะที่เข้าข้างตนเอง จนเกิดผลเสียหายต่อตนเอง มองเห็นเส้นทางชีวิตแค่ปลายเท้า ขาดวิสัยทัศน์ระยะยาว

                       ๕) อยู่ในที่ไม่เหมาะสมหรือคบค้าสมาคมกับคนชั่ว ชีวิตก็พลอยตกเหวไปด้วย

             ทางป้องกันและแก้ไขการเป็นหนี้คือ

                     เบื้องต้นควรปฏิบัติตามหลักศาสนาของตน ในพุทธศาสนามีดังนี้

                     ๑) ขยัน อดทน ไม่เกียจคร้าน

                     ๒) รู้จักอดออม ถนอมทรัพย์ไว้

                     ๓) รู้จักคบเพื่อนที่ดี เป็นกัลยาณมิตร

                     ๔) ดำเนินชีวิตในทางสุจริต และอยู่ตามฐานะของตน

                     ๕) เว้นอบายมุขทั้งปวงเด็ดขาด

                  อย่างไรก็ตาม  การเป็นหนี้ เป็นวิถีทางโลกที่ดำเนินชีวิตที่ลำบาก ที่ต้องเสี่ยง ต้องอดทนทำงาน จนเป็นเรื่องปกติสามัญที่เราต้องเป็นหนี้ แต่ต้องรู้จักบริหารจัดการตนเองให้เป็น โดยเฉพาะสังคมยุคใหม่ที่เต็มไปด้วยการสร้างวาทกรรม อำพราง เหมือนกับดักคนอ่อนแอในสังคม จนขาดน้ำใจ ขาดคุณธรรม ค้ำครองใจกันและกันจนปล่อยให้อำนาจความอยากที่ต่างคน กระตุ้นแข่งขัน บีบคั้น ให้อยู่ในภาวะเก็บกด กดดัน เป็นทุกข์  แม้ว่าเราไม่ได้ทำ แต่สังคม คนรอบข้างก็ดำเนินไป

                นับวันคำว่า "หนี้" จะกระจายไปทั่วทุกครอบครัวเรือน สังคม จนไปถึงระดับประเทศ เมื่อเงินในกระเป๋าไม่พอใช้ ก็กู้ยืมคนอื่นเขา  นี่คือ กลไกการสร้างดอกกำไรหรือกิจกรรม การงานในสังคมปัจจุบัน เมื่อนั้นแต่ละคน แต่ละครอบครัว แต่ละประเทศ มีหนี้มาก เราจะเป็นทุกข์ขนาดไหน ที่จะบั่นทอนสุขภาพจิตของเราเชื่อแน่ว่า จิตใจคงเหมือนถูกสุมด้วยไฟ จนนอนไม่หลับ พักผ่อนไม่พอแน่ เพราะต้องหาเงิน เงิน เงิน เพื่อใช้ หนี้ หนี้ หนี้ หนี้ จะหนีหนี้ไม่พ้น จนต้องหวาดกลัวตัวตาย

               ดังสุภาษิตที่กล่าวว่า "อิณา ทานัง ทุกขัง โลเก แปลว่า การเป็นหนี้เป็นทุกข์ในโลก"

---------------(๘/๒/๕๗)-----------------

คำสำคัญ (Tags): #หนี้
หมายเลขบันทึก: 562077เขียนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2014 20:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 ตุลาคม 2014 07:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท